xs
xsm
sm
md
lg

ภูมิใจ..สวยในเวอร์ชันตัวเอง!! โนศัลย์-โนแคร์คำบูลลี่ สับขาพิสูจน์ “นางแบบลูกเป็ดขี้เหร่โกอินเตอร์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“หน้าเหลี่ยม-ผิวดำ-สูงเหมือนเปรต” สารพัดคำดูถูกที่ผู้หญิงคนนี้ได้รับ แถมวัยเด็กโดนคนในหมู่บ้าน เปรียบเทียบเอาสนุก ว่าหน้าตาแบบนี้ คงไม่ได้ค่าสินสอด! หนำซ้ำโดนปฏิเสธงานมานับไม่ถ้วนเพราะหน้าตาไม่แพงแต่ปัจจุบันสาวอีสานคนนี้ ได้สร้างชื่อให้แก่ตัวเองจนโด่งดังในฐานะนางแบบที่มีผลงานระดับ “โกอินเตอร์”แต่กว่าจะมีวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะชีวิตเธอเปรียบดั่งช็อกโกแลต ที่ต้องรอวันพิสูจน์ตัวเอง 




สารพัดคำดูถูก ที่ท้าให้เธอต้องฝ่าฟัน!!


สารพัดคำถูกบูลลี่ “เรื่องสีผิว”และ “รูปลักษณ์หน้าตา”ของผู้หญิงคนนี้ ที่เธอโดนยัดเยียดคำด่ามาตลอดชีวิต หนำซ้ำเคยไปประกวดนางแบบเวทีดัง ก็โดนปัดตกตั้งแต่รอบแรกๆ อีกทั้งเคยเผชิญความยากลำบากต้องขายน้ำมะพร้าว ริมทาง ทำงานสารพัดช่วยหาเงินให้ครอบครัว

แต่ไม่ได้มีอะไรทำลายเธอได้ กลับยิ่งสตรองอย่างน่าเหลือเชื่อ เพราะเจ้าของเครื่องหน้าสุดเก๋อย่าง “โอปอล์-พิไลวรรณ พิมพ์ภูลาด” นางแบบไทยอินเตอร์ วัย 28 ปี ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความฝันในการเป็นนางแบบของเธอ ก็บรรลุผลสำเร็จ จนกลายเป็นงานระดับโลกมาแล้ว


“ถามว่าหนักไหม มันอาจจะเป็นคำอีสานค่ะ คำพูดอีสานที่แปลว่าอีแหล่ ก็จะเจอประจำแต่ว่าคนพูดจะเป็นญาติๆ ของเรานี่แหละ เวลาพูดอาจจะพูดในเชิงเอ็นดู อีแหล่ ตอนเด็กๆ ก็จะเจอคำอย่างนี้


รู้ว่าผู่ใหญ่อาจจะเรียกด้วยความเอ็นดู แต่มันกลายเป็นว่ามันเป็นการแบ่งมาตรฐาน แบ่งให้มันเห็นชัด ว่าแบบนี้คืออย่างนี้ ซึ่งถามว่าเรารู้สึกโอเคไหม ที่มีคนบอกว่าอีแหล่ ถึงแม้ว่าจะเป็นคำพูดที่เอ็นดู แต่มันเหมือนมีความรู้สึกของการแบ่งแยก ในความรู้สึกของเรา ซึ่งมันกลายเป็นว่าสิ่งนี้มันเป็นจุดที่แม้จะเป็นจุดเล็กๆ แต่มันทำให้คนๆ หนี่ง มันเกิดการต้องคำถามแบบนี้ในใจ

จากที่โอปอล์ไปพูด พอมีคนแชร์เรื่องราวของโอปอล์ไป กลายเป็นว่าเกือบครึ่งค่อนประเทศที่เขาแชร์ มันทำให้เป็นเสียงสะท้อนว่า เฮ้ย! มันมีแบบนี้ในสังคมไทย ไม่ใช่ส่วนน้อยนะ แต่ครึ่งของประเทศเลยที่เขาเจอปัญหาแบบเรา

อย่างที่บอกไม่เคยที่จะไป Anti (การต่อต้าน) ใคร ในเรื่องของศัลยกรรม คือ เป็นความสุขของแต่ละคน แต่แค่อย่าเอาคนที่เขาเกิดมาตัวดำ เกิดมาที่อาจจะไม่ใช่พิมพ์นิยม หรือในเรื่องของรูปลักษณ์ อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์เขา แต่ให้มองเขาว่า เขาเป็นอีกความหลากหลาย เป็นอีกสีสันหนึ่งของสังคมก็ได้

ในเรื่องของค่านิยมของสังคมไทยที่มันเปลี่ยนไปในทิศทาง ที่มันดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน คือ ไม่ได้เหมือนตอนนี้นะคะ ตอนนี้รู้สึกว่ามันเปิดมากขึ้น แต่เมื่อก่อน เมื่อหลาย 20 กว่าปีก่อน มันไม่ได้เป็นแบบนี้ มันเป็นอีกความรู้สึกหนึ่งค่ะ”


แม้รูปร่างที่สูงและใบหน้าอันเป็นเอกลักษณ์ จะเป็นใบเบิกทางให้เธอก้าวสู่วงการนางแบบในระดับโลกได้ แต่ในอดีตนั้น กลับเป็นสิ่งที่ถูกคนรอบข้างรังแกด้วยคำพูดต่างๆ เพียงเพราะเธอ“ต่าง” จากคนอื่น ทำให้เธอกลายเป็นคนขาดความมั่นใจ

“มีครั้งหนึ่งเขาจะเปรียบเทียบ ชาวบ้านเขาจะพูดกันว่าลูกสาวคนโต ลูกสาวบ้านนี้ดำมากเนอะ คงจะไม่ได้ค่าสินสอด เราก็นั่งอยู่ในนั้น เราก็อยู่กลางวงนั้น


เขาบอกว่าคนน้องขาว จะได้สินสอดเยอะ ซึ่งมันก็กลายเป็นว่าสิ่งนี้มันมาตีค่าเราแล้ว สินสอดก็เหมือนกัน ค่านิยมอีกอันหนึ่งที่โอปอล์มองว่ามาตีค่าเรา ตีคุณค่า คือ เรื่องของสินสอด ถามว่าสินสอดมันก็เป็นวัฒนธรรมของประเทศไทย ในเรื่องของการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ ด้วยค่าเรื่องดูเรามา แต่เวลาชาวบ้านเขาคุยกัน เขาจะวัดว่าสวยจะได้สินสอดแพง คนนี้ขี้เหร่จะไม่ได้สินสอด

กลายเป็นว่ามันเป็นเรื่องของเงินที่เกี่ยวข้องสักส่วนใหญ่ ตอนเด็กๆ ก็ไม่เข้าใจ แต่มันก็ตั้งคำถามกับตัวเอง เพราะตอนเด็กๆ เราเหมือนผ้าขาว เหมือนกระดาษที่เขาใส่อะไร แต้มเรามาก็งงๆ อยู่ในตอนนั้น

ถ้าถามว่าเคยโดนบูลลี่ หรือเรื่องของการล้อ จริงๆ คือ โดนประจำอยู่แล้วในเรื่องของการล้อ เพราะว่าเราเกิดอยู่ในสังคมต่างจังหวัด ในสิ่งแวดล้อมต่างจังหวัดอย่างเรา ก็มักจะเจอในเรื่องตรงนี้เป็นเรื่องปกติ


ยังจำได้อยู่เลย ว่าตอนที่โอปอล์ไปบ้านคุณยาย ก็จะมีชาวบ้านคุยกัน แล้วเรามักจะโดนเปรียบเทียบกับน้องหรือกับญาติที่ขาวกว่าในตอนนั้น ว่าคนนี้ขี้เหร่เนอะ คนนี้ดำ คนนี้ขาว คนนี้สวย ซึ่งตอนนั้นมันเหมือนสังคมบรรทัดฐานเขาตีกรอบให้เราไปแล้วในตอนนั้น

ตอนนั้นเราก็ยังเด็กๆ อยู่ เราแทบจะไม่รู้เรื่องอะไรด้วยซ้ำ รู้แค่ว่าใครมายัดเยียดอะไรให้เราในตอนนั้น เราก็ยังงงๆ เราก็ยังไม่เข้าใจ ในตอนนั้นก็มีคำถามให้กับตัวเอง แต่ว่าเราก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะโต้ เพราะว่าด้วยความรู้สึกเรา คือ สิ่งแวดล้อมเราเป็นแบบนั้น พลังหรือ Power มันแทบจะไม่มีในตอนนั้น

เราก็ได้แต่เงียบ และให้ปล่อยผ่านไป แต่มันก็เกิดการตั้งคำถามในใจมาจนโต ในเรื่องของค่านิยมสังคมไทย มันก็เป็นจุดๆ หนึ่งที่โอปอล์ก็เข้าใจน้องบางคนที่เขาเป็นเหมือนเรา เขาเคยรู้สึกเหมือนเรา แล้วน้องเหล่านั้น เขาก็ทักมาหาเรา ทักมาเป็นข้อความยาว แล้วบรรยายความรู้สึกที่เขาเจอในตอนนั้น มันก็ทำให้กลายเป็นว่า เราเป็นอีกเสียงเล็กๆ เสียงหนึ่ง ที่เปล่งออกมา ที่เป็นกระบอกเสียง เป็นตัวแทนของเสียงเล็กๆ เหล่านั้นที่เขาเคยโดนเหมือนเรา”



เพราะ “ความสวย” ไม่ได้มีแบบเดียว




โอปอล์มองว่าคนเราทุกคนมีดีไม่เหมือนกัน และโอปอล์ไม่เคยที่จะไปบูลลี่ใคร เพราะเรารู้เราเข้าใจ เวลาโดนบูลลี่ มันรู้สึกยังไง โอปอล์ไม่เคยจะไปบอกว่า ฉันผิวขาว ฉันหน้าเหลี่ยม ต้องอย่างฉันสิ ขาวแล้วดูไม่ดี โอปอล์ไม่เคยพูด

ทุกๆ ครั้งที่มีใครมาถามโอปอล์ โอปอล์ก็ไม่เคยพูดว่าขาวจะไม่ดี หรือหมวยจะไม่ดี อย่างที่โอปอล์บอกว่าทุกคนมีสิ่งที่ถูกปั้นมาไม่เหมือนกัน สิ่งที่มันสำคัญมากกว่าสิ่งที่เป็นภายนอก โอปอล์กลับไม่สนใจสิ่งที่มันเป็น หมวย ขาว โอปอล์มองในเรื่องของความคิด ทัศนคติ เขามองยังไง แบบนี้มันดูมีเสน่ห์มากกว่าค่ะ”





หยุดวัฒนธรรมบูลลี่ เพราะไม่ใช่เรื่องตลก


ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่พบเจอและคำดูถูกสารพัด ทำให้โอปอล์ตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น และกลายเป็นเรื่องที่ติดค้างภายในใจว่า รูปลักษณ์ที่ไม่เป็นตามพิมพ์นิยมเช่นเธอนั้น อาจเป็น “สิ่งที่ผิด” ในสังคมบ้านเรา

“มันก็มีในใจลึกๆ เรารู้สึกว่าเราเกิดการตั้งคำถามให้กับตัวเอง ตั้งคำถามแบบนี้ให้กับสังคม ว่าถ้าเราเป็นแบบนี้ เราผิดเหรอ หรือ ถ้าเราเป็นคาแรกเตอร์แบบนี้ เป็นรูปร่างแบบนี้ คือ เราไม่สามารถที่จะอยู่ได้ดีมีความสุขเหรอ ในตอนนั้นมันก็เกิดการตั้งคำถาม แต่เราก็ไม่ได้ตอบโต้ไม่ได้อะไร เพราะเรารู้ว่าบางทีเขาอาจจะปรารถนาดีกับเรา ในการแนะนำ

แต่แค่ว่าเราอยากแค่เป็นเราในเวอร์ชั่นเราแค่นั้นเอง เราอยากมีความสุขแบบนี้ แต่เราก็ไม่เคยที่จะไปบูลลี่คนศัลยกรรม เราก็ไม่เคย เพราะว่าแต่ละคนก็มีในเรื่องของสิทธิ์ ในร่างกายมีเท่ากันอยู่แล้ว แต่เราอยากอยู่ในเวอร์ชั่นเราแบบนี้ได้ไหม แต่อย่าเอาเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่นได้ไหม คือ ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างใช้ชีวิตไป”


อย่างไรก็ดี หนึ่งในผู้ที่เคยมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการถูกรังแกผ่านคำพูดมาตั้งแต่เด็กจนโต โดยเรื่องที่ถูกล้อเลียนมากที่สุด คือเรื่องรูปลักษณ์ใบหน้า

เมื่อย้อนกลับไปเรื่องราวชีวิตของเธอนั้น กว่าจะมาถึงจุดที่หลายคนต่างยอมรับได้ บอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มตลอดการให้สัมภาษณ์ แน่นอนว่าเบื้องหลังก็ต้องมีมุมเศร้า เธอบอกว่าเคยผ่านการถูกเปรียบเทียบมาตั้งแต่เด็ก และได้รับแรงกดดันกลายเป็นบาดแผลลึก

“ถามว่าเฟลไหม ตั้งแต่เด็กเลยค่ะ คือ ตั้งแต่เด็กโอปอล์เป็นคนที่ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าแม้กระทั่งจะพูด หรือรู้สึกอะไร ไม่กล้าที่จะพูดออกมา ไม่กล้าที่จะไปอยู่หน้าชั้นเรียน เพราะคำๆ เดียว คือ คำว่า รูปร่างอย่างนี้มันนอกสายตา ถึงเขาไม่ได้บอกออกมาเป็นคำพูด แต่สายตา มาตรฐานที่เขาวัด


มีอยู่ครั้งหนึ่งที่โอปอล์ไปซื้อของ แล้วเจ้าของร้านเขาเป็นวัยรุ่น เป็นผู้ชาย ผู้หญิงสวยๆ ไป เขาจะพูดดีด้วย แต่เราดำมิดไป เขาพูดเหมือนจะไม่ได้ต้องการที่จะขายของให้เรา มันเหมือนกลายเป็นว่าเราไปซื้อ มันเหมือนสายตาที่มอง มัน 2 มาตรฐานอย่างเห็นได้ชัดเจน

เราไม่ได้คิดไปเอง แต่เราไป แล้วเราเจอเหตุการณ์นั้นจริงๆ แล้วมีเหตุการณ์หนึ่งที่โอปอล์เจอ คือ ตอนสงกรานต์ เรานั่งมอเตอร์ไซต์ไป คือ ไปสงกรานต์จะไปเล่นสนุกๆ ก็เจอคำพูดเป็นแก๊งวัยรุ่นผู้ชาย เขาก็มามองที่เรา แล้วพูดว่า โอ้ย! ไม่อยากทาแป้งใส่หรอก เสียดายแป้ง กว่าจะขาวคงจะหมดแป้งไปหลายกระป๋อง ซึ่งเขาก็ขำขันกัน สนุกสนานกัน แต่คนที่โดนแบบเรามันไม่ค่อยขำเท่าไหร่ เพราะมันกลายเป็นว่าเรื่องราวของเรา มันเป็นเรื่องโจ๊กของคนอื่น มันก็ไม่อยากมีใครเป็นเรื่องสนุกสนาน เรื่องโจ๊กๆ ของคนอื่น”


เพราะขาดความมั่นใจ และถูกสังคมรอบข้างกดลงไป ส่งให้เธอเลือกที่จะเก็บซ่อนความพิเศษของตนเองไว้แทน

“ถามว่าก้าวผ่านยากไหม ยากมากค่ะ เพราะเราเจอมาตั้งแต่เด็กๆ พอเราเจอมาตั้งแต่เด็ก มันกลายเป็นว่าเราเป็นคนไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าแม้กระทั่งพูดอยู่หน้าชั้นเรียน เป็นคนเงียบๆ เป็นคนที่ไม่กล้าฉายแสงพูด หรือเปล่งพลัง หรือรู้สึกอะไรข้างใน ไม่กล้าที่จะพูดออกมา

มันเป็นตั้งแต่เด็ก เพราะว่าด้วยค่านิยมตรงนี้ที่มันกดเราอยู่ ด้วยสิ่งแวดล้อมที่เขามองว่า ด้วย 2 มาตรฐาน ด้วยสายตามันทำให้เราต้องก้าวผ่านตรงนี้ ใช้เวลาตั้งแต่เด็กจนโตมา 18 ปี กว่าที่จะมาเรียน เข้ามหาวิทยาลัย ตอนที่เราตรงนั้นเราเป็นคนที่เงียบๆ ไม่มีบทบาทอะไร

คือ ไม่กล้าที่จะพูดอะไรออกมาเลย เพราะด้วยความมั่นใจของเรา มันโดยรอบข้างกดลงไป แล้วด้วยคำพูดอะไรหลายๆ อย่าง ก่อนที่เราจะมาเป็น model เราก็โดนเหมือนกัน เคยไปประกวดเวที model ในประเทศเรา คือ เราไป เหมือนไปผิดเวที เหมือนไปผิดที่ สายตาจะบอกว่ายังกล้ามาประกวดอีกเนอะ ถามว่าใช้เวลาไหม ต้องใช้เวลาเยอะมาก แต่ก็ดีใจที่เราก้าวผ่านตรงนั้นมาได้”

ส่วนวิธีจัดการหรือวิธีรับมือกับคนที่เข้ามารังแกผ่านคำพูดของสาวเก่งคนนี้ เธอบอกว่าเลือกที่ปล่อยผ่าน ไม่นำกลับมาคิด เดินหน้าพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง

“ถามว่าร้องไห้ออกมาไหม มันไม่ร้องไห้ แต่โอปอล์แค่อยากจะพิสูจน์ ให้คนที่เขาบอกว่า หน้าอย่างนี้ยังมากล้าประกวดอีกเนอะ หน้าอย่างนี้จะเป็นเหรอโมเดล หน้าอย่างนี้เหรอ... ก็อยากจะให้คนที่เคยคิดว่าเราไม่มีความสามารถ หรือว่าเคยคิดว่าเราไม่น่าทำอะไรในชีวิตนี้ได้ ให้เขาอย่างน้อยได้มาเห็นว่า เราก็มีศักยภาพ เราทำได้

คือโอปอล์ไม่ได้เอาคำเหล่านั้นมาร้องไห้ แต่โอปอล์เอาคำของเขาเหล่านั้น แล้วก็มาพัฒนาตัวเองว่า เดี๋ยววันหนึ่งเราจะพัฒนาตัวเองจนวันหนึ่งเขาจะเห็นความสามารถเรา และมองผ่านที่เขาเคยมองสิ่งที่เป็นภายนอกเรา ให้เขามองผ่านจุดนั้น แล้วเห็นตัวตนของเราข้างในจริงๆ

หรือความสามารถ หรืออะไรมากกว่าที่จะมาตัดสินใจจากข้างนอก เราจะทำให้เขาเห็น เราพูดกับตัวเองแบบนั้นในตอนนั้น แต่ไม่ได้ไป fight ไปตี ไปต่อย เราไม่ใช่สไตล์แบบนั้น แต่แค่เราพิสูจน์ด้วยความสามารถเรามากกว่าที่ใช้ความรุนแรง หรือคำพูดหยาบคายแบบนั้นค่ะ”


ไม่เพียงแค่นั้น เธอสะท้อนปัญหาการรังแกกันในสังคม เธอบอกเล่าให้ฟังว่า ส่วนสำคัญที่ช่วยลดความรุนแรงได้ เริ่มต้นจากตัวเราเอง

“พื้นฐานหรือความสตรองของจิตใจแต่ละคน มันมีความเข้มแข็งที่ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว อย่างโอปอล์มีวิธีแก้ คือ โอปอล์จะเช็กความรู้สึกตัวเองเสมอ และให้กำลังใจตัวเอง พูดกับตัวเอง ให้กำลังใจกับตัวเองเสมอ

แต่บางคนเขามีพื้นฐานการรับมือไม่เหมือนกัน บางคนเขาเจอการบูลลี่ที่เรียกว่าปะทะตัว เหมือนโดนทางร่างกายด้วย ซึ่งมันอาจจะรุนแรงจนเกินที่เขาจะรับไหว โอปอล์มองว่ามันไม่ใช่เรื่องตลกเลยนะคะ อย่างโอปอล์ที่เจอตอนเด็กๆ 'สูงอย่างกับเปรต' มันก็เลยกลายเป็นว่าสูงอย่างเสาไฟฟ้า เพื่อนโอปอล์ก็เจอ อ้วนแล้วยังจะกล้าใส่ชุดว่ายน้ำอีก ซึ่งเพื่อนโอปอล์ที่อวบๆ ก็เจอ ซึ่งวันนี้ถ้าเขาไม่เข้มแข็งพอ ไม่สตรองพอ บางคนเขาอดอาหาร

ถ้าโดนว่า อ้วนแต่ไม่กล้าใส่บิกินีแบบนี้ บางคนไปลดอาหาร ถ้าคนๆ นั้นเกิดล้มหมดสติไป เพราะอดอาหารไม่กินข้าวอย่างนี้ มันเป็นตราบาปของคนที่พูดเลยนะคะ จนไปถึงถ้าเขาเกิดสิ่งที่เขาเรียกว่าเกิดสิ่งไม่ดีกับเขา

คนพูดนั่นแหละจะรู้สึกผิดไปตลอด ก็อยากจะบอกว่าคนที่ล้อ คิดว่าเป็นเรื่องสนุกสนาน อยากให้คิดใจเขาใจเรา อยากให้คิดว่าถ้าวันใดวันหนึ่งเราเป็นแบบนี้ เราอยากให้คนทรีตเรายังไง อยากให้คนพูดกับเรายังไง ถ้าคนเราเข้าใจซึ่งกันและกัน มันจะไม่มีเลยในเรื่องของการบูลลี่

ถ้าคนเราแคร์กันสักนิด และอยู่อย่างเข้าใจกันว่า เขาเกิดมาร่างกายแบบนี้ จะให้เขาเปลี่ยนร่างกาย เรามันเกิดมามันเปลี่ยนไม่ได้ สรีระแต่ละคน อย่างโอปอล์ถ้าจะให้โอปอล์ไปอ้วนก็ไม่ได้ บางคนก็เจอนะ กินเยอะๆ ผอมแห้งแรงน้อยกินเข้าไปอีก…

มันเป็นเรื่องของร่างกายแต่ละคน โอปอล์เลยอยากให้มองว่า ถ้าเรามองว่าแต่ละคนเกิดมา มันแตกต่าง มันหลากหลาย มันไม่เหมือนกัน ก็อยู่ด้วยกันให้มีความสุขก็ดีกว่าไหม หรือถ้าจะไม่รู้จะพูดอะไรก็อาจจะคุยกันเรื่องอื่นไหมโดยที่ไม่ต้องมาคุยในเรื่องของร่างกาย เพราะมันเป็นสิ่งที่มันแก้ไม่ได้ จะให้คนสูงลดต่ำลง หรือจะให้คนเตี้ยไปสูงขึ้น มันเป็นเรื่องของสรีระ ที่ถึงพูดไปมันก็เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ มันแก้ร่างกายไม่ได้”




นางแบบอินเตอร์ โกอินเตอร์ ดังไกลระดับโลก


จากเด็กอุดรฯ เดินทางสู่กรุงเทพฯ โดนคนดูถูกสารพัด ว่าไม่สวย ตัวดำ หน้าเหลี่ยมกรามใหญ่ จับพลัดจับผลูวันหนึ่ง เธอเห็นนางแบบไทย “ยุ้ย-รจนา เพชรกัณหา” ที่หน้ามีเอกลักษณ์ เป็นตัวของตัวเอง จนเกิดแรงบันดาลใจ มุ่งเข้าสู่วงการรันเวย์

“จุดเริ่มต้นของสายนางแบบ เริ่มต้นจากที่เราเห็นรุ่นพี่คนหนึ่ง ที่เป็นโมเดลเหมือนกับเรา คือ พี่ยุ้ย-รจนา เพชรกัณหา ช่วงนั้นที่เป็นข่าว เราก็เลยเห็นข่าวตามสื่อ มันก็ทำให้รู้ว่าสาวอีสานเป็น model ได้

ต้องบอกก่อนว่าตอนที่โอปอล์อยู่ต่างจังหวัด ในเรื่องของข่าวโมเดล โอปอล์แทบจะไม่เห็นทางช่องทีวี โอปอล์เห็นแต่ละคร หนัง F4 หนังเกาหลี หนังไต้หวัน แต่ในทีวีไม่เห็นเกี่ยวกับนางแบบ หรือคนสี่เหลี่ยม หรือคนหน้าเหลี่ยม หรือคนผิวสีได้เป็นหน้าเอก

เราก็เลยรู้สึกว่า คือ ไม่รู้ว่ามีอาชีพนางแบบอยู่ในโลกนี้ ตอนที่อยู่ต่างจังหวัด แต่จนกระทั่งเรามาเจอข่าวของรุ่นพี่ model ที่เป็นคนอีสาน ก็เลยเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาด้วยส่วนหนึ่ง เราก็เลยไปประกวด พอไปประกวด เราก็รู้ว่าเราไม่ได้เป็นทาเก็ตของที่นี่ รู้แค่ว่าพอไปก็ได้เป็นสีสันแค่นั้น แต่เราก็ไปเพื่อไปเอาประสบการณ์ ไปเรียนรู้อะไรที่เราไม่เคยทำ ไม่เคยลอง จะได้ไม่ต้องมาเสียใจทีหลังในตอนนั้นนะคะ

ก็ไปเรื่อยๆ แต่อย่างหนึ่งที่เราไป เราก็ได้เจอโมเดอร์ลิ่ง โอปอล์ก็ได้บทไป casting งานที่โฆษณา แต่ที่อยู่ที่ไทยส่วนใหญ่ที่ไปงาน casting เป็นงานที่บทสาวโรงงาน บทแม่ค้า

บทสาวโรงงานเหมือนใส่ชุดแล้วก็ไปทำงาน ก็จะได้เป็นบทนี้มากกว่า แต่ไม่ได้บทที่เป็นตัวหลัก จะได้เป็น Extra ส่วนใหญ่ในตอนนั้น”


แถมต้องฝ่าด่าน “ความขาว” ค่านิยมของวงการ ที่ต้องผิวขาวออร่าเท่านั้นถึงจะปัง และดูดี แต่สุดท้ายเธอสามารถแหกความเชื่อเหล่านั้นลงได้ด้วยความงามเฉพาะตัว

“เพราะว่าเรา original เกิน คือ บทสาวโรงงานก็ยังจะต้องขาวอยู่ ไม่ใช่ดำ สาวโรงงานต้องขาว ต้องดูดีอยู่ในตอนนั้นที่เขาต้องการ

คือ เขาจะเขียนไว้ว่า แคสบทสาวโรงงาน แต่ไม่ดูสกปรก ไม่ดูมอมแมม ผิวต้องดูสะอาดสะอ้าน ไม่ให้ดูผิวดำ หรือดูสกปรก ให้ดูคลีนๆ สะอาดๆ ซึ่งตอนนั้นเราก็ยังดำๆ อยู่ เราไปแคสอาจจะไม่ได้ในตอนนั้น อันนั้นก็เป็นอีกประสบการณ์หนึ่งที่เราไปแคสงานค่ะ”

แต่เมื่อเธอได้มีโอกาสก้าวเข้ามาในเส้นทางสายอาชีพนางแบบ ก็ทำให้มุมมองความคิดเปลี่ยนไป จากเด็กสาวขี้อาย กลายเป็นนางแบบสุดมั่นที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ด้วยเพราะเธอเคารพและภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น

“มีพี่ที่รู้จักที่เขาเป็นรุ่นพี่ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย แล้วเจอกัน พอเจอกันเขาก็บอกว่าอย่างเธอต้องไปเมืองนอกนะไม่งั้นเธอไม่เกิดหรอก

ตอนนั้นเราก็คิดว่าเมืองนอกก็ไกล แต่พอพี่เขาพูดบ่อยๆ ให้กำลังใจเราบ่อยๆ หรืออยู่เคียงข้างเราบ่อยๆ ก็กลายเป็นว่า เขาก็เป็นอีกแรงที่สนับสนุนเราตรงนี้ด้วย ส่วนหนึ่งก็คอยให้กำลังใจ คนรอบข้างก็เป็นส่วนสำคัญเหมือนกัน อย่างที่บอกโอปอล์ต้องขอบคุณคนที่อยู่รอบข้างโอปอล์ ที่คอยให้กำลังใจ คอยช่วยเหลือคอยสนับสนุน

ตอนแรกๆ ที่โอปอล์ไปประกวด (เวที model)เงินจะซื้อรองเท้าส้นสูง โอปอล์ยังไม่มีเลยนะ พี่ที่เป็นศิษย์เก่าเขาก็ซื้อให้เวลาตอนไปประกวดโมเดล ซึ่งก็มีอะไรหลายๆ อย่างที่คนรอบข้างช่วยเหลือเรา ซึ่งโอปอล์ก็ไม่เคยลืม มาจนถึงทุกวันนี้ว่าใครช่วยเหลือเราบ้าง”


ทว่า หน้าเหลี่ยม ผิวดำ หรือที่ใครมองว่าสูงเหมือนเปรต แต่สำหรับเธอแล้วกลับสร้างโอกาส เมื่อเธอสร้างความฮือฮาต่อวงการนางแบบไทยโกอินเตอร์ได้โฆษณาน้ำหอมดังระดับโลกของ David Beckham ร่วมกับนักฟุตบอลชื่อดัง อย่าง“เดวิด เบคแคม” ที่ถูกออนแอร์ไปหลายประเทศทั่วโลกในตอนนั้น


“งานแคมเปญที่เป็นงานต่างประเทศเข้ามา มันเป็นแคมเปญที่เขาตั้งมาว่า respect ในตอนนั้น ซึ่งเขาก็มองหาโมเดลที่ไม่ใช่แค่รูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งมันตอบโจทย์กับโอปอล์มาก

ไม่ใช่รูปลักษณ์ภายนอก แต่หมายถึงต้องมีอะไรเชื่อมโยงกับคำว่า respect ข้างใน ตอนนั้นเวลา casting เขาถามเราในเรื่องของทัศนคติ ถามในเชิงที่ลึกมากกว่าที่เป็นภายนอกตรงนั้น เราก็ไม่รู้ว่าเป็นแคมเปญอะไร แต่พองานนั้นออกมาก็เลยรู้ว่าเป็นโฆษณาน้ำหอมของ เดวิด เบคแคมที่ออนแอร์ไปหลายประเทศทั่วโลกในตอนนั้น

แล้วหลังจากที่ได้งานโฆษณาตรงนั้นมา โอปอล์ก็ได้มีโอกาสไปร่วมงานระดับโลกหลายท่านเลย ไม่ว่าจะเป็นช่างภาพที่มีตำแหน่ง ในแบรนด์ระดับโลกหลายแบรนด์”


แน่นอนว่า ก่อนที่ชื่อของ โอปอล์จะเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในแวดวงแฟชั่นไทย ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะนอกจากจะเจอเหตุการณ์ถูกบูลลี่ในอดีตแล้ว ก็ไม่มีความรู้ในเส้นทางสายอาชีพนี้แม้แต่นิดเดียว แถมยังเคยผิดหวังจากเวทีการประกวดชื่อดังอีก และถูกปฏิเสธงานมานับไม่ท้วน แต่อะไรที่ทำให้เธอกลายเป็นนางแบบอินเตอร์ได้ ติดตามจากบรรทัดต่อจากนี้

“น่าจะตอนที่ไป casting เวลาเขาสัมภาษณ์เรา แล้วเราก็พูดในเรื่องของทัศนคติ ซึ่งมันตรงกับแคมเปญ ที่เขากำลังมองหาอยู่พอดี แต่ต่างชาติเขาจะไม่มาพูดว่า เลือกเพราะว่าอย่างนี้นะ เขาจะไม่มาชี้แจง

โฆษณาออนแอร์ไป 6 ประเทศ คือ เขาเห็นเขาก็ส่งรูปมาให้เรา แต่เราไม่เห็น AD ของตัวเอง เพราะว่าที่ไทยไม่มี ก็ถือว่าเป็นก้าวแรกของโอปอล์เลยค่ะ ที่โอปอล์เริ่มต้นของสาย model และรู้สึกว่าสิ่งที่เราคิด เราเดินทางมาเป็นทางที่เราเดิน เราเลือก เราไม่ผิด

เป็นเส้นทางที่เราเลือกและเราไม่ผิด เพราะว่าถ้าเราย้อนหลับไป ถ้าเราไขว้เขว พลิ้วไปตามสายลม ไปตามคำพูดของคนอื่น โอปอล์ก็ไม่แน่ใจนะคะว่าเราจะได้งานตรงนี้รึเปล่า เพราะส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของทัศนคติความคิด และเรื่องของรูปลักษณ์


ถ้าเราไขว้เขวไป โอปอล์มองว่าลุคเรา ต่างชาติอาจจะไม่เป็นจุดสนใจ ที่เห็นแล้วมัน charming ออกมาในตอนนั้น ก็นึกขอบคุณตัวเองที่เราไม่ไขว้เขว เราให้กำลังใจตัวเองมาจนถึงวันที่เราได้รับเลือก ก็เพราะว่าหน้าแบบนี้ ที่เขาเลือก เขาไม่ได้เลือกเพราะว่าเราเป็นคนอื่น แต่เขาเลือกเพราะว่าเราเป็นสิ่งที่เราเป็นค่ะ”


จากงานโฆษณาน้ำหอมเปิดตัวไปทั่วโลก บวกด้วยเนื้องานที่หาตัวจับยาก ทำให้ชีวิตของเธอพลิกไปสู่เส้นทางนางแบบอินเตอร์เต็มตัว คว้าเงินมูลค่ากว่า 7 หลัก ซึ่งหลังจากนั้นเธอไปสะดุดตา และได้ร่วมงานกับแบรนด์ชั้นนำระดับโลกหลายแบรนด์

              “เปลี่ยนไปเลยค่ะ อันดับแรกคือ รายได้ที่มันดีขึ้น เมื่อก่อนโอปอล์ก็ทำงานเป็นเด็กเดินตั๋ว ได้ค่าแรงแค่ 300 ค่ารถไปกลับมันก็ร้อยกว่าบาทแล้ว เราก็ได้ไม่กี่ร้อย มันต้องอีกกี่ชาติ อีกกี่ 10 ปี กว่าเราจะได้เงินแสน ได้เงินล้าน มันแทบจะไม่ได้แตะเงินตรงนั้นเลย

แต่พอได้เงินตรงนี้มา เราก็ได้เงินก้อนหนึ่งมาต่อยอด มาต่อหายใจของเรา แล้วก็ได้งานต่อมาเรื่อย ก็เป็นงาน model ชิ้นอื่นด้วย หลังจากได้งานตรงนี้มา มันก็เหมือนเป็นจิ๊กซอว์ที่ต่อออกไป

มันก็กลายเป็นว่า มันเป็นเงินที่เราไม่เคยเห็นแต่เราได้เห็นจากการเริ่มต้นของสาย model ค่ะ ก็ถือว่าเปลี่ยนชีวิตไปเลย ถือว่าในเรื่องของรายได้ก็ดีขึ้น แล้วเรารู้สึกว่าเราภูมิใจในสิ่งที่เราเป็น ในสิ่งที่หน้าแบบนี้เราสามารถทำเงินได้ คนที่ว่าเราฝันลมๆ แล้งๆ คนที่เขามองว่ามโน ฝันลมๆ แล้งๆ เขาได้เปลี่ยนความคิดตรงนั้น อันนี้คือสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าเงินที่โอปอล์ได้”


“จิตวิญญาณ”สิ่งที่นางแบบอินเตอร์ต้องมี!!



“ถ้าอยากเป็นนางแบบอินเตอร์ จะต้องหาสไตล์ของตัวเองให้เจอ มีจิตวิญญาณ มีคาแรกเตอร์เป็นของตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้ต่างประเทศเขาจะชอบมาก

เขาไม่ค่อยชอบ ที่เราทำอะไรเหมือนๆ กัน เขาชอบอะไรที่มองแล้วรู้สึกว่า คนนี้มีอะไร มองแล้วรู้สึกว่าคนนี้มีข้อคิด มีทัศนคติ มีไลฟ์สไตล์ หรือมีความเป็นตัวเองสูง เขาจะชอบคนแบบนี้ ชอบคนคาแรกเตอร์ประมาณนี้ มากกว่าที่ไร้จิตวิญญาณ ไร้ซึ่งเป้าหมาย

หรือสิ่งที่ตัวเองต้องการในชีวิต เขาต้องการที่รู้ชัดเจนว่าตัวเองต้องการอะไร และเป็นคนแบบไหน แล้วยืนไปในทางที่ตัวเองเป็นแบบนั้น ในสิ่งที่เองเป็น เขาจะชอบอย่างนี้มากกว่าค่ะ”





หอบความฝัน ต่อสู้กับโชคชะตา...


ด้วยรูปร่าง หน้าตาที่ไม่เหมือนใครของนางแบบอินเตอร์วัย 28 ปีคนนี้ ไม่ได้อยู่ในสเปกของคนไทยทั่วไป แม้ส่วนหนึ่งมองว่ามีเอกลักษณ์ โดดเด่น แต่อีกด้านกลับไม่ให้เกียรติและสร้างความกดดัน

แถมยังทำลายความมั่นใจ โดยเอามาตีกรอบว่า “แบบนี้คือไม่สวย” “แบบนี้คือบ้านนอก” ดังนั้น ในระยะ 5 ปี ที่อยู่เส้นทางแห่งนี้ เธอมองว่านางแบบจะมีคนหลายประเภท แต่เธอเลือกที่จะรับเอาแต่สิ่งดีๆ มาปรับใช้เพื่อพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งไม่แปลกที่เธอจะกลายเป็นนางแบบที่ใครหลายคนต้องการตัว และอยากร่วมงานมากที่สุดคนหนึ่ง

“โอปอล์ก็ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ การทำงานกับต่างประเทศกับที่ไทย ข้อแตกต่างก็มีที่ว่า ต่างประเทศเวลาเขาเลือก ระบบเส้นสาย ระบบสังกัดไม่ค่อยจะเห็นเท่าไหร่ หรืออาจจะโอปอล์ไม่เจอก็ได้ แต่ระบบเส้นสายไม่เจอ คือ ถ้าเขาชอบ โอเค! ฉันชอบลุคนี้ เรียกมาทำงาน และเขาไม่ได้มองว่าคนนี้เด็กใคร คนนี้สังกัดใคร คนนี้เป็นของที่ไหน เขาไม่ได้ถามเลย


เขาไม่ได้ถามโอปอล์เลยว่า โอปอล์มาจากที่ไหน โอปอล์ก็เลยรู้สึกว่า โอปอล์ทำงานกับต่างประเทศ เขามองในเรื่องของศักยภาพ ในเรื่องของความสามารถมากกว่า มันก็เลยกลายเป็นว่าโอกาสที่เราจะได้มันมากกว่าในเรื่องของงาน model

ถามว่าต่างประเทศมีการบูลลี่ไหม มีอยู่ทุกที่เรื่องการบูลลี่ แม้กระทั่งต่างประเทศก็มี อย่างที่เราเห็นกัน ที่เขามีการ Stop Asian Hate (ยุติความเกลียดชังต่อชาวเอเชีย) มันมีทุกที่ แต่ถามว่าประเทศไทยมีไหม ก็มี อย่างที่โอปอล์เจอการเหยียด การบอกว่าดำ ขาว มันก็คือการเหยียดรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน ฉะนั้นไม่ว่าไทยหรือต่างประเทศก็มีเหมือนกัน แต่ที่ต่างประเทศเขาอาจจะมองในเรื่องของสิทธิในร่างกาย ถ้าเราไปทักท้วงคนนั้นว่า You อ้วนนะ You ผอมนะ เขาจะรู้สึกเธอมาทำอะไรกับร่างกายฉัน

เธอเป็นอะไรกันมากไหม เขาก็จะไม่พอใจกับการที่จะได้ยินแบบนั้น ซึ่งสำหรับคนไทย ก็ยังมีการทักท้วงแบบนี้อยู่ แต่ในเรื่องของความจริงจัง บางคนก็อาจจะคิดว่าเป็นเรื่องสนุกสนาน แต่ถ้าเป็นต่างประเทศเขาจริงจังมากนะคะ การที่เราจะไปวิพากษ์วิจารณ์ความอ้วน เขาจะมองว่าคนที่วิพากษ์วิจารณ์นั่นแหละที่ป่วย ที่ควรจะต้องเปลี่ยนทัศนคตินะคะ”

แม้การโกอินเตอร์จะเป็นความฝันของใครหลายๆ คน แต่เมื่อได้ลงสนามจริง กลับพบว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทั้งยังต้องแข่งขันกับนางแบบคนอื่นๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งงานสักชิ้นหนึ่ง อีกทั้งเส้นทางนางแบบอินเตอร์ ก็มีอายุงาน และจังหวะของมัน ที่เธอเปรียบดั่งช็อกโกแลต


“ชีวิตของคนเรามันมีอะไรตั้งเยอะแยะ มันมีอะไรที่น่าค้นหาตั้งเยอะแยะ การเป็น model เป็นอีกหนึ่งบทบาทในชีวิตของโอปอล์ แต่อีกยาวไกลค่ะ ที่โอปอล์จะต้องทดลองทำอะไร หรือทำอะไรที่สนุกสนานในชีวิต อย่างที่โอปอล์บอกว่าชีวิตของคนเรา มันไม่ได้ยึดอยู่ที่สิ่งเดียว แล้วถ้าคุณ failed (ล้มเหลว) สิ่งนั้น คุณจะต้องไม่เหลืออะไรเลย

อย่างที่โอปอล์เห็นบางกรณี ที่เขาคาดหวังอะไรมากๆ แล้วไม่ได้เป็นดั่งหวัง เขา failed แล้วเขารู้สึกว่าไม่เหลืออะไรในชีวิต ก็ต้องคิดสั้น หรือจบชีวิตลง โอปอล์อยากบอกว่าชีวิตของคนเรา มันมีอะไรที่มากกว่านั้น โอปอล์จะไม่ได้ยึดอะไร คือ ปล่อย

เมื่อถึงเวลา ถึงจังหวะของมัน ชีวิตก็เหมือนช็อกโกแลต “Life is like a box of chocolates” คือ ชีวิตของเรา เราไม่รู้หรอกว่าอนาคต เราจะเจออะไรบ้าง เราก็แค่ว่าสุ่มดี แล้วก็ลองหยิบช็อกโกแลตมาสักหนึ่งชิ้น แล้วมาชิม ชิ้นนี้ขม ชิ้นต่อไปลองหยิบ เป็นรสชาติหวาน มันคือรสชาติของชีวิต โอปอล์มองอย่างนี้มากกว่า

คือ ในเรื่องของ model เป็นอีกหนึ่งบทบาท ที่โอปอล์ก้าวไป แต่ก็ยังมีอีกหลาย chapter ของโอปอล์เหมือนกัน ก็ติดตามดูได้ค่ะ”


ตลอดการให้สัมภาษณ์ ไม่แปลกใจเลยว่า เธอมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เพราะคำตอบ ที่ได้กลับเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย ทั้งความ ความน้อยใจ ความกดดัน การต่อสู้ ที่ซ่อนตัวอยู่ในแต่ละบรรทัด ที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เพียงเราเคารพตัวเอง ศรัทธาในสิ่งที่ทำ ซึ่งไม่เพียงแต่หน้าเก๋ๆ มีเอกลักษณ์โดดเด่นแล้ว ภายใต้โครงหน้าที่ดูแปลก ยังแฝงไปด้วยความความจริงใจ รวมทั้งเธอคนนี้ไม่เคยยอมแพ้กับโชคชะตา

“โอปอล์เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เข้ามาในชีวิตเรามันไม่มีคำว่าบังเอิญ เพราะเรื่องราวที่เจอมาในชีวิต มันเหมือนเป็นจิ๊กซอร์ ให้มันต่อมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ตอนที่เราดูถูก ตอนที่เราทำงาน ตอนเด็กๆ เราก็โดนด่า โดนเปรียบเทียบ โดนค่านิยมอะไรไม่รู้ ที่ทำให้เรามีการตั้งคำถามเข้ามาในใจ เหมือนมีการวางแผนมาทุกช่วงอายุ ช่วงเวลาของเราไว้แล้ว กลายคิดไหมว่าจะมาถึงจุดนี้ โอปอล์เชื่อว่าโอปอล์เกิดมา เพราะมันอาจจะมีเหตุผลในเรื่องที่ต้องเจอแบบนี้ แล้วจะต้องมาส่งต่อตรงนี้ ให้กับคนที่รู้สึกเหมือนกับเรา มองว่ามันคือเรื่องราวที่ต่อกัน

โอปอล์อยากจะบอกว่าการที่เราเป็นนางแบบ จะโกอินเตอร์หรือไม่โกอินเตอร์มันไม่สำคัญเลย โอปอล์จะบอกน้องๆ เสมอ หรือคนมาเรียนกับโอปอล์ ใครก็แล้วแต่ที่เป็นรอบข้างของโอปอล์

โอปอล์จะบอกเสมอว่าไม่ว่าจะไกลแค่ไหน หรือจะไปสุดทางแค่ไหนมันไม่สำคัญเลย แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ใจ ถ้าใจเราเคารพในตัวเอง โอปอล์เชื่อว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ ที่ไม่ใช่เรื่องของ model ยังไงเราก็ต้องทำได้ดี และถ้าสมมติว่าเราศรัทธาในสิ่งที่เราทำ แล้วเรามีความมุ่งมั่นในสิ่งที่เราทำ เราจะทำสิ่งนั้นได้ดี ไม่ว่าอาชีพอะไรก็แล้วแต่

โอปอล์มองทุกอย่างด้วยความเข้าใจมากกว่า ว่าในทุกเสต็ปของชีวิตมันมีอะไรให้เราได้เรียนรู้ ได้ลิ้มลองรสชาติอีกเยอะแยะ เหมือนช็อกโกแลต”


ต่างประเทศ=พื้นที่สปอตไลท์ ของคน “หน้าเหลี่ยม”



“ต้องบอกตามตรงว่า สังคมไทยอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเราไปได้ผลงานต่างประเทศมา แล้วมาที่ไทยคนจะยอมรับ แต่มันก็จะมีค่านิยมที่บางทีเราก็ไม่เข้าใจ แต่บางทีเราก็เห็นด้วยตัวเราเองว่า ถ้าสมมติว่าโอปอล์อยู่ในประเทศ เราอาจจะเหมือนกันก็ได้ คือ เราอาจจะโครงหน้าเหมือนๆ คนในประเทศ

มันกลายเป็นว่าเป็นเรื่องปกติ แต่สมมติว่าเราอาจจะไปได้งานต่างประเทศมา คนที่นี่ก็จะยอมรับของผลงาน มันจะเป็นเรื่องของค่านิยมแบบนี้ ซึ่งถามว่าถ้าไม่ได้งานต่างประเทศ แล้วจะได้งานไทยไหม

โอปอล์ก็ไม่แน่ใจนะคะว่าตัวเองจะไปยังไง ถ้าได้งานอยู่ที่ไทยอย่างที่บอกโอปอล์ไป casting งาน ส่วนใหญ่ก็จะได้บทที่เป็น Extra หรือได้บทที่เป็นตัวประกอบซึ่งมันก็แตกต่างจากที่เราได้งานจากต่างประเทศ ในเรื่องของบัตเจท เรื่องของรายได้ เรื่องของโอกาสที่เติบโตจากหน้าที่การงาน มันก็มีอะไรหลายๆ อย่างเหมือนกัน ที่โอปอล์มองว่าโครงหน้า หรือคาแรกเตอร์แบบโอปอล์ ต่างประเทศอาจจะมีให้ความสนใจ อาจจะถูกจริต หรือเคมีอาจจะไปตรงกับต่างประเทศมากกว่า”









สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ขอบคุณภาพ : FB “Pili Opal”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **







กำลังโหลดความคิดเห็น