ดุร้าย-ฆ่าคนที่สุด “หมอมนูญ” เปิดใจ เชื้อกลายพันธุ์ที่เข้าไทย “อังกฤษ” เป็นสายพันธุ์ที่ฆ่าคนมากที่สุด!! เตือนหากรอวัคซีนทางเลือก “โมเดอร์นา-ไฟเซอร์” อาจจะไม่พิชิตโรคร้าย ชี้ วิกฤตประเทศ ต้องรีบเร่งฉีดวัคซีนเพิ่มภูมิคุ้มกันหมู่ ก่อนจะเอาไม่อยู่ไปมากกว่านี้?
เทียบเชื้อกลายพันธุ์ “อังกฤษ” ดุร้ายที่สุด
“สายพันธุ์ที่มันดุร้ายที่สุด มันฆ่าคนมากที่สุด คือ สายพันธุ์อังกฤษ” นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนักและโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ และ ประธานชมรมเชื้อราทางการแพทย์ประเทศไทย เปิดเผยแก่ ทีมข่าว MGR Live รู้สึกกังวลถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ ที่ดูรุนแรง เพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อขึ้นเรื่อยๆ
อีกทั้งพบเชื้อกลายพันธุ์ อย่าง สายพันธุ์อังกฤษ-อินเดีย-บราซิล และ แอฟริกาใต้ ซึ่งก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก (Who) ออกมาเตือนถึงเรื่องโควิดสายพันธุ์อินเดีย-อังกฤษ-บราซิล และแอฟริกา เป็นเชื้อโควิดที่น่ากังวล ต้องเฝ้าระวังเพราะติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
“มันขึ้นอยู่กับว่า มีคนนำมาจากชายแดน มาจากเขมร และครั้งนี้มาจากมาเลเซีย มันก็มีโอกาสที่จะมาเรื่อยๆ แต่ตราบใดที่ประเทศเพื่อนบ้านเรายังมีเชื้ออยู่ เราก็คงได้รับเชื้อจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย เราคงหนีไม่พ้น
มันก็ระบาดไปทั่ว ผมว่าอีกหน่อยก็มาหมด คือ มันหลบหลีกภูมิคุ้มกัน การฉีดวัคซีน หรือว่าเคยป่วยมาแล้วในสายพันธุ์เดิม หรืออาจจะป่วยซ้ำได้ในสายพันธุ์ใหม่ ในสายพันธุ์แอฟริกาใต้”
ทว่า หลังพบเชื้อโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ในกลุ่มผู้ป่วย 3 ราย อ.ตากใบ จ.นราธิวาส สร้างความกังวลต่อความรุนแรง และเกิดคำถามถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อย่าง แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZenaca) และซิโนแวค (Sinovac) สามารถคุ้มครองตัวสายพันธุ์ได้หรือไม่
โดยหมอมนูญได้ให้ข้อมูลไว้ว่า เป็นการป้องกันไม่ให้ป่วยหนักเท่านั้น เพราะเชื้อที่เข้ามาเป็นสายพันธุ์ใหม่ ที่ยังไม่มีวัคซีนไหนรองรับ 100%
“คิดว่าน่าจะป้องกันไม่ให้ป่วยหนัก ไม่ให้ตายได้ แต่ที่บอกว่าป่วยเล็ก ป่วยน้อย โควิดแอฟริกาใต้คงจะป้องกันไม่ได้ เพราะประสิทธิภาพ (วัคซีน) คงต่ำกว่าเดิมเยอะ อย่างสายพันธุ์อินเดียน่าจะกันได้ สายพันธุ์แอฟริกาใต้คงต้องรอวัคซีนตัวใหม่ สายพันธุ์แอฟริกาใต้คือมาทีหลัง
วัคซีนที่เขาผลิตขึ้นมานั้น เป็นการเอาต้นตอสมัยที่แพร่ระบาดในเมืองจีน อู่ฮั่น มันยังโชคดีที่สามารถจะป้องกันสายพันธุ์อังกฤษได้ เพราะเวลานี้สายพันธุ์อังกฤษมันครองโลก มันไปทุกประเทศเลย เพราะมันระบาด ติดต่อกันง่ายกว่าสายพันธุ์เดิม
แต่อินเดียก็ติดต่อกันง่ายอยู่แล้ว มันก็เริ่มระบาดไปในหลายประเทศ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ก็คงติดต่อกันง่ายด้วย และยังมีสายพันธุ์บราซิลอีกอันหนึ่ง ซึ่งก็ติดต่อกันง่าย มันก็จะพยายามกันมา พยายามกันแข่งกันว่าจะแทนที่ตัวไหน แต่สายพันธุ์ G หายไปแล้ว
ส่วนวัคซีนที่เราคิดค้นเราเริ่มจากรหัสพันธุกรรมของอู่ฮั่น ซึ่งเวลามันเปลี่ยนไป เชื้อก็กลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราต้องพัฒนาวัคซีนเรา เพื่อมาครอบคลุมในสายพันธุ์เราด้วย”
อย่างไรก็ดี ตอนนี้วัคซีนที่ได้รับการรองรับจาก WHO มีเพียง วัคซีนไฟเซอร์ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า วัคซีนโควิชิลด์ (Covishield) วัคซีนจอห์นสัน และวัคซีนโมเดอร์นา เหลือเพียงซิโนแวคเท่านั้นที่ไม่ได้รับการรองรับยืนยัน เพราะอยู่ในขั้นตอนพิจารณาอยู่
โดยก่อนหน้านี้ มีการแชร์บนโลกโซเชียลฯ ที่บอกว่า WHO รับรองวัคซีนซิโนแวค เพียงไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมาแล้วนั้น เป็นข้อมูลที่ผิด ซี่งวัคซีนที่ไทยนำเข้ามา มีเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับอนุมติจาก WHO คือ แอสตร้าเซนเนก้า เพราะสามารถฉีดวัคซีนได้มากกว่าจำนวนโดสที่กำหนดไว้ในฉลากข้างขวด และสามารถทำได้อย่างเกิดประโยชน์ประสิทธิภาพไม่ลดลง
“คิดว่าเขากำลังรับรองในไม่ช้านี้ครับ แต่ซิโนแวคต้องฉีด 2 เข็ม เข็มเดียวไม่พอ เพราะเข็มแรกมันจะได้ภูมิไม่เท่าไหร่ ต้องรอเข็ม 2 ถึงจะมีภูมิขึ้นเยอะ เพราะเป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีเก่า เมื่อ 80 ปีที่แล้ว
แต่อย่างของแอสตร้าเซนเนก้า มันเทคโนโลยีใหม่ ที่มาใช้ป้องกันกับอีโบลาได้ ผมก็เชื่อเลยว่า ทั้ง 4 ตัว สามารถฉีดเข็มเดียวได้ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนจอห์นสัน & จอห์นสัน (Johnson & Johnson) วัคซีนสปุตนิก วี (Sputnik V) วัคซีนแคนซิโน (CanSino Biologic Inc.) และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ฉีดเข็มเดียวได้เลย แล้วปูพรมไม่ใช่ฉีดเข็มเดียวแล้วมาฉีดเข็ม 2 ให้คนที่ได้รับเข็มแรก เพราะมันจะไม่เพียงพอ
ถ้าทำอย่างที่ผมบอก 60 ล้านคน 61 ล้านโดส ได้ทั้งหมด 60 ล้านคนได้เลย ไม่ใช่เฉพาะคนไทยอย่างเดียว แต่แรงงานต่างด้าว คนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ก็ฉีดให้เขาด้วย ฉีดฟรีให้หมดเลย เพราะแอสตร้าเซนเนก้าราคาถูกมาก แค่ 100 บาทแค่นั้นเอง”
ความหวังของคนไทย คือวัคซีนทางเลือก?
อีกประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดในโลกออนไลน์ในขณะนี้ ที่มองว่าวัคซีนทางเลือก “โมเดอร์นา (Moderna)-ไฟเซอร์ (Pfizer)” เป็นตัวยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคในครั้งนี้ มีการออกมาเรียกร้องให้รัฐเร่งนำเข้าวัคซีนทางเลือก ที่นอกเหนือจากวัคซีนที่อยู่ในแผนการจัดซื้อที่ต้องการ ให้มีการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งประชาชนสามารถได้รับการฉีดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีมุมมอง และช่วยสะท้อนเอาไว้ว่า การนำวัคซีนทางเลือกเข้ามา สามารถพิชิตเชื้อสายพันธุ์ใหม่ได้นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะเป็นวัคซีนตัวเก่า
“ผมว่าไม่จำเป็นหรอก เราใช้วัคซีนที่เรามีอยู่แล้วในปัจจุบัน และปูพรมฉีดให้มากที่สุด เหมือนที่ผมบอกฉีด 50 ล้านคน ผมว่าไม่พอหรอก ต้องฉีดมากกว่านั้น ถ้า 70% ของประเทศก็ไม่พอ ยิ่งสายพันธุ์ใหม่ๆ เข้ามายิ่งต้องให้มากกว่านั้นอีก ให้มากที่สุดเท่าที่จะให้มากได้ 80-90 เปอร์เซ็นต์เลย แล้วปีหน้าต้องเอาเข็มใหม่มาฉีด
คือ วัคซีนเหล่านี้ก็ยังเป็นวัคซีนรุ่นเก่าหมดเลย รุ่นใหม่ไม่มีใครผลิตเลยเชื่อว่าปลายปีทุกบริษัทเร่งพัฒนาวัคซีนตัวอื่นมา ไม่ว่าแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค หรือไฟเซอร์ เขาจะเป็นวัคซีนรุ่นที่ 2 แล้ว”
ขณะที่ล่าสุด สรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ได้พูดถึงวัคซีนโมเดอร์นา ในช่วงหนึ่งของรายการ เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ หลังองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เผย โมเดอร์นา ผ่าน อย. ไทยแล้ว ไว้ว่า วัคซีนโมเดอร์นาไม่ควรจะรอถึงเดือนตุลาคม
พร้อมฝากถึงองค์การเภสัชกรรม ถ้าตอนนี้ประชาชนอยากจ่ายเงินเต็มจำนวน คิดว่ามีคนจองแน่ๆ และอยากจะรู้ว่า ที่บอกว่าพร้อม อยากเร่งนั้น ไปสั่งซื้อแล้วหรือยัง
นอกจากนี้ ผ่านสายตาของหมอมนูญ รู้สึกกังวล หากคนไทยยังไม่ได้รับการฉีดเพื่อภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะอาจจะทำให้สถานการณ์โควิดยิ่งเลวร้าย และอาจจะทิ้งรอยแผลลึกไปอีกนาน เพราะประเทศไทยถือว่ามีเชื้อกลายพันธุ์ครบในขณะนี้
“ผมว่าเรารีบจัดการสายพันธุ์อังกฤษก่อน สายพันธุ์นี้มีคนตายเยอะมาก แล้วเราฉีดให้ครอบคลุมเพื่อป้องกันสายพันธุ์อังกฤษก่อน แล้วปีหน้าเราต้องสั่งวัคซีนรุ่นใหม่ ซึ่งจะพัฒนาบรรจุหลายสายพันธุ์ คงไม่ได้บรรจุแต่แอฟริกาใต้ แล้วแต่ว่านักวัคซีนวิทยาเขาจะเอาตัวไหน คือ ยิ่งมีสายพันธุ์มากก็ยิ่งดี
สายพันธุ์อังกฤษน่ากังวลที่สุด เพราะอังกฤษเป็นสายพันธุ์ที่ฆ่าคนมากที่สุดแล้ว สายพันธุ์เหล่านี้มันจะหลบหลีกภูมิคุ้มกัน
อย่าไปกลัววัคซีน เพราะโรคมันน่ากลัวสุดๆ เมื่อเป็นจะเป็นทั้งครอบครัว และคนที่ป่วยหนัก คือ คนที่อายุมากสุดในบ้าน และคนที่มีโรคประจำตัว ป่วยแล้วรักษากลับไปบ้านไม่ได้หายใจปกติ บางคนยังต้องใช้ออกซิเจนต่อเนื่อง ปอดจะดีขึ้นเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ มันไม่เหมือนกับโรคระบาดปีที่แล้ว มันคนละโรคกันเลย มันแรงกว่ากันเยอะมาก”
อย่างที่รู้กัน ปัจจุบันวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลไทย มีเพียงวัคซีนของซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า จำนวนวัคซีนที่จองมาทั้งหมดของรัฐบาลนั้น ยังไม่เพียงพอเพื่อลดการระบาดของโรค และสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตแก่ประชาชน
และดูเหมือนว่า ยังไม่มีคำตอบชัดเจนถึงเหตุผลว่า ทำไมวัคซีนทางเลือกจะนำเข้าได้เร็วที่สุดในเดือนตุลาคมไม่ได้ สวนทางกับจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น และเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาล ที่มีอย่างขีดจำกัดในการดูแลผู้ป่วยแล้วทั้งสิ้น
ข่าวโดยทีมข่าว : MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **