เชื่อว่างานโกอินเตอร์ได้! เปิดใจศิลปินหนุ่มไทย เดินตามฝัน ผันตัวเองสู่นักทำโมเดลจิ๋ว จำลองตึก-ตู้โทรศัพท์ สะท้อนความเป็นไทย เก็บทุกรายละเอียด แม้กระทั่งคราบสนิมที่เกาะ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ เส้นทางชีวิตก็ผ่านอุปสรรคมามากมาย ด้วยลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้มูลค่าผลงานของเขาก็พุ่งสูงขึ้น และถูกมองว่าเป็นอีกหนึ่งศิลปินที่น่าจับตามอง ณ ขณะนี้
สุดยอดศิลปะขนาดจิ๋ว “ตู้โทรศัพท์-ตึกห้างทองฯ"
“ไม่คิดว่า คนจะชอบเยอะขนาดนี้ พอคนทักมาบอกว่าชอบ ทักมาอยากให้สอนให้ ก็ดีใจที่คนชอบงานเรา เพราะตอนแรกที่ทำ เราก็ไม่คิดว่าคนไทยจะสนใจงานศิลปะแนวนี้”
อาร์มี่-ธนเบศร์ ชาญปรีชญา ศิลปินทำโมเดลจิ๋ว เจ้าของเพจ “CALL ME NABET” วัย 25 ปี ที่เพิ่งเรียนจบมาหมาดๆ ด้าน 2D & Traditional Animation สาขา Stop motion จากประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วเพิ่งจะกลับมากรุงเทพฯ เมื่อช่วงปีที่แล้ว
ได้เปิดใจกับผู้สัมภาษณ์ สำหรับผลงานของเขาที่กำลังโด่งดังและถูกพูดถึงในสังคมโซเชียลฯ เป็นอย่างมาก กับผลงานโมเดลจำลองตึกอาคารพาณิชย์ และตู้โทรศัพท์สาธารณะที่หลายคนคุ้นชินกับความเป็นไทยได้อย่างลงตัวสุดๆ ชนิดที่ทำออกมาเก็บทุกรายละเอียด ราวกับภาพถ่าย
“ผมเรียนจบด้าน Animation เป็น 2D และ Traditional Animation ซึ่งจะออกไปทางด้าน Stop motion เป็นหลัก คือ ตอนเรียนเราก็มีทำแบบนี้บ้างนิดหน่อย
เพราะ Stop motion ก็มีทำฉาก แล้วเราก็เป็นคนชอบประดิษฐ์พวกนี้อยู่แล้ว ตั้งแต่เด็ก เป็นคนชอบทำโมเดล ประดิษฐ์นั่น ประดิษฐ์นี่ เป็นงานศิลปะ แล้วผมตาม IG ของต่างประเทศ พวก Artist ที่เขาทำแนวนี้ แล้วก็ชอบ ดูมา ติดตามมาตั้งนาน คิดว่าตัวเองก็น่าจะทำได้ ก็เลยลองทำชิ้นหนึ่งขึ้นมา
ผมเป็นคนชอบทำงานศิลปะ แต่ถ้าเป็นโมเดลก็เพิ่งจะเริ่มได้ไม่นาน คือ ชิ้นแรกก็เป็นตู้โทรศัพท์ ที่ทำตู้โทรศัพท์เพราะว่าตอนแรกที่ผมตาม IG ของต่างชาติ ตามผลงานของต่างประเทศ ผมก็เห็นเขาทำ อย่างคนฮ่องกงจะถ่ายทอดวัฒนธรรม บ้านเมือง สิ่งที่เขาเห็นในชีวิตประจำวัน เป็นรูปแบบส่วนใหญ่เป็นตึก บ้านช่องในสไตล์ฮ๋องกง
คนอเมริกาอาจจะเป็นแบบ New York มีรถตู้ หนังสือพิมพ์ พอเราทำ เราก็อยากสื่อความเป็นไทย เป็นความมีเสน่ห์ของไทยๆ ครับ”
ด้วยความที่ใฝ่ฝันอยากเป็นศิลปินมาตั้งแต่จำความได้ บวกกับความเป็นคนสนใจแบบจำลองมาพักใหญ่ๆ เขาก็เริ่มศึกษาวิธีการต่างๆ จาก Youtube ผสมกับการติดตามผลงานของศิลปินต่างชาติ จนความอยากรู้เริ่มกลั่นตัวเป็นอยากลอง เพราะเชื่อว่าตัวเองสามารถทำออกมาได้
“ผมว่ามันเป็นงานที่สามารถมองได้ทุกมิติ คือ มันเล่าเรื่องราวได้หลายมุมครับ ไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างภาพวาด เราเห็นด้านเดียว แต่อย่างโมเดลมันสามารถเล่าเรื่องราวได้หลายมุม
ไม่ว่าจะหมุนไปทางไหน มันเห็นได้รอบด้าน และมันก็สื่อออกมาในแต่ละมุม หรือ detail มันสามารถมองเข้าไปใกล้ๆ มองภาพรวมที่มันเล่าได้มากกว่างาน 2D งานมิติเดียว สำหรับผม”
เขาจึงตัดสินใจเริ่มทำโมเดลจิ๋วเป็นของตัวเองบ้างระหว่างรอไปเรียนต่อปริญญาโทด้านศิลปะโดยตรงที่ต่างประเทศ และตั้งใจใช้โมเดลจิ๋วเป็นพอร์ตโฟลิโอ ที่ต่อยอดในการเรียนต่อไปในอนาคต
“ตอนแรกก็อยากทำเฉยๆ ตู้โทรศัพท์ผมก็อยากทำขึ้นมาเล่นๆ พอทำแล้ว ก็ลองเปิด IG ทำ account เรา เป็นแบบ Artist เพราะเราก็อยากโชว์ผลงานของเราด้วย
พอทำแล้วก็ลงไปในพื้นที่ของเรา หรือใน IG ของเรา แล้วคนเริ่มฟอลเยอะขึ้น คนมาชอบ ก็เลยอยากทำห้างทองฯ แล้วตอนแรกที่ทำตึกห้างทองฯ ผมก็ไม่คิดว่าจะขาย หรือจะดังอะไรนะครับ
แค่อยากเก็บไว้เป็น Port เฉยๆ เป็น Portfolio ของเรา เพราะว่ามีแพลนจะไปเรียนต่อ อาจจะทำตรงนี้ งานเก็บไว้เยอะๆ แล้วสามารถเอาไปยื่นได้”
ผลงานของอาร์มี่ ไม่ใช่แค่เหมือนยันเงา แต่เหมือนยันคราบสนิม ซึ่งใครจะเชื่อล่ะว่า ตู้โทรศัพท์ที่ถูกแชร์ออกไปนั้น เป็นผลงานโมเดลชิ้นแรกที่เขาได้ทำ
สำหรับแนวคิดที่สร้างสรรค์ออกมาเป็นตู้โทรศัพท์นั้น เขาเล่าว่าเพื่อสะท้อนความเป็นไทยที่เขาคุ้นชิน และความผูกพันมาตั้งแต่เด็กๆ
“ถ้าเป็นโมเดลแบบนี้ ก็มีแค่ชิ้นแรก ผมเองก็ผูกพันกับตู้โทรทัศน์ด้วย เพราะว่ามีอยู่ตู้นึง ที่อยู่หน้าปากซอยผม ที่ผมเดินผ่านทุกวัน ซึ่งเป็นตู้ที่คุ้นชิน ผมก็อยากจะทำอะไรที่รู้สึกผูกพัน
แล้วตอนนี้มันก็หายไปแล้วด้วยตู้ตรงหน้าปากซอยผม ผมก็อยากจะทำอะไรที่มันเก็บไว้ในความทรงจำ”
อย่างไรก็ดี ผลงานชิ้นแรกที่อาร์มี่ได้ลงมือทำตอนยังอยู่อเมริกาอย่าง “ตู้โทรศัพท์” รายละเอียดทุกชิ้นที่เห็นนั้นขึ้นด้วยมือล้วนๆ เพราะตอนนั้นเขาบอกว่ายังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ สำหรับการทำอะไรเลย
“เราก็อยากทำงานสื่อ สะท้อนอะไรบางอย่าง เล่าเรื่องราว และทำอะไรที่คนไทยเห็นแล้วรู้สึกผูกพัน
คือฝึกพร้อมกับทำไปด้วย คือเราก็ทำชิ้นแรก เราก็เรียนรู้ระหว่างทำ และก็ฝึกศึกษาจาก YouTube บ้าง จาก Artist ที่เราเคยติดตาม เราก็ message ไปหาเขาไปถาม
ตอนแรกตอนเริ่มก็ไม่ค่อยมีอะไรเยอะ ก็มีด กรรไกร กระดาษ และอุปกรณ์ก็หาได้ทั่วไป ที่เราคิดว่าจะสามารถใช้อะไรมาทำได้ อย่างแผ่นพลาสติก แผ่นกระดาษ ไม้อัด ก็หาจากรอบตัว แล้วมาลองทำดู
อย่างที่บอกตัวตู้โทรศัพท์นี้ คือ ไม่ได้วัดอะไรเลย คือกะขนาดเอา ดูจากรูปแล้วก็คิดเอาเอง ว่าจะขนาดเท่าไหน แล้วลองขึ้นแบบตัวตู้โทรศัพท์มาก่อน แล้วหลังจากนั้นค่อยเอาตัวอื่นเข้ามาดู ว่าพอมาเทียบกับตัวตู้โทรศัพท์ที่เราทำ แล้วไซส์มันสมส่วนไหม”
“จุดแข็งของผม คือ ความเก็บ detail”
หลังจากจบการศึกษา กลับมาเมืองไทยไม่นาน ศิลปินวัย 25 ปีคนนี้ เริ่มสนใจกับสิ่งปลูกสร้างริมทาง ตึกบ้านมากยิ่งขึ้น เพราะมันดูมีเอกลักษณ์ดี มีรายละเอียดที่น่าสนใจซ่อนอยู่เต็มไปหมด
และมองว่าเป็นเสน่ห์ในรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่เราผูกพันตั้งแต่เด็กๆ ที่พบเห็นเป็นภาพชินตา ซึ่งยังไม่มีใครหยิบยกมาเล่า ทำให้มีแนวคิดเริ่มลงมือทำโมเดลตึกแถว เป็นงานชิ้นที่ 2 ขึ้นมา
“ตึกห้างทองฯ คือ ไอเดียที่อยากทำ คือ เป็นเสน่ห์ที่คนไทยเราเห็น เราผูกพัน เราเห็นทุกวัน
ที่ไม่ใช่ความเป็นไทยแบบลายไทย หรือเป็นวัด คือ เป็นสิ่งที่เราขับรถไป เราเห็นได้ทุกวัน
อย่างเช่น ตึกห้างทองฯ ก็เป็นยุคสมัยหนึ่งที่ขึ้นมาเยอะๆ ที่มันมีป้ายเหล็ก ซึ่งตึกห้างทองฯก็ออกมาแนวๆ เดียวกัน เป็นป้ายเหล็ก มีห้างทองฯ มีชื่อห้างทองฯ เป็นสีเหลือง สีแดง ซึ่งเราขับไปถนนไหน เราก็เจอซ้ายขวา หรือทุกถนนอยู่แล้ว
ตัวตึกตัวนี้ หรือตัวห้างทองดำรงชัย ก็เป็นตึกที่ผมเห็นมาบ่อย ขับรถผ่านบ่อย เพราะว่าบ้านอยู่แถวตึกนี้ด้วย และรู้สึกผูกพัน แล้วผมก็อยากทำอะไรที่มันดูเก่าๆ อย่างเช่นป้ายเหล็ก”
โมเดลตึกแถวห้างทองฯนี้ เรียกได้ว่าเก็บทุกรายละเอียด ก่อนจะทำต้องไปศึกษาไปเห็นของจริงเขาเล่าว่าใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการสร้างโมเดลแต่ละชิ้นขึ้นมา
โดยได้มีการไปสำรวจถ่ายรูปก่อน แต่เนื่องจากไม่สามารถนำตลับเมตรไปวัดได้ จึงกลับมาขึ้นแบบ 3D ในโปรแกรม เพื่อดูความสมส่วนของขนาดตึกและองค์ประกอบ เมื่อได้ขนาดจริงออกมา ก็ค่อยย่อขนาดให้เหลือเป็นสเกล 1:24
“ห้างทองฯ คือ มันเป็นตึกของจริงอยู่แล้ว ผมก็ไปถ่ายรูปมา ซึ่งตัวตึกนี้ผมก็ไม่ได้ขอเจ้าของเขาก่อนด้วย คือ ตอนแรกไม่รู้จะขอยังไง เราจะไปทำโมเดลบ้านเขาอย่างนี้ ผมก็ไม่รู้จะขอยังไง แต่ว่าพอเราคิดจะทำ และต้องการขนาด ผมก็ไปถ่ายรูป
พอถ่ายรูปเสร็จผมก็มาดูไซส์ว่าขนาดของตึก เซิร์จหาในอินเทอร์เน็ตว่าขนาดของตึกแถวควรจะสูงแค่ไหน ตรงประตูม้วนเหล็กมันควรสูงแค่ไหน ก็มาลองดูขนาด แล้วก็สร้าง 3 D model ขึ้นมา สร้างมาดูว่าก่อนจะขึ้นงานจริงๆ มันจะสมส่วนไหมอย่างนี้ครับ”
นอกจากจะปั้นด้วยมือแล้วยังมีการใช้โปรแกรม 3D สร้างสรรค์จัดเต็มรวมเทคนิคสารพัดเพื่อทำให้แบบจำลองออกมาสมบูรณ์สมจริงมากที่สุด
“ชิ้นที่ 2 อุปกรณ์เยอะขึ้น และเราก็อยากได้มาช่วยให้งานเราดูสวยขึ้น ก็มีอุปกรณ์เยอะขึ้น อุปกรณ์โมเดลทั่วไป พวกครีม มีด กรรไกร มีเลื่อย มีนั่นมีนี่เข้ามา
อย่างสี ชิ้นที่ 2 ซื้อเป็นตัวแอร์บรัช ชิ้นแรกผมจะระบายด้วยพู่กัน ชิ้นที่ 2 มีแอร์บรัชเข้ามาช่วย ก็ง่ายขึ้นเยอะ
ผมก็พยายามหาวัสดุที่นำมาทำราคาถูกที่สุด แต่ก็ดูถึงคุณภาพ ความแข็งแรงของมันด้วย ส่วนใหญ่ถ้าแพงก็จะเป็นสี อุปกรณ์ที่เจาะจงเฉพาะในการทำ เช่น สี อุปกรณ์ แอร์บรัช
แต่ถ้าเป็นไม้ ราคาก็ไม่เท่าไหร่ หรือบางส่วนอย่างเช่น ที่ทำไปห้างทองฯ อย่างจานดาวเทียม อุปกรณ์เหลือใช้นำตะแกงก็เอามาดัดแปลงมาเป็นจานดาวเทียม”
ดูจากดีเทลของผลงานที่เขาสร้างสรรค์แล้วนั้น ก็พอจะรู้ว่ากว่าจะออกมาเป็นโมเดลหนึ่งชิ้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ทั้งการวางแผน
และมองหาวัสดุที่จะนำมาสร้างแบบจำลอง ที่พยายามเก็บรายละเอียดออกมาให้เหมือนของจริงมากที่สุด อีกทั้งความคิดสร้างสรรค์ ที่นำมาประยุกต์ประดิษฐ์เป็นงานขึ้นมา จนเขามองว่านั่น คือ จุดแข็งของเขา ที่ส่งให้งานได้รับความสนใจ
“มันยากตรงวางแผน หรือตรงคิดว่าจะใช้วัสดุอะไรมาทำมากกว่าครับ ก็วางแผนนานอยู่เหมือนกัน กว่าจะขึ้นชิ้นงานมาได้ ซึ่งงานชิ้นแรกก็ยาก เพราะเราไม่เคยทำมาก่อน
แล้วก็ลองผิดลองถูก ทำมาเรื่อยๆ แต่ชิ้นที่ 2 ก็ง่ายขึ้นมานิดนึง เพราะเราเริ่มรู้การลงสี เริ่มมีประสบการณ์มาบ้างแล้ว
จุดแข็งของผมน่าจะเป็นความเก็บ detail เลยทุกเม็ด เก็บ detail ทุกจุด เพราะผมเชื่อว่ามันยิ่ง detail เยอะ ยิ่งมันออกมาสมจริงมากเท่าไหร่ งานก็ยิ่งดูดี ดูน่าสนใจมากเท่านั้น
สิ่งที่ต้องพัฒนาก็มีหลาย skill ที่ต้องพัฒนา เพราะว่าผมเพิ่งเริ่มด้วย และยังต้องเรียนรู้อีกเยอะ แล้วก็มีเรื่องไฟ ที่เราไม่ค่อยเก่ง เรื่องวงจรไฟ ติดต่อไฟ”
อาร์มี่เล่าอีกว่า การทำโมเดลชิ้นเล็ก ต้องอดทนต่อการทำงานเป็นเวลานานๆ ต้องคอยจัดองค์ประกอบตามแบบ เพื่อให้งานออกมาเหมือนจริงที่สุด ความใจเย็น และการใช้สมาธิสูงอยู่กับชิ้นงาน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
“รบกวนได้ครับ รบกวนได้ปกติ คือ แค่ต้องใช้ความใจเย็นมากๆ แค่นั้นเองครับ เพราะแต่ละชิ้นถ้าเรารีบทำมากไป มันก็งานที่ออกมามันอาจจะดูไม่ดีถ้าอยากได้ detail ที่มันเนี้ยบต้องใจเย็น ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ วัด ค่อยๆ ตัด ทุกอย่างจะต้องใจเย็น
เปิดเพลงได้ แต่ว่าถ้าเกิดคนมารบกวนมากก็ไม่ได้ คือ มาชวนคุยได้บ้าง แต่ถ้ามากๆ ก็ไม่ได้ครับ
ผมชอบดูหนังมากอยู่แล้ว ฟังเพลงผมชอบฟังอยู่แล้ว และด้านงานของผม คือ แน่นอนว่าต้องได้ inspiration จากข้างนอก ซึ่งตัวผมเองผมก็เป็นคนชอบดูทาง นั่งรถชอบมอง ดูข้างทาง ดูวิถีชีวิตคน ดูตึก สังเกตนั่นสังเกตนี่
ชอบดูบ้านเรือนจั้งแต่เด็กอยู่แล้ว ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มี inspiration ทำให้มีไอเดีย คิดงาน อย่างที่เคยทำมา ผมก็ไม่ได้มีเวลาตายตัว เพราะเราไม่ได้จะส่งงานใคร ผมแค่ทำเก็บเป็น port เฉยๆ ก็อยากทำผมก็ทำ
-
ตอนเย็นกลับมา เวลาว่างผมก็นั่งทำไปเรื่อยๆ แต่ว่าพอมันมาบูมแล้วมีคนมาจ้างทำ ผมเริ่มรับงานมันก็เริ่มคำนึงถึงเวลา ทำให้ไว ใช้เวลาของเราให้คุ้ม ให้งานออกมาเสร็จไวที่สุด จะได้รับงานอื่นต่อไปได้”
เพราะสิ่งที่เรียน เติมแต่งผลงาน ให้มีเอกลักษณ์! “ผมก็ชอบด้าน Stop motion ถึงเลือกเรียน แต่ว่าพอเราเรียน ระหว่างเรียนเราก็มีความชอบ ทางด้านการทำประดิษฐ์อะไรอย่างนี้มากกว่า การที่เราไปนั่งทำตัวละคร นั่งวาด หรือขยับตัวละคร ผมเรียนแล้วผมรู้สึก เฮ้ย! ผมชอบด้านนี้มากกว่า ผมก็เลยเปลี่ยนมาทางด้านการประดิษฐ์ การทำอะไรอย่างนี้ ด้วยความที่เราเรียนด้านศิลปะมา เราจะเห็น จะคิดแบบคนที่เรียนศิลปะมา อย่างเช่น การใช้สี การดูว่าตรงนี้ควรจะใช้สีอะไร ให้ตรงไหนมันเด่นขึ้นมา ในการวางองค์ประกอบผลงานของโมเดลเรา ผมว่าก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้งานเราดูมีอะไรมากขึ้น” |
เทียบต่างชาติช่องโหว่ของ “ศิลปะ” ไทย ไร้ทุนสนับสนุน?
“ผมว่าเป็นเพราะ คนมันเข้าถึงได้ด้วยครับ คนที่เห็น แล้วรู้สึกเข้าถึงงานชิ้นนี้ เพราะเป็นสิ่งที่คนเห็นกันทุกวันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นตู้โทรศัพท์ หรือตึกแถว ซึ่งทุกคนมันผูกพันอยู่แล้ว เพราะออกไปหน้าปากซอยก็เจออยู่แล้ว”
แน่นอนว่า อาร์มี่ สามารถเก็บรายละเอียดงานเหล่านี้ ลงมาอยู่ในโมเดลจิ๋วของเขาได้อย่างครบถ้วน ไม่เว้นแม้แต่ป้ายโฆษณาที่ขาดลอกออกจากตู้โทรศัพท์สาธารณะ
คราบสนิมที่เกาะอยู่ตรงประตูเหล็กของห้างทองฯ หรือแม้กระทั่งเศษอาหาร กระดาษโฟมที่ทิ้งอยู่นอกถุงดำ จนนึกสงสัยว่าถ้านำผลงานเหล่านี้ไปสร้างรายได้ ก็อาจจะดี
“อย่างออกไปนอกบ้าน ทุกอย่างเป็น inspiration ทุกอย่างคือแรงบันดาลใจได้หมด ไม่ว่าจะเดินไปเจอฟุตปาธที่มันแตก มีน้ำเน่าขังอยู่ ซึ่งจุดนี้ทุกจุดที่เราเห็น อยู่ที่เราอยากเล่าตรงนี้ออกมาในงานของเรารึเปล่า ผมก็เก็บหลายๆ อย่างตรงนี้มารวมกัน ว่าเราอยากเล่าจุดไหนเราก็ทำออกมา”
และเมื่อเทียบกับผลงานศิลปินต่างชาติ ผลงานเขาเองก็ไม่ได้เป็นรอง คิดว่ามีใครหลายคนกำลังสนใจที่จะซื้ออยู่ไม่น้อย
“ได้ครับ ไม่ได้อยากหลงตัวเอง แต่ผมว่าฝีมือผมโอเคอยู่ ดูจากหลายๆ คนที่ติดตามก็ถ้าเรื่อง detail ผมว่าผมเก็บเนี้ยบ
คือตัวเราเอง เราก็อยากให้งานเราโกอินเตอร์เหมือนกัน ซึ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ ที่อยู่ใน IG เรา มีหลากหลายประเทศที่เขาติดตามอยู่เหมือนกัน
ถ้าเกิดว่าในอนาคตมันไปได้ไกล สามารถเอางานไปโชว์ที่ต่างประเทศก็ดี ผมก็อยากให้มันเป็นอย่างนั้น แต่ตอนนี้งานเรายังน้อยอยู่ ตอนนี้กำลังเร่งผลิตอยู่ครับ
ผลงาน 2 ชิ้นนี้ ผมก็ไม่ได้ตั้งราคา เพราะไม่ได้จะขาย และคิดว่าคงตั้งไม่ได้ด้วย แต่ถ้าชิ้นหน้าผมก็ไม่ได้คิดเรื่องราคา เพราะเราเพิ่งเริ่ม และก็ยังไม่ได้คิดว่ามันควรจะเท่าไหร่ แต่ก็จะลองสอบถามหลายๆ คน ว่ามันควรจะราคาเท่าไหร่”
เขายังสะท้อนงานศิลปะในประเทศไทยนั้น ยังเห็นช่องโหว่ คือ การไม่มีเงินสนับสนุนศิลปิน สื่อโซเชียลฯ หรือการถูกแชร์ออกไป จึงเป็นเครื่องมือ ทำให้ต่างชาติเห็นผลงานของเขา และติดต่อซื้อผลงานเข้ามา
“ตอนนี้ก็มีครับ แต่อย่างที่ผมบอกไป ผมก็ยังไม่ขาย เพราะ 2 ชิ้นนี้ผมไม่ได้ตั้งใจขาย และเราทำมาเราก็ผูกพันด้วยครับ มันเป็นชิ้นแรกๆ
คนติดต่อมาสนใจซื้อก็เยอะครับ แต่งาน 2 ชิ้นที่ผมทำ ผมไม่ได้คิดว่าจะขาย เพราะผมไม่ได้มีความตั้งใจว่าจะขายอยู่แล้วด้วย
แต่งานชิ้นต่อไปที่จะทำมา อาจจะทำขาย แล้วงานจ้างที่รับทำ มีคนติดต่อมาเยอะมาก ว่าอยากให้ทำโมเดลบ้านเขาให้ทำ หรืออยากทำโมเดลตึกเขาให้หน่อย
ก่อนที่จะรีโนเวต มีหลายแบบ หลายสไตล์หลายอย่างมากเลย คือ มีติดต่อเข้ามาเยอะมาก ซึ่งตอนนี้ก็มีรับงาน เพราะตอนแรกผมคิดว่าจะไม่รับงานอะไรเลย
แต่มีคนติดต่อเยอะเข้ามา ก็ลองรับดู ตอนนี้ลองรับอยู่ ลองทำงานชิ้นหนึ่งอยู่ แต่ก็รับทีละงาน เพราะคนติดต่อเข้ามาเยอะ ผมทำงานชิ้นนี้เสร็จแล้ว ผมค่อยเปิดรับในงานต่อไป ตอนนี้ก็ทำควบคู่ไปกับงานที่เป็นของตัวเองด้วย แล้วก็งานที่เราทำด้วยครับ”
กว่าที่เขาจะเป็นศิลปินที่ผลงานถูกพูดถึง จุดนี้เขายอมรับว่าเกิดความไม่มั่นใจ ว่า เส้นทาง “ศิลปิน” แห่งนี้สามารถเลี้ยงชีพได้จริง
“ตอนแรกที่ผมทำ ผมก็คิดว่าคนไทยก็อาจจะไม่ค่อยอินงานประเภทนี้ ซึ่งพอผมเห็น Feedback ก็เห็นคนสนใจเยอะดี
ตัวเราเองก็รู้สึกว่า เราก็เก่งในระดับหนึ่งแหละ ถ้าเกิดว่ามันสามารถไปได้ไกลกว่านี้ก็ดี ก็อยากให้มันไปกว่านี้เหมือนกัน หมายถึงว่าต่างประเทศ
ตอนแรกไม่ได้จะทำเป็นอาชีพหลัก คือ ตอนนี้ก็เริ่มคิดว่าจะทำ ถ้าเกิดว่ามันเวิร์ก เพราะว่าคนติดต่อให้ทำเยอะ
ผมก็ลองทำชิ้นนี้ก่อน ถ้ามันโอเค มันเวิร์ก มันดี ก็จะทำต่อไป เพราะตอนแรกที่ทำ คือ ไม่ได้คิดว่าจะทำเป็นอาชีพหลักอะไรเลย
คือ ทำเพื่อจะเป็น Port เพราะมีแพลนจะไปเรียนต่อ ระหว่างโควิดก็ทำงาน เก็บเป็น Port ระหว่างรอไปเรียนต่อครับ”
โดยล่าสุด ผู้ชายคนนี้กลับมีคนติดต่อเข้ามา ขอให้ทำโมเดล รวมเป็นมูลค่าเกือบหลักแสน ซึ่งศิลปินวัย 25 คนนี้ ให้คำตอบว่า แค่มีคนสนใจตัวผลงาน และเชื่อมั่นในสิ่งที่เขาทำ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งเรื่องที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทุกอย่างเป็นไปได้ถ้าใฝ่รู้ เพราะเขาหมั่นเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ นอกตำราเสมอ เปรียบเสมือนคนที่น้ำที่ไม่เต็มแก้ว
“คงไม่ใช่ดวง ผมว่าถ้าเกิดงานมันจะดังได้ ดีได้ 1. คุณภาพงานต้องดีแน่นอนอยู่แล้ว คนเห็นต้องแบบว้าว ต้องเฮ้ย! สวยว่ะ
2. คงจะเป็นเรื่องของไอเดีย และความคิดสร้างสรรค์ในงานที่ลงไป งาน detail ฝีมือ มันก็คือส่วนหนึ่ง แต่ความคิดสร้างสรรค์ก็ส่วนหนึ่ง ว่าเราคิดจะทำอะไรออกมาให้คนดูได้เห็น
เราต้องการจะสื่ออะไร ก็จินตนาการ ความครีเอต ความสร้างสรรค์ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานมันดังด้วย ผมรับคำติชมทุกอย่าง คือ ที่คนทักมาก็มีน่าจะเพิ่มภาพเก่า บางจุดเราก็โอเค เราก็อยากจะแก้ไข ก็ถูกของเขา ฟังหลายความคิดเห็น เพราะเราก็ทำตัวคนเดียวด้วย บางจุดเราอาจจะไม่เห็น ไม่ได้ใส่ใจ”
สุดท้ายศิลปินโมเดลจิ๋วยังทิ้งท้ายถึงคนที่ไม่กล้าที่จะเดินตามฝัน หรือกำลังท้อแท้กับสิ่งที่ทำอยู่ แต่ยังไม่มีใครมองเห็นว่า อยากทำสิ่งไหนขอให้ลงมือทำเลย
“ทุกอย่างจะต้องลงมือและลอง ถ้าเราอินเราอยู่กับสิ่งนั้นได้นานๆ โดยที่เราไม่เบื่อ ผมว่าตรงนั้นมันก็คือทางของเราแล้วล่ะ
ตอนแรกผมก็แทบไม่รู้เลยว่าจะมีใครชอบด้านนี้ เพราะว่าดูจากที่คนไทยที่ดูมา ก็น่าจะสนใจน้อย
แต่พอทำ มีคนชอบเยอะ คิดว่าศิลปะไม่ว่าคุณจะทำด้านไหน ถ้าเกิดเชื่อว่า งานเรามันดี มันเจ๋ง ทำเลยครับ ทำต่อไป แล้วก็ลองโพสต์ ดู feedback ว่าคนชอบไหม คนคิดยังไงกับงานของเรา
บางทีงานของเราที่เราคิดว่า มันเจ๋ง ในหัวเรา แต่ออกไปมันแน่นอนอยู่แล้ว มันไม่สามารถจะให้ทุกคนมาชอบผลงานของเราได้
สำหรับผมแค่คนชอบงานของเราแค่คนเดียว อินกับงานของเราแค่นี้ผมก็ happy แล้ว ก็มีความสุขแล้วที่ทำงานออกมา
อยากให้คนที่ทำก็ทำต่อไป และเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำ ถ้าเราคิดว่าของเราดี เราก็ทำออกมาโชว์งานของเราครับ”
รับมือ “ครอบครัว” ไม่เข้าใจงานศิลปะ “ตอนแรกก็ไม่เข้าใจหรอกครับ เราก็อธิบายเขาก็ไม่ค่อยเข้าใจ ต้องทำออกมาให้เขาเห็น พอเราทำเสร็จ เราก็เอาไปโชว์เขาให้เขาเห็นว่าเราทำอะไร ตอนแรกเขาก็สงสัยอยู่ว่าใครจะสนใจ ทำไปทำไม แต่พอคนแชร์เยอะๆ คนดูอย่างนี้ เราก็ภูมิใจว่าพ่อแม่ได้เห็น ว่ามีคนชอบเยอะนะ คุณพ่อกับคุณแม่เราเห็นมาตั้งแต่เด็กแล้ว ว่าเราชอบทางด้านศิลปะด้านนี้ เพราะว่าตั้งแต่เรียนที่ไทย เขาก็เห็นมาตลอดว่าเราไม่ไหวเรื่องเลข เราจะไปเก่งทางด้านศิลปะ เขาก็เห็นตรงนี้มาตั้งแต่เด็ก แล้วพอเรามีโอกาสได้ไปเรียน เราก็เลือกไปทางด้านสายศิลปะ เพราะเราคิดว่าเราไปทางนี้ เรามีความสุขมากกว่า เราไปได้ไกลกว่า ซึ่งทางพ่อแม่ก็สนับสนุน เพราะเขาก็รู้ว่าเราเรียน เราคงไม่ชอบด้านอื่น เรามาสายศิลปะตั้งแต่เด็ก เขาก็เข้าใจ โชคดีที่เขาเข้าใจมาตลอด” |
ดูโพสต์นี้บน Instagram
สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
คลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ “CALL ME NABET” และอินสตาแกรม @callmenabet