xs
xsm
sm
md
lg

“นางพยาบาลวีลแชร์” พลิกชะตาผู้ป่วยติดเตียง สู่หน่วยแพทย์สร้างแรงบันดาลใจเพื่อสังคม [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุบัติเหตุเกือบดับฝัน แต่ด้วยหัวใจที่แข็งแกร่ง จากผู้ป่วยติดเตียง ไม่ยอมแพ้ สู้รักษาตัวเอง สานฝันจนสำเร็จ แม้จะเป็น “พยาบาลวีลแชร์” ก็ตั้งปณิธานทำให้ผู้ป่วยกลับบ้านอย่างมีสุข พร้อมพลิกชีวิตมาเป็นคนสร้างแรงบันดาลใจให้กับหลายๆ คน

อุบัติเหตุเกือบดับฝัน อาชีพ “พยาบาล”

“ยิวมีปณิธานว่า ทำประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เท่าที่แรงเราจะมี ทำให้ผู้ป่วยมีความสุขกลับบ้านให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เหนื่อยกายไม่ใช่ปัญหาสำหรับเราหรอก เพราะเราเคยเป็นผู้ป่วย เรารู้ดีว่า การที่มานั่งรอหมอ มันนานแค่ไหน เราต้องทำอย่างไรก็ได้ ให้เขากลับบ้านโดยสวัสดิภาพ และรู้สึกดีที่ได้เจอเรา ผู้ป่วยต้องได้รับสิ่งดีๆ ไป ยิวจะให้ประโยชน์กับทุกคนให้มากที่สุดเท่าที่ยิวทำได้”

ยิว-กรรณิการ์ ศรีวิจา นี่คือ เสียงสะท้อนจากพยาบาลสาววีลแชร์แบบอย่างสู้ชีวิต ที่ครั้งหนึ่ง อุบัติเหตุแทบจะดับฝันในการเป็นพยาบาล ต้องสูญเสียขา กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง แต่ด้วยความไม่ยอมแพ้ และโอกาสที่ได้รับจากคนรอบข้าง ทำให้เธอเดินถึงฝันได้สำเร็จ

และด้วยพลังแห่งความคิดที่ไม่ยอมแพ้สามารถพลิกชีวิตมาเป็นคนสร้างแรงบันดาลใจให้กับหลายๆ คนด้วยการเป็น “พยาบาลบนวีลแชร์”


ประกายความฝันการอยากเป็นพยาบาลได้เริ่มขึ้น เพราะเห็นภาพภาพประทับใจที่นักศึกษาพยาบาลดูแลปู่ของเธอเป็นอย่างดีระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล และยังเห็นว่างานพยาบาลเป็นอาชีพที่สามารถสร้างความสุข ผ่อนคลายความทุกข์ให้กับผู้ป่วยและญาติ ด้วยการช่วยเหลือและดูแลผู้ป่วยในยามเจ็บไข้เสมือนญาติ

“ก็สนใจอยากเป็นพยาบาลตั้งแต่เด็กๆ ตอนนั้นปู่ไม่สบาย ป่วยเป็นมะเร็งปวด แล้วปู่ต้องมารักษาที่มหาราชนครเชียงใหม่ เราก็ไปเฝ้าปู่ เราก็เห็นนักศึกษาพยาบาลมาดูแลปู่ดีมาก ปู่ไม่ใช่ญาติเขา เขาเช็ด อาบน้ำ ปะแป้ง เล่นกับปู่รอแบบน่ารัก นี่แหละไอดอล ฉันอยากเป็นแบบนี้”

แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ทำให้ฝันแทบดับสลาย เส้นทางชีวิตของเด็กสาวบ้านนอกคนหนึ่งที่หอบความฝันอยากเป็นพยาบาลจาก อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ แทบดับสลายลง อุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้เธอต้องสูญเสียประสาทการรับรู้ ขาทั้งสองข้างเดินไม่ได้ ขณะเป็นนักศึกษาพยาบาลชั้นปี 4 ที่ใกล้สำเร็จการศึกษาในปี 2558


“เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ยิวนั่งรถเก๋ง นั่งข้างๆ กับเพื่อน รถเฉี่ยว มันก็ตกสะพาน ทำให้กระดูกสันหลังของยิว ประมาณใต้ราวนมหักทับเส้นประสาท ตอนนั้นยังไม่รู้จะเป็นอย่างไร จะกลับมาเดินได้หรือเปล่า ตั้งแต่ใต้ราวนมจะไม่รู้สึกเลย ขาก็อ่อนแรง
นาทีที่ตื่นขึ้นมาอีกครั้งก็รู้สึกว่าเริ่มแย่แล้ว เพราว่าถ้ามันไม่ร้ายแรงมันจะต้องกระดิกได้ หรือมันจะต้องรู้สึก แต่นี้คือนอนยังไงก็ไม่รู้สึกเจ็บ เคลื่อนไหวไม่ได้ พี่พยาบาลก็จะมาถามตลอดว่ารู้ตรงนี้รู้สึกไหม ก็รู้สึกว่าแย่แล้ว

ตอนนั้นหมอยังไม่คอนเฟิร์มว่าจะเดินไม่ได้ หรือคุณจะกลับมาเดินได้ มีแค่บอกว่า ยิวตอนนี้เราเจอเลือดที่ไขกระดูกสันหลังเยอะมาก และมันช้ำมาก หมอดูไม่ออกว่ามันทับหมดหรือไม่หมด แต่ก็ไม่ได้ถามว่าจะกลับมาเดินได้หรือไม่ได้ เพราะเหมือนกับว่าสื่อสารกันรู้เรื่องแล้ว แล้วหมอก็สั่งผ่าตัดฉุกเฉิน

หลังจากผ่าตัด อย่าถามว่าเรียนพยาบาลมาเลยค่ะ มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย เรารู้ทุกอย่างว่าเราจะปฏิบัติตัวยังไง ต้องพลิกตัวทุก 2 ชั่วโมง แต่ความเจ็บปวดกับร่างกายที่เคลื่อนไหวเองไม่ได้ ที่ต้องให้คนอื่นมาช่วยเหลือ มันรู้สึกทรมาน เราจะต้องอดทนรอนะ เพื่อที่จะรออีก 2 ชั่วโมงให้เขากลับมาพลิกตัวนะ อยากกินน้ำเราก็ต้องร้องขอ

จากที่ปกติเดินได้อยู่ดีๆ แค่เสี้ยววินาที แล้วกลับมาเป็นอย่างนี้ มันรู้สึกว่านี่คือบทเรียนชีวิตจริงๆ เหรอ แต่ตอนนั้นถามว่าอ่อนแอยัง ก็ยัง เพราะคิดว่าเดี๋ยวต้องฟื้น”


ด้วยหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ ไม่เคยละทิ้งความฝันจากอาชีพพยาบาล แม้ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล หมอจะยังไม่ยืนยันว่า เธอจะเดินได้อีกครั้งหรือไม่ แต่เธอไม่ได้กังวลเรื่องนั้นมากเท่ากับเรื่องเรียนว่าจะจะสามารถเดินตามเส้นทางความฝันต่อไปได้หรือไม่

“ถามว่าช่วงนั้นกังวลเรื่องเดินไม่ได้ไหม ก็กังวลนะ แต่กังวลเรื่องที่สองคือกลัวไม่ได้ไปเรียนต่อ กลัวไม่จบพร้อมเพื่อ เพราะเราถ่ายรูปจบกันหมดแล้ว มีชุดที่จะใส่ถ่ายรับพิธีจบกันหมดแล้วทุกคน แต่อึ้ง ในใจภาวนา 2 อาทิตย์ขอให้หายเถอะ ฉันจะกลับไปเรียนต่อ ฝึกงานต่อให้เสร็จ แล้วฉันจะได้จบพร้อมเพื่อน แต่มันไม่ได้ ก็เลยรอ เผื่อสัก 1 เดือนก็ได้ อยู่ด้วยความหวัง ฉันต้องออกไปให้ได้

ตอนนั้นตั้งเป้าอยู่ 2 อย่าง ทำยังก็ได้ให้ลุกขึ้นมาจากเตียงให้เร็วที่สุด และขอให้กลับไปฝึกงานให้ได้เร็วที่สุด แรกๆ ก็รู้สึกแย่ แต่พออยู่ไปมันก็เรียนรู้ แค่จะลุกมานั่ง 3 นาทียังเจ็บ แล้วจะไปเรียน จะไหวเหรอยิว ช่วยเหลือตัวเองก็ไม่ได้ ต้องมีคนมาพลิกตัวให้ ต้องแขวนน้ำเกลือ แขวนยา หลายอย่าง ทำให้เราเรียนรู้ว่า ต้องยอมรับความจริงว่า ตอนนี้เรารักษาตัวอยู่ สิ่งที่จะทำตอนนี้คือ โฟกัสการรักษาตัวเอง เพื่อที่ถ้าหายดี เราจะได้กลับไปเรียน”


ผลกระทบด้านจิตใจที่เธอเองก็ยอมรับว่าได้รับมาอย่างหนักเช่นกัน แต่เธอไม่เคยร้องไห้ให้ใครเห็นเลยสักครั้ง ได้แต่ปลอบใจตัวเองให้เข้มแข็งอยู่ตลอดเวลา

“ผลกระทบด้านจิตใจมีมากมากแต่แสดงออกไม่ได้ เราประสบอุบัติเหตุ แล้วครอบครัวมาล้อมข้างเตียงทุกคนน้ำตาคลอ ด้วยความเป็นนักศึกษาพยาบาล ห้ามร้องไห้ออกมานะ เพราะถ้าคุณร้องไห้กำลังใจข้างๆ คนพังหมดแน่ ยิวบอกเลยว่าอย่าร้องไห้ ผู้ป่วยนอนอยู่ตรงนี้ยังไม่ร้องไห้เลย จะร้องไห้กันทำไมไม่ได้เป็นอะไรมาก เดี๋ยวเข้าห้องผ่าตัดออกมามันก็ดีขึ้นเอง อย่าทำให้เขากังวล

จิตใจเราต้องดูแลตัวเองให้ได้ เคยมีเพื่อนบอกว่ารู้ว่าเหนื่อย รู้ว่ามันไม่โอค แสดงออกมาก็ได้ความอ่อนแอ ก็ยิ้มให้เพื่อนแล้วบอกว่า ไม่เป็นไรจริงๆ สบาย แต่เป็นการปลอบตัวเองมากกว่า เพื่อนอาจจะรู้ว่าเราแย่ เพราเขาคงมองในตาเราออก แต่สิ่งที่เราทำคือยิ้มกลับไปเสมอ ไม่เคยร้องไห้ให้ใครเห็น”


เปรียบ “วีลแชร์” เป็นอวัยวะที่ 33

แม้อุบัติเหตุในครั้งนั้นทำให้เธอต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานถึง 2 เดือน ก่อนย้ายกลับมาพักฟื้นต่อที่บ้าน แต่การเป็นผู้ป่วยเรื้อรัง ต้องพักฟื้นรักษาตัวต่อเนื่องยาวนาน

ในแต่ละวันมีชีวิตอยู่แค่บนเตียง พร้อมกับมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้เธอเครียดที่ต้องเป็นภาระของครอบครัวจนทำให้เธอเกือบเป็นโรคซึมเศร้า

การเป็นพยาบาลที่ใช้ชีวิตและทำหน้าที่บนรถเข็นวีลแชร์ แน่นอนว่า ต้องยากลำบากกว่าคนปกติ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหว การใช้ชีวิตประจำวัน หรือการเดินทางไปในที่ต่างๆ ล้วนไม่สะดวกคล่องแคล่วเหมือนคนทั่วไป แต่เธอไม่เคยยอมแพ้ ใช้วีลแชร์ให้ถือว่าเป็นอวัยวะที่ 33 ในการดำรงชีวิต และทำงานคอยบริการประชาชน

“ออกจากบ้านเพื่อไปทำงานประมาณ 07.30 น. ใช้เวลาเดินทาง 3 นาที 200 เมตร อยู่ที่นี่อยู่คนเดียว การใช้ชีวิตคนเดียวก็ไม่ค่อยยากเท่าไหร่ ทำเหมือนคนปกติทั่วไป อย่างอาบน้ำต้องลงไปนั่งชักโครก เพราะยืนแบบคนปกติไม่ได้ อยู่ในห้องก็ใช้วีลแชร์เคลื่อนไหวไป

ชีวิตของเราส่วนหนึ่งให้วีลแชร์มาเติมเต็ม ยิวจะเรียกมันว่า อวัยวะที่ 33 เพราะมันสำคัญกับเรา ถ้าไม่มีมัน เราก็ไปที่ไหนไม่ได้เลย”


แต่เส้นทางชีวิตที่พลิกผันจากคนธรรมดา กลายเป็นผู้พิการนั่งวีลแชร์ ไม่ใช่แค่ต้องรอความช่วยเหลือจากผู้อื่นเท่านั้น สำหรับเธอผู้นี้ กลับมีจิตใจที่เข้มแข็งและอดทน

เธอพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เชื่อในตัวเองว่าความสามารถที่มีอยู่ในตัวไม่ได้ลดลง กลับมาสานฝันการเป็นพยาบาลได้สำเร็จ ด้วยการกายภาพและฟื้นฟูจากแพทย์โรงพยาบาลสันทราย ทำให้เธอช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น

และในที่สุด ความมุ่งมั่นที่มี โชคดีได้รับโอกาสจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลสันทราย ทำให้เธอสามารถกลับไปเรียน และยังให้เธอได้เข้าทำงาน จนเดินถึงฝันได้สำเร็จ

“ตอนนี้ยิวทำหน้าที่ซักประวัติผู้ป่วย เหมือนการสกรีนคนไข้ให้แพทย์ เราต้องใช้ความรู้ของการเป็นพยาบาลนะ เพราะถ้าคนไข้หนักมา เราต้องรีบส่งต่อที่อื่น เพื่อให้เขาได้รับการรักษาให้เร็วที่สุด

สำหรับการทำงาน นั่งวีลแชร์ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อยิวนะ ยิวทำได้ แม้ยิวจะวิ่งแบบคนอื่นไม่ได้ แต่ถามว่า ให้ประเมินคนไข้ได้ไหม ได้ และถ้ามีอะไรที่เราสงสัย เราก็ถามพี่ๆ เพื่อนร่วมงาน เขาเหมือนครูของเรา เพราะเรามาใหม่ ประสบการณ์เราอาจยังน้อย ก็เข้าอบรมตลอด ก็ทำได้ แค่เพียงเรานั่งวีลแชร์”


นอกจากโอกาสจากคนรอบข้างที่หยิบยื่นให้ ที่มีส่วนผลักดันทำให้เธอกลับมามีชีวิตที่มีความสุข และประสบความสำเร็จ ยังมีอีกหนึ่งคนที่มีส่วนสำคัญไม่แพ้กันคือคุณย่าของเธอ

“แรงบันดาลใจหลักคือย่า ย่า คือแรงบันดาลใจจริงๆ คนแก่ อายุจะ 70 มาช่วยเราพลิกตัว ยกยิวขึ้นวีลแชร์ ตัวเราไม่ใช่เบาๆ นะ ที่จริงเราต้องดูแลเขา ไม่ใช่เขามาดูแลเรา มันทำให้เราฮึดขึ้นมาว่า ฉันต้องดูแลคนๆ นี้ให้ได้ ให้เขาได้อยู่สุขสบาย ให้เขาได้กลับบ้าน ไปมีความสุขที่บ้าน ทุกวันนี้ เขาเป็นแรงบันดาลใจทำให้เราสำเร็จ

ยิวมีความสุขมากที่ยิวได้โอนเงินให้เขาทุกเดือน มีความสุขที่เราได้ซื้อเครื่องใช้อะไรใหม่ๆ ในบ้าน ไปทำบ้านให้เขาใหม่ ให้อยู่สุขสบาย เหมือนตอนที่เขาทำให้เรา เขาคือคนๆ หนึ่งที่สำคัญกับชีวิตมาก ถ้าไม่มีเขา อาจไม่มียิวในวันนี้ก็ได้”


สร้างแรงบันดาล ทำให้ผู้ป่วยมีความสุข

เธอไม่เพียงเป็นพยาบาลบนวีลแชร์ที่พยายามทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยกลับบ้านอย่างมีความสุข แต่เธอยังให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายอีกด้วย เธอมักจะลงสมัครวิ่งมาแล้วหลายสนาม

และที่สำคัญ เรื่องราวชีวิต และความคิดของเธอคนนี้ น่าจะเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่กำลังล้ม ได้กลับมาลุกขึ้นสู้เพื่อความสำเร็จที่หวังไว้ให้ได้
“ออกกำลังกายช่วงหลังเลิกงาน ประมาณ 5 โมงเย็น เริ่มมาจะ 2 ปีแล้ว หลังประสบอุบัติเหตุประมาณปีกว่า ทีแรกชอบพี่ตูน บอดี้สแลม เห็นเขาวิ่งก้าวคนละก้าวให้ รพ.บางสะพาน หลังจากนั้น เขามาเป็นพรีเซนเตอร์ให้ รพ.นครพิงค์ เกี่ยวกับวิ่ง เราเข้าใจว่าเขาจะมา เราก็อยากเจอเขา

คิดว่าจะไปวิ่งกับเขาได้ เพราะเรากายภาพ เรานอนพักอยู่ใน รพ.ตลอด และเรามีการยกเวต กล้ามเนื้อก็พอได้ เราออกไปได้ หมอก็บอกไปเลยๆ ลองไปดูสนามจะเป็นอย่างไร”

นอกจากนี้ เธอยังเล่าว่า ได้กำลังใจดีๆ จากคนไข้ที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง ยิ่งทำให้มีกำลังใจในการทำงานต่อไป

“จากประสบการณ์ จะเจอคนไข้แบบ หมอ ทำไมพูดเพราะจัง ทำไมใจดีจังเลย ครั้งหน้าให้ได้เจอคุณหมออีกนะ หรือบางครั้งเขามาซ้ำ ได้เจอคุณหมออีกแล้ว คุณหมอใจดี เป็นความรู้สึกดีที่เราได้รับจากคนไข้ มันทำให้เรามีกำลังใจในการทำงาน”


แม้ต้องใช้ชีวิตบนวีลแชร์ แต่ด้วยหัวใจที่แข็งแกร่ง เธอยังใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ทั้งจากการทำงาน ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ใช้สื่อโซเชียลบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในสังคม ซึ่งถือว่าหัวใจเธองดงามยิ่งนัก

เพราะเส้นทางชีวิตที่ไม่ยอมแพ้ต่อความพิการ ภายใต้ความคิด จิตใจ และประสบการณ์ของคนที่ใช้ชีวิตบนวีลแชร์
แม้ร่างกายอาจไม่เอื้อให้ทำอะไรได้เหมือนคนปกติทุกอย่าง แต่เธอมีไฟที่อยากทำอะไรอีกหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือเขียนเพจเล่าประสบการณ์ให้แรงบันดาลใจ

“ทุกคนอาจจะเห็นในเพจของยิว (บันทึกจากวีลแชร์) มีภาพเวลาวิ่ง เวลาอยู่ใน รพ. แต่ยิวยังมีกิจกรรมอื่นอีกเยอะที่ทำเหมือนคนปกติทั่วไป แต่ถ้ากลับไปที่บ้าน ถ้าเหนื่อย วันนี้คนไข้เยอะ ไม่อยากไปไหน ก็มีหนังสือให้ยิวอ่าน หรือไม่ก็เขียนเพจ เลี้ยงน้องแมว น่ารัก ฟังธรรมะ ยิวคาดหวังอยากทำเยอะกว่านี้ด้วยซ้ำ ถ้าสามารถออกไปทำ หรือมีมูลนิธิอะไรที่ใหญ่กว่านี้ และเราสามารถไปเป็นต้นแบบหรือไปเป็นกำลังใจเขา ให้เขากลับมาสู้

กำลังคิดแผนว่า เราจะทำอย่างไร ก็คุยกับหมอ สมมติลูกเพจที่ประสบอุบัติเหตุมาใหม่ๆ เขาจะถามยิว กายภาพอย่างไร ทำอย่างไรถึงนั่งวีลแชร์ไปนั่นนี่ได้ ไม่ใช่เคสแค่ในโรงพยาบาล ยังมีเคสในเพจเฟซบุ๊กบ้าง เขาก็จะมาติดตามเรา เขาอยากรู้ว่าคุณไปใช้ชีวิตข้างนอกยังไง ฉันอยากใช้ชีวิตแบบคุณ


มีเคสที่เพิ่งผ่านมาไม่นาน เขาประสบอุบัติเหตุได้ประมาณ 3 เดือน และเข้ามาอ่านเพจยิว มาขอเป็นเพื่อนเฟซบุ๊ก เขาเล่าให้ฟังว่า ไปอ่านที่ยิวเขียนในเพจทั้งหมด แล้วเขาก็โทรมายิว ทำอย่างไรให้ใช้ชีวิตเหมือนเดิม ทุกวันนี้เชื่อไหมว่า เขาใช้เวลาแค่ 6 เดือน มานั่งวีลแชร์แบบยิว แต่งตัวสวยๆ จากที่คนอยู่ในยิม เป็นเทรนเนอร์ ตอนนี้ทำขนมขายอยู่ที่บ้านมีความสุข ตอนนี้ไปเป็นพิธีกรรายการด้วย

เขามองเราเป็นตัวอย่าง แล้วเขาเอาไปใช้ในชีวิตเขา แม้เขาจะเดินไม่ได้ แต่ทางข้างหน้าของเขา มันมีทางอื่นอีกที่มันไปได้ ไม่ใช่ว่า เราต้องมุ่งทางเดิมที่เราเคยมา แต่จงบอกตัวเองว่ามันมีทางอีกทางที่เราจะไปได้ และจะประสบความสำเร็จได้”



สัมภาษณ์ : รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ
เรียบเรียง : MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊กแฟนเพจ “บันทึกจากวีลแชร์”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **







กำลังโหลดความคิดเห็น