อัดแน่นไปด้วยปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการจัดการโควิด-19 ของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่อง “การฉีดวัคซีน” ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในตอนนี้ หลังเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านแอปฯ “หมอพร้อม” แต่ระบบกลับมีสภาพเหมือน “หมอไม่พร้อม” แทน
เพราะบางส่วนไม่สามารถเข้าแอปฯ ได้ บางส่วนเข้าได้ แต่ไม่มีโรงพยาบาลให้กดเลือก และบางส่วนมีโรงพยาบาลให้เลือก แต่คิวเต็มยาวไปถึงสิ้นปี
จึงถึงคิวของ “ลอย ชุนพงษ์ทอง” วิศวกรสัญชาติไทยระดับโลก ผู้ใกล้ชิดทีมพัฒนาแอปฯ และยังเป็นผู้ที่เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานภาครัฐบ่อยครั้ง ลุกขึ้นมาอุดช่องโหว่ด้วยการสร้างเว็บ “สมาร์ทคิว”
พร้อมสะท้อนช่องโหว่ “ประเทศไทย” เทียบ “แคนาดา” ผ่านสายตาคนวงในมากว่า 22 ปี
เทียบไทย vs แคนาดา กับการจัดการเรื่องวัคซีน
Q: อาจารย์ได้ฉีดวัคซีนหรือยัง มีผลข้างเคียงอะไรเกี่ยวกับร่างกายบ้างไหม?
A: ผมฉีดโมเดอร์นา ฉีดได้สิบกว่าวันแล้วครับ ไม่มี Side effects อะไรเลย อาจจะมีลักษณะของมึนหัวนิดๆ หลังจากที่ฉีดไปแล้วหนึ่งวัน นิดเดียวเท่านั้นเอง
ผมยังฉีดไม่ครบสองเข็ม มันต้องเว้นระยะห่าง เมื่อก่อนเขาบอกต้องเว้นหนึ่งเดือน แต่ปัจจุบันเขาแนะนำว่าควรจะเว้นสองเดือน ประสิทธิภาพมันถึงจะสูงสุด ผมก็เลยต้องเว้น 60 วัน ถึงจะไปฉีดเข็มที่สอง
เพราะประสิทธิภาพของไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา มันแรงมาก มันแรงที่ว่าประสิทธิภาพ 80-85% ในเข็มแรก เพราะฉะนั้นความจำเป็นที่จะฉีดเข็มที่สองมันช้าได้ครับ เพราะว่ามันเป็นวัคซีนแบบ mRNA มันเป็นวัคซีนแบบเทคโนโลยีล่าสุด
Q: ในฐานะที่เป็นคนไทยในต่างแดนได้ฉีดวัคซีนแล้ว อาจารย์มองยังไงในขณะที่ประเทศไทยยังถกเรื่องการนำเข้าวัคซีนกันอยู่เลย?
A: ประเทศไทยตอนนี้มันมีปัญหาเรื่องข้อมูลข่าวสาร ภาครัฐบางอย่างก็ให้ข้อมูลที่เรียกว่าเป็นบวกจนประชาชนเขาไม่เชื่อ เพราะสถิติที่ผ่านมา ประชาชนเขารู้สึกผิดหวัง บอกว่าวัคซีนจะมาเมื่อไหร่ก็ไม่มา บอกว่า วัคซีนไม่มีความจำเป็น จริงๆ แล้วมันมีความจำเป็น ทำให้ขาดความเชื่อมั่น
กลายเป็นว่า เวลารัฐบาลจะพูดอะไร ประชาชนจะตั้งข้อสังเกต สงสัยเชื่อไม่ได้ ทั้งๆ ที่รัฐบาลอาจจะให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ที่ควรจะทำด้วย แต่ว่าพอเครดิตไม่ดี การสื่อสารระหว่างประชาชนกับรัฐ มันเลยไม่มีประสิทธิภาพ เรื่องของวัคซีนผมก็ย้ำหลายครั้งว่า ต่อให้คุณฉีดวัคซีนที่ห่วยที่สุดมันก็ยังดี เพราะว่าอย่างน้อยมันก็คุ้มครองตัวคุณเอง
คำว่าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพต่ำ หมายความว่า มันคุ้มครองคนที่อยู่รอบข้างได้น้อย มันไม่ได้หมายความว่าไม่คุ้มครองคนที่ถูกฉีดนะครับ เช่น ซิโนแวค ประสิทธิภาพ 50.4% ก็คือ คุ้มครองคนที่ได้รับวัคซีนสองเข็มแน่นอน แต่คนที่อยู่รอบข้าง คนที่มาสัมผัส มันไม่คุ้มครอง มันคุ้มครองแค่ครึ่งเดียว เรียกว่าโยนหัวโยนก้อยเลย
ฉีดให้คุณพ่อมันก็คุ้มครองคุณพ่อ แต่ว่ามันคุ้มครองลูกที่อยู่ทางบ้านหรือเปล่า ไม่แน่ ถ้ามีลูกสี่คนมันก็อาจจะคุ้มครองสองคน อีกสองคนไม่คุ้มครอง นี่คือ ประสิทธิภาพต่ำ แต่ยังดีกว่าไม่ฉีด ถ้าไม่ฉีด พ่อติดลูกอีกสี่คนก็ติดหมด ภรรยาก็ติดด้วย
Q: เมื่อเทียบกับบางประเทศ ถึงขั้นส่งหนังสือเชิญถึงที่บ้านให้ไปฉีด?
A: เรื่องส่งหนังสือเชิญให้ไปฉีดมันคงจะยุ่งยาก มันคงจะใช้ทรัพยากรเยอะ ในต่างประเทศอย่างเช่น แคนาดา ในอเมริกา มันก็มีระบบลงทะเบียน จริงๆ แล้วผมชอบระบบลงทะเบียนนะ มันไม่ใช่ว่าแห่กันไปวันเดียว แล้วก็ไปเข้าคิวกันถึง 3-4 ชั่วโมง แบบในบราซิล บางครั้งคิวยาวเป็น 3-4 กิโล มันไม่ควรทำ อย่างน้อยที่สุดคุณต้องรู้ว่าคุณจะไปฉีดวันไหน เวลาไหน
พอมีการนัดหมาย กำหนดคิวได้แล้ว อย่างในแคนาดา ผมไปถึงไม่ต้องรอเลย ไปถึงปุ๊บคือว่างแล้วก็ฉีดเลย คิวเขากำหนดไว้เลยว่าคุณมาเวลา 14.10 น. แต่ละคนเขาก็มีช่วงเวลากำหนดให้ ไปถึงก็ได้ฉีดเลย โดยที่ไม่ต้องรอกัน ทุกอย่างเป็นไปตามนัดหมาย
“หมอไม่พร้อม” แอปฯ ล่มตั้งแต่วันแรกที่เปิดจอง
Q: เห็นอาจารย์ออกมาบอกว่ามีการสร้างแอปฯ ให้จองคิวฉีดวัคซีนด้วยตนเอง ในวันที่แอปฯ ของรัฐไม่พร้อมใช้งานอีกด้วย?
A: เรื่องของหมอพร้อม ผมต้องเรียนก่อนว่า ผมไม่ได้บอว่าหมอพร้อมไม่ดี แต่หมอพร้อมอาจจะมีจุดที่อาจจะทำให้ไม่พร้อม เพราะว่าลักษณะโครงสร้างของแอปฯ กระทรวงสาธารณสุข เขาออกแบบ ก็คือ หมอออกแบบ มันก็จะมีปัญหาเรื่องการตรวจเช็กภูมิหลังของคนไข้ เพราะว่าของเรามันไม่ได้รวมศูนย์ทั้งประเทศมาอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข
สมมติว่า คุณมีประวัติโรคเบาหวาน มีโรคประจำตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง โรงพยาบาลอีกแห่งเขาไม่รู้ด้วย เขาไม่สามารถเช็กได้ ถ้ามีอายุ 60 ปีขึ้นไป ก็สามารถจองคิวได้ แต่ถ้าอายุไม่ถึง 60 ปี เป็นต้นว่า อายุแค่ 40 ปี ปกติคนพวกนี้จะจองคิวไม่ได้ จะจองคิวได้ก็ต่อเมื่อมีโรคประจำตัว ทีนี้ใครจะรู้ว่าคุณมีโรคประจำตัว
มันจะต้องมีโรงพยาบาลที่คุณเคยไปเข้า เคยไปรักษา หรือมีประวัติอยู่ว่ามีโรคประจำตัว ถึงจะอนุญาตให้จองคิวได้ แล้วปัญหาใหญ่อันหนึ่งก็คือคนไทยไม่อ่านให้ดีที่เขาบอกว่าอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือมีโรคประจำตัว 7 กลุ่ม มันก็เลยเป็นปัญหา
Q: แสดงว่าอาจารย์มองเห็นปัญหาการจองคิวผ่านแอปฯ มาก่อนหน้านี้แล้ว?
A: ผมเห็นว่ามีปัญหา ตรรกะที่ใช้ก็คือ สมมติว่า มีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งเขารับ แล้ววันหนึ่งมีคนมาจองเป็นพันๆ คน แต่เขาสามารถฉีดได้แค่ 500 คน เขาก็ไม่สามารถฉีดได้ใช่ไหมครับ เขาก็ต้องกระจายไปให้โรงพยาบาลอื่น อันนี้ก็เป็นปัญหาอีกอันหนึ่ง
ผมก็เห็นปัญหานี้ก่อนหน้านี้ตั้งนานแล้ว ผมก็เลยทำตัวที่เรียกว่าสมาร์ทคิวขึ้นมา เป็นการจองคิวโดยตรงกับโรงพยาบาลแต่ละแห่ง แทนที่โรงพยาบาลจะจัดคนมานั่งจดว่าคนนี้จะมาฉีดวันไหน เวลาไหน เป็นคิวที่เท่าไหร่ แทนที่จะจดด้วยมือ เขาก็ไปลงทะเบียนในเว็บไซต์เลย อันนี้ไม่ใช่แอปฯ นะครับ เป็นเว็บไซต์ที่ผมสร้างขึ้นมา
เว็บนี้มันจะรู้ว่า สมมติคุณเปิดเครื่องขึ้นมา โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด 4-5 แห่ง มีที่ไหนบ้าง ก็ไปฉีดโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้
Q: ระบบล่ม แอปฯ ล่ม ตั้งแต่วันแรกที่ให้เปิดจอง อาจารย์มองถึงเรื่องนี้ยังไงบ้าง?
A: ผมเชื่อว่าปัญหาที่ล่มมันเกิดจาการกรองข้อมูล อันที่หนึ่งเขาจะต้องกรองว่าอายุถึง 60 ปีหรือเปล่า กรองจากการใช้เลขบัตรประชาชนของคนที่กรอกเข้าไป เช็กกับฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยว่าเลขบัตรนี้อายุเกิน 60 ปีไหม ถ้าอายุ 60 ปี ขึ้นไปเขาก็ให้จอง การจองมันก็เป็นผล
มันยุ่งมาก เพราะว่าคนที่เข้าไปจองจำนวนมากเลยอายุไม่ถึง 60 ปี เขาก็ต้องไปเช็คกับทางโรงพยาบาลที่คนนั้น อยากจะจองว่าเขามีโรคประจำตัวอยู่ใน 7 กลุ่มนี้หรือเปล่าถ้ามีก็ให้จอง ถ้าไม่มีก็ไม่ให้จอง
แต่ปัญหาก็คือ คนส่วนมากอายุต่ำกว่า 60 ปี และไม่มีโรคประจำตัว ที่เขาไปจองกันและทำให้ระบบมันวุ่นวายตอนนี้ ปัญหาที่สองก็คือ โรงพยาบาลยังไม่ได้ส่งข้อมูลให้ส่วนกลางว่ามีรายชื่อผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่ม มีใครบ้าง มันก็เลยมีความวุ่นวายตรงนี้ แทนที่คนนั้นจะไปจองที่โรงพยาบาลที่ตัวเองมีโรคประจำตัวโดยตรง เขาก็อยากมาจองกับส่วนกลาง
และแอปฯ หมอพร้อม กระทรวงสาธารณสุข ก็คือ หมอนี่แหละครับเป็นคนทำเอง ผมเข้าใจว่ามีภาคเอกชนไปช่วย แต่ก็คงเป็นการช่วยแบบไม่ได้จ่ายเงินให้เขาก็คงไม่ได้ช่วยอะไรมาก คงไม่ได้ช่วยเต็มกำลังเท่าไหร่ คือมันไม่มีงบมา ผมเข้าใจว่าอย่างนั้นนะครับ
Q: อย่างในทวิตเตอร์พูดกันในวันแรกที่เจอ หนักกว่านั้นบางคนเห็นว่าเข้าระบบยังไมได้เลย?
A: ปัญหาที่ผมเห็น ที่ผมได้ยินมา และผมเชื่อว่าจะเป็นปัญหาแน่ๆ คือ คนที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี หลายคน และไม่มีโรคประจำตัวด้วย สามารถจองได้ คนก็เลยให้ผมวิเคราะห์ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมคนพวกนี้จองได้ ขณะที่คนอายุเกิน 60 ปี กลับจองไม่ได้ เป็นเพราะว่า Traffic มันแน่น
แล้วการจองอย่างที่ผมบอก มันถูกการกรองสองอัน อันที่หนึ่งก็คืออายุ 60 ปีขึ้นไปให้จอง แต่อายุ 60 ปีขึ้นไป บางคนก็กดโทรศัพท์ไม่ทัน เขาก็จองไม่ได้ อันที่สอง ถ้าอายุ 60 ปี แต่ว่ามีโรคประจำตัว เขาก็ให้จอง แต่มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมคนไม่มีโรคประจำตัว แล้วยังหนุ่มสาวกลับไปจองได้
ผมเข้าใจมีความผิดพลาดของระบบจอง หรือมีการยกเลิกระบบกรองชั่วคราว เพื่อไม่ให้โดนด่า แต่ปัญหาก็คือ ในอนาคตจะโดนด่า เพราะว่าคุณจะเห็นหนุ่มสาวเข้าไปจองได้ วันที่เขาได้รับการฉีด มันก็จะมีปรากฏการณ์โดนด่าอย่างใดอย่างหนึ่ง
ถ้าเขาได้ฉีด คนแก่ก็จะด่าว่าทำไมหนุ่มสาวไปฉีดได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีโรคประจำตัว อันที่สอง ถ้าเกิดเขาไม่ได้ฉีด เขาก็จะด่าระบบ หมอพร้อม ว่าปล่อยให้เขาฉีดได้ยังไง ไม่ว่าเขาจะได้ฉีดหรือไม่ได้ฉีดก็โดนด่าแน่นอน
ลงทุนสร้างเว็บไซต์ รองรับความผิดพลาดของรัฐ
Q: “สมาร์ทคิว” ใช้ได้งานได้เทียบเท่า “หมอพร้อม”?
A: ใช่ครับ แต่ว่ามันฉลาดกว่าตรงที่ว่า มันรู้ว่าอยู่ที่ไหน ไม่ได้อ้างอิงตามทะเบียนบ้าน มันเอาที่อยู่จริง เอาตามที่โทรศัพท์มือถือเครื่องนั้นอยู่ และสามารถไปจองคิวกับโรงพยาบาลโดยตรง ก็คือ ศักยภาพของแต่ละโรงพยาบาล เขาก็จะรู้ว่าสามารถฉีดได้กี่คนต่อวัน
ถ้าสมมติคุณเป็นคนที่ห้าสิบที่เข้าไปจองในวันที่ 5 ก.ค. มันก็จะรู้เลยว่าคุณเป็นคนที่ห้าสิบ และก็สามารถรับได้อีกกี่คนในวันนั้น และก็คำนวณให้ว่าควรจะมาเวลาอะไร มันถึงจะพอดี
Q: สมาร์ทคิวที่อาจารย์สร้างขึ้นเอง มีระบบทำงานยังไง ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย?
A: สมาร์ทคิว ทางกระทรวงสาธารณสุข ศบค. เขาต้องอนุญาตก่อน หรือโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะต้องมาร่วมมือกับช่วยหมอ.com เว็บที่ผมตั้ง มาร่วมมือกันว่าแทนที่จะเอาคนไปนั่งจดว่าใครโทร.เข้ามาขอจอง ก็บอกว่ามาจองที่เว็บนี้แล้วกัน แล้วเดี๋ยวจะใช้เว็บนี้เป็นข้อมูล ใครมีโรคประจำตัวอะไรยังไง ไปรายงานในเว็บนี้ อายุเท่าไหร่ รอบเอวเท่าไหร่ก็ไปเขียนในนั้น
ทางโรงพยาบาลก็จะบอกว่าคะแนนเท่าไหร่ จะให้ฉีดได้ ส่วนคะแนนเท่าไหร่จริงๆ มันต้องมาจากส่วนกลาง ส่วนกลางจะต้องกำหนดว่าในขณะนี้ตั้งเงื่อนไขอะไร ซึ่งผมอาจจะไปตั้งเงื่อนไขให้ตรงกันก็ได้ เอาให้ตรงกับกระทรวงสาธารณสุข
ปัจจุบันผมตั้งเงื่อนไขละเอียดมาก ละเอียดยิบเลย แล้วโรงพยาบาลที่เขาจะรับคนไข้เข้าไปฉีด ถ้าเกิดคนไข้มีโรคประจำตัว เขาก็จะรู้อยู่แล้วว่าคนไข้คนนี้มีโรคประจำตัว ไม่ต้องไปเช็กที่อื่นเลย ก็คือ คนไข้จากโรงพยาบาลไหนก็ไปฉีดโรงพยาบาลนั้น โรงพยาบาลที่เขามีประวัติคนไข้คนนั้นอยู่
Q: มั่นใจว่าเว็บไซต์ที่สร้างขึ้นเอง จะเป็นอีกทางเลือกที่ดี ช่วยในการจองคิวฉีดวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ?
A: หลังจากที่เราเชื่อว่า หมอพร้อมน่าจะมีปัญหา ก็เลยมาตั้งสมาร์ทคิวขึ้นมา สร้างสมาร์ทคิวขึ้นมาในเว็บไซต์เดียวกันเลย พร้อมที่จะจัดคิวให้ทุกโรงพยาบาลในประเทศไทย และมันสามารถรู้ได้ว่าคุณกรอกข้อมูลมาจากตำบลไหนในประเทศไทย โดยการดูจาก GPS แล้วมันก็รู้ว่าโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้คุณที่สุด 10 แห่งที่อยู่รอบๆ คุณมีโรงพยาบาลไหนบ้าง
แล้วคุณก็ไปเลือกมาสักโรงพยาบาลหนึ่ง โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่เขามีประวัติคุณอยู่ คุณควรจะไปเลือกโรงพยาบาลนั้น
ถ้าเกิดว่าคุณมีโรค 7 กลุ่มที่ว่านี้ คุณจะต้องระบุโรงพยาบาลที่เขามีประวัติ แต่ถ้าเกิดคุณไม่มีโรคประจำตัว อันนี้คุณจะเลือกโรงพยาบาลไหนก็ได้ แต่เงื่อนไขกระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบันนี้ ก็คือ ถ้าคุณไม่มีโรคประจำตัว คุณต้องอายุกิน 60 ปี เขาถึงจะจัดคิวให้
อันนี้ผมก็ต้องฝากถึงผู้ชมที่อยู่ทางบ้านว่า ถ้าไม่เป็นไปตามเงื่อนไข อย่าไปเสียเวลา อย่าไปลงทะเบียน ไม่อย่างนั้นระบบเขาจะเสีย ไม่ว่าคุณจะลงระบบไหน มันก็จะมีปัญหา มันจะสร้างปัญหากันเปล่าๆ ถ้าอายุยัง 40 ปี แล้วยังไปลงทะเบียนแข่งกับคนอายุ 60 ปี มันไม่ควรทำ
Q: นอกจาก “สมาร์ทคิว” ที่สร้างไว้เพื่อจองวัคซีน ยังมี “ช่วยหมอ.Com” ให้ช่วยเช็กความเสี่ยงติดโควิด?
A: เมื่อก่อนเว็บช่วยหมอ.com เป็นแค่เว็บประเมินอาการโควิด เนื่องมาจาก แอปฯ หมอชนะ ถูกโอนเป็นของรัฐ แล้วเขายิงแต่สีเขียว ไม่มีสีแดง สีส้ม สีเหลือง ทำให้คนรู้สึกว่าเขาจะประเมินอาการตัวเองยังไง ผมก็เลยตั้งเว็บช่วยหมอขึ้นมา เพื่อที่จะคำนวณคะแนนของคนในระดับต่างๆ อาการต่างๆ ดูออกมาเป็นคะแนนว่า โอกาสที่เขาจะติดโควิด
โดยที่เขาจะไม่ต้องไปรบกวนระบบกระทรวงสาธารณสุข ดูว่าเขามีอาการไอ มีไข้หรือเปล่า เจ็บคอ ท้องเสียหรือเปล่า ลักษณะอย่างนี้ ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว ประเมินออกมาซิว่าอาการที่เขาเป็น มันเป็นอาการโควิดหรือเปล่า มีอาการเป็นโควิดมากน้อยแค่ไหน
ต้องยอมรับว่า คนไทยกลัวมากกว่าชนชาติอื่น และอาการทุกวันนี้มันเป็นอาการประสาท ตื่นตระหนกจนไม่เป็นอันจะกิน ผมก็เลยตั้งตรงนี้ขึ้นมา เพื่อจะบอกว่า คุณเช็กอาการแล้วตั้งสติแล้วดูให้ดีว่า ตกลงมันเป็นอาการโควิดหรือไม่ใช่
ถ้ามีลักษณะอาการของโควิด ก็คือ ท้องเสีย ไม่ได้กลิ่น มีไข้ไอ เจ็บคอ ทุกอย่างประกอบกันหมด อันนี้คำนวณแล้วสงสัยเป็นอาการโควิดมากน้อยกี่เปอร์เซ็นต์
สะท้อนความจำเป็น ทำไมต้องมีหลายแอปฯ
Q: จำเป็นไหมมีหลายแอปฯ ทำไมไม่รวมกันในแอปฯ เดียวเลย จะได้ไม่ยุ่งยาก?
A: แต่ละแอปมันก็มีวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน คนที่ทำงานก็คนละทีม ขั้นตอนวิธีก็คนละอย่าง อันนี้ต้องไปถามกระทรวงสาธารณสุข ทำไมต้องแยกมาเยอะขนาดนี้
แอปฯ บางอย่างมันไม่น่าแยก เช่น ไทยชนะ กับ หมอชนะ หมอชนะเปรียบเสมือนกับรูที่รั้วบ้านเจาะให้หมาเข้าออก ส่วนไทยชนะเปรียบได้กับรูรั้วบ้านที่เจาะให้แมวเข้าออก ถามว่า จำเป็นจะต้องเจาะสองรูไหม เพราะว่าถ้าหมามันเข้าออกได้ แมวมันก็เข้าออกได้
แล้วไทยชนะเป็นส่วนอันน้อยนิดของหมอชนะ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปทำแล้วครับไทยชนะ ทำหมอชนะก็พอแล้ว ถ้าหมามันเข้าออกได้ แมวมันก็เข้าออกได้
ถามว่าจะรวมได้ไหม จริงๆ มันก็รวมได้ แต่ว่าเขาไม่อยากรวมกัน ผมมองว่าเรื่องลงทะเบียนแล้วก็แยกกัน มันยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ทางราชการเขาสะดวกทำอย่างนี้ ประชาชนก็ทำตาม แต่ถ้าเราเริ่มต้นใหม่ได้ สมมตินะครับ มันก็ควรจะรวมกัน มาอยู่ที่กองจุดเดียวกัน หรือเว็บไซต์เดียวกัน all in one
Q: ประเทศอื่นมีแอปฯ เข้ามาจัดการเรื่องโควิดอย่างไทยไหม?
A: มีครับ อย่างหมอชนะมีหลายประเทศเลย แล้วเขาบังคับใช้จริงๆ อย่างในจีนได้ผลมากเลยครับ เขาสามารถตามตัวคนติดเชื้อได้ง่ายมาก เพราะเขารู้ว่าผู้ติดเชื้อไปใกล้ใคร ในวันไหน เวลาไหน แล้วเขาก็ส่งสัญญาณไปเตือนคนที่เป็นสีส้ม สีเหลือง ว่าคุณไปใกล้ คุณเป็น First contact ก็คือ เป็นตัวส้ม Second contact ก็คือ คนที่ไปใกล้ชิดกับคนที่หนึ่ง ก็เป็นตัวเหลือง เขาก็ส่งไปเตือน
ทำให้รู้ตัวว่า คุณไปคุยกับเขามาแล้ว หรือไปอยู่ในพื้นที่เดียวกันเป็นเวลาพอสมควร มีโอกาสติดค่อนข้างเยอะ ทำให้คนที่เป็นคนตัวส้มเขารู้ตัว เขาต้อกักตัวเองเขาไม่สามารถไปไหนได้ เพราะว่าถ้าไปไหนมันก็จะแสดงว่าตัวเองเป็นตัวส้ม มาเดินไปทั่วได้ยังไง
Q: เมื่อเทียบกับประเทศจีน แอปฯ เหล่านี้ได้ผลมาก แล้วเมื่อเทียบกับไทยมองผลลัพธ์เป็นยังไง?
A: เอาหมอชนะแล้วกันครับ คือ มันเป็นที่น่าเสียดายที่ว่าเรามีความสับสนตั้งแต่แรก ระหว่าง หมอชนะ กับไทยชนะ คือหมอชนะมันน่าเสียดายที่สุดที่กรมควบคุมโรคไม่ยิงตัวแดงออกมา ตัวส้มก็ไม่มี ตัวเหลืองก็ไม่มี ทำให้คนที่ใช้ เวลาเขาใช้แอปฯ เขาไม่ต้องการให้แอปฯ ที่เขาถืออยู่เป็นเครื่องมือของราชการในการติดตามเขา แต่เขาต้องการให้แอปฯ นี้เตือนเขาว่าไปใกล้ตัวแดงมาแล้วหรือเปล่า
พอไม่มีการเตือน เขาก็รู้สึกว่า จะมีแอปฯ มาทำไม ให้เป็นเครื่องมือของรัฐติดตามตัวเขาหรือยังไง เขาก็ลบทิ้ง พอลบทิ้ง จำนวนผู้ใช้น้อย พอผู้ใช้น้อย มันก็เลยทำให้ประสิทธิภาพของแอปฯ มันต่ำลง
ปัจจุบันก็เรียกว่าแทบจะไม่มีประโยชน์สำหรับหลายเมือง ยกเว้นเมืองที่เขาระดม บังคับใช้ ผมไม่แน่ใจว่าเป็นฉะเชิงเทรา หรือปัตตานี ที่เขาบังคับใช้การเยอะๆ อันนั้นก็ยังได้ผลอยู่ แต่คนที่ควบคุมข้อมูลจริงๆ ก็คือ กรมควบคุมโรค ประชาชนที่ถือแอปฯ เขาไม่รู้
Q: คำถามที่ชาวโซเชียลฯ ถามบ่อยมาก คือ ทำไมต้องลงทะเบียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งที่มีข้อมูลประชาชนในทะเบียนราษฎรอยู่แล้ว?
อย่างนี้ครับ วัตถุประสงค์มันต่างกัน อันนี้ผมต้องสร้างความเข้าใจนิดนึง อย่างเช่น ลงทะเบียนเพื่อที่จะเอาเงิน มันก็เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง บางคนเดือดร้อน บางคนไม่เดือดร้อน ส่วนเรื่องฉีดวัคซีนมันถ้วนหน้ากันเลย มันแทบจะทุกคน
ข้อมูลในทะเบียนราษฎรไม่มีข้อมูลโรคประจำตัว เขาต้องการเช็กสองอย่างร่วมกัน ถ้าไม่เอาโรคประจำตัว เอาแต่ทะเบียนราษฎรอย่างเดียวก็ประกาศไปเลยว่าคนอายุอายุ 60 ปี ขึ้นไปเข้าฉีดได้
Q: มองว่าแอปฯ ยังมีความสำคัญอยู่ไหม หรือขึ้นอยู่กับการจัดการ?
A: คำว่าแอปฯ ต้องบอกว่า แอปฯ อะไรด้วยนะ ถ้าหมอชนะก็ยังมีประโยชน์บ้าง แต่ว่าเป็นประโยชน์ของทางกรมควบคุมโรค โดยความร่วมมือของกระทรวงดิจิทัล แต่ว่าเขาเอาไปใช้หรือเปล่าผมไม่แน่ใจ แล้วก็ประโยชน์สำหรับผู้ใช้เอง มันแทบจะไม่มีเลย เพราะว่ามันไม่เปลี่ยนสี
ส่วนแอปฯ หมอพร้อม คือ จองคิววัคซีน อันนี้ก็ยังมีประโยชน์ แต่อย่างที่ผมบอกก็คือมันต้องร่วมมือกันระหว่างประชาชนกับรัฐ ต้องขอร้องให้ประชาชนอ่านให้ดีว่าเขาให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไปก่อน ยกเว้นคนมีโรคประจำตัว
ถ้ามีโรคประจำตัว แนะนำว่า จะต้องไปฉีดกับโรงพยาบาลที่เขามีข้อมูล เพราะว่าบางโรงพยาบาลเขามีข้อมูลคุณ เขาไม่ได้ส่งเข้าส่วนกลางว่ารายชื่อนี้ มีโรคประจำตัวให้รัฐจอง ถ้าเกิดเขาไม่ส่งข้อมูลตรงนี้ให้ส่วนกลาง ในส่วนกลาง ก็ไม่มีข้อมูล เขาก็ให้จองไม่ได้ ยกเว้นถ้าเกิดแอบลักไก่ให้มีการรั่วเข้ามา ถ้าปล่อยให้ลักลอบเข้ามาอย่างที่ผมบอกเดี๋ยวก็โดนด่าทีหลัง
Q: ถ้าให้ประเมินแอปฯ ที่นำมาใช้งานในช่วงโควิดของไทย?
A: แอปฯ หมอชนะ เป็นแอปฯ ที่ดี แต่ว่ามันถูกยึด และถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ควรจะใช้โดยภาครัฐ ส่วนหมอพร้อมเต็มสิบ ผมให้หกคะแนน ก็คือ ผ่านพอใช้ได้ ไม่ถึงกับดีนัก ส่วนไทยชนะผมไม่อยากพูดถึง เพราะผมมองว่าไม่ควรจะมี มีแล้วสร้างความสับสน
สิ้นหวัง!! คนพร้อมบินฉีดวัคซีนต่างประเทศ
เห็นอาจารย์โพสต์ด้วยว่า หากอยากฉีดวัคซีน บางประเทศก็มีให้บินไปฉีดได้แล้ว
A: ต้องเรียนตามตรงว่า เนื่องจากคนไทยหลายคนเขาอยากจะฉีดวัคซีนมาก แต่ว่านโยบายของรัฐบาลบอกรอก่อน รอฉีดพร้อมๆ กัน ผมก็มองว่ามันไม่จำเป็น และมันจะเป็นการฉีดวัคซีนที่ไร้ประสิทธิภาพ เพราะว่าคนที่มีเงินให้เขาฉีดเลยให้เขาไปจ่ายกันเอง ฉีดเอง ไม่ต้องมายุ่งเกี่ยวกับระบบของรัฐบาล ทำให้รัฐบาลมีทรัพยากรช่วยเหลือคนที่ไม่มีเงิน
นึกถึงแถวที่ยาวเหยียดเป็นล้านคน ต่อแถวกันอยากจะฉีดวัคซีน ประเทศไทยมีแถวเดียว แต่ถ้าผมเปลี่ยนนโยบายใครมีเงินพร้อมที่จะจ่าย 5,000 บาท ออกมาตั้งแถวใหม่ มันก็จะมีคนสัก 5% เดินออกมาแล้วก็มาตั้งแถวใหม่
คนเหล่านี้เขาก็ยินดีจ่าย จะกี่บาทก็แล้วแต่ มาเป็นแถวที่สอง ถามว่าแถวแรกมันสั้นลงไหม แถวแรกมันก็สั้นลง เพราะว่าคนเขาแตกแถวออกมาแล้ว
ภาระที่รัฐบาลจะฉีดให้กับแถวแรกมันก็ลดลง งบประมาณที่นำไปใช้มันก็ลดลง เพราะว่าแถวที่สองยินดีมาจ่ายเงิน
ถ้าเกิดมีคนไทยจะจ่ายเงินตัวเองบินไปต่างประเทศไปฉีด แล้วก็บินกลับ มันก็ดีสิ รัฐบาลก็มีภาระลดลงด้วย อย่างน้อยก็ไม่ต้องฉีดคนนั้นแล้ว
Q: อยากบินไปฉีดต่างประเทศ ในความเป็นจริงตอนนี้ทำได้ไหม?
A: ทำได้ครับ แล้วในอเมริกาตอนนี้วัคซีนล้นจนเขาต้องเอามาบริจาคให้กับประเทศอื่น แคนาดาก็ได้รับ แอสตร้าเซนเนก้าจากอเมริกา มา 3 ล้านโดส เม็กซิโก ก็ได้มา 5 ล้าน เข้าใจว่าอย่างนั้นนะ ก็ได้มาเยอะ แล้วเขาก็ยังเหลืออีกเยอะ เหลืออีก 60 กว่าล้านโดส ที่จะบริจาค และผมเข้าใจว่า หลาย 10 ล้านโดส เขาจะส่งให้อินเดีย
แบบนี้รัฐบาลไทยน่าจะไปติดต่อในฐานะที่เป็นมิตรประเทศ อาจจะไปขอให้ประเทศไทยบ้างเถอะ เพราะว่าประเทศไทยยังฉีดไม่ได้ถึงไหนเลย
Q: อาจารย์คิดว่าในอนาคตเราอาจจะได้เห็นแคมเปญเที่ยวพร้อมฉีดวัคซีนบ้างไหม?
A: ผมว่าเยอะมากครับ แล้วแทนที่ไทยจะเป็นคนทำ เราบอกว่าเรามีวัคซีนทุกตัว ใครอยากจะฉีดตัวไหนเชิญเข้ามาประเทศไทยแล้วเราฉีดให้ สมมติเข็มละ 4,000 บาท มันก็จะมีคนแห่เข้ามาฉีดในเมืองไทย
แต่ที่วัคซีนมันมาช้า มันกลับตรงกันข้าม เรากลับเสียโอกาสในการทำเงิน โอกาสที่จะเป็นศูนย์ในการฉีดวัคซีนของภูมิภาค
กลายเป็นว่าคนไทยอาจจะต้องวิ่งไปฉีดที่สิงคโปร์ แทนที่จะเรียกลูกค้าจากประเทศใน South East Asia ให้มาฉีดเมืองไทย
คนไม่กล้าฉีดวัคซีน สะท้อนระบบรัฐ
Q: คนไม่กล้าฉีดวัคซีน เพราะหลายคนมองว่ารัฐนำเข้าวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ในฐานะอาจารย์ฉีดแล้ว และอยู่ต่างประเทศด้วย มองเรื่องนี้ยังไง?
A: การฉีดวัคซีนมันเหมือนการซ้อมมวย ก่อนที่คุณจะขึ้นชกจริง ถ้าเกิดคุณไม่ได้ซ้อมมาก่อน แล้วคุณไปขึ้นชกจริง คุณอาจจะเสียชีวิตได้ ถ้าเกิดร่างกายมันมีการซ้อมมาแล้ว แล้วถ้าเกิดคุณโชคร้ายตายระหว่างซ้อม คุณคิดเหรอว่าคุณไปขึ้นชกจริง คุณจะไม่ตาย ในความเห็นของผมคุณก็ตายอยู่ดี ในตอนซ้อมคุณยังตายเลย
คนที่แพ้วัคซีน คือ คนที่แพ้โควิดแน่นอน 100% แต่การที่เราฉีดวัคซีนมันเหมือนกับการที่เรารู้ล่วงหน้าว่า วันนี้เราไปฉีด เราได้รับเชื้อ เราต้องระวังตัวเป็นพิเศษ แต่เชื้อโควิดคุณไปรับมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ กำหนดมันไม่แน่นอน แต่การฉีดวัคซีนเรารู้แน่นอน
แล้วถ้าเกิดมีอาการจะต้องเข้าโรงพยาบาลทันที อาการของลิ่มเลือดที่ว่าเป็นกังวลกันก็เข้าโรงพยาบาลทันที ไม่ต้องรอถึง 3-4 ชั่วโมง มีอาการรู้ปั๊บเข้าปุ๊บ แล้วก็แจ้งเขาเลยว่าได้รับการฉีดวัคซีนมาวันไหน สงสัยว่าจะแพ้วัคซีน เขาก็ต้องไปหาสาเหตุ แล้วก็ช่วยเหลือ
มันไม่ได้หมายความว่า คนเป็นลิ่มเลือดแล้วตายกันทุกคนนะครับ อันนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด คนที่ไปโรงพยาบาลช้าก็คือคนที่ตาย ถ้าไปโรงพยาบาลเร็วมันไม่มีใครตายครับลิ่มเลือด
Q: จากที่อาจารย์ได้ศึกษาเรื่องข้อมูลวัคซีน มองว่าตัวไหนดีกว่ากัน?
A: ถ้าเอาคุ้มครองตัวเอง ทุกตัวแทบจะดีเท่ากันเลย แต่ถ้าเอาคุ้มครองคนอื่น ก็คือ เราอยากจะเปิดประเทศ ก็ต้องเอาตัวที่มีประสิทธิภาพสูงและฉีดได้เร็ว และผมก็มองว่าไฟเซอร์ดีกว่าเขา ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ผมเข้าใจว่าโมเดอร์นามันราคาแพงกว่าไฟเซอร์ คนก็เลยพูดถึงไฟเซอร์กันเยอะ
สองตัวนี้มันมีเทคนิคต่างกว่าชาวบ้านเขา เรียกว่า mRNA มันเข้าไปที่ไรโบโซม ให้ไรโบโซมผลิตโปรตีนชนิดเดียวกับโคโรนาไวรัสออกมา แล้วทำให้มีเซลล์ภูมิต้านทาน ขณะที่ตัวอื่นมันต่างกัน อย่างเช่น แอสตร้าเซนเนก้า ประสิทธิภาพมันก็ต่ำกว่า
ส่วนของจีน ซิโนแวคมันเหมือนฉีดซากศพไวรัส ไปให้ร่างกายเรียนรู้ เหมือนกับว่าคุณซ้อมมวยกับศพ คุณคิดว่าคุณได้แค่ไหน ก็ดูว่าศพที่ส่งมามันมีอาวุธอะไร รูปร่างหน้าตาศัตรูที่เราจะไปต่อสู้มันเป็นยังไง แต่ว่าอันนั้นมันเป็นแค่ศพ ประสิทธิภาพมันก็ต่ำ ต่อให้ต่ำยังไง ร่างกายมันก็ฉลาดพอที่จะเรียนรู้และคุ้มครองตัวเอง แต่ว่ามันไม่คุ้มครองคนอื่น
Q: มองว่าควรฉีดตัวไหนก็ได้ หรือควรรอวัคซีนคุณภาพสูงดีกว่า?
A: ทุกตัวครับ ฉีดดีกว่าไม่ฉีด ผมยกตัวอย่างแบบนี้แล้วกันจะได้เห็นภาพ อย่างเช่น มี ส.ส.สุโขทัย ไปที่ จ.สุโขทัย แล้วก็เกิดคลัสเตอร์ที่จังหวัดนั้น
อย่างรัฐมนตรีไง ผมเข้าใจว่าฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้ว ก็คือ มันคุ้มครองตัวท่านรัฐมนตรี แต่มันไม่คุ้มครองคนที่อยู่รอบตัวรัฐมนตรีหรือเปล่า มันไม่แน่ โอกาส 50 : 50 โยนหัวโยนก้อย แล้วผลก็คือ มันไม่คุ้มครองในกรณีนี้ พอไม่คุ้มครองคนรอบตัวก็ติดหมด แล้วก็เกิดเป็นคลัสเตอร์ที่ จ.สุโขทัย นี่เป็นตัวอย่างของวัคซีนที่มีคุณภาพต่ำ
เราอยากเปิดประเทศ เราต้องฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ก็หวังว่าคงจะนำเข้าวัคซีนมาให้มากที่สุด ฉีดโดยเร็วที่สุด
Q: เห็นอาจารย์พูดถึงการทำงานของรัฐอยู่บ่อยๆ ทั้งวิจารณ์ ช่วยแนะแนวทางให้ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในครั้งนี้?
A: ผมอยากเห็นนโยบายที่ถูกต้อง และสังเกตดูได้เวลาที่ผมวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่ว่าผม คือ ยูทูปเบอร์ หลายคนเขาเอาแต่ด่า แล้วก็ดรามาอยากให้คนไลก์คนแชร์ โดยที่เขาไม่แสดงกึ๋นว่า ถ้าเกิดคุณเป็นรัฐบาลคุณจะแก้ปัญหายังไง วิจารณ์เขาแล้วช่วยแก้ปัญหาให้เขาด้วย
ถ้าเสนอแนวทางแก้ปัญหาแล้วมีคนยอมรับมันก็ดี มันก็จะไปถึงรัฐบาล จะไปถึงนายกฯ และจะให้ดีที่สุด ก็คือ ลงมือทำให้ดูว่าที่ถูกต้องมันต้องทำอย่างนี้ แล้วบังเอิญผมก็มีทรัพยากรพอลงมือทำได้ในหลายจุด ไม่ได้คิดเงิน และไม่ต้องการสปอนเซอร์ ไม่ต้องการบริจาคด้วยครับ
ฝ่าวิกฤตเร่งด่วน เปิดโอกาสให้เอกชนนำเข้า ผมอยากให้มีนโยบายการนำเข้าวัคซีนเสรี ผมเข้าใจว่าผมเป็นคนแรกเลยที่บอกว่า วัคซีนมันควรจะนำเข้าเสรี มันไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย มันเป็นสิ่งที่เราต้องการโดยเร่งด่วน ใครนำเข้ามาได้ก็ให้นำเข้า แล้วก็ให้ฉีด รัฐบาล หรือ อย. มีหน้าที่ควบคุมคุณภาพเท่านั้นเอง ว่า จะนำยี่ห้อไหนเข้ามา แล้วก็ไม่ต้องคิดมาก เอาตาม WHO (องค์การอนามัยโลก) ถ้า WHO เขาอนุญาตตัวไหนเอาตามเขาเลย ไม่ต้องมาคิดอีกแล้ว และมันจะทำให้เราฉีดได้เร็ว ถ้าทางภาคเอกชนเขามาช่วยฉีด มันไม่ต้องมาจองคิวอะไรกันขนาดนี้ อันนี้ผมบอกตั้งแต่แรกว่าต้องให้เอกชนช่วย อบจ. อบต. ถ้าอนุญาตให้เขาช่วยมันจะดีมาก งบเขาก็เยอะ ให้เขามาช่วยฉีด มันจะฉีดได้เร็ว คือ ถ้าเอาแต่กระทรวงสาธารณสุขอย่างเดียว ผมเกรงว่ามันจะใช้เวลานานเกิน จุดสำคัญที่สุด เราไม่ได้ต้องการฉีดเพื่อคุ้มครองคนที่ถูกฉีดเท่านั้น เราต้องการฉีดเพื่อให้มันเกิด herd immunity ก็คือคุ้มครองหมู่ และมันจะเกิดอันนี้ได้ก็ต่อเมื่อเปอร์เซ็นต์ของคนไม่ส่งต่อเชื้อ ปัจจุบันคำนวณเอาไว้ที่ 55% ถ้าฉีดแต่วัคซีนจีนมันจะไม่ได้ จะต้องฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง 95% แบบ mRNA ก็คือ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา สองตัวนี้เราจะต้องฉีดประมาณ 60% ขึ้นไป มันถึงจะเกิด herd immunity ก็จะทำให้มีบุคคลที่ไม่ส่งผลต่อโรค ไม่ส่งต่อเชื้อ ไม่ใช่แค่ว่าคุ้มครองตัวเอง |
ดูโพสต์นี้บน Instagram
สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: พัชรินทร์ ชัยสิงห์
คลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก “ลอย ชุนพงษ์ทอง”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **