xs
xsm
sm
md
lg

ไม่อยากเจอ #จนทิพย์ ต้องรู้จัก #เช็กทิพย์ กูรูการเงินออนไลน์สะท้อน เคส “น้องโวลต์” 3.7 ล้าน!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดรามาสนั่น! “น้องโวลต์” นร.สอบติดหมอ แต่ยากจน สังคมช่วยเหลือจนยอดบริจาคกว่า 3.7 ล้าน แต่ไม่นานกลับโดนขุด เหตุมีของแพงใช้เพียบ เจ้าตัวแจง ทำงานเสริมเก็บเงินซื้อเอง นักวิชาการเผย e-Payment ทำคนใจบุญโอนไว เตือนเช็กก่อน ระวังเจอจนทิพย์!

โซเชียลจับผิด #จนทิพย์

กลายเป็นประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจ และตั้งคำถามกันว่า “คดีจะพลิกหรือไม่?” กับกรณีของ “น้องโวลต์-ณัฐวดี เหล่าบุบผา” สาววัย 18 ปี ชาว จ.กาฬสินธุ์ นักเรียนเรียนดี ผู้สอบติดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แต่ทางบ้านมีฐานะยากจน ผู้เป็นพ่อมีอาชีพปลูกผักขาย อยู่บ้านพักลักษณะเพิงหมาแหงน มุงสังกะสี อาศัยอยู่ทั้งหมด 6 ชีวิต

อีกทั้งการจะเรียนต่อในคณะดังกล่าว มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง โดยใช้เวลาศึกษา 6 ปี ปีการศึกษาละ 80,000 บาท เมื่อเรื่องราวของเธอถูกส่งต่อออกไป ก็มีธารน้ำใจหลั่งไหลไปสู่ครอบครัวของเธอเป็นจำนวนมาก จนมียอดสูงกว่า 3,795,000 บาท ในเวลาไม่ถึง 3 วัน!
/center>

ทว่า… เรื่องราวกลับไม่ได้จบลงง่ายๆ เพราะมีคนตาดีสังเกตเห็นถึงความผิดปกติบางอย่าง โดยเฉพาะข้าวของเครื่องใช้ของนักเรียนหญิงผู้นี้ ดูมีมูลค่าสูงเกินกว่าจะใช้คำว่ายากจน เพราะเธอมีทั้ง Ipad, Airpods, Apple Pencil ซึ่งอุปกรณ์ 3 อย่าง มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท

นอกจากนี้ เธอยังมีน้ำหอม Miss Dior ยี่ห้อหรู, อินเทอร์เน็ต Wi-Fi และมีการจัดฟัน นอกจากนี้ ยังปรากฏภาพคนในครอบครัวออกรถยนต์ป้ายแดงอีกด้วย



สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ตามมาด้วยคำถามที่ว่า แท้จริงแล้วครอบครัวของน้องโวลต์ยากจนจริงหรือไม่ ส่งให้แฮชแท็ก #จนทิพย์ ทะยานขึ้นสู่อันดับ 1 โลกทวิตเตอร์

และพร้อมกันนี้ ยังมีประเด็นแฮชแท็ก #ยายหิวแสง ที่คู่กันมา โดยมีคนออกมาแฉว่า เป็นครูจากสถาบันสอนพิเศษ ที่อยู่เบื้องหลังการขอรับบริจาคของน้องโวลต์ โดยอาศัยเรื่องที่เด็กสอบหมอแต่ยากจน เพื่อโปรโมตสถาบัน?!



เมื่อเกิดคำครหามากมาย ล่าสุด คนต้นเรื่องอย่าง “น้องโวลต์” ก็ได้ออกมาชี้แจงข้อมูลจากฝั่งตนเองว่า ของมูลค่าสูงที่ตนเองมีนั้น มาจากเงินเก็บของตนเอง โดยใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนทำงาน part time หารายได้พิเศษ อย่างการจัดฟัน ก็ได้มีการปรึกษากับทันตแพทย์ว่ามีปัญหาจึงทำการรักษาในช่วง ม.4

ส่วน Ipad เป็นการเก็บเงินเองประมาณปีกว่า เพราะจำเป็นต้องในการเรียนเพื่อประหยัดค่าชีต และค่าใช้จ่ายของอินเทอร์เน็ต Wi-Fi เดือนละ 600 บาทนั้น พี่ชายของตนเป็นคนรับผิดชอบ ขณะที่ขวดน้ำหอมแบรนด์หรู ได้ซื้อแบบมือสองมาวางไว้เฉยๆ และรถยนต์ป้ายแดงก็ไม่ใช่ของครอบครัวเธอ แต่เป็นรถยนต์ของน้า เธอยังยืนยันว่า ขณะนี้ได้ปิดรับบริจาคไปแล้ว และจะนำเงินที่ได้รับบริจาคไปใช้เป็นทุนการศึกษาและจะตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด

เตือนเช็กกัน “จนทิพย์” ทุกครั้งก่อนบริจาค!

แน่นอนว่า เหตุการณ์ในลักษณะนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ทีมข่าว MGR Live จึงขอความรู้จาก วีรพล สวรรค์พิทักษ์ นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารทางการตลาด ให้ช่วยวิเคราะห์ถึงเรื่องราวกระแสการรับบริจาคผ่านโลกโซเชียลตลอดจนการบัญญัติคำใหม่ๆ อย่างคำว่า “จนทิพย์” ขึ้นมา

“คำว่า “ทิพย์” ต้องอธิบายว่ามันคือโลกเสมือน มันคือความไม่จริง เที่ยวทิพย์ก็คือเที่ยวในโลกเสมือน เที่ยวไม่จริง จนทิพย์ก็เหมือนกับจนไม่จริง เลยเอาเป็นคำที่เปรียบเปรย ล้อเลียนคนที่จนไม่จริง แต่ออกมาโปรโมตว่าตัวเองจนอะไรแบบนี้ ซึ่งเรื่องนี้มันก็ยังไม่ได้มีการตัดสิน คนเขาแค่สงสัย



[ วีรพล สวรรค์พิทักษ์ ]

ตอนนี้มันมีแฮชแท็กทิพย์หลายอย่าง #เที่ยวทิพย์ #จนทิพย์ มีคำว่า #หิวแสง อีก ผมว่ามันก็เป็นกระแสจากโลกโซเชียล โดยเฉพาะเจนเนอเรชันที่เป็น เจน Y เจน Z ซึ่งเป็นเจนเนอเรชันใหญ่ที่อยู่บนโลกโซเชียล มันก็เลยทำให้เกิดกระแสต่างๆ ขึ้นได้อย่างมากมายและรวดเร็ว”

นอกจากนี้ นักวิชาการอิสระคนดังกล่าว ยังช่วยสะท้อนภาพการบริจาคในปัจจุบันว่า ด้วยเพราะการใช้จ่ายระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การโอนเงินเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นช่องทางให้ผู้ไม่ประสงค์นี้ใช้จุดนี้มาหากินกับความใจบุญของคนได้

“กรณีแบบนี้มันมีเยอะมาก ประเด็นแรกเป็นประเด็นใหญ่ คือ เรื่องของ e-Wallet และ e-Payment มันทำได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าคุณจะใช้แอปพลิเคชันของธนาคาร หรือใช้แอปที่เป็น e-Wallet กระเป๋าตังค์ต่างๆ ในมุมของการบริจาคมันทำได้ง่ายขึ้นด้วย ไม่เหมือนเมื่อก่อนจะไปทำบุญที่วัดก็ต้องไปวัด เดี๋ยวนี้เราบริจาคอะไรยังโอนเงินได้ด้วยปลายนิ้ว เรื่องของ e-Payment เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การโอนเงินสะพัดขึ้น จากข้อมูลปี 2021 e-Payment ของประเทศไทยก็เติบโตขึ้นด้วย



ประเด็นที่ 2 เรื่องของโซเชียลมีเดีย มีเยอะขึ้น การใช้งานก็ยังสูงขึ้น เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่เป็นประเด็นขึ้นมา จะมีการเผยแพร่ข้อมูลกันอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้เรารู้ยอดคนป่วยโควิดเร็วกว่า ศบค.แถลงตอน 11 โมงครึ่งอีก เพราะโซเชียลมีเดียมันเยอะ สารทุกอย่างมันแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว

และประเด็นที่ 3 ประเทศไทยช่วงนี้เราก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นช่วงลำบาก กระแสการช่วยเหลือกัน กระแสการบริจาคมันก็ตรงกับจริตของคนไทยที่ชอบช่วยเหลือกัน ชอบบริจาคอยู่แล้ว

จาก 3 ประเด็นนี้ มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือคนช่วยเหลือกันมากขึ้นและรวดเร็วขึ้น ส่วนข้อเสียมันก็เป็นช่องโหว่ที่ทำให้คนที่อาจจะคิดไม่ดี หรืออาจจะเป็นมิจฉาชีพ เป็นช่องโหว่ในการหารายได้มากขึ้นครับ”

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารทางการตลาด ยังได้ฝากเตือนว่า ยอมเสียเวลาอีกสักนิด ตรวจสอบข้อมูลก่อนโอนเงินบริจาคทุกครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่บริจาคไป จะได้ไม่ตกอยู่ในมือของคน #จนทิพย์  อย่างหลายกรณีที่เกิดขึ้นในสังคม



“ผมก็อยากจะเตือนผู้บริโภค ว่า การช่วยเหลือกันเป็นเรื่องดี โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์ปัจจุบันนี้ แต่ว่าเรื่องของการเช็กความถูกต้องก็เป็นเรื่องสำคัญ ผมว่าข้อมูลทุกอย่างมันตรวจสอบกันง่ายขึ้น ข้อมูลที่เป็นเฟกนิวส์ก็ตรวจสอบง่ายขึ้น เมื่อก่อนเราใช้คำว่าเช็กเฟกนิวส์ เดี๋ยวนี้เราต้องใช้คำว่าการเช็กทิพย์ เช็กแล้วทิพย์รึเปล่า จนทิพย์นี่จนจริงมั้ย

ตัวผมเองทำบุญเกือบทุกวัน โอนนั่นโอนนี่นิดๆ หน่อยๆ ซื้อของบริจาค ผมก็เพิ่งเช็กไป มีคนมาให้ผมบริจาคช่วยซื้อข้าวสารให้วัด ให้เลขบัญชีมาแล้วก็ตัดชื่อบัญชีทิ้ง พอผมกดเข้าไปโอน ดันเป็นชื่อผู้หญิงไม่ใช่ชื่อวัด ผมก็เลยต้องถามไปที่ต้นทางว่าบัญชีนี้คือใคร ไม่อย่างนั้นผมก็ไม่กด เงิน 1,000 ผมไม่ได้มีปัญหาเลย แทนที่เราบริจาคไปแล้วจะสบายใจ กลายเป็นเครียดว่าใช่หรือเปล่า คือใคร ผมก็เลยต้องเช็กทิพย์ก่อนเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นการเช็กมันเลยสำคัญในการทำบุญปัจจุบันนี้ ทำบุญแล้วต้องสบายใจครับ ทำกับหน่วยงานที่เชื่อถือได้ แต่อย่างที่ผมบอก การช่วยเหลือกันก็ยังเป็นเรื่องที่สำคัญครับ”

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **






กำลังโหลดความคิดเห็น