xs
xsm
sm
md
lg

แอปฯ “หมอชนะ” หมดอายุ เตือนไม่ตรงความจริง คนขาดความเชื่อมั่น ลบแอปฯ ทิ้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งในอดีตทีมพัฒนาแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” สะท้อนปัญหา ปล่อยให้แอปฯ หมดอายุ รัฐไม่เคยมีการพัฒนา การแจ้งเตือนไม่ตรงกับความเป็นจริง คนเสื่อมศรัทธา ขึ้นสีเขียวตลอด ทั้งที่มีการระบาดอย่างหนัก หลายคนตั้งคำถามเมื่อมีการเตรียมของบเพิ่ม เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพในการใช้งาน

ประชาชนไม่ศรัทธา ลบแอปฯ ทิ้ง

เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันอยู่ในขณะนี้ เมื่อ แอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” ไม่สามารถใช้งานได้ ทั้งระบบ ios และแอนดรอยด์ เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดต่อเนื่อง แต่การแจ้งเตือนไม่ตรงกับความเป็นจริง ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นการใช้งาน จนในที่สุดภาครัฐก็ออกมายอมรับว่า ที่ใช้งานไม่ได้ เพราะแอปฯ หมดอายุ

จนหลายคนเกิดการตั้งคำถาม ว่า ทำไมถึงให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นได้ พร้อมตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพการใช้งาน ว่า เป็นการเอางบประมาณไปใช้โดยใช่เหตุ ตั้งแต่แรกหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็มีปัญหาติดขัดตลอด ทำให้ประชาชนบางคนไม่เชื่อใจลบแอปฯ ทิ้ง

อย่างที่ทราบกันว่า แอปฯ “หมอชนะ” เป็นแอปฯ ที่บันทึกข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้งานด้วยเทคโนโลยี GPS และ Bluetooth ร่วมกับการสแกน QR Code เพื่อเช็กอินตามสถานที่ต่างๆ ทำให้บันทึกการเดินทางของผู้ใช้งานแม่นยำ และเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น และยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กรมควบคุมโรค และบุคลากรทางการแพทย์สอบสวนโรคได้อย่างรวดเร็ว


เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ทีมข่าว MGR Live ได้ติดต่อไปยัง อาจารย์ลอย ชุนพงษ์ทอง นักวิชาการอิสระ ที่เป็นหนึ่งในทีมพัฒนาแอปฯ หมอชนะ ได้เปิดใจถึงเรื่องนี้ ว่า ทางภาครัฐทราบเรื่องอยู่แล้ว แต่ยังปล่อยให้หมดอายุ จนสามารถใช้งานไม่ได้ จึงทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นลบแอปฯ ทิ้งในที่สุด

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อสองวันที่ผ่านมา เขาลืมต่อ certificate ของแอปฯ เพราะมันหมดอายุวันที่ 28 เม.ย. หลังจากที่หมดอายุ กระทรวงดิจิทัลก็เป็นใบ้เลย ทำอะไรไม่เป็น เหมือนกับรถเสีย ก็ต้องตามช่างมาซ่อม เขาก็ยกไปให้ช่างซ่อม ผู้สร้างก็ต้องซ่อมให้ ตอนนี้ทางฝั่งแอนดรอยด์ใช้งานได้หมดแล้ว แต่ว่าฝั่ง iOS ยังใช้งานไม่ได้ ต้องรออีก 1-2 วัน

หมอชนะเริ่มต้นด้วยจิตอาสาภาคเอกชนเป็นคนริเริ่ม แล้วหมอชนะ มัน powerful มากเลยนะ นอกจากจดเวลาเข้าออกแล้ว มันยังรู้ด้วยว่าคุณไปใกล้กับใคร มีความเสี่ยงหรือเปล่า

มันก็เลยมีคอนเซ็ปต์ของการให้สี คนติดเชื้อก็จะเป็นสีแดง คนที่อยู่ใกล้คนติดเชื้อเป็นเวลานานพอสมควร จะกลายเป็นสีส้ม คนที่อยู่ใกล้คนสีส้มนานพอสมควร ก็จะกลายเป็นสีเหลือง มีเฉดของสีตามลำดับความเสี่ยง ไว้เตือนภัย”

[อาจารย์ลอย ชุนพงษ์ทอง]
ผู้ที่เคยเป็นหนึ่งในคนพัฒนาแอปฯ ยังสะท้อนถึงไปปัญหาในครั้งนี้อีกว่า รัฐบาลไม่เคยมีการพัฒนา การแจ้งเตือนไม่ตรงกับความเป็นจริง ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการใช้งาน

“ปัญหาของหมอชนะของไทย การที่จะให้ใครเป็นสีแดง จะต้องผ่านกรมควบคุมโรคเท่านั้น แล้วถ้ากรมควบคุมโรคเขาไม่ยิงสีแดง มันจะมีสีส้มไหม ก็ไม่มี ทุกคนเขียวหมดทั้งแผ่นดิน แล้วอย่างนี้มันจะเตือนภัยใครได้ มันก็เตือนไม่ได้ พอเตือนไม่ได้ เขาก็เสื่อมศรัทธา พอเสื่อมศรัทธาเขาก็ลบทิ้ง

ปัญหาก็คือ ความเสื่อมศรัทธาที่มันไปอยู่ในภาครัฐ พออยู่ในภาครัฐแล้ว กรมควบคุมโรคไม่ยิงตัวแดงออกมา ไม่มีการแจ้งเตือน พอไม่มีการแจ้งเตือน เขาไม่รู้จะเก็บแอปฯ นี้ไว้ทำไม

แม้กรมควบคุมโรคยังสามารถใช้แอปฯ นี้ได้อยู่ แต่ผมไม่เชื่อว่า กรมควบคุมโรคใช้ด้วยซ้ำ แม้มันไม่เตือนที่เครื่อง แต่ว่าที่เซิร์ฟเวอร์เขามีข้อมูลว่าตัวเองไปใกล้ชิดกับใครมาบ้าง แต่ว่าการที่จะไปตามตัวคนที่เราเรียกว่าตัวสีส้ม มันไม่รู้จะตามตัวยังไง เพราะเราไม่ได้ไปแจ้งเขาว่าคุณเป็นตัวส้ม มันก็เลยไม่มีประโยชน์ กรมควบคุมโรคก็ไม่ได้ใช้ ประชาชนก็ไม่ได้ใช้”


นอกจากนี้ นักวิชาการรายเดิม ผู้ที่เคยเป็นหนึ่งในทีมพัฒนาแอปฯ หมอชนะ ยังรู้สึกเสียดายมากที่รัฐทำให้คนไม่เชื่อมั่น และเสื่อมศรัทธา จนต้องลบแอปฯทิ้งออกจากมือถือจำนวนมาก

“เวลาที่เขาไม่ศรัทธา แล้วจะเรียกความศรัทธากลับมามันยากมาก ผู้ใช้เขารู้สึกว่ามันไม่ได้ปกป้องเขา เป็นสีเขียวตลอดเวลา มันไม่ได้ทำหน้าที่จะช่วยเหลือประชาชนปัจจุบันดาวน์โหลดกันถึง 10 ล้าน แต่ว่าก็ลบทิ้งไปไม่รู้กี่ล้าน

แอปฯ นี้มียอดดาวน์โหลดเกือบ 10 ล้าน น่าเสียดายมากๆ ที่คนเสื่อมศรัทธา แล้วลบทิ้งเยอะมาก ประชาชนรู้สึกว่าไม่มีประโยชน์สำหรับเขา การลบแอปฯ มันมีมานานหลายเดือนแล้วครับ เพราะเปิดแอปฯ มาทีไรก็เขียวตลอดชาติ ทั้งที่มีการระบาดอยู่ ขนาดคนที่ติดเชื้ออยู่ในโรงพยาบาล หมอก็อยู่ตรงนั้นแล้ว มันก็ยังเป็นตัวเขียวอยู่”


ไม่มีประโยชน์ ผลาญงบประเทศ?

ส่วนประเด็นที่หลายคนตั้งคำถามถึงการของบพัฒนาระบบให้ดีขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนประชาชนเข้ามาใช้งานทางด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ให้สัมภาษณ์กับสื่อถึงกรณี แอปฯ หมอชนะ ไม่สามารถใช้งานได้ในครั้งนี้

ยอมรับว่า ใบรับรองระบบ หมดอายุ จึงต้องทำการเชื่อมต่อระบบใหม่ ซึ่งได้สั่งดำเนินการไปแล้ว และในระบบแอนดรอยด์ สามารถเข้าใช้งานได้ปกติ ส่วนระบบ ios รอทางบริษัทแอปฯ ตรวจสอบยืนยัน เพราะอาจต้องใช้เวลา

ทั้งนี้ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ที่ผ่านมา การพัฒนาแอปฯ หมอชนะ เป็นไปในลักษณะจิตอาสา ไม่ได้ทำในรูปแบบราชการเต็มรูปแบบ โดยเป็นภาคเอกชนทำขึ้นมาให้ทางกระทรวงช่วยดู ไม่มีงบประมาณชัดเจน แต่จากนี้ไป ได้มีการวางแนวทางที่จะมีการจ้างทีมพัฒนาระบบ การตั้งงบประมาณ และให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด เป็นผู้ดูแลระบบ

โดยเชื่อว่า หากมีความชัดเจน ระบบน่าจะดีขึ้นและยังได้หารือให้ ศบค. ของบกลาง เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาให้ประชาชนเข้าใช้กันเยอะๆ


ขณะเดียวกัน หนึ่งในคนที่เคยพัฒนาแอปฯ หมอชนะ ยังบอกอีกว่า ไม่ต้องใช้งบประมาณแม้แต่บาทเดียวในการพัฒนา ขอให้คนที่รับไปดูแลใส่ใจดูแล ก็สามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี

“มันไม่ต้องใช้งบอะไรพัฒนาเลยครับ งบนี้ผมไม่รู้ว่าคิดขึ้นมาได้ยังไง ทำไมมันต้องใช้งบ เขาพัฒนาเสร็จแล้ว และพัฒนาให้ฟรีด้วย จะต้องมาตั้งงบอะไรกันอีก มันเหมือนกับว่าเขาสร้างรถยนต์อย่างดีให้ ขอให้คุณขับเป็นเท่านั้นเอง ทำไมต้องมาของบ เพื่อไปพัฒนารถที่มันดีอยู่แล้ว

มันล้มเหลว มันไม่เหมือนของประเทศจีน หรือประเทศอื่นที่เขาใช้กันอย่างจริงจัง จนกระทั่งสามารถทำให้มันเป็นโควิดพาสปอร์ต ใครจะเข้าออกอาคาร ขอดูหน่อยว่าคุณเป็นสีเหลืองหรือสีส้ม ถ้าคุณเป็นสีเขียวก็เข้าได้ กลายเป็นว่าของไทยทุกคนเขียวหมดเลย มันไม่เตือนเลย มีเทคโนโลยี แต่ใช้ไม่เป็น มันเหมือนกับว่าเอามือถือให้ลิงใช้”


นอกจากนี้ หนึ่งในผู้ที่เคยได้พัฒนาแอปฯ หมอชนะรายเดิม ยังได้คาดการณ์ไว้อีกว่า ในวันที่ถูกโอนให้รัฐเป็นผู้ดูแลทั้งหมด หากนำไปแล้วไม่ดูแลให้ดี ก็จะทำให้แพ้เหมือนเช่นเป็นอยู่ตอนนี้ พร้อมย้ำว่า แทบจะไม่มีประโยชน์ในการใช้งานอีกแล้ว

“มันแทบจะไม่มีประโยชน์แล้ว วันที่มันถูกโอนเป็นของรัฐ ผมทำนายเอาไว้เลยว่ามันอาจจะแพ้ ก็คือ หมอชนะจะแพ้ ผมก็เลยไปตั้งเว็บแอปฯ ที่ชื่อว่า ช่วยหมอ.com หลายคนก็ไปใช้เยอะมาก ก็คือ ไปประเมินอาการออนไลน์ว่าคุณมีอาการแบบนี้ ความเสี่ยงเป็นเท่าไหร่ บางตำบลบางหมู่บ้านก็ระดมใช้เยอะมาก จนได้ข้อมูลที่ดีเลยว่าหมู่บ้านนี้ไม่มีความเสี่ยง

ถ้าหมู่บ้านนั้น หรือตำบลนั้น เขาไปกรอกข้อมูลเยอะๆ มันจะช่วยได้ว่าหมู่บ้านนี้ไม่ใช่คลัสเตอร์ หรือบางหมู่บ้านที่ไปกรอกข้อมูลแล้วมันมีอาการเหมือนโควิด มันก็บอกได้ว่า สงสัยหมู่บ้านนี้จะติดเชื้อเยอะ เป็นแอปฯ ที่ผมบริจาคเองด้วยเงินส่วนตัว สร้างขึ้นเอง เพราะผมเชื่อว่าเอาไว้เป็นแบ็กอัพ ถ้าเกิดหมอชนะแพ้ขึ้นมา อย่างน้อยยังมีช่วยหมอ.com เพราะหมอชนะในขณะนี้คือแพ้

หมอชนะมันจะชนะก็ต่อเมื่อประชาชนไว้วางใจ ให้ความร่วมมือ การที่ประชาชนจะให้ความร่วมมือและไว้วางใจ กรมควบคุมโรคต้องทำหน้าที่ ใครที่เป็นผู้ติดเชื้อจะต้องระบุเลยว่าเขาเป็นผู้ติดเชื้อ ยิงตัวสีแดงออกมา แล้วเขาไปใกล้ชิดกับใครคนนั้นก็จะกลายเป็นสีส้ม ก็คือ ต้องมีการพัฒนาสีพวกนี้ออกมา

ใครที่มีสี เขาก็เอาสีมาโชว์แล้วก็ตรวจเชื้อโควิด โดยที่ไม่ต้องไปไล่ และใช้ทรัพยากรมนุษย์มหาศาลในการไล่ตรวจทีละคนโดยที่ไม่รู้ว่าใครเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย อย่างที่ทำอยู่ในขณะนี้”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **







กำลังโหลดความคิดเห็น