xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้ากับเหว!! เทียบ “รพ.สนาม” ไทย-ต่างประเทศ ไร้ฉากกั้น-สวัสดิการพัง-ถูกคุกคาม-สุขภาพจิตเสื่อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดใจผู้ป่วยโควิด-19 เล่าถึงคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับในโรงพยาบาลสนาม สุขภาพกายปกติ แต่สุขภาพจิตแย่ลง กับประเด็นดรามาเรื่องความปลอดภัย แอบถ่ายภาพลงโซเชียลฯ เทียบไทยกับต่างประเทศ ต้องช่วยตัวเอง กว่าจะรอการสนับสนุนจากรัฐก็คงยาก



สวัสดิการขั้นพื้นฐานง่ายๆ ที่ทุกคนควรได้รับ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบที่ 3 ลุกลามไปทั่วทั้งประเทศ ทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จนต้องมีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามชั่วคราว เพื่อรองรับผู้ป่วย

ล่าสุด โลกออนไลน์ได้แชร์ภาพโรงพยาบาลสนามของต่างประเทศ และนำมาเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลสนามของไทย จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า โรงพยาบาลสนามของไทยนั้น ไม่มีฉากกั้นแบ่งโซนให้ชัดเจน จนคนที่เข้ามากักตัวในโรงพยาบาลสนามในไทย หลายคนเริ่มสร้างแลนด์มาร์กให้ตัวเอง ด้วยการหากล่องกระดาษเป็นที่กั้น เพื่อความเป็นส่วนตัว

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีประเด็นดรามาร้อนๆ ขึ้นมาอีก เมื่อสาวรายหนึ่งถูกคุกคามความเป็นส่วนตัว โดนแอบถ่ายขณะถูกกักตัวที่โรงพยาบาลสนาม แล้วถูกนำภาพมาลงเฟซบุ๊ก และมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเชิงคุกคามทางเพศเป็นจำนวนมาก

ทีมข่าว MGR Live ได้ติดต่อไปยังหนึ่งในผู้ติดเชื้อโควิด-19 อายุ 23 ปี ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสนามแห่งหนึ่ง ให้ช่วยเล่าถึงคุณภาพชีวิตในโรงพยาบาลสนาม จากประสบการณ์จริงที่ได้สัมผัส วัชรพล กล่าวว่า ทุกคนควรได้รับคุณภาพในการรักษามากกว่านี้ เพราะเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานง่ายๆ ที่ทุกคนควรได้รับ


“ผมมองว่า ถ้าประเทศอื่นทำเป็น standard ได้ แล้วทำไมเราถึงทำเป็น standard เหมือนเขาไม่ได้ ต้องกลับไปย้อนถามทุกคนว่าแล้วทำไมเราเป็นผู้ป่วย ถึงไม่ได้รับความ Privacy บ้าง อย่างเรื่องที่กั้น ความชอบของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน แต่มันก็จะมีบางคน หรือบางกลุ่มที่เขาอยากได้ความ Privacy

มันแค่รัฐสวัสดิการขั้นพื้นฐานง่ายๆ ที่เราควรได้รับ ทำไมเราไม่ได้รับตั้งแต่เริ่มต้น เพราะว่าเคสนี้มันเป็นรอบที่ 3 แล้ว ทำไมเราไม่เอารอบแรก หรือรอบที่ 2 มาปรับใช้ ให้คุณภาพชีวิตมันดีขึ้น

เพราะว่าสุดท้าย ทุกคนก็จ่ายภาษีเท่ากันหมด และมันเป็นรัฐสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ง่ายมากๆ ทำไมรัฐถึงไม่จัดทำให้ ทำไมรัฐถึงไม่วางแผนจัดการในส่วนนี้เลย”

นอกจากนี้ ยังสะท้อนอีกว่า แม้จะเป็นภาวะฉุกเฉินเร่งด่วน ประสบการณ์หรือบทเรียนที่ผ่านมา จนมาถึงการระบาดรอบที่ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการปรับปรุงขึ้น กลายเป็นว่าประชาชนต้องช่วยตัวเอง เพราะหากต้องรอการสนับสนุนจากรัฐคงยาก

และมองว่า ควรได้รับคุณภาพในการรักษาที่ดีมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการโภชนาการที่เป็นคุณภาพแบบง่ายๆ อาหารที่ได้รับก็ยังไม่ครบ 5 หมู่

“อย่างเช่น เมื่อวานผมเจอมา คือ ผัดซีอิ๊ว มีแต่เส้นก๋วยเตี๋ยว ไม่มีผัก เนื้อก็น้อย ผมมองว่า ส่วนนี้มันก็ยังเป็นโภชนาการที่ควรได้รับ 5 หมู่เท่าที่ควร อันนี้ผมก็ไม่รู้ว่าเราจะต้องไปตรวจสอบส่วนไหนบ้าง อาจจะไปตรวจสอบผู้รับเหมาที่ทำอาหารมาหรือเปล่าว่ารัฐให้ต่อหัวเท่าไหร่”


นอกจากนี้ ยังเล่าถึงปัญหาเรื่องห้องน้ำที่ไม่มีไฟ ต้องใช้ไฟจากโทรศัพท์ และยังบอกอีกว่า การเข้ารับการรักษาในครั้งนี้ไม่ได้ทำให้รู้สึกเหมือนไปโรงพยาบาล แต่ให้ความรู้สึกเหมือนไปเข้าค่าย ถึงแม้จะแยกโรงนอนชาย-หญิง แต่ก็ยังต้องเดินสวนกันไปมาอยู่ดี เวลาเดินไปเข้าห้องน้ำ

“ผมไปวันแรกสำหรับโรงพยาบาลสนาม ก็ต้องพูดตามตรงว่า มันไม่ค่อยพร้อมเท่ากับตอนนี้ที่มันมีอยู่ เพราะว่าผมไปแรกๆ ห้องน้ำมีประมาณ 4 ห้อง วันแรกไม่ค่อยมีปัญหา แต่วันที่สองมีปัญหาทุกอย่างเลย คนเริ่มเยอะขึ้น ห้องน้ำก็ไม่พอ ไฟห้องน้ำดับบ้าง ผมเจอทุกอย่าง เครื่องทำน้ำอุ่นเสีย

ห้องน้ำแยกชาย-หญิง แต่ห้องน้ำผู้หญิง ผมไม่รู้เป็นยังไง จะมีสังกะสีสูงๆ กั้นห้องน้ำผู้หญิงไว้ แต่ห้องน้ำผู้ชายจะไม่มีอะไรกั้น ก็อยู่ข้างๆ ห้องน้ำผู้หญิง จะเป็นห้องน้ำสำเร็จรูป อยู่ข้างนอกฮอลล์

ห้องน้ำ ผมว่ามันเป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ เพราะว่าอย่างน้อยเราไปใช้ชีวิตอยู่ 14 วัน แต่ตอนนี้ผมอยู่ที่โรงพยาบาลสนามของ มช. นะครับ ผมย้ายมา ซึ่งแตกต่างกันมากๆ เพราะที่นี่มันเป็นหอพักอยู่แล้ว ที่นี่ก็จะมีคนทำความสะอาดให้ ห้องน้ำก็จะมีสายฉีด แต่ที่โน่นเท่าที่ผมอยู่ ตอนนั้นไม่มีคนทำความสะอาดเลย เราจะต้องไปช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่ง เพราะว่าเจ้าหน้าที่ก็ไม่พอ ก็ต้องมีการล้างห้องน้ำเอง ห้องน้ำที่เป็นถ่ายหนักก็ไม่มีสายฉีด มีปัญหาน้ำล้น สกปรกบ้าง

สภาพห้องน้ำถ้าถามเรื่องความปลอดภัยก็น่าจะปลอดภัย มันก็มีตัวล็อก แต่มันก็จะเป็นสิ่งที่อาจจะเป็นเหตุฉุกเฉินที่มันไม่ควรฉุกเฉิน เช่น ไฟดับ เพราะว่าเหมือนผมออกมาได้ 2-3 วัน พี่ที่อยู่ข้างในก็บอกว่าก็ยังไม่มีไฟอยู่ดี ถ้าปิดประตูห้องน้ำก็จะมืด ผมก็ต้องเปิดแฟลชโทรศัพท์ส่องไว้ข้างบนแล้วก็อาบน้ำ

ซึ่งตอนนี้ผมก็ไม่รู้ว่ามันเป็นยังไงนะครับ เพราะว่าส่วนตรงนั้นผมไม่รู้ว่าเขามีพัฒนาอะไรเพิ่มเติมไหม แต่เท่าที่รู้มาห้องน้ำจาก 4 ห้อง เพิ่มเป็น 8 ห้อง เมื่อก่อนห้องน้ำ 4 ห้อง ต่อ 150 คน”


สุขภาพกายปกติ-สุขภาพจิตแย่ลง

“คุณภาพการใช้ชีวิตไม่เท่าไหร่ แต่ผมรู้สึกว่าคุณภาพในเรื่องของสุขภาพจิตมันดาวน์ลงเรื่อยๆ ต้องมีกิจวัตรที่จะต้องทำ เพื่อไม่ให้สุขภาพจิตของตัวเองแย่ไปเรื่อยๆ ในเรื่องของสุขภาพผมรู้สึกว่ามันไม่แย่ครับ เพราะว่าหมอรักษาแบบเคสบายเคสไป แล้วแต่อาการของแต่ละคนว่าเป็นยังไงบ้าง ก็จะจัดยาตามแต่ละวันไป

แต่ผมมีความรู้สึกว่าสุขภาพจิตมันอาจจะแย่ลงไปหรือเปล่า อันนี้มันก็แล้วแต่บุคคลด้วยนะครับ แต่ผมมีความรู้สึกว่า มันไม่ได้รับเท่าที่เราควรจะได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่เราควรจะได้รับ”

หนุ่มรายเดิมเล่าอีกว่า ถึงแม้จะไม่ได้รู้สึกว่าลำบากในการใช้ชีวิตในขณะที่เข้าไปรักษาตัว เพราะมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ดูแลเป็นอย่างดี แต่ยอมรับว่า หากอยู่นานอาจทำให้สุขภาพจิตแย่ลงได้

“ถ้าถามว่าลำบากไหม ผมมองว่ามันไม่ได้ลำบากอะไรมาก เพราะว่าในส่วนของอาหาร เขาก็มีจัดอาหารให้ครบ 3 มื้อ ก็ยังมีเขาเรียกว่า ภาคเอกชน หรือภาคประชาชน ก็ยังมีการเอาของมาบริจาค ในเรื่องของยาช่วงแรกๆ จะมีติดขัดนิดหนึ่ง จำนวนยาไม่เพียงพอ เพราะว่าคนมันเยอะ แล้วเขาจะมีเป็นกล่องยาให้ ถ้าสมมติเราป่วย ก็เดินไปหยิบยา แล้วก็จ่ายยาเอง แต่หลังๆ มาเหมือนเขาจะจ่ายยาเป็นเคสบายเคสไป เพราะว่ายามันไม่พอต่อจำนวนคนมากๆ

สำหรับผมมองว่า มันไม่ได้แย่อย่างที่คิด หลายๆ คนอาจจะกลัว โรงพยาบาลสนามแต่ละที่ มันก็แตกต่างกันอยู่แล้ว บางที่อาจจะอยู่แค่โรงยิม ไม่มีแอร์ หรือบางที่อาจจะเป็นแค่พัดลม แต่ในส่วนนี้เจ้าหน้าที่ หน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบในส่วนนั้น เขาดูแลเราดีมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่พยาบาล เจ้าหน้าที่ทางด้านการแพทย์”

ถ้าตามสภาพเลย ก็ต้องบอกว่าแตกต่างจากในรูป ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสนามของเชียงใหม่ในรูป กับที่เจอจริงๆ ก็แตกต่างมาก ในรูปอาจจะดูว่ามันเตียงเยอะก็จริง มีช่องว่างห่างก็จริง สุดท้ายมันก็ยังคงติดกันอยู่ ถึงแม้ว่ามันจะเว้นระยะ

สื่อที่นำเสนอออกไป ผมมองว่า เขานำเสนอที่เป็นในเรื่องของเตียง ของที่นอนเฉยๆ แต่เขาไม่ได้ทำให้เราเห็นถึงห้องน้ำ เห็นสภาพแวดล้อมข้างนอกมันเจอยังไงบ้าง

ถ้าในส่วนของเตียงเหมือนเขาบอกว่า ห่างกัน 2 เมตร พอข้างนอกโต๊ะกินข้าว หน้าห้องน้ำ ทุกคนก็ใกล้ชิดกันเหมือนเดิม ทุกคนก็ยังเดินสวนกันไปมาเหมือนเดิม ระยะห่างแค่เฉพาะเตียง อย่างเช่น เหมือนในข่าว ก็มีการนั่งจับกลุ่มกันเล่นไพ่

โรงพยาบาลสนาม มันปิดกั้นก็จริง มันเปิดแอร์ตลอดเวลา แต่ว่าเขาบอกว่าเหมือนเป็นการไปกักกันเชื้อ เพื่อไม่ให้กลุ่มคนเหล่านี้ไปแพร่เชื้อให้กลุ่มคนอื่น เขาก็บอกว่าไม่ได้ติดต่อเพิ่ม ถ้าใครหายก็คือหายไป ก็แค่นั้นเอง ระยะมันก็อยู่ตัวที่เราเองด้วยว่าระยะการฟื้นตัวของแต่ละคน มันมีระยะเท่าไหร่ เขาก็ดูอาการ รักษาแบบเคสบายเคสไป เช่น ดูออกซิเจนในเลือด ดูความดัน ชีพจร”


สำหรับเคสที่เป็นข่าวว่า มีหญิงรายหนึ่งโดนคุกคาม โดนการแอบถ่าย ซึ่งตนก็มองว่า ทุกวันนี้โซเชียลฯ ไปอย่างรวดเร็ว แต่อยากให้ทุกคนรับผิดชอบต่อสังคม และเห็นอกเห็นใจคนอื่นด้วยเช่นกัน

“ต้องบอกก่อนว่า ระเบียบของโรงพยาบาลสนาม เขาก็ได้แจ้งว่าไม่ให้ถ่ายรูป แต่ยุคนี้โซเชียลฯ มันไวมากๆ มันก็มีคนแชร์ข้อมูลหรือถ่ายรูป ผมมองว่า มันอยู่ที่จิตสำนึกของคนมากกว่าในการที่จะทำอะไรลงไป เขาอาจจะมองว่าเป็นส่วนเล็กน้อย ถ่ายลงไปไม่ได้อะไร แต่อย่าลืมว่า มันยังมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ด้วย มีเรื่องของจรรยาบรรณ การรับผิดชอบต่อสังคม การที่เราเห็นอกเห็นใจคนอื่นด้วย

บางคนเขาก็อาจจะไม่ได้อยากแต่งตัวแบบนั้น แต่มันอาจจะเป็นในส่วนที่เสื้อผ้า อาจจะไม่พอหรือเปล่า เพื่อนผมที่อยู่บางวันเสื้อผ้าชุดโรงพยาบาลสนามไม่พอ ก็ต้องใส่ชุดของตัวเอง ซึ่งเขาอาจจะเตรียมไปในสิ่งที่เขาอาจจะไม่ได้เซฟตัวเองด้วย หรือเขาอาจจะต้องการความสบายตัว

แต่เหมือนที่บอกครับ มันต้องกลับไปข้อแรกว่า ถ้ารัฐทำที่กั้น หรือทำอะไรให้ปัญหานี้อาจจะไม่เกิดหรือเปล่า มันต้องย้อนกลับไปถามว่าทำไมรัฐหรือหน่วยงานไม่ทำที่กั้น เพราะว่าผมเคยถามไปแล้ว ตั้งแต่วันแรกที่ผมเข้าไปแล้วว่าทำไมถึงไม่มีที่กั้น แล้วเขาก็บอกว่าด้วยความจำกัดอะไรในหลายๆ ด้าน ทำให้ไม่มีที่กั้นได้ ผมก็เลยคิดว่าแล้วอะไรคือข้อจำกัด ซึ่งเขาก็ตอบผมไม่ได้”





** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **







กำลังโหลดความคิดเห็น