เพราะครอบครัวเคยมีปัญหาจึงเข้าใจความรู้สึก เปิดใจ “ครูอ๊อด” พ่อของเด็กเร่ร่อน ช่วยเติมเต็มชีวิตที่ขาดโอกาส -เป็นแสงสว่างให้เด็ก เชื่อหากให้โอกาส อนาคตไม่เป็นอาชญากร กลับมาทำร้ายสังคม
จากเด็กเร่ร่อน สู่ครูข้างถนน
“จริงๆ แล้ว ผมมาจากครอบครัวแตกแยก ที่พ่อแม่แยกทางกัน เวลาไปกับพ่อบางทีพ่อเอาไปฝากกับคนอื่นให้เลี้ยง แต่ว่าก็ไม่มีโอกาสรู้จักแม่
เคยรู้สึกน้อยใจเหมือนกันว่า เป็นเด็กกำพร้า ก็หนีออกจากบ้านมาเป็นเด็กตามตลาดคลองเตย ที่ไปอยู่ตลาดคลองเตย เพราะว่าที่นั่นเขามีหนังกลางแปลง เขาฉาย 3-4 เดือนติดเลย แล้วเราเข้าใจว่าเราอยู่ที่นั่น มีอาหารจากตลาดโต้รุ่ง เราก็ขอเขากินได้ ผลไม้ที่เขาเข็นแล้วตก เราก็เอามากินได้ เราก็ดูแบบตามเพื่อนที่เร่ร่อนอยู่แถวนั้น”
ครูอ๊อด - สุรชัย สุขเขียวอ่อน ผู้เปรียบเสมือน “พ่อ” เด็กเร่ร่อน ณ มูลนิธิบ้านนกขมิ้น บอกเล่าให้ผู้สัมภาษณ์ฟังถึงเส้นทางของชีวิตที่ทุ่มเท เพื่อช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน มานานกว่า 34 ปี
ใครจะคิดว่า ผู้อำนวยการมูลนิธิบ้านนกขมิ้น ที่ดูแลเด็กเร่ร่อนและเด็กกำพร้ามาเกือบ 34 ปีแล้ว เคยเป็นเด็กเร่ร่อนมาก่อน
“ไม่กลับแล้ว มันมีปัญหาครอบครัว ก็เลยไม่อยากกลับบ้าน เป็นเด็กกำพร้า ครอบครัวไม่อบอุ่น ตอนนั้นผมเรียนอยู่ประมาณ ป.3 น่าจะ 10 ขวบ เราคิดว่าอยู่บ้านมันไม่มีคนรักเรา จิตใจช่วงนั้นเหมือนคนที่ไม่รักเรา เราก็ไม่ง้อ เราก็ไปของเรา
ไม่แน่ใจเอาตัวรอดได้ไหม แต่การจะเป็นเด็กที่อยู่ตามถนนได้ มันต้องศึกษา ไม่ใช่อยู่ๆ ตัดสินใจด้วยการใช้อารมณ์ แต่จะอยู่รอดได้ต้องศึกษา ว่า เพื่อนทำยังไง การขอทานทำยังไง การที่เราจะไปขอข้าวเขากินทำยังไง คนที่กินอยู่ตามตลาดโต้รุ่งต้องทำยังไง เราต้องดูเพื่อนเราก็ทำตามไป พอทำตามไปไม่นานก็เป็นเอง ไม่ยาก”
ย้อนกลับไป สำหรับเหตุผลที่เขาต้องเป็นเด็กเร่ร่อน เพราะมีปัญหาทางบ้าน พ่อแม่แยกทางกัน เมื่ออยู่กับพ่อที่ไม่มีเวลาดูแลลูก ต้องนำลูกไปฝากให้ญาติคนอื่นเลี้ยง สุดท้ายเด็กวัย 10 ขวบ ณ ขณะนั้นรู้สึกไม่อบอุ่น จึงเลือกที่จะหนีออกจากบ้าน ไปเร่ร่อนอยู่ที่ตลาดคลองเตยเพียงคนเดียว
“เพื่อนๆ ก็ติดกาว เมื่อก่อนก็ดมน้ำมัน เมาแล้วไล่ตีกัน แต่ผมจะตัวเล็กๆ อยู่แล้ว ผมเพิ่งจะ ป.3 ก็เหมือนเป็นลูกน้องเขา มีอะไรเราก็หนีก่อนเลยครับ
แต่จุดชุมนุม คือ หน้าศาลเจ้าที่เขามาฉายหนังแก้บน 3-4 เดือนติด ตอนเย็นๆ ค่ำๆ เราก็เจอกันที่นั่น”
เมื่อออกมาใช้ชีวิตเร่ร่อนนาน 3 เดือน เห็นสภาพเด็กติดยา การทำร้าย และชีวิตที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง ทำให้ฉุกคิดว่าคงเร่ร่อนอย่างนี้ต่อไปไม่ได้จึงตัดสินใจไปอยู่กับปู่และย่า ขณะที่พ่อซึ่งพยายามตามหาลูกหลังหนีออกจากบ้าน เมื่อรู้ว่าลูกมาอยู่กับปู่ย่าแล้ว จึงมาส่งเสียให้ลูกเรียนอีกครั้ง
“จุดคิดในชีวิต คือ เราเป็นใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ที่นั่นระยะหนึ่ง แล้วเราก็เห็นถึงความยากลำบาก มีปัญหา เพื่อนถูกจับ เพื่อนถูกไล่ตี เพื่อนถูกทำร้าย ติดสารระเหย
เราก็กลัวเหมือนกัน จึงคิดว่าอยู่อย่างนี้ความกลัวว่าจะตายก็จะโดนทำร้าย แต่ก็ไม่อยากกลับไปกับพ่อ คนที่เขาไปฝาก
มันไม่ค่อยอบอุ่นเท่าไหร่ ก็เลยไปอยู่กับปู่กับย่า ปู่กับย่าก็ไม่ใช่คนร่ำรวย เขาก็จนเหมือนกัน เขาก็ขายของ
พอไปอยู่กับปู่กับย่า พ่อก็ยังตามหา เขารู้ว่ามาอยู่ที่นี่ เขาก็ส่งให้เรียน บางทีเราก็ต้องทำงานด้วย หมายถึงไปขายถึงตามตลาดบ้าง ขายอะไรที่พอมันจะมีรายได้เล็กน้อย เรียนมาเรื่อยๆ จนมาเรียนที่รามคำแหง”
แม้ว่าปู่ย่าและพ่อจะทำให้เขากลับมาเรียนหนังสืออีกครั้ง แต่ครูอ๊อดก็เรียนไม่เก่ง จึงขนาดถูกบางคนมองว่าปัญญาอ่อน ครูอ๊อดยอมรับว่า การได้รับกำลังใจ และพลังของครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญทำให้ครูอ๊อดฮึดสู้ จนเล่าเรียนจบถึงระดับปริญญา
“ถึงผมจะกลับไปเรียนผมก็เรียนไม่เก่งนะครับ อ่านหนังสือก็ไม่ค่อยออก ก็มีครูคนหนึ่งให้มาหาครูทุกเช้าก่อนเข้าเรียน เขาก็เลี้ยงข้าวด้วย แล้วมาสอบอ่านหนังสือ เขาตั้งใจมาก แต่เราก็เกเร เขาก็เสียใจ ความที่เราเห็นเขาเสียใจก็เลยพยายามทำ
มันมีจุดตรงนี้ ที่ครูก็เสียใจ พ่อก็เสียใจ ปู่ย่าก็เสียใจที่เราไม่ตั้งใจ บางทีโดนพ่อตี พ่อก็ไปนอนร้องไห้ ก็เลยเริ่มจะคิดได้ ก็เริ่มที่จะพยายามเรียน อ่านหนังสือ หลังจากผมสอบได้ที่ 42 ที่โหล่
พอจะขึ้นชั้นครูเรียกพ่อมาคุย จะให้ลูกฉันขึ้นไหม ให้มันเรียนให้เก่งก่อน ผมซ้ำ 2 ปี เพราะไม่ผ่านเกณฑ์ พอถึงจุดๆ นั้น เราเห็นว่าทำให้เขาเสียใจ เรากลายเป็นคนที่น่าอายสำหรับเขาไหม ที่คนถามทำไมลูกคุณเป็นอย่างนี้ เหมือนกับปัญญาอ่อน
เราก็เลยตั้งใจ ผมจากที่สอบได้ท้ายๆ ก็สอบได้ขึ้นมาที่กลางๆ จนขึ้นมาเลขตัวเดียว จนครูก็แปลกใจ ทำไมอยู่ๆ เปลี่ยนไป คือ แรกๆ อ่านไม่ออก ก็ไม่ค่อยอ่าน เวลาสอบก็กามั่วอย่างเดียว พอหลังเริ่มอ่าน แล้วก็เริ่มอ่านออกขึ้น
ผมมีความตั้งใจ คือ ไม่อยากให้คนเสียใจ สิ่งที่มันเปลี่ยนชีวิต คือ เราไม่อยากให้คนเสียใจ มันเริ่มรู้สึกว่าเป็นครอบครัว พอมันเริ่มเป็นครอบครัว มันเริ่มทำให้เรามีพลังที่จะต่อสู้บ้าง”
โอกาส “ที่หยิบยื่น” สร้างชีวิตใหม่ในสังคม!!
“พลังจากครอบครัวมีความคาดหวังกับเรา พลังจากพี่น้องที่เราอยู่ด้วยกัน ก็พยายามที่จะช่วยผลักดันไปกันให้ได้ เมื่อพ่อเห็นเราตั้งใจเรียน ก็ใส่ความฝันเข้ามา ไปสอบทหารไหม อายุเกิน เอาแบบนี้ดีกว่าไปสอบนายตำรวจไหม อายุเกินไม่ได้อีก …ก็ไปเรียนราม เรียนนิติศาสตร์ ผมก็ไปเรียนจนจบนิติศาสตร์
จบกฎหมาย จบทนายความ พอถึงตอนนั้นผมเริ่มมาเป็นอาสาสมัครครูข้างถนน เขาก็เลยเรียกครูอ๊อด ตอนนั้นเราก็คิดว่า เราไม่ได้ชอบด้านตำรวจ หรือทนายความ แต่เราชอบความรู้สึกที่ได้ช่วยเด็กมากกว่า”
เมื่อเคยผ่านช่วงเวลาที่อยากลำบาก ทำให้เขาอยากช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ เริ่มจากจัดงานในมหาวิทยาลัยเพื่อหาทุนให้เด็กๆ ก่อนที่จะเป็นครูจิตอาสาเต็มตัวในเวลาต่อมา
“ตอนที่ผมเรียนรามคำแหง เราได้ตั้งกลุ่มและซุ้ม กลุ่มลานพ่อขุนอยู่ใต้ถุน และนอนที่นั่นได้ด้วย ไม่ต้องเช่าหอพักเลย มันก็เริ่มมีเด็กต่างด้าว เร่ร่อนมา
เราก็คิดว่าจะช่วยเด็กเหล่านี้ยังไง แล้วมีเด็กบางคนเป็นเด็กเร่ร่อนผู้หญิงก็มี เราก็พยายามจะช่วยเขา แต่ไม่มีเงินจะช่วย ก็มีเพื่อนที่เป็นนักกิจกรรมเหมือนกัน ชวนทำกิจกรรมหาทุนช่วยเด็กเหล่านี้ เราก็จัดงานกิจกรรม ให้คนมาบริจาค แล้วเราก็ทำหนังสือพิมพ์เล็กๆ ทำหลายๆ อย่าง ทำไปเรื่อยๆ ชีวิตก็เลยเป็นกิจกรรม
เราก็คิดว่าชีวิตคนเราน่าจะทำเพื่อคนเหล่านี้บ้าง เพื่อเด็กบ้าง หรือคนที่ลำบากบ้าง แต่เราก็มองว่าเราไม่มีเงิน แต่ก็ไม่จำเป็น เพราะเรามีใจที่จะทำต่อ”
จากเด็กเร่ร่อน ครูอ๊อดเริ่มเข้าสู่บทบาทของ “ครูข้างถนน” ให้ความช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนเท่าที่จะช่วยได้ ก่อนสู่เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิบ้านนกขมิ้น ที่ดูแลเด็กเร่ร่อน เด็กกำพร้า มากถึง 200 ชีวิต
“ช่วงนั้นเป็นเวลาเดียวกัน ที่ผมเป็นครูอาสาสมัคร เราเรียกว่าครูข้างถนน อยู่ในเขตรามคำแหง ก็เป็นนักศึกษาราม และมีโอกาสไปเจอเด็กเหล่านี้ แล้วพยายามจะช่วยเขา บางคนกลับบ้านไม่ได้ ไม่กล้ากลับ เราก็พาเขากลับบ้าน
บางคนอยากจะทำงาน เพราะรู้สึกว่าตัวเองอายุมากแล้ว เราก็หางานให้เขาทำ หรือเขามีปัญหาชีวิตอะไร เราก็พยายามช่วย แต่ก็มีเด็กอยู่กลุ่มหนึ่งที่ยังเด็กอยู่ อาจจะอายุประมาณ 9 ขวบ อยากจะเรียนหนังสือต่อ อันนี้ปัญหาของผม ผมจะให้เขาเรียนยังไง
ก็มีคนแนะนำให้มารู้จักกับคุณพ่อเออร์วิน กรอบลี่ ซึ่งทำบ้านเล็กๆ อยู่ เราก็มีโอกาสมาเจอท่าน และก็บอกว่าอยากจะให้เด็กๆ คนนี้มีบ้าน ก็เลยพาเด็กคนนี้มาอยู่กับคุณพ่อเควิน ที่บ้านนกขมิ้น แล้วบ้านนกขมิ้นเริ่มจดเป็นมูลนิธิตอนปี 2536”
ปัจจุบัน บ้านนกขมิ้นอยู่ในความดูแลของครูอ๊อด มีสาขาทั้งหมด 7 แห่ง 7 จังหวัด สำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ บ้านนกขมิ้นไม่เพียงเป็นบ้านหลังที่สองของเด็กเร่ร่อน และเด็กกำพร้า ที่มีพ่อแม่อาสาสมัครดูแลอบรมสั่งสอนให้ความรักความเอาใจใส่เด็กๆ เหล่านี้เหมือนลูกของตนเอง แต่ยังให้โอกาสเด็กได้ศึกษาเล่าเรียนจนจบปริญญาตรีด้วย
“การที่เด็กจะเข้ามา 1. ถ้าเป็นเด็กเร่ร่อนและอายุอยู่ประมาณ 5-10 ปี และเขาอยากจะเรียนหนังสือ เราก็รับแล้ว 2. คือ เป็นเด็กที่กำพร้า พ่อแม่เสียชีวิต อันนี้เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่รับมา ก็อายุอยู่ประมาณนี้เหมือนกัน 3. เด็กที่พ่อแม่ติดคุก ยากจนถ้าจบปริญญาตรี ผมไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่ผมว่าไม่ต่ำกว่า 20 กว่าคน”
ครูอ๊อด มองว่า ความร่ำรวยไม่ใช่ความสุขที่ยั่งยืน ความสุขลึกๆ ในใจครู คือ การได้ช่วยคนอื่น เพราะเมื่อเราช่วยเขาแล้ว พลังที่ได้เห็นสิ่งที่เราทำ และเขารู้สึกชื่นชมและรักเรา นั่นต่างหากที่ทำให้มีความสุข
“เด็กบางคนจะบอกว่าร้อยพ่อพันแม่ มาหลายที่หลายทาง แต่ถ้าเรามองรวมๆ จุดเดียวกัน คือ ปัญหาเดียวกัน
คือ ครอบครัวแตกแยกล้มเหลว ไม่มีพ่อแม่ เพราะฉะนั้นการจะแก้ปัญหาให้กับเขา เราต้องสร้างครอบครัวขึ้นมาก่อน เสาหลักครอบครัวของเขาพัง เราต้องสร้างขึ้นมาใหม่ คือ มีพ่อแม่ที่ดูแลเขา และพี่น้องอยู่ด้วยกัน ต่างสายเลือดกันก็จริง แต่ว่าปัญหาเดียวกัน”
สำหรับความยากของการช่วยเหลือสังคม ไม่ว่าจะเป็นช่วยเหลือทางด้านไหนก็ตาม ครูอ๊อด มองว่า การจะทำยังไงให้คนในสังคมยอมรับ และร่วมสนับสนุนเป็นสิ่งที่ยาก เพราะการทำสิ่งใหม่บางอย่างสังคมอาจจะตั้งคำถามกับสิ่งที่ทำอยู่
ครูยืนยันว่า ปัญหาเด็กเร่ร่อนส่วนใหญ่ เป็นเรื่องที่สังคมต้องสนใจ และเข้าใจ ไม่ควรมองแค่ด้านเดียว ไม่อย่างนั้นเด็กอาจกลายเป็นอาชญากรในอนาคต
“มีอยู่ครั้งหนึ่ง เด็กไปซื้อของในซูเปอร์มาเก็ต ของห้าง ของราคา70 บาท เด็กเขามีอยู่แค่ประมาณ 50 บาท เขาก็จ่ายไม่พอ แล้วเขาเป็นเด็กเร่ร่อน ดูเป็นเด็กสกปรก เมื่อจ่ายไม่พอเขาก็ถูกจับ คิดว่าเด็กขโมย เด็กพยายามติดต่อผมมาว่าเพื่อนโดนจับ หาว่าขโมย ผมก็รีบไป
ถามว่าขโมยยังไง เด็กมันจ่ายไม่พอ ซึ่งมันไม่ใช่ขโมย เจตนาเขามาจ่าย แต่จ่ายไม่พอ มีแค่ 50 บาท เขาไม่รู้ราคาเหรอ ก็อ่านไม่ออกครับ เขาเป็นเด็กเร่ร่อนอ่านไม่ออก แต่มาจับเขา เขาไม่ได้ขโมย
คุณก็เอาของคืนไปสิ เขาก็เหมือนไม่พอใจ ผมก็เลยจ่ายให้อีก 20 บาท แต่เขาก็บอกว่าคุณมาทำงานอย่างนี้ทำไม เด็กตรงนี้ไม่มีทางได้ดีหรอก ตอนนั้นมีตำรวจอยู่ด้วย
คุณไปทำงานอย่างอื่นจะดีกว่า ทำอย่างนี้ไม่มีประโยชน์ แต่ว่าในสิ่งที่เขาพูด พอผ่านมา 10 กว่าปี เด็กคนนั้น เด็กหลายคนที่เขาเคยว่า ก็เรียนจบ มีงานทำ จากเด็กข้างถนน มีงานทำ เป็นคนที่สังคมยอมรับ
ผมก็มองถึงคนในสังคมว่าเขามองด้านเดียว คุณมองว่าเด็กเป็นปัญหา แต่คุณไม่เคยคิดว่าจะแก้ไขยังไง ถ้าเราไม่ช่วยเขาในวันนี้ อนาคตเขาทำความเสียหายให้กับสังคม คุณก็จะว่าเขาอีก
หลายคนอยากจะช่วย คนที่มีใจแบบผมอยากมาช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านี้ … มี แต่ไม่มีเวลา เพราะต้องทำงาน ดูแลครอบครัว ผมก็เลยอาสาทำให้ ทางสังคมก็เข้ามาสนับสนุน การสนับสนุนของคุณก็แล้วแต่ว่า คุณมีมากมีน้อย ก็ให้ได้ และอย่าไปมองที่เงินอย่างเดียว บางคนมองที่เงินอย่างเดียว”
เกือบ 34 ปีที่ครูอ๊อดและบ้านนกขมิ้นได้ให้ความรัก ให้โอกาสและหยิบยื่นสิ่งดีๆ ให้แก่เด็กเร่ร่อน เขามีเพียงเจตนารมณ์ให้สังคมเปิดรับ เพื่อให้เด็กเหล่านี้มีคุณภาพชีวิต และมีที่ยืนในสังคม รวมทั้งรู้จักแบ่งปันและช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป
“หลายคนคิดว่าเด็กเร่ร่อนเป็นเด็กเหลือขอ เด็กเร่ร่อน คือ เด็กที่มีปัญหา แต่จริงๆ สังคมไม่เคยมองเลยว่าที่เขามาเป็นอย่างนี้ ก็เพราะพวกคุณในสังคมที่ไม่ให้โอกาสเขา
พ่อแม่ของเขาอาจจะมีปัญหา และไม่ช่วยเหลือเขา และเด็กกลุ่มนี้โตขึ้นไป เป็นอาชญากร ทำร้ายสังคม เราก็ตราหน้าว่าเขาเป็นคนไม่ดี แต่ว่าวันนี้ไม่ช่วยเขาล่ะ เราอยากจะช่วยเขา
ผมคิดว่าสังคมเราอยู่ได้ ถ้าเราให้โอกาสกับคนที่ขาดโอกาส และที่สำคัญให้โอกาสกับลูกของคุณ บางครอบครัวลูกทำผิด ก็ตราหน้าว่าเขาเป็นลูกไม่ดี ความผิดก็ขยาย เขากลายเป็นเด็กมีปัญหาครอบครัว และกลายเป็นปัญหาสังคม
วันนี้ให้โอกาสให้อภัย ให้สังคมได้รับคนดีกลับไปด้วยครับ”
สัมภาษณ์ : รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง : MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ขอบคุณภาพ : FB "ครูอ๊อด ขออาสา"