อดีตครูสอนภาษาอังกฤษโรงเรียนชื่อดังยอมทิ้งชีวิตที่สุขสบาย เปิดบ้านเพื่อดูแลเด็กด้อยโอกาส หวังเพียงอยากเห็นเด็กๆ เหล่านี้มีอนาคตที่ดีขึ้น แม้บางครั้งขัดสนถึงขั้นข้าวไม่พอกิน ก็ไม่สามารถละทิ้งเด็กได้ พยายามสู้ทุกวิถีทางให้อยู่รอด พร้อมภูมิใจที่เด็กมีอาชีพติดตัว เอาตัวรอดอยู่ในสังคมได้
ยอมแลกชีวิตที่สุขสบาย เพื่อดูแลเด็กด้อยโอกาส
“พวกเขาถ้าไม่มาอยู่ที่นี่ ป่านนี้จะไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ไม่มีอนาคตเลยค่ะ แล้ววันนี้เขามีอาชีพของเขา มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น ไม่ต้องทำตัวเบียดเบียน หรือเป็นตัวที่ไม่ดีของสังคม เขาสามารถนำเงินมาเลี้ยงตัวเอง มาแจกให้น้องๆ มาแบ่งให้ปู่ย่าตายายที่เขามีอยู่แค่นั้นเอง”
ครูตุ๋ย-อรัญญา นิติวัฒนานนท์ ผู้ก่อตั้งบ้าน “New Life” อดีตครูโรงเรียนเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ วัย 62 ปี ที่ยอมแลกชีวิตที่สุขสบาย ออกมาเปิดบ้านเพื่อดูแลเด็กสร้างชีวิตใหม่แกเด็กผู้ด้อยโอกาสในชนบท
ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู อุทิศตน ทุ่มเทเสียสละความสุขส่วนตัว เลือกมาใช้ชีวิตเป็นครูจิตอาสาเลี้ยงดูเด็กๆ 64 ชีวิต มานานกว่า 10 ปี
ครูที่มีหัวใจล้นเปี่ยมไปด้วยความรัก ความเมตตา เธอหวังเพียงแค่อยากให้เด็กเหล่านี้ มีคุณภาพชีวิต และมีการศึกษาที่ดีขึ้น แม้เด็กบางคนไม่ใช่คนไทย ก็สามารถเรียน ให้มีการศึกษา ไม่ด้อยการศึกษา
หากไม่มีครูผู้มีจิตใจอาสาท่านนี้ และบ้านแห่งนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ชีวิตของเด็กที่นี่จะเป็นอย่างไรเพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เธอก็ไม่สามารถทิ้งเด็กเหล่านี้ไปได้อย่างแน่นอน
โดยจุดเริ่มต้นของบ้านแห่งนี้ ได้ก่อตัวขึ้นจากความรัก และความผูกพันของครูผู้อาสาที่มีหัวใจเปี่ยมไปด้วยความเมตตาที่มีต่อเด็กเมื่อครั้งที่ครูยังทำงานเป็นครูจิตอาสาตามชนบท
“จริงๆ แล้วที่บ้านนี้เกิดจากปกติก็ทำเรื่องอาสาพัฒนามาตลอดอยู่แล้ว ตอนอยู่อัสสัมชัญ ก็ทำหน้าที่มาต่อเนื่อง แล้วพอได้ไปทำหน้าที่ consult อยู่สวีเดนก็รู้สึกว่ามันยังผูกพัน ด้วยความชอบ แล้วเราก็สงสาร แล้วเป็นเด็กที่เราเคยดูแลกันมาก่อนแล้ว ตรงนี้ก็เลยทำให้เราตัดสินใจที่ว่า กลับมาอยู่ที่เมืองไทย
ทำงานอยู่อัสสัมชัญธนบุรีมา 20 กว่าปี เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ สุดท้ายก็มาทำหน้าที่เป็นศูนย์ภาษาอังกฤษอักษรเบรลล์ จากประเทศอังกฤษโดยตรง ดูแลรับผิดชอบครูนักเรียน สายวิชาการ แล้วก็ดูแลในเรื่องระบบการรับคุณครูเข้ามาสอน แล้วก็ส่งนักเรียนไปอยู่ต่างประเทศ
เป้าหมายสำคัญคือ ทุกครั้งที่มาทำจิตอาสาในเมืองไทย แล้วเห็นเด็กๆ พวกนี้ที่คอยตามเราๆ เราก็บอกว่า เราจะกลับไปอยู่ที่เมืองนอกแล้วนะ เขาก็ถามว่าถ้าคุณครูไป หนูจะอยู่กับใคร
บางทีก็มีคุณตาคุณยายที่ไม่สบายมากๆ ท่านก็เขียนจดหมายไว้ว่า ถ้าเขาตายไปแล้ว ขอให้ลูกหลานเขาฝากไว้กับครูตุ๋ย”
ทุกๆ วันครูตุ๋ยต้องขับรถกระบะคู่ใจรับส่งเด็กๆ ไปกลับโรงเรียนเช้า-เย็น และเสียงสะท้อนความรู้สึก เหมือนได้ชีวิตใหม่ จากเด็กๆ คงเป็นหลักฐานยืนยันได้อย่างดีว่า ชีวิตของพวกเขาได้เปลี่ยนแปลงไป หลังจากเข้ามาอยู่ที่นี่
“ถามว่าทำไมถึงผูกพัน พวกเขาบางคนก็ไม่มีผู้ปกครอง ไม่มีพ่อแม่ มีปู่ย่า ตายายก็เท่านั้น ก็ไม่ได้ดูแล แล้วกำลังทรัพย์ที่จะมาช่วยเหลือในการกินอยู่เขาก็ไม่มีหรอก
ครูตุ๋ยอยู่กับเขาก็สอนทั้งวิชาการด้วย สอนทั้งกิจกรรมที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ บางทีที่ตัวเองสอนไม่ได้ ก็จะหาคุณครูหรือลูกศิษย์มาสอนให้”
จากความรักความผูกพันที่มีต่อเด็กด้อยโอกาสในชนบท ประกอบกับแรงสนับสนุนด้านเงินทุนจากลูกศิษย์จากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ทำให้ครูตุ๋ยตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อก่อตั้งบ้าน New Life อย่างแน่วแน่
หลังก่อตั้งได้ไม่นาน บ้านแห่งนี้ ได้มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี จนวันนี้มีเด็กที่เรียนและจบออกไป 70 คน และยังคงอยู่ที่นี่ 64 คน
ซึ่งครูตุ๋ยยอมรับว่า จำเป็นต้องคัดกรองคุณสมบัติของเด็กที่จะเข้ามาดูแล เพื่อจะให้คุณสมบัติเหมาะสมกับการช่วยเหลือตามกำลังที่จะทำไหว
“ปัญหาเบื้องต้นครอบครัวแตกแยก เรื่องยาเสพติด แล้วก็เรื่องล่วงละเมิด อยากทำที่นี้ให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่สามารถยืนอยู่ด้วยตัวเองได้ และมีอาชีพที่นอกจากจะนำมาช่วยตัวเอง ยังสามารถนำมาช่วยสังคมได้
อันดับแรกดูความจำเป็นมีขนาดไหน อย่างเช่น เด็กที่มีปัญหาเยอะๆ พ่อแม่แยกทางกัน ดูปัญหาความยากจนเป็นยังไง ดูเยอะพอสมควร
แล้วการที่จะเข้ามาอยู่ที่นี่ได้ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ หิ้วกระเป๋ามา ไม่ใช่ ต้องมีผู้ใหญ่มาดู อาจจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน คุณครู หรือพระภิกษุ หรือหลวงตา ที่อนุญาตฝากมา ก็ต้องดูเยอะพอสมควร ที่บ้านนี้ 64 คน เปิดมา 10 กว่าปีแล้ว”
เด็กๆ ที่นี่ล้วนมีหน้าที่ ความรับผิดชอบแตกต่างกันไป ซึ่งครูตุ๋ยสอนให้เด็กเหล่านี้ อยู่กันแบบพี่ปกครองน้อง คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ขัดสน ถึงขั้นไม่มีข้าวกิน
แม้ปัจจุบันยังประสบปัญหาวิกฤตทางด้านการเงินที่จะมาดูเด็กๆ เพราะค่าใช้จ่ายเยอะมากในแต่ละวัน บางครั้งถึงขั้นขัดสนไม่มีข้าวแม้แต่จะกิน แต่ครูผู้มีจิตอาสาผู้นี้เธอก็ไม่เคยท้อถอย หรือคิดจะหยุด หวังเพียงให้เด็กๆ ได้มีอนาคตที่สดใส
“มีปัญหาเยอะ ไม่มีข้าวกินมันก็คือมีค่ะ แต่มันมีนิดเดียว มองแล้วว่าไม่เพียงพอกับเด็กร้อยเปอร์เซ็นต์ ถามว่าลำบากไหม ลำบาก ยิ่งขณะนี้ก็ลำบากจริงๆ
จริงๆ แล้วปกติ 3 มื้อ แต่บ้านเรา 5 มื้อ คือมันจะกิน มันหิวทำไงได้ ก็ต้องให้ ก็ทำให้ค่าใช้จ่ายสูง ก็พยายามปลูกผัก ทุกอย่างพยายามอยู่ด้วยตัวเองให้ได้”
ไม่เคยคิดท้อเลยในชีวิต มันสนุกนะ ไม่เคยคิดท้อ ว่าเหนื่อย หรือเบื่อในชีวิต อาจจะมีพูดบางแต่ไม่เคยซีเรียสว่าจะไม่ทำแล้วในชีวิต ไม่เคยคิดเลย”
ส่วนรายได้ที่จะมาหล่อเลี้ยง ขับเคลื่อนให้ทั้ง 64 ชีวิตในบ้านหลังนี้นี้อยู่ต่อไปได้ ส่วนหนึ่งก็มาจากรายได้ส่วนตัวของครูตุ๋ย คือยังรับสอนภาษาอังกฤษให้กับทางมหาวิทยาลัย และลดค่าใช้จ่ายด้วยการปลูกผักกินเอง
“รายได้เป็นสิ่งที่ยากที่สุดในชีวิต ยากที่สุดในการทำงาน อย่างที่บอกว่าไม่ได้พยายามที่จะขอ หรือลดรับเด็ก พยายามที่จะยืนด้วยตัวเอง ก็ทำขนมปังขาย แล้วเรามีร้านเล็กๆ ชื่อ Small Shop
เราก็จะมีรายได้จากการทำตรงนี้ จากการทำเบเกอรี่ พริกแกงทั้งหลาย ก็จะมีคนมาสั่งซื้อ แล้วช่วงนี้ก็จะลำบากนิดหนึ่ง เพราะว่ารีสอร์ตปิด บางคนก็ไม่ได้ซื้อเราเท่าที่ควร แล้วก็มีรายได้ส่วนตัวคือสอนภาษาอังกฤษ ยังสอนในมหาวิทยาลัยอยู่”
อีกทั้งรายได้อีกบางส่วน คือการเปิดรับบริจาคมีเพื่อนชาวต่างชาติที่รู้จักกันมานาน เข้ามาร่วมบริจาค รวมไปถึงคนที่เคยเป็นลูกศิษย์ของครูตุ๋ย เมื่อทราบเรื่องก็พร้อมใจกันช่วยทันที
“ส่วนใหญ่ฝรั่งที่รู้จักที่นี่ได้ยังไง ก็เป็นลูกศิษย์ที่นิวซีแลนด์ บางคนก็เป็นเพื่อน อย่างพวกหมอ ก็เป็นเพื่อนที่สนิท เขาก็มีลูกศิษย์เขาก็หิ้วกันมาช่วยเหลือเราเยอะพอสมควร
แต่ส่วนคนไม่รู้จักมากกว่า พูดตรงๆ นะคะบางทีคนที่เข้ามาก็มีเงื่อนไข ถ้ามาแล้วต้องให้เครดิตเขากี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทางเราไม่มีให้ ความจริงคือไม่มีให้ แล้วจะต้องการเปิดเพื่ออะไรแบบนั้นก็ไม่ใช่ เพราะเราก็พยายามที่จะยืนอยู่ด้วยตัวเองได้ แล้วการที่มาช่วยเหลือเรา แล้วมาขออะไรแบบนี้เรากลับไปเราไม่มีให้จริงๆ”
นอกจากเด็กๆ ที่นี่จะได้รับโอกาสเรียนในระบบการศึกษาปกติแล้ว พวกเขายังโชคดีที่มีอาสาสมัครทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้ามาสอนทักษะการประกอบอาชีพเสริมอีกด้วย
“ส่วนใหญ่ถ้ามาสอน ก็มาสอนการทำอาหาร การทำเบเกอรี่ คุกกี้ แพนเค้ก เราทำทุกอย่าง อะไรก็ตามที่สามารถสร้างอาชีพให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นน้อยนิด ก็ให้เด็กทำ อย่างเช่น เราเปิดตัดผม เราเก็บแค่ 10 บาท มันก็เป็นรายได้ให้เด็ก เขาก็จะมีเงินของเขาส่วนตัว ส่วนหนึ่งก็ให้ที่บ้าน แล้วเขาก็จะภูมิใจ
แล้วที่นี่ก็จะมีคุณครูเป็นช่างตัดผมมาสอนที่นี่ สอนทำหลายๆ อย่าง แล้วก็มีการสอนนวด เราก็รับนวดด้วย แต่ว่าเป็นนวดแผนไทย เด็กเขาก็ทำกัน
อีกอย่างเรามีที่ดินอยู่บนภูเขาที่เราปลูกผักไว้ แต่ปลูกผักเราไม่ได้ขาย ปลูกเอาไว้กิน ส่วนใหญ่รายได้ก็มาจากตรงนี้ค่ะ”
คุ้มค่ากับการได้ให้ชีวิตใหม่เด็ก
ยอมรับว่า เคยกลับมานั่งคิดทบทวนในเส้นทางที่เลือก แต่ก็ได้คำตอบกับตัวเองว่า ไม่ได้เลือกทางที่ผิด แม้จะเป็นการเสียสละความสุขส่วนตัวที่เคยอยู่อย่างสุขสบาย ก็ถือว่าคุ้มค่าที่ได้ทำมา
“เคยคิดเหมือนกัน แต่ไม่ได้จริงจัง ถ้าอยู่บ้านก็เป็นคุณนาย ถ้าอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็ยังเป็นครู ตอนนั้นใช้ชีวิต luxury มาก เพื่อนๆ ทุกคนรู้หมด ก็ตามประสาคุณครูอัสสัมชัญ แล้วเป็นครูภาษาอังกฤษด้วย ทุกอย่างไฮโซหมด ก็ใช้ของดีๆ ที่แพงๆ แต่ตอนนี้ไม่ใช้แล้วนะคะ
เพื่อนก็บอกว่าบ้า อยู่ได้ยังไง เขาก็มาเยี่ยมกัน ขาดเหลืออะไรก็บอกพวกมัน ก็จัดการมาให้ แต่สำคัญคือได้ความสุข มีความภูมิใจ ได้เห็นพวกเขา ได้กิน นอน อย่างมีความสุข มีที่นอนให้ได้นอน บางคนที่เราไปบ้านก็ไม่มีที่นอนเลย ได้เข้าห้องน้ำ ได้ทำอะไรต่างๆ”
เมื่อมาถึงจุดนี้ ครูที่มีหัวในเปี่ยมไปด้วยความอาสาที่อยากให้เด็กมีอนาคตที่ดี เธอเองรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมาก เพราะมองว่า อย่างน้อยเด็กที่จบจากที่นี้ก็เป็นคนดี พร้อมมีอาชีพติดตัวไปหล่อเลี้ยงตัวเอง เอาตัวรอดอยู่ได้ในสังคม
“ก็รู้สึกว่าพอใจนะ เพราะอย่างน้อยเด็กที่จบจากที่บ้านนี้ไป ยังมองไม่เห็นว่าใครที่ไม่ดีออกไป ที่ออกไปแล้ว แล้วมีอนาคตที่ไม่ได้นะ โอเคบางคนก็แต่งงาน มีครอบครัวไป บางคนก็มีอาชีพ มีตังค์ แล้วสามารถเอาตังค์กลับมาให้พวกเราได้ มาช่วยน้องๆ ได้ มาช่วยคุณครูได้ แต่ไม่ไปยุ่งตรงนี้นะคะ ก็ให้เขาเอาไปให้ลูกๆ ให้เด็กๆ เขาเอง ให้ไปช่วยกันเอง
แล้ววันที่เขากลับมา มันเป็นความภูมิใจของเราที่ได้เห็นไอ้เด็กเหล่านี้ที่เราเลี้ยงมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันมันมีอาชีพ (ร้องไห้) มีเงินใช้ ไม่ต้องมาขอตังค์เราใช้ แล้วก็สามารถยืนอยู่ในสังคมได้ ภูมิใจตรงนี้”
ภูมิใจเสมอ เมื่อเห็นเด็กมีชีวิตที่ดีขึ้น จึงยอมทุ่มเทแรงกายแรงใจทุกอย่าง เพื่อดูแลเด็กๆ เหล่านี้ แม้จะรู้สึกเหนื่อยมากขนาดไหนก็ตาม เพราะคิดว่าหากเด็กเหล่านี้ไม่ได้มาอยู่บ้านแห่งนี้ คงไม่มีอนาคตที่สดใส
“ไอ้เด็กเหล่านี้ คิดแล้วว่าพวกเขาถ้าไม่ได้มาอยู่ที่นี้ ป่านนี้จะไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ไม่มีอนาคตเลยค่ะ แล้ววันนี้เขามีอาชีพของเขาส่วนตัว มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น ไม่ต้องทำตัวเบียดเบียน หรือเป็นตัวที่ไม่ดีของสังคม แต่เขาสามารถนำเงินมาเลี้ยงตัวเอง มาแจกให้น้องๆ มาแบ่งให้ปู่ย่าตายายที่เขามีอยู่แค่นั้นเอง
เด็กผู้ชายบางคนก็ไม่ได้ไปติดยาเสพติด ไมได้กลับไปอยู่วงเวียนชีวิตเดิม แต่กลับมามีชีวิตที่ดีขึ้นมาได้ แล้วข้อสำคัญคือมาบอกน้องๆ ที่อยู่ที่บ้านว่า พวกมึงอย่าดื้อกับคุณครูเขานะ คุณครูเขาเหนื่อยมาเยอะพอสมควร”
เธอย้ำอีกครั้งว่าในเส้นทางที่เลือก คุ้มค่ามากในชีวิตกับเส้นทางชีวิตการทำงานเพื่อสังคมตรงนี้
“สำหรับเราคุ้มนะ เพราะชีวิตที่บอกว่าเป็น luxury เป็นครูอัสสัมชัญ และครูภาษาอังกฤษ เราก็เดินทางมาทั่วโลกแล้ว เราไมได้ไปแค่หนเดียว แต่ไปบ่อยๆ แล้วสุดท้ายแล้วก็มานั่งคิด ทุกครั้งก็นั่งคิดว่าไปจ่ายเงินซื้อของแพงๆ ทำไม เสียดายตังค์มากเลยพูดจริงๆ
ถ้าเราเอาเงินที่เสียไปในอดีต เอามาช่วยคนอื่นๆ มาสร้างอนาคตให้คนอื่นๆ คิดว่ามันจะคุ้มกว่าเยอะ”
สัมภาษณ์ : รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ
เรียบเรียง : MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊กแฟนเพจ “New Life Orphanage & Home”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **