xs
xsm
sm
md
lg

#ศุลกากรหรือซ่องโจร เปิดปากแม่ค้า ของหาย-ถูกยึด-ขายต่อ-กำไรวันละ 3 ล้าน!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เสียงสะท้อนจากแม่ค้า ของหาย-โดนยึด-ภาษีแพงเกินจริง กลายเป็นแฮชแท็กขึ้นเทรนด์ #ศุลกากรหรือซ่องโจร หลังแม่ค้าโพสต์ทำอาชีพสต็อกสินค้าโดนยึด ได้กำไรวันละ 3 ล้าน ทำเอาคนวิจารณ์หนัก ตั้งคำถามอีกครั้งถึงเกณฑ์การยึดของ เก็บภาษี ที่ตั้งไว้ไม่สมเหตุสมผล

ยึดไปเพื่อขายต่อ กำไรหลักล้าน?

ยังคงเป็นประเด็นที่คนวิจารณ์กันหนัก ถึงหลักเกณฑ์ยึดของ ของกรมศุลกากร รวมไปถึงประเด็นที่มีการตั้งเก็บภาษีในราคาที่ไม่สมเหตุสมผล จนกลายเป็นประเด็นดังที่ถูกสังคมตั้งคำถาม จนเกิดแฮชแท็กขึ้นเทรนด์ว่า #ศุลกากรหรือซ่องโจร

รวมไปถึงข้อครหาที่แม่ค้าบางรายรับสต็อกสินค้าโดนยึดของหนีภาษี ที่นำมาขายต่อได้กำไรวันละ 3 ล้านบาท คนวิจารณ์หนัก พร้อมตั้งคำถามคนที่ซื้อไปขายต่อได้สิทธิพิเศษอะไร มีใครเข้าไปตรวจสอบหรือไม่

ซึ่งเมื่อเข้าไปดูในทวิตเตอร์พ่อค้าแม่ค้าหลายรายยืนยันว่า พบผู้เสียหายมากพอสมควร เพียงแต่เสียงเรียกร้องยังไม่มากพอให้คนอื่นได้รับรู้

เพื่อสะท้อนถึงเรื่องนี้ ทีมข่าว MGR Live จึงติดต่อไปยัง แม่ค้ารายหนึ่งผู้นำเข้าสินค้า K-pop วัย 30 ปี บอกเล่าถึงเรื่องราวที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ตอนนี้ว่า ตัวเองเป็นหนึ่งในคนที่โดนยึดของ มียอดความเสียหายอยู่ที่ 2 แสนบาท


“ปกติพรีออเดอร์ของเกาหลีกลับไทย แล้วก็ส่งทางไปรษณีย์ หลังๆ โดนภาษีที่เราคาดไม่ถึง เขาบอกดุลพินิจเจ้าหน้าที่ บางทีเราคิดว่าเท่านี้ แต่เราโดนเยอะ หนูก็เลยเปลี่ยนไปส่งกับชิปปิ้ง (Shipping) ก็คือ เป็นเรือขนส่งสินค้า มีตู้คอนเทนเนอร์ เขาจะเป็นราคารวมภาษีกิโลละ 250 บาท

ทีแรกที่โดนยึด เราเข้าใจ เพราะเรื่องมันเกิดจากชิปปิ้ง ตู้สินค้านั้นไม่รับผิดชอบ โอเคเราเข้าใจตรงนี้ แต่ทำไมเจ้าหน้าที่ถึงเอาของออกมาได้ เราไม่เข้าใจตรงนี้ จะบอกว่าเขาได้ใบมอบอำนาจมาจากชิปปิ้ง ก็ไม่น่าใช่ เพราะเราไม่มีใครตามชิปปิ้งได้ แล้วเขาบอกว่าถึงหนูตามชิปปิ้งมาเคลียร์ได้ หนูต้องมีใบนำเข้าสินค้าจากโรงงาน

คือหนูไม่มี เพราะเราก็พรีออเดอร์กันปกติ ถ้าสมมติชิปปิ้งเอาใบมอบอำนาจให้เขาจัดการ แล้วเขาเอาไปนำเข้าสินค้ามาจากไหน เขาก็ไม่น่ามี แล้วเขาก็ไม่น่ามีของติ่งเกาหลีขาย เพราะเขาไม่ใช่ติ่งเกาหลี

ยอดความเสียหายมันเยอะ ของบางอย่างมันก็เลิกผลิตแล้ว เขาก็อยากได้ มันมีคุณค่าทางจิตใจ เขาก็อยากจะเก็บ แล้วไม่รวมของที่ออกมาก่อนหน้านั้น คือ เรารอนานมาก จนลูกค้าขอคืนเงิน แล้วทีนี้พอของที่ออกมา คือ เราคืนเงินลูกค้าไปแล้ว ของที่ออกมา บางอย่างเราก็ขายไม่ได้แล้ว”


เธอสืบจนมั่นใจว่า เมื่อคนในสามารถรับซื้อมาปล่อยขายกันเอง ได้เงินเข้ากระเป๋าตัวเองได้อย่างสบายใจ จนกลายเป็นวงจรธุรกิจของกรมศุลกากร

“ช่วงปลายเดือนที่แล้ว เห็นมีคนลงขายของ แล้วเรารู้ว่าของอันนี้มันไม่มีแล้ว ถ้ามีหนูซื้อคืนให้ลูกค้าแล้ว มันเป็นของที่ไม่ผลิตแล้ว ไม่น่ามีใครมีเยอะขนาดนั้นแล้ว เห็นกล่องที่เขาลง มันเป็นกล่องของเรา เราจำลังนั้นได้ เพราเราติดเทปสีแดงๆ คือ มันเห็นแล้วมันรู้ค่ะ ก็เลยไปตามสืบ เขาก็บอกว่าซื้อต่อมาจากคนในเฟซบุ๊กอีกที 

เราก็เลยไปตามคนในเฟซบุ๊ก ก็เลยเห็นว่า เขาเป็นเมียของผู้ชายคนหนึ่ง ที่ทำงานศุลกากร ฝ่ายปราบปราม เห็นใส่ชุด เห็นเขาลงรูปที่ทำงาน ที่ด่านคลองเตย เพราะส่องเฟซบุ๊กเขา

แล้วผู้หญิงคนนั้นก็ลงขายของที่มันมีพี่คนนึงที่โดนยึดรอบเดียวกันกับของหนูที่ลงเป็นเครื่องปั๊มนม เขาลงขายอันนั้นด้วย เราก็เลยมั่นใจเลยว่า เป็นของเรา เป็นของล็อตนี้

ก็ทักไปถามซื้อเขา ตอนแรกเขาก็ถ่ายรูปส่งมาว่าเขามีอะไรบ้าง มันก็เป็นของๆ เรา เราจะถามหาหลักฐาน แล้วทีนี้พอเกิดเรื่องในทวิตเตอร์ ทั้งสองผัวเมียนั้นก็ปิดเฟซบุ๊กหนีไป ก็เลยคิดว่าเขาคงรู้ตัวแล้ว”


ไม่เพียงเท่านี้ เธอยังตั้งคำถามถึงหลักการซื้อขายของกรมศุลกากร ที่จะเห็นเป็นประเด็นใหญ่ว่า พนักงานของกรมศุลกากรมีสิทธิพิเศษอะไรถึงสามารถนำสินค้าเหล่านั้นออกมาขายได้ มีการตรวจสอบที่โปร่งใสหรือไม่

“อยากรู้ว่าหลักการที่ศุลกากรเอาของออกมาจำหน่าย มีหลักการยังไง ทำยังไง ของล็อตนี้เอาออกมาขายได้ คือ มีอะไรที่บ่งบอกว่าอันนี้เอาออกมาได้นะ หรือยังไง ไม่เข้าใจ หรือว่าเข้าจะหยิบอะไรออกมาก็ได้อย่างนี้เหรอคะ เราอยากเห็นหลักการตรงนั้น

เพราะคนที่ทำตรงนี้ เขาก็บอกว่า การที่จะเอาของออกมาได้ต้องมีใบประมูล มันเป็นของหลวงไปแล้วถ้าโดนยึด คือ ก็ไม่น่ามีสิทธิ์เอาออกมาขายได้ ก็ไม่รู้ว่าเขาทำยังไงถึงเอาออกมาได้ แรกๆ ก็ยังส่องผู้หญิงคนนั้นอยู่ เหมือนเขาก็เอาของออกมาขายอย่างนี้บ่อยๆ เรามองว่าเขาทำไม่ถูก แต่เราตรวจสอบเขาไม่ได้”


ส่วนประเด็นที่สังคมตั้งคำถามถึงว่าเป็นเหมือนซ่องโจรนั้น แม่ค้ารายนี้ก็เห็นด้วยที่กระแสสังคมมองว่าเป็นเหมือนโจรที่ขโมยสินค้า พร้อมย้ำชัดให้กรมศุลกากรเปิดเผยถึงความโปร่งใสในเรื่องนี้

“อยากให้ลดความเป็นโจรลงหน่อยได้ไหม ขอให้มันปลอดโปร่ง ให้มันเป็นไปตามเรื่องราว ไม่ใช่มีแต่คำพูด เป็นเอกสารที่ชัดแจ้ง
มีกรณีคนอื่นอีกนะไม่ใช่ของโดนยึด แต่ของมาถึงแล้วหาย มันไม่น่าหายจากต่างประเทศ ที่เขาคุยๆ กัน คือ มันน่าจะหายจากศุลกากร อันนั้นเราก็ยังไม่เข้าใจ มันยังไม่เกิดกับเรา จนครั้งนี้มันมาเกิดกับเรา ก็เลยไม่เข้าใจว่า ทำไมเขาถึงเอาออกมาได้ มันต้องมีใบประมูลของไหม หรือต้องมีใบอะไรไหม

เราได้รับผลกระทบมาก เงิน 2 แสน ที่เราจะต้องมาชดใช้ มันไม่ใช่เงินน้อยๆ เราไม่ได้ขายของได้กำไรเยอะขนาดนั้น มันทำให้เครียดมาก ได้รับแรงกดดันทุกอย่าง ทั้งจากลูกค้า ลูกค้าไม่เข้าใจ คิดว่าเราจะโกงไหม

ส่วนกรมศุลกากรอยากให้โปร่งใสกว่านี้ สมมติถ้าจะเอาของออกมาขาย คุณควรมีหลักฐานว่าทำไมถึงเอาออกมาได้ มันเป็นกรณียังไง ในเมื่อเราไปติดต่อแล้วคุณบอกว่าไม่ใช่เจ้าของไม่ได้ ต้องรอการประมูล แต่ทำไมพี่คนที่เอามาขายถึงเอาออกมาได้

เราไม่มีหลักฐานว่าของอันนั้นเป็นของเรา แต่คุณพี่เขามีหลักฐานไหมคะว่าของที่เขาเอาออกมาขาย เป็นของพี่เขา เขาไปพรีออเดอร์ที่ไหนมา เขาสั่งซื้อมาจากที่ไหน เราไม่รู้ว่าเขาทำอย่างนั้นจริงๆ ไหม แต่เขาไม่มีความโปร่งใส มันก็สามารถคิดได้ว่าเขาทำจริงๆ”


ภาษีสองมาตรฐาน ทำแม่ค้าพาซวย

ประเด็นเรื่องดรามาภาษีพัสดุที่โดนขูดรีด ซึ่งกรมศุลกากรก็ได้แจงดรามาที่มีว่า เป็นไปตามหลักสากล จำเป็นต้องคิดภาษี แม้ไม่ใช่กรณีของการส่งพัสดุเพื่อธุรกิจ จะเป็นของขวัญ หรือของใช้ส่วนตัว อะไรก็แล้วแต่ พยายามทำให้ถูกต้องตามหลักสากล

แต่ก็มีคนไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ หลายคนมองว่า หากเป็นหลักสากลจริงๆ จะไม่มีการตั้งมูลค่าของที่จะคิดภาษีต่ำๆ ผ่านไปเป็นสิบปีไม่มีการอัปเดตเช่นนี้ และหลายคนยังมองอีกว่า หลักสากลไม่ให้เจ้าหน้าที่นำสินค้าค้าออกไปขายได้

สำหรับตามกฎหมาย เก็บเงินภาษีของกรมศุลกากร สินค้าที่นำเข้าจะมีอยู่ 3 ประเภท คือ 1. ต่ำกว่า 1,500 บาท ไม่เสียภาษี 2.  เกินกว่า 1,500-40,000 บาท เสียภาษี/vat ตามประเภทสินค้า 3. สินค้าต้องกำกัด ราคาเกิน 40,000 บาท พวกยา พืชภัณฑ์ที่ต้องแสดงใบนำเข้าต่างๆ อีกอย่างหนึ่งคือสินค้าต้องห้าม พวกวัตถุลามก ผิดกฎหมาย ศุลกากรยึดได้ทันที


แม่ค้ารายเดิม เธอก็มองว่า การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการพิจารณาแต่ละเคส ไม่ใช่หลักสากล และพ่อค้าแม่ค้าแต่ละคนยินดีจ่ายค่าภาษี เพราะทุกคนรู้ว่าการนำเข้าสินค้าต้องจ่ายอยู่แล้ว แต่ต้องมีความสมเหตุสมผล ไม่ใช่ว่าต้องมาคอยลุ้นว่าแต่ละครั้งจะโดนยึดของ

“ส่งของสองลัง ของลักษณะเดียวกัน น้ำหนักเดียวกัน เบอร์ลังขนาดเดียวกัน แต่โดนภาษีไม่เท่ากัน เราก็เลยไม่รู้ว่าเกณฑ์การตัดสินการจ่ายภาษีของศุลกากรเขาคือยังไง เราไม่เข้าใจดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ไม่เห็นเหมือนกัน

ต่างประเทศไม่มีแบบนี้เลย ที่ว่าส่งแล้วของชิ้นเล็กชิ้นน้อยก็เรียกเก็บหมด เพราะว่าต่างประเทศเขาก็พรีออเดอร์ของติ่งเกาหลีกลับเหมือนกัน แต่เขาก็ไม่โดนขนาดนี้ค่ะ เราก็เลยมองว่าเขาทำไม่ถูกต้องหรือเปล่า เรื่องโดนยึดได้ยินมาตลอดในทวิตเตอร์ อยู่ในวงการเกาหลี พรีของเกาหลีก็เจอมาตลอด ต้องคอยลุ้นตลอด ลุ้นทุกครั้ง เราอยากรู้แบบชัวร์ๆ

พูดถึงพวกเราที่เป็นคนพรีของจากต่างประเทศ ยินดีจ่ายภาษีค่ะ ขอแค่ให้มันถูกต้องก็พอ ขอให้มันสมเหตุสมผล แม่ค้าทุกคนรู้อยู่แล้วนำของเข้าต้องเสียภาษี

บางคนเขาซื้ออย่างสองอย่าง อันนั้นคือเขาซื้อไปใช้จริง ก็ไม่ควรโดนค่ะ แต่บางคนเขาซื้อเป็นร้อย อันนี้เรารู้แล้วว่าเขาเอามาขาย โอเคคุณคิดภาษี แต่ขอสมเหตุสมผลได้ไหม ใช้คำดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เราไม่เข้าใจคำว่าดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ แต่ละคน แต่ละรอบมันไม่เหมือนกัน ทั้งที่เป็นของอันเดียวกัน

กลายเป็นว่า เราต้องมาเสี่ยงดวงเอา แล้วถ้าสมมติเขาประเมินภาษีที่สูงเกินไป โอเคเราส่งเรื่องร้องเรียนได้ แต่มันนานกว่าจะทำเรื่องตรงนี้ได้ แล้วก็กว่าจะมาตีภาษีใหม่ ลูกค้าเราก็รอไม่ได้”


นอกจากนี้ แม่ค้าผู้นำเข้าสินค้ายังสะท้อนอีกว่า แม้สินค้าจะเป็นเหมือนกันทุกอย่าง แม้กระทั่งกล่องจัดส่ง ยังจ่ายภาษีในราคาไม่เท่ากัน

“ไม่อยากให้เรื่องนี้เงียบเลย ขนาดตัวศุลกากรเอง เขายังพูดเลยว่า เดี๋ยวก็มีปัญหากับติ่งเกาหลี เดี๋ยวก็โดนเขาด่าในทวิตเตอร์อีก เขาก็เลยคิดว่าเราหลบเลี่ยงภาษี กลายเป็นพวกเราไปเลือกที่จะส่งชิปปิ้ง เลือกที่จะส่งบริษัทเอกชนที่เคลียร์ภาษีให้ ก็เพราะศุลกากรเป็นอย่างนี้ ถ้าเลี่ยงได้ เราก็อยากจะเลี่ยง ส่งอะไรที่มันชัวร์ๆ

ถ้าเราส่งกับชิปปิ้ง ก็รู้ราคาชัวร์ๆ แต่ถ้าเราส่งกับทางรัฐ กับกรมศุลกากรเราต้องไปเสี่ยงภาษีกับกรมศุลกากร ซึ่งเราไม่รู้ว่ามันจะเท่าไหร่ มันอาจจะแพงโดดเกินไป ถ้ามันอยู่ในเกณฑ์ที่เราคิดไว้ มันก็ไม่เป็นไร มันกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่เราควบคุมไม่ได้ตรงนั้น คนเขาก็เลยเลี่ยงไปส่งทางอื่นกัน

เราไม่รู้ว่าดุลพินิจของเจ้าหน้าที่เขาคือยังไง ก็อย่างที่บอกเวลาเราพรีออเดอร์ของ มันก็มีคนอื่นพรีด้วย โอเคของเหมือนกัน ส่งลังเดียวกัน ลังเบอร์ 4 เหมือนกัน ไปถึงไทยเหมือนกัน แต่คนละคนพิจารณา คนนี้โดนในราคาโอเค แต่คนนี้โดนในราคาที่สูงไปเลย เราก็เลยไม่รู้ว่าดุลพินิจของเจ้าหน้าที่เขาคืออะไร”

ขณะที่หลังเกิดหลายเคสที่มีปัญหา ทั้งของบางส่วนสูญหายไป หรือโดนประเมินภาษีสูงเกินมูลค่าของสินค้า กรมศุลกากรก็ชี้แจงว่า เรื่องที่เจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรฉกฉวยสิ่งของจากกล่องพัสดุ ไม่เป็นความจริง เนื่องจากในกระบวนการเปิดตรวจพัสดุจากต่างประเทศ มีเพียงร้อยละ 1 ของจำนวนพัสดุทั้งหมด และหากจำเป็นต้องเปิดกล่อง จะมีเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ร่วมเป็นพยาน และบริเวณเปิดกล่องพัสดุ ยังติดตั้งกล้องวงจรปิดทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้

ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่ประเมินราคาสูงขึ้น เนื่องจากผู้นำเข้าบางส่วน มีเจตนาสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง และกรณีที่มีภาระค่าใช้จ่ายจากบริษัทผู้ให้บริการขนส่งสินค้าต่างประเทศ ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายจากกรมศุลกากรแต่อย่างใด



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **







กำลังโหลดความคิดเห็น