xs
xsm
sm
md
lg

“พิมรี่พาย” ใช้ไม่ถึง 2 แสน รัฐใช้เกือบ 2 ล้าน!! “บ่อบาดาล” สะท้อนช่องโกงกิน!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พิมรี่พาย” ควักเงินส่วนตัว 1.9 แสน เจาะน้ำบาดาลช่วยชาวบ้านหนีภัยแล้ง ฟากโซเชียลฯหยิบงบประมาณรัฐบาลเทียบ ขุด 1,100 บ่อ เป็นเงิน 1,300 ล้าน ตกบ่อละล้านกว่าบาท ทวงถาม ต่างกันเพราะอะไร?!

งบขุดน้ำบาดาล พิมรี่พายแสนเก้า รัฐบาลล้านกว่า?

ชื่อของ “พิมรี่พาย” แม่ค้าออนไลน์บุญ ได้กลายเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงบนโลกโซเชียลฯอีกครั้ง หลังจากที่เธอเผยแพร่คลิปวิดีโอในชื่อ “ดินแห้งแค่ไหน น้ำใจไม่เคยแห้ง” ลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านทางภาคอีสานที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง ด้วยการ “เจาะบ่อน้ำบาดาล” สำหรับอุปโภค-บริโภค ในงบ 190,000 บาท!!

คลิปดังกล่าวเผยให้เห็นภาพความแห้งแล้งในหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางภาคอีสาน ที่ใน 1 ปีก็แล้งไปแล้ว 6-8 เดือน สร้างความเดือดร้อนให้ทั้งคนและสัตว์ โดยแม่ค้าออนไลน์ผู้นี้ได้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรในหมู่บ้านเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหา จนตกผลึกมาเป็นการขุดเจาะน้ำบาดาล และแหล่งการเรียนรู้ในชุมชน โดยมีหน่วยงานราชการเข้ามาต่อยอดร่วมกัน



สำหรับงบประมาณในการขุดเจาะน้ำบาดาล พิมรี่พายได้ควักเงินส่วนตัวราว 190,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์อีกด้วย โดยวินาทีที่ขุดพบตาน้ำ ทั้งเธอและชาวบ้านต่างกระโดดกอดกันและหลั่งน้ำตาด้วยความดีใจ ทางด้านผู้ที่ได้รับชมคลิปวิดีโอนี้ ต่างพากันชื่นชมถึงการให้ที่ไม่มีที่สิ้นสุดของหญิงสาวผู้นี้ เพราะครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ตกทุกข์ได้ยากในรูปแบบต่างๆ

ขณะเดียวกัน ก็มีชาวเน็ตตั้งคำถามถึงเรื่องของบประมาณในการดำเนินการจุดเจาะน้ำบาดาล ถึงงบที่ต่างกันลิบลับ ซึ่งของพิมรี่พายที่อยู่ในหลักแสนต้นๆ

ก่อนหน้านี้ ช่วงต้นปี 63 รัฐบาลได้เปิดเผยงบประมาณที่ในการขุดบ่อบาดาล 1,100 บ่อ เป็นจำนวนเงิน 1,300 ล้าน เฉลี่ยแล้วตกบ่อละ 1.18 ล้าน ภายใต้งบประมาณแก้ภัยแล้ง 3,079 ล้านบาท ครอบคลุมกว่า 2,041 โครงการ หากเทียบราคาในการขุดเจาะบ่อบาดาลของพิมรี่พายและรัฐบาล ก็มีจำนวนต่างกันเกือบ 10 เท่า!



ประเด็นนี้ สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เคยอธิบายไว้ว่า ราคาบ่อละล้านกว่าบาท ถือว่าไม่แพงเกินไป เพราะเจาะลึกกว่า 100 เมตร อีกทั้งยังมีโครงสร้างและระบบสูบน้ำด้วย

โดยแบ่งเป็นค่าสำรวจพื้นที่และความเหมาะสม ค่าสำรวจธรณีฟิสิกส์ขุดเจาะบ่อบาดาล งานเจาะและพัฒนาบ่อบาดาล งานหยั่งธรณีฟิสิกส์ในหลุมเจาะ งานสูบทดลองปริมาณน้ำบาดาล งานติดตั้งแผ่นป้ายหน้าบ่อ งานก่อสร้างระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และงานอำนวยการบริหารโครงการ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีมข่าว MGR live ได้ขอข้อมูลจาก “ช่างขวัญ-สุรทิน ชัยชมพู” นายกสมาคมน้ำบาดาลไทย และเป็นหนึ่งในฮีโรของภารกิจช่วย 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง โดยเขาให้ข้อมูลว่า ค่าใช้จ่ายในการเจาะของแต่ละบ่อนั้นไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับขนาดและความยากง่ายของพื้นที่



[ สุรทิน ชัยชมพู นายกสมาคมน้ำบาดาลไทย ]
“สำหรับของผม มันอยู่ที่ความลึกด้วย สมมติบ่อไม่เกิน 100 เมตร ราคาก็จะอยู่ประมาณ 150,000 รวมทั้งปั๊ม ค่าใช้จ่ายของเอกชน ทำธุรกิจต้องมีต้นทุน มีกำไร แต่อันนี้เป็นทุนล้วนๆ อยู่ที่ประมาณแสนกว่า ถ้าราคาเต็มมัน 300,000 กว่า บางพื้นที่ก็ 70,000-80,000 บาท อยู่ที่ความลึก แล้วแต่ความยากง่าย”

ส่วนข้อมูลจาก เว็บไซต์กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยถึงราคาเบื้องต้นในการเจาะบ่อบาดาล (อัปเดตวันที่ 9 กันยายน 2563) ประมาณราคาค่าเจาะบ่อน้ำบาดาลเอกชน (บ่อขนาด 4 นิ้ว) ดังนี้

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีราคาตั้งแต่ 8,000-40,000 บาท
- ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ มีราคาตั้งแต่ 40,000-120,000 บาท

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ ความลึกและความยากง่าย ในการหาแหล่งน้ำบาดาล การตกลงกันของผู้รับจ้างกับผู้ว่าจ้างเรื่องค่าใช้จ่าย เช่น ค่าท่อกรุ-ท่อกรอง ค่าน้ำมันที่ใช้ในการเจาะ เป็นต้น

ขุดงบรัฐ ซ้ำรอยโซลาร์เซลล์แม่เกิบ!

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่การทำหน้าที่จิตอาสาของพิมรี่พาย ถูกยกขึ้นมาเปรียบเทียบกับการทำงานของภาครัฐ เพราะก่อนหน้านี้ ช่วงต้นปี 64 ก็เคยเกิดกรณีที่เน็ตไอดอลชื่อดัง ซื้อโทรทัศน์ พร้อมติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า แก่หมู่บ้านแม่เกิบ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โดยใช้เงินส่วนตัวถึง 550,000 บาท จนสร้างความสว่างไสวไปทั่วทั้งหุบเขา

เหตุการณ์ในครั้งนั้นนำมาซึ่งเสียงชื่นชมเธอจำนวนมาก และมาพร้อมกับแรงกระเพื่อมกระทบไปถึงหลายภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ เพราะในเวลาต่อมาโลกออนไลน์มีการหยิบยกเอกสารข้อมูลการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ใน 5 พื้นที่ของ ต.อมก๋อย ในงบประมาณกว่า 45 ล้าน ขนาดกำลังติดตั้งไม่น้อยกว่า 210 กิโลวัตต์ พร้อมระบบกักเก็บพลังงาน เมื่อปี 62 แต่ไม่มีบ้านแม่เกิบรวมอยู่ด้วย



ในเวลาต่อมา พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้ออกมาชี้แจงถึงสิ่งที่สังคมตั้งข้อสงสัย ว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารฉบับจริง และเป็นเอกสารที่ใช้ในการเผยแพร่ราคากลางของโครงการ และผ่านการรับรองราคา จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเป็นที่เรียบร้อย

เรื่องราวนี้ไม่เพียงแค่ชาวเน็ตที่ตั้งข้อสังเกต ทางด้านของ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่มีความแคลงใจเช่นกัน เขาได้เดินทางไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อร้องเรียนให้มีการตรวจสอบ ไต่สวนและวินิจฉัยว่าโครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ของ กอ.รมน.ทั้ง 5 พื้นที่ มีความคุ้มค่า มีประสิทธิภาพตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่



สุดท้ายนี้ นายกสมาคมน้ำบาดาลไทย ได้เสริมถึงการช่วยเหลือสังคม ว่า ทางสมาคมมีเครือข่ายจิตอาสาทั่วประเทศ ที่พร้อมเดินทางไปขุดเจาะน้ำบาดาลในพื้นที่เดือดร้อน และกล่าวถึงกรณีของ พิมรี่พาย ที่ช่วยเหลือชาวบ้านมาแล้วหลายต่อหลายกรณี ว่าเป็นคนที่สุดยอด

“อาชีพช่างเจาะไม่ได้หากินอย่างเดียว เราเป็นประชาชนคนไทย ผมอยากให้สังคมถ้อยทีถ้อยอาศัย อยู่ร่วมกันด้วยเหตุผล การบริจาคหรือการให้เป็นสิ่งที่ดีมากสำหรับผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามที่เรามี เราให้ในส่วนที่เรามี มันสบายใจ ไม่ใช่คิดเป็นเงินทุกอย่าง ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมด้านจิตอาสา

กรณีของคุณพิมรี่พาย เขาก็มีใจให้กับประชาชน ชาวบ้านไม่มีน้ำใช้เดือดร้อนนะ เขาสุดยอดครับ น้อยคน สมัยนี้สังคมกว่าจะหยิบเงินให้กันแต่ละบาทยังไม่กล้า แต่สำหรับคุณพิมรี่พาย เงินไม่ใช่น้อยๆ ก็ถือว่ามีใจให้ในการช่วยเหลือประชาชน ช่วยเหลือสังคมในด้านที่ขาดแคลน ดีกว่าบางคนมีแต่ไม่ทำ”

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **






กำลังโหลดความคิดเห็น