xs
xsm
sm
md
lg

อันตราย!! สกปรกกว่าที่คิด เจลแอลกอฮอล์ตามห้างฯ ไร้ประสิทธิภาพ-เสี่ยงโควิด-19!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจาะลึกความปลอดภัย “เจล-สเปรย์แอลกอฮอล์” ล้างมือตามที่สาธารณะ “ไร้ประโยชน์-แหล่งสะสมของเชื้อโรค” ผู้เชี่ยวชาญชี้ล้างน้ำเปล่าสะอาดกว่า แนะเปลี่ยนเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ ไม่เช่นนั้นจากหวังดีอาจเป็นภัยไม่รู้ตัว




ตากแดดนาน เสื่อมคุณภาพ


“เรียกได้ว่าไร้ประโยชน์ เหมือนทำขอไปที คือ ไม่ทำยังดูปลอดภัยและสะอาดกว่า เพราะว่าอย่างที่ทดลองไป คือ ตัวสารเหนียวๆ หรือกลีเซอรีน มันเหนียวเหนอะหนะ แล้วมันยิ่งทำให้เชื้อติดได้ดีขึ้นด้วย”


“ดร.ทนพ.นราวุฒิ สุวรรณัง” นักวิชาการอิสระ เปิดใจกับ ทีมข่าว MGR Live หลังโพสต์ข้อความผ่านทาง เฟซบุ๊ก “Naravut Suvannang” เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ล้างมือสาธารณะ พร้อมตั้งข้อสงสัยว่าจะสามารถเชื่อถือเรื่องความสะอาดปลอดภัยได้ขนาดไหน ด้วยการโพสต์ภาพเปรียบเทียบผลการทดสอบในระดับต่างๆ

“คืออยากตั้งคำถามว่า ที่กดแอลกอฮอล์สาธารณะนี่มันน่าเชื่อถือขนาดไหนกันนะ ภาพนี้คงตอบได้ -W คือ มือเปล่า ก่อนล้าง +W คือ ล้างมือด้วยน้ำเปล่า 30 วิ แบบถูกต้อง -ROH คือ มือเปล่าก่อนล้าง

+ROH คือ กดแอลกอฮอล์เจลใต้ตึก แล้วถูเหมือนล้างมือ 30 วิเท่ากันให้ภาพบอกละกัน ว่าอะไรทำความสะอาดมือได้ดีกว่ากัน ปล. เป็นไปได้ว่า พวกเจลแอลกอฮอล์ที่ตั้งไว้ตามตึกโดนแดดโดนความร้อน มันจะทำให้ แอลกอฮอล์ระเหยและเสื่อมประสิทธิภาพไปหมดแล้ว”


โดยเป็นการตรวจสอบปริมาณเชื้อโรคจากมือ และหลังล้างมือด้วยวิธีล้างมือด้วยน้ำเปล่าตามปกติ เปรียบเทียบกับการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ที่ตั้งอยู่ตามสาธารณะ ที่สุ่มจากจากสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งจากผลการตรวจเปรียบเทียบพบว่า มือที่ล้างมือด้วยน้ำเปล่าพบเชื้อโรคน้อยที่สุด ในขณะที่มือที่ล้างด้วยเจลแอลกอฮอล์ตามสาธารณะพบเชื้อโรคมากกว่ามือก่อนล้างด้วยน้ำเปล่าด้วยซ้ำ

แน่นอนว่า สังคมต่างให้ความสนใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเรื่องประสิทธิภาพเจลแอลกอฮอล์ที่ตั้งไว้ตามที่สาธารณะจะเป็นอันตรายหรือไม่

“จากการทดลองที่ทำ มีแค่ 2 ตัวอย่าง คือ น้ำเปล่าที่ล้างมือถูกวิธี 30 วินาที กับใช้แอลกอฮอล์แบบสุ่มใต้ตึกที่ไหนก็ได้ ลองทดสอบดู ใช้เวลาเท่ากับล้างน้ำเปล่า 30 วินาทีเท่ากัน พบว่า ถ้าเกิดเราล้างมือด้วยน้ำสะอาดในปริมาณที่มากพอ และล้างอย่างถูกวิธี จะมีประสิทธิภาพค่อนข้างดี เรียกว่าจะยับยั้งล้างแบคทีเรียออกจากมือได้เกือบหมด จะสังเกตได้ว่ามีเหลือแค่นิดหน่อยเท่านั้นเอง

ส่วนเจลแอลกอฮอล์ที่กดอยู่ที่ตามใต้ตึก คาดว่ามันน่าจะหมดประสิทธิภาพของแอลกอฮอล์ไปแล้ว เพราะว่าอย่างที่ทราบกันว่า แอลกอฮอล์จะมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อได้ ต้องมีความเข้มข้นที่ประมาณ 70%

ผมไม่แน่ใจว่าใต้ตึกเขาเปลี่ยนทุกๆ กี่วัน หรือว่ามันใช้มานานรึยัง คือ ประสิทธิภาพคิดว่าแอลกอฮอล์น่าจะระเหยไปหมดแล้ว เหลือแต่พวกกลีเซอรีนเท่านั้นเอง อาจจะทำให้เป็นอาหารเชื้อด้วยซ้ำ มันทำให้เชื้อเจริญเติบโตได้ดีขึ้นครับ ภาพอย่างที่เห็นว่า เชื้อเจริญเติบโตเยอะกว่ามือเปล่าๆ อีก”


อย่างไรก็ดี ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 มักจะพบเห็นขวดเจลแอลกอฮอล์ตามที่สาธารณะให้ใช้เพื่อป้องกัน แต่หารู้ไม่ว่า การที่แอลกอฮอล์โดนความร้อนนั้นจะทำให้ระเหย และเสื่อมสภาพไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ อีกทั้งหัวกดเจลยังเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคอีกด้วย

“คือ จริงๆ ที่ทดสอบไม่ได้โดนแดด อยู่ใต้อาคารพื้นที่โล่งเฉยๆ แต่คิดว่ามันน่าจะระเหยเป็นปกติของมันอยู่แล้ว ต้องดูด้วยว่าขวดที่ใช้มันมีช่องเยอะ ที่แอลกอลฮอล์สามารถระเหยไปได้รึเปล่า และทิ้งไว้ในปริมาณนานเท่าไหร่

ผมแนะนำว่าน่าจะใช้ปริมาณน้อยๆ และเน้นเปลี่ยนบ่อยๆ ดีกว่า เพราะ การที่เราทิ้งไว้อย่างนั้น เราไม่รู้อุณหภูมิเท่าไหร่ มีใครใช้อะไรยังไงบ้าง คือ ประสิทธิภาพมันจะลดลงเรื่อยๆ ตามเวลาที่วางไว้อยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น เราใช้ขวดเล็กๆ แต่ว่าเราเน้นเปลี่ยนบ่อยๆ แทนน่าจะได้ประสิทธิภาพดีกว่านี้”

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงคุณสมบัติเหมาะสมของเจลแอลกอลฮอล์มนสถานที่สาธารณะ รวมทั้งการผสมอื่นในเจลที่ทำให้ดูเข้มข้น และติดทนมากยิ่งขึ้น อาจเป็นตัวเพาะเชื้อต่างๆ นั้น เขาชี้แจงว่า ส่วนประกอบของแอลกอฮอล์จะต้องมีสัดส่วน 70% เพราะถ้าใช้ต่ำกว่านั้นไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคได้

“ปกติถ้าเกิดบอกว่าเป็นเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ มันต้อง 70% มันไม่น่าจะมีต่ำกว่านี้ นอกจากว่าโดนหลอกมา

ตอนนี้แล้วแต่สูตร ผมไม่กล้าฟันธงว่าแต่ละสูตรใครใส่อะไรไปบ้าง แต่ว่าถ้าเกิดผสมให้ถูกวิธี รวมสารความเหนียว หรือสารอะไรก็ตาม แอลกอฮอล์ต้องเข้มข้นที่ 70% ถึงจะยับยั้งฆ่าเชื้อได้ครับ

และต้องดูว่าวิธีการผลิตเจลที่ทำมาได้มาตรฐานหรือเปล่า แล้วตัวแอลกอฮอล์ที่เหลือหลังจากที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้วมันยังอยู่ที่ 70% จริงหรือเปล่า อันนี้ต้องดูด้วย”




เทียบชัดๆ “กดเจลแอลกอฮอล์ตามตึก” อันตราย!!


คงปฏิเสธไม่ได้ในการแพร่ระบาดโควิด-19 ในขณะนี้ เจล และสเปรย์แอลกอฮอล์ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญอีกชิ้นที่ทุกคนต้องใช้ ดร.ทนพ.นราวุฒิ ย้ำชัด จะต้องแน่ใจว่า เจลแอลกอฮอล์ที่เราใช้ตามที่สาธารณะอยู่มีปริมาณแอลกอฮอล์ที่เหมาะสม

และต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่โดนแสงแดดหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนจนเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานได้ และอาจเป็นภัยไม่รู้ตัว

“ใช่ (ไม่ล้างด้วยเจลแอลกอฮอล์) ถ้าเกิดเทียบแค่แอลกอฮอล์ใต้ตึกประสิทธิภาพที่ทิ้งไว้หลายๆ วัน แต่ทางที่ดี คือ แนะนำว่าพกแอลกอฮอล์ส่วนตัวดีกว่า และอย่าเก็บในที่ร้อนจนเกินไป

พยายามที่เปลี่ยนบ่อยๆ พกทีละน้อยๆ แต่ว่าเปลี่ยนบ่อยๆ และถ้าเกิดว่าไม่สะดวกพกจริงๆ ก็ล้างมือให้ถูกวิธี ล้างด้วยน้ำสบู่ประมาณ 30 วินาที ก็สามารถที่จะล้างเชื้อออกจากมือได้หมดเหมือนกันครับ

สมมติผมทำแล็บ เขาก็ให้ล้างมือนะครับ แต่ว่าก็ล้างด้วยสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส สบู่เดทตอลอย่างนี้ก็ได้ครับ ในส่วนตัวผมล้างสบู่น่าจะดีที่สุด”


อย่างไรก็ตาม นักวิชาการรายเดิมเตือนหากหลีกเลี่ยงการสัมผัสเจลแอลกอฮอล์ที่ตึกสาธารณะต่างๆ ไม่ได้ ผู้ใช้ควรพกเจลแอลกอฮอล์ของตัวเอง แนะที่สาธารณะควรมีการเปลี่ยนเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการกดใช้

“ในส่วนตัวผมคิดว่า เปลี่ยนบ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้ครับ หรืออย่างน้อยๆ คือ วันละครั้ง หรือว่าวันละ 2 ครั้ง คือ เช้าครั้ง เย็นครั้ง น่าจะดีกว่าที่ทิ้งไว้ โดยที่ไม่รู้ว่าเปลี่ยนมานานแค่ไหนแล้ว ทางที่ดีน่าจะเขียนเวลาไว้ด้วย ว่าอันนี้เปลี่ยนมาเมื่อเวลาเท่าไหร่ น่าจะให้คนมั่นใจมากขึ้นเวลากดใช้ครับ

ผมแนะนำว่า ถ้าเกิดเป็นแอลกอลฮอล์ที่ตั้งอยู่ตามสาธารณะ มันจะมีหลายแบบ ทั้งให้เรากดเอง เอาเท้ากด หรือบางทีมียามกดให้ ถ้าดีที่สุดเลยควรจะไม่ใช้มือไปกดเอง

หากเป็นอัตโนมัติหรือใส่มือแล้วมันหยดเอง หรือว่าใช้เท้ากด จะได้ประสิทธิภาพที่ดีกว่า เพราะ 1.เวลาคนไปกด มือเขาก็ต้องแตะที่ตัวกด มันอาจจะสัมผัสติดเชื้อตรงนั้นได้

2.พยายามเปลี่ยนให้บ่อยที่สุดเท่าที่สามารถเปลี่ยนได้ เพื่อที่จะรักษาผลของแอลกอฮอล์ให้อยู่ที่ 70% ในระดับที่สามารถฆ่าเชื้อได้”




ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **







กำลังโหลดความคิดเห็น