ไม่รวยเงินแต่รวยน้ำใจ…เปิดใจ “นักปั่นสะพานบุญ” ปั่นจักรยานคู่ใจตระเวนช่วยเหลือเด็กยากจน เด็กกำพร้า ผู้พิการ ผู้ยากไร้ รวมถึงโรงเรียนขาดแคลน อีกทั้งยังได้กัลยาณมิตรบนโลกออนไลน์ ช่วยสมทบทุนในทุกการทำความดี ยึดคติ “ถ้าในส่วนไหนที่เราให้ได้ เราให้”
ปั่นสองล้อ ต่อชีวิตคนยากไร้
ภาพของหญิงคนหนึ่งที่กำลังปั่นจักรยานพร้อมกับบรรทุกข้าวสารอาหารแห้งจนเต็มคัน เพื่อนำไปส่งมอบแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เป็นภาพที่เห็นได้อย่างชินตาของชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา
เรากำลังเอ่ยถึง “ยะห์ - เมตตา มะตัน” จิตอาสาหญิงวัย 53 ปี ผู้ใช้จักรยานนำสิ่งของไปช่วยเหลือเด็กยากจน เด็กกำพร้า ผู้พิการ ผู้ยากไร้ รวมถึงโรงเรียนที่ขาดแคลนในจังหวัดที่ตนเองอาศัยอยู่ เธอเริ่มทำงานจิตอาสาตั้งแต่อายุ 20 ปี
เธอเปิดเผยกับผู้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่ใช้จักรยาน ว่า นอกจากจะเป็นการออกกำลังกายไปในตัวแล้ว ยังประหยัด เพราะไม่ต้องเติมน้ำมันอีกด้วย
“ถ้าพี่ขับมอเตอร์ไซค์ก็ต้องมีค่าน้ำมัน ค่าสึกหรอ มันก็อันตราย ถ้าพี่ขับรถยนต์ มันก็ไม่คุ้ม เราปั่นจักรยานมันได้สุขภาพ ประหยัดด้วย ด้วยร่างกายพี่แข็งแรง ถ้าวันไหนที่ต้องปั่นจักรยาน พี่ต้องนอนเยอะๆ ไม่งั้นมันไม่ไหว มันน็อก
เวลาที่เราไป เราไม่ได้ไปแค่บ้านเดียว สเต็ปเราคือ 5 บ้าน หรือ 10 บ้าน เราต้องไปเรื่อยๆ ให้ครบวัน ปกติพี่ปั่นตั้งแต่เช้า ปั่นออกจากบ้านไปเรื่อย กลับถึงบ้านก็เย็น เพราะพี่แวะหลายที่”
ยะห์มักจะช่วยเหลือคนที่ลำบาก แต่ไม่งอมืองอเท้ารอความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว เมื่อเจอคนสู้ชีวิต เธอจึงช่วยเหลือและสนับสนุนอาชีพอยู่เสมอ อย่างในกรณีของครอบครัวหนึ่งที่มีสมาชิกในบ้านเป็นผู้พิการด้านการมองเห็น ที่เธอปั่นจักรยานมาเยี่ยมเยียนในวันนี้
“ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ครั้งแรกมาช่วยเหลือเบื้องต้น หลังจากนั้น ก็ไปโพสต์ลงเฟซบุ๊กว่าใครจะช่วยครอบครัวนี้บ้าง ก็มีเพื่อนในเฟซบุ๊กโอนมาให้ ตอนนั้นยอดเงินที่ให้กำลังใจกันน่าจะ 7,000 กว่า แล้วพี่ก็เติมเข้าไปให้ได้ 8,000 บาท
เราไม่เรียกว่าช่วยเหลือ แต่เราเรียกให้กำลังใจกัน คิดว่าคนตาบอด จริงๆ น่าจะทำอะไรไม่ได้มาก แต่เขาเป็นคนตาบอดที่น่าจะเป็นตัวอย่างให้คนตาดี เขานั่งซักผ้าเอง เขาปลูกต้นไม้ เขาทำนา สื่อให้เห็นว่าเขาสู้ชีวิต”
นอกจากนี้ ยังมีเด็กกำพร้าหลายคนที่อยู่ในการอุปการะของจิตอาสาผู้นี้ ได้รับการอบรมบ่มเพาะให้มีหัวใจแห่งการให้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“พี่เลี้ยงเขาเหมือนลูก คอยตาม คอยถาม รองเท้ามีมั้ย เสื้อมีมั้ย อย่างน้อยเด็กกำพร้าก็ได้เรียน เวลาที่เขาลำบาก เขารู้ว่าจะต้องหันหาใคร พี่พยายามดึงเขาไปอยู่ในการเป็นจิตอาสา อย่างเวลาเราจัดกิจกรรมทาสีบ้าน เขาก็มาช่วยกันทาสีบ้าน มาช่วยเก็บขยะ ถึงพี่ไม่ใช่พ่อแม่เขา แต่ก็ช่วยดูอนาคตให้เขาด้วย”
ความลำบากสอนให้เป็นผู้ให้
สำหรับชีวิตส่วนตัว เธอเป็นคนที่สู้ชีวิตมาตั้งแต่เด็ก เมื่อมีครอบครัว สามีก็ไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติด เธอจึงตัดสินใจแยกทาง และต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้เป็นเสาหลักของครอบครัว ทำงานทุกอย่างเพื่อเลี้ยงดูส่งเสียลูกๆ ซึ่งสิ่งที่หล่อหลอมให้ยะห์ มีหัวใจที่เข้มแข็งอย่างทุกวันนี้ นั่นมาจากเลือดนักสู้ของผู้เป็นแม่ของตนเอง ที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเช่นกัน
“พ่อแม่เป็นคนฉะเชิงเทรา แม่ขายของ ทำหินขัด ขายโรตี แม่ทำทุกอย่างเลย เช้ามาพี่จะต้องช่วยแม่จัดหาบ ตอนนั้นพี่อยู่ ม.1 แม่ก็จะเอาไปขาย พี่ก็ไปโรงเรียน ไปทำความสะอาดห้องพยาบาล ได้เดือนละ 150 บาท ตอนกลางวันพี่ก็ไปเก็บจานในโรงอาหาร ก็ได้กินข้าวฟรี ตอนเย็นพี่จะอยู่ชมรมกีฬา แต่งเพลงเชียร์ พี่ก็ได้ตังค์ อยู่บ้านพี่ก็ช่วยแม่รับจ้างซักรีด เพื่อที่เราจะได้มีเงินใช้
แฟนคนแรกหลังแยกกับเขามา เราก็ทำขนมขาย เป็นแม่บ้าน เป็นพนักงานขาย เป็นลูกจ้างร้านซักรีด เราทำทุกวิถีทางที่จะให้เรามีเงินเลี้ยงลูก กินไก่ไม้ละ 5 บาท ข้าวเหนียวห่อละ 5 บาท พี่กิน 2 มื้อ กินยังไงให้เราแค่รู้สึกอิ่ม กินยังไงให้เงินเหลือ”
หลังล้มเหลวจากชีวิตคู่ครั้งแรก ยะห์ก็มาพบรักอีกครั้งกับสามีผู้เป็นช่างศิลป์ รับทำป้าย เธอและสามีคนนี้ต่างเป็นคนใจบุญ จึงมักชวนกันไปทำบุญตามสถานสงเคราะห์เสมอ แต่เป็นเรื่องเศร้าที่สามีมาด่วนจากไปเสียก่อน
ภายหลังสูญเสียสามี ประกอบกับลูกๆ ที่พึ่งพาได้เพราะส่วนใหญ่มีครอบครัวแล้ว และยังส่งเงินให้เธอใช้ทุกเดือน เหลือเพียงลูกสาวคนเล็กที่ยังเรียนอยู่ ยะห์จึงเริ่มทำงานจิตอาสาอย่างเต็มตัว
ทางด้านของ อณุรักษ์ โซ๊ะเฮง รองผู้อำนวยการโรงเรียนอิสลามวิทยาบึงน้ำรักษ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ยะห์ให้ความช่วยเหลือ และเป็นโรงเรียนที่ลูกสาวคนเล็กของเธอกำลังศึกษาอยู่ รอง ผอ.ได้เล่าถึงการการทำงานของจิตอาสาผู้นี้ ว่า ยะห์ และเพื่อนๆ มีส่วนสำคัญในการพัฒนาโรงเรียนอย่างมาก
“มีโอกาสได้มาเจอกับพี่ยะห์ ก็คือ ในช่วงนั้นประสานกันในเรื่องเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียน แล้วท่านอยู่ในเครือข่าย ที่ปรึกษาผู้ปกครองนักเรียนของโรงเรียนแห่งนี้ แล้วที่สำคัญลูกสาวของพี่ยะห์ก็มาเรียนที่นี่
วันแรกที่เจอกัน พี่ยะห์แกก็บอกว่า ต้องมีอะไรสักอย่างที่สามารถทำให้แก่โรงเรียนได้ ด้วยคอนเนกชันของพี่ยะห์เอง เขามีเพื่อนที่มีกำลัง มีความสามารถ เขาก็จะดึงมาช่วยโรงเรียน
รวมทั้งหาทุนในการก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ ในส่วนของพี่ยะห์ไม่ต่ำกว่าล้านบาท ที่เขามาช่วยในการก่อสร้างอาคารด้านนอก ยังมีในส่วนของช่วยเหลือนักเรียนที่ยากจนในแถบ กทม. ชลบุรี เด็กที่ไม่มีค่าใช้จ่ายประจำวัน ค่าหอพัก พี่ยะห์ก็จะเข้ามาช่วย”
นอกจากการนำสิ่งของและปัจจัยมาช่วยเหลือแล้ว จิตอาสานักปั่นยังปลูกฝังความเป็นผู้ให้ ให้แก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ ด้วยกิจกรรม “ทำดีคนละบาท” โดยการให้เด็กๆ ร่วมกันบริจาคเงินคนละ 1 บาท หรือมากว่านั้นตามแต่กำลังทรัพย์ โดยยะห์จะนำเงินเหล่านี้ และสมทบเงินของตนเองไปซื้อสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนต่อไป
สะพานบุญผ่านโลกออนไลน์
แม้สิ่งที่เธอทำอาจไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่ แต่ช่วยจุดประกายสังคมให้รู้จักแบ่งปัน ซึ่งผู้ที่มีส่วนสำคัญในงานจิตอาสาของยะห์ คือกัลยาณมิตรที่รู้จักผ่านโลกโซเชียล ที่พร้อมเป็นสะพานบุญและกำลังหลักในการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากในสังคมร่วมกับเธออีกด้วย เธอกล่าวว่า เป็นความโชคดีที่ได้รู้จักเพื่อนร่วมอุดมการณ์เหล่านี้
และแม้จิตอาสาสองล้อจะเป็นชาวมุสลิม แต่การช่วยเหลือของเธอไม่ได้จำเพาะว่าผู้เดือดร้อนต้องเป็นชาวมุสลิมเท่านั้น และไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา เพราะต่างจังหวัดใกล้ไกล เธอก็พร้อมช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ และเปิดให้เพื่อนในโลกออนไลน์ร่วมบุญได้ตามความศรัทธา
“ค่าใช้จ่ายทุกวันนี้มีสนับสนุนหลัก คือ คุณหมัด-เลิศนที ภู่มีสุข เพราะพี่น้องเขาช่วยหมด จนต้องตั้งเป็นกองทุนเขา ช่วยหมด หลักพัน หลักหมื่น หลักแสน ก็เลยเป็นที่มาของกองทุน “ผู้มีสุข” แล้วกองทุนนี้ช่วยงานได้เยอะมาก สมมติพี่ขึ้นดอย เขาก็ถามต้องการอะไรบ้าง ก็จะช่วยกัน พี่มีเพื่อนดีมาก แล้วทุกวันนี้เด็กที่พี่ดูแลก็ได้เงินกองทุนทุกเดือน
อย่างภาคใต้เขาบอกว่าจะปูกระเบื้องห้องเรียน พี่ก็บอกว่าคุณต้องทำมาเลยว่าห้องเรียนกว้างเท่าไหร่ ใช้วัสดุเท่าไหร่ มีลายเซ็นของ ผอ.มา แล้วพี่ก็จะโพสต์ว่าที่นี่จะทำปูกระเบื้องโรงเรียนนะ ใครจะช่วย โอนเข้าบัญชีเขาแล้วส่งสลิปให้พี่ เพราะพี่จะดูว่ายอดเงินได้เท่าไหร่ พี่จะโพสต์ ห้องที่ 1 ได้แล้วนะคะ ห้องที่ 2 ใครจะช่วย เราต้องทำให้มันชัดเจน
ล่าสุด คนทำกระถางจากยางรถยนต์ขาย เพราะเขาเป็นครอบครัวที่ยากไร้ เขาท้องแล้วก็ตกงานจากโควิด-19 เขาก็บอกว่า คุณยะห์มาช่วยหน่อยสิ เราก็เลยบอกว่าขอดูรายละเอียดก่อน พี่จะช่วยแต่ว่ายังไม่ช่วยเป็นเงินตอนนี้ พี่ไม่รู้ว่าคุณเป็นใครมาจากไหน บ้านอยู่ไหน ทำอะไร
พี่ก็เลยให้เขามาบ้าน ช่วยเบื้องต้นเป็นข้าวสาร ช่วยเสื้อผ้า พี่ก็เลยบอกว่า เอาอย่างนี้แล้วกัน เดี๋ยวฉันช่วยคุณโพสต์ขาย โพสต์ไม่ถึงชั่วโมงขายได้ 100 เส้น แล้วก็พาเขาวิ่งส่ง เขาขายได้เท่าไหร่ให้เขาหมดเลย”
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่เธอจัดให้เด็กที่อุปถัมภ์อยู่ คือ กิจกรรมเพนต์กระถางยาง ไม่เพียงเป็นการช่วยให้เด็กมีรายได้ แต่ยังช่วยอุดหนุนและสร้างงาน สร้างอาชีพให้ชาวบ้านที่ทำกระถางขายอีกด้วย และบางครั้งหากมีกิจกรรมนอกสถานที่ ยะห์จะถือโอกาสพาเด็กๆ เหล่านี้ไปด้วย เพื่อปลุกจิตสำนึกแห่งการแบ่งปัน
“น้องๆ พวกนี้จะเป็นน้องๆ ที่ช่วยเหลือเรื่องการศึกษา เรื่องค่าใช้จ่าย เป็นเด็กในกองทุนของพี่ ที่จริงพี่มีชมรมชื่อว่า Matta Sharing Club ส่วนกองทุนผู้มีสุข เขาช่วยเหลือเรื่องเงินทุน
ที่เราเห็นเป็นล้อยางจากครอบครัวที่ขาดแคลน กระถางเราซื้อมาเพื่อให้เขามีรายได้ แล้วพี่ก็จะเอามาให้เด็กๆ เพนต์ตามจินตนาการของเขา เราก็จะมีเงินให้เขา มีค่าแรงให้เขา ขายได้ไม่ได้ไม่เป็นไร อย่างน้อยจะได้มีรายได้”
แน่นอนว่า ทุกการทำงานย่อมมีอุปสรรค การเป็นจิตอาสาแบบยะห์ก็เช่นกัน แม้จะไม่เป็นอย่างที่คิดบ้าง แต่เธอไม่เสียกำลังใจ พร้อมยืนหยัดอยู่ตรงนี้เพื่อจุดประกายสังคมแห่งการให้ต่อไป
“ถ้าในส่วนไหนที่เราให้ได้ เราให้ การให้เป็นอะไรที่สุขใจ ถึงเราไม่ได้มีเงินเยอะแยะมากมาย เราช่วยเงินบาทนึง สิบบาท มีค่าทั้งหมด อยากให้คนเรารู้จักการให้ รู้จักแบ่งปันในสิ่งที่เรามี ถ้าเราไม่มีเงิน เราสามารถลงแรงได้ ถ้าเราไม่ลงแรง เราให้ความคิดเห็น เสนอแนะ แต่ต้องเป็นอะไรที่ทำได้ ไม่ใช่เราทำได้ แต่เขาทำไม่ได้ เราก็ต้องเป็นกำลังใจให้กัน
ก็อยากฝากว่า เวลาเราเห็นคนที่เขาลำบาก อย่าไปทับถมเขา ว่า ถ้าเป็นฉันจะไม่ใช่แบบนี้ เพราะเวลาจริงๆ เรากับเขาสถานการณ์ต่างกัน เพราะฉะนั้นอย่างแรกให้คิดบวกก่อน แล้วเราก็ค่อยมาดูกันว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ช่วยอะไรเขาได้บ้าง”
สัมภาษณ์ : รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง : MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **