เหมือนฟ้าผ่ากลางใจเด็ก 64!! ศธ.มีมติยืนยัน “ไม่เลื่อนสอบ TCAS” ส่งให้ #dek64กำลังถูกทิ้ง ระอุโซเชียล เหตุเพราะต้องสอบทุกอย่างให้เสร็จภายในเวลาเพียง 3 สัปดาห์ ด้านกูรูการศึกษาวอนเลื่อนสอบ เพื่ออนาคตเด็กกว่า 400,000 ชีวิต!!
20 วัน ตัดสินอนาคต “ไม่เลื่อนสอบ TCAS”
“เขาบอกว่าต้องปรับตัวเข้ากับความปกติใหม่ New Normal ต้องรับมือความไม่แน่นอน แต่กลายเป็นตอนนี้เขาผลักทุกอย่างมาที่เด็กกับผู้ปกครองเป็นคนรับมือ กลไกเชิงระบบเองไม่ยอมปรับตัวเองเลย คุณหารือกรอบเวลาก็จะทำตามกรอบเวลาของตัวเอง ซึ่งจริงๆ ผู้ใหญ่ฟังเสียงสะท้อนจากเด็กและผู้ปกครองน้อยไปและช้าไป”
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวกับทีมข่าว MGR Live ถึงประเด็นร้อนที่ระอุอยู่ในวงการการศึกษาไทย กับแถลงการณ์ที่ทำเอานักเรียนชั้น ม.6 ต้องกุมขมับ นั่นก็เพราะกระทรวงศึกษาธิการยืนยันว่าจะไม่มีการเลื่อนสอบ TCAS ซึ่งส่งผลให้ตารางการสอบของนักเรียนมากระจุกตัวอยู่รวมกันภายในเวลาเพียง 20 กว่าวัน!
[ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ]
ประเด็นร้อนแรงนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เพจเฟซบุ๊ก Mytcas.com ออกแถลงการณ์ เรื่องการสอบรายวิชาที่ใช้ในระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS64) ได้แก่ สอบความถนัดทั่วไป (GAT) สอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) สอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ (O-NET) และการสอบ 9 วิชาสามัญ
แถลงการณ์ดังกล่าวมีใจความว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) มีมติยืนยัน “ไม่เลื่อนสอบ TCAS”
โดยเหตุผลว่า เด็กทุกคนต้องมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ ม.4 หากมีการเลื่อนสอบ ก็อาจส่งผลกระทบต่อเด็กที่มีความพร้อม และประสงค์จะสอบในวันและเวลาเดิมที่กำหนดไว้ และจะส่งผลต่อการสอบคัดเลือกอื่นๆ ด้วย
ทันทีที่แถลงการณ์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ก็นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก โดยเฉพาะจากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง มีการพูดถึงประเด็นนี้กันบนโลกออนไลน์ จนส่งให้แฮชแท็ก #dek64กำลังถูกทิ้ง ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ของไทยในเวลาต่อมา
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการศึกษาไทยให้ความเห็นว่า จากวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะการสอบเลื่อนระดับชั้นจากมัธยมศึกษา ไปยังอุดมศึกษา ซึ่งความกดดันนี้ ทำให้มีเด็กจำนวนไม่น้อยถูกบีบให้ออกจากระบบการศึกษาไปในที่สุด
“การสอบ TCAS มันเป็นระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย มันมีอิมแพกต์ต่อเนื่องมาจากโควิด-19 ต้องขยับตารางทุกอย่าง กรอบเวลามันกระชั้นมาก ช่วงวันสอบปลายภาคของโรงเรียนที่จะสอบกันอาทิตย์หน้า กับช่วงวันสอบวิชาที่จะใช้ในการยื่นผล TCAS ทั้งคะแนน GAT/PAT คะแนนวิชาสามัญ 9 วิชา และ O-NET มันมากระจุกสอบติดกันหมดเลย การจัดสอบครั้งนี้มันต่อเนื่อง ประมาณ 3 อาทิตย์ ตั้งแต่วันจันทร์หน้าเป็นต้นไป ถึงวันที่ 4 เม.ย.เท่ากับเด็กจะมีภาระที่หนักมาก
เด็ก 400,000 คน สอบต่อเนื่อง ซึ่งการที่เด็กจำนวนขนาดนั้นจะออกมาใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน มันก็จะมีความกังวลจากพ่อแม่ จะดูแลกันอย่างไร เพราะกระจายไปสอบตามโรงเรียนต่างๆ แล้วเด็กที่มาสอบก็มาจากหลายพื้นที่ด้วย อย่างเด็กสมุทรสาคร จัดหวัดเขาล็อกดาวน์อยู่ ต้องไปสอบที่จังหวัดข้างเคียง เช่น นครปฐม ต้องมาหาที่พักก่อน ต้องกักตัว 14 วันเพื่อเตรียมตัวสอบ มันก็จะมีความห่วงในเรื่องความปลอดภัย เรื่องโควิด-19 ผสมหลายเรื่อง
ตอนนี้ก็จะเห็นเด็กโพสต์กัน เป็นการประชด ตัดพ้อ หรือใช้คำที่มันรุนแรง ซึ่งไม่อยากให้ผู้ใหญ่รีบตัดสินเขา เขาก็มีความทุกข์ เพราะต้องมานั่งอัดสอบตั้งกี่วิชา โรงเรียนตัวเองก็ไม่ต่ำกว่า 12 วิชาแล้ว วิชาที่จะมาสอบเข้ามหาวิทยาลัย ขั้นต่ำก็ 13 วิชา ทั้งหมดเกิดขึ้นภายในเวลาเพียง 20 วัน ถ้าใครไม่มีลูกมีหลานก็จะไม่เข้าใจหรอกว่าเด็กเครียดขนาดไหน นี่ยังไม่ได้นับเด็กที่ไม่ได้เข้าเรียนหรือว่าออกกลางคัน เด็กหลุดกระจายแน่ปีนี้ อันนี้คือปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นครับ”
แนะทางออก พิจารณา “เลื่อนวันสอบ”
“ต้องอย่าลืมว่าเด็กจำนวนนึงที่เข้ามาสู่การสอบ คือเด็กที่เขาจะย้ายที่เรียนหรือการซิ่ว ทีนี้การสอบของมหาวิทยาลัยกลุ่มที่ย้ายตารางไปแล้ว มันเป็นเดือนที่มีการสอบปลายภาค เพราะฉะนั้นเขาต้องเลือกระหว่างสอบวิชาพวกนี้หรือจะสอบที่มหาวิทยาลัย แล้วก็มีวันนึงที่เข้าใจว่าตรงกับวันเกณฑ์ทหาร ช่วงที่เด็กผู้ชายต้องไปเกณฑ์ทหาร ก็จะมี 2 วันที่ตรงกับเกณฑ์ทหารพอดี”
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับนักเรียนชั้น ม.6 เพียงกลุ่มเดียว เพราะยังกระทบไปถึงนักศึกษาที่ต้องซิ่วไปยังคณะหรือมหาวิทยาลัยใหม่ และวันเกณฑ์ทหารอีกด้วย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ผศ.อรรถพล สะท้อนว่า เกิดจากการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่พูดคุยกันให้ตกผลึก อีกทั้งยังไม่ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ปัญหาต่างๆ จึงตามมาเช่นนี้
อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยท่านเดิมให้ความเห็นเกี่ยวกับทางออกของเรื่องนี้ไว้ว่า ควรมีการเลื่อนการสอบบางตัวออกไป เพื่อที่จะไม่เป็นภาระของเด็กๆ ในการทบทวนเนื้อหา
“ผมเข้าใจทางฝั่งผู้ใหญ่เหมือนกัน ทุกอย่างมันเซ็ตมาแล้ว โรงเรียนไหนจะเป็นสนามสอบ แต่โรงเรียนเขาก็ถูกล็อกด้วยชั่วโมงตามหลักสูตร ถ้าเขาสอนไม่ครบก็กลายเป็นเด็กเรียนไม่ครบหลักสูตร แสดงว่าคนที่เกี่ยวข้องเขาไม่ได้มองตารางร่วมกันว่าชีวิตเด็กต้องเจออะไรบ้าง ซึ่งผมว่าจริงๆ จะคิดแบบเก่าไม่ได้ เพราะปีนี้สถาบันการศึกษาทุกแห่งต้องคิดใหม่หมด เพราะมันล้ากันมาทั้งปี ตั้งแต่เจอสอบออนไลน์ เรียนออนไลน์
จริงๆ ถามว่าระบบพวกนี้สามารถยืดหยุ่นได้มั้ย มันน่าจะยังพอยืดหยุ่นได้ เพราะอย่าลืมว่าทุกคนพยายามทำให้มันกลับไปเหมือนความปกติเก่า Old Normal อะไรที่เคยวางระบบไว้จะพยายามรักษาไว้หมดเลย โดยที่ไม่ได้ตระหนักเลยว่ามันเกิดปัจจัยแทรกซ้อน ตั้งแต่มีโควิด-19 มา เด็กปิดๆ เปิดๆ โรงเรียน เด็กไม่ได้เรียนอย่างต่อเนื่องเท่าไหร่
ถ้าจะหาทางออกร่วมกัน จะขยับกรอบเวลาของบางการสอบออกไปสัก 2 อาทิตย์มันก็สมเหตุสมผล เช่น สอบ O-NET ซึ่งมันจะเกี่ยวกับเด็กกลุ่มใหญ่ที่สุด แล้วยังคงการสอบ 9 วิชาไว้ สอบ GAT/PAT ไว้ ขยับ O-Net ออกไปก็ยังเป็นไปได้ และหลายประเทศทำกัน ขนาดเกาหลีใต้สอบซูนึง ที่เป็นการแข่งกันเข้ามหาวิทยาลัยกันรุนแรงที่สุด หนักที่สุด ก็ยังขยับเพื่อให้เด็กมีเวลาเตรียมตัวได้มากขึ้น ลดความเครียดของเด็ก”
ท้ายที่สุดนี้ ในฐานะที่คลุกคลีในวงการศึกษามายาวนาน เขาได้ฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทบทวนการสอบอีกครั้ง เพื่ออนาคตของเด็กไทยกว่า 400,000 คน ที่แขวนอยู่บนเส้นด้ายที่มีชื่อว่า “การสอบ TCAS”
“เรื่องใหญ่คือไม่มีการหารือร่วมกันล่วงหน้า แล้วปล่อยให้ทุกอย่างเป็นภาระของเด็ก เพราะผู้ใหญ่ไม่ได้พยายามจะยืดหยุ่นกลไกระบบตัวเองเลย บอกให้เด็กต้องเตรียมพร้อมล่วงหน้า 3 ปี แต่ปีนี้เป็นปีที่ขลุกขลักมากๆ เรียนออนไลน์ เด็กจำนวนนึงหลุดจากออนไลน์ไปนานแล้วเพราะเรียนไม่ไหว พอกลับมาก็ต้องมานั่งเรียนทบทวน เตรียมตัวสอบปลาย เคลียร์งาน แล้วไม่ได้คำนึงเด็กเป็นตัวตั้งเลย ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามระบบที่ตั้งไว้ล่วงหน้า
ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ปีนี้มันล้าทั้งหมด ทั้งคนเรียนในโรงเรียนและคนเรียนในมหาวิทยาลัย คุณจะทำทุกอย่างให้เหมือนเดิม เพื่อให้ได้เปิดเทอมให้ได้ทัน พ.ค.-มิ.ย. เหมือนเดิม คนทำงานมันไม่ไหว คุณครูที่เขาสอนออนไลน์มาหลายๆ เดือน เขาก็ไม่ได้หยุดเลย สอบเสร็จตัวเองก็ต้องเตรียมตัวเปิดเทอมใหม่แล้ว คือเขาไม่ได้แคร์ Human Center ในการตัดสินใจเชิงนโยบาย เพราะกังวลเรื่องกฎระเบียบ ขั้นตอนของตัวเองอยู่ มันควรจะต้องยืดหยุ่นได้
และยิ่งบอกว่า New Normal มันต้องยืดหยุ่น รับมือการเปลี่ยนแปลง ผู้ใหญ่ยิ่งต้องทำให้เด็กเห็นว่ามีความพยายามในการที่จะเซฟทุกคน อย่าลืมว่าเรื่องนี้ผลกระทบทุกฝ่าย แต่คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเด็ก 400,000 คน ต้องคิดถึงตัวผู้เรียน ซึ่งมันคืออนาคตของพวกเขาในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย มันยื่นได้ปีนี้ และปีหน้าถ้าไม่ได้ตามที่คาดหวังก็ต้องรอไปอีกปีนึง เสียเวลาไปเลย”
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : เพจเฟซบุ๊ก “Mytcas.com” และ “Athapol Anunthavorasakul”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **