ฮิตกว่านี้ไม่มีแล้ว! เจาะ “เซิร์ฟสเกต” กิจกรรมเอ็กซ์ตรีมที่มาแรงที่สุดในตอนนี้ กับ “น้ำ สุทธินันท์” ครูสอนโต้คลื่นบนบกคนสวย กระแสแรงชนิดที่ว่าคนสนใจลงเรียนเต็มทุกคอร์ส แม้แต่ดาราก็พากันเล่นค่อนวงการ เผยราคาบอร์ดขึ้นจนน่าตกใจ แต่คนก็ยอมจ่าย!
คลื่นความฮิต ซัดราคา “เซิร์ฟสเกต” ก้าวกระโดด!!
นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “เซิร์ฟสเกต” กิจกรรมบนกระดานสี่ล้อ ที่เรียกได้ว่าเป็นเทรนด์ฮิตที่สุด ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็ต้องเป็นอันได้เห็นคนทุกเพศทุกวัยจับกลุ่มกันเล่นเจ้ากระดานสี่ล้อนี้ด้วยท่วงท่าสุดพลิ้วไหว ไม่ต่างจากการโต้คลื่น หากแต่ย้ายขึ้นมาเล่นกันบนบก
ประกอบกับมีคนในวงการบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น เคน ธีรเดช, โจอี้บอย, เต้ย-จรินทร์พร, พลอย หอวัง, แต้ว ณฐพร และคนอื่นๆ อีกมากมาย พากันอัปรูปชิกๆ พร้อมคลิปวิดีโอขณะเล่นเซิร์ฟสเกตลงโซเชียลมีเดีย ยิ่งเป็นการโหมกระพือให้ความฮอตของกิจกรรมนี้ให้ทวีคูณขึ้นไปอีก!!
นี่จึงเป็นเหตุผล ที่พาให้เรามาพูดคุยกับ “น้ำ-สุทธินันท์ นาคสวัสดิ์” ครูสอนเซิร์ฟสเกตแห่ง LandSurfer Thailand : Surf - Skate Schoolเพื่อรู้จักกับเจ้าแผ่นบอร์ดสี่ล้อนี้ให้ดียิ่งขึ้น พร้อมไขข้อสงสัยว่าเพราะเหตุใดเซิร์ฟสเกตจึงกลายมาเป็นกิจกรรมที่มาแรงที่สุดในขณะนี้
“เซิร์ฟสเกตเป็นสเกตประเภทหนึ่งที่ออกแบบมาโดยนักเซิร์ฟ ในช่วงเวลาที่เขาไม่สามารถซ้อมคลื่นได้ในจังหวะที่คลื่นหาย เขาก็เลยออกแบบสเกตบอร์ดขึ้นมา เพื่อที่ว่าจะได้สามารถซ้อมท่าเซิร์ฟบนบกได้ ความแตกต่างของเซิร์ฟสเกตกับสเกตบอร์ด หลักๆ จะมีในเรื่องของการดีไซน์ เพื่อที่ว่าฟีลลิ่งเวลาเล่นจะได้เลียนแบบหน้าคลื่นได้ ซึ่งวัตถุประสงค์การเล่นต่างกัน เซิร์ฟสเกตจะมีวิธีการเล่นที่เลียนแบบท่าเซิร์ฟ จินตนาการเหมือนในน้ำ ใช้ร่างกายช่วงบนในการเคลื่อนตัว
จริงๆ แล้วการเล่นเซิร์ฟสเกตเขามีกันมานานมากในต่างประเทศ ประเทศไทยก็เล่นเซิร์ฟกันมาเกือบ 10 กว่าปีแล้ว เพียงแต่ว่าตอนนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักมากเท่านั้นเองค่ะ น้ำคิดว่ากระแสมันมาจากช่วงโควิด ไม่สามารถไปเที่ยวต่างประเทศได้ คนก็หาอะไรทำ มีดาราไปเล่นเซิร์ฟในน้ำ มีคนเล่นมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดกระแสโซเชียลฯ ขึ้นมา แล้วก็ได้รู้จักว่ามันมีเซิร์ฟสเกตนะ ไปลงทะเลไม่ได้ก็เล่นบนบกได้ มาลองเล่นเซิร์ฟสเกตก่อน ก็เลยเกิดกระแสที่มันเพาเวอร์เยอะขึ้น”
[ คนบันเทิงโชว์สกิล “เซิร์ฟสเกต” ]
แม้จะเป็นกิจกรรมที่สามารถเล่นคนเดียวได้ แต่หากมีชาวแก๊งร่วมด้วยก็ยิ่งทำให้สนุกมากขึ้นไปอีก ซึ่งในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ นั้นก็มีแหล่งรวมตัวของผู้ที่รักการเล่นเซิร์ฟสเกตกระจายตัวอยู่ทั่วเมือง
“ช่วงนี้จะเห็นว่ามีคนเปิดสนามใหม่เยอะมาก สมัยก่อนน้ำก็ตระเวนหาที่เล่นไปทั่ว แต่ละที่เขาจะมีกลุ่มเฉพาะ มีการรวมกลุ่มไปเล่นหลายที่มากๆ ที่เคยไปเล่นจะเป็น สวนเบญฯ สวนลุม สวนรถไฟ คริสตัลปาร์ค และอื่นๆ ล่าสุดน้ำก็ไปที่สนามหลวง ซึ่งพื้นที่เล่นค่อนข้างโอเคเลย เขามีเนินเล็กๆ ด้วย เพราะเซิร์ฟสเกตมันเหมาะกับการเล่นพื้นราบๆ เรียบๆ ถ้าเล่นขรุขระหรือโดนหิน โดนกิ่งไม้ มันจะสะดุดคว่ำได้ง่ายๆ
ถ้าดูของต่างประเทศยังมีสปอร์ตที่เล่นได้เยอะกว่า มีความหลากหลายกว่า แต่อันนี้เพิ่งเริ่มต้น น้ำมองว่าเดี๋ยวไทยก็น่าจะมีแบบต่างประเทศ เพราะอย่างที่บอก สนามเกิดขึ้นเยอะมาก อย่างแถวนนท์เองก็เริ่มพัฒนาปรับปรุงไปเรื่อย เราอาจจะได้เห็นอะไรมากกว่าการขึ้น Wave Ramp เราอาจจะมีอะไรที่มากกว่านั้น ต้องรอติดตาม เป็นทิศทางที่ดีค่ะ
ถ้าคนที่ไม่เคยเล่นเลยสนใจอยากจะเล่น อย่างที่น้ำบอกมันอยู่ที่จุดประสงค์การเล่น ถ้าเกิดว่าคนที่เขาอยากเล่นเซิร์ฟเขาก็จะฟอร์มเพื่อเซิร์ฟ ได้จินตนาการเหมือนขึ้นคลื่น ก็เลยจะชอบเนิน แต่ถ้าเกิดว่าอยากเล่นเพื่อสนุกก็ได้เหมือนกัน เป็นกีฬาที่ออกกำลังกายและเบิร์นแคลอรีได้ดี”
ขณะเดียวกัน จากความนิยมนี้เองก็ทำให้ผู้ค้าบางคนอาศัยจังหวะนี้ในการปรับราคาแผ่นเซิร์ฟสเกต ส่งผลให้ราคาพุ่งขึ้นเป็นเท่าตัว!
“ด้วยความที่ช่วงนี้พอฮิต ดีมานด์คนต้องการเยอะมากแต่ว่าซัปพลายผลิตไม่พอ พอโรงงานผลิตไม่พอ คนก็ไปหิ้วพรีออเดอร์กันมาเอง แล้วก็อัปราคาขายขึ้นเท่าตัว มีคนไปหิ้วมาแล้วเก็บไว้ แล้วก็ขึ้นราคาเพิ่มอีก มันก็เลยสูงขึ้นๆ
สมัยที่น้ำเคยเล่น Decachlon ราคา 3,400 เดี๋ยวนี้มีการ up selling ไปเยอะมาก ราคาขั้นต่ำจริงๆ ตอนนี้อาจจะอัปไปถึง 5,000-7,000 เลยค่ะ อย่างตัว Smooth star #77 น้ำซื้อจากตัวแทน เขาก็ขายอยู่ 11,000-12,000 ซึ่งตอนนี้ราคาเขาขึ้นจนน่าตกใจมาก ขึ้นไปถึง 30,000 เวลาแป๊บเดียวเท่านั้นเอง แต่ถ้าคนอยากเล่นก็ยอมจ่าย
ถามว่าจะบูมแป๊บๆ มั้ย ส่วนตัวน้ำมองว่ามันอาจจะปีสองปีก็น่าจะยังมีอยู่ จากนั้นน่าจะเลือนหายไปตามกาลเวลา มันจะเหลือแต่คนที่อยากเล่นจริงๆ คนที่ชอบมันจริงๆ ก็อาจจะเป็นอย่างนั้น แต่สำหรับน้ำก็คงอยู่กับมันไปเรื่อยๆ เพราะปลายทางการเล่นหลักๆ ของน้ำ อาจจะไปเซิร์ฟมากกว่า มันจะเป็นการที่เราต่อยอดด้วยกัน แต่ถ้าคนที่อยากเล่นฆ่าเวลามันก็อาจจะเป็นแค่ช่วงนั้น ก็ถือเป็นการสร้างมาร์เกตค่ะ คนเล่นเยอะก็ดีมันจะได้ขยายมาร์เกตขึ้นเรื่อยๆ
น้ำเป็น Player ก็รู้สึกว่าอยากให้คนได้เล่น ได้สัมผัส Feeling จริงๆ เราเล่นเพื่อเป็นกีฬา อยากให้มองว่าของนี้มันไม่ใช่ Richman toy มันเป็นของที่เราเล่นเพื่อความสนุก เราอยากซ้อมเพื่อไปเซิร์ฟ อยากให้มองถึงจุดประสงค์ของการเล่น นายทุนมันก็เยอะ แต่ว่าทำยังไงได้ ก็อยากให้นึกถึงคนเล่นเยอะๆ ค่ะ”
ไถบอร์ดฝ่าความกลัว
“น้ำรู้จักเซิร์ฟสเกตตั้งแต่ปี 2018 น้ำไม่ได้เล่นมาจากสเกตบอร์ด น้ำเล่นมาจากเล่นเซิร์ฟค่ะ พอดีแฟน (โอ๊ค-ณัฐพันธุ์ ไพรัชวรรณ) เป็นคนชอบเล่นเซิร์ฟ แต่น้ำก็ไม่ได้ชอบเล่นเพราะเจอประสบการณ์ที่ไม่ดี เจอแมงกะพรุนไฟก็เลยเข็ดและเลิกเล่นไป แฟนก็เลยบอกไปเล่นที่เขาหลัก เราได้ไปนอนที่โฮสเทล ทีนี้เขาก็มีอุปกรณ์เซิร์ฟสเกต น้ำก็ไปเห็นเซิร์ฟสเกตแผ่นแรกที่นั่น ก็ไม่ได้สนใจอะไร”
ด้วยความรัก ทักษะ และความเชี่ยวชาญ ทำให้ปัจจุบัน น้ำได้ผันตัวมาเป็นเจ้าของโรงเรียนและครูสอนเซิร์ฟสเกตอย่างเต็มรูปแบบ แต่หากย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นจริงๆ จะพบว่า กว่าที่เธอจะมาถึงจุดนี้นั้นไม่ได้ราบเรียบเหมือนแผ่นบอร์ดที่เล่นแม้แต่น้อย…
[ น้ำและโอ๊ค คู่รักนักเซิร์ฟสเก็ต ]
“แฟนน้ำเขาก็หาทุกวิถีทางเพื่อจะได้ฝึกเซิร์ฟ ก็เลยหาและมาเจอเซิร์ฟสเกต หลังจากนั้นน้ำเครียดกับงานแล้ว ไปเล่นทะเลก็ไม่ได้ ก็เลยลองหากิจกรรม ด้วยความเป็นคนกรุงเทพฯ ทำงานประจำอยู่แล้ว เลยไม่ค่อยได้มีชั่วโมงบินไปเล่นเซิร์ฟ เลยมาออกที่เซิร์ฟสเกตค่ะ
พอปี 2019 แก๊งนักเซิร์ฟเขานัดเจอกันในกรุงเทพฯ ปกติจะเจอกันที่ทะเล ก็นัดมาเล่นเซิร์ฟสเกต น้ำได้ไปเจอกับอาจารย์สึโยชิ ชาวญี่ปุ่น แกเป็นนักเซิร์ฟมาหลายปี เราเล่นผิดๆ ถูกๆ เขาก็เลยอยากสอน แล้วคนญี่ปุ่นเขาจะมี Intention ในความทุ่มเทในการสอนมาก แล้วน้ำก็เลยรู้สึกว่าอินนะ อินกับการเล่นท่าที่ถูก แล้วก็มันต่อยอดไปได้อีก เลยรู้สึกว่ามันต้องจริงจังนะ เราต้องเล่นให้ถูกจุดประสงค์ของการดีไซน์อุปกรณ์ เขาสอนให้เราทำได้ น้ำก็เริ่มฝึกค่ะ
ก็อยากจะยกความดีความชอบให้กับอาจารย์สึโยชิ ในความเป็นญี่ปุ่นของเขา น้ำจะเห็นความตั้งใจและจริงจัง แกจะเป็นสายที่ว่า ถ้าทำไม่ได้ก็ทำจนกว่าจะได้ น้ำก็ซึมซับตรงนั้นมา ถ้ารู้สึกว่าฉันทำไม่ได้ ฉันก็ต้องทำให้ได้ มันไม่ใช่เรื่องที่จะบอกว่าเราทำไม่ได้ ถ้าเรายังไม่ได้พยายามหรือฝึกฝนเลย แกเป็นคนที่พยายามบิลด์และปลุกปั้นเรามาว่าการเล่นเซิร์ฟสเกตที่ถูกวิธีเป็นยังไง เราก็เลยอยากจะต่อยอดตรงนั้น เพราะอีกไม่นานแกจะกลับญี่ปุ่นแล้วด้วยค่ะ”
แต่เป็นความโชคดีที่มีคนรอบข้างที่คอยสนับสนุนทุกการตัดสินใจ จึงทำให้เธอก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ มาได้ และในฐานะคนที่เคยเกือบจะตัดใจจากการเล่นเซิร์ฟสเกตแล้ว ก็ได้ให้คำแนะนำสำหรับมือใหม่ว่า อย่าใจร้อน ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ และไม่ควรกดดันตัวเองด้วยการไปเปรียบเทียบกับคนอื่น
“จริงๆ มันยากนะคะ ยากในแง่ของความคิดมากว่า ที่ว่าเราจะฝ่าความกลัวต่างๆ ออกมายังไง แต่ความโชคดีของน้ำคือน้ำมีแฟนน้ำช่วยซัปพอร์ต น้ำไม่ได้อยู่คนเดียว เราช่วยกัน ก็เลยผ่านไปได้ แล้วช่วงนั้นเหมือนกับว่ามันเป็นกลุ่มเล็กๆ รู้จักกันหมด เป็นความโชคดีที่ว่าเรารู้จักทุกคนนะ หลักๆ คือพี่ๆ นักเซิร์ฟ แล้วเขาก็ค่อนข้างเป็นตัวหลักอยู่แล้ว มันก็เลยไปต่อได้ค่ะเพราะเราก็ซัปพอร์ตซึ่งกันและกันค่ะ
อย่าเพิ่งตัดใจว่ามันไม่ได้ อาจจะต้องรอเวลาหน่อย ณ ตอนนี้มีคนออกมาทำ How to เล่นกันเยอะมาก คุณก็สามารถดูได้และฝึกซ้อมได้ ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ไม่ต้องรีบ ไม่ต้องเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นด้วย เห็นเขาเล่นได้ทำไมฉันเล่นไม่ได้ มันไม่เหมือนกันค่ะ ถ้าคุณอยากเล่นแล้วตั้งใจจริงๆ ฝึกซ้อมไปเรื่อยๆ ยังไงก็เป็นค่ะ
น้ำรู้สึกว่า พอเราเล่นไปเรื่อยๆ เราจะรู้ว่า Movement จะทำท่าไหน อย่างการเล่นเซิร์ฟ ปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้คือคลื่นทะเล หรือธรรมชาติอะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าเกิดเป็นเราเองที่สามารถทำฟอร์มของเราให้มันล็อกไวได้ เราสามารถควบคุมตัวเองได้ตลอดเวลา
การเล่นเซิร์ฟสเกตมันเหมือนกับเราต้องคุยกับตัวเองตลอดเวลา ว่าต้องบังคับแขนไปทางนี้ มือไปทางนี้ ในหัวเราไม่มีเวลาคิดอย่างอื่น ต้องโฟกัสกับการใช้ร่างกายของตัวเอง มันก็เลยรู้สึกว่าในหัวได้คิดเรื่องนี้แล้วก็ลืมความเครียดไปเลย พอเราทำไปเรื่อยๆ จนมันเป็นอากัปกิริยาของเราแล้ว ที่เหลือมันเป็นเรื่องของความรีแลกซ์ของเรา ว่าเราเล่นแล้วรู้สึกนี่คือส่วนหนึ่งของชีวิตเรา มันคือธรรมชาติของเราเอง”
เปลี่ยนความชอบ ให้เป็นอาชีพ
จากจุดเริ่มต้นที่หวังจะให้การเป็นเซิร์ฟสเกต ให้เป็นกิจกรรมในการบำบัดความเครียดสะสมจากการทำงานประจำ เธอเล็งเห็นช่องทางที่สามารถทำให้เกิดเป็นอาชีพได้ จึงตัดสินใจเบนเข็มออกมาทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งก็ถือว่าเป็นอีกบทเรียนสำคัญอีกครั้ง ที่เข้ามาให้สาววัย 26 ปีคนนี้ ได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นไปอีกขั้น
“น้ำเคยทำงานประจำอยู่ในเอเยนซี ช่วงนั้นเกิดความเครียดเพราะโควิด ต้องทำงานอยู่ที่บ้านตลอด 3 เดือน มันเป็นความกดดันที่ว่า ชีวิตฉันไม่มีอย่างอื่นเลยนอกจากงาน แต่พอผ่าน 3 เดือนไปเริ่มดีขึ้น น้ำก็เลยไปเล่นเซิร์ฟสเกต พอเริ่มเล่นเซิร์ฟสเกต น้ำรู้สึกว่ามันคือการออกกำลังกาย มันคือการเล่นสนุก เราอยู่กับสิ่งนี้แล้วมันมีความสุขนะ
ก็เลยคิดว่าทำไมเราไม่เลือกสิ่งที่มันมีความสุขกับตัวเรา เหมือนเป็น Passion ในตัวเองด้วย เลยตัดสินใจว่าเราต้องทำสิ่งนี้ให้มันเป็นอาชีพกับเราด้วย ถ้าเกิดว่าเราทำไปเพราะเราต้องทำ มันจะดูเหมือนกับว่าเราฝืนเกินไป น้ำเลยคิดว่าเราทำอะไรที่ไม่ต้องฝืนตัวเองดีกว่า แล้วเราก็มีความสุขกับมัน เราก็ยังใช้ชีวิตของเราได้ด้วย”
หลังจากตัดสินใจออกจากงานประจำ ทั้งเธอและคนรักก็เดินหน้าทำธุรกิจส่วนตัวอย่างเต็มกำลัง ก็ตกผลึกออกมาเป็นกระเป๋าใส่เซิร์ฟสเกต ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นเจ้าแรกของไทยที่ผลิตออกมา น้ำยอมรับว่าเหนื่อยมากเนื่องจากไม่มีความรู้ในสายงานนี้ ขณะเดียวกันก็ความสุขมากเพราะได้อยู่กับสิ่งที่รัก
“น้ำทำกระเป๋า Landsurfer ขาย เพราะเป็นคนที่ชอบเล่นและตระเวนไปเล่น เราไม่มีไม่มีกระเป๋าใส่เซิร์ฟสเกต ก็เลยคุยกับแฟนว่าทำกระเป๋าขายดีกว่า น้ำออกจากงานช่วงเดือน 8 ปีที่แล้วค่ะ ระหว่างนั้นก็เริ่มหาโรงงานทำกระเป๋าแล้ว เราจะช้าไม่ได้เพราะการที่กระแสมันมาปุ๊บ มันมาอย่างแรง เราก็ต้องทำทุกอย่างให้ไว พอเจอว่ามีโรงงานทำ เราก็ต้องเลือกคุณภาพดีๆ แล้วตัดสินใจทำเลย
จะเรียกว่าเป็นกระเป๋าเซิร์ฟสเกตใบแรกในไทยก็ว่าได้ค่ะ แต่ถ้าเป็นต่างชาติเขามีมาอยู่แล้ว แล้วก็เริ่มโปรโมตขาย ในกลุ่มเฟซบุ๊ก เราเริ่มมาจากกรุ๊ปเฉพาะของเราก่อน มีกลุ่มก้อนคนที่เล่นเซิร์ฟสเกตกลุ่มนี้ๆๆ เราก็เริ่มเอากระเป๋าของเราไปให้เขาดูว่า สนใจมั้ย มาจากคนรู้จักกัน
ไม่ได้มีต้นทุนอะไรเลยค่ะ มีเงินเก็บที่ทำงานหุ้นกับแฟนทำ เรียกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นและสามารถทำให้เป็นอาชีพของน้ำได้ ถือเป็นความโชคดี น้ำคิดว่าจังหวะที่น้ำมามันค่อนข้างดี ซึ่งการที่เราเริ่มทำเราต้องเห็นแล้วว่ามันมีอะไรบางอย่างเราถึงเริ่มกล้าออกมาทำ หลักๆ คือดูความต้องการของคนคืออะไร ตอนออกมาทำเองมันเหนื่อยกว่าตอนที่ทำงานมาก แต่มีความสุขกว่ามากเลย เราทำเอง เราภูมิใจ มันเป็นของเรา”
อาจจะเรียกได้ว่าสิ่งที่เลือกอยู่นั้นมาถูกทาง เพราะนอกจากธุรกิจของเธอที่ไปได้สวยแล้ว จากกระแสความนิยมในกิจกรรมนี้ก็ส่งผลให้อาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องกับเซิร์ฟสเกตพลอยได้อานิสงส์ไปด้วย สวนทางวิกฤตโควิด-19
“การที่มันบูมขึ้นมาก็ทำให้เกิดอาชีพ อย่างน้ำก็เป็นหนึ่งในคนที่สามารถสร้างอาชีพจากตรงนี้ได้ และคนอื่นๆ ด้วย อย่างโควิดบางคนไม่มีงานทำ ก็เกิดไอเดียธุรกิจเพิ่มขึ้น ที่น้ำเห็นหลักๆ คือการทำแผ่นค่ะ ทำลวดลายของตัวเอง แล้วก็เกิดแบรนด์ของคนไทยทำเซิร์ฟสเกตเอง ด้วยความที่คนมารู้จักเซิร์ฟสเกต มันไม่ใช่แค่เซิร์ฟสเกต สเกตอื่นๆ มันก็กลับเข้ามาวงการเพิ่มขึ้นเหมือนกันค่ะ เป็นโอกาสในวิกฤตค่ะ
ตัวน้ำไม่ได้รับผลกระทบอะไรเท่าไหร่ค่ะ เพราะว่าเหมือนกับคนเล่นเยอะ จริงๆ ก็ถือว่าโชคดีนะคะ เพราะว่าเราปูทางเอาไว้ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว น้ำรู้สึกว่ามันเป็นจังหวะที่พอดีมากๆ เลยนะ เพราะน้ำก็ไม่คิดว่าจู่ๆ คนจะมาเล่นกันเยอะมากขนาดนี้ เป็นความโชคดีที่จังหวะของน้ำเอง
ตอนแรกที่ออกจากงานคิดว่าเราจะขายกระเป๋าใส่แผ่นเซิร์ฟสเกตเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตเท่านั้นเองค่ะ ไม่ได้คิดว่าจะมาเร็วขนาดนี้ ไม่ได้มีหน้าร้านเลยค่ะ ขายแค่ออนไลน์ แต่ประจวบเหมาะที่ว่าเราแพลนในอนาคตว่าอยากมีร้านเซิร์ฟและเซิร์ฟสเกตของตัวเอง ในร้านก็พยายามจะหาอุปกรณ์เซิร์ฟมาขาย ด้วยความที่เป็นคนพื้นเพกรุงเทพฯ ก็อยากจะเปิดร้านในกรุงเทพฯ และยังไม่เคยมีใครทำ ก็เลยคิดว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะค่อยๆ ขยายไปสู่ฝันที่อยากทำเท่านั้นเองค่ะ”
หลักสูตรฮิต คอร์สเต็มทุกรอบ
“จังหวะที่ทำกระเป๋า เราเริ่มเห็นมีคนเล่น คุณโอ๊คเขาก็ชอบสอน ระหว่างที่สอนก็มองว่าเขาสอนดีนะ สอนเข้าใจ เราอัดคลิปลงดีกว่า พออัดคลิปปุ๊บ มันก็เลยเกิดแรงกระเพื่อม ก็เลยคิดว่ามาเปิดโรงเรียนสอนดีกว่า มีความสุขกว่าเยอะเลย เห็นคนเล่นได้ เล่นเป็น แล้วก็เล่นถูกวิธีด้วย
ในความที่บอกว่าเราเป็นโรงเรียนสอนเซิร์ฟสเกตที่แรกมั้ยก็ไม่อยากจะพูดขนาดนั้น แต่ว่าถามว่าเราเป็นโรงเรียนสอนเซิร์ฟสเกตในการเพื่อไปเซิร์ฟจริงๆ ก็อาจจะพูดประมาณนั้นได้ มันเกิดจากความอยากของเราเองล้วนๆ ที่ว่าเราทำสิ่งนี้ สิ่งที่เรารัก มันแฮปปี้นะ เวลาสอนนักเรียนหรือสอนใคร น้ำก็จะสอนไปยิ้มไป (หัวเราะ)”
จากผลตอบรับที่เป็นไปในทิศทางที่ดี นำมาสู่การขยายเส้นทางธุรกิจให้โตขึ้น คือการเปิดโรงเรียนสอน ด้วยหวังว่าผู้ที่สนใจจะเล่นอย่างถูกวิธีและปลอดภัย ซึ่งมีผู้คนให้ความสนใจลงเรียนจนเต็มทุกคอร์สที่มี
“นักเรียนส่วนใหญ่จะเป็นวัยทำงานค่ะ ถ้าคนเป็นพ่อเป็นแม่แล้ว เขาจะเอาลูกมาเรียนด้วย จริงๆ มีหลากหลายมากเลยค่ะ คนอายุเยอะๆ 60 กว่าก็เคยมีสอน พอคนยิ่งอายุเยอะๆ เขาจะบอกว่ารุ่นนี้อะไหล่หายากแล้ว เราก็จะแนะนำว่าใส่สนับดีกว่า ปลอดภัย แต่น้ำจะเน้นเรื่องความปลอดภัยอยู่แล้ว จะคุมตลอดเวลาค่ะ
การสอนเริ่มแรกคนที่ไม่เคยเลยมาเลยจะให้เขายืนบาลานซ์ให้ดีก่อน เพราะการยืนมันสำคัญมากๆ ถ้าคุณยืนถูกมันจะมีโอกาสพลาดน้อย หลังจากการยืนได้แล้ว น้ำจะให้ทุกคนโฟกัสที่ขา เพราะไม่อย่างนั้นจะทำท่าผิด พยายามให้เขาใช้ Movement จากข้างบน step by step ไปค่ะ ค่อยๆ ให้เขาคุ้นชินแล้วก็กลัวบอร์ดน้อยลง เวลาน้ำสอน 1 คลาส ทุกคนก็สามารถเล่นได้แล้ว มันไม่ยากเลย แต่ถ้าจะทำให้ถูกก็จะบอกว่ามันไม่ง่ายเหมือนกัน
คอร์สหนึ่งน้ำจะสอน 1 ครั้ง 2 ชั่วโมง และมีคอร์ส 8 ครั้ง รวมตั้งแต่เบสิกจนถึงแอดวานซ์ และแถมอีก 1 ครั้งเป็น 9 ครั้ง สอนวันอังคาร-อาทิตย์ วันจันทร์จะหยุด มีสอน 3 รอบ ตั้งแต่ 10.00-18.00 น. หลักๆ จะมีครูน้ำ ครูโอ๊ค อีกคนคือครูบูม ที่มาช่วย คลาสเต็มทุกช่วงเวลาเลย แต่ยังมีคนมาจองอยู่เรื่อยๆ ทางน้ำยังปิดระบบการจองอยู่ เพราะว่าพยายามจะจัดสรรเวลาเพื่อรองรับนักเรียนได้ดีขึ้น”
เธอให้เหตุผลถึงการตั้งใจเปิดหลักสูตรสอนการเล่นเซิร์ฟสเกตต่ออีกว่า เนื่องมาจากความต้องการเห็นคนเล่นอย่างถูกต้อง เพราะหากเล่นอย่างผิดวิธี ไม่เพียงแค่จะทำให้ตนเองบาดเจ็บแล้ว ยังจะทำให้อุปกรณ์เสื่อมสภาพเร็วยิ่งขึ้น
“ที่เราเป็นคนสอนเอง หลักๆ ก็อยากให้คนเล่นได้ถูกต้องและปลอดภัย น้ำจะสังเกตกล้ามเนื้อทุกอย่างเวลาเล่น น้ำจะดูออกหมดเลยคนไหนเล่นถูก คนไหนเล่นยังไม่ใช่ อย่างคนที่เล่นท่าใช้ข้อเท้า อันนี้ถือว่ายังไม่ถูก เพราะร่างกายคนเราน้ำหนักเยอะมาก เราไม่สามารถเอาร่างกายที่หนักมากๆ ไปลงในกล้ามเนื้อมัดเล็ก ไม่ดีแน่ๆ
ถ้าเกิดว่าอยู่ในน้ำ การเคลื่อนที่เราไม่สามารถคอนโทรลธรรมชาติได้ เราก็จะมีน้ำในการพัดไป แต่เซิร์ฟสเกตเราสามารถเล่นที่ไหนก็ได้บนบก เพราะเขามีล้อติด แต่ทีนี้ ในการเล่น เราต้องจินตนาการท่าที่เราอยู่ในน้ำก่อน
ถ้าเล่นท่าไม่ถูก สิ่งที่ตามมาคือ 1. คนจะบอกว่าปวดเข่า ปวดน่อง มันคือการที่เขาใช้ขาเขย่งไปเรื่อยๆ อันนี้สิ่งที่ตามมาคือการบาดเจ็บ 2. การต่อยอดเล่นท่าต่างๆ ถ้าคุณเล่นไม่ถูกจะต่อยอดไปเล่นเนินหรือเล่นท่าเฉพาะยาก 3. อุปกรณ์ การที่คุณใช้ขาดันกดแผ่นไปเรื่อยๆ อุปกรณ์จะเสื่อมสภาพ โดยเฉพาะพวกสปริง เห็นเยอะมากที่บอกว่าสปริงขาดไวจัง”
แม้เธอจะอยู่ในวงการนี้มานาน แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นอีกกิจกรรมที่ค่อนข้างเอ็กซ์ตรีม ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ้าง จึงจำเป็นต้องเล่นด้วยความระมัดระวัง
“ตัวน้ำเองจะเรียกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญขนาดนั้นมั้ยก็ไม่ ยังต้องพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ ของน้ำเองก็ยังบาดเจ็บอยู่ทุกวัน แต่เคยบาดเจ็บหนักๆ เหมือนกัน ตอนที่น้ำไปเล่นเนินครั้งแรกแล้วยังจับจังหวะไม่ได้ น้ำก็ล้มสะโพกกระแทก ช้ำไปเป็นอาทิตย์ แต่ยังไม่ถึงขนาดที่ว่ากระดูกหัก ถ้าเกิดว่าคนที่เล่นใหม่น้ำจะไม่ค่อยแนะนำให้ลงเท่าไหร่ ค่อนข้างอันตราย ถ้าคนมีครูคอยจับจะดีกว่า
คนเริ่มเล่นใหม่น้ำจะแนะนำให้ใช้ Protection gear จะมีชุดมือ ศอก เข่า ป้องกันไว้จะปลอดภัยกว่า ส่วนใหญ่เวลาคนล้มบาดเจ็บ คือการเล่นผิดวิธี ก็มีผลเวลาที่เขาใช้ขากดหรือลงน้ำหนักการยืนที่ไม่ถูกต้อง ก็อันตราย เพราะฉะนั้นเวลาเริ่มเล่นแล้วยังไม่รู้วิธี แนะนำว่าให้ใส่อุปกรณ์ป้องกันไว้จะปลอดภัยที่สุดค่ะ”
และเมื่อกล่าวถึงกิจกรรมที่มีความตื่นเต้นเร้าใจเช่นนี้ ก็อาจจะเห็นสัดส่วนของผู้เล่นที่เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งน้ำก็กล่าวว่า ไม่อยากให้มองเรื่องเพศมาเป็นข้อจำกัดในการเล่น
“น้ำว่าน่าจะเป็นเรื่องกล้ามเนื้อความแข็งแรงมากกว่า เพราะว่าผู้ชายส่วนใหญ่จะกล้ามเนื้อที่แข็งแรงกว่าผู้หญิงเนอะ แต่ถ้าเรื่องข้อได้เปรียบเทียบน้ำว่าเป็นเรื่องทักษะของแต่ละคนมากกว่า ไม่ได้อยากให้มองว่าเป็นเรื่องของเพศ เพราะว่าผู้หญิงหรือผู้ชายเล่นได้เหมือนกันค่ะ กีฬาไม่มีเพศค่ะ ซึ่งที่บ้านค่อนข้าง Open ไม่ได้ห้าม เราอธิบายให้เขาฟังเขาก็พร้อมที่จะเปิดรับ เพราะว่าตัวเราเองเราก็ไม่เอาตัวไปเสี่ยงอันตรายมากอยู่แล้ว เรารู้ขีดจำกัดของตัวเองด้วย”
หนึ่งแผ่น-สี่ล้อ เปลี่ยนชีวิต
นับตั้งแต่วันแรกที่ได้ลองสัมผัส จนถึงตอนนี้อาจกล่าวได้ว่าเซิร์ฟสเกตได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเธอไปแล้ว อีกทั้งยังนำพาไปรู้จักกับโอกาสใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยได้รับมาก่อนในชีวิต อย่างการลงสนามแข่งแบบจริงจัง แถมยังสามารถรางวัลมาครองได้อีกด้วย
“ประมาณเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เรารู้มาว่าทาง Ripcurl เขามีจัดการแข่งขันนะ ซึ่งมี 2 อย่าง คือ fast track เป็นเรื่องของความเร็ว ใครเร็วกว่าคนนั้นชนะ กับ Pro Surfskate เขาจะให้เวลา 1 นาทีในสนาม เราก็ออกลวดลายไปเลย แล้วเขาจะนับคะแนนจากท่าเซิร์ฟ หลักๆ จะมีเรื่องความมุ่งมั่นตั้งใจ เรื่องความสร้างสรรค์ในการเล่นท่า และเรื่องของท่าเฉพาะเซิร์ฟ
ตอนนั้นแฟนน้ำก็เชียร์ว่าลงกันเถอะ อย่างน้อยก็ได้ไปลอง น้ำรู้สึกว่าเป็นการแข่งมันดูกดดันจังเลย แต่โอเคลงก็ลง ไม่ได้ก็ไม่ได้ ถือว่าได้มาลองเล่น คนแข่งก็เยอะประมาณนึงค่ะ ผู้ชายจะเยอะกว่าผู้หญิง ผู้หญิงไม่ถึง 10 คน ผู้ชาย 20-30 คนค่ะ ตอนที่น้ำเล่นยังไม่เคยซ้อมลงมาก่อนเลยค่ะ ฝึกเล่นมัน ณ ตอนนั้นเลย แล้วก็ไม่ได้คิดว่าจะเข้าไปรอบ Final ด้วย พอเข้าไป Final เริ่มเครียดกว่าเดิม
แต่สุดท้ายก็กลับมาคิดว่าเราเล่นอย่างน้อยเราได้ลอง ได้สนุกกับมัน การที่น้ำทำได้หรือไม่ได้เป็นการที่น้ำได้เอาชนะใจตัวเอง พอคิดอย่างนั้นเวลาที่ลงไปแข่งก็รู้สึกสบายใจแล้วก็เล่นไปตามธรรมชาติของน้ำเลย สุดท้ายได้รางวัลที่ 3 มา ก็ถือว่าเป็นกำไรของน้ำแล้ว”
การแข่งขันครั้งนี้ นอกจากรางวัลติดมือกลับมาแล้ว สิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นคือประสบการณ์ ความประทับใจและมิตรภาพจากเหล่านักเซิร์ฟสเกต ที่มีค่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
“ประสบการณ์อย่างแรกคือได้มิตรภาพ ได้รู้จักคนเยอะขึ้น ถ้าไปอยู่ที่สนามจริงๆ จะรู้สึกเลยว่าทุกคนที่มา ไม่ได้จะเอาชนะนะ แต่ทุกคนเชียร์กัน บอกว่าจะต้องปรับท่าอย่างนี้ๆๆ ตอนซ้อม เหมือนว่าเราได้คอมมูนิตีที่เพิ่มขึ้นมากกว่า สำหรับน้ำ น้ำเล่นเพราะน้ำชอบ น้ำรู้สึกว่าการเล่นเซิร์ฟสเกตมันคือตัวเรากับบอร์ด มีแค่ 2 อย่าง เราไม่ได้เล่นเพื่อจะไปแข่งขันกับใคร เหมือนที่บอก การเล่นและฝึกฝนไปเรื่อยๆ มันคือการที่น้ำเอาชนะตัวเองไปเรื่อยๆ ค่ะ
ความประทับใจที่น้ำยังจำได้ น้ำรู้สึกว่า น้ำไม่ได้มาแข่งกับใคร น้ำจำ Movement ในการเล่นได้เลยว่ามันคือความสบายใจ แล้วเราก็เล่นไปโดยธรรมชาติ อีกอย่างคืออย่างที่บอก น้ำรู้จักคนเยอะขึ้นจากที่นั่น เหมือนทุกคนมารวมตัวกันเพื่อสิ่งนี้ ทุกคนช่วยกันเชียร์ ช่วยกันสอน อันนี้คือความประทับใจที่ยังรู้สึกอยู่ค่ะ”
และเมื่อให้เธอพูดถึงความเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ได้เข้ามาสัมผัสกับกีฬาชนิดนี้ ที่นอกจากจะเป็นอาชีพที่มอบรายได้ให้แล้ว กิจกรรมบนบอร์ดสี่ล้อนี่ยังกลายเป็นความสบาย ที่พาเธอหลีกหนีออกจากความเครียดอีกด้วย
“เปลี่ยนแปลงไปในแง่แรกคือมีอิสระมากขึ้น เราทำอะไรก็ได้ อาจจะเปลี่ยนในแง่ที่ว่ายุ่งมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ (หัวเราะ) หมายความว่า สมมติเราทำงานประจำ กลับบ้าน 2-3 ทุ่ม แต่ตอนนี้กว่าจะกลับถึงบ้านเป็นเที่ยงคืนเลย แล้วก็ตื่นเช้ามาสอน อาจจะทำงานหนักขึ้นแต่ทุกอย่างก็แฮปปี้มากขึ้น ในแง่ของสภาพจิตใจ ร่างกายเราก็ได้ออกกำลังกายด้วย
หลักๆ เลยคือให้อาชีพ ให้ความสุข ให้ความสบายใจ แล้วก็ให้เรื่องของคน ทำให้น้ำรู้จักคนเยอะขึ้น ให้น้ำรู้จักมิตรภาพดีๆ อย่างเวลาเครียด เวลาที่น้ำไปเจอคน ไปสอน มันค่อนข้างบิลด์เอเนอร์จีน้ำให้กลับมาดีได้ทันทีเลย เหมือนเป็นกำลังใจด้วย เหมือนกับว่าเขาเรียนกับเราแล้วรู้สึกมันใช่นะ อยากกลับมาเรียนอีก อันนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า สิ่งที่เราทำมันใช่และมีความหมายกับเรา
เสน่ห์ของการเล่นเซิร์ฟสเกต น้ำชอบ Movement ในการเคลื่อนที่ของเขา เวลาคนเล่นเซิร์ฟในทะเลมันก็เท่ แต่คุณสามารถเท่ได้โดยอยู่บนบก มันทำให้น้ำมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเรื่องของร่างกายและจิตใจ เหมือนมันเปิดโลกกว้างให้น้ำค่ะ”
เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย นักเซิร์ฟสเกตสาวได้ฝากถึงคนที่สนใจอยากลองก็สามารถเริ่มได้ เพียงแค่มีกายและใจที่พร้อมเปิดรับ
“สำหรับคนที่สนใจ เตรียมความพร้อมมาอย่างเดียวค่ะ ชอบก็มาเลย นอกจากศึกษาเรื่องราคา เรื่องอุปกรณ์ต่างๆ แล้ว อย่าลืมศึกษาวิธีเล่นด้วย เพื่อความปลอดภัยและการเล่นที่ถูกต้องกับจุดประสงค์ของอุปกรณ์ที่เขาดีไซน์มา
ส่วนตัวน้ำเองตอนนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นเล็กมากเลย ในอนาคตที่คุยกับแฟนเอาไว้ก็คิดว่าถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะสอนเซิร์ฟในกรุงเทพฯ เพื่อคนกรุงเทพฯ ที่ไม่มีโอกาสไปเล่นในทะเลค่ะ
มีประโยคที่แฟนน้ำพูดว่า “เขาเชื่อว่าพลังแห่งคลื่นจะนำพาสิ่งที่คล้ายๆ กันมาเจอกัน” แล้วด้วยความที่คนที่หลงรักในคลื่นเหมือนกันมาเจอกัน มันก็เลยเป็นเรื่องที่ดี แม้จะไม่ใช่คลื่นในทะเลก็ตาม”
ดูโพสต์นี้บน Instagram
สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพเคลื่อนไหว: อิสสริยา อาชวานันทกุล, กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ: ปัญญพัฒน์ เข็มราช
ขอบคุณภาพ: กก “” แฟนเพจ “LandSurfer Thailand : Surf - Skate School”, อินสตาแกรม @namittus, @toeyjarinporn และ @taewaew_natapohn
ขอบคุณสถานที่: LandSurfer Thailand : Surf - Skate School และ Zooom Surf Skate Place
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **