xs
xsm
sm
md
lg

“ดีใจที่ตาบอด” ข้าราชการผู้อุทิศตนกว่า 20 ปี ยกระดับชีวิตผู้พิการ [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชายผู้สร้างปรากฏการณ์ เอาชนะทุกอุปสรรค แม้สูญเสียดวงตาทั้ง 2 ข้าง จากอุบัติเหตุ ก็สามารถเป็นข้าราชการผู้พิการคนแรกในประเทศ พร้อมอุทิศตนกว่า 20 ปี ให้ชีวิตใหม่ผู้พิการทั่วประเทศ เปิดศูนย์ฝึกอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ให้ลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นผู้ขับเคลื่อน เบี้ยผู้พิการ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

สร้างอาชีพ-สร้างรายได้ ให้ผู้พิการทั่วประเทศ

“ผมอยากจะฝากคนไทยทุกคน ได้เชื่อว่าคนพิการมีศักยภาพเหมือนท่าน และท่านก็ต้องเชื่อเหมือนกันว่าท่านมีศักยภาพไร้ขอบเขต แล้วก็รักทำงานที่ท้าทาย ก็อยากจะให้ส่งเสริมคนพิการทำงานที่ท้าทาย เพราะความท้าทายเท่านั้นที่มันดึงศักยภาพของคนออกมา และยกระดับของคนให้มีความสามารถสูงขึ้นไปได้เรื่อยๆ”

ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และยังเป็นอาจารย์ผู้มากความสามารถ แม้จะพิการทางสายตา มองไม่เห็น แต่ได้สร้างปรากฏการณ์ให้สังคมเห็นว่า ผู้พิการก็เรียนเก่ง และทำงานได้ไม่แพ้คนตาดี

ไม่เพียงเท่านี้ ยังเป็นผู้พิการคนแรกที่สามารถเข้ารับราชการได้ ทั้งยังสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมไทยอย่างมากมาย โดยเฉพาะต่อผู้พิการทั่วประเทศ ฝึกอาชีพและสร้างงานให้ผู้พิการมีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ไม่ต้องเป็นภาระสังคม

แม้จะเป็นผู้พิการ แต่ก็ยังอุทิศตนทำงานกับภรรยาคู่ชีวิต อย่าง “มณี นามศิริพงศ์พันธุ์” เพื่อผู้พิการมานานกว่า 20 ปี
เปลี่ยนภาระ ให้เป็นพลัง เพราะเชื่อว่าการที่คนพิการจะได้รับการยอมรับก็ต่อเมื่อมีงานทำ ถ้าไม่มีงานทำก็จะถูกมองเป็นภาระ หากมีงานทำ จะถูกมองเป็นพลัง ซึ่งหากคนพิการได้ทำงานที่ท้าทายมากเท่าไหร่ จะยิ่งสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองได้มากขึ้นเท่านั้น



ลงทุนลงแรง เพื่อตั้งศูนย์ฝึกอาชีพให้ผู้พิการ โดยอาชีพที่ฝึกให้ มีทั้งอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้แบรนด์ “ยิ้มสู้คาเฟ่”

“ที่ร้านมีอาหารตามสั่งแล้วก็กาแฟ เป็นอาหารและเครื่องดื่ม พนักงานเป็นคนพิการและก็มีคนปกติช่วยด้วย จะต้องประกบกันครับ บุคลากรที่ทำก็จะเป็นคนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน รวมไปถึงคนที่ไม่สามารถพูดได้ คาเฟ่ที่เงียบที่สุด แต่ความสุขเสียงดังมาก”






นอกจากผู้พิการจะได้ฝึกอาชีพในแง่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม อาจารย์ยังซื้อที่ดินที่ นครชัยศรี จ.นครปฐม และที่เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เพื่อฝึกอาชีพด้านเกษตรกรรมให้แก่ผู้พิการอีกด้วย

“ตั้งเป้าไว้เลยว่าจะเป็นที่ฝึกอาชีพให้คนพิการด้านเกษตร ก็มีเมล่อนที่สร้างรายได้ค่อยข้างดี แต่เราก็มีอย่างอื่นที่ให้ทำ เช่น ต้องสอนคนพิการให้ปลูกผักสลัด สอนให้คนพิการรู้จักเพาะเห็ด สอนให้รู้จักเลี้ยงจิ้งหรีด อันนี้เป็นหลักสูตรบังคับของกระทรวงแรงงาน ส่วนอย่างอื่นเราก็สอนเพิ่มของเราเอง ที่นี่ก็จะเน้นเมล่อนเพราะว่ามันได้ราคาดี

เราก็ภาคภูมิใจที่ว่า เราก็ใช้ชีวิตในการที่ทำประโยชน์ให้กับคนอื่น ผมเติบโตมากับมีสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ เราก็เป็นคาทอลิก เราก็เลยถูกสั่งสอนมาว่าให้ช่วยคนอื่น เพราะฉะนั้นชีวิตของเราเลยต้องดำเนินรอยตาม

ท่านบอกอยู่เสมอว่า ช่วยตัวเองได้แล้ว อย่าลืมช่วยคนอื่นต่อไปเหมือนท่าน พวกเราคนพิการตาบอด ก็จะยึดถือคำสอนนี้เลย ถ้าพึ่งตัวเองได้เราก็ตะรวมกลุ่ม แล้วก็ช่วยคนอื่นต่อ จะเห็นเครือข่ายคนตาบอดทำงานเรื่องพวกนี้เยอะมาก มีหลายมูลนิธิ”

[สวนเมล่อน สร้างให้ผู้พิการฝึกอาชีพ]
หนึ่งในผู้พิการทางการได้ยิน ที่ได้รับโอกาสให้มีอาชีพ และมีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว “ ขนิษฐา ทองดี” บาริสต้า ยิ้มสู้คาเฟ่ ยอมรับว่ามาทำงานที่นี่เปลี่ยนแปลงชีวิตไปอย่างมาก เธอรู้สึกมีความสุขมากขึ้น เพราะเมื่อก่อนยอมรับว่าเป็นคนค่อนข้างเครียด และเศร้าหมอง เมื่อมีโอกาสได้ทำงานที่แห่งนี้ ได้เจอผู้คน ได้ให้บริการกับลูกค้า พร้อมทั้งได้คุยกับเพื่อนๆ

บาริสต้า ผู้พิการทางการได้ยิน เล่าอีกว่า ก่อนหน้านี้ไม่มีโอกาสทำงาน ไปสมัครงานที่ไหนก็มีปัญหา มาสมัครที่นี่ก็ได้ทำงาน และเธอยังเล่าอีกว่าตอนนี้ก็มีคนมาสมัครงานหลายคน ถือว่าให้อาชีพ ให้โอกาสให้ผู้พิการได้มีงานทำ และประสบความสำเร็จ

นอกจากฝึกอาชีพให้ผู้พิการ พร้อมทั้งให้ปฏิบัติงานจริงผ่านมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ยังมีศูนย์พัฒนาเด็กพิการให้เรียนฟรีอีกด้วย
“เพราะว่าพัฒนาของคน มันจะมีพัฒนาการเร็วสุดช่วง 8 ปีแรก ผมจึงต้องมีศูนย์เด็กเล็ก พอเราต่อสู้เรื่องสิทธิ เราต้องรณรงค์เรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งคือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งเราก็ต่อสู้ได้สำเร็จ เกิดสถานศึกษาพิเศษขึ้นมาพัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ”

ไม่เท่านั้น มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการไม่ได้มีบทบาทเพื่อฝึกอาชีพเท่านั้น แต่ยังมีศูนย์บริการล่ามภาษามือผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเปิดให้บริการฟรีไปทั่วโลก เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้พิการสามารถสื่อสารกับคนปกติที่อยู่ต่างสถานที่ได้แบบรวดเร็ว

[สร้างศูนย์พัฒนาเด็กพิการให้เรียนฟรีอีกด้วย]
ข้าราชการผู้พิการคนแรก

อาจารย์ผู้มากความสามารถเล่าว่า ตอนเด็กเป็นคนที่ไม่ค่อย สนใจการเรียนเท่าไหร่ แต่เมื่อเริ่มมีความฝันว่าอยากเป็นหมอ จึงเริ่มตั้งใจเรียนอย่างจริงจัง จากเด็กที่ไม่ค่อยได้เรื่องได้ราว ก้าวสู่แนวหน้าของห้อง แต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็พลิกชีวิตให้กลายเป็นผู้พิการทันที

“ผมประสบอุบัติเหตุ ตาบอดตอนอยู่ มศ.3 ซึ่งเป็นช่วงกำลังทุ่มเทดูหนังสืออย่างหนัก เพื่อจะสอบเข้าเตรียมอุดม ม.ศ.4-5 แต่พอดีตาผมไปเหลือบเห็นของในกล่องเครื่องมือทดลองวิทยาศาสตร์ ผมก็ไปเล่น มันเป็นวัตถุระเบิด มันก็เลยระเบิดขึ้นมา ผมก็เลยตาบอด

ตอนนั้นก็เสียใจมาก เพราะคิดไม่ออกว่าตาบอดแล้วเราจะทำอะไร คุณพ่อก็ปลอบใจว่าไม่ต้องกังวล เดี๋ยวจะพาไปเรียนการดูหมอ เพราะตาบอดเขาบอกดูหมอแม่น อยู่ที่ศาลเจ้าพ่อเสือ แต่พี่ชายก็บอกว่า มีโรงเรียนสอนคนตาบอด ผมบอกว่าถ้าอย่างนั้นไปโรงเรียนดีกว่า”

แรงระเบิดไม่เพียงทำให้ตาบอด แต่ยังสูญเสียนิ้วไปถึง 2 นิ้ว แม้จะรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลนานถึง3 ปี ก็ไม่ช่วยทำให้ตากลับมามองเห็น

เกือบหมดสิทธิ์เรียน เพราะขณะนั้นอายุ 15  ปีแล้ว เกินเกณฑ์ที่ทางโรงเรียนจะรับ โชคดีที่มี“มีสเจนีวีฟ คอลฟิลด์” ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพเล็งเห็นว่าควรเรียน มากกว่าฝึกอาชีพ

หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนสอนคนตาบอด ก็ได้เรียนต่อที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และโรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งโชคดีอธิการเซนต์คาเบรียล ช่วยประสายโรงเรียนอัสสัมชัญ จึงมีโอกาสได้เข้าเรียน

“วันที่ผมไปที่โรงเรียน พอดีไปพบกับ มีสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ ท่านเป็นสตรีตาบอดชาวอเมริกัน เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอด พอท่านทราบว่า การเรียนผมดี ท่านก็บอกว่าผมควรจะเรียนหนังสือดีกว่าจะไปฝึกอาชีพ”


ผลจากความพยายาม มุมานะตั้งใจ จนในที่สุด สามารถสอบเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อจบการศึกษา ยังสามารถสอบเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย นับว่าเป็นข้าราชการผู้พิการคนแรกของไทยเลยทีเดียว

พาชีวิตสู่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศได้ก็น่าทึ่งแล้ว แต่อาจารย์ยังคงเดินตามฝันที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิและคุณภาพชีวิตคนพิการในเมืองไทยที่ควรจะได้รับ

อาศัยจังหวะที่ได้ทุนไปเรียนเรื่องภาษีอากรที่สหรัฐอเมริกา ไปสมัครเรียนกฏหมายที่มหาวิทยาลัยชื่อดังของโลกควบคู่ไปด้วย

“เราไปสมัครฮาร์วาร์ด ผมก็เลยไปขอเจราจากับคณบดี เขาก็ยินดีให้เข้าพบ ท่านก็รู้ว่าผมจะมาคุยเรื่องที่จะให้รับเข้าเรียน ท่านก็เลยตั้งคำถามว่า มีเหตุผลผลอะไรที่ฮาร์วาร์ดจะรับผมเข้าเรียน ท่านถามคำถามเดียว ผมก็ยอกว่าฮาร์วาร์ดให้ทุนคนที่เอเชียหลายประเทศเลย รวมทั้งประเทศไทยด้วย

ผมมาเรียนที่ฮาร์วาร์ดเพื่อจะกลับไปต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศนั้นๆ อันนี้ผมไม่ได้ทุนจากฮาร์วาร์ดนะ แต่รัฐบาลให้ทุนผมมา ผมเรียนกฎหมายที่นี่เสร็จ ผมก็จะไปต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศผม เพราะประเทศผมเขาไม่ให้คนพิการเป็นโน่นเป็นนี่ สารพัดอย่าง ท่านก็รู้ดีอยู่แล้ว แล้วท่านก็บอกโอเคฉันรับเธอ ผมก็เรียนอยู่ที่ฮาร์วาร์ด2 ปี จบหลักสูตรกลับมา แล้วก็เรื่องภาษีด้วย”


ผลักดันกฎหมาย ยกระดับคุณภาพชีวิต

หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า การที่ผู้พิการในไทยได้รับเบี้ยยังชีพ เบี้ยคนพิการ รวมถึงการมีกฎหมายบังคับให้บริษัทเอกชนที่มีลูกจ้าง 100 คน ต้องจ้างผู้พิการเข้าทำงาน1 คน เกิดจากการขับเคลื่อนและการผลักดันของอาจารย์ท่านนี้

อีกหนึ่งบทบาทสำคัญ นอกจากเป็นอาจารย์ด้านกฎหมาย ยังเคยทำงานในสภา ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ซึ่งเคยขับเคลื่อนผลักดันกฎหมายหลายอย่างให้ผู้พิการจนสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น เบี้ยยังชีพเบี้ยคนพิการ และกฎหมายที่กำหนดให้บริษัทเอกชนที่มีลูกจ้าง 100 คน ต้องจ้างผู้พิการเข้าทำงาน 1 คน

พร้อมทั้งยังผลักดันกฎหมายเพื่อสิทธิ และคุณภาพชีวิตที่ผู้พิการควรได้รับ เรียกว่าถ้าไม่มีบุคคลท่านนี้ ผู้พิการทั่วประเทศ อาจจะไม่มีสิทธิ์ทำงาน หรือพัฒนาฝีมือได้มากถึงเพียงนี้

การที่จะมายืนอย่างสง่างามได้ถึงจุดนี้ คงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอดทน พยายาม ต่อสู้กับทุกๆ อย่างอาจารย์เล่าว่า ดีใจที่บอด ถ้าตาไม่บอด คงไม่ได้ทำเพื่อสังคม และคงเป็นพ่อค้า ค้าขายอยู่ที่บ้าน

สำคัญหากไม่มีบุคคลต้นแบบอย่าง “มีสเจนีวีฟ คอลฟิลด์” ผู้ก่อตั้งมูลนิธิคนตาบอดกรุงเทพ ที่ให้ทั้งโอกาส และหล่อหลอมความคิด ให้พัฒนาศักยภาพของตัวเอง และสอนให้ช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อตนเองมีความพร้อม อาจไม่มาไกลถึงวันนี้ก็เป็นได้

“ผมเป็นคน อ.คง จ.นครราชสีมา ผมเป็นลูกพ่อค้า พ่อแม่เป็นคนจีน ตอนเด็กๆ ผมชอบชีวิตชาวนา ชอบเลี้ยงวัวควาย ไปช่วยเพื่อนเกี่ยวข้าว แต่คุณพ่อเขาจะไม่ชอบ เพราะเขาจะบอกอยู่เสมอว่าต้องฝึกค้าขายเท่านั้นที่จะทำให้เรามีเงินมีทอง

คนที่เป็นต้นแบบที่ดี แล้วก็ปลูกให้ความเชื่อที่ดี คนนี้สำคัญมากเลยครับ ถ้าผมไม่พบมีสเจนีวีฟ คอลฟิลด์แล้วถูกปลูกฝังความเชื่อที่ดี ผมก็คงไม่มีวันนี้ ก็ยังดีใจครับที่ตาบอด ถ้าไม่ตาบอดก็คงค้าขายอยู่ที่บ้าน”


ครอบครัวมีความสุข แต่ได้มอบความสุขและชีวิตใหม่ให้ผู้พิการทั่วประเทศไทย ให้สามารถเข้าถึงสิ่งที่ตนเองควรที่จะได้รับ ไม่ว่าจะเบี้ยคนพิการ สิทธิในการฝึกอาชีพ และทำงานมีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว ไม่ต้องเป็นภาระต่อสังคมดั่งที่เคยเป็นมา

“ผมเริ่มตั้งมูลนิธิ เริ่มสะสมเงิน ได้เงินมาตั้งก็ปี พ.ศ.2542 เราเน้นอย่างเดียวคือฝึกอาชีพ เน้นว่าต้องสร้างงานให้คนพิการ เพราะคนพิการจะมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ คนจะยอมรับเราเมื่อเรามีงานทำ ไม่มีงานทำก็มองเราเป็นภาระ พอมีงานทำเขามองเราเป็นพลัง ผมเลยต้องใช้สโลแกน เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง

มีสเจนีวีฟสอนเรามาตลอดให้เชื่อ ศรัทธาความสามารถของเรา แล้วก็ทำงานท้าทายขึ้นไปเรื่อยๆ คุณภาพชีวิตเราก็จะยกระดับขึ้นไปด้วย เราต้องเห็นเคราะห์เป็นโอกาส ปัญหาอุปสรรคทั้งหลายมันคือโอกาสของเรา ถ้าเราสามารถเอาชนะปัญหาอุปสรรคนั้นได้มากเท่าไหร่ โอกาสเราก็มากเท่านั้น”

สัมภาษณ์ : รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ
เรียบเรียง :MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊กแฟนเพจ“มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ” ,“Yimsoo Cafeยื้มสู้คาเฟ่”





** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **







กำลังโหลดความคิดเห็น