xs
xsm
sm
md
lg

สลัดภาพ “ไอดอล” นั่งโหวตในสภา!! “แคน-นายิกา” ยืนยัน “อยากเป็นคนมีอำนาจ สร้างการเปลี่ยนแปลง!!”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากอดีตไอดอลชื่อดัง เธอค้นหาตัวเอง หลังจากประกาศจบการศึกษาจากวง เบนเข็มทิศชีวิต กระโดดข้ามสายสู่เส้นทางการเมือง แม้อายุยังน้อยแต่ไม่เป็นข้อจำกัด ท้าทายตัวเองในบทบาทใหม่ “อนุกรรมาธิการอีสปอร์ต” กับตัวอย่างคนดังที่กล้าแสดงออกทางการเมือง!!

จากชีวิตไอดอล สู่ชีวิตในสภา

“เราอยากเป็นคนหนึ่งที่มีอำนาจ สามารถเปลี่ยนแปลง อาจจะไม่สามารถทำให้มันพลิกกระดานได้ทันที แต่อย่างน้อยให้เป็นคนหนึ่งที่คอยเป็นเครื่องเตือนว่ามันต้องเปลี่ยนแปลงนะ ก็ยังดี”

แคน-นายิกา ศรีเนียน 
อดีตสมาชิกวงไอดอลชื่อดัง วัย 23 ปี ที่เรียกได้ว่าเปลี่ยนเข็มทิศชีวิตกระโดดข้ามสายงาน หันมาเอาจริงเอาจังกับความฝันที่อยากเห็นสังคมเปลี่ยนแปลง ด้วยการเข้าสู่เส้นทางการเมืองในที่สุด

หลังจากที่เธอประกาศจบการศึกษาจากวงไอดอลชื่อดัง เมื่อประมาณเกือบ 3 ปีที่แล้ว เธอก็ได้เงียบหายไปสักพัก จนล่าสุดเธอได้ โพสต์รูปลงแฟนเพจเฟซบุ๊ก เป็นรูปที่เธอนั้นสวมเสื้อพรรคก้าวไกล พร้อมเขียนเขียนคำบรรยายบอกว่าสาเหตุที่หายหน้าหายตาไปในช่วงที่ผ่านมา เพราะมัวแต่ลงพื้นที่ในชุมชนต่างๆ

แน่นอนว่าสร้างความฮือฮาอยู่ไม่น้อย เมื่อมีการเปลี่ยนบทบาทจากไอดอลที่มาพร้อมอุดมการณ์การขับเคลื่อนที่เธอเชื่อ ทำเอาแฟนๆ แห่เชียร์ว่าที่ ส.ส.หญิงกันเลยทีเดียว เรียกได้ว่าเธอก็ได้ใช้เวลาค้นหาตัวเองจนผันตัวเองสู่เส้นทางการเมืองในที่สุด


เธอเล่าให้ฟังถึงการเปลี่ยนแปลงบทบาทในครั้งนี้ว่า เป็นนักกิจกรรมตัวยงตั้งแต่เด็ก มักจะชอบออกค่ายตั้งแต่วัยมัธยมอยู่แล้ว พอเข้าสู่วัยมหาวิทยาลัยก็ได้เข้าไปทำงานอาสาอย่างเต็มที่ และเธอยังเป็นคนที่ชอบท่องเที่ยวเปิดประสบการณ์ต่างๆ ให้กับตัวเอง ออกไปเจอผู้คนอยู่บ่อยๆ

“เดิมทีก่อนที่เราจะเข้าวงไอดอล เราเป็นคนที่สนใจในเรื่องการเมืองอยู่แล้ว ในเรื่องของการที่จะอยากเป็นนักพัฒนาให้เห็นการเปลี่ยนแปลง

จริงๆ ที่เราเข้าไปในวงไอดอล ส่วนหนึ่งเราก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงด้วย แต่พอเราเข้าไปอยู่ในวงไอดอล มันก็มีลิมิตของการทำงานว่าได้ถึงขั้นไหน ประจวบกับกำลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยพอดี จบการศึกษาจากวงไอดอลพอดี

เสร็จแล้วถ้าเกิดเราอยากมาเปลี่ยนแปลง เราก็ต้องมีบทบาท หรือมีอำนาจมากขึ้นหรือเปล่า ก็เลยสนใจที่จะเปลี่ยนทิศ เปลี่ยนเข็มเข้ามาทำงานการเมือง

ก่อนจะเข้าวงไอดอล เป็นนักกิจกรรมตัวยงอยู่แล้ว ลงเลือกตั้งในมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เป็นสภานักศึกษา ก็เป็นฟันเฟืองส่วนหนึ่งในการลงเลือกตั้งเหมือนกัน จัดค่ายอาสา ทำรับน้อง เป็นนักกิจกรรมมาก่อน”

[ภาพเมื่อครั้งเป็นอดีตสมาชิกไอดอลชื่อดัง]
จากไอดอลสู่นักการเมืองยอมรับว่าชีวิตแตกต่างจากเดิม เพราะเป็นคนละสายงานส่วนที่คนเชียร์ลง ส.ส.หญิง คงให้เป็นเรื่องของอนาคต เพราะทุกวันนี้ก็ทำสุดความสามารถที่จะทำได้แล้วเช่นกัน

“มันต่าง เพราะมันคนละสายงาน แต่ไม่มากตรงที่เป็นคนของประชาชนเหมือนกัน เป็นคนที่จะต้องเราจะต้องรับความรู้สึกของคนที่เราพูดคุยด้วยเหมือนกัน เป็นที่คาดหวังของคนเหมือนกัน

ตอนนี้ต้องให้ทุกคนรู้ก่อนว่า ที่มาทำตรงนี้เราอายุแค่ 23 ปีเท่านั้น ในอนาคตอีก 2 ปี เราไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไร แต่การที่จะได้ลงตำแหน่งอะไรก็ตาม มันต้องอายุ 25 ปี ถึงจะทำได้ เมื่อเราอายุ 25 ปี มันอาจจะไม่ทันรอบที่เขามีเลือกตั้งก็ได้ อันนี้ก็บอกไม่ได้

แต่ว่าเจตจำนงของเรา คืออยากเป็นเหมือนฟันเฟือง คนที่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ หรือมีอำนาจขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลงได้ เราทำสุดความสามารถของเราแล้ว เรามองถึงแค่วันหนึ่งได้มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง ตำแหน่งอะไรก็ได้ที่ได้เปลี่ยนแปลง เรามองแค่นั้นพอ แล้วเรามีความสุขกับมัน

ตอนนี้มองว่าประเทศไทยมีความหลากหลาย บางอย่างมันไม่สามารถเปลี่ยนกระดานได้ทีเดียว เพราะมันไม่ฟังกันแน่นอน ความห่างทางความคิดมันมีเยอะ แต่เป็นเรื่องของเวลาที่คิดว่ามันจะพัฒนาได้ แต่น่าเสียดาย แทนที่มันจะพัฒนาได้เร็ว มันกลับต้องรอเวลาในการพัฒนา”


เมื่อถามว่าส่วนหนึ่งที่ก้าวมาอยู่ในฐานะนักการเมือง เป็นเพราะแรงผลักดันจากคุณพ่อ ภูวกร ศรีเนียน ที่โลดเล่นในวงการนี้มาก่อนหรือไม่ เพราะเนื่องจากคุณพ่อเองก็เป็นเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ และยังเป็นอดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 พะเยา

แต่เธอตอบกลับมาว่า เป็นเพราะตัวเธอเองอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงมากกว่า เพราะตั้งแต่เด็กได้มีโอกาสติดตามคุณพ่อไปลงพื้นที่ตามชุมชนต่างๆ ทำให้มองเห็นความเหลื่อมล้ำ การเป็นอยู่ของผู้คนที่ค่อนข้างลำบากอย่างเห็นได้ชัด

“ส่วนหนึ่งเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ส่วนเรื่องของคุณพ่อมันเป็นการที่เราถามเขาว่า บางครั้งเราไม่ได้เกิดในเจนเนอเรชันที่เราจะรู้จักนักการเมือง ผู้หลักผู้ใหญ่ได้หมด คนนี้เป็นใคร คนนั้นเป็นใคร เรามีหน้าที่คือถามคุณพ่อว่าคนนี้ชื่ออะไร คุณพ่อจะช่วยซัปพอร์ตในข้อมูลด้านนั้นมากกว่า

อาจจะเป็นเหมือนเขาพาเราให้ไปเห็นความเหลื่อมล้ำ โดยการที่เขาไม่ได้บอก แค่พาไปเฉยๆ จุดเริ่มต้นที่เราจะมาเป็นนักพัฒนา เราดันไปเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยสายตาของเราเองมาก่อน จากการที่ติดตามคุณพ่อไปทำงาน ประมาณอายุ 13-14 ปี

เราเป็นเด็กที่โตมากับโรงเรียนที่ค่อนข้างจะสังคมดี โรงเรียนเอกชน โรงเรียนสองภาษา โรงเรียนนานาชาติ เราอยู่แบบนั้นมา เราก็จะไม่ได้เห็นภาพอีกภาพนึงที่เราไม่คาดคิดเหมือนกันว่าทำไมเขาถึงอยู่แบบนี้ อย่างบ้านที่ไม่มีประตู ทั้งที่อยู่ห่างจากบ้านที่เราอยู่ไม่กี่กิโลฯ เท่านั้นเอง ก็ต่างแล้ว

รวมไปถึงรู้สึกว่าโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลมันต่างกัน ในเรื่องของระบบการศึกษา เพราะในเรื่องของระบบการศึกษาไทย มันจำกัดว่าเราต้องคิดแบบนี้ ตามหนังสืออย่างนี้ แต่ตอนที่เราเรียนระบบอินเตอร์ เรามีชื่อโมงที่ได้discuss กันในเรื่องต่างๆ การถามคำถามไม่ใช่เรื่องที่ผิด

แต่ว่าเรื่องนี้มันก็ต้องแล้วแต่คนฟัง หรือคนอ่านข่าวด้วยนะคะว่าเขาเห็นว่าแบบไหนดีกว่ากัน แต่ส่วนตัวแล้วคิดว่า การที่ไม่จำกัดสิทธิทางความคิด มันก็คือเสรีภาพอย่างหนึ่งที่มนุษย์พึงมี”


ขับเคลื่อนวงการเกม สู่มูลค่ามหาศาล

อีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้จัก ว่าเธอนั้นได้รับหน้าที่สำคัญ บทบาทใหม่ในฐานะปรึกษาอนุกรรมาธิการศึกษาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมและอีสปอร์ต ของรัฐสภา

เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เธอเล่าด้วยสายตามุ่งมั่นอีกว่า วงการเกมเป็นวงการที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศมหาศาล เพราะมันไม่ได้มีเพียงแค่ตัวเกม แต่สินค้า IP ต่างๆ ก็ทำเงินได้

“คือเดิมทีประเทศไทยของเราเกมถือว่าเป็นสิ่งที่ใหม่มากๆ แต่ในต่างประเทศ เกมสามารถสร้างมูลค่าให้แก่ประเทศอย่างมาก สร้างอาชีพ สร้างความ tradability (ความสามารถในการต่อรอง-ซื้อขาย) ให้กับเด็ก หรืออะไรต่างๆ นานา คือมูลค่ามันเยอะ

ทางอนุฯ เราก็เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่อยากจะให้ทางรัฐบาล หรือหน่วยงานภาครัฐ มองเห็นคุณค่าของมันหน่อย ว่ามันสามารถขับเคลื่อนประเทศได้เหมือนกันนะ ถ้าคุณมาสนใจมัน

ทางอนุฯ ก็เลยเกิดเป็นกลุ่มขึ้นมาก่อน เพื่อที่จะศึกษาข้อมูลที่แท้จริงว่า อะไรที่เราสามารถนำมาพัฒนาวงการนี้ได้ อะไรคือสิ่งที่ทำให้รัฐบาลไม่ยอมรับ เกิดการถกเถียงกัน ก็เหมือนการที่บอกตอนแรกว่าการศึกษาควรมี discussion

และรัฐบาลก็ควรมี discussion เพื่อดูว่ามันมีทั้งข้อดี และข้อเสียอะไร แล้ว weight เอาว่ามันควรจะเกิดขึ้นหรือเปล่า อนุฯ นี้ก็มีหน้าที่แบบนั้น”


ทั้งนี้ยังมองอีกว่า วงการเกมบ้านเราไปได้ไกลมากกว่านี้ เพียงแต่เมืองไทยยังขาดการผลักดันและส่งเสริมด้านนี้อยู่เยอะมาก

“ช่วงแรกก็จะเป็นการเรียกผู้ผลิตเกม หรือแม้แต่ developer ด้านเกมมาพูดคุยถึงปัญหา ว่าอะไรคือสิ่งที่มันติดขัด ทำให้คุณรู้สึกว่าอยากให้รัฐเข้ามาช่วยสนับสนุน เขาก็มีการเล่าเรื่องราวต่างๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง งบประมาณอยู่ที่ไหน หรือว่าไปขอข้อมูลได้หรือไม่ได้อันนี้ก็คือปัญหาที่เรารับฟังในช่วงแรก

ช่วงล่าสุดที่ผ่านมาก็มีการเรียกหน่วยงานรัฐบาลเข้ามาคุยกันแล้ว ปัญหาที่เจอมันก็ตลกนะ มันเหมือนเป็นการโยนเจ้าภาพเกิดขึ้น ว่าสรุปแล้วกระทรวงไหน หรือหน่วยงานไหนล่ะที่จะเข้ามายุ่งกับเรื่องนี้จริงๆ

งบประมาณที่เราดู คิดว่าจะลงในเกมได้เยอะ แต่มันถูกแตกไปหลายสำนักงาน หลายหน่วย แล้วเราต้องมานั่งรวมทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพื่อที่จะพัฒนาสิ่งๆ หนึ่ง มันต้องใช้เวลา อนุฯ นี้คือ ต้องพยายามให้มันเกิด ให้มีการศึกษาเกิดขึ้น

มันมีกฎหมายอะไรมาช่วยเราหรือเปล่าด้านอาชีพของเรา มันก็เกิดเป็นการตั้งคำถามเกิดขึ้น เพื่อที่จะทำให้เราเรียกร้องสิทธิ เรียกร้องคุณประโยชน์ให้เราได้”

[บทบาทใหม่ อนุกรรมาธิการอีสปอร์ต]
แน่นอนว่าคำถามที่คนอยากรู้มากก็คือ ทำไมเธอถึงถูกเลือกให้เป็นอนุกรรมาธิการ เธอเล่าให้ฟังว่า เธอเองเข้าใจวงการเกมอยู่ไม่น้อย ถึงแม้จะเล่นไม่เก่ง แต่ก็เป็นคนที่ดูเกมอยู่ตลอดเวลา

“ต้องยอมรับก็คือ เรามีฐานที่แฟนคลับที่เป็นคนสนใจด้านเกมอยู่ และเราเป็นคนรุ่นใหม่ ที่อาจจะไม่ใช่คนที่เล่นเกมเก่ง แต่เป็นคนที่ดูเกมตลอด เข้าใจวงการเกมว่ามีสตรีมเมอร์ มีนักแคสต์เกม มีบริษัทเกมอะไรบ้าง

มีปัญหาอะไรที่มันติดขัด ไม่ทำให้ประเทศไม่สามารถพัฒนาด้านนี้ได้ เกมมันแค่จุดหนึ่ง สุดท้ายแล้วมันอาจกระทบถึงวงการศิลปะ ฟรีอาร์ต วงการครีเอทีฟ

จากการที่เราเป็นไอดอลมา เราก็ผูกพัน หรือเราก็เคยทำเพลง มันก็เป็นหนึ่งในสายงานของวงการครีเอทีฟเหมือนกัน ก็จะเข้าใจว่าพวกเขาต้องการอะไร และค่าของครีเอทีฟมันมีมากกว่านี้ เด็กสายศิลป์จริงๆ แล้วมันก็มีค่าเท่าเด็กสายวิทย์นะ”

หลังจากมีได้มีการแถลงเปิดตัวอนุกรรมาธิการศึกษาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมและอีสปอร์ต ซึ่งมี โฟกัส จีระกุล นักแสดงร่วมอยู่ด้วยนั้นหลายคนดราม่าถึงความเหมาะสม ว่ายังไม่มีประสบการณ์ และอายุยังน้อย พร้อมตั้งคำถามว่าจะสามารถทำได้หรือไม่

“เรื่องนี้เราก็รับฟัง แต่เขาก็มีมุมมองของเขา เราก็มีมุมมองของเรา มุมมองของเราก็เป็นมุมมองที่เขาเองก็อาจจะไม่รู้ก็ได้ว่าเรามีแบบนี้ ซึ่งมันก็ดีแล้ว มันก็ทำให้เกิดการถกเถียงกัน ทำให้สามารถมองเห็นปัญหามากกว่าด้านเดียว

ในรัฐบาล หรือการเมือง มันไม่ต้องมีแค่คนอาชีพเดียว มันต้องมีทุกอาชีพ เพื่อมามองปัญหาหนึ่งปัญหา แต่คนละด้านกัน สุดท้ายแล้ว พอเราทำสิ่งหนึ่งขึ้นมา มันจะได้ตอบสนองกับคนในส่วนหมู่มาก ให้ได้มากที่สุด เรามองแบบนั้น”


จุดเริ่มต้นนักพัฒนา อยากเห็นประเทศเปลี่ยนแปลง

เธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักพัฒนา ที่เธอยืนหยัดอยากจะช่วยเหลือคนในสังคมด้วยการพยายามเข้าร่วมกิจกรรม และลงพื้นที่สำรวจปัญหาของชุมชนในเขตกรุงเทพฯ พร้อมมองว่าเป็นที่ท้าทายที่ต้องพยายามทำให้เต็มที่

“ต้องใช้ความพยายาม และอดทนมาก เพราะว่าบางวันมันก็ต้องเตรียมใจว่าจะไปโดนอะไร แต่ว่ามันเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่เราพร้อมที่จะท้าทายกับมัน

คือการลงพื้นที่ คือการที่เราไปเจอกับพี่สมาชิกพรรคอีกคนหนึ่ง เป็นคุณหมอ ชื่อ คุณหมอออย-เฉลิมชัย กุลาเลิศ เขามีบานอยู่ในเขตเดียวกับบ้านเรา แล้วก็อยากทำให้พรรคได้เป็นที่รู้จักกับคนในละแวกนั้น ก็เลยรวมทีมกันขึ้นมา เดินเข้าหาแต่ละชุมชนว่ามีเรื่องร้องเรียน หรือปัญหาอะไรอยากให้ทางทีมเราช่วยหรือเปล่า

ก็จะเป็นตัวประสานงานกับหน่วยงานรัฐ แล้วก็ตัวพรรคของเราอยู่ในพื้นที่นั้น ก็คือเขตพื้นที่เลือกตั้งที่ 14 บึงกุ่ม-คันนายาว

เราก็เข้าไปแนะนำตัวกับเขาก่อน บางที่บางชุมชนเขายังไม่รู้จักเลยพรรคก้าวไกลคือพรรคอะไร เราก็ต้องเดินลงไปบอกว่าเราคือหนึ่งในพรรคการเมืองน้องใหม่นะ เป็นตัวแทน อยากจะให้คุณมาเห็นหน้าเรานะ ถ้ามีปัญหาอะไรก็ติดต่อมา เดี๋ยวเราจะช่วยประสานให้”


นอกจากนี้ เธอยังเล่าด้วยสายตามุ่งมั่น ในแต่ละครั้งที่ได้ไปลงพื้นที่ให้ฟังว่า แม้จะผ่านมาหลาย 20 ปี ปัญหาเดิมๆ ซ้ำๆ บางปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข เพราะฉะนั้นเธอเองมองว่าเธออยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการยื่นมือเข้าไปช่วย

“สิ่งที่เรารับรู้ก็คือ ประเทศไทยมีความหลากหลายมาก แต่ละชุมชนต้องการไม่เหมือนกัน น่าแปลกในพื้นที่ที่แคนลงมันมีชุมชนที่เขาเรียกว่า ชุมชนแออัด กับชุมชนบ้านรั้ว

ชุมชนบ้านรั้วก็จะเป็นชุมชนที่ค่อนข้างมีฐานะ แต่รู้ไหมว่าพอเราลงไป ชุมชนบ้านรั้วมาขอเงินนักการเมืองเยอะกว่าชุมชนแออัดอีก

มันเหมือนกับบ้านรั้วของเขา มันเป็นเหมือนบ้านรั้วที่มีอายุมาหลาย 20 ปี มันไม่เกิดการพัฒนาภายในหมู่บ้าน หรือหมู่บ้านมันไม่สามารถขึ้นตรงกับหน่วยงานรัฐได้ เพราะไม่ถูกจัดว่าเป็นชุมชน ไม่มีนิติหรือเจ้าของของหมู่บ้าน ก็เปลี่ยนมาหลายรุ่นแล้ว มันเลยทำให้มีปัญหาภายใน ไม่สามารถซ่อมแซมได้ ไม่มีการถอดผ้าป่า หรือเรียกเรี่ยไรเงินคนในหมู่บ้าน แล้วเขาไม่ได้ชินที่ต้องมีการเอาเงินให้กัน ก็เลยเข้าหานักการเมือง แล้วพึ่งนักการเมือง

ฝาท่อคุณมีมาให้หรือเปล่า แล้วเราที่เป็นนักการเมือง ไม่สามารถเบิกฝาท่อ หรืออะไรจากหน่วยงานรัฐได้ เพราะชุมชนเขาไม่ใช่ชุมชนที่ขึ้นตรงกับหน่วยงานรัฐ แล้วมันมีเยอะมากๆ ในพื้นที่ที่เราเจอ

ส่วนชุมชนแออัด ส่วนใหญ่เขาก็จะขึ้นตรงไปกับหน่วยงานรัฐไปเลย และสามารถเบิกจ่ายได้ แต่จะติดปัญหาที่ว่า บางครั้งเขาเขียนเอกสาร หรือความรู้ว่าเขามีสิทธิ์อะไรในการขอก็น้อยเกินไป นี่คือปัญหาที่มันไม่เหมือนกัน”

[ลงพื้นที่รับฟังปัญหาชาวบ้าน]
แม้การลงพื้นที่ในแต่ละครั้งอาจจะไม่ได้ช่วยได้ทั้งหมด หรือช่วยได้ทันท่วงที แต่เธอมองว่าการไปให้ข้อมูล ให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีแล้ว

“ถามว่าช่วยอะไรได้บ้าง ถ้าเกิดในมุมมองของเราก็คือ หลักๆ เลยของชุมชนแออัด หรือชุมชนที่อยู่ตามหน่วยงานรัฐ ก็คือต้องบอกว่าเขามีสิทธิอะไร จริงๆ อยากให้คนในชุมชนทุกคนรู้ด้วยซ้ำว่าไม่จำเป็นแค่ประธานเท่านั้นที่เดินไปขอได้ คนในชุมชนเห็นว่ามีปัญหาอะไร เขาก็ควรจะสามารถเดินไปเรียกร้องได้ด้วยตัวเอง

ถ้าเกิดว่าคนคนเดียวรู้ว่าทำยังไง มันจะเกิดการเอารัดเอาเปรียบกันเกิดขึ้น เกิดความไม่เท่าเทียม เกิดการที่ผู้รู้อาจจะใช้โอกาสตรงนี้ไปแลกเปลี่ยนกับคนอื่น เพราะว่าเรารู้มากกว่า อยากจะให้ทุกคนรับรู้ว่าตัวเองมีสิทธิอะไรมากกว่า”

แน่นอนว่าเวลาลงพื้นที่ เรื่องของอายุจะเป็นข้อจำกัดสำหรับหลายคนที่มีประสบการณ์แล้ว แต่เธอกลับมองว่า แม้จะอายุ 23 ปี สำหรับเธอเองเรื่องของอายุไม่ใช่ข้อจำกัดที่จะทำงานตรงนี้ เธอจึงพยายามปรับหาตรงกลาง และทำงานให้ออกมาดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

“มันก็มีในช่วงแรกเท่านั้น แต่แคนคิดว่ามันเป็นเกือบทุกสังคม อย่างเวลาบริษัทเปิดรับพนักงานใหม่เข้ามา เขาก็ต้องใช้เวลาในการปรับตัว ในการเรียนรู้งาน อายุของเรามันอาจจะใหม่ก็จริงๆ แต่มันก็มีมุมมองที่คนที่เขาอยู่มาก่อน อาจจะไม่ได้มองเหมือนเราด้วย ทำนองนี้

สิ่งที่แคนพยายามตรงนี้ก็คือ ปรับตรงกลาง ก็คือรับทั้งใหม่ และเก่า พยายามหาตรงกลางให้ได้มากที่สุด ให้ออกมาเป็นงานที่ดีที่สุด”




แม้จะเป็นอดีตไอดอลคนดังที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว คนรู้จัก ในการลงพื้นที่ไปพบปะผู้คนก็ไม่ได้ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น และเธอเองก็พยายามสู้ด้วยผลงานมากกว่าชื่อเสียง

“ลงพื้นที่นะ ถ้าลงจริง น้อยคนที่รู้จักเรา หนึ่งเรื่องของวัย ในพื้นที่ของเรามีผู้สูงอายุเยอะกว่าวัยรุ่น สองวัยรุ่นมันไม่มีมหาวิทยาลัยในพื้นที่ของเรา ถ้าวัยรุ่นเท่าเรา หรือคนที่เข้าถึงสื่อมีเดีย และโซเชียลฯ ต่างๆ เขาอาจจะย้ายถิ่นฐานไปอยู่กลางเมือง ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ รอบนอก

พอลงพื้นที่จริงๆ มันไม่มีใครรู้เลยว่าเราเป็นใคร แล้วช่วงนี้ใส่ mask ยิ่งไม่เกี่ยวกัน คือสู้ด้วยการที่พยายามให้เขาเห็นผลงานมากกว่าชื่อเสียง แต่คู่กันก็ได้ แต่พื้นที่มันก็คือสิ่งที่มันสามารถช่วย มันเป็นนามกระทำที่ชัดที่สุด”

เรียกได้ว่าตอนนี้ถือเป็นนักการเมืองแบบเต็มตัว เพราะต้องทำงานอย่างหนัก ลงพื้นที่แทบจะไม่มีวันหยุด
“เต็มตัวเลยไหม ก็ถ้าเกิดว่าใน 1 เดือนของเรามี 30 วัน เรามีวันหยุดจากชุมชนแค่ 6 วัน ที่เหลือก็คืออยู่กับพื้นที่ แล้วก็มีวันหยุด 6 วัน ประมาณ 4 วันก็เข้าสภาแล้ว

ก็จะมีการจัดตาราง อาทิตย์หนึ่งอย่างน้อยต้อง 5-6 ชุมชนเราต้องรู้จัก พื้นที่มันค่อนข้างกว้าง มันเป็น 100 ชุมชนเลย แล้วถ้าเราไม่ทำตอนนี้ คนที่เขาอยู่มานานแล้วในพื้นที่ เขาอยู่มาเป็น1 0-20 ปี เราจะไปสู้อะไรเขาได้ ถ้าเราไม่ลงพื้นที่ไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น”


นักกิจกรรมตัวยง พร้อมหัวใจอาสา

นักกิจกรรมที่ทำมาตั้งแต่เด็ก เป็นอีกหนึ่งแรงผลัก ที่ทำให้เธอเปลี่ยนแปลงบทบาทมาถึงจุดนี้ เกิดการตั้งคำถามในใจเมื่อเวลาออกค่าอาสาว่าทำไมต้องมาทำอะไรแบบนี้ แต่เพราะว่าอยากเห็นคุณภาพชีวิตของน้องๆ ต่างๆ จังหวัดเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงทำให้เธอลุยงานด้านนี้เต็มที่มาตั้งแต่สมัยเรียน

“ใช่มันเป็นแรงผลักส่วนหนึ่ง คือการที่เราเป็นนักกิจกรรม ตอนนั้นเราออกค่ายอาสา แล้วเราเกิดการตั้งคำถามว่า ทำไมเราต้องมาทำ ทำไมเราต้องเป็นไปสร้างฝายให้น้อง ทั้งๆ ที่ทำไมมันไม่มีฝายอยู่แล้ว ทำไมเงินที่เราจ่ายค่าภาษีรัฐบาลไม่ทำ ทำไมมากินแรงเราอะไรแบบนี้ แต่เราอยากให้มันพัฒนา เราก็เลยอาสาไปทำ

เพราะฉะนั้นเราควรไปแก้ที่ระบบทั้งหมด ว่าอีกหน่อยมันอาจจะไม่ต้องมีแล้วนะ นักอาสา ไม่ต้องอาสาแล้ว มันเท่ากันหมด อันนี้ในมุมมองของเรานะ ไม่รู้ว่าคนอื่นส่วนใหญ่ที่ไปทำก็คืออยากเห็นคุณภาพชีวิตของน้องๆ ในต่างจังหวัด หรือของคนมันดีขึ้น มันเท่ากัน มันอยากเปลี่ยนแปลง คิดว่าอาสาหลายๆ คนก็เห็นถึงจุดนี้เหมือนกัน

ตั้งแต่ปี 1 เข้ามาหาวิทยาลัยครั้งแรก ตั้งเป้าว่าฉันจะต้องเป็นนักกิจกรรม มันเกิดจากการที่มัธยม อย่างที่เล่าว่าเราตามติดพ่อไปเจอกับความเหลื่อมล้ำ เราจะทำยังไงที่จะช่วยคนเหล่านี้ได้บ้าง

แต่ก่อนก็จะดูทีวี ดูรายการว่าเด็กมหาวิทยาลัย ปี 1-2 ก็จะมีกิจกรรมทำ เข้ามหาวิทยาลัยปี 1 คือเราเข้าชมรมเลย อย่างแรกคือสิ่งที่เราทำ อย่างแรกเลยคือสิ่งที่เราทำ มีกิจกรรมอะไร เราอยากทำ เราอยากรู้ว่ากระบวนการทำงานกับผู้คนเยอะๆ แต่ละคนคิดอะไรยังไง มันเป็นแบบไหน”


ต้องเป็นเฮดหลักในการการจัดค่ายต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ต้องคุมคนเป็นพัน เธอจึงมองว่านี่เป็นจุดที่แม้จะจเอปัญหาหลากหลายตอนนั้น ก็จะเป็นการฝึกทำงานเบื้อต้นได้ดี

“ตอนนั้นเลย อย่างแรกที่ทำจะเรียนรู้ผู้คนกับความหลากหลาย ก็คือเราเป็นกรรมการรุ่นที่เราจะต้องรวมคนเป็นพันให้มาเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำงานกิจกรรมรับน้อง ก็ต้องคุมทั้งเด็กปี 1 ปี 2 แล้วมันจะเจอปัญหาหลากหลาย คือฝึกการทำงานในเบื้องต้นก่อน

หลังจากนั้นก็มีการเข้าค่าย ออกค่ายต่างจังหวัด ค่ายอาสาประมาณ 10 วัน ที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือว่าโทรศัพท์ไม่สามารถใช้ได้ แต่ว่าตอนไปค่ายตอนนั้นมันทำให้เรา พอออกจากนอกกรุงเทพฯ ได้เจอ ได้เห็นปัญหาว่าปัญหาคนในต่างจังหวัดเป็นยังไง เด็กๆ ได้รับการศึกษาเป็นยังไง ก็คือช่วงเวลาศึกษา

เราสามารถมาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานได้จริงๆ มันเกิดขึ้นตอนวัยมหาลัยฯ แต่ในตอนวัย ม.ต้น หรือวัย ม. ปลาย มันเป็นแค่เราไปร่วมงานเฉยๆ มันก็จะมองภาพไม่เหมือนกัน

การที่เราไปร่วมงานเราอาจจะสบาย เราอาจจะมีคนจัดงานให้ ไม่ได้เห็นปัญหาอะไรมาก แต่เราได้เห็นปัญหาจริงๆ กับการที่เราเริ่มทำงานร่วมกับคนว่าคนมีหลากหลายกันขนาดไหน”


เธอยังเล่าอีกว่า จากการลงพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือ ในฐานะนักศึกษา และในฐานะนักการเมือง มีการแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตอนเป็นนักศึกษาคนจะให้การต้อนรับดีมาก แต่เมื่อมาอยู่ในบทบาทนักการเมือง คำถามแรกที่จะต้องเจอเลยคือ มีอะไรมาให้บ้างวันนี้ ซึ่งเธอมองว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายในการรับมือ และต้องใช้ความพยายามและอดทนอย่างสูง

“เราทำตรงนั้นประมาณ 2 ปีเต็ม อยู่กับมันจนรู้สึกว่า สุดท้ายเราก็ไปในนามนักศึกษา แล้วถ้าเราอยากเปลี่ยน เราอยากไปเหมือนกัน ถ้าเราไปในนามอื่นมันจะเป็นยังไง บวกกับที่เราก็รู้ว่า ตัววงพี่สาวไอดอลที่เราเคยอยู่ เขามีกิจกรรมแนวๆ นี้ ให้กำลังใจ เป็นแบบ CSR พอมันมาเปิดเมืองไทย ก็เลยอยากลองเข้าไปดูว่า ถ้าเรามีชื่อเสียงด้วย และเราสามารถทำตรงนี้ไปด้วย จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมา

มันต่างกันในนามค่ะ ตอนที่เราทำค่าย ชาวบ้านจะเปิดรับเรามาก เพราะว่าหนึ่งเรามาในนามนักศึกษา หนูลูก หนูอย่างโน้น อย่างนี้ อย่างนั้น ดีใจว่านักศึกษามหิดล

แต่พอนักการเมืองมีอะไรมาให้ คุณจะเข้ามาคุณมีอะไร คุณเป็นนักการเมืองไม่ใช่เหรอ คุณไม่มีงบประมาณเลยเหรอ คือเราลงไปด้วย mindset ที่เหมือนกัน แค่ต่างสถานะกัน แต่ทำไมการยอมรับของคนมันต่างกัน”


หลายคนเกิดการตั้งคำถามว่า ที่อดีตไอดอลชื่อดัง เธอเข้าสู่วงการไอดอลเพราะอยากให้เป็นใบเบิกทางการเมือง แต่เธอกลับปฏิเสธว่าไม่ใช่ ด้วยใจเป็นจิตอาสาและชอบทำกิจกรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บวกกับได้ลงพื้นที่ไปเจอความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นอีกหนึ่งแรงผลักให้ก้าวมาถึงจุดนี้

“ไม่ใช่เลย การเมืองคือเป็นแบบเรายังไม่รู้เลยว่าการเมืองจริงๆ แล้วมันทำได้ใกล้เคียงกัน เรามารู้ทีหลังนะว่า การทำการเมืองก็คือการมา คล้ายๆ กับสิ่งที่เราทำมาโดยตลอด

มันเหมือนกับช่วงนึงเราไปช่วย ผลมาจากคุณพ่อด้วยแหละ คุณพ่อรู้จักกับพี่ที่เขาลงพื้นที่ในแต่ละเขต เราก็เลย บางครั้งอย่างช่วงโควิดที่ผ่านมา ก่อนมาเล่นการเมืองมันก็มีพี่บางเขตที่เขาเอาข้าวสารไปแจกคนริมทางรถไฟ เราก็แค่ว่าง เราก็เป็นจิตอาสาอยู่แล้ว เราก็เลยลงไปช่วยเขาแจก

ระหว่างที่เขาไปช่วยเขาแจก เราก็เดินถามเขาว่า การที่มาทำแบบนี้มันเกี่ยวเนื่องกับการเมืองยังไง พอเป็นนักการเมืองมันทำอะไรได้บ้าง เราก็ศึกษามาเรื่อยๆ โอเคพอเรารู้แล้วว่านักการเมืองมันสามารถทำอะไรได้บ้าง มันมีลิมิตที่มันไปได้ถึงแค่ไหน มันมากที่เราอยู่แค่ไหน เราก็เลยหันเข็มมาลองทำดู”


คนดังกับการ Call Out ทางการเมือง

เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ไม่น้อย เมื่อเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองในบ้านเราทีไร กลุ่มคนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีอิทธิพล และรับหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน หนึ่งในนั้นก็คือเหล่าดารานักแสดงที่คนในสังคมส่วนใหญ่กดดันอยากให้ออกมาเป็นกระบอกเสียงให้มีการเปลี่ยนแปลงในสังคมบ้าง ซึ่งก็มีหลายคนที่ออกมาเคลื่อนไหวแทบจะทุกครั้ง แต่ก็มีอีกหลายคนเช่นกันที่ยังคงเงียบ ไม่มีการแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศ

อดีตสมาชิกวงไอดอลชื่อดังอย่าง แคน เธอก็เป็นหนึ่ง ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อเหตุการณ์ทางการเมืองแทบทุกครั้ง เธอบอกว่า คิดยังไงก็ออกมาพูดแบบนั้น เพราะเธอก็มองว่าคนมีชื่อเสียงจะช่วยให้เปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น

“คนมีชื่อเสียงก็ได้เปรียบตรงที่ว่า เวลาเราพูดถึงปัญหา มันอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เราขึ้น กว่าการที่เราไม่มีชื่อเสียง หรือไม่มีกระบอกเสียง

แต่เราก็มองว่า มันไม่ควรเป็นสิ่งที่คุ้นชินกับอย่างนั้น มันควรที่จะต่อให้เป็นคนธรรมดา ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีกระบอกเสียง การเปลี่ยนแปลงก็ควรจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเวลาเจอปัญหา ไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ควรจะเข้ามาช่วยอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ความเป็นคนมีชื่อเสียง

ตอนนี้ประเทศไทย คนที่ไม่มีชื่อเสียงมันอาจจะอิมแพกต์ได้ไม่เท่าแต่ในอนาคตก็อยากให้มันเกิดความที่ ไม่ว่าใครก็สามารถรู้ว่าตัวเองมีพลังได้ด้วยตัวเอง

ส่วนเราคิดยังไง เราก็บอกว่าเราคิดแบบนั้น แต่เราก็ให้คนที่เสพข่าวตัดสินใจด้วยตัวเองดีกว่า ว่าคุณเลือกที่จะฟังหรือไม่ฟังเรา สุดท้ายมันก็อยู่ที่ตัวเราเองว่าเราเลือกที่จะฟังคนนี้ หรือไม่ฟังคนนี้

การเมืองไทย คิดว่ามันต้องพัฒนาให้ได้มากกว่านี้ ประเทศเราคิดว่าพัฒนาช้าเกินไป ทั้งที่มีทรัพยากรที่อาจจะไปได้รวดเร็วกว่านี้ อาจจะเอาเวลาไปจัดสรร ทำสิ่งอื่นๆ ที่มันเป็นประโยชน์ที่ได้รวดเร็วกว่านี้”


ไม่เพียงเท่านี้ เธอยังมองอีกว่าเข้าใจที่คนที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่ ไม่ออกมา Call Out ทางการเมือง เพราะในสัญญาการศิลปินบางอย่างก็ไม่สามารถทำได้

“จริงๆ เราเข้าใจทั้งสองฝ่ายนะ ถ้าในมุมมองของดารา-ศิลปิน เราก็ไม่รู้ ประเทศเรามันเอาแน่เอานอนไม่ได้ เราก็ไม่รู้ว่าเราออกมา สำหรับมุมของศิลปินที่ Call Out แล้วเขาดันติดสัญญา หรืออะไรที่มันเป็นข้อกฎหมายว่าห้ามทำอยู่ มันก็ส่งผลเสียต่อเขา

แต่ในมุมมองของประชาชน ดารามีชื่อเสียงจากประชาชน มันก็ควรจะเป็นตัวแทนให้ประชาชนด้วยหรือเปล่า แล้วประชาชนที่เขาไม่ได้มีชื่อเสียง แต่เขาอยากเปลี่ยนแปลง หรืออึดอัด เขาก็เลยเอาความอึดอัดนั้นมากดดันกับคนที่มีในสิ่งที่เขาไม่มี

แต่มันก็มองได้หลายมุมมองมาก อย่างสมมติในตัวแคน มองว่าบางคนที่มันมีข้อสัญญาบอกว่าห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง คำว่าการเมือง มันต้องสโคปให้ชัดก่อนว่าหมายถึงอะไร ถ้าเป็นในสมัยก่อน หรือเจตจำนงของคำนี้ อาจจะหมายถึงว่า ดาราออกมาพูดว่าคุณต้องไปเลือกพรรคนี้ คุณต้องคิดแบบนี้ อันนี้หรือเปล่าที่หมายถึงยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

แต่การที่ออกมาพูดว่าเรามีสิทธิอะไรบ้าง มันอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เราออกมาพูดเรื่องการเมืองแบบนั้น มันคือสิ่งที่ควรจะทำด้วยซ้ำ เพราะคุณมี กระบอกเสียงที่ใหญ่กว่าคนอื่น”



ใช้ชีวิตวัยรุ่นคุ้มสุดๆ

        


“คิดว่าตัวเองใช้ชีวิตวัยรุ่นคุ้มมาก สุดๆ แล้ว ทำทุกอย่าง ทำหลายอย่าง เพราะเราเป็นนักกิจกรรมมาก่อน อย่างตอนที่เราเป็นไอดอล เราจะแบ่งเวลาเรื่องของการเรียน กับการมาซ้อมวงเป็นหลัก แต่ในจังหวะที่เราย้ายเส้นทางมาเข้าสู่การเมือง มันเป็นการที่เราหมดภาระการเป็นไอดอล หรือการเรียนไปแล้ว

เพราะปลายปีนี้ก็จะรับปริญญา จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแล้ว มันก็เลยไม่มีภาระ ไม่มีบ่วงทั้งด้านการศึกษา หรือว่าอะไรก็ตาม สามารถเต็มที่กับงานตรงนี้ได้ มันก็เลยบริหารได้

ย้อนกลับไป 2 ปีกว่า วันที่ตัดสินใจจบการศึกษาออกจากวง ตอนนั้นเราเข้าวงไอดอลเพราะว่าส่วนหนึ่งเรารับรู้ว่าวงนี้มันจะมีการออก CSR ทำอาสา แล้วเรารู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่ใหม่ อาสาด้วย มีชื่อเสียงด้วย เป็นกำลังใจให้คนด้วย อะไรทำนองนี้ แต่พอเราเป็นแค่ผู้ให้กำลังใจ พอเราเห็นปัญหาแล้วเราแก้ไม่ได้ มันอึดอัดนะ

มันอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์เราทั้งหมด เราชอบร้องเพลง เราชอบเต้น แต่พอเรารู้สึกว่าพอมันมาเป็นอาชีพจริงๆ มันกลับจะไม่ตอบโจทย์ในตอนแรกของเราหรือเปล่า

สุดท้ายแล้วทุกวันนี้มองว่า มันเป็นตัวเรามากกว่า การร้องเพลง การเต้น การแสดง เรามองให้มันเป็นงานอดิเรก แล้วเราก็จะสนุกกับมันได้มากกว่า

ถึงแม้จะออกมาแล้วก็ยังชื่นชอบการร้องเพลงอยู่ คือเป็นคนชอบเสียงดนตรี เป็นคนชอบงานเกี่ยวกับครีเอทีฟ งานอาร์ต สตรีทอาร์ต ทุกอย่างในวงการศิลปะเราคงชอบอยู่

ถ้าในเรื่องของวงการบันเทิง ถ้าเราสามารถแต่งเพลงขึ้นมาได้ ถ้ามีเวลา เราก็เป็นคนทำเพลง เพลงที่เราเคยปล่อยก็ทำด้วยตัวเองอยู่แล้ว ถ้ามันมีโอกาสมันก็ทำอีกได้ แต่อาจจะโฟกัสเรื่องการทำงานกานเมืองเป็นหลักมากกว่า ถ้ามีเข้ามาก็ทำควบคู่กันไป

ก็คือมีการแบ่งสรรเวลาให้มันคู่กัน ก็ไม่ทิ้งค่ะ มันก็คืองานอดิเรกงานหนึ่งของเรา ต้องดูเรื่องของเวลาค่ะ แล้วฝั่งนั้นต้องยอมรับด้วยว่า เราอาจจะให้ใจกับทางนี้มากกว่า ถ้ามันไม่กระทบฝั่งนี้เราก็สนใจ ทุกอย่างมันคือการพูดคุย การตกลงกันก่อน”




วันหยุด พักผ่อนด้วยการเปลี่ยนห้องนอน

                      


“ถ้าว่างจากงาน ถ้าเป็นแต่ละยุคจะไม่เหมือนกัน ถ้ายุคนี้เลย จริงๆ หมดเวลางานก็ยังคุยเรื่องงานอยู่นะ (หัวเราะ) แต่ถ้าวันหยุดจริงๆ เราก็จะชอบ staycation ก็คือนอนในกรุงเทพฯ แต่เปลี่ยนที่ นั่นคืองานอดิเรกของเรา ไปนอนโรงแรม ไปกินข้าว เปลี่ยนบรรยากาศ

เราไม่สามารถไปเที่ยวข้ามวันต่างจังหวัดได้ เพราะวันหยุดเราแค่ 1 วัน ก็แค่เปลี่ยนบรรยากาศ อันนั้นคืองานอดิเรกของเรา อาจจะมีไปดูหนังบ้าง แต่ก็ต้องเป็นวันหยุดจริงๆ

คือวันหยุดจะใช้อย่างเต็มที่ จะมี staycation มีขี่ม้า ตีกอล์ฟ ในวันหยุดก็คือจะทำ เหมือนมันเหนื่อยมาทั้งวันแล้ว วันหยุดก็คือทำหมดเลย”



สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ภาพ : สันติ เต๊ะเปีย
ขอบคุณภาพ : อินสตาแกรม@cannayika



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น