xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึก “Clubhouse” แอปฯ อินเทรนด์ สดใหม่-หลากหลาย แต่เสพติด-สุ่มเสี่ยง!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดังเปรี้ยงทั่วโลกข้ามคืน คนดังแห่ใช้เพียบ!! “Clubhouse” แอปแชตด้วยเสียงมาแรงในไทย ด้านผู้เชี่ยวชาญการตลาดวิเคราะห์ ฉีกกฎการแชตแบบเดิมๆ ใช้งานได้หลากหลาย ยิ่งฟังยิ่งเสพติด-คนกล้าแสดงความคิดเห็นมากยิ่งขึ้น แนะภาครัฐ หากปิดกั้น ระวังผลลัพธ์ที่ตามมา!!




เจาะแอปยอดฮิต “Clubhouse”


“เราสามารถที่จะไปตามฟังคนอื่นทั่วโลกก็ได้ เช่น อีลอน มัสก์ (Elon musk), กาย คาวาซากิ (Guy Kawasaki) ซึ่งโอกาสที่เราจะไปฟังเขาพูด หรือไปถามเขาได้ มันจะไม่มี เพราะฉะนั้น Clubhouse มันเลยเกิด Engagement เพราะว่า ถ้าคุณไปฟังพอดแคสต์ คุณจะคุยกับเขาไม่ได้ หรือในทวิตเตอร์ จะเป็นตัวหนังสือ คือ มันไม่เหมือนฟัง

คือ ตัวหนังสือถึงคุณจะตอบโต้กันได้กับคนที่ Tweet หรือว่าในอินสตาแกรม มันก็ไม่เหมือนเราคุยกัน แล้วการคุยใน Clubhouse เป็นการคุยสด คุยกับ Speaker ได้สด คุยกับดาราได้สด คุยกับเซเลบได้สดๆ แล้วไม่มีการฟังย้อนหลัง”


“อ.ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย” นักวิชาการด้านการตลาดชื่อดัง เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live ถึงประเด็นในโลกออนไลน์ ที่สังคมกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และกลายเป็นแอปพลิเคชันสื่อสารที่โด่งดังมากๆ ที่สุดในตอนนี้ อย่างแอปพลิเคชัน “Clubhouse”

เมื่อมหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของโลกอย่าง “อีลอน มัสก์” ส่งคำเชิญถึงประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ให้ร่วมเล่นแอป Clubhouse ด้วยกัน ส่งให้คนดังในหลากหลายแวดวงจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นนักพูด เซเลบดารา ร่วมใช้แอปดังกล่าวและสร้างห้องแชตของตัวเองเช่นกัน นำมาซึ่งความสงสัยถึงแอปตัวนี้


“เป็นห้องที่เราสามารถเข้าไปฟัง เหมือนเราอยู่ใน Clubhouse แล้วจะมีคนที่เรารู้จักมาคุยกัน เราก็เข้าไปฟัง ถ้าเราฟังสนุกแล้วเราก็ฟังต่อ ได้ความรู้ก็ฟังต่อ

ถ้าเขาปล่อยให้ถาม เราก็ยกมือถามแล้วก็คุยได้ Clubhouse เหมือนกับห้องเสวนา เวลาเราไปงานเสวนามันก็มีคนๆ หนึ่ง ตั้งห้องเสวนาขึ้นมา แล้วก็เป็น Moderator คือ ผู้ดำเนินรายการ แล้วก็มี Speaker มานั่งคุยกัน

หรือตัวเขาจะพูดแล้วเป็น Moderator หรือ Speaker คนเดียวก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มันจะมี Speaker ขึ้นมา แล้วจะมีคน Speaker ตาม เหมือนกับหน้าม้า คนที่เรารู้จักนั่งข้างหน้า และถัดไปจะเป็น Audience (การสนทนา) คือ คนทั่วๆ ไปมาฟัง คนที่เป็น Speaker ก็จะยกมือได้ แล้วเราก็เรียกเขาขึ้นมาบนเวทีได้ พอขึ้นมาบนเวทีปุ๊บ จบแล้วก็กลับไปเป็น Audience เหมือนเดิม

แล้วมันก็มีห้องเยอะแยะเลย ที่คุณต้องการ ทั้งในและต่างประเทศ อันนี้มันก็มีลักษณะ Engagement สูง เพราะว่าเขาห้ามอัดด้วย จึงมีความปลอดภัยในลำดับหนึ่ง แล้วก็ย้อนหลังไม่ได้ ทำให้คน happy ที่จะพูด”


โดยจุดเด่นของแอปพลิเคชันนี้ คือ เป็นแอปแชตที่สื่อสารด้วย “เสียง” เท่านั้น มีลักษณะคล้ายพอดแคสต์ แต่ผู้พูดสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ฟังในห้องแชตได้ แต่ไม่ใช่ว่าใครจะพูดขึ้นมาก็ได้

แต่จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของห้องแชตก่อนเสมอ ซึ่งเจ้าของห้องจะเป็นผู้ดูแลควบคุมเปิด หรือปิดไมค์สมาชิกในห้องแชต และเป็นอีกช่องทางที่ไม่สามารถกลับมาย้อนฟังได้อีก ในมุมมองนักการตลาดมีความคิดเห็นว่า เป็นแอปฯ เรียลไทม์ ที่ทำการตลาดได้

“ที่ฮิตเลย แอปตัวนี้มีทั้งโลก มาตั้งแต่มีนาปีที่แล้ว เพิ่งจะมาฮิตประมาณสัปดาห์ที่แล้วในเมืองไทย มันฮิตเพราะว่า อีลอน มัสก์ เหมือนเป็นคน Moderator ให้ ชวนคนมานั่งคุยใน Clubhouse ซึ่ง อีลอน มัสก์ ทำอะไรก็ดัง พอบอกคนก็ตามกัน พอตามกันก็มีคนที่มีชื่อเสียง มี Ceo คนที่เป็น Startup เข้ามา พอเข้ามาก็มาตั้งห้อง

คือ Clubhouse เป็นลักษณะไม่เหมือน Startup อื่นๆ อันนี้มันโตแบบ Organic ค่อยเป็นค่อยไป คือ เขาเลือกคน เพราะเขาไม่ต้องการให้เยอะเกินไป เดี๋ยวระบบเขารับไม่ทัน และกลัวว่าจะเละเทะ

1. ใช้ได้เฉพาะคนที่ใช้ Iphone หรือ Ipad 2. ต้องมีคนเชิญ แล้วคนหนึ่งเชิญได้แค่ 2 คนเท่านั้นเอง ดังนั้น มันมีลักษณะ exclusive สูง เพราะฉะนั้นอะไรที่มี exclusive ก็จะมีคุณค่า คนก็แสวงหากัน มีคนไปขายใน shopee ราคา 300-500 ในประเทศจีนก่อนจะโดนบล็อกไปสัปดาห์ที่แล้ว ขายในราคา 2,500 บาท เพราะคนจีนเอาไปใช้ในการคุยเรื่องการเมือง

ข้อดีเป็นแหล่งในการพบปะ การหาความรู้ หรือแหล่งในการพูดคุย ที่เรียกว่าเป็นเรียลไทม์ แล้วก็ได้ Engage เพราะว่ามันเป็นเสียง แล้วเราก็ไม่ต้องมานั่งดูด้วยว่า หน้าตาคุณจะเป็นยังไง แต่งหน้าแต่งตา

มันไม่เหมือน Live และก็มีการ Engage คือ พูดคุย สักถามคนทั่วไป คนทั่วไปก็ถาม Speaker ได้ ซึ่งฟรีไม่เสียเงิน และมันสามารถเอาไปทำการตลาดได้ ยกตัวอย่างเช่น คนที่เป็น speaker เรื่อยๆ จากคนที่ไม่มีใครรู้จัก ก็มีคนรู้จัก มันก็เป็นแบรนด์ ส่งผลต่อบริษัทคุณด้วย


ข้อเสีย คือ 1. ถ้าคนไม่ได้เรื่องเข้ามาเยอะๆ มันก็เหมือนสังคมที่ไม่ได้เรื่อง และทำให้คนไม่อยากเข้ามา เหมือนสังคมที่มีคนไม่โอเคเข้ามาเรื่อยๆ เราก็รู้สึกว่าเราไม่อยากจะเสาวนาแล้วเราก็ออกจากสังคมไป 2 . คือกินเวลามาก บางทีไม่ต้องทำงานทำการอะไรเลย มันเสพติด”




กูรูเตือน ยิ่งรัฐ ห้าม = ยิ่งยุ!!


“ถ้าคุณใช้ Clubhouse ให้เป็นประโยชน์ เช่น หาความรู้ ความรู้คุณจะเพิ่มขึ้นมหาศาลภายในเวลา 1 เดือน เรียกว่ามันจะทำให้สังคมดีขึ้นสำหรับคนที่ชอบหาความรู้ ส่วนเรื่องการแตกต่างทางการเมือง ถ้าใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดต่างทางการเมืองด้วยกัน


ไม่ใช่พอเห็นหน้าก็จะมาห้ำหั่นกัน ซึ่งผมคิดว่าการที่ห้ำหั่นกัน ใครพูดคำหนึ่ง แล้วแทบจะวางมวย มันไม่เกิดผลดีต่อประเทศชาติ”

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ใน Clubhouse เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นยิ่งขึ้น ซึ่งหัวข้อที่ได้รับนิยมอย่างมาก คือ “การเมือง” แน่นอนว่า หลังจากที่ประเด็นดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ก็นำมาซึ่งความคิดเห็นต่างๆ มากมาย ทั้งผู้ที่สนับสนุนและผู้ที่ไม่เห็นด้วย


อีกทั้งล่าสุด พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ออกมาโพสต์ถึงแอปยอดฮิต ที่เหล่าวัยรุ่นหันมาโหลดกันอย่างแพร่หลายว่า มีการเฝ้าระวังการใช้แอปดังกล่าว ถึงแม้ว่าการใช้เป็นลักษณะเป็นกลุ่มปิดก็ตาม

“อันนี้มันเป็นการช่วยโปรโมต Clubhouse ตั้งแต่เตือน Clubhouse ในไทยล่ม ผมเข้าอ่าน Ipad ไม่ได้เลย พอพูดแบบนี้ปุ๊บคนก็แห่เข้าไปกันใหญ่ เท่ากับเป็นการโปรโมตทางอ้อม

คนที่พูดในห้องการเมือง คนพูดเขาก็ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย เขาอยู่ต่างประเทศจะไปดำเนินคดียังไง คือ ในทางการเมืองบางคนก็บอกว่า มันเป็นการเปิดโอกาสให้คนมีความเห็นต่างมานั่งคุยกัน เช่น บางคนเป็นสีนึง เห็นอีกสี แทบจะทะเลาะ แต่พอมันมาอยู่ในห้องอย่างนี้ มันอาจจะนั่งคุยกันก็ได้

สำหรับเรื่องการสั่งห้ามหรือว่าการดำเนินคดี ผมไม่รู้ว่าจะทำได้มากขนาดไหนหรือยังไง เพราะว่าผมเองก็ยังไม่ได้รู้เรื่องในทางการกฎหมายมาก

อย่างคุณอยู่ต่างประเทศ และคุณจะไปดำเนินคดีเมื่อคนพูดอยู่ต่างประเทศ หรือว่าจะดำเนินคดีกับคนฟังด้วย ถ้าดำเนินคดีกับคนฟังมันมีจำนวนหมื่นๆ มันก็จะไม่ดำเนินคดีกับคนฟัง ถ้าในกรณีคนฟังอยู่ไทย คนพูดอยู่ต่างประเทศ อันนี้ก็ดำเนินคดีไม่ได้ แต่ในกรณีจะไปห้ามให้คนเข้าไป คือ คนเข้าไปก็ไมได้เห็นด้วย กับคนที่พูดอย่างเดียว เขาอาจจะไปฟังเพื่อหาข้อมูลก็ได้ การที่เราไปฟังไม่ได้หมายความว่า เราจะไปคล้อยตามคนที่พูด ผมคิดว่ามันห้ามไม่ได้”


ในฟากฝั่งของผู้เชี่ยวชาญ วิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า มองเป็นเพียงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งหากรัฐมีแนวทางปิดกั้น ยิ่งเป็นการส่งเสริมให้คนเข้าไปเล่นแอปพลิเคชันนี้ แนะควรใช้วิธีประนีประนอม

“ผมว่ารัฐบาลควรจะใช้วิธีที่เรียกว่า ละมุนละม่อม และวิธีการที่ค่อนข้างจะดู compromise (การประนีประนอม) การใช้วิธีการไม้แข็ง มันพิสูจน์มาแล้วว่า มันได้ผลระยะสั้น แต่ระยะยาวมันไม่ได้ผล เมื่อถึงระดับหนึ่งบางคนไม่กลัวแล้ว มันจะเป็นการเรียกให้คนที่ยังไม่รู้ เข้ามากันเยอะ


บ้านเราเหมือนอะไรที่ยิ่งห้ามจะยิ่งยุ เช่น ห้ามทำอย่างนี้ คนรุ่นใหม่ก็จะทำ เพราะฉะนั้นภาครัฐ ต้องมีวิธีการดีลกับคนรุ่นใหม่อย่างมีประสิทธิผล”





ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น