xs
xsm
sm
md
lg

แพะปลดหนี้!! ลบคำสบประมาทใน 5 ปี มี 4 ขา พาโกยเงินล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไม่มีแพะรับบาป มีแต่แพะรับทรัพย์! เจาะใจ “ลุงสะอาด เมี้ยนแม้น” อดีตเกษตรกรเสียหายหลักล้าน เพราะอุทกภัย ตัดสินใจเบนเข็มมาทำปศุสัตว์ จับพลัดจับผลูมาเลี้ยงแพะ ขายนม-ขายพันธุ์ ปลดหนี้เกลี้ยงภายใน 5 ปี ลบคำสบประมาท “ผมจะทำให้ดูว่าเลี้ยงรอด”

เลี้ยงแพะ ต้นทุนต่ำ รายได้หลักล้าน!

“เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมได้แพะมา 12 ตัว เราใช้งบโครงการของศูนย์ถ่ายทอดที่ให้มาประมาณ 20,000 กว่าบาท มาซื้อแพะ เราต้องไปซื้อเองจากกรม มันไม่แพง ตัวนึงค่าสายพันธุ์ ก็ 1,000 บาท ชั่งเป็นกิโล ตอนนั้นซื้อมาตัวไม่ใหญ่ 20-30 โล เอามาเลี้ยงให้โตทีหลัง แล้วก็ลงทุนสร้างโรงเรือนประมาณ 10,000 กว่าบาท ปัจจุบันไม่ได้แล้ว ทุกอย่างมันแพงขึ้น เริ่มต้นจากหมื่น แต่เราก็พัฒนาให้เป็นเงินล้านได้ ใช้เวลาไม่ถึง 5 ปี”

สะอาด เมี้ยนแม้น ชายชาวจังหวัดนนทบุรี วัย 60 ปี เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live ถึงเรื่องราวของตนเอง จากอดีตเกษตรกรผู้มีหนี้สินถึง 7 หลัก จากการทำการเกษตรและประสบภัยน้ำท่วมซ้ำซาก แต่หลังจากที่ได้มารู้จัก “การเลี้ยงแพะ” ก็ทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะแพะช่วยให้เขาปลดหนี้ก้อนใหญ่ ให้ลืมตาอ้าปากและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ โดยปัจจุบันเขามีรายได้ต่อวันเฉลี่ยแล้วนับพันบาท และรายได้ต่อปีถึงหลักล้านบาท!

“ค่าขายน้ำนมเฉลี่ยที่ประมาณพันบาท มีลูกค้าประจำ ตัวผู้ขายตามน้ำหนักตัวอยู่ที่กิโลละประมาณ 120-130 บาท ตัวเมียขายเป็นเดือน ถ้าอายุ 4 เดือน ก็ 4,000 บาท ถ้า 8 เดือน ก็ 8,000 บาท ถ้าขายแม่พร้อมรีดนมได้เลย ก็ประมาณตัวละ 20,000 บาท แพะเป็นสัตว์ที่เราลงทุนครั้งแรกไม่กี่แม่พันธุ์ มันก็จะขยายไปเป็น 10 เท่า 100 เท่า ภายใน 10 ปี โดยไม่ต้องซื้อเพิ่มก็ได้ ซื้อเพิ่มก็แค่พ่อพันธุ์มาปรับสายพันธุ์แค่นั้นเอง



[ ทำคลอดแพะด้วยความเชี่ยวชาญ ]
ปี 64 ตั้งเป้าไว้ประมาณ 5-6 แสน แต่ต้นทุนฐานแพะผมมีล้านนึงแน่นอน มูลค่ามันเป็นล้านอยู่แล้ว มีแพะอยู่ประมาณ 30 แม่ แม่นึงก็ 20,000 บาท ก็ 600,000 แสนแล้ว ลูกอีก 30 ตัว เกินเราก็ขาย ทุนเราต้องอยู่ ไม่ขายต้นทุนไป เอาแต่ผลกำไรออก เดี๋ยวจะคลอดก็เพิ่มมาอีก 30 ตัว ก็เป็น 70 ตัว แล้วอีก 3-4 เดือนก็ระบายแพะออกเรื่อยๆ

เลี้ยงคนเดียวมันก็เลี้ยงมากไม่ได้ ถ้าแต่ก่อนเราแข็งแรงก็ไหว ตอนนี้ 60 แล้ว ลูกกลับมาช่วยเราก็จะเพิ่มแม่ให้ได้ 50-60 แม่ ผมคิดว่ากลางปี 64 ผมต้องมีรายได้จากขายนมไม่ต่ำวันละ 2,000 เดือน มีนาน่าจะรีดได้ประมาณวันละ 20-30 โล ตลาดมันดีอยู่แล้ว วิกฤตโควิดเขาเดือดร้อน เราก็ไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ มีตรงนี้รองรับ เพราะตลาดด้านปศุสัตว์ไม่มีปัญหาอะไร ไม่กระทบ

และสำหรับฟาร์มแพะแห่งนี้ เลี้ยงแพะด้วยวิถีธรรมชาติ โดยปล่อยให้แพะเดินเล็มกินหญ้าอย่างสบายใจ บนพื้นที่ฟาร์มกว่า 4 ไร่ย่านบางบัวทอง และยังมีอาหารอื่นๆ ที่เป็นเปลือกข้าวโพดและผักผลไม้ต่างๆ ที่ได้ฟรีจากตลาดละแวกบ้าน และด้วยจำนวนแพะที่ไม่มากเกินดูแล ทำให้ประหยัดค่าจ้างแรงงานลงไปด้วย



เราเลี้ยงแบบธรรมชาติ ไม่ใช้เคมี ใช้อาหารธรรมชาติ (เศษผักผลไม้) ไปขอเขาตามตลาดทั่วไป ไม่เคยคิดเงิน เราทำมาตั้งแต่แรก รู้จักกันหมดแล้ว เดินไปเห็นที่ตลาดเขาก็รู้แล้ว สมัยก่อนเขาเรียกผมเป็นคนเก็บขยะ แต่ตอนนี้ขยะแย่งกันเก็บ มันมีค่ามาก แต่ผมทำมา 20 กว่าปี ของพวกนี้ต้องเป็นขยะไปทิ้ง แต่ไม่ต้องเลย แย่งเอากันหมด ทุกปีมันก็ไม่มีปัญหา ตั้งแต่ช่วงโควิดมีปัญหานิดหน่อย ตลาดเดี๋ยวปิดเดี๋ยวเปิด

ถ้าไม่พอก็ไปตัดหญ้า อาหารของเขาเป็นหญ้าเป็นหลัก เราก็ปลูกแปลงหญ้าเผื่อสำรองไว้ แล้วแปลงหญ้าธรรมชาติก็หายากขึ้น ไม่เหมือนต่างจังหวัด ไม่มีอะไรเขาก็ไปตัดกระถินที่มีเต็มไปหมดตามริมถนนมาเลี้ยงแพะ โดยที่ไม่ต้องซื้ออาหาร มีแหล่งอาหารก็อยู่ได้ ต้นทุนไม่สูง เราเลี้ยงต้นทุนแบบนี้ก็อยู่ได้ มีแปลงหญ้าให้เขาเขาก็อยู่ได้ พื้นที่เลี้ยงแพะจริงๆ ทางภาคอีสาน พื้นที่เยอะๆ มันน่าเลี้ยง แค่ต้อนไปปล่อย มีที่กินก็สบาย

อีกอย่าง แพะเป็นสัตว์ที่น่าจะดูแลเองผมใช้แรงงานในครอบครัว ไม่เคยจ้าง เน้นแรงงานในครอบครัว ถ้าวันไหนที่มีลูกจ้าง คุณก็ต้องมีแพะเกิน 100 แม่ จะมีรายได้ประมาณปีละล้าน ถ้าจ้างแรงงานเดือนละหมื่น ต้องมีเผื่อไปอีก 10 เปอร์เซ็นต์ค่าแรงงานมาดูแลฟาร์ม แล้วต้นทุนอีก เราก็จะเหลือไม่มาก แต่ว่าเขาจะดูเหมือนเราเลี้ยงรึเปล่า”

เป็นหนี้นับล้านเพราะการเกษตร?!

อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น อาชีพดั้งเดิมของชายผู้นี้คือการปลูกข้าว แต่ทำเท่าไหร่ก็ยังเหมือนย่ำอยู่กับที่ จึงตัดสินใจมาทำสวนมะม่วงเพิ่มเติม โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้มะม่วงออกนอกฤดูได้ ชีวิตเริ่มมองเห็นแสงสว่างอีกครั้ง

ผมเป็นลูกชาวนาโดยกำเนิด ตอนนั้นมีความสุขนะ การซื้อ-ขาย เราก็ตกลงกันเองว่าข้าวคุณภาพนี้ควรจะเท่าไหร่ ไม่ต้องมีคนกลาง เราเป็นคนกำหนด ทุกคนอยู่ด้วยถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่เบียดเบียนกัน เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ข้าวก็เก็บไว้กิน แล้วเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีรุ่นใหม่ ที่มีเครื่องจักรเข้ามา แล้วก็ปฏิวัติใหม่ เพื่อจะพัฒนาการผลิตข้าวเพื่อการส่งออก

พอเกิดวิกฤตข้าว ข้าวมันไม่ได้เป็นระบบเหมือนเดิมแล้ว ทุกอย่างเป็นระบบการตลาด เหมือนมีการแทรกแซงจากหลายหน่วยงานเข้ามา มันไม่ได้เกี่ยวกับข้าวอย่างเดียว มีการนำสารเคมีเข้ามา นำปุ๋ย นำยาปราบศัตรูพืชเข้ามา ผมทำตรงนี้ให้มันเหมือนแบบเดิมคงจะยาก



มาทำมะม่วงตั้งแต่ปี 28 นาก็ยังทำปกติไม่ได้ทิ้ง เอาเทคโนโลยีมาใช้ให้มันออกนอกฤดู อ่านหนังสือพิมพ์เจอเขาเปิดสอนที่ ม.เกษตรศาสตร์ ก็สมัคร แล้วก็เดินทางไปเรียน เพื่อให้รู้ว่าทำมะม่วงออกนอกฤดูเป็นยังไง มะม่วงออกนอกฤดู ราคามันไม่ใช่ถูกนะ ต่างประเทศเข้าใช้กันหมดแล้ว ผมทำคนแรกในจังหวัดนนทบุรี ทำ 10 ต้นเพราะสารมันแพงมาก 5,000 สมัยก่อน ซื้อควายได้เป็นตัวๆ ซื้อรถไถนาได้เป็นคัน แต่เราได้เป็นแสน มะม่วงมันออกพร้อมกัน”

แต่หลังจากนั้นไม่นาน ทุกอย่างก็พังลงในพริบตา เพราะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2538 สร้างความเสียหายแก่สวนมะม่วงนับล้าน และคราวเคราะห์ยังไม่จบแค่นั้น เมื่อกู้มาลงทุนทำบ่อปลาอีกเกือบหลายแสนบาท แต่ผลลัพธ์ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่หวัง

ช่วงวิกฤตน้ำท่วมปี 38 ช่วงนั้นเสียหายหนักครับ สวนมะม่วง 20 ไร่ ซึ่งเรามีรายได้จากตรงนี้ปีละเกือบ 300,000 มันก็จบ แล้วเป็ด ไก่ที่เลี้ยงสัตว์ปีกมันก็ตายหมด ไม่มีอะไรเหลือ เสียหายปีนั้นนับล้านบาท ก็ต้องมานับหนึ่งใหม่

กู้ช่วงแรกทำบ่อปลา ประมาณสัก 300,000 เลี้ยงปลามันก็ไม่ได้ผล ผมเจอน้ำท่วมทั้งหมด 4 ครั้ง ปี 38 ปี 45 ปี 49 และปี 54 ตอนนั้นหลังจากน้ำท่วมบ่อยๆ ผมก็เสนอแผน ทำยังไงไม่ให้น้ำท่วมที่นี่ เสนอ อบต.ตั้งป้อม น้ำมาปกติเรากั้นมันก็ไม่ท่วม ยกเว้นปี 54 กั้นไม่อยู่ มันเยอะมาก ขึ้นบ้านชั้นสอง ต้องพายเรืออย่างเดียว



(หนี้) คิดว่าเป็นหลักล้าน สมัยนั้นยังไม่มีการชดเชยให้เกษตรกร อย่างดีก็เอาพันธุ์ปลามาแจก เอาพันธุ์กุ้งมาแจก แต่เรามาทำงานให้เกษตรกร ทำไมไม่ชดเชยให้เกษตรกร เราทำรายได้ให้กับประเทศ ส่งออกปีนึงหลายแสนล้าน แต่ทำไมปล่อยเขาลำบาก ปลามันไม่มีราคา เยอะมาก มันยังอยู่เต็มทุ่งนา เรายังหากินกันได้ ปลาเลี้ยงกับปลาธรรมชาติ เราก็สู้ปลาธรรมชาติไม่ได้ เราก็เลิก จำเป็นบทเรียน”

ถึงแม้ตัวเขาจะแบกรับภาระหนี้ถึง 7 หลัก แต่ก็ไม่คิดที่จะขายที่ดินที่อยู่ในทำเทองของตนเองเพื่อชดใช้ ด้วยหวังจะให้เป็นสมบัติสู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป

“ที่ของตัวเองมีประมาณ 4 ไร่ แล้วอีก 30 กว่าไร่ เป็นที่เช่าทำนา ทำสวน อยู่ในโซนที่พัฒนา ตรงนี้มันต้องเป็นเมือง มีคนมาขายซื้อแต่ไม่ได้ขาย 4 ไร่ เขาให้ราคาซื้อขายประมาณ 60-80 ล้าน ที่เขาขายกันแถวนั้น แต่ผมไม่ขาย ข้างๆ ที่ติดกัน 6 ไร่ประมาณ 100 ล้าน

บางคนไม่อยากเป็นหนี้เลยตัดสินใจขาย แต่จริงๆ แล้วผิด เพราะขายที่ไปแล้ว แล้วรุ่นลูกเราจะไปหาที่ทำกินที่ไหน ผมยอมเป็นหนี้ แต่ไม่ยอมขายที่ ที่ดินเป็นต้นทุนที่สูง ถ้าเรามีที่ดินเหมือนเป็นหลักทรัพย์ที่จะทำอะไรก็ได้ จะไปกู้เงินที่ไหนก็ได้ เหมือนมีเครดิต

เราไม่ใช่นักธุรกิจ หลายคนที่ขายที่แล้วไปลงทุนก็ไม่ประสบความสำเร็จ โอกาสยากมาก เพราะเราไม่ใช่นักบริหารที่จะไปทำอย่างเขาได้เราอยู่ในระบบเกษตร เราทำแบบพอเพียง ไม่ต้องดิ้นรนมาก เอาที่ดินเป็นหลักทรัพย์ให้ลูก จะทำธุรกิจอะไรต่อไปข้างหน้าก็ทำได้”

เริ่มจากศูนย์ สู่การเป็นปราชญ์ด้านแพะ

“มีโครงการศูนย์ถ่ายทอดมา ตำบลนี้มีครบมีปศุสัตว์ มีประมง เป็นตำบลนำร่องของจังหวัด 76 ศูนย์ ผมเป็นเกษตรกรที่อยู่ในนั้นด้วย ถูกคัดเลือกมา 14-15 คน ว่าใครจะเลือกอะไร คนนั้นเลือกข้าว คนนี้เลือกเป็ด คนนี้เลือกไก่ ตอนนั้นเราอายุยังน้อย ไม่มีพาวเวอร์พอที่จะไปเบียดกับเขาได้ ก็บอกเขาเอาหมดแล้วผมจะเอาอะไร (หัวเราะ) ก็ดูโครงการโคนม เขาบอกไม่ได้ เอาแพะไปแล้วกัน”

หลังล้มลุกคลุกคลานในอาชีพเกษตรกรมาจนบอบช้ำ จึงตัดสินใจเข้ารับการอบรมในโครงการช่วยเหลือเกษตรกร สุดท้าย ไม่รู้เป็นเพราะโชคชะตาหรืออะไรที่พาให้เขาต้องมาเลี้ยงแพะ ซึ่งเป็นสัตว์ที่เหลือเลือกจากเกษตรกรคนอื่นๆ ในตอนนั้นเขาถูกสบประมาทว่าไม่น่ารอด แต่ชายคนนี้ก็ลองดูสักตั้ง ทั้งที่ยังมีหนี้อยู่เป็นล้าน

“ตอนนั้นเป็นเกษตรกรดีเด่นด้านสัตว์ปีก เพราะเลี้ยงปลาแล้วก็เลี้ยงไก่ด้วย ไก่ไข่ เป็ดไข่ เป็นรายได้แต่ว่าไม่มากมาย ลงทุนสูง ค่าอาหารให้ทุกวัน ก็เลยคิดว่า เอ...เราจะทำอะไรที่ต้นทุนไม่แพง เลี้ยงไก่มา 4-5 ปี รู้แล้วเดือนนี้มันเป็นโรคอะไร ดูแลยาก ตลาดมันแพงช่วงตรุษจีน สารทจีนเอง ตรงนั้นก็เลี้ยง ตรงนี้ก็เลี้ยง เราจะไปขายใคร



เขาก็ตั้งงบมาให้ 35,000 พร้อมทั้งดูงานด้วย ทั้งอบรมด้วยเหลือซื้อแพะก็ประมาณ 20,000 กว่าบาท ซื้อแพะที่กรมปศุสัตว์ที่ศูนย์วิจัยพันธุ์สัตว์ เขาบอกเอาไปเลี้ยงกันไม่รอด ผมก็บอกไม่ใช่ไม่รอด เขาเอาไปเชือดหมด เพราะรูปร่างมันสวย พออิสลามเวลาถึงวันสำคัญเขาต้องทำของที่ดีที่สุด ก็เอาตัวสวยๆ ไปเชือด เขากลัวเอาไปเชือด

ทำยังไงให้ได้ คนที่อนุมัติได้ต้องระดับอธิบดีหรือปลัดกระทรวงเกษตร ผมก็บอกทำเรื่องเลย เพราะผมจะเอาให้ได้แล้วทำให้ดูว่าเลี้ยงรอด ถ้าผมทำตรงนี้รอด ต่อไปก็พัฒนากับเกษตรกร เอาผมเป็นต้นแบบ เถียงกันตั้งนานสุดท้ายก็ได้”

และในปี 2542 นั่นเองที่เขาได้ก้าวเข้าสู่การเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะอย่างเต็มตัว และพยายามหาวิธีการเลี้ยงที่เหมาะสมกับตนเอง โดยผลสัมฤทธิ์ในช่วง 1 ปีแรกนั้น กลายเป็นว่าเขาเป็นเกษตรกรเพียงรายเดียวจากทั้งหมดที่เข้ารับการอบรม ที่สามารถประคับประคองสัตว์เลี้ยงของตนเองมาได้

“ลองดูก่อนว่าจะรอดไม่รอด ได้แพะมา 12 ตัว ลูกผสมแองโกล-ซาแนน เป็นพันธุ์นอก ถ้าเป็นแพะแท้จะเลี้ยงยากมาก เกือบลงมาเหยียบดินไม่ได้เลย ไปยืมตั้งมา 15,000 มาสร้างคอกเล็กๆ ขึ้น พอมีอินเตอร์เน็ตก็ศึกษาข้อมูล ประเทศนี้เลี้ยงยังไง ประเทศนั้นเลี้ยงยังไง เพราะถามในบ้านเราไม่ยอมถ่ายทอด

พอไปที่ศูนย์วิจัยพันธุ์สัตว์ปากช่อง เขาก็ถ่ายทอดและแนะนำ แพะเป็นสัตว์ที่ทำความสะอาดของมันเอง ดูแลคอกให้อยู่ที่สูงอย่างเดียว ช่วงแรกผมให้กินจนอ้วน ก็ไม่ได้ลูกซักที เลี้ยงแต่ให้สวยอย่างเดียว ตอนหลังไม่ใช่แล้ว ต้องให้อาหารตามพอดีของมัน มันก็จะขยายพันธุ์ ปีนึงผมก็ปรับ พัฒนาได้ รู้หมดเลยเพราะอยู่กับเขาก็เริ่มรู้แล้ว ป่วยจะรักษายังไง เพราะเราเคยทำสัตว์ปีกมาแล้ว ผสมพันธุ์เดือนไหน คลอดเดือนไหน เราบันทึกไว้หมด

ประมาณเกือบปี ที่ศูนย์มีคนมาตรวจอีก แต่หน่วยงานเขามาตรวจเยี่ยม มาติดตามงานตลอด ว่างบที่ออกไปแล้วมันไปถึงไหน 14 ศูนย์เลิกหมด ขายหมด เหลือแต่เล้า ไม่เหลือเลย เหลือแพะอย่างเดียวที่อยู่ (หัวเราะ) เหลือตรงนี้ที่เดียวที่รอด เราก็ขยายพันธุ์มันก็เยอะ จาก 12 ตัวก็เป็น 20-30 ตัวแล้วก็ได้ขาย”



และดูเหมือนว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะเป็นการตัดสินใจครั้งที่ถูกต้องที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะนอกจากการเลี้ยงแพะจะไปได้สวยแล้ว เขายังปรับปรุงสายพันธ์ได้เองจนสามารถทนต่อสภาพอากาศของไทยได้

“มันก็มีมั่ง มันป่วยมั่งอะไรมั่ง ปรับอาหารไม่ได้ ก็ค่อยๆ ปรับ สัตวแพทย์เขาบอกมีแพะนำเข้าจากออสเตรเลีย บรรจุใหม่ๆ เขาเข้าไปทำงานแล้วก็เลี้ยงแพะ ตายครึ่งนึง เขาก็เอาปัญหานี้มาให้เราแก้ ช่วยแนะนำ เขาก็ทำตามนั้นแล้วแก้ ก็มีหน่วยงานหลายหน่วยงานที่เข้ามา ทั้งมหาลัย มาช่วยทำวิจัย มาตรวจเลือดให้ เราก็ค่อยๆ เก่งขึ้น เขามาถ่ายทอดให้เรา พอรู้แล้วเป็นอาจารย์ต่อ

ตอนเลี้ยงแรกๆ เป็นลูกผสมทั้งเนื้อทั้งนมได้ ตอนหลังผมมาปรับสายเลือด ซื้อพ่อพันธุ์เลือดสูงจากหลายๆ ที่ เพื่อให้นมเยอะขึ้น ใช้เวลา 5-6 ปี จนได้พันธุ์ที่นิ่ง มีความต้านทานสูง คุณภาพก็ใช้ได้ ผมส่งตรวจ โปรตีน ไขมัน ไม่ต่ำมาก ไม่ต้องอ้วนมาก ปล่อยให้กินตามธรรมชาติ มันขยายพันธุ์เร็วและต่อเนื่อง

การดูแลช่วงเช้าก็มาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ตอนเย็นก็มาอีกช่วง อาหารตรงนี้ไม่ต้องซื้อ แต่เราก็สำรองไว้ พอเราเลี้ยงเยอะขึ้นก็พัฒนาตาม มันไม่หยุดแค่นี้”

4 ขาพาปลดหนี้

คนเราก็ต้องปรับตัว แพะมันช่วยเราได้ตลอด ถ้าเกิดน้ำท่วมปุ๊บ แพะมันย้ายได้ แต่ต้นไม้มันย้ายไม่ได้ ตายลูกเดียว ที่ผมเลิกปลูกพืชเพราะว่าไม่รู้น้ำจะมาเมื่อไหร่ ถ้ามาคือตายหมด สมมติปลูกไป 5 ปี เราลงทุนไปหลายแสน แต่ว่าผลผลิตออกมาปุ๊บ น้ำท่วม

หลังจากปี 38 ผมก็ปลูกใหม่ ปี 45 ปลูกอีกก็จมอีก 49 ปลูกอีกก็จมอีก เลิกเลย หลังจากนั้นไม่ปลูกแล้ว ทำด้านปศุสัตว์เป็นหลัก แค่ทำนาทำอะไร ปลูกพอได้กิน ใช้พื้นที่เลี้ยงแพะดีกว่า รายได้มันแน่นอน ประสบการณ์เรามีแล้ว เราอยู่รอดได้ตลอด น้ำจมก็ยกขึ้นบ้านเลย อยู่ได้ ซื้ออาหารให้เขากินได้ ยังอพยพได้”

บทเรียนจากภัยธรรมชาติในอดีต ได้ทำให้มุมมองของเกษตรกรรายนี้เปลี่ยนไป ทุกวันนี้เขาจะไม่ได้ทิ้งการทำนาซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษไปอย่างเด็ดขาด พร้อมกับเลือกที่จะเดินหน้าในการทำปศุสัตว์ไปควบคู่กัน ซึ่งเป็นอาชีพที่เขามองว่ามั่นคง และยังเป็นส่วนสำคัญที่สามารถช่วยปลดหนี้ที่สะสมมาตั้งแต่อดีตได้จนหมด

มีหนี้อยู่เกือบล้าน เริ่มเลี้ยงแพะปี 42 ถึงเริ่มใช้ดอกเบี้ยได้ เป็นหลักก็คือมันก็ช่วย เราไม่ได้ทำแพะอย่างเดียว ทำบ่อปลา ทำทั้งนา ทั้งสวน ประกอบกันทุกอย่าง ถ้าทำอย่างเดียวมันไม่ได้ ก็เริ่มขายแพะได้เป็นกอบเป็นกำ ปีละแสนสองแสน ก็ช่วยโปะหนี้ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นดอกเบี้ย ดอกเบี้ยอย่างเดียวก็เกือบล้าน แต่ต้นก็ไม่เพิ่ม

แล้วก็ขายที่ไปบ้าง ที่ตอนนั้นยังไม่แพง ขายแพะด้วย แพะช่วยย่นระยะเวลา ช่วยผ่อนดอกและเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว เพราะเราเป็นครอบครัวใหญ่ 6-7 คน ต้องใช้ทุกวัน ใช้หมุนเวียน ลูกไปโรงเรียนก็เอาไปใช้ ปี 47 ก็ปลดหนี้ทั้งหมด ลอยตัว เราก็เลี้ยงแพะเลี้ยงอะไรไป



พอลูกเริ่มเข้ามหาลัย พอปี 51 ก็มาหนักอีก เป็นหนี้ใหม่ ลูกเรียน เข้ามหาวิทยาลัยพร้อมๆ กันหมด เรื่องใหญ่นะ 3 คน พอค่าเทอมมาที มองแพะตัวไหนจะขาย (หัวเราะ) ต้องหาวิธี ยังไงก็ต้องจ่าย ทยอยกู้ เราก็หมุนเวียนใช้ได้เพราะมีแพะ กู้เงินก้อนแต่เราส่งได้ ไม่มีพอก”

ในบรรดาลูกทั้ง 3 คนของเขานั้น มีลูกสาวคนโตที่เรียนจบมาตรงสายอาชีพดั้งเดิมของทางบ้าน ซึ่งเธอเองก็เป็นลูกมือคนสำคัญที่มาช่วยพ่อพัฒนาฟาร์มแพะแห่งนี้

“คนโตเป็นผู้หญิง จบเทคโนโลยีการเกษตร สาขาปศุสัตว์โดยตรง เป็นนักวิชาการ แล้วตอนนี้กลับมาบริหารเอง ให้มีมาตรฐาน คนที่สองเป็นวิศวโยธา คนที่สาม จบไฟฟ้ากำลัง ก็มั่นคง ก็ช่วยกัน ทำคนเดียวไม่ประสบความสำเร็จ ต้องทำทั้งครอบครัว แรงงานหลักคือแฟน ผมไปไหนเขาก็ดูแล แพะจากเป็นรายได้เสริมกลายเป็นรายได้หลัก มาทำเต็มที่เลย ส่วนใหญ่มาดู ผมก็ช่วยๆ เป็นพี่เลี้ยง แต่ผมก็ยังมีแรงอยู่ เหมือนออกกำลังกายทุกวัน อายุ 60 แล้วแต่ก็ยังทำงานปกติ

ไม่กี่ปีอาจจะต้องหาใหม่ อาจจะขยับออกไปข้างนอก ลูกอาจจะมาทำอะไรซักอย่างที่เป็นธุรกิจ ถ้าทำอะไรไม่ได้อาจจะต้องขาย ต้องได้มากพอที่ไปลงทุนใหม่ ให้เขาคิดกัน 3 คน เราวางมือแล้ว เหลือลูกมาทำต่อ แต่เขาต้องเก่งกว่าเรา พ่อเราเขาก็เก่ง ซื้อที่ เราแค่รักษาไว้เฉยๆ คนรุ่นใหม่โอกาสซื้อยากมาก คนรุ่นก่อนซื้อได้ ที่เป็นร้อยไร่ ภายใน 10 ปี ถ้ามันไม่ได้จริงๆ ก็ต้องหาทางออก

หนี้ที่ลูกเข้ามหาวิทยาลัยหมดไปรอบนึง ตอนนี้กู้มาลงทุนทำถนนเข้าบ้าน มันต้องใช้เยอะหลายแสน จำเป็นต้องทำเพราะเขาขยายถนนตรงทางเข้า เชื่อมที่เรากับชลประทาน ทำถนนเข้ามา แต่ไม่มีปัญหาอะไร ลูกเขารับผิดชอบ เป็นหนี้แค่พัฒนาปรับปรุงพื้นที่แค่นั้นเอง เดี๋ยวก็ใช้หมดไม่นาน”

มีวันนี้เพราะมีแพะ


อาจเรียกได้ว่า แพะได้เข้ามาเปลี่ยนชีวิตราวกับหน้ามือเป็นหลังมือ ภายหลังจากที่เลี้ยงแพะมา 20 กว่าปี ผลตอบแทนที่ได้มา เป็นเครื่องยืนยันว่า เขาก็สามารถลืมตาอ้าปากได้เพราะสัตว์ 4 เท้าชนิดนี้ ทั้งคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดจนภาระหนี้ที่หมดไป

แต่ก่อนผมไม่มีอะไร แต่ตอนนี้มีบ้าน มีรถ 3 คัน ตั้งแต่เลี้ยงแพะได้เลยก็คือลูกเรียนจบ อันนี้คือตัวหลัก มันยิ่งกว่าทรัพย์สินอีก พอลูกเรียนจบปั๊บก็ต่อยอด จบตามเจตนารมณ์ของเรา รับปริญญา 3 คน เป็นหลักประกันให้กับครอบครัว

ชีวิตมันเปลี่ยนตรงที่เราได้รู้จักโลกเยอะขึ้น จากเราเป็นเกษตรกรที่พูดไม่เป็นเลย จนเป็นวิทยากรได้ เป็นอาจารย์ รายการโทรทัศน์ทุกช่องมาถ่าย ถูกเชิญไปเป็นวิทยากรไปทั่ว เป็นต้นแบบในการทำข้อมูลให้เกษตรกร ก็ผ่านตรงนั้นมาได้ ผ่านหลักสูตรวิทยากรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์



แพะก็ช่วยให้ครอบครัวมีความผูกพัน มีความรัก โดยมีสัตว์เป็นสื่อกลาง เราเลี้ยงเขาอย่างดี ผมเลี้ยงแพะอย่างดี ไม่เคยเชือดแพะ ไม่เคยฆ่าเลย จะไม่ฆ่าเขาเด็ดขาด ขายอย่างเดียว กรมปศุสัตว์เอาเงินมาให้ผมสร้างโรงเชือด ผมไม่ต้องออกเขาสร้างให้ ผมบอกไม่เอา เราไม่อยากทำ ตอนเลี้ยงไก่เชือดมาเยอะแล้ว ไม่อยากฆ่าสัตว์ ใครซื้อไปเลี้ยงก็เลี้ยง ใครซื้อไปเชือด ไม่ขาย ซื้อไปเลี้ยง ให้ แต่ไม่รู้ว่าเขาจะเลี้ยงได้แค่ไหน”

พร้อมกันนี้ ยังฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ช่วยสนับสนุนการเลี้ยงแพะแก่เกษตรกรให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากความต้องการในตลาดมีมาก แต่กำลังการผลิตไม่ไม่เพียงพอ

“ผมเป็นรองประธานสภาเกษตรกร คอยไปเอาปัญหาของเกษตรกรมาทำให้แผนเพื่อจะส่งไปยังรัฐบาล แผนแม่บท นี่คือหน้าที่ของพวกผม ทุกเรื่อง ทั้งแพะ ทั้งประมง ทั้งข้าว ต้องทำ ผมพยายามผลักดันให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ ผลักดันโครงการภาคอีสาน แพะมันอยู่ได้ทั้งแล้ง ทั้งฝน ทั้งหนาว มันอยู่ได้หมด แพะมีหญ้าแห้งๆ มีฟางก็อยู่ได้ เป็นสัตว์ที่อดทน อยู่ได้ทุกสภาพอากาศ แล้วอย่างอีสานมีต้นไม้เยอะ พื้นที่เยอะ ถ้าปฏิบัติได้ ภาคอีสานจะไปไกล

เราผลิตแพะได้น่าจะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 2 ล้านตัว น้อยมาก ในประเทศก็ไม่พอแล้ว ที่จริงเราต้องส่งออกประมาณ 4-5 แสนตัว ไปมาเลย์ แล้วก็ต้องนำเข้าจากพม่า วัวอีกประมาณ 5-6 แสนตัว ที่เข้ามาบริโภค ผมพยายามเสนอแผนให้ผลักดันการเกษตร ทำนาให้หันมาเลี้ยงสัตว์ด้วย ทำแปลงหญ้าขนาดใหญ่ เลี้ยงสัตว์เป็นอุตสาหกรรม

เวลาประชุมผมก็เสนอรัฐบาล ทำไมไม่ผลักดัน รัฐบาลน่าจะส่งเสริมให้พอ ยิ่งเกษตรกรรุ่นใหม่วิชาการเขาเก่ง เขาจะทำให้ดีขึ้น ตอนนี้ยังนิ่งๆ อยู่ มีเท่าไหร่ก็ส่งไปได้ถ้าเราเป็นฐานการผลิต เรากลายเป็นแค่ทางผ่าน เรานำเข้าจากพม่า แล้วส่งต่อไปมาเลเซีย มีเท่าไหร่ก็ไม่พอ ฝากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนเราหน่อย ให้เงินทุนแก่เกษตรกรให้ทำอย่างนี้”

ส่วนใครก็ตามที่สนใจ ก็สามารถขอความรู้ได้ ที่ฟาร์มแพะบ้านคลองลำลีหมู่ 2 ต.ละหาร อ.ละหาร จ.นนทบุรี หรือเบอร์โทรศัพท์ 083-1997093 เขาก็กล่าวว่า ยินดีพร้อมให้คำแนะนำ



“ก็ฝากไว้เกษตรกรที่สนใจจะเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมไปก่อน บางคนก็เคยไลน์มาขอบคุณผมที่เป็นแนวทาง ทำนาแล้วน้ำท่วม รายได้ไม่ดี ข้าวถูกบ้างแพงบ้าง แต่อันนี้ได้ทุกเดือน เขาขายแพะเนื้อ ปีนึงทยอยออกมาเรื่อย 2-3 เดือนก็ขายได้ เลี้ยง 20 แม่ ออกมารอบนึงก็ 40 ตัว 3 เดือนก็ขายได้แล้ว ตัวนึงก็เฉลี่ยประมาณ 3 พัน 40 ตัวเขาก็ได้เป็นแสน เขาก็ดีใจ ทำนาแล้วได้แสนเหรอ ต้องรอให้รัฐบาลมาจ่ายค่าประกันรายได้เสริม แต่นี่ไม่ต้องรอ เอาขึ้นรถก็จ่ายตังค์เสร็จไม่ต้องรอ

เราต้องมีความคิดที่เราจะเปลี่ยน ตัดสินใจที่จะเปลี่ยน เราไม่ได้ยกเลิกของเก่า ของเก่าก็ยังอยู่ ทำนาก็ยังอยู่ เลี้ยงปลาก็ยังอยู่ แต่มาเสริมจนเป็นหลักให้เราได้ เราต้องคิดว่าอะไรที่ตลาดมันท้าทาย มันต้องการ ผมมองแรกๆ เลย ถ้าเรามาเลี้ยงแพะ ปีนึงในชุมชนอิสลามเขามีเกือบร้อยครอบครัว เขาก็ต้องการแพะร้อยตัว พอมาจริงๆ แค่ในจังหวัดนนทบุรีที่ผลิตแพะ ยังไม่พอเลย ต้องไปสั่งข้างนอกเข้ามาอีก

ตอนนี้ไม่มีปัญหาอะไร นั่งคุย นั่งมอง ก็มีความสุข มันก้าวมาถึงตรงนี้ได้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในคนรุ่นเดียวกัน คนรุ่นเดียวกับผมเขาก็ปลดเกษียณ กินบำนาญ แต่ไม่ได้มีที่อะไร แต่เราไม่ได้เป็นราชการ ลูกเราก็ทำงานได้ มันคนละแบบกัน ความมั่นคงของเขาอีกแบบนึง ของเราก็อีกแบบนึง

เลี้ยงแพะก็เหมือนเลี้ยงเล่น ประกอบไปเป็นรายได้อีกส่วนนึง ที่จะซัปพอร์ตครอบครัว มีบ้านมีอะไรครบหมด มีรถ ก็มีความสุข สามารถดูแลครอบครัวเราได้ โดยไม่จำเป็นต้องขายที่ เราก็เอาที่ที่มีอยู่เก็บเอาไว้ เราไม่ยอมขาย เราพอเพียง เท่านี้ก็กินไม่หมดแล้ว”

สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ : วชิระ สายจำปา


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น