xs
xsm
sm
md
lg

มะเร็งไม่ใช่อุปสรรค “ครูชาตรี” สอนเกษตรฟรี-สร้างรายได้-ง่ายแต่เห็นผล! [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งการให้… “ครูชาตรี” ครูเกษตรวัยใกล้เกษียณ ส่งต่อองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรมให้ฟรี ผ่าน “ไร่สุมหัว” พลิกที่ดินรกร้างข้างวัด สู่การสร้างรายได้ให้ลูกศิษย์นับหมื่นต่อเดือน ด้วยอุดมการณ์ “จะถ่ายทอดศาสตร์พระราชา จนกว่าชีวิตจะหาไม่”

“ไร่สุมหัว” สร้างรายได้ให้เด็กนับหมื่นต่อเดือน

“ตอนแรกก็เป็นแปลงเกษตรทั่วไป วันนึงเราถูกปรามาส ถูกคนเขาบอกว่า เสาร์-อาทิตย์ ทำไมเด็กต้องมาที่นี่ มาอะไรกัน เด็กมามั่วสุมกันรึเปล่า นี่เด็กมาทำกิจกรรม แต่เขาไม่รู้ว่ากิจกรรมเด็กมีอะไรบ้าง มีทั้งเรียน เล่นสนุก มีทักษะการเรียนรู้ ทักษะการเล่น ทักษะการอยู่ร่วมกับเพื่อน เราก็เลยตั้งชื่อ “ไร่สุมหัว”จริงๆ ชื่อเต็ม ไร่สุมหัว แต่ไม่มั่วสุม

ชาตรี ต่วนศรีแก้ว หรือ ครูชาตรี ครูสอนวิชาเกษตรวัย 56 ปี แห่งโรงเรียนสถาพรวิทยา จ.นครปฐม กล่าวกับผู้สัมภาษณ์ถึงที่มาของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ครูไม่เพียงสอนเรื่องเกษตรให้เข้าใจง่าย ด้วยการลงมือทำและเห็นผลจริง แต่ยังเปิดอบรมให้ความรู้เรื่องการเกษตรแก่ประชาชนที่สนใจ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือสิ่งตอบแทนใดๆ มาหลายปีแล้ว


“เมื่อก่อนวิชาเกษตร เด็กไม่สนใจ ส่วนใหญ่โดนบังคับมาเรียน พอดีมีพื้นที่วัดรกร้าง เราก็เลยเอามาปรับปรุง ในพื้นที่ 25 ไร่ ทำยังไงให้เด็กอยากมาเรียนรู้ อยากมาอยู่ ก็เลยทำเป็นบ้านหลังโรงเรียน คำว่าบ้านหลังโรงเรียน หมายถึงที่ที่เด็กใช้เวลาหลังเลิกเรียนระหว่างรอผู้ปกครองมารับ วันหยุด มาทำเกษตรกัน เราเห็นสภาพที่นี่ ส่วนใหญ่พ่อแม่เด็กเป็นเกษตรกร ฐานะยากจน ถ้าเราเอาเด็กมาสร้างรายได้ ให้เด็กทำงาน ก็น่าจะโอเค

ในไร่สุมหัวเรามีสำหรับเกษตรกรทั่วไป เรามีหลักสูตร “เรียนด้วยใจ เบื่อเมื่อไหร่ก็กลับ” เกษตรกรจากทั่วประเทศหิ้วกระเป๋ามาอยู่กับเรา มีบ้านพัก มีโฮมสเตย์ให้ พอมาเรียนรู้เสร็จ มาปรับพื้นฐานประมาณเดือนนึง เสร็จแล้วเกษตรกรคนนั้นต้องพาเรากลับไปบ้าน เคสล่าสุดมาจากพิมาย นั่งรถผมไปพิมาย พอไปเสร็จ เราก็ไปดู ไปนั่งคุย ไปดูสภาพบ้าน ที่บ้านเขาเป็นชุมชนเพาะเห็ด เราก็เลยบอก เอางี้ เรามาเรียนเพาะเห็ดกัน”


นอกจากเรื่องของการทำเกษตรแล้ว ยังสอนเรื่องของการใช้ชีวิตอีกด้วย ครูชาตรีได้ช่วยให้เด็กที่ยากจนในชุมชนใกล้เคียงให้มีรายได้จากผลิตผลทางการเกษตรกว่าเดือนละนับหมื่นบาท และยังทำให้เด็กมีความรู้ติดตัว เพื่อประกอบอาชีพในอนาคต ทั้งที่ตัวครูก็รักษาตัวจากอาการป่วยที่ถูกมะเร็งร้ายรุมเร้าอยู่

“เด็กจะต้องเชื่อมเหล็กเป็น ต้องอ๊อกเหล็กเป็น ต่อสายไฟฟ้าเป็น มีเลี้ยงไก่ อยากจะต่อไปเล้าไก่จะทำยังไง เด็กต้องใช้เครื่องจักรเป็น เราจะใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและลดการใช้แรงงาน ก็เลยกลายเป็นโรงเรียนวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง เด็กได้เรียนรู้วิถีชีวิตทุกเรื่อง เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงทั้งหมดเลย

เราต้องการฝึกมือให้มือแข็งแรง สอนให้เด็กทำเกษตร เด็กจะมีปัญหาเรื่องสมาธิสั้น มือไม่แข็งแรง ต้องดึงทักษะในสมอง ดึงจินตนาการ ออเดอร์ตัวนี้มีคนต่างชาติมาเห็นชิ้นงาน เขาบอกให้ทำให้เขา 50 ตัว แต่ก็ปั้นมือนะ ตัวละ 4 เหรียญ”



ทางด้านของลูกศิษย์รุ่นเล็กอย่าง “พีม - กิตติพงศ์ จินวงษ์โป๊” หนุ่มน้อยวัย 14 ปี ก็กล่าวถึงผลสัมฤทธิ์ที่ได้เข้ามาเรียนรู้งานเกษตรกับครูชาตรีว่า นำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดจนเกิดเป็นรายได้หลายหมื่นบาทต่อเดือน!

“เราได้เรียนรู้ ปุ๋ยเราต้องรู้สัดส่วนด้วย ปุ๋ยหมักเราก็เอาไปฉีดพวกแมลงได้ รู้จากครูว่าผสมยังไง (มีดิน มีผักไปขาย) รายได้แล้วแต่คนจะซื้อ วันนึง 2-3 ร้อยก็อยู่ได้ เดือนนึงถ้าเกิดว่าขายดีๆ มีคนมาซื้อเรื่อยๆ ก็ได้ 2-3 หมื่นครับ เอาเงินให้พ่อแม่ ก็รู้สึกดีครับ พ่อแม่ก็ภูมิใจ

ก็อยากบอกครูว่า อยู่สอนพวกผม สอนรุ่นน้องพวกผมไปอีกนานๆ ครับ อยากทำสวนเกษตร ศูนย์ความรู้แบบนี้ให้รุ่นหลังๆ ได้เข้ามาดู ก็ลองดูได้ ไม่ยากอย่างที่คิด แค่เราตั้งใจทำ มีจิตใจที่มุ่งมั่น เราก็ทำได้ครับ”

เกษตรจากสมอง สองมือ และหัวใจพอเพียง

“เราสอนเด็กทำเกษตรด้วยสมอง สองมือ และหัวใจแห่งความพอเพียง ทำเกษตรด้วยสมองคือต้องสอนให้เด็กว่า อย่าทำไร่ ไล่ตามเขา ให้ทำสวน สวนกระแส อะไรแพงอย่าปลูก อะไรถูก ปลูกอย่างนั้น ถ้าปลูกแพงไม่ทันแล้ว ก็เลยมีวิชาการสืบค้นข้อมูลเกษตร ผักกินใบแพงวันไหน ทุกคนไปเปิดกูเกิลเลย ไปหาเลยว่า 5 ปีย้อนหลัง เดือนไหนผักอะไรแพง เสร็จแล้วมาทำตาราง เราจะรู้ว่าเราปลูกผักอันไหนแล้วเราขายได้”

ณ ไร่สุมหัวแห่งนี้ ได้สอนหลักคิดในการทำการเกษตร ให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืน ด้วยสมอง-สองมือ ตลอดจนสอนการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด


“เราต้องสอนเด็กเสมอว่า การเกษตรจะสำคัญที่สุด เมื่อเราหยิบเมล็ดพันธุ์ผักออกจากซอง วันนั้นคือวันที่ต้องรับผิดชอบจนกว่าจะเก็บมันได้ ที่วันนี้เกษตรกรยากจนคือขาดความรับผิดชอบในการดูแล เช่น ทำนา วันนี้หนอนมาตัวนึง ถ้าเรายังเฉยๆ ไม่เข้าไปดูแล ไม่รับผิดชอบมัน พรุ่งนี้หนอนอาจจะระบาดขึ้น

ตอนนี้เราจะแบ่งพื้นที่ออกเป็นในส่วนของวิชาเรียน วิชาเกษตรเทอมที่ผ่านมา เราจะเปิดสอนวิชาการเลี้ยงไส้เดือน การปลูกผักในภาชนะ การทำน้ำหมักชีวภาพ เทอมที่ 2 อากาศหนาว พื้นดินแห้ง เราก็จะเปลี่ยนพื้นที่หญ้ารกๆ กลายเป็นแปลงผักอินทรีย์ แล้วก็ส่งไปจำหน่าย เด็กก็จะเอาผักใส่ถุง แล้วก็ใส่รถมอเตอร์ไซค์ไปจำหน่ายตามหมู่บ้าน


แล้วก็จะมีทำนาข้าว กลุ่มไหนอยากทำนา เราก็จะมีนา 5 ไร่ มีข้าวที่สามารถจำหน่ายได้ อย่างข้าวเขาทำขาย รายได้ของเขา 100 เปอร์เซ็นต์ สมมติเด็กเขาทำนาอยู่ เราสอนให้เด็กลงทุนเอง แต่เราเป็นคนดูแลเรื่องการลงทุนว่าเท่านี้นะ ถ้าไม่พอเราก็จะหาทุนให้

เมล็ดพันธุ์มีคนบริจาคให้ ปุ๋ยก็ทำเอง เราผลิตปุ๋ย ทำน้ำหมักเอง แรงงานของเขาเอง สถานที่ก็ของวัด เครื่องจักรเรามีให้ เราทำนา 5 ไร่ แต่ละปีเราลงทุนไม่เกิน 4-5 พันบาท เฉลี่ยแล้วไร่ละพัน แล้วเด็กเขาจะมีรายได้จากการขาย ฉะนั้นกลุ่มเขา 3 คน จะมีรายได้ปีนึง 3 คนแบ่งกันคนละ 40,000 กว่าบาท ต่อ 4 เดือนนะ แค่ 4 เดือนเอง


การอบรมเรียนรู้เรื่องเกษตรจากไร่สุมหัวของครูชาตรีนั้น ไม่ได้มีแค่ จ.นครปฐม เพราะครูมีเครือข่ายลูกศิษย์ที่เคยผ่านการอบรมมาแล้ว 40 กว่าจังหวัด พร้อมรับผู้สนใจไปเรียนรู้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เหมือนที่ครั้งหนึ่ง พวกเขาเคยได้รับจากครูชาตรีมาก่อน ในโครงการ “โครงการเรียนรู้ กินอยู่กับปราชญ์” และอีกโครงการ “ปิ่นโตความรู้” คือการออกให้ความรู้ด้านการเกษตรแก่คนในชุมชนใกล้เคียง

“เด็กจะเข้าสู่โครงการ เรียนรู้อยู่กินกับปราชญ์ เมื่อเขาเป็นเจ้าของฟาร์มแล้ว วันหนึ่งผมส่งคนไปต้องมีข้อแม้ว่า ห้ามเก็บตังค์แม้แต่บาทเดียว เพราะเวลามาอยู่กับผม ผมไม่เคยเก็บตังค์ มันเป็นพันธะทางใจ ตอนนี้เราก็มีเครือข่ายประมาณ 150 แห่งทั่วประเทศ


พอเด็กปิดเทอมเขาคือเด็ก ม.1-5 จะจับสลากกัน จับคู่ 2 คน แล้วเราก็จะมีจังหวัดให้เลือก 48 จังหวัด สมมติได้สุรินทร์ เด็กก็จะถูกส่งไปอยู่กับเครือข่ายที่สุรินทร์ เด็กจะได้เงินติดตัวคนละ 500 แล้วไปเรียนรู้อยู่กินกับปราชญ์ อย่างน้อย 2 เดือน เสร็จแล้วกลับมา ไปเรียนรู้อะไรต้องมาทำที่ไร่สุมหัว ไปเรียนเพาะเห็ดมาก็ต้องทำเห็ด ต้องมาฝึกอาชีพ

ส่วนปิ่นโตความรู้สัญจร คือผมเป็นมะเร็งรักษาตัวที่ รพ.ศิริราช เมื่อปี 2555 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านอยู่ตึกตรงข้ามผม ท่านป่วยแต่ท่านก็ยังทรงงานอยู่ ผมก็เลยบนบานศาลกล่าวต่อพระบิดา ต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า ถ้าผมทุเลาผมก็จะขอถ่ายทอดศาสตร์พระราชา พอดีผมทุเลาขึ้นมา ผมก็เลยสร้างกิจกรรมปิ่นโตความรู้ คือการเก็บความรู้มาใส่ปิ่นโตจะหยิบมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้ ปิ่นโตความรู้สัญจร คือคนแก่มาไม่ได้ เราก็เลยลงพื้นที่รัศมีไม่เกิน 25 กิโล ไปสอนให้ฟรี

“ดีใจที่เป็นมะเร็ง”

“ผมพูดกับใครเสมอ ผมดีใจที่ผมเป็นมะเร็ง ถ้าผมไม่เป็น ผมก็คงไม่เห็นเด็กผม เมล็ดพันธุ์ที่ผมเพาะ มันเติบโต มันแทนผมได้”

แม้ครูชาตรี จะถูกโรคร้ายอย่างมะเร็งรุมเร้า แต่ก็ไม่เคยคิดที่จะทิ้งสิ่งที่ตนเองสร้าง และวันนี้ สิ่งที่เขาตั้งใจก็ได้ผลิดอกออกผล เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่มากมาย

“ผมป่วยตั้งแต่อายุ 50 เป็นมะเร็งที่โพรงจมูก คุณหมอบอกว่าเป็นระยะเริ่มลุกลาม ทำคีโมมา 35 ครั้ง ฉายแสงมา 6 ครั้ง ผมกลับมาศูนย์การเรียนรู้ เด็กก็มารดน้ำต้นไม้ มีคนมาดูงาน เด็กเขาก็จัดการผลผลิต มันไม่ได้เป็นร้าง ความรู้สึกผม ผมมาถูกทางแล้ว

ผมได้ความสุขทางใจ ผมบอกแล้วไง วันหนึ่งผมเป็นมะเร็ง วันนั้นผมป่วยมากจนกระทั่งอยู่ไม่ไหวแล้ว ร่างกายอยู่ไม่ไหวแล้ว ผมรู้ว่าเงินไม่มีค่าแล้ว แต่วันนี้ผมมีกำลังใจ หลังจากที่ผมทุเลามา คือการให้ มันหล่อเลี้ยงให้ผมมีความสุข ที่อยู่ได้ทุกวันนี้ อยู่ด้วยใจที่อยากจะอยู่ ตอนนี้ผมก็เปิดกลุ่ม “โรงเรียนมะเร็งวิทยา” แชร์ความรู้ เราต้องเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน


ทางด้านของ สมศิลป์ ตรีธัญญา หนึ่งในเมล็ดพันธุ์ที่บ่มเพาะโดยปราชญ์เกษตรผู้นี้ก็กล่าวว่า จากเดิมที่เคยทำการเกษตรแบบผิดๆ ก็ได้ครูชาตรีช่วยชี้ทางที่ถูกให้

“ผมเลี้ยงสัตว์ ก็ลุ่มๆ ดอนๆ กำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง ทีนี้เรามีมูลสัตว์อยู่ ก็เลยทำปุ๋ยหมัก แต่ก็ยังไม่มีตลาด ไม่รู้จะทำยังไงให้เกิดรายได้ พอดีรู้ว่าในอบรม เขาให้เราเอาผลิตภัณฑ์ที่เรามีไปนำเสนอ เราก็เลยเอาไปด้วย ด้วยความบังเอิญถือตัวนั้นไป แล้วไปเจอครูที่มาอบรม ยังไม่รู้จักครูเลยว่า ครูชาตรีคือใคร

พอได้อบรมปุ๊บ เอาปุ๋ยหมักที่เรามีไปให้ครูดู ผมอยากทำผลิตภัณฑ์ตัวนี้จะได้มั้ย ครูด่าเลย ใช้คำง่ายๆ “มึงไปทำทำไมให้ยาก” ครูบอกว่างั้นเดี๋ยวมาเอาสูตรที่ครู เราก็เลยได้สูตรดินมาผสม ทำธุรกิจของเรา ตอนนี้ก็มีรายได้เสริมจากการทำดินปลูก


ประทับใจครูมากเลยครับ เพราะครูเอาเวลาส่วนตัวที่จริงๆ แล้วครูสามารถไปทำอย่างอื่นได้ แต่ครูเอาเวลาทั้งหมดมาลงกับแปลง สอนให้เด็กๆ ได้มีกิจกรรม ได้มีความรู้ แล้วก็ทำเป็นสวนต้นแบบ ให้คนมาเรียนรู้ มีตัวอย่างที่ดี มาดูตัวอย่างได้ ถ้าเขามาเห็น มาฟังครูพูด อาจจะนึกภาพไม่ออก แต่เขาเห็นเลยว่าครูทำจริง แล้วมันเกิดผลจริง”

สุดท้าย ครูชาตรีได้ฝากกำลังใจถึงใครก็ตามที่ท้อแท้กับชีวิตอยู่ ให้ลุกขึ้นสู้ จงทำวันนี้ให้ดีที่สุด ‘เพราะไม่สู้ ก็ไม่มีวันชนะ’

“เราสอนเด็กเสมอว่า ในโลกนี้มีคนอยู่ 2 ประเภท ผู้ให้และผู้รับ ผู้รับกินอิ่มนอนหลับ แต่ผู้ให้นอนหลับกว่า ผมพยายามทำให้เด็กเป็นผู้ให้ให้ได้ ที่นี่เป็นที่ให้ ใครเดือดร้อน มา บ้านใครไม่มีข้าวผมมีข้าวให้ คนเราถ้าวันไหนเรามีปัญหา มีลมหายใจ แสดงว่าเรามีชีวิตอยู่ ฉะนั้นจงสู้ ถ้าเราไม่สู้ก็ไม่มีทางชนะ


อีกอย่างที่จะฝากไว้ คนเรามีวันสำคัญแค่ 3 วันในชีวิตเรา เมื่อวาน วันนี้ และพรุ่งนี้ เมื่อวานเราแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว พรุ่งนี้เราไม่รู้ว่าวันนี้เราจะตายรึเปล่า เราจะเจอวันพรุ่งนี้รึเปล่า วันนี้ทำให้ดีที่ ท้อแท้อะไร หันกลับมาสู้ ยืดอก สูดลมหายใจ แล้วกลับมาสู้ใหม่

มีคนถามผมมานะ เป็นมะเร็งแล้วปฏิบัติตัวยังไง มะเร็งมันกลัวความสุข แล้วมันชอบความเครียด ก็เลือกเอา ถ้าจะมีชีวิตเร็วก็เข้าหาความสุขเข้าไว้ ถ้าอยากจะตายเร็วก็เอาความเครียดเข้ามาใส่ แค่นั้นเอง ที่ฝากคืออย่าท้อ ให้สู้ เราตั้งเป้าไว้เลย พรุ่งนี้เราจะต้องเห็นพระอาทิตย์ขึ้นให้ได้


จริงๆ แล้วอุดมการณ์ชีวิต ผมก็อยากจะถ่ายทอดศาสตร์พระราชา จนกว่าชีวิตผมจะหาไม่ เพราะวันที่ผมรอดตายมาได้ ผมมีกำลังสู้ถึงวันนี้เพราะแนวคิดของพระองค์ท่าน ว่าศาสตร์พระราชามีมากมาย ไม่ได้แค่เศรษฐกิจพอเพียงอย่างเดียว ท่านสอนไว้เยอะ ฉะนั้นผมก็เลยเอาศาสตร์พระราชาไปถ่ายทอดให้คนตามแบบฉบับของผม คือทำเกษตรง่ายๆ สไตล์ครูชาตรี ทำแล้วเห็นผล”

อุดมการณ์ของครูชาตรี ที่จะป่วยหนักด้วยโรคมะเร็ง แต่ไม่เลือกที่จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่เพื่อสุขภาพของตนเอง แต่กลับอุทิศตนเพื่อสังคม ด้วยการทุ่มเท ถ่ายทอดวิชา และประสบการณ์ความรู้ เกี่ยวกับงานด้านเกษตรแก่ผู้สนใจ สิ่งที่ครูทำไม่เพียงช่วยจุดประกายให้สังคมหันมาสนใจด้านเกษตรมากขึ้น แต่ยังสะท้อนว่า การทำเกษตรแบบเข้าใจและรู้จริง ก็สามารถเป็นอาชีพที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน



สัมภาษณ์ : รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง : MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : “Cha Tisol”


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น