xs
xsm
sm
md
lg

“สวนมะนาวกลางกรุง 2 พันล้าน” ปฏิเสธทุกนายทุน ส่งออกพันธุ์แฮนด์เมด เกรดท็อประดับโลก!! [มีคลิป]

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจาะใจ “ลุงจำรัส” เจ้าของสวนมะนาวใกล้รถไฟฟ้ากลางกรุงฯ มูลค่า 2,000 ล้านบาท ปฎิเสธทุกข้อเสนอจากนายทุนเพื่อรักษาที่ดิน 2 ไร่กว่า ตั้งเป้าพัฒนา “สวนมะนาว” ให้มีรายได้ ออเดอร์เข้าเพียบในแต่ละวัน ขายทั้งต้น ทั้งลูก ด้วยใจรักเกษตรมาตั้งแต่เด็ก ขยายพันธุ์เอง ลองผิดลองถูกกว่า 42 สายพันธุ์ พร้อมจดสิทธิบัตรสายพันธุ์มะนาวเป็นของตัวเอง โด่งดังมีชื่อเสียง มี 12 ประเทศเข้ามาชมไม่ขาดสาย พร้อมสอนฟรีให้ผู้ที่สนใจอยากประสบความสำเร็จอาชีพชาวสวน



สองพันล้านก็ไม่ขาย

“เพราะว่าใจรักเกษตร และอีกอย่างเราทำเพื่อเงิน ปลูกอะไรขึ้นมาก็แล้วแต่ มะนาวให้เงินมากที่สุด รวมทั้งลูกศิษย์ด้วย ยกตัวอย่างที่ต่างจังหวัด ที่เชียงใหม่ 39ไร่ ปีนึงก็ได้แค่ 10 กว่าล้าน อย่างนี้เราก็เลยยึดมะนาวเป็นหลัก”

แสงแดดยามบ่ายตกสะท้อนประตูเหล็กสีเลือดหมูที่ค่อยๆ เลื่อนเปิด จำรัส คูหเจริญ ชายวัย 84 ปี เจ้าของ “สวนมะนาวลุงจำรัส” เดินออกมาต้อนรับ พร้อมยิ้มทักทายด้วยใบหน้ายิ้มแย้มอย่างอารมณ์ดี

คุณลุงจำรัส เป็นอดีตข้าราชการที่ปลูกมะนาวจนประสบความสำเร็จ มีรายได้เลี้ยงตัวเองอย่างยั่งยืน และยังสามารถเพาะพันธุ์มะนาวได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้คนที่สนใจนำความรู้นี้ไปต่อยอดได้อีกด้วย

และใครจะรู้ว่าพื้นที่ 2 ไร่กว่าๆ ย่านเขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ห่างจากรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีวุฒากาศ มุ่งหน้าไปทางถนนราชพฤกษ์เพียง 500 เมตร จะมีสวนมะนาวที่รายล้อมไปด้วยตึกสูง

พื้นที่กลางกรุงฯ ใกล้รถไฟฟ้า มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ปฏิเสธนายทุนทุกคนที่เข้ามาติดต่อขอซื้อ มีทั้งเมืองไทยและต่างประเทศที่แวะเวียนเข้ามาเสนอราคาให้อยู่บ่อยครั้ง แต่ไม่ยอมขาย เพียงเพื่ออยากรักษามรดกครอบครัวไว้ให้สู่รุ่นลูกหลานต่อไป และด้วยความมุ่งหมายที่สำคัญคือ อยากพัฒนาสวนมะนาวแห่งนี้ให้แก่ผู้คนที่สวนใจโดยไม่คิดเงินสักบาท

“รถไฟฟ้าอยู่หน้าบ้าน ทางรถออกตรงนี้ก็สะดวก ถ้าเขาซื้อที่ดินได้เขาจะได้ 4 แท่ง (คอนโด) พร้อมทั้งที่จอดรถ ถ้าเขาซื้อที่หมด

มีมาเช้ามาเย็น ทุกวันนี้ไม่ตื๊อแล้ว เพราะผมตั้งราคาไว้เด็ดขาด 2,000 ล้านบาท มีมาให้ตารางวาละ 90,000 อีกที่ให้ 100,000 บาท ราคาประเมินมัน 280,000 บาท เขาให้ผม 9 หมื่น และแสนนึง เขาคงนึกว่าผมตาลุกแล้ว ผมสมถะ ผมพอไม่จำเป็นต้องมีร้อยล้านพันล้าน ผมมีเท่าไหร่เวลานี้ผมกินนอนหลับสบาย ไม่ขาย

สมมติว่าขายจากที่นี่ ไปซื้อที่อื่นได้เยอะเลย ถ้าได้เพื่อนบ้านดีโชคดี ถ้าเพื่อนบ้านร้าย โชคร้ายใช่ไหม อยู่ที่นี่ผมเปิดประตูออกไป ผมรู้จักทั่วไปแล้ว ไปข้างหน้ารู้ไหมจะโชคดีโชคร้าย เพราะอย่างนั้นอยู่ที่นี่เถอะ เพราะอยู่นี่มาตั้งแต่รุ่นพ่อ รัชกาลที่ 5 เปิดประตูจะรู้จักหมด ดีหรือไม่ดี แต่ตายแล้วไม่รู้เรื่องก็ไม่เป็นไร ช่างเขา สมมติลูกหลานไม่มีที่อยู่ก็ปลูกบ้านได้เป็นสิบๆ หลัง”


ดำเนินชีวิตอยู่โดยยึดหลักคำว่า “พอ” มาโดยตลอด ถ้ารู้จักคำว่าพอจะทำให้ชีวิตไม่ฟุ้งซ่าน แถมคุณลุงจำรัส ยังบอกอีกว่า มีความสุขที่เพิ่มขึ้นด้วย เช่นเดียวกับที่ตัดสินใจไม่ขายที่ แม้จะมีค่าตอบแทนที่เยอะมากมายก็ไม่เป็นไร

“เราโชคดีโชคร้ายอยู่ในตัวโดยไม่รู้ไงว่าจะโชคทางไหน ถ้าไปเจอเพื่อนบ้านเลวมันก็โชคร้ายใช่ไหม ถ้าไปเจอเพื่อนบ้านดีก็โชคดี แล้วไปอยู่ใหม่จะรู้ไหมว่าโชคดีโชคร้าย อยู่ที่นี่เรารู้

แล้วอีกอย่างรู้จักตัวพอไหม ถ้าพอเพียงใจมันก็ไม่ฟุ้งซ่าน ถ้าไม่พอก็ฟุ้งซ่านชีวิตผมก็มีบำนาญเลี้ยงผมอยู่ ผมจะไปกลัวอะไรอีก ไม่ใช่ว่าวันนี้ต้องหูฉลาม วันนี้ต้องข้าวหมกไก่ วันนี้ต้องไก่ย่าง เป็ดย่าง อายุสั้นทุกคน วันนี้ผมผัก น้ำพริก ปลา ต้มแกงจืดผมทานได้สบายๆ อะไรก็ทานไม่ได้ นั่นคือไม่เลือก

อยู่อย่างสบาย บำนาญเลี้ยงผมสบายอยู่แล้ว ไม่เดือดร้อน แต่ว่าขอให้มีตัวพอ สมถะ ถ้าไม่มีตัวพอเท่าไหร่ก็อยู่ไม่ได้ กลุ้ม บ้านคุณอาจจะเล็กนิดเดียว ไปอยู่แล้วนอนหลับ กับบ้านใหญ่เบ้อเร่อที่อยู่แล้วทะเลาะกันทุกวัน

ที่นี่ผมเป็นผู้ให้ เพราะผมปลูกต้นไม้มันจะปล่อยออกซิเจนออกมา ข้างนอกไม่ค่อยมี แต่ที่นี่จะปล่อยเผื่อเพื่อนบ้าน เพราะฉะนั้นที่ผมปลูกต้นไม้ผมเผื่อแผ่ชาวบ้านเขาด้วย เขาไม่รู้”

นอกจากยึดคำว่า พอ ในการดำเนินชีวิตแล้วนั้น ยังมีข้อคิดอีก 6 ข้อ นอกจากจะได้ความอิ่มเอมใจ ยังได้สุขภาพที่แข็งแรงอีกด้วย
“ขอ 6 อย่างถ้าทำได้ก็ทำนะ ถ้าทำไม่ได้ก็ตัวใครตัวมันนะ 1.อย่ากินเหล้า 2.อย่าสูบบุหรี่ 3.ดื่มน้ำให้มาก 4.ออกกำลัง 5.ดื่มนมให้มาก 6.อบายมุขทั้งหลาย ได้แก่ ยาบ้า ยาม้า ยาเค อย่าไปยุ่งเด็ดขาด ขอ 6 อย่าง ถ้าขอไม่ได้ก็ตัวใครตัวมันแล้วกัน”

เจ้าของสวนยังย้ำอีกว่า แม้ตอนที่รับราชการอยู่นั้นยังทำเกษตรควบคู่กันไปด้วย เพราะด้วยใจรักมาตั้งแต่เด็ก จึงพยายามทุ่มแรงกายแรงใจทุกอย่างลงไป

“ทำเกษตรอยู่ที่บ้าน แต่รับราชการด้านวิศวะ ไม่ทิ้ง ทิ้งไม่ได้ คือผมไม่ควรไปเรียนวิศวะ ถ้าผมเรียนเกษตรตั้งแต่ต้น ผมรุ่งกว่านี้เยอะเลย คิดผิด

ลูกคนจน พ่อแม่ยากจนมาก คำว่านักเรียนนอกมันยิ่งใหญ่แค่ไหน แล้วบางนี้ทั้งบางคนแรก ตอนที่สอบได้พ่อแม่ดีใจอย่างแรง
ทิ้งไม่ได้ รักมากเลย เพราะทำมาตั้งแต่เด็ก ใจรัก ให้ตายไปก็ทิ้งไม่ได้เกษตร มันรักเหลือเกิน ทำทุกเอง ไม่มีผู้ช่วย เพาะพันธุ์เอง ทำทุกอย่างเลย”


ปลูกมะนาวก็รวยได้

เจ้าของสวนเล่าว่า ด้วยใจรักมาตั้งแต่เด็ก บวกกับมีพื้นเพมาจากครอบครัวชาวสวน ยึดอาชีพเกษตรมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ทำให้มีใจรักที่ทำทำอาชีพนี้ต่อไปจนกว่าจะทำไม่ไหว

และเจ้าของสวนแห่งนี้ก็ยังทำให้เห็นแล้วว่า แม้จะปฏิเสธเงินกว่า 2,000 ล้านบาท ก็สามารถม่งมั่นปลูกมะนาวบนพื้นที่แห่งนี้จนมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างยั่งยืน



“ขั้นแรกผมปลูกกล้วยไม้ก่อน ผมสอบชิงทุนไปต่างประเทศได้ ผมไปอยู่มา 5 ปีครึ่ง เรียนวิศวะไฟฟ้า มหาวิทยาลัยวะเซะดะ ผมนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ผมก็ถามแม่ผมว่าเลี้ยงได้ไหมกล้วยไม้ แม่ก็รีบตอบว่าได้ๆ เสร็จแล้วผมก็เขียนจดหมายมาถามว่าแม่งามไหม แม่ตอบงามๆ กลับมาตายหมดเลยเพราะว่าแม่เป็นผู้หญิง ไม่เป็น แต่จำแม่น มีลูกมีเต้าก็ต้องตอบคำนี้ว่า ได้ๆ เพราะอย่าห่วงวิตกกังวล ให้เรียนอย่างเดียว ไม่งั้นถ้าบอกกล้วยไม้ตายก็จะเป็นห่วง เดี๋ยวก็ไม่เป็นอันเรียน ก็ต้องบอกงามๆ ลูก

คือพ่อแม่ปลูกไม้ทุกชนิด ไม้ดอก เราก็ทำ ต้องบอกว่าพ่อแม่เราเก่งนะ เพราะว่าเขาไม่มีความรู้ เขาเลี้ยงเราได้ ตอนหลังที่เรามาเก่ง เพราะเราปฏิบัติ เราเรียนมา ก็ได้ประสบการณ์เยอะแล้วผมได้อาจารย์เก่ง ขอเอ่ยชื่อท่าน ดร.เกรียง ฉันทานุศาสน์ กับ ดร.ระพี สาคริก เป็นอาจารย์ของผมด้านเกษตร เป็นลูกศิษย์”


ชายวัย 84 ปี เล่าต่อพร้อมกับรอยยิ้มอีกว่า ปลูกต้นโป๊ยเซียนจนสร้างรายได้และประสบความสำเร็จที่เรียกได้ว่าถึง 100 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นก็เลิกปลูก หันมาปลูกมะนาวแทน

เดิมทีมะนาวปลูกมาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อแม่ กว่า 60 ปีแล้ว แต่มาเริ่มพัฒนาสายพันธุ์อย่างจริงจังเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เพราะใจรัก และพอจะมีความรู้พื้นฐานอยู่บ้าง

“กลับมากล้วยไม้ตายหมด ผมก็มาปลูกส้ม ปลูกมะม่วง ที่ดินก็โดนเวนคืนไป 7 ไร่กว่า มันก็หมด ผมก็เลิก จากนั้นผมมาปลูกโป๊ยเซียน พอเขาพีกถึง 100% ผมก็ต้องเลิก หันมาปลูกมะนาว จากกล้ายไม้ มาไม้ผล มะม่วง ส้มโอ แล้วก็มาโป๊ยเซียน แล้วก็มีมะนาว

ตั้งแต่เด็กๆ ก็ช่วยพ่อแม่ทำมา เพราะว่าแต่ก่อนก็ปลูกพวกกุหลาบ เยอร์บีร่า มะลิ อย่างมะลิผมสอนลูกผมก็ได้เงินเป็นล้านๆ เพราะว่ามะลิกับกล้วยไม้จะแพงช่วงคริสต์มาสกับปีใหม่ เดือนตุลาคมผมก็ให้ลูกศิษย์เอาปุ๋ยฉีดมะลิออก กล้วยไม้ออก เขาก็ขายได้เป็นล้าน
ประสบความสำเร็จมากเลยครับ เพราะว่ากล้วยไม้ผสมไว้ 400 กว่าชนิด มะม่วงก็ผสมไว้เยอะ ส้มโอก็ผสมไว้เยอะ มันดีๆ แต่มันหมด อย่างที่คุณชิมมะนาวหวานสูญพันธุ์แล้ว ไม่มีมันตายหมด

แล้วอีกอย่างนึงมะนาวมันสากลใครๆ ก็ทาน แต่ว่าถ้าใครเป็นลูกศิษย์ผมต้องขายหน้าแพงอย่างเดียว หน้าถูกอย่าไปสู้เขา ถุงละ 10 บาทมาอย่าไปสู้เขา ผมจะบอกว่าช่วงนี้เธอต้องไม่ออก ช่วงนี้เธอต้องออก ผมสอนลูกศิษย์ผมได้

มะนาวผมมีสไตล์อยู่อย่างคือ ปลูกอะไรก็ได้ก็แล้วแต่ขึ้นมากี่อย่างๆ อะไรทำเงินมากที่สุดจะเอาอันนั้น เพราะว่าปลูกเพื่อเงิน สอนเพื่อเงิน สอนลูกศิษย์ฟรี ใครจะมาให้ผมสอน ฟรีเชิญ รับหรือไม่รับ เรื่องของคุณ”

ที่สวนแห่งนี้ส่วนใหญ่เน้นขายต้นมากกว่าลูกมะนาว ทำให้รายได้ดีจนออเดอร์เข้ามาเพียบในแต่ละวัน บางวันมีเข้ามาถึง1,000 ต้น





“ขายต้นละ 200 บาท แล้วแต่ออเดอร์มา อีกเจ้า 400 กว่าต้น อีกเจ้า100 กว่าต้น อีกเจ้า 200 กว่าต้นยังคาอยู่ในโทรศัพท์อยู่เลยแล้วแต่เขาจะมายังไง มันตอบไม่ได้ เพราะเราบังคับใจกันไม่ได้ วันนึงเป็นพันต้นก็มีครับ มันอยู่ที่ว่า คุณภาพ ชื่อเสียง ความซื่อสัตย์ ประกอบกัน คุณภาพขึ้นหน้าคู่กับซื่อสัตย์ต้องขึ้นหน้าด้วยกัน อย่าไปหลอกเขา

ลูกศิษย์ก็จะขายลูก ผมก็ขายต้น ซื้อไปปลูกเป็นไร่ๆ ที่ผมให้ลูกศิษย์ขาย ก็ ม.ค. มี.ค. เม.ย. พ.ค. ซึ่งช่วงนั้น มี.ค.-เม.ย. พีกสุด ลูกละ 12 บาท พอหลังจากนั้นถุงละ 10 บาทจะมาแล้ว ติดท้ายรถมา เราอย่าไปสู้เขา จงไม่ออก บังคับไม่ให้ออก ต้องงามอย่างเดียวพอเขาหมด ส่วนมาก พ.ย. เขาจะหมดแล้ว เราก็จะ ม.ค.ค่อยๆ ออกมา มี.ค.-เม.ย. มันที่สุด

ผมจะบังคับว่าช่วงนี้ต้องเป็นยังไง ช่วงนั้นต้องเป็นยังไง มะนาวที่นี่มันจะออกทั้งปี แต่ถ้าออกทั้งปี หนูไปพบถุงละ 10 บาท จะสู้เขาเหรอ เขาซื้อที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องซื้อเรา แต่ถ้าหน้าแพงเขาซื้อที่ไหนไม่ได้ เขาก็ต้องมาหาเรา ไม่อย่างนั้นที่ต่างจังหวัดจะได้กันเป็นล้านๆ เหรอ

ที่ผมให้ขาย 5 เดือนไงที่แพง ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. นี่ก็ช่วงพีกสุด มี.ค.-เม.ย. พีกที่สุด หลังจากนั้นเขาก็ออกแล้ว มากันเป็นแถวๆ รวมทั้งลาว เขมร ที่เอาของผมไปปลูกเนี่ยดังมาก แต่ไม่สอน มึงออกมาพร้อมกับเขา ก็ได้ไม่กี่ตังค์

มี.ค.-เม.ย. 12 บาท อยู่ที่ภาคด้วย ภาคใต้ได้ 10 บาท ภาคอีสานได้ 9 บาท เหนือได้ 8 บาท 12 บาทคือที่นี่ เพียงแต่ว่ามีขายหรือเปล่า ช่วง มี.ค.-เม.ย. ไม่มีมะนาวขาย คนจะร้องว่าไม่มีมะนาวกินบ้าง จงออกมา ผมสอนลูกศิษย์ผมว่าช่วงนี้เธอต้องออก ช่วงนี้เธอต้องงามนะ”


ผสมเอง 42 สายพันธุ์ พร้อมจดสิทธิบัตร

ลองผิดลองถูกมาหลายปีกว่าจะได้พันธุ์มะนาวที่สามารถจดสิทธิบัตรเป็นของตัวเองได้ โดยเริ่มจากพัฒนาสายพันธุ์มะนาวใหม่เพื่อต้านทางโรคแคงเกอร์ ซึ่งสามารถลดปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ลดปัญหาการตกค้างในผลผลิต ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

“จดสิทธิบัตรปกติการไปจดเราก็ไปยื่นกับเขาว่าเป็นลูกอะไร ผสมกับอะไร แล้วก็ต้องปลูกให้งาม 3 ต้น ให้ดูลูก แล้วก็ต้องปลูกพ่อพันธุ์แม่ไว้อีกอย่างละ 6 ต้น ก็ต้องออกลูกมา เขาจะมาตรวจทุกๆ 2 เดือน จนครบปี เขาจะตรวจใบ ตรวจต้น ตรวจลูก ตรวจอะไรของพ่อแม่มัน ของลูกมันเป็นยังไง เขาจะดูเรื่อยๆ เพราะว่าเดือนนึงมันจะแสดงอะไรออกมาแล้ว

เวลานี้ที่ผมผสมขึ้นมาใหม่ ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนมีถึง 42 สายพันธุ์แล้วครับที่มันเจ๋ง คือใครจบเกษตรต้องพูดคำนี้ว่า ปลูกแล้วนิ่ง คำว่านิ่งหมายถึงว่าปลูกที่ไหนก็ต้องเหมือนกันหมด ปลูกอีสาน ปลูกใต้ ปลูกเหนือ ปลูกที่ไหนออกมาก็ต้องเหมือนกันหมด คือนิ่ง

ต้องนิ่งก่อน ผมกำลังเทสต์อยู่ นิ่งหมายถึงปลูกเชียงใหม่ดี ปลูกสงขลาเลว อย่างนี้ไม่นิ่ง มันต้องสงขลาดี เชียงใหม่ดี อุบลราชธานีดี จันทบุรีดี อย่างนี้นิ่งอย่างพันธุ์ 28 นิ่งแล้ว เวลานี้ที่จดสุดท้ายคือ สายพันธุ์ที่ 28 ที่เป็นพระเอก”

ใช้เวลานานกว่าจะสามารถจดสิทธิบัตรสายพันธุ์มะนาวเป็นของตัวเองได้ คุณลุงจำรัสยอมรับว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ต้องใช้ความอดทนค่อนข้างสูงจนตอนนี้เป็นที่ยอมรับทั้งเมืองไทยและต่างประเทศอีกหลายประเทศ

“ใช้เวลานานเท่าไหร่ ความอดทนแค่ไหน แต่ว่าหลังจากเพาะเมล็ดแล้วผมไม่เหมือนชาวบ้านเขา เพราะว่าปกติแล้วผสมแล้วต้องเพาะเม็ด เพาะเม็ดแล้วปลูกอีกเป็นปี ผมไม่ ตัดไปปลูก เดี๋ยวต้นโตมันออก อันนี้ออกเราก็จะรู้ว่าดีหรือเลว ขึ้นอยู่กับเวลา พันธุ์จำรัส 9, 28, 29 จดไปสามอันแล้ว 1-8 เลว 9 ดี 10-27 เลว 28-29 ดี 30, 31, 32, 33 มันมีดีมีเลวคละกัน มันดีต้นที่เท่าไหร่ พร้อมทั้งใส่ชื่อของเราลงไป

อาจารย์สอนไว้ว่า ให้เป็นผู้นำอย่าเป็นผู้ตาม คำว่าเป็นผู้นำอย่างผมผสมอะไรๆ แล้วมันดีนั่นคือผู้นำ ถ้าผู้ตามหมายความว่าถ้าใครซื้อของผมไปแล้วไปตอนขาย ได้ไม่กี่ตังค์ ได้เยอะ แต่ได้ไม่ถึงใจ ถ้าเป็นผู้นำ ชื่อเสียง อะไรมีหมด อย่างผมผสมขึ้นมาใหม่ๆ ใครก็รู้จัก กระทั่งต่างประเทศก็รู้จัก อันนี้มันทำชื่อเสียงให้เรา”


นอกจากนี้ สวนมะนาวที่มีคนเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย เจ้าของสวนเล่าว่า สวนมะนาวลุงจำรัสมีคุณสมบัติพิเศษเด่นชัดกว่าที่อื่นลูกโต เปรี้ยว หอม ต้นสวย ต้านทานโรคเก่ง แถมเปลือกไม่ขม

“ของผมมันจะมีคุณสมบัติพิเศษที่ผมผสมขึ้นมา การจะปลูกมะนาวอะไรก็แล้วแต่ จะต้องขึ้นอันนี้ก่อน น้ำ เนื้อ กลิ่น ลูกโตไหม ปลูกง่ายไหม ดกไหม ต้านทานโรคเก่งไหม ถ้าครบเกณฑ์ในนี้ใช้ได้ ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ว่ายี่ห้ออะไรก็ปลูกไม่ได้

ผมยกตัวอย่างมะนาวแป้นธรรมดา ดกเหลือเกิน หอม แต่เป็นโรคแคงเกอร์ ซึ่งผมก็แก้ไขให้ได้ เหมือนเป็นหวัด พอแก้เสร็จวันดีคืนดีก็เป็นอีก มะนาวที่ดีต้องทนทาน แล้วมะนาวผมจะอยู่ถึง 7 เดือน ถึงจะเก็บได้ แต่ว่าไม่ได้มาตรฐาน 5-7 เดือน เพราะเพื่อนอยู่ชะอำก็โทร.มาถาม 4 เดือนแล้วขายได้หรือยัง ก็ตอบไปเลยว่าเอาไว้บูชาเหรอ

คุณสมบัติที่ว่า น้ำ เนื้อ กลิ่นรส เปรี้ยว หอม น้ำ เนื้อเป็นไง แล้วของผมเพิ่มเข้ามาอีก เปลือกไม่ขม อย่างของผมมะนาว 1 เดือน ซึ่งอย่าไปซื้อนะ ไม่มีน้ำนะ ทั่วๆ ไปมันจะมีเนื้อขาวๆ ลูกหนึ่งเดือน แต่ของผมจะ 5-6 เดือน ทั่วๆ ไป 4 เดือนเก็บแล้ว แต่ของผมมันลูกโตกว่าทั่วไปราวๆ สามเท่า”

คุณลุงจำรัสเล่าอีกว่า หากเทียบกับมะนาวทั่วไป จะพบโรคและเชื้อราอันนำมาซึ่งการเติบโตที่ไม่ดีของต้นมะนาว แต่ต้นมะนาวที่นี่ถือว่ามีความต้านโรคที่สูงมาก

อย่างมะนาวแป้นธรรมดามันจะเป็นโรคแคงเกอร์ มันเป็นเชื้อราชนิดหนึ่ง เป็นจุดติ่งสีไหม้ๆ นั่นคือโรคแคงเกอร์ โรคนี้มันมาได้ตามน้ำตามลม ที่ไหนปลูกเป็นกิโลมันก็ปลิวมาได้ ของเรามันมามันก็แปะไว้เฉยๆ มันไม่ลาม เพราะความต้านทานมันสูง”

สโลแกนสำคัญในการปลูกมะนาวให้ขายได้ราคาที่ดีคือ บังคับให้ลูกมะนาวออกในฤดูกาลที่แพง เพราะช่วงฤดูกาลที่ถูก มีพ่อค้าแม่ค้าขายอยู่เต็มท้องตลาด ไม่สามารถไปสู้ได้

“พันธุ์ของผมออกทั้งปี แต่ถ้าปลูกเป็นการค้าที่เป็นลูกศิษย์ผม ต้องไม่ออกเวลาเขาราคาถูก เวลาเขาแพงเราถึงจะออก นี่คือสโลแกนของผมในการสอนลูกศิษย์ เน้นขายตอนที่มันแพง ราคาดี”

สำหรับเกษตรกรที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จมากอีกคนหนึ่ง อย่างคุณลุงจำรัส ก็บอกเล่าถึงเทคนิคการดูแลเอาใจใส่สวนมะนาวให้งอกงาม และสามารถพัฒนาสายพันธุ์ออกมาได้เยอะๆ

“ความเอาใจใส่ รู้ว่ามันเป็นยังไง จะต้องแก้ไขยังไง ถ้าเราไม่รู้ถามอาจารย์ อาจารย์พ่อสอนมาว่า มันสมองลูกอย่าตาย ถ้าตายแล้วดึงยาก ต้องอยู่ในหัวตลอดเวลา

อยู่ที่น้ำอย่ากร่อย อย่าเค็มความรู้ ยากเสมอกันง่ายเสมอกันปลูกอะไรก็แล้วแต่ให้หาความรู้มะนาวแป้นหอม เปรี้ยว แต่เปรี้ยวสู้ผมไม่ได้ แล้วอีกอย่างเป็นโรคแคงเกอร์ตลอดชีวิต คนปลูกก็ไม่ประสบความสำเร็จ คือโรคแคงเกอร์นี้ตายไปเยอะแล้ว ซึ่งของผมไม่เป็น คือ อินทรีย์ดีมาก อะไรมันดีมาก ไม่มีมลพิษดี แต่บังคับไม่ได้ ยกตัวอย่างช่วงนี้เธอต้องออกนอกฤดู ถ้าไม่มีบังคับ ถ้าเป็นโรคแคงเกอร์ มียาอะไรฉีด ของผมเวลานี้ก็ดีกว่าเยอะแล้ว

ผมพยายามทำให้มะนาวไม่มีหนาม ไม่มีเม็ด ผมทำไม่ได้ พยายามทำแล้ว แต่ไม่สำเร็จ ไม่มีหนาม เม็ด ไม่สำเร็จไม่พยายามแล้ว ยอมแพ้ ตอนนี้พยายามว่าเธอต้องลูกแป้นดี พองออกไปเยอะๆ แต่ว่าความเปรี้ยวความหอม เข็นเบอร์นี้ไม่ลงแล้ว ก็ให้มันดีขึ้นไป ให้ต้นเล็กลง ให้ลูกใหญ่ขึ้น ให้แปลนลง มันยังมีความคิดที่จะทำได้หลายอย่าง”


สอนฟรี อยากให้ลูกศิษย์รวยด้วย

“ถ้าสอนลูกศิษย์ ก็ต้องให้ลูกศิษย์รวย ไม่ใช่ขายต้นไปแล้ว you จะไปตายก็เรื่องของ you ซึ่งพ่อค้าทั่วๆ ไปซื้อไปตายได้ยิ่งดี เพราะจะกลับมาซื้อใหม่

แต่อันนี้ไม่ได้ ผมมีใบสอนไว้ให้ ใครมาเรียนต้องเจริญทุกคน มีรายได้ถ้าสมมติไร่หนึ่งก็สามแสนกว่าบาทต่อปีนะ พอเลี้ยงตัวได้หรือเปล่า แต่ที่นี้คุณอย่าไปเอามาตรฐานไม่ได้ เพราะว่าแล้วแต่คนไม่เหมือนกัน บางคนทุนน้อย บางคนทุนมาก บางคนที่น้อย บางคนที่มาก ผมสอนไม่ได้เหมือนกันหมดแล้วแต่สถานที่ แล้วแต่คนปลูกเยอะปลูกน้อย 39 ไร่ ก็ประมาณ 10 กว่าล้าน”

สอนปลูกมะนาวฟรีภายใน 5 นาที สามารถกลับไปปลูกที่บ้านได้เลย เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของชายวัย 84 ปี ที่มีลูกศิษย์เข้ามาอยู่เป็นประจำ

“ภาคแรก 5 นาที เพราะผมพิมพ์ไว้หมดแล้ว ที่เหลือก็ถามว่าเข้าใจไหม เพราะเรื่องอะไรก็พิมพ์ไว้หมดแล้ว ปลูกยังไง ให้ปุ๋ยยังไง ภาคต่อไปที่จะบังคับยังไงก็มือถือเราติดต่อกัน เพราะทุกใบที่สอนใส่เบอร์โทรศัพท์หมดทุกอัน

ปีหนึ่งผมจะฟังอย่างเดียวครับ อาจารย์ปีนี้ได้เท่านี้นะ รับฟังอย่างเดียว ชื่นใจ แต่ผมก็มีด่าลูกศิษย์ผมที่เชียงใหม่ ไม่ใช่ด่าเสียหายนะ คือเขาปลูกลำไยใช่ไหม ผมได้กินทุกปีนี่มันตัดลำไยทิ้งหมด ปลูกมะนาวผมไม่กินลำไย เราไม่ได้ด่าเขาเสียหาย ก็ล้อเขาเล่น

ผมสอนฟรี จะเอาไม่เอาเรื่องของคุณ ไม่เสียตังค์ เพียงแต่ว่าสอนแล้วต้องทำ ถ้าสอนแล้วไม่ทำ อย่ามาเรียน เสียเวลา คนสอนก็เมื่อยปาก

เชิญได้เลยนะ ที่นี่ไม่ต้องเสียตังค์ เข้ามาฟรีหมด กระทั่งเด็กนักเรียนพามาเป็นกลุ่มๆ อันนั้นก็ถามค่าใช้จ่ายมีไหม เราก็บอกไม่ต้อง แถมขาดทุนอีกด้วย เพราะว่าให้มันเรียนๆ ไป อย่างนิสิตมาทั้งวันจะปล่อยมันหิวเหรอ เราพาไปเลี้ยง เราเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องขาดทุนทุกที แต่มันเป็นความพอใจ ความภูมิใจที่เราอยากจะส่งเสริมเขา”

นอกจากมีลูกศิษย์เข้ามาให้สอนฟรีอยู่ไม่ขาดสาย ทั้งเมืองไทยและต่างประเทศ ซึ่งมีเข้ามาดูแล้วถึง 12 ประเทศ ทั้งยังถูกเชิญให้ไปสอนให้ความรู้ด้านเกษตรตามมหาวิทยาลัยต่างๆ อีกด้วย

“ทั่วประเทศกระทั่งต่างประเทศ แต่เล่นพวก มาซื้อแต่ไม่สอน ซื้อไปสิผมเอาตังค์อย่างเดียว ตายก็ช่าง มาเยอะครับ เพราะพวกยุโรป ญี่ปุ่นปลูกไม่ได้ ผมรู้เพราะหิมะตก ปลูกไม่ได้ตาย

12 ประเทศแล้วครับที่เข้ามาดู ที่กลัวที่สุดเวลานี้ก็คืออิสราเอล เพราะมันพัฒนาเหลือเกิน เอาพันธุ์ดีๆ เราไปแล้วปลูกได้ด้วย เดี๋ยวเขาก็มาตีเรากระจุย กลัวที่สุดถ้าต่างประเทศมาซื้อขายอย่างเดียว เทคนิคไม่มีการสอน จะเอาเงินอย่างเดียว

มาเรื่อยครับ ให้ผมสอน รวมทั้งต้องสอนนักเรียน สอนมหาวิทยาลัย ก็ยังต้องสอนอยู่ แต่ผมสอนฟรีนะไม่เอาตังค์ เบิกอะไรให้ผมก็ไปเข้ากองทุนหมด เพราะว่าผมทดแทนที่ว่าทุกคนเลี้ยงผมอยู่เวลานี้ บำนาญ”


ทุกวันนี้จะเห็นได้ว่าคนอกมาทำเกษตรมากขึ้น มีทั้งประสบความสำเร็จ และล้มเหลว ส่วนตัวคุณลุงจำรัสมองว่า โอกาสของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนทุนมากทุนน้อย แต่ถ้าหากใครสนใจจะเข้ามาเรียนก็ยินดีสอนให้ฟรี ปีเดียวสามารถถอนทุนคืนได้หมด “ถ้ามาให้ผมสอนต้องมี 3 อย่าง 1.ต้องมีน้ำลดทั้งปี 2.ต้องมีที่ดินตัวเอง 3.ต้องมีทุน เพราะต้นกับปุ๋ยจะให้ผมออกให้ก็ไม่ได้ ถ้าจะให้ผมสอนขอปีเดียว ถอนทุนหมด

ผมห่วงปีเดียว เพราะว่าปีสองไม่ห่วงใยแล้ว เพราะว่าลูกศิษย์ได้มีทุนแล้ว ยกเว้นผมได้ใหม่ให้ทำไอ้นี่นะ ไอ้นี่นะ เราก็จะเสริมเข้าไป การสอนครบปีลูกล้อมันครบก็รู้แล้ว ปีต่อไปก็อย่างนี้ ช่วงนี้ทำยังไง

อยู่ที่ว่าคุณเอาจริงเอาจังแค่ไหน ถ้าคุณนอนดูเฉยๆ มะนาวก็มาดู มันก็ไม่มีโอกาส ต้องทำ พอทำก็แล้วแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีที่มากน้อยแค่ไหน ทุนมากน้อยแค่ไหน แล้วแต่โอกาสแต่ละคนไม่เหมือนกัน

หลายคนอาจจะมองว่าอาชีพเกษตรไม่มีความยั่งยืน แต่ก็มีอีกหลายคนเหมือนกันที่พิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถร่ำรวย และเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ ซึ่งคุณลุงจำรัสเองก็มองว่าในอาชีพเกษตรตัวเองประสบความสำเร็จมาแล้ว

“ถ้าคำอันนี้จะนั่งยืน ยิงนกโป้งเดียวคุณได้นก 4 ตัว เพราะอะไรรู้ไหม คุณปลูกคุณได้ออกกำลัง ต้นงามคุณได้ทางใจ ลูกออกมาคุณได้กิน เหลือได้ขาย เพราะฉะนั้นคำว่าขาย มันมี 5-10 ต้นมันกินไม่ทันก็ขายได้แล้ว แต่ว่าอาจจะได้น้อย คนที่มีทุนหรือที่เยอะๆ อาจจะได้เยอะ ผมไม่ใช่เทวดาที่จะสอนให้เสมอกัน แล้วแต่โอกาสคนไม่เหมือนกัน

ผมว่าเวลานี้ผมได้แค่ 90% เพราะว่า 10% มันยังต่อไปข้างหน้าอีกการจะปลูกอะไรก็แล้วแต่นะ คุณต้องหาความรู้ให้มาก อย่าโทษมือร้อนมือเย็น อย่าโทษโชคชะตา ปลูกอะไรไม่ขึ้นก็มือร้อน โชคไม่ดี นั่นคุณไม่มีความรู้ คุณต้องหาความรู้ให้มาก ไม่มีคำว่ามือร้อนมือเย็น แล้วก็มีความอดทน ใจรัก ไม่ใช่ปลูกแล้วนอนดูไม่มีทาง ต้องดูด้วยว่าเป็นอะไร เปลี่ยนแปลงไปยังไง มันต้องช่างสังเกต

ใจรัก ถ้าไม่มีใจใช้ไม่ได้ ความรู้สำคัญมากผมจบหลายปริญญา ผมสอบชิงทุนได้ ผมไปเรียนวิศวะที่ญี่ปุ่น แล้วผมก็ดร็อปเกษตรเอาไว้แล้วผมก็กลับมาเรียนเกษตรต่อ เรียนอะไรไปเรื่อย รักอะไรก็เรียนเรื่อยไป”

สิ่งสุดท้ายหากอยากประสบความสำเร็จในการทำเกษตร คุณลุงจำรัสยังบอกอีกว่า ทำเกษตรที่ดี คือห้ามกู้เงิน อยากแนะนำเกษตรกรทุกคนที่กำลังประสบปัญหาติดหนี้กันเยอะ ให้ทำเท่าที่มี แล้วจึงค่อยๆ ขยายออกไปเรื่อยๆ

“ก็อย่างที่ผมให้ปลูกเท่าที่คุณมีอยู่ ห้ามกู้เด็ดขาด แล้วก็ต้องทำจริง ขอเวลาปีเดียว ทำเท่าที่มีทุนอยู่ แต่ว่าถ้าใครมีทุนมาก ปีนึงมันก็ไปแล้ว ใครมีทุนน้อยมันก็ไปแค่คืบเดียว

ไม่ให้กู้เด็ดขาย มีทุนเท่าไหร่ให้ทำเท่านั้น ห้ามกูเด็ดขาด เพราะช่วงเวลานี้ดอกเบี้ยไม่เคยปรานีใคร บางคนมี 3,000 บาท เขาก็ปลูก 3,000 บาท บางมีหมื่นก็ปลูกหมื่น แต่ว่าพอปีนึงมันจะตาย ปลูกหมื่นนึงก็ต้องได้มากกว่า 3,000 บาทผมจะสอน ก, ข ให้ คุณจะมีความรู้ไม่มีความรู้เชิญ ไม่มีความรู้เลย ผมก็มีทางเลือก ก, ข ให้

แล้วแต่ว่าใครเขาเชื่อถือไหม ถ้าเขามาเยอะก็ได้เยอะ มาน้อยก็ได้น้อย ช่วงโควิดอยู่ ตกมากทุกวงการรวมทั้งที่นี่ด้วย แต่ที่ผมสอนหรือทำอะไรฟรี ผมตอบแทนบุญคุณทุกๆ คน รวมทั้งคุณด้วย เพราะอะไรรู้ไหม ภาษีที่คุณมาซื้ออะไรๆ มาเลี้ยงผม ผมรับบำนาญ ภาษีชาวบ้าน เพราะฉะนั้นผมสอนฟรี ให้ฟรี ผมตอบแทนบุญคุณ”






ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)



สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: พัชรินทร์ ชัยสิงห์
คลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพเคลื่อนไหว: กีรติ เอี่ยมโสภณ, พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ภาพ: วชิร สายจำปา
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ “สวนมะนาวลุงจำรัส”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **









กำลังโหลดความคิดเห็น