xs
xsm
sm
md
lg

เจาะช่องโหว่ “โรงแรมกักตัว VIP” ทำเจ้าหน้าที่ติดเชื้อ-แพร่ต่อ เพราะบุคลากรจำกัด “กักตัวไม่ได้”!!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ป้องกันแต่ก็ยังติด! บุคลากรทางการแพทย์ 6 คน ใน ASQ ติดเชื้อโควิด-19 พบประวัติ “ทำงาน ICU-ไปที่สาธารณะ” สังคมตั้งคำถาม “ทำไมไม่ต้องกักตัว?!” ล่าสุด ผลตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงสูงก็ติดไปด้วย ด้านกูรูระบบทางเดินหายใจ เผย ยิ่งอยู่ในร่ม ยิ่งเสี่ยงรับเชื้อ!

บุคลากรน้อย ยากที่จะกักตัว

กลายเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ภายใต้วิกฤตโรคระบาด “โควิด-19” ที่สร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครขณะนี้ เนื่องจากช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มีการตรวจพบบุคลากรทางการแพทย์ ที่ทำหน้าที่ดูแลประชาชนที่เข้ารับการกักตัวใน Alternative State Quarantine (ASQ) หรือสถานกักตัวทางเลือก เกิดติดเชื้อโควิด-19 แบบกลุ่มก้อนจำนวนถึง 6 ราย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของพยาบาลอายุ 26 ปี จากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ที่เมื่อย้อนไทม์ไลน์ไปก็พบว่า เธอได้ปฏิบัติงานในสถานกักตัวทางเลือก 2 แห่งด้วยกัน คือ โรงแรมเลอ เมอริเดียน ถ.สีลม และ โรงแรมพูลแมน กรุงเทพ จี ทั้งคู่เป็นโรงแรมที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล โดยสถานกักตัวแบบ ASQ นั้น ได้รับความร่วมมือกับโรงพยาบาลต่างๆ เปิดเป็นแพกเกจห้องพักรับรองผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งผู้เข้าพักต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

อีกทั้งมีการเข้าพักกับเพื่อนที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ที่เมื่อพักอยู่ในห้องไม่ได้มีการสวมหน้ากากอนามัย ตลอดจนมีการใช้ห้องน้ำร่วมกัน ซึ่งต่อมาพบว่าคนอื่นก็ติดเชื้อโควิด-19 ด้วย


และยังพบว่า พยาบาลผู้นี้ได้ทำงานใน ICU และมีประวัติใช้บริการรถสาธารณะ อย่างรถไฟฟ้า MRT และ BTS ก่อนจะเริ่มมีอาการไข้ เจ็บคอ และไอ และตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นการติดเชื้อใน ASQ

ทันทีที่กระแสข่าวนี้สะพัดออกไป และทำให้สังคมออนไลน์เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะบางส่วนเข้าใจว่า บุคลากรทางการแพทย์ มีการเข้าพักร่วมกับผู้กักตัว จึงมีการติดเชื้อเกิดขึ้น ซึ่งความจริงนั้นกลุ่มพยาบาลแยกตัวออกมาพักกันเอง ส่วนสาเหตุของการติดเชื้อ อาจเป็นไปได้ว่ามาจากการตรวจหาเชื้อ

ขณะเดียวกัน มีการตั้งคำถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เพราะเหตุใดจึงให้บุคลากรทางการแพทย์ ที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่อาจมีเชื้อโควิด-19 ไปทำงานใน ICU รวมถึงเดินทางไปที่สาธารณะโดยไม่มีการกักตัวอีกด้วย?!



[ นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ ]
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนักและโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ และประธานชมรมเชื้อราทางการแพทย์ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในฐานะคนด่านหน้าที่ต้องสู้กับวิกฤตครั้งนี้ เป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงติดเชื้อสูงอยู่แล้ว แม้จะมีการป้องกันอย่างแน่นหนา

“เจ้าหน้าที่ติดที่สถานกักกัน การตรวจพวกนี้มีความเสี่ยงแน่นอนครับ เราไปแยงจมูกเขา ถ้าเขามีเชื้อมันก็อาจจะกระเด็นออกมา แล้วหายใจเข้าไป เขาก็ต้องเตรียมเต็มที่ ใส่ชุด อุปกรณ์ป้องกัน 100 เปอร์เซ็นต์ ใส่ทั้ง Face shield ใส่ทั้งหน้ากากอนามัย ใส่ทั้งถุงมือ ใส่ทั้งเสื้อ ไม่อย่างนั้นความเสี่ยงก็แน่นอน เพราะเขาอยู่ประจันหน้ากับคนไข้เลย

เพราะฉะนั้นถ้าเขารับเชื้อ เขาก็เอาเชื้อไปให้กับคนที่อยู่ใกล้ชิดเขา อย่างพยาบาลก็ไปให้กับเพื่อนๆ เขาที่อยู่ห้องเดียวกัน ตัวเขาเองอาจจะไม่รู้ว่าเขารับเชื้อ เขาก็ไปดูแลคนอื่น ก็มีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อให้คนอื่น ถ้าตัวเขาไม่ได้ใส่หน้ากาก ถ้าตัวเขาใส่หน้ากากตลอดเวลา ความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อก็ลดลงเยอะ”


ส่วนประเด็นการกักตัวเจ้าหน้าที่นั้น แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ให้ความเห็นว่า อาจจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์มีไม่เพียงพอ

ถ้าเขาไม่เป็นอะไร เขาป้องกันตัวเต็มที่ ก็ไม่ต้องถูกกักตัว ไม่อย่างนั้นพวกหมอ พยาบาลตามโรงพยาบาลต่างๆ ต้องถูกกักตัวหมด มันไม่ใช่ เราป้องกันตัวเราเต็มที่ โอกาสที่จะรับเชื้อก็น้อยกว่า 0.01 เปอร์เซ็นต์ เราไม่กักตัวพวกเจ้าหน้าที่

ถ้าขืนกักตัวเจ้าหน้าที่หมดทุกคน ให้อยู่แต่ที่บ้าน ไม่มาทำงาน 14 วัน แล้วใครจะทำงาน มันก็ไม่ได้ ขณะนี้อย่างในต่างประเทศ (เจ้าหน้าที่) คนไหนที่หายแล้ว เขายังขอให้มาทำงานเลย เพราะเจ้าหน้าที่ไม่พอ การที่จะให้กลับบ้านไปอยู่ 14 วัน บางคน 10 วัน เขาขอให้กลับมาทำงานแล้ว”

สำหรับความคืบหน้าที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ ล่าสุด พบผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศ 1 ราย เป็นบุคลากรทางการแพทย์ อายุ 27 ปี ซึ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้

อยู่ในร่มเสี่ยงติดกว่ากลางแจ้ง 18.7 เท่า!!

นอกจากนี้ คุณหมอชื่อดังยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงปัจจัยที่ทำให้การติดเชื้อเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น นั่นก็คือ การอยู่ภายในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ที่มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าอยู่กลางแจ้งถึงเกือบ 20 เท่า!

“ทุกคนถ้าไปในสถานที่ปิด ที่มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ อากาศถ่ายเทก็ไม่ดี จะต้องป้องกันตัวเองไม่ให้แพร่เชื้อให้คนอื่น เป็นหน้าที่เลย เพราะฉะนั้นถึงแม้เขามีเชื้ออยู่ในตัว แต่เขายังไม่มีอาการช่วงนั้น เขาก็แพร่เชื้อให้คนอื่นได้ เขาจะต้องใส่หน้ากากทุกครั้งที่ไปขึ้นรถไฟฟ้า คนที่อยู่ในตึก ในอาคารก็ต้องใส่หน้ากาก ถึงได้จำเป็นมากเลย ไปสถานที่ต่างๆ จะต้องป้องกันตัวเองไม่ให้แพร่เชื้อให้คนอื่น


ส่วนโอกาสที่จะรับเชื้อในที่กลางแจ้ง มี แต่ว่าน้อยมากๆ เมื่อเปรียบเทียบกับในที่ร่มนะครับ เพราะเขามีการศึกษามาแล้วว่าในที่ร่มมีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อ รับเชื้อมากกว่าที่กลางแจ้ง 18.7 เท่า แล้วโอกาสที่คนเราที่ติดเชื้อในที่กลางแจ้ง มันน้อยกว่าในที่ร่ม น้อยมากๆ อาจจะไม่ถึงร้อยละ 10 เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นความเสี่ยงในที่กลางแจ้งถ้าว่าน้อย ปลอดภัยมากกว่าในที่ร่ม”

พร้อมกันนี้ ยังย้ำถึงการใส่หน้ากากอนามัย เพราะนอกจากวิกฤตโควิดที่น่าเป็นห่วงแล้ว ขณะนี้ยังมีปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่เข้ามาผสมโรงด้วย

“ปัจจุบัน ปัญหาขณะนี้คือเรามี PM 2.5 ถ้าเราดูคำแนะนำของ PM 2.5 คือ ให้คนงดออกกลางแจ้ง แล้วให้เข้ามาอยู่ในตัวบ้าน ตัวอาคาร ปิดประตูหน้าต่าง อากาศถ่ายเทไม่ได้ ถ้าทำอย่างนี้ ความเสี่ยงที่จะรับเชื้อโควิดจะเพิ่มสูงขึ้นมาก


ผมว่ามันจะต้องดูว่าอันไหนอันตรายมากกว่า การเข้าไปอยู่ในบ้าน ในอาคารเยอะๆ ปิดประตู หน้าต่าง ไม่ให้ลมเข้า อันนี้อันตรายมากกว่าในปัจจุบัน การไปอยู่กลางแจ้งปลอดภัยมากกว่า การที่สูดดม PM 2.5 มันไม่ได้อันตรายทันที มันใช้เวลาอีกกี่สิบปีก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นในช่วงนี้ขอให้คุณอยู่กลางแจ้งมากกว่า และขอให้ใส่หน้ากาก ซึ่งมันปลอดภัยกว่า”

สุดท้ายนี้ กูรูด้านระบบทางเดินหายใจ ได้ฝากความห่วงใยถึงเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านโควิด-19 ทุกท่าน พร้อมกล่าวว่า คนกลุ่มนี้ควรเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับวัคซีน หากมีการอนุมัติให้ใช้เป็นที่เรียบร้อย

“บุคลากรทางการแพทย์ โอกาสรับเชื้อมากที่สุดเลยนะครับ เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ที่มีวัคซีนมา เขาจะให้วัคซีนกับบุคลากรทางการแพทย์ เพราะกลุ่มนี้ถ้ารับเชื้อเขาก็ไปแพร่เชื้อให้คนอื่น อันตรายกับคนไข้ด้วย กลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกที่จะต้องรับวัคซีนครับ”

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น