กว่า 15 ปี ในเส้นทางอาสานักดับเพลิงที่ได้พิสูจน์ตัวตนเธอผู้นี้ ไม่ได้มีดีแค่ความสวย แต่ยังทำหน้าที่ “ถือหัวจ่าย” หน่วยที่ถือว่าเสี่ยงตายที่สุด พร้อมปฏิบัติหน้าที่เพื่อช่วยให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติทุกที่ โดยไม่ได้หวังสิ่งอื่นตอบแทน
มีดีกว่าความสวย!! พิสูจน์ตำแหน่ง “คนถือหัวจ่าย”
“จะมีช่วงตอนเราเด็กๆ ที่พ่อเขาจะป่วยบ่อยมาก แล้วมีครั้งหนึ่งที่อยู่ดีๆ เขาก็วูบกลับไปเลย ตอนพาไปส่งโรงพยาบาล เราก็คิดว่าทำไมเราทำอะไรไม่ได้เลยเหรอ เราอยากจะช่วยพ่อ ก็เลยเหมือนทำให้เราอยากเข้ามาสู่ในเรื่องของการช่วยคน…”
“ซานุ๊ก-มุกธิดา จุ่นซ่อนคม” นักการตลาดสาวสุดแซ่บ วัย 28 ปี เปิดใจกับผู้สัมภาษณ์ หลังจากโลกออนไลน์ได้มีการส่งต่อเรื่องราวของเธอ ในฐานะการเป็นจิตอาสา นักดับเพลิงทำความดีเพื่อสังคม
จากเด็กผู้หญิงที่เห็นผู้เป็นพ่อหมดสติ จนต้องหามส่งโรงพยาบาล เป็นจุดประกายทำให้เธออยากช่วยชีวิตคน ใครจะรู้ล่ะว่า นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการอยากเข้ามาทำงานช่วยเหลือสังคมอย่างเต็มตัว
“ตอนนั้นอายุ 13 คือ มีพวกเพื่อนๆ ที่รู้จักกัน แล้วเราก็เข้าไปกับกลุ่มเพื่อน จังหวะนั้นมันมีเกิดไฟไหม้พอดี เราก็เลยไปพอไปถึงแล้ว ตอนแรกเรายังทำอะไรไม่เป็น ไปถึงก็ดูคนเขาวิ่งแตกตื่นกัน เราไปได้ยินเสียงลูกแมวร้อง เราก็มองหาลูกแมวที่ไหน ก็เห็นลูกแมวอยู่ใต้ถุนบ้าน
เราก็ไปมุดใต้ถุนบ้านเขาแล้วช่วยลูกแมวออกมา เราก็รู้สึกว่าเราก็ช่วยชีวิตได้ เราน่าจะทำอะไรให้มันได้ดีมากกว่านี้ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ว่าเราอยากมาทำจุดนี้ เราก็เลยมาเริ่มฝึก เริ่มอบรมแบบจริงจัง”
กว่าซานุ๊กจะกลายเป็นหนึ่งในจิตอาสาดับเพลิงหญิงแห่ง “อปพร. ฐานสุดสาคร เขตบางกอกน้อย” อย่างคนอื่นเช่นนี้ ต้องผ่านความยากลำบากมาไม่น้อย ทั้งผ่านการฝึก เพื่อผ่านเข้าไปสู่การทำงานในสนามจริง
“เตรียมตัวไปยังไง เตรียมใจไปดีกว่า เพราะว่า เราจะต้องสู้ ถ้าเราท้อ เราจะผ่านตรงนี้ไปไม่ได้แน่นอน เพราะด้วยความที่ฝึก เราไม่รู้ว่าฝนจะตก หรือแดดออก เราไม่สามารถคาดคะเนได้ คือ เราต้องพร้อมใจไปแล้วว่า ไม่ว่าสถานการณ์ไหนเราก็ต้องผ่านไปให้ได้จนจบ
ที่จริงคือนุ๊กทำตั้งแต่อายุ 13 ตั้งแต่ยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย เพราะว่าที่จริงอบรมครั้งแรก คือ 18 ภายใน 5 ปีนี้ 13-18 นุ๊กเก็บประสบการณ์จริงมาหมดแล้ว ที่เหลือก็แค่ไปต่อยอดนิดหน่อย อาจจะเป็นเรื่องทฤษฎีที่สูงขึ้นมา
ฝึกเป็นหลักสูตรของเขา ฝึกเหมือนผู้ชายทุกอย่างเลย ก็ต้องเข้าอบรมด้วยแล้วก็ฝึกปฏิบัติด้วย ที่จริงถ้าเป็นหลักสูตรแรกที่เข้าไปฝึก จะเป็นทฤษฎี 3 วัน และปฏิบัติ 2 วัน แล้วอย่างอื่นเราก็ค่อยเก็บเกี่ยวไป ตามสถานีอบรมต่างๆ และประสบการณ์จริงๆ ด้วย
ถามว่าโหดไหม มันก็ระดับหนึ่ง เพราะด้วยความที่เราไม่ได้ทำเป็นอาชีพหลักๆ เราทำเพื่อแค่ให้รู้ถึงการปฏิบัติตัวเวลาเราไปถึงที่เกิดเหตุ แล้วก็การระมัดระวังตัว วิธีการใช้น้ำ อุปกรณ์ต่างๆ เราก็ฝึกประมาณนั้นก่อน ไม่ได้ขั้น advance มาก”
เมื่อถามว่าผู้ชายและผู้หญิงมีความยากง่ายแตกต่างกันหรือเป็นอุปสรรคทำให้เธอท้อไม่นั้น เธอตอบว่าฝึกเหมือนกันทุกอย่าง และไม่ได้รู้สึกมีช่วงท้อ และเหนื่อยในการฝึก
“เสียเปรียบได้เปรียบ ถึงหน้างานจริงๆ เขาก็ไม่รู้นะว่าเราผู้หญิงผู้ชาย คือ อย่างนุ๊กไป คือ ทำทุกอย่างเหมือนผู้ชาย เขาก็จะไม่รู้ นอกจากเราพูด แบบเฮ้ย…เปิดน้ำ เขาก็จะอ้าว!! ผู้หญิงนี่หว่า
ถ้าเป็นนุ๊กเองไม่มี (ความท้อ) นะคะ คือ รู้สึกว่าเราจะเต็มที่กับมัน จะหนักแค่ไหนก็โอเค เราสู้ได้ ทำได้ เราต้องดูแลตัวเองด้วยค่ะ เพราะอย่างหนึ่งเลยที่เรามาทำตรงนี้ มันต้องใช้แรงค่อนข้างเยอะในการทำ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ต่างๆ คือ มันค่อนข้างจะมีน้ำหนัก อย่างนุ๊กเข้าไปถือหัว มันจะมีพวกแรงดันน้ำด้วย ก็ต้องคอยหมั่นดูแลสุขภาพตัวเองด้วยค่ะ”
แน่นอนว่าการมาทำงานดับเพลิง คงไม่ใช่ใครก็สามารถทำได้ เพราะเป็นอาชีพที่เสี่ยงอันตราย จะต้องมีความพร้อมทั้งสภาพร่ายกายและจิตใจอีก ทั้งมีหลายหน้าที่ในการป้องกันสาธารณภัยให้แก่ประชาชน โดยเธอได้รับหน้าที่เป็น “คนถือหัวฉีด” หน่วยที่ถือว่าเสี่ยงตายที่สุด ซึ่งหากถามผู้หญิงที่นั่งอยู่ตรงหน้าผู้สัมภาษณ์คนนี้แล้ว เธอพร้อมสู้กับงานที่ทำเสมอๆ
“ที่จริงแล้ว คือ ในหน่วยเราจะฝึกให้ทุกคนทำเป็นทุกๆ อย่าง เพราะว่าเวลาไปแต่ละครั้ง เราไม่รู้ว่าครั้งนี้เราจะได้ไปบ้าง ถ้าสมมติคนนี้อยู่เครื่องอย่างเดียว ก็จะเป็นแค่เครื่องอย่างเดียว
ถ้าคนนี้วิ่งสายอย่างเดียว ก็วิ่งสายอย่างเดียว ถ้าสมมติขาดคนใดคนหนึ่งไป งานก็จะออกมาเป็นทีมไม่ได้ ก็เลยจะฝึกให้ทุกอย่าง แต่ว่าหน้าที่หลักที่ทุกคนมอบให้ คือ ไปถือหัวฉีด
เพราะด้วยความที่เราอยู่มานาน แล้วก็ค่อนข้างมีประสบการณ์ในเรื่องตรงนี้ เราสามารถดูแลตัวเองได้ เอาตัวเองรอดได้ เขาก็เลยให้เราไปอยู่หน้างาน
ต้องมีสติมากๆ คือ เราเข้าไปถึงเหตุการณ์ แต่ด้วยความชำนาญเราจะไม่ตื่นเต้นแล้ว แต่ถ้าเป็นน้องๆ ที่เข้าไปใหม่ บางทีก็รน ไม่ฟัง บางทีเราเตือนเพราะว่า เคยมีประสบการณ์ว่า ตรงนี้จะเป็นอย่างนี้ อย่างนั้น และเราก็ค่อนข้างจะเป็นห่วงตรงนี้
ก่อนเข้าไปเรารู้อยู่แล้ว ว่าเราต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง ไม่ว่าจะเป็นชุดอุปกรณ์ทั้งหมด เราต้อง save ตัวเราเอง คือ เรารู้อยู่แล้ว แต่อยู่ที่ว่าเราจะทำ หรือเราไม่ทำ
บางทีบางคนเข้าไปแล้ว…ไม่เป็นอะไรหรอก รองเท้าแตะก็ได้ แต่ที่จริงแล้ว เราไม่รู้ว่าไฟมันตัดจริง หรือตัดไม่จริง เราเข้าไปเรา save ตัวเองดีกว่า
ความเสี่ยงมันค่อนข้างที่จะเยอะมาก อย่างอาคารโรงงาน บางทีเข้าไปอยู่ๆ ถล่มลงมาโดยที่เรายังไม่ทันตั้งตัวก็มี เราต้องมองสถานการณ์ทั้งหมดโดยรวม แล้วมาประมวลผล
อย่างเราอยู่หัวฉีด คือ จะเป็นหน่วยกล้าตายที่สุดแล้ว อยู่ด้านหน้าสุดเลย เราจะต้องดูแล้วว่า ตรงนี้อาคารโครงสร้างเป็นยังไง เราควรยืนจุดตรงไหน ถ้าเกิดตรงนี้ถล่มลงมา ตรงนี้จะ save เราไหม เราต้องวิเคราะห์เยอะนิดนึงค่ะ”
เพราะ “ความตาย” ทำให้เข้าใจ “ชีวิต”
“ความประทับใจที่ทำให้เราทำมาได้ยาวนานถึง 15 ปี คือ คำขอบคุณ มันเป็นสิ่งหนึ่งที่มีเงินมากแค่ไหน ก็ไม่สามารถซื้อหาคำนี้มาให้ตัวเราได้ นอกจากคนนั้นเขาอยากจะขอบคุณเราจากใจจริงๆ
เวลาไปเคสแล้วมี ป้า ลุง อา เข้ามาขอบคุณนะลูกที่มาช่วย ขอให้เจริญๆ นะลูก เราก็รู้สึกว่านี่แหละมัน คือ กำลังใจที่ดีมากๆ สำหรับเราที่ทำให้เป็นแรงผลักดัน ในการที่จะช่วย สู้ต่อไปในแต่ละเคส”
กว่า 15 ปี ที่เธอเดินอยู่ในเส้นทางการเป็นนักจิตอาสา สิ่งที่ได้กลับมานั้นมีคุณค่าจิตใจ ที่เธอบอกไว้ว่า ไม่สามารถหาได้จากที่ไหน
ส่วนเรื่องการแบ่งเวลาไปทำอาสา จริงๆ แล้ว คือ ไม่มีการบังคับ “จำไม่ได้ค่ะ เยอะมาก ปีหนึ่งก็ต้องมีเกือบ 100 ได้” เธอบอก และเน้นย้ำถึงระบบการทำงาน ว่าการเข้าปฏิบัติหน้าที่ มักเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด โดยยึดคติประจำใจ “เราปลอดภัย เขาปลอดภัยเราโอเค”
“ถ้ามีเคสก็ไปค่ะ ถ้ากลางคืนเรานอนอยู่ แล้วมีรับแจ้งเข้ามาเราไปได้เราไป ไหวเราไป มันแล้วแต่เคส เพราะว่าแต่ละฤดูโอกาสที่จะเกิดไฟไหม้ มันต่างกัน อย่างเช่นฤดูหนาว จะค่อนข้างไฟไหม้เยอะ
เช่นไฟไหม้หญ้า เพราะด้วยความที่อากาศมันแห้ง และใบไม้มันเสียดสีกัน จะไฟไหม้หญ้าเยอะมาก วันหนึ่งก็ประมาณ 4-5 เคส แต่เราก็ไม่ได้ไปทั้งหมดหรอก คือ ดูๆ ข้อมูลไว้ ตรงไหนที่เราใกล้ เราก็ไป
คือ มันจะเป็นในช่วงยามว่าง หรือช่วงตอนกลางคืน เวลาพักผ่อนของเราอย่างนี้ค่ะ ถ้าเรารู้ว่ามีเคสไปได้เราก็ไป หรือว่าเป็นวันหยุด อย่างเช่นทุกวันเสาร์ตอนเย็นยันเช้า พวกเราก็จะแสตนด์บายเย็นยันเช้าเลย เพราะว่าวันอาทิตย์จะเป็นวันหยุดค่ะ คือ ถ้ากับทีมมันแค่มองตาก็รู้ใจกันแล้ว เพราะส่วนใหญ่คนที่อยู่ในทีม ก็คือจะอยู่ประมาณ 10 ปีอัป ก็แค่มองก็รู้แล้วว่าใครจะทำอะไร
ถ้าเป็นเรื่องข่าวสาร จะมี line กลุ่มต่างๆ เพราะอาสาในโซนกรุงเทพฯ และปริมณฑลค่อนข้างเยอะมาก เวลาดูข้อมูลว่าอันนี้เป็นอะไร ไหม้อะไร ถึงไหนแล้ว ขอกำลังเสริมไหม หรือว่าดับแล้ว ก็จะดูตาม line กลุ่ม
หรือว่าอาจจะฟังเซลโล่ โปรแกรมของที่อาสาสมัครเขาใช้กัน คือ ถ้าเราไปได้ เราก็ไปค่ะ ต้องดูด้วยว่าจังหวะนั้น คือ ติดงานไหม ไปได้ก็คือไป”
เสียงหวอของรถดับเพลิงที่ดังลั่นไปทั่วพื้นที่ เป็นสัญญาณว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ใดสักแห่ง ภายในรถมีนักผจญเพลิงที่ฝึกฝนมาเป็นอย่างดี พร้อมปฏิบัติหน้าที่ เพื่อช่วยให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยไวที่สุด
“คือ วันแรกที่ไป ด้วยความที่เป็นเด็ก เราก็จะ…หูยอะไรอ่ะ มีไฟ แล้วมีคนวิ่ง เราก็จะแบบเฮ้ย..แล้วเขาจะทำยังไงกันเพื่อนเราก็วิ่งไปก่อนแล้ว เพราะว่าเพื่อนจะโตกว่า 4-5 ปี เขาจะทำมาก่อน เขาก็เข้าไปทำนู่นทำนี่กัน เราก็อ้าว!! แล้วเราล่ะ… ทำอะไร
ก็ไปยืนแอบดูข้างๆ ก่อนตอนแรก ยังทำอะไรไม่ถูก ก็ไปแอบดู แล้วก็ไปช่วยแมวอยู่ ก็เป็นเคสนี้เลย ที่เป็นการจุดประกาย เพราะว่าถ้าไม่มีเคสนี้ ไม่มีเจ้าแมว 2 ตัวนี้ก็อาจจะไม่ได้ทำตรงนี้ค่ะ”
นี่คือประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิตที่เธอเจอกับตัวอย่างไม่คาดฝัน หลังจากเดินทางไปกับเพื่อน และได้ลงพื้นที่เป็นอาสาร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่นั่น เหตุการณ์วันนั้นทำให้เธอตระหนักได้ว่า การทำงานตรงนี้สิ่งที่สำคัญ คือ “สติ” และ ความ “ซื่อสัตย์”
“สิ่งสำคัญเลย คือ ความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น เพราะ เวลาที่เราไปที่เกิดเหตุ บางทีเราไปเจอทรัพย์สินของผู้ประสบภัย บางทีเจอทอง สิ่งสำคัญเลยคือเราต้องซื่อสัตย์ต่อตนเองว่า เราจะไม่หยิบฉวยของเขา เพราะว่าตอนนี้เขาเดือดร้อน เราจะไปซ้ำเติมโดยการที่ไปเอาของเขามาอีกอย่างนี้ เราก็รู้สึกค่อนข้างแย่
ถ้าใกล้จุดที่เสี่ยงชีวิตมาก อันนี้น่าจะเป็นที่ตากสิน ที่โด่งดังเลย เพราะว่าตอนที่เราเข้าไป ไฟก็ยังโถมๆ กันอยู่ แล้วก่อนหน้านี้มันมีการถล่มมาแล้ว 1 ครั้ง ทับพี่อาสาไปคนหนึ่ง และมีบาดเจ็บ
คนในลูกหน่วยก็มีเจ็บ 2 คน เราก็เข้าตามไป เพื่อนก็เลยบอกว่านุ๊กไปถือให้หน่อย เราก็ไปถือ ถือปุ๊บไม่ทันจะหันกลับมาเพื่อจะฉีดบ้านหลังสุดท้ายที่ไฟไหม้ มันก็ถล่มลงมาแบบไม่ทันตั้งตัว แต่ด้วยความสติเรารู้อยู่แล้วว่า เราต้องเตรียมพร้อมทุกสถานการณ์ มันถล่มลงมาปุ๊บ เราก็กระโดดออกมา คือ เพื่อนทุกคนก็บอก …เกือบแล้วนิดเดียวเอง”
โดยทุกๆ ครั้งที่ปฏิบัติหน้าที่ เธอทราบดีว่า นี่คือวินาทีความเป็นความตายของชีวิตตนเอง เพราะมักจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อย่างการเกิดเหตุเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่
“อย่างแรกเลยเราดูจาก ว.แปด คือ ข่าวสาร ว่าข้อมูลมาแบบนี้ ไหม้อะไรเราก็ต้องดูก่อน ตรงนี้เป็นชุมชน เป็นอาคารสูง เป็นไหม้หญ้า เป็นไหม้รถ พอเรารู้ปุ๊บ ตรงนี้เราต้องประเมินแล้วว่า สถานการณ์ตรงนั้นไปถึงขั้นไหนแล้ว
ความรุนแรงของระดับเพลิงไหม้มันถึงไหนแล้ว ตอนนี้มีเจ้าหน้าที่ถึงแล้วยัง พอถึงหน้างานเราก็จะมีการแบ่งดูว่าตรงนี้เราควรทำยังไง อย่างถ้าเป็นอย่างไหม้ชุมชน มันก็จะมีเรื่องของกระแสไฟฟ้า
ถ้ากระแสไฟฟ้ายังไม่ตัด เราต้องเตรียมยังไง ต้องเข้ายังไง ต้องเซฟตัวเองยังไง เพราะว่าตรงนี้ค่อนข้างจะอันตรายมาก เพราะว่าเหตุการณ์พวกนี้ มันเคยที่เข้าไปแล้ว เสียชีวิตก็มี
มีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ด้วยกัน คือ เขาเข้าไป เหมือนอุปกรณ์ safety ไม่พร้อม แล้วโดนไฟดูด เราก็ช่วยกันปั๊ม (หัวใจ) คือคนรอบข้างช่วยให้กำลังใจ แต่มันทำอะไรไม่ได้แล้ว คือ เขาก็เสียไป
มันหดหู่นะคะ เห็นคนที่ยืนฉีดน้ำกับเราข้างๆ แล้วมาเป็นอะไรต่อหน้า คือ มันก็สั่น ใจสั่นอยู่เหมือนกันค่ะ
ตอนนั้นความคิดเดียว คือ ทำยังไงก็ได้ยื้อให้พี่เขากลับมา ทุกคนก็ช่วยกัน แบ่งหน้าที่กัน อย่างเราฉีดน้ำอยู่ เราต้องประคับประคองตัวของส่วนที่เกิดเหตุอยู่ คนที่ช่วยก็ต้องช่วย แล้วก็นำพี่เขาออกไป ในที่ๆ เหมาะสมกว่า ที่ปลอดภัยกว่า”
“ไฟไหม้” สิ่งไกลตัวที่เกิดขึ้นได้!!
“สิ่งที่เราระลึกถึงตลอดเวลา คือ 1.ลดการสูญเสีย และเซฟตัวเองให้ปลอดภัยค่ะ การตัดสินใจสำคัญมาก
ในส่วนของการทำงาน คือ กลางวันกับกลางคืนจะไม่เหมือนกัน กลางคืนจะใช้ความรอบคอบมากนิดนึง เพราะด้วยความที่มีความมืด มีควันไฟ แล้วเราไม่รู้ว่าไปสถานที่แถวนั้น อย่างบ้านเขามีกระถางต้นไม้ มีสิ่งต่างๆ สถานการณ์ตอนนั้น คือ มันมืด บางทีเราเดินไม่ดี ตกบ่อส้วมก็มี บางทีสะดุดนู่นสะดุดนี่ เจ็บตัวก็มี”
ด้วยประสบการณ์ และความเข้าใจในการเข้าปฏิบัติหน้าที่ เธอได้ช่วยสะท้อนถึงเหตุการณ์จากกรณีเหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้นในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พยายามหนีตายกันอย่างอลหม่าน และมีผู้เสียชีวิตจากการช่วยเหลือคนในครั้งนั้น
“ที่จริงเราต้องประเมินตั้งแต่แรกแล้วค่ะ ว่าเราควรจะเข้าไปหรือไม่ควรเข้าไป เพราะอย่างหนึ่งเลยเรามีนโยบายอยู่แล้วว่า เจ็บตัวและเสียตังค์
เจ็บตัวมาไม่มีค่ารักษา ไม่มีอะไรทั้งสิ้น เราต้องดูแลตัวเอง จ่ายค่าพยาบาลเอง เสียงตังคฺ คือ พวกอุปกรณ์ต่างๆ ที่เราใช้ทั้งหมด เป็นของเงินส่วนตัวที่เราต้องซื้อเอง เตรียมพร้อมเองทุกอย่าง และถ้าเกิดจะเข้าไปเสี่ยงขนาดนั้น เราให้ผู้ที่ชำนาญมากกว่า อย่างเช่นเจ้าหน้าที่จริงๆ ของเขา หน่วยงานของเขาเข้าไปดีกว่า”
ไม่เพียงแค่นั้น น้ำเสียงหนักแน่น สะท้อนให้เห็นถึงความไม่จริงจังเกี่ยวกับการซ้อมหนีไฟ และความไม่ให้ความสำคัญถึงความปลอดภัยของตัวเองอย่างต่างประเทศ จากมุมมองนักผจญเพลิงหญิงคนนี้ ยังอยากให้สอดแทรกเรื่องนี้ไว้ในวิชาใดวิชาหนึ่งในโรงเรียนอีกด้วย
“อยากให้มีนะคะ บางทีน้องๆ หนูๆ เขาก็มีส่วนที่ให้ความสนใจ เวลาเราไปเคส จะมีเด็กๆ เข้ามาดู อยากรู้อยากเห็น เราอยากให้เขาใช้ความอยากรู้อยากเห็นของเขา ให้เกิดประโยชน์
เราอาจจะมีแนวทางในการสอน บอกเขา ให้เขาดูว่าถ้าเขาทำอย่างนี้ได้ ช่วยอย่างนี้ได้ เขาอาจจะดูเป็น Hero นะ ในความคิดคติของเด็ก อยากให้เขาค่อยๆ ซึมซับตั้งแต่เด็ก บางทีโตขึ้นเขาอาจจะทำได้มากกว่านี้
มันก็มีหลายเหตุการณ์ที่ใหญ่ๆ แล้วเกิดการสูญเสียเยอะๆ บางทีเราก็อยากให้ทุกคนหันมามองตรงนี้ ถึงมันจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการใช้ถังเคมี คือ เรารู้ไว้เราก็ไม่เสียหาย
วันใดวันหนึ่งเราทำกับข้าว ไฟอาจจะไปติดอะไรส่วนไหนในควร เราก็ยังช่วยเซฟตัวเองแล้วก็ไม่สร้างความเสียหายให้แก่บ้านหลังอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงเราด้วย”
สำหรับงานด้านดับเพลิง เธอเล่าว่ามีสอนตั้งแต่การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ไปจนถึงการช่วยชีวิตสัตว์ แม้ว่างานอาสาที่ทำจะไม่ได้รายได้ก็ตาม แต่เธอยอมรับว่าเป็นงานที่เธอชอบ และสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชีวิต
“นอกจากดับเพลิง เรามีทั้งจับงู จับแมว ช่วยเหลือทั้งหมดค่ะ ทำปฐมพยาบาลก็ทำได้ แต่เราจะไม่สามารถยกคนเจ็บขึ้นรถไปส่งโรงพยาบาลได้นะคะ เพราะด้วยความที่เขาแบ่งแยกออกมาเป็นในส่วนของสาธารณภัย จะไม่เข้ากับพวกคนเจ็บสักเท่าไหร่ทำได้เบื้องต้น
ถ้านอกเหนือจากการดับเพลิง แต่ถ้าอย่างการจับงู ก็ทำได้เต็มที่ จับงูเองอันนี้เป็นความสามารถพิเศษแรกๆ ก็กลัว ครั้งแรกเลยที่ไป เพื่อนให้ไปถือกระสอบ แล้วเพื่อนเป็นคนใส่ถุง งูก็มาโดนเรา เราก็…หึย
ด้วยความที่เราไม่เคยจับตัวงู มันก็ค่อนข้างยังไม่ชิน แต่พอได้จับสัก 2-3 เคส เริ่มโอเคแล้ว เริ่มจับได้แล้ว ก็กลายเป็นเราจับเลย”
ก้าวข้ามคำดูถูก “เลือกปล่อยผ่าน-ไม่ตอบโต้”
“ถามว่ากลัวเสียโฉมไหม อย่างที่บอกว่าเราต้อง save ตัวเองตั้งแต่แรก ตั้งแต่ก่อนไปอยู่แล้ว เพราะเรารู้ว่าต้องไปเจอสถานการณ์ ประมาณนี้เราต้องเตรียมตัวไปยังไงบ้าง อย่างไปดับไฟไหม้หญ้ากลางแดด เราก็ต้องมีหมวก พอที่จะ save ตัวเองอยู่แล้วค่ะ”
ก่อนที่ชื่อ “ซานุ๊ก” จะเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในโซเชียล และถูกพูดถึงเพียงข้ามคืน จากเหตุไฟไหม้ชุมชนซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 23
เพราะภาพไฟไหม้ที่ถูกแชร์ออกไป มีความน่ากลัว แน่นอนว่านอกจากเสียงชื่นชม ยังต้องผ่านคำพูดที่ทำร้ายจิตใจ ที่มองว่า “มีดีแค่ความสวย”
“ถ้าเป็นผลงานที่ผ่านมาเขาน่าจะรู้นะคะ ว่าจริงไม่จริง เพราะทุกคนที่ไปหน้างานด้วยกัน เขาก็จะรู้อยู่แล้ว เจอหน้าปุ๊บ ไอ้นี่มันจะต้องไปถือหัว ต้องไปอยู่ข้างหน้าแน่นอน เพราะว่าด้วยความที่เราไปบ่อยแล้ว จนรู้จักหลายๆ คน รู้จักคนเยอะ ที่ไปที่เกิดเหตุบ่อยๆ เขาก็จะรู้แล้วว่า..อ้าวนุ๊ก
บางทีเราลืมลืมของ ลืมอะไร เราก็จะพี่หนูขอจัมป์น้ำได้ไหม แล้วเขาก็จะเอาเลยๆ คือคนหน้างานเขาก็จะรู้แล้วว่าเราทำจริง
แต่บางคนในโลกโซเชียลก็มีในส่วนที่แบบว่า เฮ้ยเอาสวยมาเรียกกระแสเปล่า คนทำงานแบบนี้ก็เยอะแยะ คือเราก็ไม่ได้ว่าเขานะ ว่าคนทำงานจุดนี้ ผู้หญิงมันก็มีค่อนข้างเยอะ แต่ว่าในส่วนที่เขาจะมาจริงจังกับเรา เราก็ไม่รู้ว่าเยอะแค่ไหน แต่ตรงนี้ คือ ในเมื่อมันเป็นกระแสออกมา คุณก็ดูย้อนหลังได้ ว่าเราทำจริงหรือทำไม่จริงค่ะ
อันแรกเลยที่เจอตั้งแต่เป็นกระแส คือ เอาเวลาถ่ายรูปไปดับเพลิง คือ ก็ยังงงว่า รูปถือหัว (ฉีดน้ำ) อยู่นะ แล้วเราก็ไม่ได้เซลฟี่ คือเป็นมือกล้องในหน่วยถ่าย เดี๋ยว…คุณต้องการอะไร คือ เราก็ฉีดอยู่
เขาคงคิดว่า ประมาณว่าเราถ่ายรูปเซลฟี่โชว์ แต่จริงๆ คุณไม่เห็นหรอกว่า ฉันก็ถือหัวอยู่ แล้วไฟมันก็ลุกอยู่ แล้วก็จะมีประมาณว่า โชว์ขาอ่อนเพื่อเรียกกระแส เดี๋ยว… คือรูปพวกนี้เราก็ถ่ายเป็นชีวิตประจำวันอยู่แล้ว
คือประจำวันก็คือประจำวัน ส่วนที่เรามาปฏิบัติหน้าที่ ก็คือปฏิบัติหน้าที่ คือ คุณต้องแยกให้ได้ ส่วนตัวกับสาธารณะ”
ด้วยสัดส่วนเซ็กซี่ชวนมอง และใบหน้าอันเป็นเอกลักษณ์ของเธอ ทำให้เธอโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ไปถึงขั้น “ขายหน้าตา เป็นเน็ตไอดอล” เธอให้คำตอบอย่างตรงมาไว้ว่า อยู่ที่คนมอง สำหรับเธอเองนั้น ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงและคิดว่าเป็นเน็ตไอดอลในด้านใด
“ที่จริงก็ไม่นะ เราก็ไม่ได้คิดตรงนั้น คือ ปกติอย่างในเฟซบุ๊ก เวลาเราไปเคส ไปอะไร เราก็ลงรูปของเราปกติอยู่แล้ว
คือเป็นคนยังไงก็เป็นคนอย่างนั้น คือ ด้วยความที่เราอยู่กับเพื่อนผู้ชายเยอะ เราจะไม่ค่อยสนใจพวกคำพูดเล็กๆ น้อยๆ เพราะเพื่อนผู้ชายส่วนใหญ่พูดแค่คำเดียวก็จบกัน ถ้าเรามานั่งสนใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ พอดี…เราไม่ต้องทำอะไรแล้วค่ะ
มีเยอะค่ะที่เข้ามาแซว เราก็คิดซะว่า เขาอาจจะชื่นชอบเรา ถ้าเราไปใส่ใจทำไมต้องมาแซวเรา มันก็ทำอะไรไม่ได้ คนมันตั้งกี่พันคน เราก็คิดว่าซะว่า เขาเป็น FC เรา เขาชื่นชอบเรา โอเคช่างเขา
ถ้าเป็นหนักๆ ก็จะมีประมาณว่า หูยนั้นนมหรือมะพร้าว เราก็เออ…สงสัยเราใหญ่มั้ง เราก็เข้าข้างตัวเองว่าสงสัยเราใหญ่ เราก็คิดเป็นขำๆ ไป เพื่อที่เราจะไม่ต้องซีเรียสพวกคำพูดพวกนี้”
เรียกได้ว่า เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่แซ่บ และมีมุมมองบวกๆ แฝงผ่านคำตอบไว้เสมอ เธอเลือกรับมือด้วยการปล่อยผ่าน ไม่ตอบโต้กลับคอมเมนต์ลบๆ ที่ต่างครหา
“ไม่ใส่ใจ จะมีแต่บางเพจที่ชอบเอาไปพูด คือ เพื่อนจะแคปมาให้ดู ว่าเพจนี้แม่งมันว่ามึงอย่างนี้ว่ะ เราก็ช่างมันดิ เออมันโรคจิต พวกนี้มันคือเรียกร้องความสนใจ ตอบโต้ไป คนพวกนี้เหมือนไปให้ราคาเขา สู้เราปล่อยผ่านและทำเป็นอากาศไปเลยดีกว่า”
นอกจากนี้ ยังฝากเตือนสำหรับผู้ชาย ที่เข้ามา “Sexual Harassment” ใช้คำไม่เหมาะสมในพื้นที่ของเธอ อย่างที่พริกถึงขิงอีกว่าให้ ระวังหัวแตก เพราะคนในบ้านเห็น
“อยากให้ระวังเมียที่บ้านมากกว่า อย่างบางทีเมียมาเจอ เผลอๆ อาจจะหัวแตกก็ได้นะคะ แต่ละเมนต์มา… อย่างบางทีขึ้นรูปโปร์ไฟล์คู่ แล้วมาเมนต์เราแรงๆ เราก็จะเฮ้ย!! แฟนเขาจะเห็นไหม เขาจะมาจั่วเราหรือจั่วเขา”
สายเลือด “จิตอาสา” จากพ่อ!!
ถึงตรงนี้ก็ทำให้แอบสงสัยไม่ได้ว่า ด้วยการเลี้ยงดูของครอบครัวจะมีส่วนที่ทำให้เธอกลายเป็นคนที่มีจิตใจอยากช่วยเหลือผู้อื่นด้วยหรือไม่ เธอย้อนให้ฟังถึงในช่วงวัยเด็ก จะได้รับการปลูกฝังการรู้จักการช่วยเหลือ
“ส่วนใหญ่เขาจะเป็นคนค่อนข้างขี้สงสารสัตว์ ที่เราเห็นตั้งแต่เด็ก เราก็เลยเหมือนเริ่มซึมซับเรื่องสัตว์มาก่อน พอเราเริ่มโต เราเริ่มมาช่วยชีวิตคนแล้ว ก็จะเป็นอีกระดับหนึ่ง”
แน่นอนว่า กว่าจะพิสูจน์เป็นที่ยอมรับจากทางครอบครัวได้นั้น เธอใช้ระยะเวลาในการพิสูจน์ตัวเอง เพราะตอนนั้นเธอยังเป็นเด็กอายุ 13 ปี ที่มีใจต้องการทำความดีเพื่อสังคม อีกทั้งที่บ้านก็ยังคงเป็นห่วงเมื่อรู้ว่าเธอทำงานเป็นอาสานักดับเพลิง
“ตอนแรกห้ามเลย เพราะว่าตอนนั้นเราอายุ 13 เราก็ชอบแอบออกจากบ้านไปเข้าเวร ไปกับเพื่อน ไปไฟไหม้ บางทีเพื่อนมาเรียกว่า เฮ้ย… ไฟไหม้ๆ (กระซิบ) เพราะที่บ้านค่อนข้างจะดุ พ่อจะดุมาก แล้วแอบไป
เขาก็นึกว่าเราแอบไปเที่ยว แอบไปเกเร เราก็พยายามอธิบาย จนมีเคสหนึ่งที่เหมือนมีคนรู้จักของพ่อ เขามาเล่าให้ฟังบอกว่า เมื่อคืนเหมือนเห็นลูกสาวไปไฟไหม้ตรงนี้ เขาก็ไปไฟไหม้อะไร เขาก็งง เขาก็มาถามว่าเมื่อคืนไปไหนมา เราก็บอกว่าไปไฟไหม้มา เขาบอกว่ารู้ไหม มันอันตราย มันเสี่ยง คือ ก่อนหน้านี้คุณพ่อทำเป็นมูลนิธิ เป็นมูลนิธิหนึ่ง
เหมือนเขาก็ผ่านตรงนี้มา เขาก็จะแบบรู้ไหมว่ามันเสี่ยง หิวก็ต้องกลับมากินที่บ้าน เหนื่อยก็ไม่มีใคร…เขาก็บ่นๆ เราก็ยังดื้อทำมาเรื่อยๆ จนเหมือนเขาแบบถ้าอย่างนั้นมันห้ามไม่ได้ งั้นก็ดูแลตัวเองดีๆ ด้วย บางทีเขาไม่ได้อยู่ดูแลเรา เรายังเด็กอยู่อย่างนี้ เขาก็กังวล”
เรียกว่าเป็นชีวิตวัยเด็กที่เติบโตด้วยครอบครัวที่เป็นจิตอาสา ตรงนี้จึงทำให้เธอถูกปลูกฝังโดยไม่รู้ตัว ส่งให้ผู้หญิงคนนี้ ที่ไม่ได้มีแค่ความสวย แต่ยังเข้าใจคุณค่าของชีวิต เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น และได้ตั้งปณิธานเอาไว้ว่า จะยังคงทำงานอาสา จนกว่าไม่มีเรี่ยวแรง
“ทำจนกว่าจะไม่มีแรงที่จะทำ ถึงไม่มีแรงถือหัว หนูไปคุมเครื่องก็ได้ …มันเป็นความสุขทางใจอย่างหนึ่ง ที่เราไม่สามารถหาจากที่ไหนได้เลย ถ้าเราไม่ลงมือทำ คือ ตรงนี้ อย่างที่บอกต้องใจรัก เพราะอย่างที่บอกเจ็บตัวและเสียตัง
คือถ้าใจคุณไม่ได้อยากทำจริง แค่อยากมาใส่ชุดเท่ๆ หรืออยากไปกับเพื่อน คือ คุณไปได้แต่คุณก็แค่คนคนหนึ่งที่ยืนเกะกะเขา ไม่ใช่ไปทำงานจริงๆ มันก็มีทั้ง 2 ประเภท คนที่แต่งตัวเต็มยศ แบบเต็มครบทุกอย่างเลย แต่ไปแค่ยืนถ่ายรูปเซลฟี่ กับคนที่เขาใจรักจริงๆ แต่อาจจะอุปกรณ์ไม่ได้แน่นเหมือนเขา แต่เข้าไปลุยข้างในอย่างนี้ก็มี”
เผชิญเปลวไฟ ต้องมีสติ!! “ตั้งสติก่อนเลยค่ะ ตั้งสติเสร็จโทร. 199 โทร.แจ้งรายละเอียดว่าไฟไหม้อะไร ไหม้ที่ไหน บอกพิกัดให้ชัดเจน เพราะว่าบางทีคน โทร.มาไฟไหม้บ้านซอยนี้…จบ แล้วซอยนี้ มีตั้งกี่ซอยย่อย เจ้าหน้าที่เขาก็ต้องมาหา มันทำให้ช้า เพราะว่าการเกิดไฟไหม้ครั้งหนึ่งมันเร็วมาก คือ มันจะมีระดับของการไหม้ อย่างถ้า 1นาที-4 นาที คือ เราสามารถทำการดับเองได้ แต่ถ้าเลย 4 นาทีไปแล้ว มันเริ่มรุกราม แล้วมันจะเอาไม่อยู่ แล้วยิ่งคุณไปบอกพิกัดไม่ตรง เขาก็ไปหา แล้วดูสภาพจราจรกรุงเทพฯ รถมันติด มันก็ทำให้ความเสียหายเพิ่มขึ้น” |
เลือกงาน “ Margerting sales” เพราะได้ช่วยคน อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า เธอมีอาชีพเป็นนักการตลาด ของบริษัทแห่งหนึ่ง เธอมองว่าอาชีพนี้ ทำให้เธอได้ช่วยเหลือคนอื่นมากยิ่งขึ้น โดยในรถของซานุ๊กนั้นเตรียมอุปกรณ์พร้อมตลอดเวลา “เป็น Margeting sales คือ เป็นการตลาดด้วย แล้วก็เป็น sales ขายด้วย จะเป็นงานอุปกรณ์ก่อสร้าง คือ เราต้องเข้าไซส์งาน หรือถ้าเป็นบางสเป็กก็จะเข้าตามสถานที่ราชการโยธา ด้วยความที่เป็นคนชอบออกไปเจอโลกกว้าง ไม่ชอบอยู่ออฟฟิศ หรือว่าต้องทำงานที่เดิมๆ ซ้ำๆ ก็เลยทำ ชอบในส่วนของ sales ที่ทำแล้วออกไปข้างนอกไปหาลูกค้า และอีกประเด็นหนึ่ง คือ เผื่อเวลามีเคสที่ใกล้ๆ แล้วก็ไปได้นิดนึง” โดยสิ่งที่น่าสนใจ คือ การที่เธอทำงานด้านดับเพลิง ทำให้เธอมีความรู้ที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ ในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นการเกิดไฟไหม้รถ “มาทำงานตรงนี้ช่วยได้เยอะนะคะ อย่างชีวิตประจำวันอย่างนี้ บางทีเราเป็น sales แล้วเราขับรถไปข้างนอก บางทีเจอไฟไหม้รถ เราก็จะมีถังดับเพลิงอยู่ในรถของเรา พกไปด้วย ก็ไปช่วยเขาฉีด แล้วลดความเสียหายเขาได้ บางทีเราไม่รู้ว่ารถเขาเป็นรถติดแก๊ส รถน้ำมัน บางทีอาจจะเกิดการระเบิดแล้วคนรอบข้างอันตราย เราก็สามารถจบตั้งแต่แรกๆ ได้ ก็มีเล็กน้อยๆ ค่ะ รถค่อนข้างมีของใช้งาน แต่จะมีอีกคันที่ไปสำหรับดับเพลิงโดยเฉพาะ” |
ดูโพสต์นี้บน Instagram
สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
คลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพเคลื่อนไหว: กีรติ เอี่ยมโสภณ, ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ภาพ: ปัญญพัฒน์ เข็มราช
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก “ซานุ๊ก โซแซส”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **