xs
xsm
sm
md
lg

นักวิ่ง-แพทย์ออกโรงเตือน “สายมาราธอน” แค่ออกวิ่งก็เสี่ยงตาย 50-50 แล้ว!!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดใจนักวิ่งกว่า 40 สนาม กับเหตุการณ์เสียชีวิตพร้อมกัน 3 รายในวันเดียวกัน สะเทือนวงการนักวิ่งอยู่ไม่น้อย หลายคนมองว่าการวิ่งเป็นอันตราย ด้านหมอโรคหัวใจมองว่าเป็นภัยเงียบที่คนชอบออกกำลังกายทุกคนต้องคิดทบทวน

ทริกวิ่งอย่างไรให้ปลอดภัย

สะเทือนวงการนักวิ่งอยู่ไม่น้อย กรณีนักวิ่งเสียชีวิตพร้อมกัน 3 รายในวันเดียวกัน หนึ่งในนั้นคือ นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค วัย 59 ปี เสียชีวิตกะทันหัน ขณะร่วมวิ่งมินิฮาล์ฟมาราธอน ที่อุทยานวีรชนค่ายบางระจัน อ.ค่ายบางระจัน ระยะทาง 5 กิโลเมตร แพทย์ลงความเห็นเบื้องต้นว่าเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน

ส่วนที่จังหวัดระยอง นักวิ่งเสียชีวิต 2 ราย ในงานวิ่ง อาสาพาวิ่ง 2020 เส้นทางวิ่งรอบอ่างเก็บน้ำดอกกราย อ.ปลวกแดง มีนักวิ่งเข้าร่วมแข่งนับพันคน ผู้เสียชีวิตรายแรกคือ นราสิฐ สันสมภาค อายุ 54 ปี เป็นชาย ออกวิ่งไปได้สักพัก เกิดอาการวูบหมดสติ

อีกรายคือ สกานต์ จันธิยะ อายุ 30 ปี หลังวิ่งออกจากจุดสตาร์ทได้ 4 กิโลเมตร เกิดมีอาการวูบล้มลงหมดสติ ชีพจรหยุดเต้น จนเสียชีวิตในที่สุด

ทีมข่าว MGR Live ได้ติดต่อไปยัง ชลาธิป อินทรมารุต นักวิ่งเจ้าของเพจ “Safety360” ในฐานะนักวิ่งที่ลงสนามวิ่งมาเกือบ 40 สนาม ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ให้ช่วยไขข้อข้องใจถึงเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับวงการนักวิ่ง รวมไปถึงแนะวิธีเตรียมตัวอย่างไรให้วิ่งได้อย่างปลอดภัย

นักวิ่งรายนี้เปิดใจว่า ไม่อยากให้หลายคนเข้าใจผิดว่าการวิ่งเป็นอันตราย แต่การเสียชีวิตเช่นนี้ไม่ใช่แค่ว่าจะเกิดกับเฉพาะนักวิ่งเท่านั้น แต่คนทั่วไปก็สามารถพบได้ เพียงแต่ว่าบางทีก็ไม่เป็นข่าวให้เห็นกันเท่านั้นเอง

ชลาธิป อินทรมารุต
“ก่อนอื่นผมต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตในรายการวิ่งทั้ง 3 ท่านในเมื่อวานนี้ก่อน แล้วก็ก่อนที่หลายท่านจะเข้าใจผิดว่าการวิ่งเป็นอันตราย ผมขออธิบายตรงนี้ก่อนว่า จากข้อมูลสถิติทางการแพทย์พบว่า การวิ่งสามารถช่วยลดความเสี่ยงของอาการหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลันได้มากถึง 50%

พูดง่ายๆ ก็คือว่า เมื่อออกมาวิ่งแล้ว ความเสี่ยงหัวใจวายลดลงครึ่งหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับคนไม่ได้วิ่งเลย หรือแม้แต่ในการแข่งขันมาราธอนทั่วโลกเองก็ตาม พบว่า มีอัตราการเสียชีวิของนักวิ่งไม่ถึง 1 คน ต่อนักวิ่ง 100,000 คน ซึ่งปัจจัยของการเสียชีวิตเหล่านี้มันก็มีมากมาย ทั้งเรื่องของพันธุกรรม โรคประจำตัว การพักผ่อน การดื่มน้ำ แล้วก็สภาพอากาศในขณะแข่งขัน

ทั้งนี้ ในส่วนของเมืองไทยเองเขาบอกว่า มีข้อมูลยืนยันว่าปกติแล้วคนไทยเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจขาดเลือดมากถึงชั่วโมงละ 2 คน หมายถึงว่าไม่ใช่แค่ในสนามวิ่งเท่านั้น หมายถึงคนไทยทั้งประเทศ ไม่ว่าจะนั่งกินหมูกระทะ หรือดื่มแอลกอฮอล์อยู่ที่บ้านเขาก็เสียชีวิตกันเป็นเรื่องปกติ แต่ว่าในกลุ่มนี้อาจจะไมได้เป็นข่าวดังเท่านั้นเอง”

ขณะเดียวกัน นักวิ่งรายเดิมก็เล่าถึงการเตรียมตัวก่อนจะวิ่งว่าจะต้องเตรียมร่างกายให้ดี พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ฝืนร่างกายตัวเองมากเกินไป

“เตรียมตัวจากระยะทาง เช่น ถ้าเราลงระยะ 10 กิโลเมตร เราก็ต้องเคยซ้อมเคยวิ่งให้ได้อย่างน้อยเกินกว่าระยะที่เราจะไปวิ่ง อย่างน้อยเราต้องวิ่ง 12-15 กิโลเมตรต้องได้ อย่าลงมากกว่าระยะที่เราเคยซ้อม หรือเคยวิ่งมา

ก่อนวันจะวิ่งให้เรานอนพักผ่อนให้เพียงพอ แล้วก็วางแผนว่าเราจะวิ่งกี่กิโลฯ ต้องดื่มน้ำตอนไหน หรือถ้าวิ่งระยะไกลอาจจะต้องมีพวกเจลพลังงานเพิ่ม ก็วางแผนก่อนวิ่ง ศึกษาเส้นทาง แล้วก็วางแผนการวิ่งก่อนครับ

ศึกษาเส้นทาง วางแผนตัวเอง วางแผนการวิ่ง เตรียมร่างกายให้พร้อมในเรื่องของการพักผ่อน หรือเครื่องดื่ม น้ำ สภาพอากาศ หรือดูว่าวิ่งมีขึ้นเนินขึ้นเขาหรือเปล่า ศึกษาเส้นทาง วางแผนให้เรียบร้อย จัดการตัวเองให้เรียบร้อย

เราต้องรู้ว่าวิ่งแบบไหนที่มันเสี่ยง ง่ายๆ คือต้องฟังตัวเอง อย่าไปเชื่อ อย่าไปตามเพื่อนยุเพื่อนเชียร์ หรือไปเชื่อในกติกาที่เขาใส่ไปในข้อมูล แต่ให้ฟังเสียงร่างกายตัวเองมากที่สุดครับ

ส่วนการวิ่งยังไงให้ปลอดภัย สิ่งที่ผมแนะนำก็คือ อันดับแรกให้ฟังเสียงร่างกายของตัวเองให้ได้มากที่สุด ถ้าคุณเหนื่อย ก็ให้เดิน ลดความเร็วลง เมื่อหิวน้ำก็หยุดพักแล้วก็ดื่มน้ำ ถ้าอากาศร้อนมากๆ คุณก็อาจจะหยุดพักก่อน อย่าวิ่งต่อ อย่าฝืนร่างกาย อย่าไปเชื่อนาฬิกาที่ใส่อยู่ อย่าไปวิ่งตามเพื่อนมาก อย่าเชื่อคนอื่น แต่ให้ฟังเสียงร่างกายตัวเองให้มากที่สุด เพราะว่าร่างกายเรามันไม่มีวันหลอกเราหรอก เหนื่อยก็คือเหนื่อย ถ้าหัวใจเต้นแรงหอบเหนื่อย หรือเราปวดขาต้องหยุดพักทันที

ผมแนะนำว่าสำหรับคนที่มีโรคประจำตัว หรือข้อจำกัดทางสุขภาพ ก็ควรจะปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะสมัคร เพราะว่าบางรายการเขาให้เราตอบคำถามว่าเรามีโรคประจำตัว หรือมีข้อจำกัดใดๆ ไหม แต่บางทีเราก็ฝีนตัวเองไปวิ่ง
สำหรับเราเองมีการเตรียมตัวยังไงบ้าง”


นอกจากนี้ยังบอกถึงหลักการในการวิ่ง 3 อย่างที่นักวิ่งใช้กันโดยทั่วไป และก่อนออกกำลังกายหรือหลังออกกำลังกายทุกประเภทควรมีการยืดกล้ามเนื้อทุกครั้ง

“จริงๆ นักวิ่งเขาใช้หลักการ 3 อย่าง คือ อย่า Too Much-Too Fast-Too soon หมายถึงว่า อย่าวิ่งมากเกินไป อย่าวิ่งเร็วเกินไป แล้วก็อย่าพักผ่อนน้อยเกินไป อันนี้เป็นหลักการที่นักวิ่งใช้กันทั่วไป

แล้วก็อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญสำหรับการออกกำลังกายก็คือว่า ก่อนออกกำลังกายทุกประเภท คุณต้องวอร์มอัปก่อน ออกกำลังกายเสร็จแล้วต้องจบด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บขึ้น”

ท้ายนี้นักวิ่งรายเดิมยังฝากถึงนักวิ่งทุกคนอีกด้วยว่า ขอให้สนุกกับการวิ่ง แต่อย่าฝืนร่างกายตัวเองมากเกินไป หากวิ่งวันนี้ไม่ได้ ก็ยังมีวันหน้า

“ผมอยากฝากทุกคนนะครับ สำหรับนักวิ่ง ให้ฟังเสียงร่างกายตัวเองให้ได้มากที่สุด อย่าฝืน ถ้าวันนี้เราไม่ไหวก็ค่อยกลับมาวิ่งใหม่ มาราธอนไม่ได้มีแค่ครั้งเดียว เราสามารถที่จะกลับมาวิ่งใหม่ได้ในวันพรุ่งนี้ ชีวิตเรามีแค่ชีวิตเดียว ถ้าใครมีโรคประจำตัว หรือข้อจำกัดทางสุขภาพ ควรที่จะปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะออกมาวิ่งหรือมาออกกำลังกายหนักๆ แล้วก็ฝากขอให้ทุกคนสนุกกับการวิ่ง แล้วก็วิ่งอย่างปลอดภัยครับ”


ภัยเงียบคร่าชีวิต?

และนี่เป็นคำตอบจาก นพ.ทวนทศพล สุวรรณจูฑะ ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 2 ที่มองในการวิ่งครั้งนี้ว่าเป็นภัยเงียบที่ทำให้นักวิ่งหรือคนที่ชอบออกกำลังกายต้องกลับมาทบทวนตัวเอง ก่อนเข้าแข่งขันรายการใด ควรเช็กร่างกายหรือตรวจสภาพร่างกายให้ตัวเองพร้อมก่อนเสมอ หรือไม่ก็ควรปรึกษาคุณหมอก่อนที่จะแข่งขันไม่ว่าจะเป็นกีฬาประเภทใดก็ตาม

“มันเป็นภัยเงียบแน่นอน แต่เนื่องจากว่าเราต้องประเมินตัวเองก่อนเข้าร่วมการแข่งขัน หรือเข้าร่วมกีฬาหนักๆ ถ้าเราเป็นคนเล่นประจำอยู่แล้ว โอกาสแบบนี้จะไม่ค่อยเยอะ

มันจะมีอยู่ 2 เหตุการณ์ที่ทำให้เราต้องพิจารณาว่าเราจะเข้าร่วมการแข่งขันในแบบนั้นได้หรือไม่ อันที่หนึ่งคือ ถ้าเรามีโรคประจำตัวซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดเรื่องเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น เบาหวาน ความดัน หรือจะเป็นเรื่องหัวใจ หรือหลอดเลือดสมองมาแล้ว และจะกลับไปออกกำลังกายหนักๆ ต้องปรึกษาหมอประจำตัวก่อน กลุ่มนี้บางครั้งหมอจะแนะนำให้ทำกราฟไฟฟ้า หรือตรวจพิเศษทางหัวใจ เช่น วิ่งสายพาน หรือทำอัลตราซาวนด์หัวใจก่อน พอผ่านขั้นตอนดังกล่าวก็เซฟและปลอดภัยพอที่จะเข้าร่วมการแข่งขันดังกล่าว ภายใต้การการดูแลของคุณหมอที่ดูแลโรคประจำตัวของคุณมาเป็นอย่างดี

กลุ่มที่ 2 แม้จะไม่มีโรคประจำตัวรุนแรง ถ้าอยู่ในวัยที่เกิด 35 ปีมาแล้ว แล้วท่านจะออกกำลังกายที่ดูหนักมากๆ ยังไงก็ควรจะไปเทสต์ตัวเองก่อน ซึ่งหลังจากเทสต์ตัวเอง เช่น ปรึกษาคุณหมอประจำตัว หรือถ้ายังไม่มีก็ไปไปหาคุณหมอในโรงพยาบาลหนึ่งที่ท่านไว้วางใจ ตรวจขั้นต้นทางหัวใจ สกรีนนิ่ง เมื่อผ่าน น้อยมากที่จะเกิดปัญหา จะเกิดโอกาสน้อยมากที่จะเกิดปัญหาช็อกจากโรคหัวใจตีบเฉียบพลัน หรือช็อกหัวใจวายเฉียบพลัน

ถ้าออกกำลังกายประจำสม่ำเสมออยู่แล้ว และออกกำลังกายที่โซนนิ่งของหัวใจเป็นแบบแอโรบิก ก็คือตั้งด้วย 220 ลบด้วยอายุ แล้วก็คูณ 85% จะได้จังหวะที่ชีพจรที่มันไม่เร็วเกิน ซึ่งแบบนั้นโอกาสน้อยที่มันจะเกิดภาวะเฉียบพลันจากโรคหัวใจ

อันที่ 2 ก็คือค่อยๆ เริ่มจากการออกกำลังกายช้าๆ ถ้ายังไม่เคยวิ่งเลย ก็เริ่มในการเดินเร็วๆ ก่อน จนสุดท้ายค่อยวิ่งได้ แล้วก็การที่จะไปออกกำลังกาย หรือการแข่งขันนั้น ยังไงก็ตาม ถ้าสมรรถภาพร่างกายไม่ได้แข็งแรงขนาดนั้น ก็ปรึกษาหมอเพื่อเทสต์ให้ก่อน

แต่ก็ย้ำอีกทีนะ ถ้าขึ้นเป็นเวตเทรนนิ่งไปตามลำดับ เหมือนเพื่อรักษาความแข็งแรงของร่างกาย และชีพจรไม่เกินเกณฑ์ตัวนั้น ออกกำลังกาย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ไม่เกิดอันตรายถ้าเป็นอย่างนั้น

หลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันเกิดจากใครก็ได้ เวลาไหนก็ได้ แต่ในกลุ่มที่ไปออกกำลังกายหนักๆ โอกาสเกิดสูงกว่าคนที่ไม่ได้ออกกำลังกายกลางๆ หรือเบาๆ ถ้าออกกำลังกายหนักๆ มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงในการออกกำลังกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีโรคประจำตัวพื้นฐาน และเมื่อท่านไม่เคยได้ฝึกซ้อมในการออกกำลังกายแบบนั้นมาก่อนเพิ่มความเสี่ยงแน่นอนครับ

นพ.ทวนทศพล สุวรรณจูฑะ
ต้องบอกเลยว่า ทั่วโลกตั้งแต่โควิด-19 เข้ามา มันทำให้การไปออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเราลดลง ใครก็ตามที่ยังไม่ได้เทสต์ตัวเองก่อน เพราะเราพักร่างกายมานาน จะไปออกกำลังกายหนัก แม้อายุน้อยก็ควรจะไปปรึกษาหมอประจำตัวเองก่อน หรือถ้าไม่แน่ใจก็ซ้อมมาให้ดีๆ ก่อน จนมั่นใจว่ากีฬาขนาดนี้ออกกำลังกายเป็นแบบไหน แต่เมื่อ 6 เดือนก่อน หรือ 1 ปีก่อน เราได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ณ ตอนนี้เราได้ ต้องดูว่าภาวะความฟิตของร่างกายเราพร้อมพอที่จะไปร่วมการแข่งขันหรือเปล่า

ข้อควรระวังคือ ถ้าเราใช้กระบวนการตรวจคัดกรองก่อนเข้าร่วมงานกีฬา ตัวท่านเอง และคุณหมอประจำตัวท่าน พบว่าตรวจผ่าน โอกาสเสี่ยงในการวิ่งแบบนั้นน้อยมากๆ

ถ้าเป็นคนที่ชอบวิ่งมาราธอนอยู่เรื่อยๆ เราพบว่าจริงๆ เมื่อเทียบกับเขาไม่ออกกำลังกายก็ถือว่าลดอัตราการเสี่ยงแบบได้กำไรอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเขาลดจากการวิ่งมาราธอนจนเป็นอาชีพลงมาเป็นการออกกำลังกายเพียงเพื่อสุขภาพ มีอัตราเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจน้อยกว่าการวิ่งมาราธอนจนเป็นอาชีพ

มีโอกาสพูดคุยกับสมาคมฟื้นฟูโรคหัวใจ ท่านก็ให้ข้อมูลว่ามีจำนวน 4-5 เคสต่อปี มีเป็นระยะอยู่แล้ว มีอย่างต่อเนื่อง แต่สถิติทั้งหมดเราก็พบว่ามักจะเกี่ยวข้องกับการวิ่งระยะไกลค่อนข้างเยอะ ประเทศไทยใน 2 ปีนี้การจัดวิ่งมาราธอนมากขึ้นตามลำดับ

การออกกำลังกายหนักๆ เกิดขึ้นกับการวิ่งเยอะกว่าการออกกำลังกายแบบอื่น และประเทศไทยในช่วงนี้ไมได้มีกิจกรรมการออกกำลังกายเป็นหมู่คณะ หรือว่าเป็นกลุ่มทีม มันโดนหยุดไปเลย เหลือการวิ่ง มันก็เลยมาพบเหตุการณ์ในการวิ่งมากขึ้น

ภาพรวมสถิติทั่วโลกยืนยันมาชัดเจนใน 2-3 ปีที่ผ่านมาว่า การออกกำลังกายหนักๆ เพิ่มอัตราเสี่ยงของหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลันแน่นอน เพิ่มแน่นอนแม้ว่าจะน้อย เมื่อเทียบกับคนที่ออกกำลังกายน้อยหรือปานกลาง ที่การรักษาสุขภาพตามลำดับนะ พวกนี้ลดอัตราการเสี่ยงของหัวใจ เช่น การวิ่งมาราธอน เพิ่มอัตราเสี่ยงการเกิดหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลันแน่นอน แต่น้อย

ถ้าตามสถิติทั่วโลกเขาอาจจะบอกว่า 1 คน ต่อ 100,000 นักวิ่ง ซึ่งก็น้อยมากในประเทศไทย อย่างปีที่แล้วที่เห็นข่าวเป็นระยะๆ ก็มีประมาณ 5 คน ตามที่เราได้ยินตามข่าว ก็คิดว่าไม่ได้เยอะนะตามจริงแล้ว แต่เผอิญว่าช่วงนี้เป็นเพราะว่า มันยังไม่มีใครไปออกกำลังกายอย่างอื่น แต่มาราธอนดันมาพร้อมกันเยอะ

ในช่วง social distancing ก็ทำให้คนไม่ได้ไปออกกำลังกายมากมายนัก และทำให้เมื่อจะต้องไปออกกำลังกาย ก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะทำให้คงความสามารถที่จะออกกำลังกายมันอาจจะลดลงมา

ถ้าไม่ได้ออกกำลังกายมาพักนึง อยากจะให้เทรนตัวเองก่อน ถ้าไม่แน่ใจไปปรึกษาคุณหมอว่าเราพร้อมจะไปหนักขนาดนั้นไหม แต่ภาพรวมก็ยังมองว่า คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำลดอัตราเสี่ยงจากโรคหัวใจแน่นอน ถ้าหากร่างกายคุณฟิตและพร้อมพอ”


คำแนะนำจากแพทย์กูรูสายวิ่ง

อีกหนึ่งคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิ่งโดยตรง ที่คลุกคลีอยู่ในวงการวิ่งมายาวนานถึง 4 ปี ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ งานฮาล์ฟมาราธอนบางแสน 21 ดร.นพ.เกษม ใช้คล่องกิจ ศัลยแพทย์ด้านกระดูกและข้อ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ได้ให้คำแนะนำถึงสายมาราธอนทุกท่าน



“เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดของนักวิ่งที่มาร่วมงานวิ่ง ที่มีการจัดงานถึง 3 ราย ก็เป็นเหตุที่ทำให้เกิดการกังวลแล้วก็ตื่นตัวของการจัดงานวิ่ง

ปกติสาเหตุใหญ่ๆ ที่นักวิ่งเหล่านี้เสียชีวิตกะทันหันจะมาจาก 2 สาเหตุหลักๆ ก็คือเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาของระบบหัวใจหลอดเลือดล้มเหลวเฉียบพลัน

โดยประเด็นย่อยของปัญหาเส้นเลือดเหล่านี้ที่มีปัญหา จริงๆ แล้วก่อนที่เขาจะมาเข้าร่วมการวิ่งเขาเป็นคนปกติดี เราจะไม่ทราบเลยว่าเขามีสิ่งเหล่านี้ซ่อนอยู่ ฉะนั้นในสาเหตุแรกที่เราพบกันในการเสียชีวิตที่มีสาเหตุมาจากระบบหัวใจหลอดเลือดทำงานล้มเหลว

สาเหตุแรกก็คือคนเหล่านี้จะมีเส้นเลือดหัวใจที่ตีบอยู่บ้างแล้วไม่มาก พอไปออกกำลังกายที่หนักขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิ่งระดับไหนตาม คนเหล่านี้ที่บางครั้งอาจจะไม่ได้เตรียมตัวได้ดี ทำให้เขาต้องมีพลังงาน หรือใช้ออกซิเจนที่มากขึ้น

เมื่อเกิดความต้องการที่มากขึ้น แต่ว่าเส้นเลือดเริ่มตีบหรือพร่องแล้วก็ทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ หัวใจก็จะเสียการทำงาน และก็หัวใจวาย และก็เสียชีวิตได้

สาเหตุที่ 2 ที่นักวิ่งเหล่านี้ ซึ่งปกติท่านก็ดูสบายๆ ดี เส้นเลือดอาจไม่ตีบเหมือนเหตุผลแรก แต่อาจจะมีคาบไขมันสะสมในผนังหลอดเลือด ภาษาอังกฤษเขาเรียก Plaque คราบไขมันสะสมอยู่ที่ผนังหลอดเลือดเมื่อเราไปออกกำลังกายที่หนักหน่วงกว่าปกติ 

หัวใจที่สูบฉีดเลือดแรงขึ้น หรือความดันโลหิตที่มากขึ้นเหล่านี้ จะไปกระตุ้นให้คราบไขมันเหล่านี้หลุดออกมา พอมันหลุดออกมาเราต้องเข้าใจกระบวนการทางการแพทย์นิดนึงก็คือว่า มันก็จะเกิดก็คือว่าเหมือนเราแกะสะเก็ดแผลที่ผิวหนัง เมื่อสะเก็ดหล่านี้มันหลุด แผลเหล่านี้มันจะเกิดกระบวนการกระตุ้นพวกเกล็ดเลือดให้มาซ่อม หรือแปะแผล เกล็ดเลือดหรือก้อนเลือดที่มันมาเพิ่มขนาดขึ้นในหลอดเลือดของเราซึ่งก็ไม่ได้ใหญ่มาก หลอดเลือดแดง มันก็ทำให้มันเกิดการไหลเวียนของเลือดไปสู่ปลายทางของเส้นเลือดนั้นไม่ดีอีก

เลือดก็ไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง จนในขณะที่เราต้องการอากาศ หรืออาหารที่มาก มันก็เกิดการขาดเลือดเฉียบพลัน หรือบางครั้งหัวใจก็จะเต้นผิดจังหวะ ก็นำพาไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด อันนี้เป็นสาเหตุใหญ่สองประการที่อธิบายของเส้นเลือด หัวใจมีปัญหา แล้วก็ลงเอยด้วยการเสียชีวิต

ภัยเงียบคร่าชีวิตก็อาจจะทำให้วงการออกกำลังกาย หรือวงการสุขภาพได้รับผลกระทบอยู่เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ถ้าเราไม่ได้เตรียมตัว พวกนักวิ่งเหล่านี้เราก็อาจจะมีโอกาสประสบกับปัญหาได้ง่ายขึ้นในช่วงที่เราไปทำกิจกรรมที่ค่อนข้างที่จะหนักกับวิถีที่เราทำอยู่ เพราะฉะนั้น มาตรการหรือแนวทางที่เป็นหลักการเราต้องดำเนินการ ก็จะทำให้เวลาเราไปออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา มันเป็นคุณประโยชน์อย่างที่เรารู้กันมา

โดยปกติถึงท่านไม่ได้เป็นนักวิ่ง ถึงท่านเป็นประชาชนทั่วไป เราก็มักจะต้องรับรู้อยู่แล้วว่าเราจะต้องตรวจสุขภาพร่างกายตามรอบปกติ ไม่ว่าจะเป็นตามช่วงอายุ หรือตามเพศ กรณีมีภาวะโรคอื่นๆ เพิ่มเติม ยกตัวอย่างเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคไขมัน โรคหัวใจเป็นพื้นฐานอยู่ อาจจะเป็นน้อยๆ ก็ยิ่งจะต้องมีการตรวจสุขภาพเพิ่มเติมให้ครอบคลุมเรื่องของระบบการทำงานที่สำคัญ อาทิ หัวใจหลอดเลือด

ถ้าเกิดในมิติของการมาร่วมกิจกรรมงานวิ่ง หรือการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย เราต้องพูดถึงหลักพื้นฐานที่บางทีเราไม่ค่อยได้พูดกัน ตัวผู้ออกกำลังกาย หรือนักวิ่งเหล่านี้ต้องมีการฝึกซ้อมร่างกายให้เหมาะกับการที่จะไปร่วมวิ่งในงานที่ท่านได้ไปสมัครให้เหมาะสม เช่น จะไปวิ่ง 10 กิโลเมตร หรือ 21 กิโลเมตร หรือฟูลมาราธอน 42 กิโลเมตร อันนี้ท่านต้องการซ้อมที่เหมาะสม ไม่ใช่อยู่ดีๆ เอารองเท้าลงไปร่วมงานวิ่งเลย ไม่ได้

นอกจากนั้นเรื่องของการพักผ่อนที่เพียงพอ ก่อนวันที่จะไปร่วมวิ่ง ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีการพูดถึงในทางวิชาการ บางครั้งนักวิ่งเหล่านี้เดินทางมาจากต่างที่หรือว่าในช่วงเวลาของการจัดงานวิ่งค่อนข้างจะเป็นช่วงเวลาเช้ามืดมากๆ วิถีการนอนหรือพักผ่อนของนักวิ่ง บางทีก็มีปัญหาเหมือนกัน มันก็จะเป็นตัวไปกระตุ้นให้สภาพร่างกายที่อาจจะเปราะบางอยู่บางส่วนกำเริบมากขึ้น

กรณีถ้ามีโรคประจำตัวอยู่บ้าง กรณีจะไปร่วมงานวิ่งต่างๆ หรือการเล่นกีฬาท่านควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวของท่านที่ดูแลเรื่องนั้น จะไหวไหม ต้องตรวจอะไรเพิ่มเม หรือต้องประเมินสมรรถภาพอะไรอีกครั้งไหม

นักกีฬาวิ่งบางท่านมีการต้องรับประทานยา หรือฉีดยาบางอย่าง เช่น คนที่เป็นกลุ่มเบาหวานที่ต้องใช้ยาฉีดอินซูลิน เขาจะได้เข้าใจวิธีการบริหารยา บางคนไม่รับประทานยาโรคประจำตัวมาในเช้าวันวิ่ง ก็อาจจะทำให้การควบคุมโรคประจำตัวผิดปกติได้

หรือบางทีนักวิ่งเหล่านี้อาจจะไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการวางแผนการรับประทานอาหาร ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่บางทีเราไม่ได้พูดกันมากนัก เรามองเรื่องสุขภาพเรื่องทางการแพทย์ หรือเรื่องยา จริงๆ เรื่องอาหาร เพราะถ้าเราไม่สามารถบริโภคอาหารให้สามารถมีพลังงานเพียงพอเพื่อให้ครอบคลุมระยะทางวิ่งที่ท่านวิ่ง ท่านก็อาจจะเพลี่ยงพล้ำได้

ส่วนตัวผมก็จะเจออยู่บ้าง แต่ก็เป็นอุบัติการณ์ที่น้อย เช่น 1/2 : 100,000 คน ในประสบการณ์ที่ผ่านมาเมื่อปีที่แล้วที่เราดูแลงานวิ่งบางแสน 21 มีนักวิ่งประมาณ 13,000 คน ก็มีเหตุการณ์ที่จะต้องมีการทำการช่วยฟื้นคืนชีพ แล้วก็นำไปสู่การต้องไปสวนหัวใจ ก็คือเป็นโรคหัวใจเพียงหนึ่งราย ก็เท่ากับว่า 10,000 คน มี 1 รายที่เราเจอในสนามของเรา ก็ถือว่าน้อยกว่าในอุบัติการณ์ที่มีการกล่าวไว้ในทางวิชาการ

สำหรับนักวิ่งที่จะเข้าร่วมงานวิ่งออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาต่างๆ ก็ให้ท่านมั่นใจว่าจริงๆ แล้วการเล่นกีฬา และการออกกำลังกายยังคงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เป็นยาวิเศษที่จะทำให้ท่านมีสุขภาพที่ดี แต้องมีมาตรการป้องกันที่ดี การตรวจสุขภาพตามรอบเวลาที่เหมาะสม หรือถ้ามีโรคประจำตัวท่านก็ควรปรึกษาแพทย์ของท่านโดยเฉพาะ หรือวางแผนเรื่องของการรับประทานยาในการฝึกซ้อมที่เหมาะสม

ส่วนมาตรการเชิงรับก็เป็นเรื่องของผู้จัดงานแข่งขันต่างๆ ที่ต้องมีการจัดเตรียมเรื่องของทีมบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์เครื่องมือ แผนการที่จะรองรับปัญหาตั้งแต่เบาไปจนประทั่งหนัก เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เราไม่คาดคิด ก็จะทำให้ผู้ออกกำลังกายหรือนักวิ่งมีความมั่นใจที่จะร่วมงานวิ่งต่างๆ ที่จัดขึ้นมาก”



ข่าว : MGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก“Chalatip Intaramarut”


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น