มหกรรมจกตา ได้ของไม่ตรงปก “โปรโมชัน 11.11” ก่อนกดซื้อต้องอ่านดีๆ บทเรียนซื้อของออนไลน์ จุดอ่อนที่คนหลงเชื่อ นักสิทธิคุ้มครองผู้บริโภคชี้คนร้องเรียนเพียบ ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทัน ราคาไม่ได้การันตีคุณภาพสินค้า พร้อมแนะวิธีซื้อของออนไลน์แบบไม่ต้องตกเป็นเหยื่อ
บทเรียน “นักชอปติดโปรฯ”
โปรโมชัน 11.11 เรียกได้ว่าเป็นโปรโมชันที่ถูกอกถูกใจผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เป็นโปรฯ ที่ใครหลายคนตั้งหน้าตั้งตารอคอย เพราะร้านค้าต่างก็ขนขบวนสินค้าลดราคากันมาเพียบ ลดชนิดที่ว่าอาจจะหาราคานี้ที่ไหนไม่ได้อีกแล้วก็เป็นได้
จะเห็นได้ว่าเดี๋ยวนี้แทบทุกร้านค้าออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นแอปชื่อดังอย่าง Lazada, Shopee หรือแอปชื่อดังอีกมากมาย ไม่ว่าจะตามเว็บไซต์ หรือตามเพจต่างๆ แม้แต่กระทั่งร้านค้าตามห้างต่างๆ ก็ทำโปรโมชันลดราคาในแต่ละเดือนออกมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ
แต่การซื้อของออนไลน์ก็ต้องดูดีๆ ด้วยว่ารายละเอียดของสินค้านั้นตรงกับสิ่งที่เราต้องการสั่งหรือไม่ ไม่อย่างนั้นอาจจะกลายการจกตา ได้ของไม่ตกปก เช่นเดียวหลายต่อหลายคน
ล่าสุด มีหนุ่มรายหนึ่งได้โพสต์เฟซบุ๊ก “โกศล แสนขันแก้ว” เล่าเหตุการณ์สุดเซ็ง เมื่อสั่งซื้อเต็นท์ลายดอกไม้ในแอปพลิเคชันขายของออนไลน์เจ้าดังในราคา 390-520 บาท ด้วยราคาที่ลดจนเกินห้ามใจแค่ไม่กี่ร้อย จากที่ปกติเต็นท์จะราคาหลายพัน จึงรีบกดใส่ตะกร้าจ่ายเงินทันที
แต่เมื่อได้รับสินค้าปรากฏว่ามีขนาดที่แตกต่างไปจากที่คิด ได้เต็นท์คล้ายที่นอนน้องหมาเพราะเมื่อลองเข้าไปนอนก็เข้าไปได้เพียงแค่ส่วนหัวเท่านั้น
จึงอยากจะให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้เป็นอุทาหรณ์แก่นักชอปออนไลน์ พร้อมเตือนให้คนที่ชอบซื้อของออนไลน์ก่อนตัดสินใจซื้อ ควรตรวจสอบสินค้าให้ถี่ถ้วน อ่านรายละเอียดสินค้าให้ดีก่อนกดสั่ง เพราะร้านขายก็ลงรายละเอียดครบถ้วนแล้ว
ไม่เพียงเท่านี้ ก่อนหน้านี้ก็มีสาวนักชอปรายหนึ่งโพสต์รูปลงเฟซบุ๊ก สั่งหม้อหุงข้าวราคา 64 บาทแอปขายสินค้าออนไลน์ชื่อดัง ในช่วงโปรโมชัน 10.10 เห็นขึ้นว่าลดราคาก็สั่งมา หลังสินค้าถูกจัดส่งมาถึงมือปรากฏว่าสินค้าที่ได้รับเป็นโมเดลหม้อหุงข้าวขนาดเล็ก มีลักษณะคล้ายพวงกุญแจ
สุดท้ายต้องหัวเราะไม่ออกเมื่อสินค้ามาส่ง ไม่ใช่สินค้าตามที่คิด ซึ่งก็ยอมรับว่า ส่วนหนึ่งก็เป็นความผิดพลาดของตนเองด้วยที่ไม่ได้อ่านรายละเอียดของสินค้าให้ดี
เพื่อสะท้อนถึงบทเรียนในการซื้อของออนไลน์ นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live ในฐานะนักคุ้มครองผู้บริโภคถึงปรากฏการณ์การจัดลดราคาสินค้า จัดโปรฯ ต่างๆ รวมไปถึงสะท้อนถึงบทเรียนในการซื้อของออนไลน์ในยุคโซเชียลที่กำลังมาแรง
หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มองว่าบางทีอาจจะเกิดจากความไม่รอบคอบในการเลือกซื้อสินค้า บางทีการที่มีคนออกมารีวิวกันเยอะก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีเสมอไป และต้องดูด้วยว่าสินค้าแต่ละชิ้นนั้นเหมาะกับตัวเองมากแค่ไหน ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ
“เราไม่แน่ใจว่ามันอาจจะเกิดจากความไม่รอบคอบหรือเปล่า เพราะบางทีก็มองแต่เรื่องรีวิว อันนี้สวยสำหรับฉันถูกใจ แต่คนขายอาจจะใส่สวยกว่า เราอาจจะใส่ไม่สวยก็ได้ เอาง่ายๆ ว่าก็ต้องประมาณ ประเมินความเสี่ยง อันนี้เราพูดถึงความเสี่ยงดีกว่า เรื่องของความเหมาะสมคงเป็นเรื่องดุลพินิจของแต่ละคน เพียงแต่ว่าความเสี่ยงของการซื้อขายของสังคมโซเชียลมันค่อนข้างเสี่ยงเยอะ เพราะทุกอย่างมันปลอมได้ง่าย”
สำหรับปรากฏการณ์โปรโมชันต่างๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นตามร้านค้าออนไลน์ หรือตามห้างต่างๆ ที่ทยอยจัดกันเรื่อยๆ ในฐานนะนักคุ้มครองผู้บริโภคก็มองว่า เป็นธุรกิจที่ต้องทำ แต่ผู้บริโภคเองต้องมีความรอบคอบในการเลือกซื้อเช่นกัน
“มันก็เป็นธุรกิจเนอะ เพียงแต่ว่าก็อย่าพยายามซื้อในสิ่งที่เสี่ยง การซื้อผ่าน platform อย่างน้อย platform ก็ต้องตรวจสอบว่าร้านค้าที่จะเข้ามาขายอยู่ใน platform ของตัวเองเป็นร้านค้าที่จริงยังไง อย่างน้อยก็ได้คัดกรอง
และอีกอย่างหนึ่ง การจ่ายเงินระบบแบบนี้เขาก็จะ Hold เงินเราไว้ก่อน ถ้าเราไม่ได้รับสินค้า หรือไม่ได้รับการตอบรับจากผู้ขาย เรามีสิทธิที่จะขอให้เจ้าของ platform นั้นคืนเงินให้เรา แต่ถ้าคุณไปซื้อ inbox แล้วโอนเงินโดยตรงยากมากๆ เพราะความเสียหายคือเงินในกระเป๋าเราหายไป
ส่วนสินค้าที่ได้มาไม่ตรงปก กติกาก็คือเปลี่ยนคืนมีไหม ถ้าเปลี่ยนคืนมีก็ซื้อคนที่เปลี่ยนคืนได้ ถ้าเขาบอกว่าสินค้าซื้อแล้วไม่รับคืน แสดงว่าคุณก็ไม่มีโอกาสสัมผัสได้จับ ในตรงนั้นคุณยินยอมได้ไหม ถ้าคุณยินยอมก็ถือว่าเขาบอก แล้วคุณตกลง อันนี้ถือเป็นเรื่องของการตกลงกัน เพียงแต่ว่าคุณจะยอมเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน
ราคาก็ไม่ใช่เรื่องการันตีว่าสินค้านั้นจะดีหรือไม่ดี แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือว่า เมื่อมันไม่ดีแล้วมีคนที่จะมารับผิดชอบเรื่องนี้ อันนี้คือสิ่งที่เราควรจะไตร่ตรอง และควรจะหาข้อมูลก่อนซื้อ เพราะว่าตอนนี้โลกโซเชียล หรือสังคมออนไลน์ สินค้าออนไลน์มันเป็นเรื่องของการแข่งขันที่เยอะมาก
ผู้บริโภคมีสิทธิกำผลประกอบการธุรกิจของผู้กอบการอีกทีหนึ่ง ว่าง่ายๆ ถ้าเขาไม่ดีเราไม่สนับสนุนเขาก็จะหายไปเอง แต่ถ้าเขาดีเราสนับสนุนเขาก็จะอยู่ยงคงกระพัน แล้วก็สามารถสร้างสินค้าหรือคุณภาพที่ดีต่อการให้บริการได้ เราคิดว่าเราควรสนับสนุนแบบนี้มากกว่า
แล้วตอนนี้สัญลักษณ์ หรือโลโก้ขององค์กรที่เขาจดทะเบียน หรือเขาเกี่ยวข้องมันควรจะมีเป็นที่ตั้ง หรือเป็นข้อสังเกต แล้วเราก็สามารถที่จะตัดสินใจได้ว่าเราจะเลือกเสี่ยง หรือเลือกที่มันมีคุณภาพแล้วก็มีการการันตีมาแล้วว่า เราสามารถที่จะหาตัวตนของผู้ประกอบธุรกิจได้ เราสามารถที่จะได้สินค้าที่มีคุณภาพได้ ส่วนที่มันเกิดปัญหาแล้ว แล้วเราร้องเรียน ก็จะมีคนดูแลเราได้”
“ของไม่ตรงปก” ผู้บริโภคออนไลน์ต้องรู้เท่าทัน!!
“การซื้อสินค้าออนไลน์มันอยู่ในมือเรา เพราะฉะนั้นสิ่งที่มันจะทำได้ก็คือการระมัดระวัง การศึกษาข้อมูล การดูเงื่อนไขการคืนสินค้าว่าผู้ประกอบการมีลักษณะการคืนสินค้าอย่างไร
กระทรวงพาณิชย์ก็กำหนดให้ผู้ที่จะทำธุรกิจออนไลน์ต้องไปจดทะเบียนถ้าคุณจะบอกว่าคุณจะทำการซื้อขาย ไม่ว่าจะขายผ่านเฟซบุ๊ก หรือซื้อขายผ่านอะไรก็แล้วแต่ ต้องไปจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ใช่นิติบุคคลนะคะ เป็นบุคคลเนี่ยแหละค่ะ เขาสามารถให้จดทะเบียนได้
ส่วนการซื้อขายออนไลน์ก็จะมีเรื่องของการกำหนดราคาการขาย ซึ่งกรมการค้าภายในออกประกาศคำสั่งเลยว่าคนที่จะขายสินค้าออนไลน์คุณห้ามบอกเขาว่า ถ้าคุณจะรู้ราคาคุณต้อง inbox เข้ามา อันนี้มีความผิด แต่คุณจะต้องแจ้งราคาเขาไว้เลยในเพจ
เรื่องต่างๆ เหล่านี้ผู้บริโภคต้องเท่าทัน เพราะเวลาบางทีที่คุณซื้อสินค้า บางทีไปมองเรื่องราคาอย่างเดียวไม่ได้ ไปมองเรื่องข้อมูลอย่างเดียวไม่ได้ แต่มันต้องดูด้วยว่าคุณมีความเสี่ยงหรือเปล่า เพราะปัจจุบันเราพบปัญหาเยอะมาก”
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงการเข้ามาร้องเรียนของผู้บริโภค หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคก็ให้คำตอบว่า มีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินค้าไม่ตรงปก ได้รับสินค้าไม่ครบ แม้กระทั่งโดนโกงไม่ได้รับสินค้าเลยก็มี
“เยอะค่ะ ประมาณว่าซื้อของไม่ตรงปก แล้วก็เรื่องของการได้รับสินค้าไม่ครบ หรือว่าสั่งอีกอย่างได้อีกอย่างหนึ่ง แล้วก็ได้มาก็ชำรุดบกพร่อง นี่ก็จะมีเคสที่ร้องเรียนเข้ามา หรือไม่ได้สินค้าเลย เงินก็สูญไป ล่าสุดที่เราช่วยเหลือก็คือคดีของการซื้อที่นอนผ่านเฟซบุ๊ก”
อย่างเคสที่เป็นข่าวที่ผ่านมา ถือเป็นบทเรียนในการเลือกซื้อของออนไลน์ บางครั้งในหน้าเว็บก็ระบุชัดเจนว่าสินค้าเป็นประเภทไหน แต่บางครั้งผู้บริโภคเองก็อาจจะไม่ได้อ่านอย่างถี่ถ้วน พอเห็นราคาก็กระโจนเข้าซื้อทันที
“วิธีการซื้อสินค้าออนไลน์ก็คือ ซื้อผ่าน platform ที่น่าเชื่อถือ อย่างเช่น เว็บไซต์พวก Lazada, Shopee, JD Central เพราะพวกนี้มันจะมีเงื่อนไขการคืนสินค้าที่ชัดเจน มีการรับประกันสินค้า ง่ายๆ ว่าถ้าตัวเว็บไซต์หรือ platform เองเขาก็รับผิดชอบอยู่แล้ว
อีกอย่างมันจะมีเรื่องเงื่อนไขสินค้าที่ไม่ได้ตามรูป คือเวลาที่เราจะได้รับสินค้า เขาก็จะมีการให้ยืนว่าเราได้รับสินค้าที่ถูกต้องไหม ตรงกันไหม ถ้าไม่ได้คุณก็มีสิทธิที่จะคืนได้
อย่างบางเว็บเขาก็จะแจ้งไว้ในเว็บเลยว่า ให้คืนภายในกี่วัน เงื่อนไขแบบนี้ก่อนที่คุณจะซื้อสินค้าต่างๆ คุณต้องเข้าไปศึกษา หรือเข้าไปดูข้อมูลพวกนั้นก่อน แต่สิ่งที่ผู้บริโภคซื้อส่วนใหญ่ เท่าที่ดู ที่เกิดปัญหา แล้วค่อนข้างจะแก้ยากก็คือ การซื้อผ่านโซเชียลมีเดีย คือพวก Facebook, Line, Instagram พวกนี้หาตัวตนคนขายลำบาก เพราะบางทีเป็น Facebook ปลอม เป็น Line ปลอม พวกนี้สร้างกันง่ายมาก
พอเพจนี้ได้เงินไปพอสมควรแล้วก็ปิดเพจ แล้วก็ไปเปิดเพจเฟซบุ๊กใหม่ แล้วก็วิธีการแก้ปัญหา ส่วนใหญ่จะมีช่องทางการโอนเงินที่น้อย ก็คือคุณโอนเงินตรงเข้าบัญชีผู้ประกอบธุรกิจเลย
แต่ในขณะที่คุณซื้อผ่าน platform ต่างๆ เหล่านี้ เวลาที่คุณโอนเงินเขาจะมีหลายช่องทาง เก็บเงินปลายทาง ผ่านบัตรเดบิต ผ่านบัตรเครดิต หรือ Mobile Banking, Internet Banking พวกนี้มันจะมีระบบเงินมันจะไปอยู่ที่เจ้าของ platform ก่อน ถ้ากรณีที่คุณมีปัญหาเรื่องสินค้าหรือบริการ เขาจะบอกว่าให้คุณติดต่อผู้ขาย ถ้าผู้ขายไม่ดำเนินการ คุณติดต่อมาที่ platform เลย เพราะพวกนี้เขาจะคืนเงินให้คุณเลย แล้วเดี๋ยวเขาไปจัดการกับผู้ขายเอง
แต่ถ้าคุณไปซื้อในเฟซบุุ๊กบอกว่าโอนเงินเข้าบัญชีนั้น เข้าบัญชีนี้ หรือ inbox มาคุยกัน อันนี้มีความเสี่ยง ผู้บริโภคส่วนใหญ่เขาจะซื้อ เขาเห็นว่าถูก สวย แล้วพวกนี้จะรีวิวเก่ง ผู้บริโภคก็จะเชื่อข้อมูลการรีวิวใช่ไหม ใส่แล้วสวย ใส่แล้วโอเค พอได้มาก็ไม่ตรงปก
ตรงนี้พอมันเป็นโซเชียลมีเดีย เวลาที่มันเกิดปัญหา เวลาที่คุณโอนเงิน มันโอนเงินตรงมาที่ผู้ประกอบการเลย กว่าคุณจะรู้ว่าเขาโกงคุณก็ผ่านไปหลายวันแล้ว เขากดเงินคุณออกไปเรียบร้อยแล้วค่ะ การที่คุณจะทำได้ คุณต้องไปแจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าของบัญชี ซึ่งบางทีเจ้าของบัญชีก็ไม่ใช่คนที่เปิดเพจเฟซบุ๊ก แต่อาจจะรับจ้างเปิด
หรือกรณีที่บางทีโอนไปแล้ว ไปแจ้งความเรียบร้อยแล้ว ตำรวจบอกว่าเดี๋ยวดำเนินการให้แจ้งไปยังธนาคาร เพื่ออายัดเงินตรงนั้น ซึ่งบางทีมันไม่ทัน เพราะพวกนี้ได้เงินปุ๊บมันก็กดปั๊บ อันนี้ก็คงเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคต้องพึงระวังในการซื้อสินค้าออนไลน์”
สิ่งสำคัญในการเลือกซื้อของออนไลน์ ให้ซื้อตามเว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่าตามเพจเฟซบุ๊ก และสำคัญคือร้านค้าต่างๆ เหล่านั้นต้องมีการการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายในการประกอบธุรกิจ
“กระบวนการในการแก้ปัญหาก็คือ การที่คุณจะไปแจ้งความ กว่าจะปิดเพจได้เพจหนึ่งมันยาก แต่เขาเปิดเพจเขาก็แค่ปิดเพจแล้วเขาก็เปิดอีก ปิดเพจหนีคุณไปเขาได้เงินในระดับหนึ่งแล้ว เขาไปเปิดเฟซบุ๊กใหม่ ซึ่งคุณก็ไม่ทราบเลยว่าเฟซบุ๊กนั้นเป็นของเขาหรือเปล่า เป็นของคนโกงหรือเปล่า เป็นของมิจฉาชีพหรือเปล่า เพราะบางทีมันไม่ใช่ตัวตน
แต่ถ้าเป็นระบบเว็บไซต์ที่มันมีการจดทะเบียน ตรงนี้เรามีความน่าเชื่อถือ มีหน่วยงานกำกับและดูแลที่เขาพยายามผลักดันให้ทุกธุรกิจเข้าไปจดทะเบียน ซึ่งอันนี้คุณควรสนับสนุนรายที่เขาทำถูกต้อง เพื่อเป็นการสร้างสังคมที่ดีให้แก่ตัวเองด้วย และให้แก่ลูกหลานในอนาคต
อย่างเช่น คุณสนับสนุนร้านค้าที่มีรายละเอียดของการจดทะเบียนปรากฏหน้าเว็บไซต์ของตัวเอง หรือจะเป็นหน้าเฟซบุ๊กก็ได้นะไม่เป็นไร แต่คุณต้องสามารถยืนยันตัวตนได้ว่าคุณเป็นใคร คุณขายอะไร ขึ้นอยู่ที่ไหน ขายที่ไหน ตั้งอยู่ที่ไหน มีตัวตนของคนที่ประกอบธุรกิจชัดเจน เราควรสนับสนุนร้านค้าที่มีคุณธรรมแบบนี้ หรือว่าราคาที่คุณจะขายคุณบอกเลยว่าคุณขายเท่านั้นเท่านี้ อันนี้เป็นกฎหมายที่กำหนดให้มีอยู่แล้ว
ดังนั้น สังคมที่ดีมันจะต้องประกอบไปด้วยเรา ในฐานะคนที่อยู่ในสังคมต้องทำให้มันดีขึ้นด้วยการสนับสนุนคนที่เขาตรงไปตรงมา”
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “โกศล แสนขันแก้ว”
ข่าว : MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **