ทุกอย่างเริ่มจากศูนย์! กว่าจะมีวันนี้ต้องผ่านคำดูถูกมานักต่อนัก “แชมเปญ เอ็กซ์” อดีตซุป'ตาร์เซ็กซี่ หันหน้าสู่ชีวิตชาวไร่ คว้าจอบ-ขุดดิน-ปลูกต้นไม้ ผันตัวเป็นเกษตรกรมาแล้วกว่า 10 ปี ชีวิตเปลี่ยนไปเป็นคนละคน! จากใจร้อน-ใช้ชีวิตติดหรู-ห่วงสบาย ล่าสุด หลงรักความพอดีที่ไร่นา ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เน้นทำทานกับคนมากกว่าสร้างวัด!
“ชีวิตเปลี่ยน” เมื่อเป็นสาวชาวไร่
“คนชอบคิดว่าเมื่ออายุมากขึ้นก็อยากจะปลีกวิเวก ไปอยู่เงียบๆ อยู่ป่า อยู่ดอย แต่เดี๋ยวนี้เด็กวัยรุ่นก็อยากหันไปทางธรรมชาติกันแล้ว เพราะว่าในเมืองมันไม่มีอะไร คนก็เยอะ มลพิษก็เยอะ แถมรถก็ติด”
กว่า 10 ปีได้แล้วที่อดีตนางแบบเซ็กซี่ชื่อดัง “จันทร์เพ็ญ อินทรจักร” หรือ “แชมเปญ เอ็กซ์” หันหลังให้กับความศิวิไลซ์ และเดินหน้าสู่ธรรมชาติบนพื้นที่สีเขียว
ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากทางครอบครัวสามี กว่า 200 ไร่ ณ ไร่จันทร์วันเพ็ญ จ.สระแก้ว ล่าสุดเธอเปิดใจอัปเดตชีวิตหลังคว้าจอบ-จับเสียมเป็นเกษตรกรเต็มตัวว่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง
“มันต่างกันแน่นอนในเมืองก็มีแต่ตึก ร้อนๆ อากาศก็ไม่ค่อยดี และคนก็มากมาย แต่ถ้าเราไปที่ไร่เราได้อยู่กับธรรมชาติ ได้อากาศที่ดี สิ่งที่เราปลูกแล้วก็ได้ทานเอง เช่น ปลูกข้าวก็ได้ทานข้าว ในน้ำก็มีปลา มีกุ้ง มีหอย ทุกอย่างสมบูรณ์
อย่างเวลาเรากลับมาที่นี่ พอเห็นป้ายกรุงเทพฯ จะดีใจว่าจะถึงบ้าน แต่เราก็หนักใจว่าเมื่อไหร่มันจะถึง แล้วจะถึงบ้านกี่โมง แต่ที่นั่นมันสุขสบาย เดี๋ยวนี้น้อยมากที่จะไปเดินห้าง เวลาไปซื้อของเข้าบ้านก็จะซื้อทีละเยอะๆ แต่ที่กรุงเทพฯ เดินทางทีก็กว่าจะไปมา
เราเบื่อกรุงเทพฯ ก็จริง แต่ความมีเสน่ห์ของกรุงเทพฯ มันก็มี อย่างเรามีเพื่อน มีร้านอาหาร มีอะไรหลายๆ อย่างที่เรากินแล้วชอบ มันคนละอย่าง แต่ถ้าอยู่ที่นั่นมันได้คุณภาพชีวิตที่ดี ได้อยู่กับธรรมชาติ ได้อยู่กับอะไรสีเขียวๆ การเดินทางมันก็ง่าย”
ย้อนกลับไปก่อนที่จะหันมาจับงานด้านเกษตร เธอเล่าว่าชีวิตช่วงนั้นต้องดูแลแม่ที่ป่วยหนัก แต่ภายหลังที่แม่เสียชีวิตลง เธอก็ได้ออกท่องเที่ยวและใช้ชีวิตกว่า 4 ปีแบบไม่มีจุดหมาย จากนั้นมาทราบว่าที่บ้านสามีมอบมรดกที่ดินให้ ซึ่งจากตรงนี้เองที่ทำให้ชีวิตเธอพลิกผันไปตลอด
“ช่วงนั้นเราดูแลคุณแม่ที่ป่วย จะเป็นคนดูแลพ่อแม่ตั้งแต่พ่อเสียจนแม่เสีย ตอนนี้หมดหน้าที่แล้ว แต่ตอนนั้นก็คิดว่าอยู่กินไปวันๆ ไม่รู้พรุ่งนี้หรือวันไหนจะอยู่หรือไป เราไม่รู้ คิดอยู่เสมอว่าเรารู้วันเกิดแต่ไม่รู้วันตาย เราก็อยากทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ เช่น มีเวลาไปเที่ยว ไปทำบุญเป็นเวลา 4 ปี
จากนั้นพ่อแม่สามียกที่ดินให้ ตอนแรกก็ไม่ได้ดีใจนะ ตกใจมากกว่า คิดว่าต้องเหนื่อยอีกแล้วเหรอจะทำยังไง มันก็เป็นการเริ่มต้นจากศูนย์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง
คุยกับแฟนว่าถ้าเราจะเริ่มต้นมันต้องเหนื่อยนะ พี่จะไหวไหม เราไหวนะ แต่พี่ก็ต้องสู้ คนจะคิดว่าเราถ่ายละคร เดินแบบเป็นงานสบาย แต่จริงๆ ทุกงานมันก็หนักทั้งนั้นแหละ แต่หนักกันคนละอย่าง
ที่มีทุกวันนี้ เราจะไม่บอกว่าเป็นเพราะใคร เราคุยกันแล้วว่าเราจะทำอะไร ถ้าทำเราต้องช่วยกัน แฟนเราเขาเป็นคนมุ่งมั่น เป็นคนทำอะไรด้วยตัวเองเหมือนเรา แต่อาจจะต่างคน ต่างวาระ ต่างเวลากัน
คิดว่าโชคดีนะเพราะได้สามีที่ดี หลายคนเขาก็อิจฉา แต่ด้วยความที่บุญกุศลที่ทำมา เราถึงได้ครอบครัวที่ดี เราเชื่อแบบนั้นนะ เราดูแลพ่อแม่ บุพการี ช่วยเหลือโอบอ้อมอารีกับคนรอบข้าง มันเป็นบุญกุศลอยู่แล้ว ไม่คิดร้ายใคร ไม่รวมสมัยเด็กๆ นะ (หัวเราะ) การที่ไม่หวังอะไรตอบแทน มันก็จะเป็นสิ่งดีๆ กลับมาหาเรา”
อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือ การใส่ใจสุขภาพ แม้เธอจะบอกว่าเป็นคนที่ดูแลเรื่องอาหารการกินมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่ก็ยอมรับว่าหลังจากหันมาลงแรงทำสวน -ทำไร่ด้วยตัวเอง ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เธออยากทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อตัวเองมากขึ้น
“มันก็เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย เราต้องรู้จักตัวเองว่าทำยังไงถึงจะอยู่ในโลกใบนี้ได้ โลกวันนี้ปัญหาคือการเจ็บไข้ได้ป่วย และอาหารการกินที่เรากินไป เราทำกับข้าวทุกมื้อ ส่วนใหญ่ซื้อมาทำเอง เพราะไม่มีผัก ที่ปลูกไว้มันก็เป็นฤดูของมันไป ซื้อมาทำกินแล้วก็แจกจ่าย
จริงๆ เป็นคนดูแลสุขภาพมานานแล้ว ต้องเลือกกิน พยายามกินของดี จะชอบอาหารพื้นบ้าน ชอบอาหารรสจัด ฉะนั้น จะสรรหาสิ่งที่ชอบมาทาน ส่วนใหญ่ทำทานเองทุกมื้อจะไม่เข้าร้านสะดวกซื้อ เพราะเราเป็นคนทำงานก็อยากกินอะไรที่มีคุณภาพ และเป็นสิ่งที่เราชอบ เพราะต้องใช้แรงงานขุดดินปลูกต้นไม้”
อย่างที่เห็นว่าตอนนี้เทรนด์การทำเกษตรเกิดขึ้นเยอะมาก ทั้งในกลุ่มคนหนุ่มสาวที่อยากสร้างอาชีพและมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ซึ่งเธอเองมองเรื่องนี้ว่าการที่คนหันมาสนใจด้านเกษตรไม่ใช่เพราะทำตามกระแส แต่เป็นไปได้ว่าคนรุ่นใหม่อยากหันหน้าเข้าหาธรรมชาติและความสงบสุขกันมากขึ้น
“ส่วนตัวไม่คิดว่าทำเกษตรเพราะกระแส ถ้าเด็กรุ่นใหม่อยากจะทำจริงๆ เรายินดีและให้กำลังใจเพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดแล้วว่าอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่ยืนยาว สามารถดูแลรักษาชีวิตเราให้ยืนยาวต่อไปได้
อย่างทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่ลำบาก เงินทองก็หายาก เสื้อผ้า ของฟุ่มเฟือย คนต้องรัดเข็มขัดเรื่องอาหารการกินต้องประหยัด ต้องกินให้มันถูกต้อง ไม่งั้นถ้ากินไปเรื่อย เราทำงานเท่าไหร่ก็จะจ่ายให้หมอหมด
ส่วนตัวไม่ได้คิดนะว่าเราเป็นไอดอล แต่หลายๆ คนยกให้เป็นไอดอล ก็รู้สึกขอบคุณมาก แต่สำหรับเราก็ทำของเราแบบนี้ ใครสนใจอยากจะแวะมาหา มาถามสิ่งที่เรารู้ก็จะบอก บางทีเราไปเรียนรู้มาแต่ไม่ได้ทำ มันก็เป็นความรู้ที่เก็บอยู่ในตัวเรา ก็อยากถ่ายทอดไปให้คนอื่นเขาทำตาม ได้แบ่งปันความรู้”
จาก “ป่ายูคาฯ” สู่ไร่เกษตร “พอเพียง”
“อย่างที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้เคยสอนไว้ให้ปลูกทุกอย่างในพื้นที่ที่เราสามารถทำได้ ปลูกไว้กินแล้วไม่ต้องเสียสตางค์ แม้บางอย่างที่เราไม่มีก็อาจต้องซื้อ แต่เราก็ไม่ต้องซื้อไปหมดทุกอย่าง ตอนนี้กำลังทำอยู่และใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง คือการปลูกพืชผสมผสาน”
บนที่ดินกว่า 200 ไร่ ถูกเติมเต็มไปด้วยยางพารา 100 ไร่ พื้นที่สำหรับทำนา 3.5 ไร่ ปลูกไผ่ 7 ไร่ รวมถึงมันสำปะหลัง 5 ไร่ และอื่นๆ แม้แรกเริ่มที่แห่งนี้จะเต็มไปด้วยตอของต้นยูคา แต่ภายหลังจากพัฒนาที่ดินจนลงปลูกสิ่งใหม่ได้ก็พลิกโฉมให้สวยงามจากหลังมือเป็นหน้ามือ
“ต้องบอกว่า2 ปีแรก เราต้องพยายามบริหารจัดการที่ดิน ด้วยการเอายูคาออก และปรับที่ปรับทาง ตอนแรกก็ปลูกไม่เป็นทั้งคู่เลย พอดีคุณลุงบอกปลูกยางพาราสิ ราคามันแพงมาก ราคาขึ้นทุกวันเลย มันง่ายจะตาย 3 ปีแรกดูแล หลังๆ ก็ไม่ต้องดูแล ลองฟังดูมันก็ง่าย และราคาขึ้นดีด้วย
จึงตัดสินใจว่าจะปลูกยางก็เลยถามคุณลุง ลุงบอกไม่ต้องกลัว เดี๋ยวช่วยสอน หาคนปลูกให้ ซึ่งราคายางมันขึ้นทุกวันก็จริง แต่ไม่มีใครมาปลูกให้เราเลย ในเมื่อไม่มีคนปลูกให้ คุณลุงก็บอกว่าไม่เป็นไร ถ้าไม่มีใครปลูก ก็ต้องปลูกเอง อย่างแฟนเราถ้าไม่ได้บินก็จะมาช่วยดูแลที่ไร่
จริงๆ แล้วไม่ว่าอาชีพอะไรก็แล้วแต่ ถ้าจะเริ่มต้นทำ ต้องใส่ใจ ต้องศึกษา ต้องเรียนรู้มัน และลองเข้าไปทำเอง ไม่ใช่เอะอะก็จ้างอย่างน้อยเราต้องรู้ให้ลึกซึ้ง
อย่างเริ่มปลูกยาง มันก็ลำบากนะ เวลาฝนตกแล้วน้ำขังต้นกล้าเกิน 6 ชั่วโมงมันจะตาย จะเกิดความเสียหาย ต้นไหนตายก็ต้องซ่อม ช่วงหน้าฝนและน้ำป่าทำให้พื้นที่แฉะ ยางก็จะตาย พอซ่อมยางที่ตายหลายรอบ มันก็ไม่มีประโยชน์ เสียสตางค์ เสียแรง เสียเวลา”
หลังการปลูกยางพาราเป็นไปด้วยความยากลำบาก ด้วยอุปสรรคจากน้ำที่ท่วมขัง ตรงนี้จึงเกิดเป็นไอเดียว่าอยากลองปลูกข้าวขึ้นมา แม้การทำนาในครั้งแรกจะเต็มไปด้วยความทุลักทุเล แต่พอได้กินข้าวฝีมือตัวเองแล้วก็ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจ
“หัดทำนาแรกๆ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการที่ได้ข้าวที่เราทำเองมากิน มันก็เป็นความภาคภูมิใจที่เราทำเองแต่ถามว่าได้มากมายไหมก็ไม่มาก เพราะว่าเราก็ยังหว่านไม่เป็น ไม่มีใครมาสอน หว่านไปก็ต้องประหยัดเม็ดข้าวให้ได้มากที่สุด มันก็ห่างบ้าง ถี่บ้าง หญ้าก็ขึ้นเยอะ
อาจจะได้ข้าวที่ไม่สวยแต่ก็ได้ข้าวกิน ก็คิดว่าเราทำของเรากินเองมันก็ปลอดภัย แม้ตอนแรกที่ปลูกก็ให้ปุ๋ยเคมี ฉีดยาฆ่าหญ้าเพื่อให้หญ้ามันตาย หลังจากนั้นพอมาปลูกข้าว ก็คิดว่าข้าวที่เรากินเองจะต้องไม่มายุ่งกับสารเคมี หลังจากนั้น 1 ปีให้หลังก็ไม่ได้ใช้สารเคมีอีกเลย
ที่ผ่านมามีคนแนะนำให้ปลูกไผ่ เพราะไผ่มีประโยชน์ ลําต้นทําเฟอร์นิเจอร์ได้ ทำไม้จิ้มฟัน ทำตะเกียบ ทำบ้านหน่อไม้ก็เป็นอาหารได้ แต่ก็ยังไม่อยากปลูกอะไรมากมาย เพราะไม่มีคนดู ตอนนี้คนงานในไร่มีอยู่ 3 คนเท่านั้นเอง”
เมื่อถามถึงรายได้จากการทำเกษตรที่ผ่านมา หลายคนคงเข้าใจว่าในพื้นที่กว่า 200 ไร่น่าจะทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ แต่เจ้าตัวเปิดใจว่าเงินส่วนใหญ่ล้วนนำไปลงทุนพัฒนาไร่ ส่วนเรื่องผลผลิตก็ยังไม่ได้ตามที่คาดไว้ แต่อย่างไรแล้วก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องสูญเปล่าแน่นอน
“ตอนนี้รายได้ไม่มีที่ได้จากไร่เลย มีแต่จะเอาเงินไปลงไปทำไร่ เงินเดือนสามีก็ไปลงตรงนั้นในการบริหารจัดการ ตอนนี้มีแต่ยางและมันสำปะหลังที่พอได้กลับมาบ้าง ส่วนในอนาคตจะทำแคมปิ้ง กราวนด์ให้คนไปตั้งแคมป์ สูดอากาศ พักผ่อนที่สวนของเรา
ที่บอกว่าไม่มีรายได้ เพราะเราไม่มีผลผลิตให้ เรายังปลูกอะไรไม่ได้ ถามว่าที่ทำมามันลงทุน ลงแรงแล้วสูญเปล่าไหม ถ้าคิดว่าสูญเปล่าแสดงว่าคิดผิด เราสร้างขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพย์สินของเรา เมื่อก่อนมันเป็นป่าเราก็ตัดทำนั่นทำนี่ ทำแลนด์สเคป
จากสมัยก่อนที่ดินอยู่ที่ 55,000 บาท ตอนนี้มันไปที่ 4-5 แสนแล้ว สมัยก่อนไม่มีไฟเลย ยังไงก็ไม่มีสูญเปล่าถ้าเกิดเราขาย เราก็ได้ตั้ง 5-6 แสน ยิ่งมีไฟฟ้าเข้ายิ่งจะกลายเป็นล้าน เราปรับปรุงพัฒนาให้มันดีขึ้น”
สุดท้าย เธอได้กล่าวทิ้งท้ายถึงกลุ่มคนที่สนใจอยากหันหน้ามาทำเกษตร หรืออาจมองเรื่องราวของเธอเป็นแรงบันดาลใจด้วยว่าอยากให้เริ่มจากสิ่งที่มีก่อน ค่อยเป็นค่อยไป และทำด้วยความพอดีตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง
“ถ้าอยากจะทำก็อยากให้ทำแบบที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ท่านบอก คือเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าเราไม่มีที่เราเริ่มต้นจากที่ที่เรามีว่าทำอะไรได้ สวนหย่อมสวยๆ ปลูกพืชผักสวนครัวก็ได้ ไม่ต้องซื้อ อีกอย่างเราปลูกเอง ปลอดภัย ทานเอง มันก็เป็นสิ่งที่ดี
แต่ถ้าจะทำเกษตรเพื่อเป็นอาชีพ ถ้ามีที่มีทางอยู่แล้วก็อยากแนะนำว่าอย่าทำเยอะ ทำน้อยๆ พอที่เราดูแลได้ ทำให้มันดี แล้วผลผลิตมันก็จะดี การทำเยอะ เราต้องเสียสตางค์เยอะ ใช้คนดูแลเยอะ เสียเวลาดูแลก็เยอะ ถ้าทำน้อยๆ แล้วเราดูแลได้ ทางที่ดีต้องหัดดูแลเอง เราจะได้เรียนรู้และมีการปรับปรุงแก้ไข”
“ไม่ขี้เกียจ ไม่อดตาย”
“ไม่ว่าคนจะรวยหรือจน ถ้าไม่ขี้เกียจยังไงก็ไม่อดตาย ขี้เกียจมีเท่าไหร่ก็หมด จะมีคำที่พระอาจารย์สอนเอาไว้ ทุกข์วันนี้จะสุขวันหน้า เราลำบากวันนี้ เรียนรู้การใช้ชีวิตลำบากเป็นยังไง อีกหน่อยจะสบาย ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเราก็สบาย เพราะเราผ่านความทุกข์มาแล้ว”
หนึ่งในความเชื่อที่ยึดใช้มาตลอดชีวิต โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องรู้สึกเหน็ดเหนื่อยหรือมีอุปสรรคผ่านเข้ามา นั่นคือคำสอนของพระอาจารย์ที่ศรัทธา นอกเหนือจากนั้นก็ยังมีคำสอนของครอบครัวที่มักสอนให้รู้จักความอดทน-อดกลั้นเสมอ
“แต่ถ้าคนสบายในวันนี้ วันหน้าทุกข์แน่เพราะไม่เป็น พ่อแม่เลี้ยงลูกมาตักข้าวให้ ทำอะไรให้ทุกสิ่งอย่าง สุดท้ายลูกสบาย พอพ่อแม่ตายลูกลำบาก พ่อจะสอนไว้ว่าจะทำอะไรก็ตามต้องมี 3 อ.เสมอ คือ อดออม อดทน อดกลั้น 3 อย่างนี้ต้องมี สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องอดทนจะทำอะไรก็ต้องอดทน ถ้าความอดทนไม่มีมันก็ไปไม่รอด
สมัยยังเด็กๆ พ่อแม่ก็เป็นชาวนา คิดว่าได้นิสัยพ่อมาเยอะ พ่อเป็นคนที่ขยัน แต่ตอนที่เราเป็นนางแบบเราไม่รู้เลยนะคือรู้ว่าพ่อแม่เป็นชาวนา แต่ภาพทุกอย่างมันยังไม่ออกมา เพิ่งมาจำรายละเอียดได้ช่วงหลังว่าเคยเห็นพ่อทำนาแล้วมีคนเอาเสื้อผ้ามาแลกกับไข่
ภาพช่วงวัย 4-5 ขวบก็ค่อยๆ ออกมา แต่ที่ผ่านมาตอนอยู่ในวงการบันเทิง มันไม่เคยออกมาเลย มันนานมาแล้วตั้งแต่เราเด็กๆ แล้วก็ไม่จำ คือรู้ว่าทำนา แต่รายละเอียดเล็กๆ มันนึกไม่ออก ที่จำได้คือเคยเลี้ยงควาย ตอนเช้าปล่อยเป็ดออกมาข้างนอก ตอนเที่ยงไปดูว่าอยู่ดีไหม ส่วนใหญ่ไม่มีขโมย เราก็ไล่ต้อนเป็ด ไก่เข้าเล้า”
แม้จะมีสายเลือดเป็นลูกชาวนา แต่ก็ถือว่าทุกอย่างต้องนับหนึ่งใหม่ เพราะที่ผ่านมาโลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงกว่าครึ่งชีวิต แน่นอนว่าการหันมาเป็นเกษตรกรจึงต้องมาพร้อมกับความกดดัน และถ้อยความดูถูกว่าเธอไม่มีทางทำได้!
“เขามองว่าจะทำได้เหรอเป็นนางแบบ นักแสดง ดารา จริงๆ มันไม่มีใครทำได้หรอก นอกจากผู้ชาย เราไปอยู่เมืองนอก อยู่ในเมือง อยู่กับความศิวิไลซ์มาตลอด ไม่ได้คลุกคลีกับเกษตรเลย ใครๆ ก็คิดว่าทำไม่ได้ เราเองก็ยังไม่คิดว่าจะทำได้ เพียงแต่เราเป็นคนที่ถ้าทำแล้วจะไม่เดินถอยหลัง
คิดว่าชีวิตมนุษย์ก็เป็นเหมือนนาฬิกา นาฬิกาเดินไปข้างหน้าตลอด นาฬิกาไม่เดินถอยหลัง แต่เราโชคดีที่เราไม่เดินถอยหลัง แต่ถ้าเรารู้ว่ามันไปไม่รอดก็ถอยหน่อย ถอยมาตั้งหลักก่อน ไม่เคยคิดว่าล้มแล้วไม่อยากไปต่อ จะคิดแค่ว่าทำไมคนงานไม่ทำงาน
แต่เราก็ภูมิใจเพราะมีเรากับแฟน และมีลุงมาช่วย ถามว่าเรื่องคนงานเป็นส่วนหนึ่ง แต่เราทำกันสองคนแล้วได้ขนาดนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จเกินครึ่งแล้ว จากป่า จากน้ำไม่มี ไฟฟ้าไม่มี
ถามว่ากับไร่นี้ลงทุนไปเท่าไหร่ เราเป็นคนเกลียดเรื่องตัวเลข ให้เป็นเรื่องของพี่แวน แต่ก็เป็นหนี้เป็นสินอยู่เพราะมันไม่พอ คิดว่าก็ผิดเป็นครู เรื่องราคาต่างๆ มีทั่วไป อันไหนรับได้ก็รับ รับไม่ได้ก็ไม่รับ
เวลาคนมาสมัครงานที่ไร่จะเห็นเลยว่าเสื้อเราเปียกไปหมด ขุดหลุมลึกเมตรคูณเมตรเพื่อจะปลูก คนมาสมัครงานก็ต้องรู้ว่านายสองคน ถือเลื่อย ถือจอบใส่เสื้อกล้ามตัวดำ คุณจะมาทำงานต้องรู้ว่าถ้ามาหาความสบายในไร่ มันไม่มีหรอก เรายังต้องทำเลย ในสวนในไร่มันก็ต้องเหนื่อย ตากแดด ตากลม ตากฝน
เราทนและอึดมาก ได้เรียนรู้ชีวิต อย่างเวลาไปงานตามมหา'ลัยหลายๆ มหา'ลัยก็จะให้ไปเป็นวิทยากรพิเศษไปให้กำลังใจ หลายๆ คนที่อยากทำการเกษตรแต่ไม่กล้า เราก็คิดว่าทำไมไม่กล้า การทำเกษตรเราสามารถทำเล็กๆ ไม่ต้องใหญ่โตก็ได้
อย่างมีคนบอกให้ปลูกข้าวญี่ปุ่น เราไม่ปลูก คิดว่าข้าวของไทยอึดจะตายอย่าไปสรรหาเอาอย่างอื่นมาปลุกเลย จะไม่เห่อตามคนอื่น เมื่อก่อนคนให้ปลูกมะนาวก็ไม่ปลูก เพราะปลูกเยอะๆ มันก็ตาย ไม่มีคนดู ถ้าเราปลูกเยอะแล้วไม่มีบุคลากรดูแล มันก็จะเกิดความเสียหายได้ แค่ปลูกพอได้ใช้ ได้กินก็พอ”
ใช้สังขารสร้าง “ความสุข” ให้คนอื่น
“เมื่อก่อนคนขอไปทำบุญ หมื่นสองหมื่นก็ทำไปทุกที่เลย หลังๆ เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว สร้างวัตถุมันก็ไม่เกิดประโยชน์ เราสร้างสุขให้ผู้อื่นดีกว่า ทำอะไรก็ได้ให้คนอื่นมีความสุข มาค้นพบที่เมืองกาญจน์ นี่แหละ ตอนแรกก็ยังสับสนแต่ตอนนี้เลือกทางของเราแล้ว”
แม้จะยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าที่ผ่านมา ถือว่าเป็นคนชอบทำบุญแบบสุดตัวอยู่เหมือนกัน ทว่า ความเชื่อที่มีต่อเรื่องนี้ได้เปลี่ยนไป หลังจากได้มาเข้าชมรมคนรักสุขภาพที่ จ.กาญจนบุรี
“เรื่องธรรมะ สนใจนะแต่จะไม่ไปซี้ซั้วแล้ว เมื่อสมัยก่อนลองผิดลองถูกมาเยอะ เขาให้สร้างอะไรก็ทำมาตลอด หลังๆ มาอยู่กับพระอาจารย์ที่เมืองกาญจน์
เราคิดว่าเราได้แก่นของศาสนาแล้ว อีกอย่างเราเป็นคนไม่ชอบนั่งสมาธิ ซึ่งการนั่งสมาธิไม่ใช่ไม่ดีนะ มันดี แต่เราชอบแบบนี้มากกว่า คือเอาสังขารใช้กรรมสร้างสุขให้ผู้อื่น
เหมือนที่ชมรมจะมีการช่วยรักษาคนด้วยสมุนไพร เราเห็นหลวงพ่อท่านทำมาตลอด จนรู้สึกว่าที่เราเอาสมุนไพรท่านมากิน แล้วเราจะช่วยอะไรกลับไปได้บ้าง ตอนนั้นยังมีลูกน้องที่ตำส้มตำเก่ง เราก็ตำส้มตำไปช่วยเลี้ยงคนไข้ และรายได้ก็ให้หลวงพ่อหมดเลย เพื่อที่จะเป็นการสมทบทุนซื้อสมุนไพรมารักษา
มันเป็นชมรมคนรักสุขภาพ จ.กาญจนบุรี รักษาคนฟรี แต่ก่อนเราจะไปทุกอาทิตย์ ละครก็ไม่รับ ถ่ายหนังก็ไม่ให้คิว จะเป็นวันไหนก็ได้ยกเว้นวันอาทิตย์ และไม่เคยหยุดเลย ตอนนี้ท่านเสียไปแล้วแต่เราก็ยังสานต่อจะยังไม่ทิ้ง ส่วนเราเองก็มีภารกิจส่วนตัวที่ดูแลไร่ด้วย ก็จะไปที่กาญเดือนละครั้ง
ที่นั่นเงินทองไม่รับ ไม่มีนั่งสมาธิ เอาสังขารใช้กรรมสร้างสุขให้ผู้อื่น เช่น ไปขุดดิน ทำยา ถอนหญ้า ทำอะไรก็ได้ ทำการเกษตรก็ได้เรียนรู้จากที่นั่น การปลูกอย่างอื่นนอกเหนือจากที่เราทำว่าเขาทำกันยังไง หรือการสวดมนต์มันทำให้เราใจเย็นนะ
ถึงบอกว่าเมื่อก่อนต้องอยู่ที่ดีๆ หรูๆ แพงๆ เดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหนก็ได้ อย่าไปสร้างกรอบให้ตัวเอง อันนั้นก็ไม่ได้ นี้ก็ไม่ได้ แต่ก่อนก็เนี้ยบมาก ทุกวันนี้ก็เนี้ยบนะ แต่จะเรื่องความสะอาด สำหรับเราก็ดีสำหรับครอบครัว ถ้าเราใจเย็นลงก็ไม่เวิ่นเว้อใส่กัน ไม่มีอะไรทะเลาะกัน เมื่อก่อนถ้าทะเลาะกันก็ต่างคนต่างไม่ยอม “เวลา” มันทำให้เราเย็นลง”
นอกจากการใช้สังขารเพื่อสร้างความสุขให้คนอื่นแล้ว ตามแนวคิดที่ได้รับมาจากหลวงพ่อที่เคารพนับถือ เธอยังได้ไปช่วยตัดผมให้เด็กพิเศษจำนวน 250 คนอีกด้วย รวมถึงการเปิดโรงทานที่ทำเป็นประจำทุกปี ที่จ.เชียงใหม่
“ถ้าสร้างเมรุก็ช่วยสร้างนะเพราะสำคัญ หรือไปช่วยตัดผมให้น้องๆ เด็กพิเศษที่มูลนิธิบ้านครูบุญชู สัตหีบ ทั้งหมด 250 คน เราไปเป็นหนึ่งในจิตอาสา และมีไปช่วยน้ำท่วมเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ที่ จ.สกลนคร ผู้หญิงขับรถกันไป 4 คน
ก่อนไปก็ลงประกาศว่าจะไปช่วย อาทิตย์เดียวเท่านั้นของมาเต็มหน้าบ้านเลย เราเก็บของเขาไว้ไม่ได้ อย่าลืมว่าทำบุญต้องรีบกระจายไป ไม่งั้นจะไม่ดีกับเรา หลวงพ่อสอนเสมอว่าห้ามไปเรี่ยไร เพราะถือว่าไปเบียดเบียนเขา แต่ถ้าเราบอกว่าจะสร้างเมรุนะ ใครจะทำก็ทำนะ
แต่จะไม่เอาซองไปจี้ ไปยื่นให้เขาทำ บางคนเขาก็หาเงินลำบาก บางทีก็ให้ด้วยความเกรงใจ เราจะพูดแค่ครั้งเดียวแล้วแต่จิตศรัทธา และไม่เร้าหรือ ไม่โทรตามจิก
เวลาไปออกโรงทานที่เชียงใหม่ ก็จะมีคนขอเบอร์บัญชี เราก็บอกเขาแล้วแต่สะดวกนะคะ โรงทานเป็นของเราอยู่แล้ว ใครจะทำ 5 บาท 10 บาทก็เป็นบุญแล้ว ไม่ต้องมีประธาน เป็นกรรมการ แบบนั้นเราจะไม่สร้าง เดี๋ยวนี้มันเสื่อมไปหมดแล้ว เงินสะพัดในวัด แค่คนละบาทก็เท่าไหร่แล้ว
ปัจจุบันนี้วัดก็ไม่ได้ไป จริงๆ ถ้าได้บุญก็สวดมนต์อยู่บ้าน ไหว้พระพุทธรูปที่บ้าน เราสวดของเราทุกวัน ไม่ต้องไปสรรหา ถ้าสรรหาแล้วดีก็ดี ซึ่งที่ดีก็มีนะคะ ไม่ใช่ไม่มี สายของเราคือสัจจะ ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่เบียดเบียนผู้อื่น มันก็ได้บุญได้กุศล
ต้องบอกให้เข้าใจว่าเดี๋ยวนี้แชมเปญไม่ได้ทำแบบนี้แล้ว บอกให้เข้าใจ ถ้าเคืองก็ไม่รู้ เพราะเรามัวแต่จะสร้างกฐิน สร้างผ้าป่าอยู่ สร้างพระเยอะแยะไปหมดแล้วใครไปไหว้ ถ้าทำให้มันสวยงามเป็นสถานที่ท่องเที่ยวก็อีกเรื่องหนึ่ง
คนก็จะเข้าใจผิดว่าสร้างตรงนี้แล้วได้บุญ ต้องไปหาเงิน ติดหนี้ ยืมสิน มันไม่ใช่ เราก็เป็นบาป เราก็ทุกข์เพราะเป็นหนี้เขาอีก เรามาสายธรรมชาติ สวดมนต์อยู่บ้าน กรวดน้ำแผ่เมตตาที่บ้าน เอาสังขารใช้กรรมช่วยเหลือคนอื่นไป แค่นี้ก็มีความสุข”
เรื่องโดย พิมพรรณ มีชัยศรี
ภาพโดย กัมพล เสนสอน
ขอบคุณภาพ FB : Chanphen Schunhsri
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **