xs
xsm
sm
md
lg

“Joker” หนังพาดิ่ง “ป่วยซึมเศร้า” อย่าเสี่ยงดู จิตแพทย์แนะมองเป็นเรื่องแต่ง-ย้อนดูตัว [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดิ่ง-เครียด!! กูรูหนังเตือนก่อนดู “Joker” หลังทำผู้ชมดูจิตตกจนต้องเข้าโรงพยาบาล เผยไม่เหมาะกับเด็กและผู้ป่วยซึมเศร้า ด้านจิตแพทย์แนะรู้เท่าทันสื่อ มองให้เป็นศิลปะ แม้แต่หนังฮีโร่ก็อันตราย หากไม่ใช้วิจารณญาณ!!



กูรูหนังแชร์ประสบการณ์ จิตตกจนเข้า รพ.!

“การที่หนังมันพาให้ดาวน์ มันก็มีหลายๆ องค์ประกอบครับ โจ๊กเกอร์เป็นตัวละครที่มีปัญหาทางจิต ในเรื่องของโรคที่ไม่สามารถกลั้นหัวเราะได้ แล้วในสังคมของหนังมันเป็นสภาพสังคมที่เราสามารถจับต้องได้จริงๆ

ตัวละครตัวนี้ค่อนข้างซื่อ มีความเป็นผ้าขาวสูงมาก และก่อนที่เขาจะกลายเป็นโจ๊กเกอร์ในปัจจุบัน เขาโดนสังคมทำร้าย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน พ่อแม่ หรือว่าการงานของเขา มันหล่อหลอมเขาให้เป็นคนแบบนี้ ซึ่งถ้าข้อความตรงนี้มันสามารถเข้าไปถึงใครบางคน มันอาจจะทำให้เขารู้สึกดาวน์ไปกับตัวละครได้”



“แอดมินเบนซ์” จากเพจ “ขอบสหนัง” เพจกูรูหนังชื่อดังที่มีผู้ติดตามกว่า 840,000 คน ให้ความเห็นต่อทีมข่าว MGR Live ถึงประเด็นร้อนในโลกโซเชียลฯ สำหรับภาพยนตร์เรื่อง Joker จากค่าย DC Comics ที่เนื้อหาบอกเล่าถึงความเป็นมาก่อนจะมาเป็นโจ๊กเกอร์ จอมวายร้ายในคราบของตัวตลก ซึ่งเป็นคู่ปรับตลอดกาลของมนุษย์ค้างคาว แบทแมน

ทว่า... สิ่งที่ถูกพูดถึงนอกเหนือจากการแสดงขั้นเทพของ วาคิน ฟีนิกซ์ (Joaquin Phoenix) ผู้รับบท อาร์เธอร์ เฟล็กซ์ หรือ โจ๊กเกอร์ ที่ทำให้ผู้ชมอินจนนั่งไม่ติดเก้าอี้แล้ว อีกแง่มุมที่ถูกหยิบขึ้นมาถกเถียงกัน นั่นก็คือ ความรุนแรงและประเด็นสุขภาพจิต โดยก่อนหน้านี้เพจดังกล่าวก็ได้ออกมาเตือนสำหรับผู้ที่จะไปชม เนื่องจากมีประสบการณ์ตรงจากแฟนเพจของเขาที่เล่าว่า ดูไปยังไม่ถึงครึ่งเรื่องก็เกิดอาการจิตตก ใจสั่น จนถึงเข้าโรงพยาบาลเลยทีเดียว

“มีอินบ็อกซ์มาเรื่อยๆ ในเพจก็มีคนมาระบายเยอะพอสมควรเลยว่าไปดูเรื่องนี้มาแล้วรู้สึกเครียด รู้สึกจิตตกมากเลย อันนี้เราต้องเตือนไว้ เราสามารถเตือนได้ก็เลยเตือน มันแล้วแต่คนจะตีความ เราไม่สามารถไปห้ามเขาได้ว่าจะดู-ไม่ดู คุณต้องใช้วิจารณญาณเอง





โจ๊กเกอร์มันเป็นหนังที่มีความเชิดชูความรุนแรงพอสมควร ต้องเข้าใจว่ามันเป็นหนังที่เราไปรู้จักตัวละครโจ๊กเกอร์ ว่าเขาคิดยังไง ทำไมถึงเป็นคนแบบนี้ ถ้าเกิดว่ามีคนมองว่าสิ่งที่โจ๊กเกอร์ทำมันถูก มันก็น่าจะไม่เป็นผลดี สำหรับผม ผมก็รู้ว่ามันเป็นหนัง ก็เลยไม่เท่าไหร่กับจุดนี้ แต่ถ้าเกิดว่าสำหรับบางคนที่เขาเป็นโรคซึมเศร้า หรือรับข้อความจากตัวหนังในเรื่องของความเครียดของตัวละคร ความคิดฆ่าตัวตายของตัวละคร เขาก็อาจจะรู้สึกไม่เหมือนกับผมครับ


ถามว่ามันเป็นหนังดีมั้ย ก็ถือว่าเป็นหนังที่ดีเรื่องหนึ่ง แต่ในฐานะคนที่ดูหนังมาเยอะๆ มันก็ไม่ถึงกับเป็นหนังที่ดีเพอร์เฟกต์ไปซะทุกอย่างครับ แต่ที่ดีที่สุดก็คงเป็นการแสดงของตัวเอก ที่แสดงเป็นโจ๊กเกอร์ เขาสามารถถ่ายทอดความเป็นโจ๊กเกอร์ได้โอเค ผู้ชมส่วนมากเขาก็น่าจะชอบกันตรงการแสดงของโจ๊กเกอร์นี่แหละครับ”

สำหรับโจ๊กเกอร์นั้น ได้รับการจัดเรตของหนังให้อยู่ใน เรต R (Restricted) หมายถึง เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 17 ปี จะเข้าชมได้ต่อเมื่อมีผู้ปกครองควบคุมดูแลเท่านั้น เพราะเนื้อหามีทั้งความรุนแรงระดับสูง ภาษาที่ไม่เหมาะสม รวมไปถึงความเศร้า หดหู่ และสถานการณ์ที่อาจกระทบภาวะทางจิตใจได้



“เรต R เมืองนอกกับบ้านเราจะต่างกันเล็กน้อย เรต R ของไทยเขาแบ่งอายุแต่เด็กสามารถซื้อตั๋วได้ แต่อย่างในอเมริกา เด็กสามารถไปดูหนังเรต R ได้ แต่เขาต้องไปดูกับผู้ปกครอง เด็กไม่มีสิทธิที่จะซื้อตั๋ว บ้านเราจะเข้มงวดก็ต่อเมื่อเป็นเรต NC-17 (ไม่อนุญาตให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 17 ปี เข้าชมโดยเด็ดขาด) หรือเรต ฉ 20+ ที่ชมได้เฉพาะผู้ใหญ่ ต้องตรวจบัตรประชาชน

ถามว่าโจ๊กเกอร์มันเป็นหนังที่มีความน่ากลัวในเรื่องของความรุนแรงมั้ย มันก็มีส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเกิดว่าเทียบกับหนังเรื่องอื่น มันก็ไม่ได้มากมายนัก แต่ด้วยความที่เป็นโจ๊กเกอร์มันเป็นหนังที่สร้างมาจากคอมมิค มันมีความเป็นหนังฮีโร่ คนส่วนมากจะคิดว่ามันเป็นหนังฮีโร่ ก็จะนึกไปถึงพวกอเวนเจอร์ที่มันเป็นหนังดูง่าย เด็กดูได้ ใสๆ หน่อย พอเขาคิดว่าเป็นหนังแบบนี้แต่เข้าไปดูแล้วมันเป็นหนังเครียด อาจจะผิดจุดประสงค์ไปหน่อย”

และด้วยความรุนแรงของเนื้อหานี้เอง ทำให้ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงกับมีมาตรการเข้มงวดสำหรับผู้ที่ไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เนื่องจากหวั่นเกิดเหตุร้ายซ้ำรอยกับเหตุการณ์ช็อกโลกเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ที่มีคนร้ายแต่งกายเลียนแบบโจ๊กเกอร์ กราดยิงใส่ผู้ชมภาพยนตร์ The Dark Knight Rises ณ รัฐโคโลราโด โดยเหตุการณ์ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 14 ราย และบาดเจ็บกว่า 50 คน

“โรงหนังหลายๆ ประเทศก็มีการเตือนว่าโจ๊กเกอร์ไม่ใช่หนังสำหรับเด็กนะ มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนพอสมควร เพราะในอเมริกามันเคยมีคดีกราดยิง แล้วมือปืนเขาบอกว่าเขามาในนามของโจ๊กเกอร์ มันก็ทำให้ทางนั้นเขามีการคุมเข้มพอสมควร เขามีกฎระบุเลยว่าห้ามใส่หน้ากากโจ๊กเกอร์มาดูหนัง ห้ามแต่งหน้ามาดูหนัง และเท่าที่ผมตามข่าวมา เขาจะมีเจ้าหน้าที่คอยมาดูความเรียบร้อยแต่ละที่แต่ละโรง มีความผิดปกติมั้ยระหว่างหนังโจ๊กเกอร์เข้าฉาย เพราะมันกันไว้ก็ดีกว่าแก้



หนังมันไม่ได้มีแง่คิดมากเพราะมันเป็นหนังที่เล่าเรื่องชีวิตของ อาเธอร์ เฟล็กซ์ แต่ข้อคิดก็คือ อย่าเป็นแบบโจ๊กเกอร์ พยายามเข้มแข็งไว้ ไม่โดนสังคมทำร้ายจนเกินไป ถ้าคุณโดนสังคมทำร้ายแล้วเป็นแบบโจ๊กเกอร์ก็ไม่ต่างอะไรจากเขา ต้องเข้าใจว่าการที่โจ๊กเกอร์เป็นแบบนี้ได้ มันมีปัจจัยหลักอีกข้อหนึ่งก็คือเขาเป็นคนที่มีปัญหาทางจิตด้วยครับ

ส่วนคนที่ยังไม่ได้ไปดู ถ้าเกิดคุณคิดว่ามีวิจารณญาณพอก็ไปดูเถอะครับ ถือว่าเป็นหนังดีมากพอสมควรเลย แค่เข้าไปดูการแสดงของตัวเอกก็คุ้มแล้ว แต่ถ้าคุณคิดจะพาครอบครัวไป พาลูกไปดูหนังเรื่องนี้ ผมไม่ค่อยแนะนำเท่าไหร่ ไปดูโดราเอม่อนดีกว่าครับ”

แพทย์เตือนจริงจัง กลุ่มเสี่ยงต้องเลือกเสพ!

นอกจากความคิดเห็นจากคอหนังแล้ว ทีมข่าวยังได้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน จิตแพทย์และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข มาอธิบายถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่เพียงแค่หนังที่มีความรุนแรงเท่านั้น แม้แต่หนังซูเปอร์ฮีโร่เอง ก็มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกันหากรับชมโดยไม่มีวิจารณญาณ

1. ทำให้เด็กกลัว อย่างกลัวผี กลัวตำรวจ 2. ทำให้เด็กเลียนแบบ อย่าว่าแต่เรื่องที่รุนแรงเลย หนังซูเปอร์ฮีโร่ เหาะลงมาจากชั้นสูงๆ ถ้าเด็กที่ไม่มีวุฒิภาวะก็จะเลียนแบบ


และ 3. ความรุนแรง การแก้ไขเหตุการณ์ต่างๆ ของหนังที่ใช้ความรุนแรง เด็กที่ไม่บรรลุนิติภาวะก็อาจจะซึมซับเอาสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ก็จะใช้ความรุนแรงตามมา


นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน

หนังเรื่องนี้ ด้านข้อคิดมันก็มีนะครับ เช่น ระหว่างชนชั้นที่มีความห่างในเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม ถ้ามีความไม่ยุติธรรมกันก็ทำให้เกิดอีกฝ่ายหนึ่งมีความกดดัน มีความเคียดแค้น มีการสะสมความอาฆาตพยาบาท แล้วก็จะแสดงออกมาทางความรุนแรง ผู้ปกครองที่มีวุฒิภาวะก็จะสอนเด็กได้ว่าเราอยู่ในสังคม ก็คงจะต้องมาเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข การดูแลซึ่งกันและกัน ก็จะเป็นผลที่ดี

และมีเรื่องของการพูดถึงรอยโรคในสมอง Pathological laughing โรคนี้จะเกิดขึ้นกับคนที่มีพยาธิสภาพในสมอง เช่น เส้นเลือดในสมองแตกในบริเวณสมองลึกๆ บางส่วน ก็จะทำให้เกิดการหัวเราะได้ เพราะโดยปกติแล้วการหัวเราะก็ควรจะมีเหตุมีผล มีการกระตุ้น อันนี้มีจริงอยู่ในรายงานทางการแพทย์ อาจจะฉุกคิดหน่อยว่ามีอะไรบางอย่างที่ผิดปกติต่อการแสดงออกตรงนี้มั้ย ก็ให้ระมัดระวังและไปพบกับแพทย์เพื่อไปตรวจ

ไม่เพียงแค่เด็กและเยาวชนเท่านั้น อีกกลุ่มที่ได้รับการเตือนระวังถึงความเสี่ยงคือ กลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและผู้ที่อยู่ในสภาพจิตใจอ่อนแอ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จิตแพทย์ผู้นี้กลับให้ความเห็นในอีกแง่มุมว่า แม้โจ๊กเกอร์จะมีความรุนแรงและความกดดันอยู่ในหลายฉาก แต่ก็พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ด้วยการย้อนกลับมาพิจารณสภาพจิตใจของตนเอง



ปฏิกิริยาของคนดูสามารถแปรเปลี่ยนไปตามฉากหนังได้ แต่ว่าความเศร้านั้น ถ้ามันเป็นแค่ประเดี๋ยวประด๋าว หลังจากดูหนังจบแล้วก็จบไป แต่ถ้ามันไม่ใช่ ก็เป็นโอกาสดีอีกเหมือนกันที่จะทำให้เราหันมาค้นหาจิตใจของเราว่าทำไมมันดาวน์


ถ้าความรู้สึกมันตกต่ำขนาดนี้ มันอาจจะไม่ใช่เฉพาะแค่หนังรึเปล่า หรือมีอารมณ์ร่วมอื่นๆ ถ้าเยียวยา พูดคุยกับคนที่เราใกล้ชิดแล้วมันหายไปก็จบ แต่ถ้ามันไม่ใช่ มันมีอะไรที่ลึกไปกว่านั้น ก็มาปรึกษาแพทย์ก็จะเป็นการดีครับ”

สุดท้าย โฆษกกระทรวงสาธารณสุขได้ฝากข้อคิดถึงการเสพสื่อในปัจจุบัน เพราะสุดท้ายแล้วการจะ “เลือก” รับข้อมูลไม่ว่าแง่ไหน ก็อยู่ที่ตนเองเป็นผู้ตัดสิน



“ยังไงก็ตาม ในเมื่อมันอยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ หนังแอ็กชันหรือหนังความรุนแรงได้รับความนิยมสูง สังคมหรือคนก็ต้องมีการรู้เท่าทัน แล้วก็เลือกที่จะเสพ เลือกที่จะดู หนังอะไรที่คิดว่ามันเหมาะกับจิตใจของเราเช่น หนังครอบครัว หนังรัก หนังโรแมนติกมีมากมายให้เราเลือก ไม่จำเป็นต้องมาเลือกหนังรุนแรงประเภทนี้

การจะสั่งห้ามอย่างเดียวก็คงยาก ในยุคของมีเดียที่แพร่กระจายไปมากมายขนาดนี้ เราควรจะให้เด็กรู้เท่าทันสื่อ แล้วก็ดึงกลับมาเป็นเชิงบวก ถ้าจะไปดูก็ฝากผู้ปกครองดึงเอาด้านดีๆ ของหนังมาสอนเด็กด้วย สมัยนี้การห้ามค่อนข้างยาก เพราะว่าเด็กสามารถดาวน์โหลดหนังมาดูในมือถือของตัวเองได้

ผมว่าเรื่องการอยากรู้อยากเห็นก็เป็นเรื่องปกติของทุกคนอยู่แล้ว แต่ถ้าคนที่มีพยาธิสภาพทางจิตใจโดยเฉพาะโรคซึมเศร้า บางคนถึงแม้เคยชอบดูหนังก็ไม่อยากจะดูหนังนะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรากังวลใจ หรือสังคมกังวลใจบางทีอาจจะไม่ถึงเขาหรอกครับ เพราะเขาชัตดาวน์ตัวเองไปตั้งนานแล้ว

แต่คนที่เป็นน้อยๆ อาจจะเข้าไปดูแล้วอาจมีผลกระทบทางจิตใจ อันนี้ก็อย่างที่บอก ใช้สิ่งต่างๆ เหล่านี้เอามาเป็นตัวตั้งข้อสังเกตกับตัวเองและคนรอบข้าง ถ้าดูในมิติของความเป็นอาร์ต การเป็นศิลปะ ซึ่งมันอยู่รอบตัวเรา ก็คิดวิเคราะห์กันในหลายมุมมอง ผมมองดูแล้ว ถ้ามองเป็นศิลปะไปก็ได้ แต่ถ้ามองว่ามันเป็นตัวที่ทำให้แย่ โดยเฉพาะบางคน เราก็ต้องระมัดระวัง

ถ้าไปดูมาแล้ว เราไปเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ มองเป็นมุมบวกเสียว่า ‘ดูละครย้อนดูตัว’”




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **









กำลังโหลดความคิดเห็น