xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ย่ำอยู่กับที่! จากเด็กหลังห้อง เรียนแย่ สู่แอนิเมเตอร์ระดับออสการ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ออสการ์ ลูกโลกทองคำ บาฟต้าอวอร์ด กวาดเรียบ! คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก เซ้ง-ธนาวัต ขันธรรม คนไทยหนึ่งเดียวในทีมแอนิเมเตอร์ ผู้กวาดสามรางวัลใหญ่จากโลกภาพยนตร์ในสาขาหนัง แอนิเมชั่นยอดเยี่ยม กับผลงาน Spider Man : Into the Spider Verse จากเด็กหลังห้อง เรียนไม่เก่ง ภาษาอังกฤษไม่กระดิก สู่โกอินเตอร์บริษัทยักษ์ใหญ่ต้องการตัว

ก้าวแรก...อาชีพแอนิเมเตอร์

ก่อนที่จะเข้ามาร่วมงานกับ Sony Pictures Imageworks บริษัทแอนิเตอร์ยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ใน 3 ของ โลก เขาได้ผ่านงานด้านแอนิเมชันมาอย่างโชกโชน กว่าจะมีวันนี้ ไม่ยาก เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ท้าทายตัวเอง ไม่ย่ำอยู่กับที่ กล้าก้าว กล้าฝัน

“เริ่มชอบแอนิเมชั่นตั้งแต่ตอนประถม ตอนนั้นจะมีแอนิเมชั่นเรื่อง Toy Story พอได้ดูก็รู้สึกว่า ชอบแอนิเมชั่นขึ้นมา บวกกับพ่อผมเป็นคนที่ชอบด้านแอนิเมชั่น และ พ่อมักจะซื้อหนังสือกราฟฟิกมาดูทั้งๆที่ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับกราฟฟิกเลย

ผมก็ชอบหยิบหนังสือพ่อมาเปิดดู ตั้งแต่จบ ม.3 ทำให้เริ่มรู้สึกว่าอยากเข้าวงการแอนิเมชั่น แต่ว่าตอนนั้นที่ไทยยังไม่มีการสอนที่เกี่ยวกับแอนิเมชั่นโดยตรง ผมก็เลยต้องเรียนมัธยมต่อ พอจบ ม.ุ6 ก็รู้เลยว่า อยากจะเรียนด้านกราฟฟิก แต่ตอนนั้นก็ยังถามตัวเองอยู่นะว่า อยากจะทำงานด้านกราฟฟิก หรือเกม ก็เลยเลือกเรียนสาขาวิชาคอมพิวเตอร์เกมมัลติมีเดีย วิทยาลัยนวัตกรรมดิจัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต

พอเรียนไปปี 1 ก็เริ่มรู้สึกว่า เกมมันไม่ใช่สิ่งที่เราชอบ ผมชอบการแอนิเมทการเคลื่อนไหว ก็ไปเรียนเสริมกับพี่ตุล แอนิเมเตอร์คนไทยที่เคยไปอินเทิร์นชิพกับ Pixar Animation Studios พี่ตุลเป็นแรงบันดาลใจให้ผมคิดว่า ยังมีคนไทยสามารถไปร่วมงานแอนิเมชั่นระดับโลกได้

พอดีมหาวิทยาลัยมีโปรเจ็กซ์ฝึกงานกับนักศึกษาแลกเปลี่ยนฟินแลนด์ แต่ตอนนั้นผมยังพูดภาษาอังกฤษไม่เป็นนะ ก็ไปแบบงูๆปลาๆ ก็ทำกับเขาประมาณ 5 เดือน

เหมือนอาจารย์ที่ฟินแลนด์เขาชอบผม ก็เลยชวนไปฝึกงานที่ฟินแลนด์ด้วย ทั้งๆ ก่อนหน้านี้ในหัวไม่เคยคิดว่าจะได้มีโอกาสออกไปทำงานต่างประเทศเลย แต่ก็คิดว่า ลองดูก็ได้ พอได้ไปก็สัมผัสได้ว่า ข้างนอกมีอะไรให้เราเรียนรู้อีกตั้งเยอะ

กล้าก้าว กล้าฝัน โกอินเตอร์

“หลังจากกลับมาจากฟินแลนด์ก็เลยตั้งเป้าว่า จะไปทำงานบริษัทต่างประเทศใหญ่ๆให้ได้ บริษัทแรกที่ได้ทำงานด้านแอนิเมเตอร์ คือ The Monk Studio เป็นบริษัทแอนิเมชั่นที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ก็ทำอยู่ประมาณ 3 ปีครึ่ง ได้เรียนรู้อะไรเยอะแยะมากมาย โปรเจ็กต์ที่ได้ทำ ซึ่งมีทั้ง Animated TV Series เช่น Paddle Pop, Talking Tom และ Animated Feature Film เรื่อง Strange Magic (2015)

ตอนที่ทำภาพยนตร์เรื่อง Strange Magic ทำให้เรามีโอกาสทำงานได้ร่วมงานกับ Lucasfilm ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Walt Disney Studios ทำให้ได้ร่วมงานกับคนเก่งๆ ที่สิงคโปร์

สุดท้ายเดินตามฝันไปทำงานต่างประเทศ ตัดสินใจลาออกจากบริษัท และไปลงเรียนแอนิเมชันที่เป็นคอร์สออนไลน์เพิ่ม


จากนั้นก็มีโอกาสได้ไปทำงานที่ประเทศจีน บริษัท Original Force Animation อยู่ประมาณ 2 ปี ได้ทำงาน 2 เรื่องเป็น Animated Feature Film เรื่อง Duck Duck Goose (2018) เป็นโปรเจ็กต์ที่ได้ทำงานร่วมกับ เดนิส คูชง (Denis Couchon) ซึ่งเป็น Animation Director ให้กับบริษัท DreamWorks Animation

จากนั้นก็ไปสมัครที่ Sony Pictures Imageworks ที่แคนาดา ส่งผลงานไป เขาดูงานแล้วชอบ เลยเรียกตัวมา โปรเจ็กต์แรกที่เขาได้ทำคือภาพยนต์เรื่อง Hotel Transylvania 3 (2018), Spiderman: Into the Spider-Verse (2018) และโปรเจ็กต์ล่าสุดคือ Angry Birds

เฮลั่น! คว้าออสการ์

จำได้เลยตอนนั้นเป็นวันอาทิตย์ แล้วทุกคนก็ไปรวมตัวกันออฟฟิศเพื่อไปดูถ่ายทอดสดแจกรางวัลออสการ์ ตอนนั้นก็ยังกังวล ว่าตัวเองจะได้หรือเปล่า เพราะตอนนั้นมีหนังแอนิเมชั่นเรื่่อง The Incredibles 3 เป็นหนังที่ดีมากๆ แล้วเราก็หวั่นไหวว่าเรื่องนั้นได้แน่เลย แต่พอประกาศว่า Spider Man : Into the Spider Verse ก็ดีใจกันทั้งออฟฟิศเลย

ตกใจมากที่ได้รับความสนใจ เพราะว่าหลังจากที่ผมโพสต์ภาพในเฟซบุ๊กที่ถือรางวัลออสการ์ไป ตอนนั้นหมื่นกว่าไลค์ แล้วก็มีสื่อมาขอสัมภาษณ์ออนไลน์ แต่ก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงในชีวิตมาก แต่หลายคนก็เริ่มเห็นแล้วว่า มันมีคนไทยอยู่ในอุตสาหกรรมเรื่องนี้นะ อย่างน้อยก็มีคนไทยคนหนึ่ง

ช็อตที่ผมทำที่หลายคนน่าจะจำได้ ก็เป็นฉากเปิดตัวของสไปเดอร์แฮมต่อสู้กับแมงป่องตอนท้ายเรื่อง รวมเวลา 1 นาทีครึ่ง และฉากเปิดตัวของเพนนี่ปาร์กเกอร์ (Peni Parker) ที่เป็นเด็กญี่ปุ่น


ความยาวนานของการทำแอนิเมตเรื่องนี้โดยเฉลี่ย 1 วินาทีต่อสัปดาห์ ดังนั้น 1 เดือนได้ 4 วินาที ที่เราเห็นในหนังนั้น ใช้เวลาหมดไปหนึ่งเดือน ฉะนั้นทีมหนังจึงต้องใช้แอนิเมเตอร์ มาทำมากถึง 170 คน หนังแต่ละเรื่อง แล้วแต่คุณภาพของหนังด้วยครับ ว่าจะใช้คนทำกี่คน ใช้เวลานานแค่ไหน
เรื่อง Spider Man : Into the Spider Verse ได้รางวัลทั้งทั้งออสการ์ ลูกโลกทองคำบาฟต้าอวอร์ด

ยิ่งเก่ง…การแข่งขันสูง

อย่างแรกเลยคือ เพื่อนร่วมงาน จริงๆอยู่เมืองไทยก็มีความสุขแล้วนะ ถ้าให้เปรียบเทียบบรรยากาศการทำงานจีนกับไทยจะอารมณ์คล้ายๆกันนะ แต่ถ้าเทียบที่ไทยกับโซนี่ แคนาดาอารมณ์ต่างกันแล้ว

เพราะโซนีจะเป็นบริษัทที่ยากในการเข้ามา เราจะเจอเพื่อนร่วมงานที่รักแอนิเมชั่นมากๆ เขาจะเรียนรู้ตลอดเวลา คนส่วนมากจะไม่มีอีโก้

ตอนทำสไปเดอร์แมน คนอายุ 40 ที่เขาเก่งมากๆ ยังมาถามผมว่า งานผมเป็นยังไงบ้าง คือเขาไม่ได้มีอีโก้เลย เขาคิดว่าจะทำไงก็ได้ให้งานเขาออกมาดี

การแข่งขันที่โซนี่ค่อนข้างสูงมาก เพราะแอนิเมเตอร์ทุกคนอยากจะได้ช็อตที่ดี งานที่ดี แต่ละเรื่องมันมีจำกัด ดังนั้นจึงเกิดการแข่งขันเพื่อให้ได้ช็อตที่ดี เหมือนสงครามเย็น

และสังคมของโซนี่ค่อนข้างจะเย็นชา เพราะเข้าค่อนข้างยาก ทุกคนก็อยากจะเป็นที่หนึ่ง อย่างเมืองไทยเวลางานเลิก เราก็ไปสังสรรค์เฮฮากัน แต่ที่นี่ไม่ อย่างคนที่นั่งทำงานข้างๆกันติดกันเลยนะ แทบจะไม่เคยคุยกันเลย

อย่างเวลาวิจารณ์งานก็พูดกันตรงๆ จะมีที่จีน หัวหน้าจะเป็นคนฝรั่งเศส แล้วเขาเก่งมาก วิจารณ์แบบดุเดือด ตอนอยู่จีนก็แอบร้องไห้เบาๆอยู่ “ทำไมวิจารณ์แรงจัง” แต่พออยูุ่ไปสักพักก็เริ่มรู้สึกว่า มันเป็นวิธีการพูดตรงๆที่ค่อนข้างเคลียร์ที่สุดแล้ว

อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง พัฒนาตัวเองตลอดชีวิต

อารมณ์แบบอยากกลับบ้านก็มีบ้างนะ 4 เดือนก่อนเพิ่งกลับบ้านเมืองไทย แล้วพอกลับมาที่แคนาดาอีกรอบรู้สึกว่า มาทำไม อยู่ไทยก็สนุกดีอยู่แล้ว

แต่ก็สู้ต่อ เพราะมันก็เป็นความฝันตั้งแต่ช่วง เริ่มทำงานใหม่ๆ ว่าอยากมาทำงานต่างประเทศ ตอนนี้เกินเป้าที่เราคิดเอาไว้แล้ว ประกอบกับตอนนี้ทำที่โซนี่ได้ 2 ปีแล้ว พอเราได้ตามสิ่งที่เราต้องการ ก็เลยรู้สึกว่าอยากจะหาความท้าทายใหม่อีกแล้ว

เวลาให้ตัวเองอยู่ในคอมฟอร์ทโซนแล้วมันจะรู้สึกว่า ไม่พัฒนา เหมือนชีวิตจะเป็นลูปเกินไป อย่างที่ผมอยู่ตอนนี้ก็รู้สึกว่า ชีวิตค่อนข้างจะเป็นลูป ตื่นเช้ามาไปฟิตเนส ทำงาน กินข้าวเย็น นอน ชีวิตจะมีอยู่แค่นี้ แต่ผมรู้สึกว่าชีวิตเป็นลูปอย่างนี้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เลยเริ่มรู้สึกเบื่อๆนิดหนึ่ง

ก้าวใหม่...สู่แอนนิเมชั่นไดเร็กเตอร์

วางแผนไว้ว่า หลังจากปีนี้ผมจะกลับมาทำงานที่เมืองไทย เพราะมีหนังเรื่องหนึ่งเป็นโปรเจ็กซ์ที่ค่อนข้างใหญ่มาก มีนายทุนจากประเทศจีน น่าสนใจมาก เลยตัดสินใจว่า ปลายปีนี้จะกลับเมืองไทย

เพราะงานนี้ทำให้เรารู้สึกสนุก รู้สึกท้าทาย อยากกลับไทยแล้วไปโฟกัสกับเรื่องนี้

หนังแอนิเมชั่นเรื่องหนึ่งอย่างสไปเดอร์แมนจะมีแอนิเมเตอร์ 170 คน แต่จะมีตำแหน่งที่สูงที่สุดในแอนิเมเตอร์ คือ แอนิเมชั่น ไดเร็กเตอร์ ที่จะมีแค่คนเดียว แล้วหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ทุนค่อนข้างใหญ่ แล้วเขาก็ให้ผมมาทำตำแหน่ง แอนิเมชั่น ไดเร็กเตอร์ รู้สึกว่า เป็นความท้าทายที่เราก้าวออกมา ไม่ได้เป็นตัวเล็กๆแล้ว

แอนิเมเตอร์คนไทยกำลังโต

มีค่อนข้างน้อย ในเมืองไทยรวมกันน่าจะ 300 กว่าคนได้ แอนิเมชั่นไทยจะค่อยๆเติบโตในทางที่ดีขึ้น แต่ไม่ได้เยอะมาก อย่างประเทศจีน จะมีแอนิเมเตอร์เยอะมาก อย่างบริษัทจีนที่ผมเคยไปทำะจะมีแผนกแอนิเมเตอร์ 200 คน แค่บริษัทเดียวเองนะ แล้วที่จีนมีเป็นร้อยๆบริษัท

ทักษะของบุคลากรของประเทศไทยสู้ฝั่งเอเชียได้อยู่แล้ว เราเก่งกว่าจีนนะ แต่รายได้ของจีนมากกว่า 3 เท่า

ผมคิดว่าตอนทำงานที่ไทยได้เงินเดือนสูงแล้วนะ ประสบการณ์ 3 ปีครึ่งได้ประมาณ 38,000 บาท แต่พอย้ายไปจีนได้ 120,000 บาท

มาแคนาดาก็ได้รายได้สูง แต่ต้องยอมรับว่า แคนาดาจะหักภาษีเยอะ 42% ของรายได้ แต่สวัสดิการดี อย่างไปหาหมอที่โรงพยาบาลก็ไม่ต้องเสียเงินอะไรเลย หาหมอฟัน หมอตา ทุกอย่างที่เกี่ยวกับสุขภาพ ฟรีหมด

แอนิเมชั่นไทย...ทำไมไม่ปัง!

อย่างเรื่องก้านกล้วย ผมดูแล้วก็รู้สึกว่าดีแล้วนะ ส่วนทำไมแอนิเมชั่นไทยที่ไม่ค่อยปัง อย่างแรกเลยที่เห็นชัด โดยส่วนมากจะพยายามยัดเยียดความเป็นไทยเข้าไปมากเกิน ในแอนิเมชั่น

หนังแอนิเมชั่นหากยัดเยียดความเป็นไทยเข้าไปมาก จะทำให้ขายไม่ค่อยได้ ต้องคิดแบบอินเตอร์หน่อย

ส่วนคำถามว่า เมื่อไหร่แอนิเมชั่นไทยจะโกอินเตอร์เหรอ ถ้าจะให้เทียบคนไทยกับฝั่งยุโรป อเมริกา ทักษะด้านแอนิเมชั่นจะต่างกันมาก อย่างวิชาแอนิเมชั่นเขามีสอนตั้งแต่มัธยมต้น มัธยมปลายแล้ว และเมืองนอกเขาไม่ได้โฟกัสให้เด็กทุกคนต้องจบมหาวิทยาลัย ดังนั้นคนส่วนใหญ่จะไม่ได้จบมหาวิทยาลัย แต่จบ ม.ุ6 ปวช.แล้วมาทำงาน
ฝีมือเขาดีมากๆ อย่างแรกเลย เขามีบุคลากรที่เก่งมากในทุกมหาวิทยาลัย คนที่นั่นเขาเสพงานศิลปะ เป็นเรื่องปกติ เขาจะเห็นแอนิเมชั่นเป็นเรื่องปกติที่ไปดูกันเรื่อยๆ

แต่ต่างกับเมืองไทยเรา เพราะคนไทยยังคิดว่าแอนิเมชั่นเป็นเรื่องให้เด็กดู ดังนั้นความคิดเขาจะต่างกัน แล้วเราก็ไม่ค่อยมีบุคลากรที่ทำงานทางด้านนี้ เลยทำให้ทักษะของเรากับเขาต่างกัน เด็กจบใหม่ของเขาทักษะเท่ากับคนไทยที่ทำงานแอนิเมเตอร์มา 3-4 ปีแล้ว

แต่ถ้าให้เราเทียบระหว่างเอเชียด้วยกัน ผมว่าคนไทยไม่แพ้ใคร

มั่นใจว่า อนาคตจะดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะตอนนี้ก็มีคนไทยหลายๆคนแล้วที่ไปทำงานต่างประเทศ แล้วเขาก็กลับมาเมืองไทยแชร์ประสบการณ์ เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่

ทักษะใดที่แอนิเมเตอร์ต้องมี

ผมเป็นคนวาดรูปไม่สวยเลยนะ คือเป็นคนที่ชอบศิลปะ แต่ไม่ได้เก่ง แต่อาชีพผมคือแอนิเมเตอร์ ทักษะของแอนิเมเตอร์ ต้องเป็นคนช่างสังเกต ต้องมีไอเดียเยอะ เพราะต้องทำให้คนดูเชื่อว่า ตัวละครที่เราแอนิเมทอยู่มันมีตัวตน และต้องช่างสังเกต เพราะแอนิเมเตอร์เป็นคนเคลื่อนไหวตัวละคร ต้องรู้ว่า คนต้องขยับยังไง ก้าวเท้ายังไง เวลาหยิบของนิ้วไหนต้องไปก่อน ถ้าแอนิเมทลิงก็ต้องศึกษาว่า ลิงตัวนั้นเดินยังไง วิ่งยังไง

ส่วนมากผมจะดูหนังบ่อยๆ ถ้าเราได้ทำงานหนังแบบไหนก็ไปศึกษาว่า ตัวละครตัวนั้นคืออะไร สมมติตัวละครเป็นหมี พอเราได้งานเกี่ยวกับหมี ก็ไปค้นหาในกูเกิลว่า หมีขยับ หรือกระโดดยังไง แล้วเราก็ใช้ไอเดียเราใส่ลงไปในตัวละคร เพื่อให้ช็อตมันดูตลก เศร้า สื่ออารมณ์ไหน อาชีพแอนิเมเตอร์ก็เหมือน นักแสดง เพียงแค่เราอยู่เบื้องหลัง

ที่สำคัญแอนิเมเตอร์ต้องเรียนรู้แบบตลอดเวลา อย่างที่โซนี่ คนอายุมากที่สุด ที่ยังมานั่งทำงานแอนิเมท อายุก็เกือบ 50 ปีแล้ว คุณสามารถทำงานไปได้เรื่อยๆเลย อย่างตัวผมก็อยากท้าทายตัวเอง ด้วยการหาอะไรทำที่ยากกว่านี้

เด็กหลังห้อง ขี้อาย เรียนไม่เก่ง

ช่วงมัธยมไม่เคยได้เกรดเฉลี่ยเกิน 2.5 เลย เป็นคนที่ไม่ชอบเรียนคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ อะไรพวกนี้เลย ยกเว้นวิชาศิลปะ กับคอมพิวเตอร์

เพื่อนๆก็มัธยมก็งงเหมือนกันที่มาไกลขนาดนี้ เพราะผมไม่ใช่คนที่เรียนเก่งเลย แต่เพื่อนที่มหาวิทยาลัยเขาจะรู้อยู่แล้ว เพราะตอนเข้ามหาวิทยาลัยผมสามารถเลือกสิ่งที่ตัวเองชอบแล้วได้ พอได้เรียนสิ่งที่เราชอบ ทุกอย่างมันก็ง่ายไปหมด

ส่วนตอนนี้ภาษาอังกฤษผมก็ไม่ได้เก่งมากนะ แค่คุยรู้เรื่อง แต่พวกแกรมมาร์ยังใช้ผิดอยู่ แต่ตอนที่ผมอยู่ที่จีน ทุกคนก็รู้อยู่ว่าเราพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่ก็พยายามเรียนภาษาอังกฤษจากการดูพวกทีวีซีรีส์ แล้วมีวันนึง หัวหน้าที่เป็นคนฝรั่งเศส เขามาถามว่า จะไปทำงานที่ไหน ผมก็บอกว่า อยากไปโซนี่ แต่ติดตรงภาษาอังกฤษไม่เก่ง เขาเลยบอกผมว่า คุณทำกับผมมา 3 ปีผมก็ไม่เห็นคุณมีปัญหาอะไรเลย ดังนั้น เวลาคุณพูดกับผมแล้วผมไม่เข้าใจ นั่นคือปัญหาของผม(หัวเราะ)

ผมเป็นคนขี้เกียจเรียนภาษาอังกฤษมาก แต่ก็พยายามหาสิ่งที่คิดว่า เหมาะกับเรา เช่น การดูหนัง ซีรีส์ แต่เป็นซับฯ อังกฤษนะ แล้วจะเรียนรู้ไปเอง หลายๆคนก็ใช้วิธีนี้นะ หาวิธีที่ตัวเองเอ็นจอยที่สุด

จริงๆเป็นคนขี้อาย แบบขนาดไม่กล้าไปกินข้าวข้างนอก ซื้อของคนเดียว เป็นตั้งแต่มหาวิทยาลัย อายขนาดที่ว่าไม่กล้าไปถามแม่ค้าว่า ของอันนี้ราคาเท่าไหร่

ความขี้อายเปลี่ยนไปตั้งแต่ตอนที่เริ่มไปฝึกงานที่ฟินแลนด์ ตอนนั้นประมาณปี 3 อยู่ที่นั่นถ้าไม่ทำด้วยตัวเองก็ไม่มีอะไรกินแล้ว แค่อายกับการที่จะต้องคุยกับคนแปลกหน้า แต่หากให้พรีเซนต์งานก็ไม่อาย แต่นั่นคืออดีต ตอนนี้ไม่มีปัญหาอะไรเลย

อนาคตยังไม่ได้ตั้งเป้าหมายอะไรไว้ เพราะโอกาสมันจะเข้ามาหาเราโดยไม่รู้ตัวหรอก แต่ปีหน้าที่จะมาโปรเจ็กซ์แอนิเมชั่นที่เมืองไทย ก็จะทำให้ดีที่สุด เท่าที่เคยทำมา อยากให้เป็นคุณภาพใหม่ของประเทศไทย เรื่องนี้จะฉายตอนปี 2021

ออกกำลังกายลดโรค

ตอนที่ผมทำสไปเดอร์แมน ทำงานค่อนข้างหนัก ทำประมาณ 70-80 ชั่วโมงต่ออาทิตย์ ถือว่าค่อนข้างหนักมาก ตื่นเช้ามาก็ต้องอยู่หน้าคอมพ์แล้ว กินข้าวก็กินหน้าคอมพ์ กลับบ้าน 4- 5 ทุ่ม นอน คือชีวิตมีแค่นอนแล้วก็มาทำงาน

จะมีช่วงหนึ่งอยู่ดีๆก็เป็นไมเกรนหนักมาก ทุก 5-10 วินาที เหมือนมีตะปูมาทิ่มสมองทั้ง 2 ข้าง เป็นหนักขนาด 2 อาทิตย์ก็ไม่หาย ก็เลยไปหาหมอ เลยรู้สึกว่า ที่จริงร่างกายเราสำคัญที่สุดแล้ว หลังจากไปหาหมอวันนั้น รุ่งขึ้นเลยตัดสินใจเข้าฟิตเนส แบบจ้างเทรนเนอร์ส่วนตัวเลย

หลังจากออกกำลังกายปรากฏว่า ไม่เป็นไมเกรนอีกเลย ไม่เป็นไข้ ไม่ปวดหัวอะไรเลย

ชีวิตในแต่ละวัน ตื่น 04.45 น.เพราะต้องไปฟิตเนส 6 โมงเช้าจนถึง 7 โมง เริ่มทำงาน 7 โมงครึ่ง ทำจนถึง 4 โมงเย็น ก็กลับอพาร์ทเมนท์

ส่วนโรคประจำตัวแอนิเมเตอร์ ส่วนใหญ่จะเป็นพังผืดที่มือ เพราะว่าเราใช้มือกับเมาส์บ่อย จึงทำให้ไม่สามารถกระดิกนิ้วกลาง กับนิ้วก้อยได้ จะพยายามวอร์มมือตัวเองทุกๆ 3 ชั่วโมง และเปลี่ยนเมาส์เป็นเมาส์ปากกาแทน

และแอนิเมเตอร์ส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาเรื่องหลังค่อม และปัญหาดวงตา เพราะต้องจ้องคอมพ์ตลอดเวลา คำแนะนำคือ ควรใส่แว่นที่ช่วยตัดเลนส์แสงสีฟ้าจากหน้าจอคอมพ์

สัมภาษณ์โดย MGR Live
เรื่อง : สวิชญา ชมพูพัชร
ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก Thanawat Seng Khantrum



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **

กำลังโหลดความคิดเห็น