xs
xsm
sm
md
lg

เสียงหล่อ ใจหล่อกว่า! “สารวัตรศิลปิน” เปิดหมวกช่วยสังคม [มีคลิป]

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ทำความดีไม่ต้องมีคำว่าเดี๋ยว” เจาะใจ “พ.ต.ท.วีระ” ตำรวจน้ำดีแห่ง สภ.บางไทร ใช้ความสามารถพิเศษ ดีดกีตาร์-ร้องเพลงเปิดหมวก นำเงินช่วยเหลือสังคมหลายด้าน “มอบมูลนิธิ - ช่วยเหตุภัยพิบัติ - แจกหมวกกันน็อกเด็ก” เผยเหตุการณ์สุดประทับใจ ได้ร้องเพลงคู่ “พี่ตูน บอดี้แสลม” ในโครงการ “ก้าวคนละก้าว”

“จิตอาสา” ส่งความสุข...ผ่านเสียงเพลง

ภาพของชายในเครื่องแบบสีกากี ที่กำลังปฏิบัติงานอย่างขะมักเขม้น ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย การกวดขันวินัยจราจร การป้องปรามเหตุด่วนเหตุร้าย หรือช่วยดูแลบ้านเมืองให้เกิดความสงบสุข คงเป็นภาพที่ประชาชนเห็นจนชินตาสำหรับหน้าที่ของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

แต่สำหรับ พ.ต.ท.วีระ นุชศิลป์ รอง ผกก.ป.สภ.บางไทร แล้ว เขาไม่เพียงรับผิดชอบงานในหน้าที่ในเวลาราชการเท่านั้น หากแต่ยังอุทิศเวลานอกราชการ ด้วยการใช้ความถนัดด้านดนตรี ร้องเพลงพร้อมดีดกีตาร์คู่ใจ เรี่ยไรเงินนำไปช่วยเหลือสังคมในหลายด้าน โดย พ.ต.ท.วีระ เล่าว่า เขามีความชื่นชอบในด้านการร้องเพลงและมีความฝันที่อยากเป็นตำรวจตั้งแต่เด็ก



“ใจจริงผมอยากเป็นตำรวจตั้งแต่เด็กแล้ว ผมอยู่ จ.เพชรบุรี โรงเรียนพรหมานุสรณ์ที่ผมเรียนตอนมัธยม เขาจะมีคล้ายๆ เป็นค่านิยมสอบโรงเรียนเตรียมทหาร โดยเฉพาะเหล่าตำรวจ หลังจากผมตอน ม.4 และ ม.5 ไม่ติด อายุจะเกินแล้ว คราวนี้จะมาเล่นไม่ได้ ต้องตั้งใจมุ่งมั่นที่จะเอาให้ได้ ก็เลยพยายามอ่านหนังสือตอนปิดเทอม ไม่ได้ไปเที่ยวไหนเลย ผมสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจอยู่ 3 ปีกว่าจะได้

แล้วผมชอบร้องเพลงด้วยตั้งแต่เด็กๆ ผมก็จะร้องเพลงตามงานวันเด็กบ้าง พ่อกับแม่ชอบให้ผมไปร้องเพลง สำหรับกีตาร์ก็มาหัดเล่นตอนอยู่มัธยม ตอนนั้นถ้าใครเล่นกีตาร์มันจะเท่มากเลย””

นายตำรวจรายนี้ เล่าให้ผู้สัมภาษณ์ฟังว่า 2 ครั้งที่สอบโรงเรียนเตรียมทหารไม่ติดเป็นเพราะไม่ตั้งใจมากพอ แต่เมื่อโอกาสครั้งสุดท้ายมาถึง และคิดได้ว่าจะเฮฮาเหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว ในที่สุดความพยายามและทุ่มเทในวันนั้น ทำให้เขาได้ก้าวเข้าสู่รั้วโรงเรียนนายร้อยตำรวจได้ตามที่ฝัน

และหลังเรียนจบนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 54 เขาก็ได้เริ่มต้นเส้นทางสายอาชีพตำรวจอย่างไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ...



“ที่แรกลงไปเป็นพนักงานสอบสวน สภ.กิ่งอำเภอหนองฮี จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งอยู่ไกลมากเลย เป็นอำเภอที่อยู่ในทุ่งกุลาร้องไห้ ถิ่นทุรกันดาร ไม่มีอะไรเลย แต่อยู่ตรงนั้นมันก็ดี เราก็ผ่านมาแล้ว จะย้ายไปที่ไหนก็สบาย”

หลังจากเป็นพนักงานสอบสวน สภ.กิ่งอำเภอหนองฮี จ.ร้อยเอ็ดได้ 2 ปี ก็ย้ายไปอยู่ สภ.เมืองปราจีนบุรี และ สภ.คลองลึก จ.สระแก้ว ต่อมาได้ย้ายสายงานมาเป็น รอง สว.จร.สภ.แหลมฉบัง จ.ชลบุรี และขึ้นสารวัตรในตำแหน่ง สวป.สภ.บางประกง จ.ฉะเชิงเทรา สวป.สภ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ก่อนย้ายเป็น สว.สส.สภ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร

ชีวิตตำรวจของสารวัตรวีระ ที่สถานีตำรวจภูธรบางปะกง เต็มไปด้วยความโดดเดี่ยว แต่เมื่อถูกย้ายไปที่สถานีตำรวจภูธรพนมสารคาม กลับยิ่งอ้างว้างกว่าเดิมเพราะอยู่ห่างไกลเพื่อนๆ จนในที่สุด ความเหงาก็กลายเป็นจุดเริ่มต้น ของการทำงานเป็นจิตอาสา


สารวัตรวีระ ในสมัยที่ยังร้องเพลงเปิดหมวกโดยไม่สวมเครื่องแบบตำรวจ

“ตอนอยู่แหลมฉบังผมจะไปหาเพื่อนบ่อย ไปร้องเพลงให้เพื่อนฟัง แต่พอย้ายมาที่พนมสารคาม มันเหงา ร้องเพลงที่บ้านมันไม่สนุกแล้ว ก็นึกก่อนว่าจะทำอะไร ผมก็มีความคิดอยากทำจิตอาสานี่แหละ แต่ยังไม่มีอุปกรณ์ ยังเริ่มต้นไม่ได้ เลยลองเล่นดนตรีเปิดหมวกดู ตอนนั้นก็ซื้ออุปกรณ์มือสองที่มันราคาไม่แพงมามาลองเล่นก่อน

ตอนแรกผมไม่ได้บอกว่าเป็นตำรวจ ไม่ได้ใส่เครื่องแบบ ก็กลัวว่าคนเขาจะฟังเพลงเรามั้ย เขาจะรำคาญมั้ย วิตกไปเรื่อย บางที่ไปเขาก็ไม่ต้อนรับ ก็เริ่มเสียกำลังใจ พอไม่ได้ตรงนี้ก็ไปที่อื่น เวลามีคนผ่านไปผ่านมา บริจาคบ้าง ไม่บริจาคบ้างแล้วแต่ความสะดวก แต่เรามีความสุขตรงที่เขามายืนฟังเราร้องเพลง มาปรบมือให้ ครั้งแรกได้เงินอยู่ 600 กว่าบาท ส่วนใหญ่ผมจะเล่นที่ตลาดนัด ครั้งหนึ่งก็จะได้ 1,000 บ้าง 2,000 บ้าง ก็รวบรวมไปให้มูลนิธิเด็กด้อยโอกาสต่างๆ



พอดีมีเหตุการณ์น้ำท่วมที่พนมสารคาม ตอนนั้นผู้กำกับของผม พ.ต.อ.อภิรักษ์ เวชกาญจณา ท่านยังไม่ทราบ ผมก็ขออนุญาตไปเล่นดนตรีเปิดหมวกเพื่อนนำเงินไปช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ ผู้กำกับท่านได้ยินผมเสนอโครงการ ท่านก็บอกทำเลยๆ เดี๋ยวพี่สนับสนุน ท่านก็สนับสนุนเงินมาซื้อลำโพงตู้นึง ให้ผมใช้ในการเล่นดนตรี

วันนั้นเราก็ใส่เครื่องแบบไปเล่น แล้วเขียนป้ายว่า ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ได้มา 10,000 บาท ครั้งนั้นได้เยอะกว่าทุกครั้งเลย ชาวบ้านเห็นตำรวจ เขาก็สนใจกันมากขึ้น ก็แปลกดี มาขอถ่ายรูปอะไรแบบนี้ เราก็ยิ่งมีความสุข”



นายตำรวจผู้รักในเสียงดนตรี ยังคงเดินหน้าทำงานจิตอาสานอกเหนือจากงานประจำอย่างต่อเนื่อง ทั้งการร้องเพลงเปิดหมวกและร้องเพลงสร้างความสุขให้ผู้ป่วยตามโรงพยาบาล และในบางครั้งไม่ใช่ช่วยเหลือคนขาดแคลนในประเทศเท่านั้น หากแต่ยังเผื่อแผ่น้ำใจไปถึงแดนด้วย

“หลังจากที่เราย้ายมาสมุทรสาคร มันเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาลพอดี เลยไปเล่นดนตรีเปิดหมวกช่วยเหลือ ตอนแรกก็เล่นตามตลาดนัดก่อน แต่ว่าเริ่มที่จะมีชาวบ้านถ่ายรูปกันเยอะ แชร์ลงโซเชียลฯ ก็เป็นที่รู้จัก สื่อต่างๆ ก็มาขอทำข่าว เราก็ลองเปลี่ยนสถานที่ดู จากเล่นที่ตลาดนัด เลยไปขอเล่นที่ห้างเทสโก้ โลตัสกับบิ๊กซีดู ซึ่งเขาก็สนับสนุน ก็เป็นการเริ่มต้นเล่นดนตรีในห้างตั้งแต่ตอนนั้นมา ซึ่งก็ได้เงินช่วยเหลือประเทศเนปาลถึง 131,000 บาทครับ”

“ซื้อหมวกกันน็อกให้น้อง” หวังลดอุบัติเหตุ

ปัจจุบันสารวัตรวีระ ปฏิบัติหน้าที่เป็น รอง.ผกก.ป.สภ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา รับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามและงานจราจร กวดขันวินัยจราจร จับกุมผู้ไม่ใส่หมวกกันน็อก ผู้ที่ไม่มีใบขับขี่ ผู้ที่ขับรถเร็ว ขับรถย้อนศร ตั้งด่านตรวจจับอาวุธปืนกับยาเสพติด รวมทั้งตรวจตราป้องกันเหตุให้ร้านทองและธนาคารอีกด้วย

และในระหว่างนั้นเอง การทำหน้าที่เป็นจิตอาสาของเขา ก็โชคดีไปเข้าตาผู้ใหญ่ จนนำมาสู่โครงการแจกหมวกกันน็อกเพื่อความปลอดภัยของเด็กๆ ระหว่างโดยสารรถจักรยานยนต์


เงินจากการเปิดหมวก กลายมาเป็นหมวกกันน็อกให้เด็กๆ

“พล.ต.ท.วีรพงษ์ ชื่นภักดี ผบช.ภ.7 ในขณะนั้นก็ให้แนวทาง ไปคิดทำโครงการต่างๆ เพิ่มเติม ผมก็เลยไปสังเกตดูตามโรงเรียน เวลาผู้ปกครองมารับ-ส่งด้วยมอเตอร์ไซค์ ผู้ปกครองจะใส่หมวกบ้างไม่ใส่บ้าง แต่เด็กเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ไม่มีหมวกกันน็อกใส่ ทำให้เราเล็งเห็นตรงนี้และอยากให้เด็กๆ มีความปลอดภัย ในชื่อ “โครงการจิตอาสาซื้อหมวกกันน็อกให้น้อง” ก็เลยนำไปเสนอท่านวีรพงษ์ ท่านก็ชื่นชมเป็นอย่างมาก ซึ่งชื่อโครงการก็ใช้มาถึงทุกวันนี้ครับ”

ทว่า...ชีวิตของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ บางครั้งก็เอาแน่เอานอนไม่ได้ หลายสิ่งที่คาดหวังอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ซึ่งตำรวจหัวใจจิตอาสาก็เคยประสบเช่นกัน

“ตอนนั้นถึงเวลาที่ผมจะเป็นผู้กำกับแล้ว แต่ก็ไม่ได้ คำสั่งออกมาผมถูกย้ายไปอยู่ที่ สภ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี ไม่เคยได้ยินชื่อเลย ตอนแรกก็รู้สึกว่าท้อใจมาก เราจะไปเล่นดนตรีที่ไหน เราห่วงกับการทำจิตอาสา ในความตั้งใจของผมคือการแจกหมวกกันน็อกมันเข้าท่าดีเพราะเด็กๆ ทุกที่เลย ไม่มีหมวกกันน็อกใส่กัน เราอยากไปทำความดีพื้นที่ตรงนั้น ให้ชาวบ้านมีความสุข แต่พอได้ย้ายไปอยู่หนองหญ้าไซ มันไกลมาก จะเข้าไปในเมืองก็เกือบ 60 กิโล ตอนแรกหมดกำลังใจมากเลย”



เวลาที่ผมมีความทุกข์ ผมก็จะเล่นเพลง ฤดูที่แตกต่าง ของพี่บอย โกสิยพงษ์ มันเป็นเพลงที่ให้กำลังใจสำหรับใครที่มีความทุกข์ ไม่สบายใจก็ฟังเพลงนี้นะครับ ร้องเพลงนี้ไปก็จะมีความสุขขึ้นมาได้ เพลงนี้ช่วยได้ ผมใช้เพลงนี้ให้กำลังใจตัวเองตั้งแต่สมัยสอบโรงเรียนนายร้อยไม่ติดแล้ว”

แม้การถูกย้ายไปอยู่พื้นที่ห่างไกล จะไม่เอื้อต่องานจิตอาสา แต่ พ.ต.ท.วีระ ก็ไม่ถอดใจ ยังคงเดินหน้าฝ่าหนทาง เพื่อไปทำในสิ่งที่ตนเองรักและเป็นประโยชน์ต่อสังคม และความทุ่มเทนี้เอง ส่งให้เขาได้รับรางวัล “ตำรวจดีเด่น” ในเวลาต่อมา

“ท่านผู้บังคับการตำรวจภูธรสุพรรณบุรีสมัยนั้น ท่านชื่นชมและชอบกิจกรรมเล่นดนตรีแจกหมวกกันน็อกให้เด็กๆ ของผม ท่านก็สนับสนุนให้มาช่วยราชการที่งานจราจรของจังหวัด ทีนี้เราก็ไม่ลำบากมากแล้วเพราะมันไม่ต้องเดินทางไกล เราก็รับผิดชอบงานจราจรของทั้งสุพรรณฯ หลังจากไปตั้งด่าน เช้า-บ่าย ตอนเย็นเราก็ว่างแล้ว เราก็ไปเล่นดนตรีข้างเทสโก้ โลตัสได้



โครงการหมวกกันน็อก 100% เป็นกิจกรรมที่ตำรวจภูธรภาค 1 ให้ตำรวจทุกโรงพักในตำรวจภูธรภาค 1 ให้ประชาชนสวมหมวกกันน็อกขณะใช้รถจักรยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่หรือผู้ซ้อนท้าย โดยเฉพาะเด็กๆ เวลาไปโรงเรียนกับผู้ปกครอง ส่วนใหญ่จะไม่ใส่หมวกกันน็อก เวลาไปแจกจะไม่ได้ระบุจำนวนครับ ถ้าได้หมวกกันน็อกที่เพียงพอ ก็แล้วแต่ขนาดของโรงเรียนด้วย ถ้าโรงเรียนขนาดใหญ่ก็จำนวนเยอะ

ท่านผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 สมัยนั้น ท่านก็เห็นตรงนี้ท่านชอบมาก ท่านก็เลยมอบรางวัลตำรวจดีเด่น ภูธรภาค 7 ให้ แล้วก็รับรางวัลตำรวจดีเด่น จ.สมุทรสาคร ตอนนั้นไปรับรางวัลก็ทำให้ผมภาคภูมิใจมาก มันก็ทำให้เรามีกำลังใจที่จะคิดทำสิ่งดีๆ ต่อเนื่องจากนี้ ต่อยอดจากสิ่งที่เราทำอยู่”

สุดตื้นตัน! ร้องเพลง feat.“พี่ตูน”

นอกจากความภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัล “ตำรวจดีเด่น” จากการเป็นจิตอาสาแล้ว สารวัตรวีระ ยังได้เล่าถึงเหตุการณ์สุดประทับใจให้ผู้สัมภาษณ์ได้รับฟัง นั่นก็คือการมีโอกาสได้ร้องเพลงเคียงข้างกับไอดอลของตนเอง คือ “ตูน-อาทิวราห์ คงมาลัย” หรือ “ตูน บอดี้แสลม” และนำเงินที่ได้จากการรับบริจาค สมทบทุนช่วยเหลือ 11 โรงพยาบาล ในโครงการ “ก้าวคนละก้าว”

“ผมมีต้นแบบคือพี่ตูน บอดี้แสลม ตอนที่พี่ตูนวิ่งก้าวคนละก้าว ผมก็อยากจะช่วย ก็ไปเล่นดนตรีเปิดหมวกของเรานี่แหละ ได้เงินมาอยู่ 30,000 บาท ไปมอบให้กับมือพี่ตูนเลย ตอนนั้นผมอยู่สุพรรณบุรี พี่ตูนวิ่งผ่าน เป็นบ้านเกิดเขา เราก็ไปดักอยู่กลางทาง


ร่วมร้องเพลงกับพี่ตูน บอดี้แสลม และมอบเงินสมทบโครงการ "ก้าวคนละก้าว"

พี่ตูนเขาก็วิ่งมา ผมก็ไม่รู้ว่าเขาจะหยุดรึเปล่า ผมก็ไปตั้งอุปกรณ์เตรียมไว้แล้วแต่ว่ายังไม่ทันได้เซ็ตเครื่อง ไม่ทันได้ตั้งสายกีตาร์ พี่ตูนก็วิ่งมา ก็ตกใจทำไมมาถึงไวจัง ก็คิดในใจว่าเขาจะหยุดมั้ย

พอใกล้ๆ ถึง พี่ตูนชะลอมาเราก็ดีใจ ก็เลยบอกว่า ‘พี่ตูนครับ ผมไปเล่นดนตรีเปิดหมวกมา เพื่อนำเงินมาสนับสนุนโครงการก้าวคนละก้าวของพี่ตูน ผมขออนุญาตมอบให้พี่ตูน 30,000 บาทครับ’ เขาก็รับไป ผมก็ถามเขาว่าเหนื่อยมั้ย พี่ตูนบอกว่าไม่เหนื่อย ผมเลยบอก ขออนุญาตร้องเพลงกับพี่ตูนซักเพลงได้มั้ยครับ พี่ตูนถามว่า ครึ่งเพลงได้มั้ย ตอนนั้นก็เลยได้ร้องเพลงร่วมกับพี่ตูนครับ”

นอกจากหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์และยังเป็นจิตอาสาแล้ว เขายังมีอีกหน้าที่คือการเป็น “พ่อ” จึงไม่ลืมที่จะปลูกฝังการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้แก่ลูกสาวตัวน้อย ด้วยการพาเธอไปร้องเพลงและมอบหมวกกันน็อกตามโรงเรียนต่างๆ



พร้อมกันนี้ เขายังได้ฝากข้อคิดถึงเรื่องของการทำความดี ทุกคนสามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้เงิน แค่ใช้ความถนัดที่เรามี ก็สามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้

“ครอบครัวผมมีภรรยาและลูกสาวอายุ 7 ขวบ ใจจริงผมอยากจะให้เวลากับครอบครัวอันดับ 1 ถ้าผมไปเล่นวันธรรมดา ลูกไปโรงเรียน เราก็เอาไปด้วยไม่ได้ แต่ถ้าวันเสาร์-อาทิตย์ ผมจะพยายามพาครอบครัวไปด้วย ซึ่งภรรยาผมกับลูกเขาก็ชอบไปนะ ภรรยาก็ช่วยร้องด้วย เขาชอบร้องเพลงเหมือนกัน ลูกสาวก็ช่วยร้องบางที แต่โตขึ้นก็เริ่มเขิน กลายเป็นกิจกรรมของครอบครัว อย่างถ้าไปแจกหมวกกันน็อก ผมก็พาครอบครัวไปด้วย ลูกสาวจะได้ซึมซับในการทำเพื่อคนอื่น



ความสุขของผมมันเริ่มต้นตั้งแต่ผมเป็นคนชอบเล่นดนตรี ชอบร้องเพลงแล้ว ผมร้องคนเดียวก็มีความสุข ร้องให้คนอื่นฟัง คนอื่นมีความสุข ผมก็ได้ความสุขกลับมา และการที่ผมเปิดรับบริจาคตามโครงการจิตอาสาต่างๆ ผมได้เอาหมวกกันน็อกไปแจกให้เด็กๆ ไปเห็นรอยยิ้มของเด็กๆ เห็นพ่อแม่ใส่หมวก เด็กๆ ใส่หมวก เราก็มีความสุข อิ่มอกอิ่มใจว่าหมวกที่เราให้ไปเขาใส่กันนะ มันเป็นความปิติสุขครับ ก็อยากจะให้ทุกคนทำดู ไม่ว่าคุณจะทำความดีอะไรก็ตาม

ผมอยากจะฝากถึงคนที่อยากจะทำจิตอาสา อยากจะทำความดีว่าคุณไม่ต้องกังวลอะไรเลย คุณไม่ต้องรอ คุณทำได้เลยครับ ผมจะมีคติว่าถ้าคิดจะทำความดี ไม่ต้องพูดว่าเดี๋ยว ให้ทำได้เลย ไม่ว่าจะมีความสามารถอะไร คุณถนัดอะไร เอาความถนัดของคุณเอาเป็นจุดเริ่มต้นสร้างสรรค์ความดีกับคนอื่น คุณจะมีความสุขและจะได้ความสุขกลับมา”



สัมภาษณ์ : รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง : MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Veera Nuchsilapa”




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น