ไขข้อสงสัย!! แหล่งเช็กอินสุดฮิตของเหล่าฮิปสเตอร์ “ภูเขาหิมะ จ.ชลบุรี” อันตรายจริง หรือ ลวง หลังมีคนออกมาถกเถียง หยุดไปเที่ยวได้แล้ว เพราะอาจจะเป็นโรคมะเร็งได้ ด้านผู้เชี่ยวชาญธรณีวิทยา เผย หากอันตรายจริงต้องมีการตรวจสอบ ซึ่งล่าสุดถูกประกาศให้ปิดเพื่อตรวจสอบแล้ว!!?
“ภูเขาหิมะ” แหล่งมลพิษ-สารก่อมะเร็ง!!?
“ถามว่าอันตรายมั้ย ถ้าหินปะทุ กระจาย ขุดเข้าไปมากๆ อย่างที่หน้าพระลาน จ.สระบุรี มันก็เป็นอันตราย แต่เท่าที่ดูรูปมันเป็นหินที่บด และกองไว้แล้ว”
มนตรี เหลืองอิงคะสุต รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live ถึงประเด็นที่ชาวฮิปเตอร์กำลังให้ความสนใจ หลังมีการเชิญชวนให้คนได้รู้จักกับ ภูเขาหิมะ แยกคีรี จ.ชลบุรี หรือแกรนแคนยอนชลบุรี แต่ก็นำมาซึ่งถูกสังคมออกมาเตือนสถานที่แห่งนี้สุดแสนอันตราย หากใครไปอาจจะทำให้รับสารก่อมะเร็งกลับมาได้
“ไม่จริงหรอกที่จะทำให้เป็นมะเร็ง คือ ตรงนั้นถ้าไม่เป็นหินแกรนิต ไม่ก็หินปูน ซึ่งพวกนี้มันไม่เข้าข่าย ไม่เหมือนกับแร่ใยหิน แร่ใยหินที่ถูกให้เลิกใช้ในกระเบื้อง เพราะมันอาจจะเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ที่นี่มันมีฝุ่น จากตัวของหิน ถ้ามันจะมีผล ก็จะมีผลต่อด้านระบบทางเดินหายใจ หรือเป็นโรคปอด ถ้าสูดดมอยู่ทุกวัน ในปริมาณที่สูง
ในพื้นที่ชลบุรี สถานที่ที่ทำเหมืองหินมี 2 ประเภท คือ 1. หินปูน 2. หินแกรนิต ในตำแหน่งที่เป็นประเด็น มันเป็นเหมืองเดิมที่น่าจะหมดอายุไปแล้ว มีพวกหินบดกองไว้ เท่าที่จากรูป ก็คือ ทำเหมือง ไม่ใช่จากเขา คือทำพื้นราบลงไป”
สำหรับพื้นที่ตรงนี้ เป็นภูเขาที่มีความสวยงามคล้ายกับมีหิมะปกคลุมจนขาวโพลน แต่ความจริงแล้ว ภูเขาดังกล่าวเป็นเหมืองหินผสมกับคอนกรีต และมักจะเป็นจุดเช็กอิน ถ่ายรูปของกลุ่มวัยรุ่น
“คือในพื้นที่แถวนั้นมันไม่มีแร่ที่เกิดเป็น แร่ใยหิน หรือ Asbestos เพียงแต่ว่ามันจะเป็นหินคลุก หินบด แบบโรงโม่โดยทั่วไป
เวลาเขาทำอุตสาหกรรม พวกก่อสร้างทั้งหลาย ส่วนใหญ่ที่ใช้หินก่อสร้าง จะเป็นพวกหินปูน แต่ที่มาทำถนน มาทำกับหินคลุกผสมกับซีเมนต์ใช้ในการก่อสร้าง ตรงนี้เองมันก็เป็นพื้นที่ของหินปูน เขาก็จะต้องมีการทำเหมือง จะต้องขออนุญาตทำเหมือง ต้องได้ประทานบัตรทำเหมือง เสร็จแล้วเมื่อได้ก็ประกอบกิจการเหมือง ผู้อำนวยการระเบิดจะต้องทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
พอทำเหมืองเสร็จแล้วจะต้องมีโรงโม่ เพื่อจะโม่จากหินก้อนขนาดใหญ่ แล้วต้องมาผ่านโรงโม่ให้หินมีขนาดต่างๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในแต่ละประเภท ก็จะโมโรงโม่อยู่ กว่าจะโม่เสร็จก็ต้องเก็บสต๊อกไว้เพื่อการจำหน่าย แต่เข้าใจว่าในพื้นที่เองเขาจำหน่ายไม่หมด ก็ค้างไว้อยู่”
อย่างไรก็ดี ถึงแม้เขาจะคอนเฟิร์มเอาไว้ว่า ภูเขาหิมะแห่งนี้ไม่มีแร่ใยหิน แร่ที่เป็นอันตราย สามารถก่อให้เกิดสารเป็นโรคมะเร็ง แต่ก็ไม่แนะนำให้ไป
ขณะเดียวกัน อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยพูดถึงประเด็นดังกล่าว ว่า มีเพจเที่ยวนำภาพเหมืองหินปูนนี้มาโชว์อีกแล้ว มันอันตราย ไม่ควรจะเข้าไปเที่ยว หากสูดดมฝุ่นหินเข้าไป จะเป็นผลเสียต่อร่างกายได้
“ที่แชร์เตือนอันตรายกัน เรื่องอย่าไปเที่ยวภูเขาหิมะแร่ใยหิน (asbestos) ที่ชลบุรีนี่เท่าที่เช็กจากกระทู้ในพันทิป มันเป็นแค่เหมืองหินธรรมดาครับ ประมาณว่า ขุดหินไปผสมกับคอนกรีต ไม่ใช่แร่ใยหินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งอันตราย
แต่ถึงกระนั้น การไปเที่ยวเหมืองหินเพื่อถ่ายรูปเล่นแบบนี้ ก็ต้องระวังมากๆ ครับ เพราะมันอันตรายจากการสูดดมฝุ่นหินเข้าปอดได้ ซึ่งถ้าดมเข้าไปมาก ก็สามารถทำให้ปอดอักเสบได้ หรือถ้าบ่อยครั้งก็กระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้เช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้รุนแรงเท่ากรณีของแร่ใยหินก็ตาม”
ภูเขาสุดแปลก ไม่เหมาะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว!!
“ต้องระวังครับ เพราะว่าผมกำลังเช็กข้อมูลอยู่ว่ามันเป็นพื้นที่ของใคร แต่ไม่ได้เป็นพื้นที่สาธารณะ ดูแล้วมันต้องเข้าในพื้นที่ที่มีการล้อมรั้วด้วย เพราะฉะนั้นพื้นที่ตรงนั้นต้องมีเจ้าของ ไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของ
เพราะฉะนั้นการที่เข้าพื้นที่ตัวเอง ผู้เข้าพื้นที่ไม่มีปัญหา แต่ตรงนี้อาจจะเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล หรือเป็นพื้นที่ของอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ประเด็นที่ 2 คือ พื้นที่ตรงนี้มีการทำเหมือง มีการระเบิด มันมีแต่ฝุ่น จากที่ลึกลงไปจากผิวดิน เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดอันตรายในการพัดตก การที่หิวร่วงก็มี”
ถึงแม้ว่าจะมีการถกเถียงถึงว่าเป็นพื้นที่อันตราย ทั้งฝุ่นพิษ ระบบทางเดินหายใจ หรือโรคมะเร็ง แต่ก็มีอีกด้านที่มองว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสุดแปลก น่าไป และเหมาะแก่การพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
แต่จากประสบการณ์การทำงานตรงนี้ของเขาแล้วนั้น ได้ให้คำตอบเอาไว้ ถ้าเป็นเหมืองสมัยก่อน จะต้องทำตามการควบคุม ในเรื่องของการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นพื้นที่ตรงนี้ต้องมีการตรวจสอบอยู่แล้ว
“ฝุ่นไม่ว่าประเภทไหน ก็อันตราย เพราะฉะนั้นเวลาเขาทำเหมือง เขาก็มีมาตรการควบคุมไม่ให้มีการกระจายของฝุ่น เรื่องของการพรมน้ำต่างๆ
ผมคงแนะนำไม่ได้ถ้าจะเข้าไปตรงนั้น เพราะว่าผมไม่ทราบว่าเป็นพื้นที่ของใคร เพราะว่าคนที่เข้าไปเหมือนกับไปยืนอยู่หน้าผา เพราะฉะนั้นมันไม่ควรจะไปยืน หรือไม่ควรจะเข้าไปให้มันใกล้มลพิษ เราก็ไม่รู้ว่าเป็นพื้นที่ของใคร มันอาจจะโดนข้อหาบุกลุกได้ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีเจ้าของอยู่”
สำหรับการที่จะทำภูเขาหิมะ ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้นั้น เขาทิ้งท้ายให้ฟังว่าต้องดูว่าเป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์ของใคร หากเป็นของหลวงจะไม่สามารถเข้าไปพัฒนาได้ เพราะอยู่ในการดูแลของกรมป่าไม้
“ประเด็นที่ 1 ต้องไปดูก่อนว่า (เป็นพื้นที่ของใคร) เป็นพื้นที่ที่ประกอบกิจการทำเหมือง พื้นที่แบบนี้ต้องมีเจ้าของอยู่ ไม่แน่ใจว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์มั้ย ถ้าเป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์เจ้าของพื้นที่ก็สามารถพัฒนาได้ จะพัฒนานาเป็นแหล่งท่องเที่ยว หรืออะไรก็ได้ หรือพัฒนาเป็นอ่างเก็บน้ำก็ได้
ประเด็นที่ 2 คือ ถ้าเป็นที่ของหลวงเอง ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ป่าสงวน เพราะฉะนั้นพื้นที่ป่าสงวน เมื่อคนที่เข้าไปดำเนินการ หรือเข้าไปขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้ ก็ต้องคืนพื้นที่ให้กับกรมป่าไม้ เพราะฉะนั้นก็เป็นความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ ซึ่งอาจจะพัฒนาเป็นแหล่งน้ำ หรือเป็นแหล่งเที่ยวก็ได้เหมือนกัน”
ล่าสุด เจ้าของเหมืองได้สั่งปิดสถานที่ แล้ว หลังมีการออกมาเตือนถึงอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งห้ามผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่เด็ดขาด พร้อมระบุเป็นพื้นที่อันตราย
ข่าวโดยทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **