กราบหัวใจ! เงินพันล้านมากองตรงหน้าก็ไม่เอา! เปิดจิตวิญญาณความเป็นครูผู้ให้ ยอมทุ่มหมดตัวเพื่อให้เด็กมีที่เรียน เก็บค่าเทอมแสนถูก ขณะที่ค่าครองชีพพุ่งพรวด ไม่สนเงินพันล้านมากองตรงหน้า นักธุรกิจตื๊อขอซื้อที่ดินโรงเรียนพันล้าน "ถ้าขาย แล้วเด็กฉันจะไปเรียนที่ไหน?!" เข้าขั้นวิกฤต! ประสบภาวะขาดทุนย่ำแย่สะสม ภาระหนักอึ้งแต่กลับเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ย้ำด้วยรอยยิ้ม “เป็นความสุขที่เงินแลกไม่ได้”
โรงเรียนเล็ก หัวใจยิ่งใหญ่
“ทำโรงเรียนดี ให้เด็กดี สู้!” คำยืนยันในอุดมการณ์ของ หม่อมราชวงศ์รุจีสมร สุขสวัสดิ์ หัวเรือใหญ่แห่งโรงเรียนวรรณวิทย์ ยังหนักแน่นเช่นเดิม แม้ในวัย 99 ปีย่างเข้าสู่ศตวรรษ แต่จิตวิญญาณแห่งครูผู้เมตตายังฉายชัด
ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปกี่ปีโรงเรียนเรือนไม้เล็กๆ ที่ถูกโอบล้อมด้วยตึกสูงระฟ้าบนทำเลทองเกือบ 3 ไร่ในย่านสุขุมวิท ซอย 8 ก็ยังซ่อนตัวอยู่ใจกลางย่านเศรษฐกิจ หวังให้เด็กยากจนในย่านนี้มีการศึกษาขั้นพื้นฐานทัดเทียมเด็กทั่วไปในราคาที่ผู้ปกครองที่มีรายได้น้อยเอื้อมถึง
หม่อมรุจีสมร ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ของโรงเรียนวรรณวิทย์ เมื่อปี พ.ศ. 2497 ต่อจากหม่อมผิว สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา มารดา ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนวรรณวิทย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 จิตวิญญาณความเป็นครูส่งผ่านสายเลือดรุ่นสู่รุ่น
“หม่อมรุจีสมรเป็นธิดาคนเล็กของ ร้อยเอก หม่อมเจ้าทินทัต สุขสวัสดิ์ กับหม่อมผิว สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา มีพี่สาวสองคนคือ ท่านผู้หญิงทินะประภา อิศรเสนา และหม่อมราชวงศ์กานดาศรี สุขสวัสดิ์ ท่านมีชื่อเล่นว่า คุณหญิงอู้ โดยหม่อมมารดาจะเรียกว่า คุณอู้ ขณะที่มีอายุเพียงสองเดือน หม่อมเจ้าทินทัตพระบิดาก็สิ้นชีพิตักษัย
หม่อมรุจีสมร สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนราชินี ก่อนสอบเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เรียนเพียงปีเดียวก็ลาออกเพราะไม่มีเงิน หลังจากนั้นจึงเข้ามาเป็นครูในโรงเรียนวรรณวิทย์ของมารดาพร้อมกับศึกษาต่อโรงเรียนฝึกหัดครูในภาคค่ำ ซึ่งปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร วิชาเอกภาษาไทย วิชาโทสังคมจนสำเร็จการศึกษา”
วราพร พงษ์รูป ครูฝ่ายวิชาการโรงเรียนวรรณวิทย์ เล่าประวัติโดยย่อของครูใหญ่ที่นั่งตำแหน่งเป็นผู้บริหารโรงเรียนวรรณวิทย์รวม 65 ปี ชี้ปัจจุบันนี้มีครูทั้งหมด 26 คน ส่วนใหญ่อยู่ในวัยเกษียณ ยังเดินทางมาสอนทุกวัน สืบสานอุดมการณ์ของครูใหญ่เพื่อให้เด็กทุกคนในโรงเรียนเป็นคนดี
ดีเอ็นเอความเมตตา อุดมการณ์ครูผู้ให้…ส่งผ่านสายเลือด
จุดเริ่มต้นของโรงเรียนวรรณวิทย์ เริ่มจากหม่อมผิว คุณแม่ของหม่อมรุจีสมร เปิดบ้านให้เด็กยากจนที่อาศัยบริเวณย่านนี้ ได้เรียนหนังสือฟรี หวังแบ่งเบาภาระให้ผู้ปกครองที่มีรายได้น้อย ได้ส่งบุตรหลานมีโอกาสการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสอน 9 ชั้นเรียนตั้งแต่ชั้นประถม 1 ถึงมัธยม 3
โดยหม่อมผิว ได้รวบรวมเงินจากการเขียนบทประพันธ์นิยาย วรรณกรรม โดยใช้ปากกาว่า 'วรรณสิริ' เพื่อสร้างโรงเรียนวรรณวิทย์ และต่อลมหายใจทุกชีวิตในโรงเรียน เช่นคำบอกเล่าของ พิสมัย ชื่นอังกูร ผู้ช่วยครูใหญ่โรงเรียนวรรณวิทย์
“ท่านเรียกเด็กแถวนี้ ที่กำลังจะเข้าเรียนให้มาเรียน 7-8 คน ท่านก็บอกว่า แถวนี้ไม่มีโรงเรียนนะ จาก 7-8 คนก็เพิ่มขึ้นมา พอคนแถวนี้รู้ว่ามีที่เรียน ก็ส่งลูกมาเรียน
แต่ก่อนหน้านี้ท่านเขียนหนังสือ ท่านแต่งเรื่อง วนิดา นางทาส ลูกเมียน้อย พรหมลิขิต ท่านแต่งหลายเรื่อง ก็เป็นที่ติดอกติดใจ ทีวีก็ขอไปทำละคร ทำหนังใหญ่ก็มี
ท่านมีรายได้จากการเขียนหนังสือเยอะ ได้พอสมควรเลยทีเดียว แล้วท่านก็มาขยายโรงเรียนทีละนิดทีละหน่อย”
ปณิธานของหม่อมผิว ส่งดีเอ็นเอผ่านต่อมาให้ลูกสาว หม่อมรุจีสมร อุดมการณ์แรงกล้าต้องการให้เด็กยากจนได้มีที่เรียน ต้องการให้โอกาสเด็กในชุมชน ได้มีที่เรียน เป็นคนดีของสังคม ไม่เป็นภาระใคร
โรงเรียนวรรณวิทย์ตกอยู่ในสภาวะขาดทุนสะสมมายาวนาน เพราะค่าเทอมราคาถูก แต่ที่สามารถยืนหยัดมาได้เพราะเงินทุนที่ได้มาจากบทประพันธ์ของหม่อมแม่
แม้เงินจะถูกใช้ไปจนหมด แต่ไม่เคยคิดขายโรงเรียนเพื่อแลกเงินล้าน และความสุขสบาย
“ท่านอยากให้เด็กดี เป็นกำลังของชาติ เป็นเด็กไทยที่มีกิริยามารยาท ความรู้ เพียบพร้อม ท่านก็ปลูกฝัง” เช่นเดียวกับปรัชญาของโรงเรียน “เป็นคนดี มีคุณค่า ในสังคม” และคติพจน์ประจำโรงเรียน “ตนย่อมเป็นที่พึ่งแห่งตน”
นโยบายของท่านให้ช่วยนักเรียน ให้ดูแลนักเรียนอย่างดีที่สุด ไม่เคยดุ คุยด้วยเหตุผล ท่านสอนอยู่เรื่อย อย่าตีนักเรียน”
ผู้ช่วยครูใหญ่ ชี้ปัจจุบันนี้นักเรียนลดลงอย่างน่าใจหาย รายได้หด รายจ่ายพุ่ง ผู้ปกครองบางคนเบี้ยวค่าเทอมยันลูกเรียนจบ ครูใหญ่ไม่เคยทวง
“เด็กส่วนใหญ่ที่มาเรียน จะเป็นเด็กแถวคลองเตยเยอะ ชุมชนไผ่สิงโต มักกะสัน และเด็กที่อยู่โรงงานยาสูบก็เยอะ ตอนนี้โรงงานยาสูบก็ย้ายไปอยุธยาหมดเลย เด็กลาออกกันตั้งหลายคน
ผู้ปกครองที่นี่ฐานะยากจน คือจนก็จนจริงๆ เด็กบางคนมาวันหยุดวัน ถามทำไมหนูไม่มาโรงเรียนล่ะจ๊ะ แม่ไม่มีสตางค์ให้มา ค่าขนม ค่ารถ แม่ไม่มีให้ก็ต้องหยุดอยู่บ้านไป ผู้ปกครองบางคนก็เคยมาหลังโรงเรียนมีต้นตำลึง เขาก็เก็บไปแกงให้ลูกกิน จะได้ไม่ต้องซื้อกับข้าว
ผู้ปกครองบางคนไม่ให้เงินค่าเทอม แต่เด็กบางคนเอาเงินมาผ่อนให้ รักเรียน อยากเรียนก็ผ่อนให้ครูประจำชั้น บางคนก็ไม่เคยให้เงินเลย จนออกจากโรงเรียนไปก็ไม่เคยให้ เรียนฟรีก็มี
ครูใหญ่บางทีก็ขายของหน้าโต๊ะทำงานท่าน เด็กบางคนก็มาซื้อ ท่านก็จะถาม ซื้อหนังสือ ซื้อสมุดแล้ว มีเงินหรือเปล่าลูก มีเงินเหลือไหม ถ้าไม่มีเงิน เอาไปฟรี ให้ไปฟรีๆ
ตอนนี้มีเด็กนักเรียน ไม่รวมเด็กเล็ก 295 คน ชั้นเรียนก็น้อยลงๆ เมื่อก่อนมีห้องสองห้อง เดี๋ยวนี้เหลือห้องเดียว สมัยก่อนมีนักเรียนถึงพันกว่าคน พื้นที่โรงเรียนเกือบ 3 ไร่ก็อยู่เต็ม เข้าแถวทีเต็มสนามเลย
ครูที่นี่เขาอดทน ป้อนชั่วโมงให้มากเท่าไหร่ก็รับได้ ทุกคนทำเพื่อโรงเรียน อยากให้โรงเรียนอยู่ไปนานๆ ”
พันล้านแลกศรัทธาไม่ได้ สู้ยิบตา! แบกภาระสุดหิน
สำหรับประเด็นเรื่องค่าเทอมอันแสนถูกที่ไม่เคยปรับขึ้นเลยนั้น เพราะปณิธานของครูใหญ่โดยแท้ ไม่อยากให้เด็กยากจนลำบาก แต่ทุกวันนี้โรงเรียนกำลังตกที่นั่งลำบาก
“ถามว่าอยู่ได้ไหม เริ่มอยู่ไม่ไหวแล้ว เพราะเด็กน้อยลง ทุกวันนี้รัฐบาลให้มาส่วนหนึ่ง โรงเรียนให้อีกส่วนหนึ่ง ตอนนี้ก็รับบริจาค ถามว่า เหตุที่ไม่ปรับขึ้นค่าเทอม โถ แค่นี้เขายังไม่มีเลย บางคนต้องให้วันละ 50 วันละ 100 นี่คือเรื่องจริง ศิษย์เก่าเราประทับใจเราก็ตรงนี้ ไม่มีค่าเทอมท่านก็เมตตา
ก็ต้องพยายามทุกทางเลย เคยคุยกับครูใหญ่แล้ว ท่านก็บอกให้สู้ เราก็บอกเอาอะไรไปสู้ ท่านบอกให้สู้อย่างเดียว แล้วก็ปรบมือ คือถ้าไม่สู้ สมมติ ล้มครืน เด็กพวกนี้จะไปกองไว้ตรงไหน เพราะโรงเรียนที่จะรองรับแถวนี้ก็ลำบาก” นิตยา ตันยง ครู และกรรมการบริหารโรงเรียนวรรณวิทย์ ย้ำถึงสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีของโรงเรียน สอดคล้องกับผู้ช่วยผู้อำนวย ชี้ครูใหญ่สุดเสียสละผลประโยชน์ส่วนตัว แบกภาระสุดหินเพื่อต่อลมหายใจโรงเรียนให้อยู่ต่อไป
“รายได้ไม่พอรายจ่าย จะจ่ายเงินเดือนยังไม่พอ ท่านก็เอาเงินเดือนของท่านหักมา มาช่วย ครูอื่นๆก็ช่วยตาม”
แม้ภาระอันใหญ่หลวงที่แบกภาระนี้จะหนักอึ้ง แต่ครูใหญ่ขออฏิเสธเงินก้อนโต จากนายทุนที่ได้เข้ามายื่นเสนอขอซื้อที่ดินของโรงเรียนที่ถือเป็นทำเลทอง มีมูลค่านับพันล้าน โดยแสดงให้เห็นว่า “เงินแลกกับสิ่งที่ตัวเองรักไม่ได้”
“มีหลายรายที่เคยมาพูดกับครูเองก็มี แต่ก็บอกกับเขาไปว่า ท่านเจ้าของโรงเรียนท่านไม่ขายหรอก เป็นญี่ปุ่นก็มี เกาหลีก็มี เขาบอกเขาจะทำโรงแรม เพราะที่นี่สะดวก ใกล้
พอครูใหญ่ท่านทราบ ก็บอกว่า ไม่ขาย ยังไงฉันก็ไม่ขาย ถ้าขายแล้วเด็กฉันจะไปอยู่ที่ไหน โรงรียนแถวนี้มีแต่แพงๆทั้งนั้น เด็กๆของเราไม่มีปัญญาหรอก ก็ตามอุดมการณ์ของท่านเจ้าของโรงเรียน ท่านก็บอกว่า ถึงเด็กจะยังไงก็แล้วแต่ ก็ขอให้เป็นเด็กดี มีคุณค่า มีวิชาติดตัว กิริยามารยาท การใช้ชีวิต เราสอนได้เราก็สอนไป”
สุดยอดปูชณียบุคคลหัวใจเพชร เงินพันล้านมากองตรงหน้าก็ไม่เอา! ครูใหญ่ยืนยันหนักแน่น แม้จะเหลือเด็กนักเรียนคนสุดท้ายก็จะไม่ปิดโรงเรียน!
“เคยมีคนเอาของมาให้ หวังมาผูกใจ ครูใหญ่ท่านไม่เอาเลย จำได้แม่นเลย ให้คนงานของเขาแบกเครื่องทำน้ำเย็นเข้ามา พอรู้จุดประสงค์ ไม่รับ ให้เอากลับไปเลย ท่านไม่ขาย
ท่านบอกว่า โรงเรียนแม่ฉันตั้งมา แม้จะมีเด็กคนเดียว คนสุดท้าย ท่านก็ยังจะสอน ทำเป็นโรงเรียนอยู่ นี่คือความตั้งใจของท่าน ท่านถึงบอกให้พวกเราสู้ไงคะ บางทีเราบอกว่า หนูสู้ไม่ไหว ครูใหญ่บอก “สู้ สู้ สู้”
รายจ่ายมากกว่ารายรับ รอดได้เพราะปาฏิหาริย์!
ด้านการสอนของโรงเรียนทุกวันนี้ก็ได้ปรับตัวให้ทันโลก ครูฝ่ายวิชาการ ย้ำครูผู้สอนต้องปรับตัวให้เท่าทันกับเด็กที่มีการเรียนรู้ได้เร็วขึ้น จากเทคโนโลยี และสิ่งรอบตัวต่างจากอดีต
“เด็กเขาจะค้นจากในมือถือ ทีนี้อย่างเราก็ต้องตามให้ทันสื่อ สมัยก่อนไม่ต้องนี่ เพราะใช้รูปแบบ “ทอล์กแอนด์ชอล์ก” บนกระดาน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ สมมติเราเห็นพระบรมราโชวาทของรัชกาลที่ ๙ ในไลน์เราก็เปิดให้นักเรียนอ่านในห้อง
บางทีเด็กพูดอะไรเราก็ต้องตามให้ทัน มันเป็นดาบสองคม อย่างครูสอนสังคมเราต้องอัปข้อมูลมาก่อน เช่นวันนี้เกิดเหตุวุ่นวายที่ฮ่องกง เราก็จะบอกเขา ว่า สมัยก่อน ฮ่องกงกลัวจีน เพราะจีนเคยจัดการกับนักศึกษาจัตุรัสเทียนอันเหมิน ถ้าเธออยากรู้ต้องไปเปิดดูเอาเอง ถ้าเป็นสมัยก่อนต้องไปไล่ยาว
หรือเรียนการเมือง เราจะอธิบายว่า พฤษภาทมิฬ 14 ตุลาฯ 16 หรือ 18 ไม่ฟังเราหรอก เราต้องใช้สื่อเหล่านี้ ให้เข้าไปดูตรงนี้ เด็กเขาจะดู ยุคมันเปลี่ยนไป ครูเองก็ต้องปรับให้ทันสมัย”
ครูใหญ่ ย้ำการศึกษาสำคัญ เพราะช่วยให้คนดีได้ สืบสานปณิธานความรักเด็กจากหม่อมแม่ เป็นความสุขที่เงิน ก็แลกไม่ได้
“ท่านรักเด็ก เอ็นดูเด็ก เราก็ต้องจำจากท่าน แม่นะ หาคนไม่เหมือน แสดงว่า พ่อดี แม่ดี เราไม่ดีไม่ได้ เด็กที่นี่ก็ดี เขารักโรงเรียน ทำโรงเรียนให้เด็กเป็นคนดี เราจะหนีเหรอ สู้!”
ครูที่ดีต้องทำให้เด็กดี เขาดีคนเดียวไม่พอ ต้องสอนเด็กให้เป็นเด็กดี ให้มีความรู้”
แม้ทุกวันนี้จะประสบภาวะขาดทุนขั้นวิกฤต แต่ครูโรงเรียนวรรณวิทย์ทุกคนยังแปลกใจ ที่อยู่รอดมาได้ถึงทุกวันนี้
“ทุกวันนี้รายจ่ายมากกว่ารายรับ แต่ที่อยู่ได้เพราะปาฏิหาริย์ ต้องยกมือไหว้ของหม่อมผิว ว่าขอให้รอดไปในแต่ละเดือน
ทุกวันนี้โรงเรียนอยู่รอดได้ด้วยครูใหญ่ ถ้าท่านยังแข็งแรง วรรณวิทย์ก็ยังอยู่”
**หากใครประสงค์ร่วมต่อลมหายใจให้โรงเรียนวรรณวิทย์ สามารถช่วยเหลือได้ที่ ธนาคารกรุงไทย สาขาสิงห์ คอมเพล็กซ์ ชื่อบัญชี โรงเรียนวรรณวิทย์ เลขบัญชี 015-136-456-7
สัมภาษณ์ : รายการ “ฅนจริงใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : สวิชญา ชมพูพัชร
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **