เปิดแนวคิดสุดยอดเมนูช่วยผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม “ข้าวเหนียวหมูย่าง” นวัตกรรมสุดล้ำ เก็บได้นาน 2 ปี กินอิ่ม-ไม่เสีย-ฉีกกินได้เลย โดยบรรจุภัณฑ์อยู่ในถุงอย่างดี ขนส่งง่าย หวังช่วยประคองชีวิตคนประสบภัยน้ำท่วมภาคอีสาน
“กล่องข้าวน้อยให้แม่” ช่วยน้ำท่วมอุบล!!
“เขาให้ความไว้วางใจเรามากกว่าให้ความวางใจหน่วยงานของรัฐฯ ซึ่งเป็นอะไรที่ตื้นตัน แล้วผมก็อยากจะทำให้เงินทุกบาทของเขาได้ใช้ประโยชน์เต็มที่”
ดร.อัศวิน อมรสิน อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live ถึงความรู้สึก และแรงบันดาลใจในการทำนวัตกรรม “ข้าวเหนียวหมูย่าง” ที่เก็บได้นานถึง 2 ปี หวังช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมในภาคอีสาน
“เราอยากจะทำข้าวเหนียวที่สามารถทานได้ทันที โดยไม่เน่าเสียเมื่อขนส่งไกลๆ และเก็บในระยะนานๆ จึงได้ใช้เทคนิคการฆ่าเชื้อแบบสเตอริไลซ์ในอาหารบรรจุภัณฑ์
ปกติเทคโนโลยีนี้เขาใช้ในโครงการทหาร ซึ่งทำอาหารแพกให้แก่ทหารออกไปสู้รบ อยู่ในสภาวะที่เกิดเภทภัย ไม่สามารถแจกจ่ายอาหารสด หรืออาหารปรุงเสร็จใหม่ๆ ได้ ก็จะใช้ผลิตภัณฑ์แบบนี้ส่งไป
ประเทศเรายังไม่มีปรากฏการณ์เภทภัยบ่อยๆ หรือไม่มีการส่งทหารไปรบไกลๆ เราก็เลยไม่คุ้น ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เขาเตรียมอาหารเหล่านี้ไว้ในกองทัพอยู่แล้ว
ในประเทศที่เกิดเภทภัยบ่อยๆ เขาจะมีหน่วยงานทำอาหารประเภทแบบนี้ไปแจกจ่ายอย่างรวดเร็ว ซึ่งบ้านเรายังไม่เห็นนะครับ บ้านเราก็จะซื้อมาม่า ปลากระป๋อง ซึ่งก็ได้เหมือนกัน แต่เราก็มองว่าทำไมถึงไม่ทำอาหารที่คนกินคุ้นๆ หน่อย กินแล้วอยู่ท้อง
ทว่าก่อนหน้านั้น เขาคิดว่าต้องการให้ความช่วยเหลือคนในพื้นที่ตามความสามารถที่มีอยู่ จนผลิตข้าวเหนียวหมูย่างสเตอริไลซ์ ที่ไม่เน่าไม่เสีย ในโครงการ “กล่องข้าวน้อยให้แม่” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากนิทานของ จ.ยโสธร ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ที่มีการอัดข้าวเหนียวไว้แน่นในกล่องข้าวเล็กๆ จนดูเหมือนมีน้อยแล้วลูกก็ฆ่าแม่เพราะโมโหหิว แต่สุดท้ายก็กินข้าวไม่หมด
โดยข้าวเหนียวหมูย่างที่ผลิตขึ้น ก็มีบรรจุภัณฑ์ที่เล็ก ขนส่งง่าย แต่อัดแน่นไปด้วยข้าวเหนียว 120 กรัม และหมูย่าง 50 กรัม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประสบอุทกภัยนั้นอิ่มท้องแน่นอน
“ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ คือลูกชายสบประมาทกล่องข้าวน้อยของแม่ และบอกว่าถ้ากินไม่อิ่มจะฆ่าแม่ อันนี้ก็เหมือนกันกล่องข้าวน้อยให้แม่ ต่างกันเพื่อให้รู้ว่าปริมาณข้าวถุงเล็กนี้อิ่มแน่นอน มีข้าวเหนียว 120 กรัม กับเป็นหมู 50 กรัม
ตอนแรกตั้งต้นว่าจะทำขนมจีน แต่เมื่อมองดูสถานการณ์ความเป็นจริงแล้ว อาจจะมีปัญหาเรื่องการบริโภคยุ่งยาก เราจึงทำข้าวเหนียวหมูปิ้งอย่างเดียวไปก่อน เราผลิต จนถึงวันนี้ตอนเย็นน่าจะได้ 2,000 ถุง ด้วยความที่นิสิตที่เป็นแรงงานเป็นหลักของเราจะสอบในช่วงสัปดาห์หน้าจะให้เขางด และจะส่ง 2,000 ถุง ไปวันที่ 16 กันยายน
ถ้าหลังจากสอบเสร็จ อาจจะผลิตต่อ ถ้ายังมีความต้องการ หรือนำเงินในส่วนบริจาคนั้นไปซื้ออาหารตระกูลเดียวกัน อย่างที่เขาบริจาคเช่นเดียวกัน ที่ไม่ใช่มาม่า ปลากระป๋องส่งไปแทน”
สำหรับกระบวนการผลิต เขาได้เริ่มรวบรวมบรรจุภัณฑ์ อาหาร เงินบริจาคเพื่อเป็นทุนในการจัดหาวัตถุดิบ และจิตอาสาตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยเริ่มด้วยการนึ่งข้าวเหนียว และหมักหมู ก่อนจะนำไปย่าง และแพกใส่บรรจุภัณฑ์อย่างดี จากนั้นจะนำไปซีล และเข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อสเตอริไลซ์ ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง
“กระบวนการผลิต ณ ตอนนี้ เรามีบรรจุภัณฑ์ค่าเชื้อขนาดน้อย ที่ผลิตได้ครั้งละแค่ 84 ถุง ใช้เวลารีไซเคิล ประมาณ 1 ชม.ครึ่ง ฉะนั้นถือว่าผลิตได้ช้า แต่เราก็ตั้งใจทำครับ
ในการฆ่าเชื้ออาหารบรรจุภัณฑ์เก็บได้นาน 2 ปีเกิดขึ้นมานาน เราก็เห็นเป็นอาหารกระป๋องเป็นส่วนใหญ่ แต่การเอาอาหารที่เป็นโลโก้ มาใส่ในข้าวเหนียว ในบรรจุภัณฑ์ฆ่าเชื้อนั้นไม่มี เราจะเห็นข้าวสวยใส่บรรจุภัณฑ์ฆ่าเชื้อทั่วๆ ไป ใส่กระป๋อง ใส่ถ้วย แต่ใส่ข้าวเหนียวนั้นไม่มี เป็นของใหม่ครับ ถ้าถามหาว่ามีข้าวเหนียวมาขายแล้วไม่เน่าเสีย ไม่มี เราเพิ่งทำเป็นรายแรกครับ จะมีงานพัฒนาต่อไปอยู่”
แรงบันดาลใจ คือ “ในหลวง ร.๙”
“คือถ้ามองในตัวอาหารในตัวที่ผมทำในปัจจุบัน มันได้แค่ 2,000 ถุง แต่ถ้าพูดถึงเงินช่วยเหลือ ค่าอื่นๆ เช่นยา 1,000 ชุด และจะมีเงินเหลืออีก ที่เราจะสามารถช่วยหลังฟื้นฟูได้อีก”
หลังจากผ่านกระบวนการทั้งหมดแล้ว อ.อัสวิน บอกเล่าให้ฟังอีกว่า "ข้าวเหนียวหมูย่าง" จะไม่เน่าไม่เสีย เก็บนอกตู้เย็นได้นานถึง 2 ปี สะดวกต่อการขนส่ง เหมาะสำหรับพื้นที่น้ำท่วมหนัก อีกทั้งผู้ประสบภัยสามารถกินได้โดยไม่ต้องอุ่น แต่ข้าวเหนียวอาจจะแข็งกว่าปกติ แต่สิ่งที่เขากังวลคือ การทิ่มแทงให้ถุงพลาสติกขาด เพราะจะทำให้อาหารเน่าเสียได้
“ฉีกแล้วกินได้เลย เพียงแค่อาจจะแข็ง ถ้าจะให้อร่อย คือเอาไปต้มทั้งถุงในน้ำร้อนประมาณ 3-5 นาที หรือไมโครเวฟก็ได้ ถ้าไม่มีไฟฟ้าก็ฉีกกินได้เลย เพียงแค่เขาจะอร่อยน้อยหน่อยแค่นั้นเอง
มันเป็นถุงพลาสติก สิ่งที่กังวลที่สุดคือ การทิ่มแทงให้ถุงพลาสติกขาดไปเลย ถ้าถุงพลาสติกขาดแล้วเขาจะเน่าเหมือนอาหารทั่วไป คือโป่งพอง มีกลิ่นเหม็น ก็ให้เขาทิ้ง
อย่าให้เขาอุ่นรับประทาน ถ้าเห็นอาหารตัวนี้โป่งพอง เนื่องจากการเสียเน่าให้ทิ้งทำลายเลย การอุ่นบริโภคไม่ช่วยลดความเสี่ยงอันตราย”
ขณะที่วัตถุดิบอื่นๆ เขาได้บอกเล่าว่า เมื่อร้านที่ไปซื้อรู้ว่าจะซื้อไปช่วยเหลือชาวอุบลฯ ที่เดือดร้อน ทางร้านก็ได้ลดราคาสินค้าให้ และผู้ผลิตรายนี้ยังทิ้งท้ายให้ฟังอีกว่า เขาก็ไม่คิดเหมือนกันว่าจะได้รับผลตอบรับที่ดี และรู้สึกตื้นตันที่คนไทยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งตอนนี้ได้รับเงินบริจาค 4 แสนบาท เพียงพอต่อการนำไปสนับสนุนงานนวัตกรรม เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“ถามน้องๆ ว่าได้งบประมาณครบ 4 แสนบาท เราจะหยุดรับบริจาคไหม น้องเขาก็แนะนำว่าให้เป็นสะพานบุญต่อไป ตราบใดที่เรายังบริสุทธิ์ใจ และคนยังให้ความไว้วางใจเรา ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่เขาสามารถบริจาคได้ ก็ยินดีนะครับ
ตอนนี้อย่างที่บอกว่าเงินบริจาคนั้นเพียงพอสำหรับความคาดหวังในเบื้องต้นแล้ว แต่ว่าถ้าเงินเหลือขึ้นมาก็จะนำไปสนับสนุนด้านอี่น ซื้อเวชภัณฑ์ เอาไปใช้ช่วงฟื้นฟู และจะนำไปซื้ออาหารให้เป็นกล่องข้าวน้อย
เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจ ถึงแม้ว่าเราไม่มีในหลวงรัชกาลที่ ๙ อยู่ ซี่งเป็นแรงบันดาลใจตอนที่ท่านมีพระชนม์ชีพอยู่ ตอนนี้ท่านจากไปแล้ว ลูกหลานของท่านก็ยังสามัคคีกัน และยังช่วยเหลือกัน เสมือนท่านยังอยู่กับเรา พวกเราช่วยเหลือกันดีมาก ไม่มีใครร้องขอ คนบริจาคเยอะ
ผมไม่รู้จะพูดยังไง แต่ว่าตื้นตันที่เรานึกถึงกัน ถึงแม้ว่าเราจะทะเลาะกัน มีการเมืองด่ากันทุกวัน โดยส่วนตัวที่เป็นภาคประชาชนด้วยกันเองเขายังช่วยเหลือกันดี พอเกิดภัยพิบัติไม่มีฝักมีฝ่าย ก็รู้สึกตื้นตันมากๆ”
ข่าวโดยทีมข่าว mgr live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **