เปิดตำนาน "พลตรีประพาศ" อดีตทหารเกษียณวัย 86 ปี ถ้าใครเป็นคอละคร นางสิบสอง-ขวานฟ้าหน้าดำ-สังข์ทอง ที่ทำเรตติ้งทะลุ 110 ตอน โปรดจงรู้ไว้ว่าคนนี้คือเจ้าของเสียงขับเสภาละครจักรๆ วงศ์ๆ ช่อง 7 ทุกเรื่อง ด้วยเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ว่ามีงานที่ไหนก็ต้องถูกเชิญไป และยังคือคนเดียวกันกับเสียงประกาศรัฐประหาร-พฤษภาทมิฬ ที่คนในยุคนั้นต้องจำได้ แม้โรครุมเร้าก็ยังทำต่อ เพื่อรักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทยไม่ให้สูญหาย!!
ตำนานเเสียงขับเสภาละครจักรๆ วงศ์ๆ
“ผมชื่นชอบการขับเสภาอยู่แล้ว ที่ผมไม่ทิ้งการขับเสภา หรือการร้องเพลงไทย เพราะเมื่อสมัยเป็นนักเรียนนายร้อย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนบทความในหนังสือพิมพ์สยามรัฐว่าได้ฟังเสียงแล้ว “เสียงอย่างนี้หาไม่ได้อีกแล้ว” เราก็เลยติดใจ ไม่เลิก (หัวเราะ)”
ทันทีที่เสียงรถวินมอเตอร์ไซค์จอดหน้าบ้าน อดีตนายทหารวัย 86 ปี สวมเสื้อโปโลสีเหลือง นุ่งกางเกงสีดำ รีบก้าวขาออกมาต้อนรับพร้อมกล่าวทักทายด้วยการส่งรอยยิ้มให้อย่างเป็นมิตร สลัดคราบความเป็นนายทหารออกจนหมดสิ้น ไม่ใช่ใครที่ไหนเขาคือ พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค เจ้าของตำนานเสียงขับเสภาแห่งละครจักรๆ วงศ์ๆ เสียงในความทรงจำของใครหลายคน
ไม่ว่าจะเป็นเสียงพูด เสียงร้อง เสียงขับ ที่มีน้ำเสียงที่คุ้นหู จังหวะพูดที่น่าฟัง ออกเสียงอย่างชัดถ้อยชัดคำ ยิ่งเมื่อนั่งกลางวงปี่พาทย์มโหรี ด้วยแก้วเสียงกังวานที่มีพลัง และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงทำให้คนจดจำได้ง่าย
ทันทีที่บทสนทนาได้เริ่มต้นขึ้นชายผู้นี้ก็พร้อมเล่าประสบการณ์การเป็นตำนานของวงการขับเสภาประกอบละครจักรๆ วงศ์ๆ แก่เราฟังด้วยใบหน้าที่เปื้อนไปด้วยรอยยิ้มที่สะสมมานานกว่า 20 ปี
“หลังจากเกษียณก็ได้ออกมาขับเสภาให้ละครจักรๆ วงศ์ ขับมาได้ 20 กว่าปีแล้ว ขับให้ทุกเรื่องตั้งแต่มีละครจักรๆ วงศ์ๆ มา เขาคงได้ยินเสียงที่เราร้องเขาก็เลยติดต่อมาให้ไปร้องประกอบให้ละครจักรๆ วงศ์ๆ ซึ่งตอนนี้ก็ยังขับอยู่นะ ล่าสุดที่นำมาทำและฉายซ้ำอีกคือเรื่อง “นางสิบสอง” ก็ยังขับให้อยู่
การขับเสภาเดิมทีเกิดมาจากการเล่านิทาน เมื่อการเล่านิทานเริ่มแพร่หลาย จึงได้มีการแต่งเป็นกลอนใส่ทำนองโดยใช้กรับเป็นเครื่องประกอบจังหวะ เพื่อให้คนฟังได้อรรถรสในการชมมากขึ้น ให้น่าติดตามมากขึ้น
“ผมขับเสภามาตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 ช่วงนั้นเขามีการจัดออกทีวีวันปิยมหาราช เพื่อจะขับเสภาถวายพระพรรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งนักเรียนนายร้อย จึงมีการหาว่าใครที่สามารถขับเสภาได้บ้าง ใครสามารถที่จะร้องเพลงไทยได้บ้าง ผมก็มีความสามารถร้องได้ เขาก็ให้มาขับเสภา ก็มีไปถ่ายภาพประกอบตอนขับเสภามาก็เลยได้ออกช่อง 5 แต่ตอนนั้นเป็นช่อง 7 ขาวดำ
หลังจากที่ออกวันปิยมหาราชไปแล้วก็มีงานเข้ามาหลายงาน ที่ไหนมีงานเขาก็พาวงดนตรีนักเรียนนายร้อยไปออก แต่ไม่มีชื่อวงนะ เรียกว่าเป็นนักเรียนนายร้อย”
พลตรีประพาศยังได้แอบกระซิบถึงรายได้ในการขับเสภาที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อนให้กับเราฟังว่า คิดเงินเป็นตอนๆ ส่วนตอนไหนที่ขับไปแล้วไม่ได้ออกอากาศก็ถือว่าไม่ได้รับเงิน
“ละครจักรๆ วงศ์ๆ เขาให้เราเป็นตอน ตอนละ 3,000 บาท แต่เมื่อออกอากาศแล้วถึงจะได้ แต่บทไหนที่ขับไปแล้วไม่ได้ออกอากาศก็ไม่ได้ ส่วนมากจะไปอัดเสียงทุกวันศุกร์ ก่อนที่จะไปอัดเสียงเขาก็จะส่งบทมาให้ดูก่อน 2 วัน อย่างถ้าจะไปอัดวันศุกร์เขาก็ให้มาตั้งแต่วันพุธ เราก็เอามาศึกษาก่อน”
แม้อายุจะมากแล้ว แต่เมื่อถามถึงว่าจะขับเสภาให้ละครจักรๆ วงศ์ๆ ไม่อีกนานแค่ไหน ชายวัย 86 กลับนิ่งไปสักพักพร้อมส่งรอยยิ้มและเปล่งเสียงหัวเราะออกมาด้วยความชอบใจ เพราะการขับเสภาคือสิ่งที่หลงรักมาตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อย
“คงขับไปได้อีกไม่นานแล้ว แต่ก็อยากทำอยู่ บางครั้งอัดไป พออัดไปบทหนึ่งก็ขอพักหน่อย ขอกินน้ำหน่อย ค่อยอัดต่อ สมัยก่อนเนี่ยอัดรวดเดียวเลย กี่บทๆ ก็อัดรวดเดียวเลยหมด ขับนานครึ่งวันก็ขับได้ เดี๋ยวนี้ไม่ได้หรอก ขับได้นิดหน่อยก็ขอพัก”
เจ้าของตำนานการขับเสภาเล่าอีกว่า ใครก็สามารถขับเสภาได้ แต่เสน่ห์ที่แท้จริงที่จะสามารถดึงดูดผู้ฟังได้นั้น สำคัญอยู่ที่เสียงในการเปล่งออกมา
“เสน่ห์คือเสียง การขับเสภาใครๆ ก็ขับได้ แต่คนขับเสียงเป็นยังไงบ้าง ต้องมีแก้วเสียงที่ดี เสน่ห์ของการขับเสภาจึงอยู่ที่เสียงของคนขับ อยู่ที่เสียงของแต่ละบุคคล คนเสียงดีก็ฝึกได้ง่าย คนเสียงเหมือนเป็ดเสียงไม่ให้ยังไงคนก็ไม่สนใจ
การจะขับเสภาได้ต้องมีเสียงสูง ต้องเกริ่นให้เสียงดัง สมัยก่อนไม่มีไมโครโฟน ไม่มีลำโพง เราต้องขับให้คนที่ฟังต้องให้ได้ยินหมด
สมัยก่อนการขับเสภาก็ถือว่ายาก แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่ยาก เพราะสามารถตัดต่อได้ สมัยก่อนถ้าผิดต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด เดี๋ยวนี้ผิดตรงไหนแก้เฉพาะตรงนั้น เทคโนโลยีก้าวหน้าเยอะ อีกอย่าง มันไม่อยากก็จริงแต่ว่าตอนนี้กำลังเราไม่พอ เพราะว่ามันต้องใช้เสียง เพราะอายุมากแล้วกำลังก็ไม่พอ การขับเสภากำลังมันก็จะออกมาช่วงท้องเลย มันต้องใช้เสียงอย่างมาก”
แม้จะสั่งสมประสบการณ์มานานตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนนายร้อย แต่ชายผู้นี้ก็ยังไม่กล้าจะบอกตนเองได้ว่าเป็นนักขับเสภามืออาชีพ เพราะเนื่องจากมีงานที่ติดต่อเข้ามาก็ไปขับให้แบบฟรีๆ ไม่ได้คิดเงินเหมือนนักขับเสภามืออาชีพที่เขาทำกัน
“สำหรับผมเป็นมือสมัครเล่น ไม่ถึงเรียกได้ว่าเป็นมืออาชีพ คนที่ทำอาชีพขับเสภาก็มีหลายคน สมัยก่อนมีการท้าเลยนะว่าให้พวกอาชีพมาแข่งกัน เดี๋ยวนี้ไม่กล้าท้าแล้ว (หัวเราะ) เพราะไม่ไหวแล้ว
ที่เรียกว่าตัวเองเป็นมือสมัครเล่น เพราะเราไม่ได้ไปรับจ้างขับ เราไปขับให้เขาฟรีหมด ใครเชิญไปงานต่างๆ ก็ไป อย่างงานดนตรีไทยอุดมศึกษาเราก็ไปช่วยขับ รวมถึงงานไหว้ครูอะไรต่างๆ เราก็ไปช่วยขับ
เมื่อก่อนเขาก็เชิญให้ไปขับหลายแห่งอยู่เหมือนกัน ไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ไปขับแบบไม่เอาตังค์เขา ไปแบบฟรีๆ (หัวเราะ) แต่ช่วงหลังๆ นี้ไม่ไหวแล้ว ไปไม่ได้”
สอนฟรี พร้อมถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลังให้อนุรักษ์ไว้
“ผมเป็นห่วงว่าจะไม่มีใครสานต่อ อยากถ่ายทอดให้กับรุ่นหลัง ใครอยากมาเรียนรู้ก็มาได้ แต่สำคัญเรื่องเสียง ต้องมีเสียงสามารถที่จะขับเสภาได้ เพราะแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนเสียงไม่ค่อยดี ความสนใจที่จะให้คนฟังมันก็ไม่เท่าไหร่ ต้องคัดเอาเสียงดีๆ มาฝึก อยู่ที่น้ำสียงอย่างเดียว ต้องมีเสียงแก้วกังวาน”
นักขับเสภาในตำนานฝากถึงคนที่อยากยึดเป็นอาชีพ สำหรับใครที่สนใจหรือมีใจรักจริงๆ เจ้าของเสียงขับอันไพเราะนี้ก็พร้อมจะสอนให้ทุกเมื่อโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแม้แต่บาทเดียว และดีใจเป็นอย่างมากหากเด็กสมัยนี้สนใจ
“ต้องมีใจรักจริงๆ ไม่ใช่ว่ามาฝึกๆ แล้วก็เลิกไปเลย อยากจะให้คนรุ่นหลังที่มีความรักทางด้านดนตรีไทยก็ดี ทางด้านขับเสภาก็ดี ขอให้ช่วยอนุรักษ์ไว้ด้วย โดยเฉพาะตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีชมรมดนตรีไทยอย่าเลิก จบไปแล้วพยายามหาที่เล่น หาที่รวมวงกัน สักเดือนละหนก็ยังดีอย่างน้อยก็อยากให้รักษาศิลปะอย่างนี้ไว้ให้อยู่คู่บ้านคู่เมืองตลอดไป
ใครสนใจก็มาได้ ฟรี ไม่เคยคิดตังค์สักคน แถมให้กรับไปด้วย เมื่อก่อนมีกรับเยอะ เดี๋ยวนี้กรับไม่ค่อยมีแล้วเพราะไม้หายากแล้ว อีกอย่างสิ่งสำคัญในการขับเสภาอยู่ที่กรับนี้ด้วย เพราะต้องมีกรับประกอบด้วย ต้องรู้จังหวะด้วย
ก็อยากให้มีการส่งเสริมให้เยอะขึ้น แต่เดี๋ยวนี้เขาก็มีทุกมหาวิทยาลัยนะ ต่างจังหวัดก็มี มีชมรมดนตรีไทย แต่เสียดายที่จบมาแล้วไม่ค่อยสานต่อ จะหาดนตรีไทยฟังไม่ได้เลยเดี๋ยวนี้นอกจากงานศพ ส่วนงานแต่งงาน งานบวชเขาจ้างสากลหมด”
แม้ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เสียงขับเสภาในละครจักรๆ วงศ์ๆ ของค่ายสามเศรียร ดูจะผูกติดอยู่กับพลตรีประพาศเพียงผู้เดียว แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะเคยมีเสียงผู้หญิงแทรกมาบ้าง แต่ในช่วงไม่กี่ปีหลัง กระทั่งในละคร “ขวานฟ้าหน้าดำ” เวอร์ชันล่าสุด กลับปรากฏเสียงผู้หญิงขับเสภาในละครพื้นบ้านของทางช่อง 7 เพิ่มเติมขึ้นมา และจะเห็นได้อีกว่ามีการระบุชื่อ จันจิรา ละม้ายเมือง เป็นผู้ขับเสภาคู่กับพลตรีประพาศอีกด้วย
“เดิมทีมีผู้หญิงมาขับด้วยหลายคนอยู่เหมือนกัน คนแรกที่พามาขับด้วยก็มาฝึกจากที่นี่ แล้วเขาไปสอบเข้าจุฬาฯ คณะศิลปกรรมศาสตร์ แต่ตอนนี้เขาไปอยู่เยอรมันแล้ว ไปหากินเยอรมันแล้ว จบจุฬาฯ แล้วก็ไปอยู่โน่น ไปมีแฟนที่โน่นแล้ว (หัวเราะ) ก็หมดไปแล้วคนหนึ่ง
หลังจากนั้นก็ได้ลูกศิษย์ผู้ชายหลายคนมาช่วย ผู้ชายส่วนมากจะมาจากมหาวิทยาลัยบูรพา เสียงดีมาก เสียงดีกว่าผมอีก แต่แล้วสุดท้ายก็ได้ไอ้มิน (จันจิรา ละม้ายเมือง) มาขับช่วย ซึ่งคนนี้เขาฟังมาตั้งแต่เด็กๆ เขาติดใจมาตั้งแต่เด็ก แล้วเขาก็มาฝึกที่นี่ ตอนนั้นเขาอยู่ชั้นม.5 พอจบม.6 เราก็บอกว่าให้ไปสอบเข้าจุฬาฯ ก็ติดอย่างที่ใจเขาหวังไว้
นับได้ว่าต่อจากนี้พลตรีประพาศก็ถือว่ามีผู้แทน และสืบทอดในการขับเสภาละครจักรๆ วงศ์ๆ แล้ว อีกทั้งได้ถ่ายทอดและฝึกฝนให้เด็กสาวอย่างน้องมินในละครพื้นบ้านของทางช่อง 7 อย่างภาคภูมิใจ
“อย่างไอ้มินที่มาขับกับผม ก็รู้สึกว่าเออมีคนแทนแล้ว ก็ดีใจ เด็กชอบขับเสภาเราก็ดีใจ ไอ้มินเป็นนักขับที่เสียงดีมาก มีแก้วเสียงที่หาอยาก พอได้ฟังเสียงก็รู้สึกว่าใช่เลย ก็ฝึกให้เลย ไอ้มินเนี่ยมีพระพามาหา เพราะท่านเคยได้ยินเสียงขับเสภาผมก็เลยพามา แล้วเด็กมันก็เคยฟังเสียงขับเสภาอยู่แล้ว ชื่นชอบมาตั้งแต่เด็ก ท่านก็เลยพามา”
น้องมินลูกศิษย์อาจารย์ประพาศ เสียงดีจนขนลุก
อีกอย่างได้ไอ้มินมาช่วย เพราะตอนนี้คนเดียวขับไม่ไหวแล้ว อายุก็มากแล้ว บทผู้หญิงก็ให้ผู้หญิงขับ บทผู้ชายผมก็ขับไป หรือถ้าไม่ไหวก็ให้ไอ้มินขับ”
ไม่เพียงเท่านี้อดีตนายทหารผู้นี้ก็ยังไม่วายที่จะแสดงถึงความเป็นห่วงว่าอนาคตข้างหน้าจะยังมีผู้สืบทอดการขับเสภาที่ตัวเองรักและชื่นชอบไปได้นานขนาดไหน เพราะกระแสและความหลั่งไหลของวัฒนธรรม K-POP ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง อีกทั้งเมื่อจบการศึกษาไปแล้วไม่ค่อยมีเวทีให้แสดงฝีมือมากเท่าที่ควร ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยหันมาสนใจ
“กลัวจะสูญ เป็นห่วง เพราะว่าคนสมัยใหม่ไปร้องสตริงหมดเลย ก็อยากให้ทางการเขาสนับสนุน โดยเฉพาะโทรทัศน์ก็ดี วิทยุก็ดี ให้เขามีรายการออกบ้าง เข้าใจว่าคนสมัยนี้ไม่ยึดเป็นอาชีพแล้ว แต่ว่าเพื่อจะอนุรักษ์เอาไว้
อย่างผมก็ไม่ทิ้ง มีพวกลูกศิษย์ตั้งวงขึ้นมาเป็นวงเกี้ยวกร้าว มีที่มาที่ไปเกี้ยวคือศิษย์เก่าจุฬาฯ ซึ่งพระเทพฯ ท่านอยู่จุฬาฯ กร้าวคือวงนายร้อยศิษย์เก่า ทุกทีที่มาเล่นด้วยกันก็มีทั้งระดับพลเอกก็มี เกษียณไปแล้วก็มี
ธรรมดาแล้วนะ ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จะมีพวกที่ร้องเพลงไทย วงดนตรีไทยทุกสาบัน มีชมรมวงดนตรีไทยทุกสถาบัน แต่เมื่อจบการศึกษาไปแล้วก็เลิก เพราะเขาหาเวทีแสดงไม่ได้ ผมก็ยังเสียดายอยู่ ทุกมหาวิทยาลัยมีชมรมดนตรีไทยทั้งนั้น ปีหนึ่งเขาจะมีดนตรีไทยอุดมศึกษาสัญจรไปแต่ละภูมิภาค แต่ละจังหวัด
ช่วงหลังนี้จบแล้วก็คือพับไว้เลย เพราะหากินไม่ได้ ไม่มีใครจ้าง สมัยก่อนมีรายการให้ไปออกโทรทัศน์แต่ละช่อง วิทยุแห่งประเทศไทยมีออกอากาศทุกเสาร์อาทิตย์ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว แต่ก็ยังได้สมเด็จพระเทพฯ ท่านสนับสนุนอยู่ ก็ทำให้ไม่สูญได้ ท่านชอบทางด้านนี้ ก็เลยดำรงอยู่ได้ในตอนนี้”
ฉายา “โฆษกคณะปฏิวัติ” 2 ทศวรรษ
“โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง” เป็นประโยคยอดฮิตติดหูในช่วงการรัฐประหาร ปี พ.ศ.2549 น้ำเสียงที่นุ่มชวนฟังแต่แฝงด้วยความหนักแน่นจริงจังของพลตรีประพาศ จนถูกศิลปินตลกนำประโยคนี้ไปล้อเลียนเล่นมุกสนุกสนานอยู่ช่วงหนึ่ง
โดยบรรยากาศช่วงนั้นโทรทัศน์และวิทยุไม่มีอะไรให้ดูให้ฟัง นอกจากเพลงปลุกใจ และประกาศหรือแถลงการณ์จากคณะรัฐประหาร ทำให้เสียงพลตรี ประพาศยังติดหูอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน
“ที่บอกว่าโปรดฟังอีกครั้ง เมื่อก่อนหลังจากที่ผมอ่านจบแล้วเขาจะยกนิ้วขึ้นมาว่าให้อ่านอีกแล้ว ผมก็เลยต้องพูดว่า โปรดฟังอีกครั้ง นั่นคือที่มาของประโยคนี้
รับราชการอยู่ในกรมการทหารสื่อสารมาโดยตลอด การทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศคำสั่งปฏิวัติแต่ละครั้งไม่เคยได้รับการแจ้งให้รู้ล่วงหน้า แจ้งปุ๊บก็ต้องรีบแต่งตัวเดินทางเข้าช่อง 5 ทันที ล่าสุดปี 2549 ทหารยึดอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตนอยู่บ้านก็ถูกเรียกตัวด่วน”
ได้รับฉายาว่าเป็น "โฆษกคณะปฏิวัติ" เนื่องจากมักเป็นผู้ที่อ่านประกาศของคณะรัฐประหารหรือคณะปฏิรูปหรือเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงของชาติหลายครั้ง
ไม่ว่าจะเป็นผู้อ่านประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในเหตุการณ์รัฐประหาร เมื่อปี พ.ศ. 2534 หรือ อ่านประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ. 2535 และอ่านประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) ในการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2549
“จริงๆ การปฏิวัติผมไม่ค่อยชอบ แต่ที่เราทำหน้าที่คือเป็นผู้ประกาศตามหน้าที่เท่านั้นเอง แต่จะให้ไปร่วมปฏิวัติด้วยผมไม่เอา เมื่อเราทำหน้าที่อันนี้ เราก็ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด อ่านให้ดีที่สุด ใช้เสียงให้ดีที่สุด เน้นให้ดีที่สุด ให้คนฟังได้มีความเชื่อในคำที่เราประกาศไป”
ทุกครั้งที่ทำหน้าที่อ่านประกาศเหล่านั้น พลตรีประพาศจะมีประโยคทิ้งท้ายไว้สอดแทรกเตือนคนในชาติให้ได้คิดเสมอ
“แต่ทุกครั้งที่ผมถ่ายทอดผมไม่ได้พูดแค่เนื้อหาอย่างเดียว ผมมีการทิ้งท้ายไว้ก่อนจะจบเสมออย่างเช่น อ่านเหตุการณ์ช่วงนั้นว่าเป็นอย่างไรเสร็จแล้วก็จะทิ้งท้ายว่า
ยุคใดสมัยใด คนในชาติแล้งน้ำใจ ไร้การเสียสละ ชาติย่อมประสบกับความย่อยยับอับจนด้วยน้ำมือของอริและศัตรูได้โดยง่าย ชาติไทยก็เช่นเดียวกัน เคยประสบกับความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงมาแล้ว แต่บรรพชนชาวไทยผู้กล้าหาญในอดีต ต่างก็ได้เสียและต่อสู้กอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้ด้วยชีวิต เลือดเนื้อ สละน้ำตา นับว่าเป็นบทเรียนอันล้ำค่า ที่มอบไว้ให้คนไทยทั้งชาติได้จดจำ อันนี้คือสิ่งที่เราเพิ่มเข้าไปเองนะ
หรือไม่ก็ บนผืนแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้แทบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีแม้แต่กระเบียดนิ้วเดียวที่จะไม่มีกระดูก และหยาดเลือดของบรรพบุรุษทับถมชโลมทาไว้ จะทิ้งท้ายเตือนความจำไว้เสมอเพื่อไม่ให้คนลืม
หรือจะเป็น ผู้ที่ผ่านชีวิตเป็นทหารมาแล้ว สิ่งที่ไม่เคยลืมเลือนเลยตลอดชีวิต นั่นก็คือจิตสำนึกในความรักชาติรักแผ่นดิน ยึดมั่นในความถูกต้อง”
เลี้ยงไก่ชน-ปลูกไม้ประดับ-สะสมพระเครื่อง-รถจี๊ป
ใช้ชีวิตส่วนตัวกับกิจกรรมยามว่างเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงไก่ชนสายพันธุ์หายาก ปลูกไม้ประดับ สะสมพระเครื่อง และรถจี๊ป
“เดี๋ยวนี้อยู่บ้านอย่างเดียว ไม่มีใครพาไปไหน (หัวเราะ) เมื่อก่อนชอบเลี้ยงไก่ชน แต่ตอนนี้เลิกเลี้ยงแล้ว ตอนนั้นก็เลี้ยงเป็นร้อยๆ ตัว เลี้ยงไว้เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ พันธุ์ไก่เหลืองหางขาวที่พระนเรศวรมาตีกับพม่าชนะ อันนั้นไปซื้อมาจากพิษณุโลกซื้อพันธุ์มาเลี้ยงไว้เพียงอนุรักษ์เท่านั้น ตอนนี้ก็ให้คนอื่นไปหมดแล้ว ให้ไปแบบฟรีๆ เลย
ชอบปลูกต้นไม้ ไม้ประดับ มีต้นตะโกดัดเป็นไม้ประดับสามารถดัดเป็นช่อๆ มีปลูกพืชสมุนไพรฮวานง็อกด้วย แก้ลำไส้ ปิดแผล โรคกระเพาะช้ำในอะไรพวกนี้ คนที่ไปเวียดนามเขาเอามาฝากก็เลยได้ปลูก สมุนไพรอันนี้รักษาไก่ชนได้ด้วย เอาไปขยี้ๆ ยัดปากแล้วกรอกน้ำตาม ไก่ช้ำในแล้วหายเลย นกกระจอกจะชอบมากินเพราะรู้ว่าเป็นยา”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องพระเครื่องที่สะสมมาตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อย จนถึงตอนนี้ก็ยังมีเหล่าเพื่อนฝูงมาเยี่ยมเยือนพูดคุยเรื่องพระเครื่องอย่างไม่ขาดสาย
“ใช่ผมชอบสะสมพระเครื่อง พรรคพวกจะมาดูทุกวันพุธ ทุกวันนี้ก็มา มานั่งตรงหน้าบ้าน ทุกคนมีขีดความสามารถในการดูพระเก่งทุกคน ก็จะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่าพระองค์นี้เป็นยังไง อะไรเป็นยังไง ก็ศึกษาไว้ สะสมพระมาตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อย (หัวเราะ)
ส่วนการสะสมพระเครื่องส่วนใหญ่ผมจะเล่นพระกรุ พระรอด พระหงส์สุพรรณ พระรอดเนี่ย 1,300 ปี ได้มาจากแถวๆ นี้บ้าง ได้สุพรรณบุรีบ้างก็ไปเช่ามา คือสุพรรณฯ ไปหามาตามบ้าน บ้านที่เขาอยากจะปล่อยพระเราก็ให้ลูกน้องอยู่ที่นั่น ก็ไปหาเช่ามาให้
สำหรับพระเครื่องก็ถือว่ามีเยอะเหมือนกัน หลังๆ ได้พระบูชามาด้วย เอามาจากทางเหนือได้มา 10 ปีได้แล้วมั้ง บางองค์อายุยาวนานกว่า 800 ปี คือเราเป็นห้องดนตรีเมื่อเวลาจะไหว้ครู ก็ต้องไหว้พระประกอบ”
ของสะสมอีกหนึ่งอย่างที่เจ้าของเสียงอันไพเราะภูมิใจนำเสนอนั่นคือรถจี๊ปที่จอดเรียงรายในบริเวณบ้าน พร้อมเล่าอีกว่าที่ชื่นชอบขับรถจี๊ปเพราะปลอดภัยกว่าขับรถชนิดอื่น ไม่มีใครกล้ามาเบียดแซงได้ โดยเจ้าของรถจี๊ปเล่าอีกว่าซื้อมาในราคาตั้งแต่ 20,000 -700,000 บาท
รถจี๊ป 7 คัน สะสมมาตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อย
“รถจี๊ปมี 7 คน วิ่งไปเชียงใหม่ได้ทุกคัน สะสมมาตั้งแต่จบโรงเรียนนายร้อย จบเมื่อปี พ.ศ. 2506 ก็ไปซื้อรถจี๊ปมาเลย คันแรกตอนนี้ก็ยังเหลืออยู่นะ ลูกทุกคนขับรถเป็นด้วยรถคันนี้ ตอนนั้นซื้อคันนี้มาในราคา 20,000 บาท ราคาซื้อไม่แพงหรอก แต่จะแพงอยู่ที่ต้องหาอุปกรณ์อื่นใส่เพิ่ม ต้องตีเหล็กอัดเข้าไป
ตอนหลังไปเจอซากทีไหนอีกก็ซื้อมาเรื่อยๆ คือขับรถจี๊ปมันปลอดภัยกว่าขับรถเก๋ง ไม่มีใครกล้ามาแซง ไม่มีใครกล้ามาเบียด ไม่เหมือนเก๋งที่ปาดซ้ายปาดขวา”
แม้ว่าอายุจะมาก มีโรครุมเร้า อีกทั้งสูญเสียคู่ชีวิตไปแล้วกว่า 10 ปี แต่ด้วยจิตใจที่เข้มแข็งทำให้ชายผู้นี้ก้าวผ่านปัญหาเหล่านั้นมาได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะยังอยากทำในสิ่งที่ตนรัก อย่างการขับเสภา
“โรคผมเยอะเลย ผมใส่แบตเตอรี่ด้วยนะ ฝังอยู่อกข้างซ้าย ฝังมาได้ปีหนึ่งแล้ว แบตเตอรี่ก้อนนี้อายุการใช้งาน 8 ปี คือหัวใจเราทำงานแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ ช่วยให้หัวใจเราทำงานคงที่ เคยได้ยินไหมที่เขาบอกว่าคนไหลตายอันนั้นแหละคือหัวใจไม่ทำงานแล้วหลับไปเลย แบตเตอรี่อันนี้จะช่วยกระตุ้นให้ไม่เป็นไร อันนี้ไปฝังที่โรงพยาบาลรามาฯ 6 เดือนต้องไปเช็กว่าแบตเตอรี่ทำงานไหม
เบาหวานก็เป็น ต้องมียามาฉีดที่พุงทุกวัน ฉีดมาได้ 3 เดือนแล้ว กินยาไม่อยู่ก็ต้องฉีด แล้วก็มีการเจาะเลือดด้วย เจาะที่นิ้วเพื่อดูว่าตอนนี้เบาหวานเท่าไหร่ สองสามวันเจาะที ความดันตอนนี้ก็คงที่ แต่เบาหวานต้องฉีดที่พุง จนพุงจะพรุนหมดแล้ว(หัวเราะ)
อีกหนึ่งโรคที่เป็นปัญหาคือน้ำจะท่วมปอด ติดเชื้ออยู่ตลอด เพราะหัวใจไม่ปั่นน้ำออกจากปอดให้หมด หัวใจทำงานแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อทานน้ำมากๆ น้ำก็จะท่วมปอด เมื่อเดินออกไปข้างนอกรับควันต่างๆ เข้ามา มันก็จะทำให้มันติดเชื้อ เมื่อปีที่แล้วไหว้ครู คนมาที่นี่เต็มไปหมด ปอดติดเชื้อ ต้องเข้าโรงพยาบาลต้องไปฉีดยาฆ่าเชื้อ ต้องนอนโรงพยาบาล ถ้าจะออกไปข้างนอกต้องใช้ผ้าปิดปาก”
ทุกวันนี้ชายวัย 86 ผู้นี้ ก็พยายามออกกำลังกายดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพราะในเมื่อยังไหวอยู่ก็ยังอยากขับเสภาต่อไปให้นานที่สุด
“ก็มีออกกำลังกายบ้าง ออกไปเดินข้างนอกบ้าง แล้วตอนนี้ก็ไม่กินหวาน อยากกินอะไรหวานๆ อย่างข้าวเหนียวสังขยาต้องรีบหันหน้าหนี ทุเรียนก็ต้องหันหน้าหนีไม่ต้องไปมอง(หัวเราะ)”
ภูมิใจที่สุดรับหน้าที่บรรยายงานราชพิธี นอกจากเจ้าของเสียงขับเสภาละครจักรๆ วงศ์ๆ และตำนานเสียงประกาศปฏิวัติแล้วนั้น ยังได้รับโอกาสให้เป็นผู้บรรยายงานพระราชพิธีและรัฐพิธีหลายต่อหลายครั้ง โดยงานที่ภูมิใจที่สุดคือได้เป็นหัวหน้าผู้บรรยายในงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และได้เป็นหัวหน้าคณะผู้บรรยายในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ “ภูมิใจที่สุดคืองานครบรอบ 60 ปี ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ผู้นำต่างประเทศที่เข้ามางานเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปี ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตอนนั้นผมถ่ายทอดทุกวัน แล้วก็มีงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จย่าฯ สมเด็จพระพี่นางฯ รับมาตลอด ก็มีงานสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ ๙ ผมไม่ได้ไป การบรรยายก็มีการแบ่งงานไปคนละจุด สำหรับผมเองจะเป็นคนปล่อยเสียงแบ็กกราวนด์แทรกให้เสียงปี่กลองต่างๆ ให้ได้ยิน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้ยินเลย อ่านทับหมดเลย” แต่กว่าจะได้รับเสียงชื่นชมและไว้ใจให้ทำหน้าที่นี้ ก็ต้องศึกษาหาข้อมูล เตรียมตัวเป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด เพราะการบรรยายเป็นการออกอากาศสดทั่วโลกต้องได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง “การถ่ายทอดผมต้องหาข้อมูล เอาหมายกำหนดการมาดู ภาพจะเกิดตรงไหน เกิดอะไร เราไปดูก่อนวันหนึ่งจะได้รู้ เพราะว่าเราบรรยายไปบางทีภาพไม่ตรงกับสิ่งที่เราบรรยาย อีกอย่างถ้าภาพตัดไปที่อื่นเราก็ต้องพูดได้ เราก็ต้องหาข้อมูล ทำสคริปต์ของเรา โน้ตสคริปต์ของเราไว้ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ก็จับกำหนดการไปบรรยายเลย นั่นเป็นสิ่งที่ผิด เราต้องมีการเตรียมการ ต้องทำการบ้าน” |
สะท้อนการเมืองไทย “ทหารอย่ายุ่งการเมือง” แน่นอนว่าทุกคนอยากเห็นบ้านเมืองสงบ ในฐานะอดีตนายทหารที่เคยทำหน้าที่อ่านคำสั่งปฏิวัติมาก่อน ก็ได้สะท้อนถึงความรู้สึกการเมืองในบ้านเราว่า ปัญหาการเมืองบ้านเรานั้นแก้ยาก มันเป็นแบบนี้มาตั้งนานแล้ว (หัวเราะ) มันก็เป็นอย่างนี้แหละ อาจจะเป็นดวงเมืองมากกว่ามั้ง (หัวเราะ) อีกทั้งทหารต้องทำหน้าที่ทหาร ในความคิดของผมนะ อย่ายุ่งการเมืองเลย พอมายุ่งกับการเมืองก็มีแต่ข้อเสีย เราทำหน้าที่ทหารให้ดีที่สุด ไม่อยากให้ทหารโดดมาเล่นการเมือง เพราะทหารเราฝึกให้มาเป็นทหาร แต่ทหารที่ไปช่วยประชาชน เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ช่วยเหลือแบบนั้นโอเคเห็นด้วย |
เคยเป็นอาจารย์สอน “พล.อ.ประยุทธ์” หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ก็ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ยังได้เป็นอาจารย์ผู้สอนของนายทหารผู้มีบทบาทสำคัญในประเทศอีกหลายท่านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผมเลือกมาอยู่เหล่าสื่อสารมาทำงานช่อง 5 หลังจากจบแล้ว ผมก็เลือกที่จะมาเป็นอาจารย์สอนนักเรียนโรงเรียนนายร้อย ผมสอนมา 18 ปี คนที่เป็นพลเอกตอนนี้ผมก็เคยสอนมาทั้งหมด รุ่นที่เป็นลูกศิษย์ผมคือคนที่ยศพันเอกขึ้นไป พันเอกถึงพลเอกลูกศิษย์ผมทั้งนั้นเลย |
อดีตพระเอกดัง “คุณเปรม” มีโอกาสแสดงละครเวทีเฉพาะพระพักตร์ และละครโทรทัศน์หลายเรื่องด้วยกัน โดยเรื่องที่สร้างชื่อเสียงได้แก่ สี่แผ่นดิน ในปี พ.ศ. 2517 โดยรับบทเป็นคุณเปรมตัวเอกของเรื่อง ตอนนั้นผมอ่านข่าวอยู่ที่ช่อง 5 พี่สุพรรณ บูรณะพิมพ์ ท่านก็อยู่ที่ช่อง 5 ท่านมาออกรายการต่อจากผม ท่านก็บอกว่าคุณพาศเล่นละครให้พี่ได้ไหม ผมก็บอกว่าผมเล่นไม่เป็นหรอก แกก็บอกว่าเอาน่ะเดี๋ยวสอนให้ ผมเล่นละครมาก็หลายเรื่อง ผู้ดีจอมปลอมก็เล่น ผมก็รับเล่นเรื่องย่อยๆ มาก่อน เอาทุกเรื่อง แต่ผมเล่นเฉพาะช่อง 5 นะ เพราะเป็นช่องทหาร ไปเล่นช่องอื่นไม่ได้ เรื่องที่ทำชื่อเสียงคือสี่แผ่นดิน เล่นเป็นคุณเปรม เป็นพระเอก เรื่องสี่แผ่นดินผมเล่นเป็นครั้งที่ 2 ครั้งแรกคือ อาคม มกรานนท์ ครั้งที่ 3 ภิญโญ ทองเจือ ครั้งที่ 4 ฉัตรชัย เปล่งพานิช ครั้งที่ 5 ตุ้ย-ธีรภัทร์ สัจจกุล ซึ่งกว่าที่ละครจะจบผมรับบทคุณเปรมมา 1 ปีเต็มๆ |
สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ภาพ: ปัญญพัฒน์ เข็มราช
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Junji Min”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **