xs
xsm
sm
md
lg

‘ฝาย’ เครื่องมือที่ทำให้คนอยู่ได้ น้ำอยู่ด้วย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วันเวลาที่เปลี่ยนแปลงทำให้วิถีชีวิตของคนไทยที่เคยอยู่ร่วมกับสายน้ำเปลี่ยนไป แม้สายน้ำจะเคยอยู่คู่กับคนไทยในแทบจะทุกเรื่องตั้งแต่การคมนาคม การอุปโภคบริโภค พิธีกรรมต่างๆ และอีกสารพัดความเกี่ยวพันระหว่างคนกับน้ำ

ในวันนี้ที่น้ำยังคงเป็นส่วนสำคัญของทุกชีวิต แต่ลดบทบาทลงบ้างในบางด้าน และในหลายครั้ง น้ำกลับกลายเป็นปัญหาสำหรับมนุษย์ เช่น ภัยพิบัติต่างๆ การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับน้ำจึงต้องอาศัยการปรับตัวให้อยู่ในจุดที่พอเหมาะและสมประโยชน์ทั้งสองฝ่ายโดยไม่ทำลายธรรมชาติ



การสร้างฝายเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับน้ำทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วม ซึ่งสำหรับการสร้างฝายของกรมชลประทาน นายมหิทธิ์ วงศ์ษา หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ 2 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน อธิบายว่ามีหลายวัตถุประสงค์ แต่วัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งคือ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำ

“เวลาฝนตกลงมาที่อ่างเก็บน้ำ ถ้าพื้นที่ไหนไม่มีป่า หรือมีป่าแต่สภาพดินไม่ดี เราจึงร่วมกับกรมป่าไม้หรือกรมอุทยาน เราให้งบประมาณเพื่อทำฝายชะลอน้ำ อย่างแรกที่จะได้คือได้ความชุ่มชื้น เมื่อมีความชุ่มชื้น สภาพป่าก็จะกลับมา ทำให้ระบบนิเวศฟื้นฟู

เหตุผลต่อมาคือเพื่อดักตะกอน ถ้าฝนตกแรงๆ สังเกตว่าน้ำจะแดง นั่นเพราะมีตะกอนถูกพัดมาด้วย ตามแนวทางอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงวางรากฐานให้เราทำตรงนี้ อย่างน้อยเรื่องการดักตะกอนไม่ให้ไหลลงอ่างเก็บน้ำ จะช่วยยืดอายุของอ่างเก็บน้ำ”



อย่างที่ทราบกันดีว่าอ่างเก็บน้ำถูกสร้างตามชายขอบป่าบ้าง ในป่าบ้าง โครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจึงมีการศึกษา มีแผนป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ปลูกป่า และหนึ่งในนั้นคือการทำฝายชะลอน้ำ แต่กับบางพื้นที่ฝายถูกใช้เพื่อแก้ปัญหาที่คาราคาซังและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตผู้คนมาช้านาน

ในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา ประสบอุทกภัยและภัยแล้งเป็นประจำ จากการที่ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ศึกษาดูงานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าเชียด สำนักงานชลประทานที่ 16 กรมชลประทาน อ.บางแก้ว จ.พัทลุง พบว่า ทางด้านคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา ครอบคลุม อ.ระโนด อ.สทิงพระ อ.กระแสสินธุ์ และ อ.สิงหนคร พื้นลุ่มต่ำ มีปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งสั่งสมมานาน จึงได้แก้ไขเพิ่มปริมาณน้ำ ในการเพาะปลูกในฤดูแล้ง ประมาณ 16,000 ไร่



และเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในฤดูแล้งได้ถึงประมาณ 8,700 ไร่ ด้วยการปรับปรุงฝายท่าเชียดสูงขึ้น 3 เมตร เพื่อให้มีระดับและควบคุมเพื่อการส่งน้ำที่ดีขึ้น เก็บน้ำเพิ่มได้ขึ้นถึง 300,000 ลบ.ม.ส่วนจุดระบายน้ำได้ปรับปรุงคลองระบายน้ำเทศบาลตำบลแม่ขรี เพื่อช่วยลดปัญหาอุทกภัย

การสร้างฝายเพื่อชะลอน้ำที่กรมชลประทานทำในหลายพื้นที่ จึงไม่ใช่แค่การสร้างสิ่งปลูกสร้าง แต่เป็นวิถีทางให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างไม่กระทบซึ่งกันและกัน ผ่านเครื่องมืออันเกิดจากภูมิปัญญาและความรู้ด้านวิศวกรรมอย่างง่าย แต่ได้ผลดีเกินคาด




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น