ต้องเปิดใจ ถึงปลอดภัย…เชฟรอน - มูลนิธิแพธทูเฮลท์ - 8 อปท.สงขลา ขับเคลื่อน “โครงการส่งเสริมสุขภาวะเยาวชน” ตอน “แค่เราปรับ ลูกก็เปลี่ยน” เวทีแลกเปลี่ยนความคิด ปรับทัศนคติพ่อแม่ ติดอาวุธเรื่องเพศให้วัยรุ่น ลดปัญหาท้องก่อนวัยอันควร
“ท้องไม่พร้อม” แก้ยาก แต่แก้ได้
“สลด เด็กแรกเกิดถูกทิ้ง คาดฝีมือแม่วัยรุ่น”!!
หนึ่งในพาดหัวข่าวสุดหดหู่ที่พบบ่อยจนชินตา คงหนีไม่พ้นกับกรณีทารกที่เพิ่งลืมตาดูโลก แต่กลับถูกทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ และเมื่อเจ้าหน้าที่สืบเสาะหาเบาะแสไปเรื่อยๆ ก็พบว่า ส่วนใหญ่เกิดจากฝีมือแม่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมและไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร
ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์กรอนามัยโลก เผยให้เห็นสถิติใหม่ของการตั้งครรภ์ของหญิงสาวในวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี ในปี 2561 ประเทศไทยติดอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยพบว่าไทยมีแม่วัยรุ่นถึงปีละ 150,000 แสนคน
แม้ปัจจุบันจะมีการให้ความรู้เรื่องเพศในสถานศึกษามากขึ้นเมื่อเทียบกับสมัยก่อน ทว่า...สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมกลับตรงกันข้าม เนื่องจากยังมีเด็กอีกจำนวนไม่น้อยที่ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศที่ถูกต้อง และไม่ตระหนักถึงปัญหาที่จะตามมา ซึ่งนอกจากปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นแล้ว ยังมีเรื่องอื่นไม่ว่าจะเป็น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์,แม่เลี้ยงเดี่ยว,เด็กถูกทอดทิ้ง, ความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงยาเสพติด
ปัญหานี้ นับได้ว่าเป็นปัญหาระดับชาติ ที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข นี่จึงทำให้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ มูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H) องค์กรพัฒนาสุขภาวะทางเพศและคุณภาพชีวิตของประชากร ได้ริเริ่ม “โครงการส่งเสริมสุขภาวะเยาวชน” มาติดอาวุธให้กับผู้ปกครองและเด็กๆ ได้เข้าใจเรื่องเพศมากขึ้น โดยได้มีการร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีเป้าหมาย เพื่อลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้แน่นแฟ้นกันมากขึ้น
“โครงการส่งเสริมสุขภาวะเยาวชน” ได้ดำเนินการมาเป็นเวลาหลายปีในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการทำงานกันอย่างเข้มข้น โดยการทำงานในระยะแรกที่นี่ เริ่มขึ้นกลางปี 2559 ในพื้นที่เป้าหมาย 4 เทศบาล ได้แก่ เทศบาลเมืองเขารูปช้าง , เทศบาลนครสงขลา ,เทศบาลตำบลพะวง และเทศบาลเมืองสิงหนคร ขณะนี้โครงการกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ระยะที่ 2 ที่ได้มีการเพิ่มพื้นที่เป้าหมายขึ้นอีก 4 เทศบาล คือ เทศบาลตำบลเกาะแต้ว อปต.ทุ่งหวัง อบต.เกาะยอ และ อบต.ชิงโค
ชูไชย นิจไตรรัตน์
ชูไชย นิจไตรรัตน์ หัวหน้าโครงการส่งเสริมสุขภาวะเยาวชนในจังหวัดสงขลา มูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวถึงการเข้ามาทำหน้าที่จัดกิจกรรม ปรับมุมมองเรื่องเพศของผู้ปกครองในพื้นที่ 8 เทศบาล ที่ยอมรับว่า...ไม่ใช่เรื่องง่าย
“ทางเชฟรอนติดต่อให้เรามาทำงานที่สงขลา 3 ปีแล้ว เราก็ชวน 8 อบต. ท้องถิ่นใหญ่ มีประชากรเป็นหมื่นๆ มาทำ ไม่ง่ายเลย วิธีการที่เราทำงานต้องลุ่มลึก ต่อเนื่อง มีคุณภาพ ทำยังไงให้คนที่เผชิญปัญหาได้รับการแก้ปัญหาอย่างครบวงจร ในช่วงแรกที่ทำก็ลำบาก แต่พอเวลาผ่านไปก็พบว่าสิ่งที่เราทำมันเห็นผลจริง ที่ผ่านมาการตอบรับค่อนข้างดีครับ”
ล่าสุด ทางเชฟรอน และ P2H จัดกิจกรรมเปิดห้องเรียน “ผู้ใหญ่คุยเปิดใจ ลูกหลานปลอดภัย” ตอน “แค่เราปรับ ลูกก็เปลี่ยน” เปิดโอกาสให้ตัวแทนผู้ปกครอง ที่ผ่านการอบรมในโครงการส่งเสริมสุขภาวะเยาวชน ตั้งแต่ระยะที่ 1 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 20 คนจาก ทั้งหมด 5,138 คน มาทบทวนสิ่งที่ได้รับไป
“ในกระบวนการกิจกรรมทบทวนพ่อแม่ ให้พวกเขาทบทวนตัวเองว่าเคยผ่านช่วงวัยนั้น มีความรู้สึกนึกคิดแบบนั้น ในช่วงกระบวนการนี้ก็เป็นการให้คำแนะนำ การป้องกัน ความเป็นวัยรุ่นในปัจจุบันมันมีสิ่งยั่วยุแตกต่างจากเมื่อก่อน ให้พ่อแม่คิดวิเคราะห์ เลี้ยงลูกแบบเดิมไม่ได้ ต้องเลี้ยงยังไงให้อยู่รอดปลอดภัยกับสังคมสมัยนี้ และสอนให้สื่อสารกับลูกในเชิงป้องกัน ถ้าในบ้านสามารถปรึกษาพ่อแม่ได้ ลูกก็จะไม่ไปปรึกษาคนอื่น เป็นการป้องกันจากในบ้านเอง ซึ่งผลที่ได้กลับมา ทุกบ้านต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ครอบครัวอบอุ่นและเข้าใจลูกที่กำลังก้าวสู่วัยรุ่นมากขึ้น
ปกติเชฟรอนก้าวหน้าเรื่องเทคโนโลยี เรื่องพลังงาน แต่ว่าทำไมมาทำตรงนี้ ผมเจอคำถามประเภทนี้บ่อย พอเรามาทำงานเรื่องคุณภาพกับเชฟรอน ก็หาพาร์ทเนอร์หลากหลาย ผมได้มีโอกาสไปคุยให้ผู้ใหญ่ในเชฟรอนฟัง ได้ยินคำนึงมาแล้วประทับใจมาก เขาบอกว่า “ต่อให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมันก้าวหน้า แต่ถ้าคนมันมีความทุกข์อยู่ข้างหลัง ต้องแก้ปัญหาตรงนี้ก่อน” ผมว่าตรงนี้เพราะมันทำช่วยคนได้จริงๆ”
นารี บุญสงค์
ทางด้าน นารี บุญสงค์ ฝ่ายกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ตัวแทนจากเชฟรอนที่ทำงานใน จ.สงขลามาเป็นเวลานาน และหนึ่งในภารกิจสำคัญของบริษัท คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนในพื้นที่ที่เชฟรอนเข้าไปปฏิบัติงานอยู่ จนนำไปสู่การจัดตั้งโครงการดังกล่าวเพื่อเป็นการแก้ปัญหาในคนในพื้นที่อย่างยั่งยืน
“โครงการนี้เราเริ่มจาก 4 เทศบาล ที่เรามีสถานประกอบการอยู่ในพื้นที่ เวลาเราจะทำงาน CSR เราลงไปคุยในพื้นที่ว่ามีปัญหาอะไร ปัญหาที่เกิดขึ้นคือตัวเลขเด็กท้องก่อนวัยอันควรที่มากที่สุดใน จ.สงขลา อยู่ใน อ.สิงหนคร เราก็มองว่าเชฟรอนมีศักยภาพอะไรบ้าง เรามีเพื่อนคือ P2H เป็นองค์กรพาร์ทเนอร์ที่ทำงานมาด้วยกันเป็น 10 ปี แล้วจึงชวนมาคุยเรื่องนี้กัน ให้ช่วยลงมาดูหน่อย
เริ่มจากการลงไปคุยหน้างานกับทุกหน่วยงานในพื้นที่ว่าสนใจมั้ย เรามีแรงที่จะหนุน P2H มีศักยภาพด้านวิชาการ แต่คนที่จะขับเคลื่อนจริงๆ คือคนในพื้นที่ เราต้องใช้เวลา 3 เดือนเพื่อคุยกับคนทุกภาคส่วนว่าจะทำมั้ย ถ้าทำต้องตั้งเป็นคณะทำงาน ทำอย่างเข้มข้น ไม่ให้ทุกคนรู้สึกว่าไม่ใช่หน้าที่
วันที่เราไปประชุม เราเห็นความต้องการของคนในชุมชนมากมาย แล้วเราก็ไปดูว่าตรงไหนเรามีเพื่อน มีเครือข่ายที่ทำงานได้ นี่คือจุดเริ่มต้นของเชฟรอนที่เข้ามาทำงานนี้ในสงขลา ซึ่งไม่ได้แตกต่างเลยกับก่อนหน้านี้ที่เราทำกับ P2H ที่ไปทำงานในพื้นที่อื่น เราลงพื้นที่และนั่งคุยกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
กิจกรรมแบบนี้ถ้าเราอยากทำแต่คนในพื้นที่ไม่อยากทำมันก็ไม่ได้ มันไม่ใช่งานก่อสร้าง แต่เป็นการปรับเปลี่ยนทัศนคติของคน เราใช้เวลาเป็นปีๆ ถึงบอกได้ว่าคนเริ่มเปลี่ยน เขาเริ่มเปิดรับ แต่ละเทศบาลก็แก้ไปตามวิถีของเขา เราคุยทั้งข้างล่าง ข้างบน และมาคุยตรงกลาง เพื่อให้รู้ว่านี่คือปัญหาร่วมกัน”
แก้ case by case ผ่าน “น้ำโมเดล”
สำหรับ 4 ภารกิจสำคัญของโครงการนี้คือ 1.การพัฒนาแกนนำเยาวชนเพื่อสื่อสารกับเยาวชนด้วยกัน 2.การส่งเสริมการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว 3.การพัฒนาทีมสหวิชาชีพเพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่เผชิญปัญหารายกรณี (Case Conference) และ 4.การสื่อสารบทเรียนในการพัฒนาต้นแบบของท้องถิ่นที่สามารถจัดการประเด็นการดูแลสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่นที่มีประสิทธิภาพ
แม้ในช่วงแรกในการดำเนินงาน “โครงการส่งเสริมสุขภาวะเยาวชน” จะเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย แต่เป็นโชคดีที่ในเวลาต่อมา ภาคีหน่วยงานอื่นๆ เปิดใจมากขึ้น จนทำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ชุติพรรณ สุริแสง หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนกองสวัสดิการและสังคม เทศบาลเมืองเขารูปช้าง ผู้ได้รับสมญานามว่า “ปวีณาแห่งเขารูปช้าง” เพราะเธอเป็นคนพื้นที่มีมีส่วนผลักดันเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน มาเป็นผู้สะท้อนหนึ่งในผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าว ให้ทุกคนได้รับทราบกัน
ชุติพรรณ สุริแสง
“พี่ทำงานตั้งแต่ระยะแรก ในการทำ Case Conference หรือการทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพเพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่เผชิญปัญหารายกรณี เราได้รับการอบรมจาก P2H ปกติหน้าที่ของกองสวัสดิการสังคม จะดูแลคนสูงผู้อายุ ผู้ด้อยโอกาส เด็กและเยาวชน เรื่องของสวัสดิภาพ แต่พอเราได้ร่วมโครงการนี้ เราได้รับเครื่องมือในการทำงานต่างๆ มันทำให้เราเห็นว่าการทำงานด้วยระบบนี้ สามารถดึงเครือข่ายและการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นได้อย่างหลากหลายและง่ายมากขึ้น
พี่ขอยกตัวอย่างเคส “น้องน้ำ” เป็นแม่วัยรุ่นเลี้ยงเดี่ยวอายุ 19 ปี ได้เจอเคสจากการที่ รพ.สต.ลงเยี่ยมแม่หลังคลอด และพบว่าแม่วัยรุ่นคนนี้มีปัญหาครอบครัวหลายๆ ด้าน ตัวแม่ของน้ำมีปัญหาหนี้นอกระบบ คุณยายมีปัญหาสุขภาพข้อเข่าเสื่อม น้องสาวที่กำลังจะเข้าสู่วัยรุ่นที่มีความเสี่ยงเกิดปัญหาเหมือนพี่สาว ส่วนลูกพี่ลูกน้องที่อยู่บ้านเดียวกัน มีความเสี่ยงเรื่องยาเสพติด
พอคนต้นเรื่องส่งเรื่องมา เราก็ลงเยี่ยมบ้าน พบว่าฐานะไม่ดี จึงเอากระบวนการของ Case Conference มาใช้ เชิญหน่วยงานภาคีต่างๆ ทั้ง สำนักพัฒนาสังคม โรงพยาบาลสงขลา ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ นิติกร สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ มาประชุมและนำเสนอเคสให้เห็น แต่ละหน่วยงานก็รับแก้ปัญหาแต่ละประเด็นไป
เราระบุไม่ได้ว่าจะแก้ตรงไหนก่อน แต่เรื่องแรกเราประสานเรื่องนมให้ลูกที่เพิ่งเกิด ต่อมาได้งบซ่อมแซมบ้าน 20,000 บาท ก็คลี่คลายทีละประเด็น เรื่องมันเกิดจากแค่ไปเยี่ยมแม่หลังคลอด จริงๆ จบเลยก็ได้ แต่มันมีความรู้สึกว่าเขาจะเข้มแข็งได้ก็ต่อเมื่อคนรอบข้างเข้มแข็งจริงๆ เราแก้ 2 ปีกว่าทุกอย่างจะคลี่คลายได้ เอาหนี้ของแม่เข้าระบบ ยายก็เข้าร่วมกิจกรรมผู้สูงอายุกับเทศบาล ปกติไปบ้านนี้ไม่เคยเห็นรอยยิ้ม แต่ตอนนี้ยิ้มออก เลยกลายเป็น “น้ำโมเดล” ต่อให้มีซัก 10 น้ำ เราก็แก้ปัญหาแบบนี้ได้”
ปลายฝน ทองอารัญ
นอกจากนี้ยังมี ปลายฝน ทองอารัญ แกนนำเยาวชนของโครงการ และหนึ่งในคณะบริหารสภาเด็กของเทศบาลเมืองเขารูปช้าง เธอเข้าร่วมโครงการในระยะแรกตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม และเมื่อก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยเธอก็ยังคงทำงานนี้ต่อเนื่อง โดยจะเน้นไปที่การให้ความรู้เรื่องเพศกลุ่มคนในวัยไล่เลี่ยกัน
“ที่ฝนเลือกทำงานในโครงการนี้ อันดับแรกฝนเป็นคนชอบงานช่วยเหลือสังคมอยู่แล้ว ชอบการทำกิจกรรม ก่อนหน้านี้ตอนที่ฝนเข้าไปอบรมจากการมีรุ่นพี่ชักชวน อย่างที่ 2 คือได้รับค่าตอบแทนที่เราสามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องรบกวนผู้ปกครองค่ะ การทำงานของฝนจะรับงานจากเทศบาลและเข้าไปทำจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพตามสถานศึกษาในพื้นที่ ร่วมกับทีมทำที่เคยเข้าอบรมและสมาชิกสภาเด็กด้วยกัน ส่วนใหญ่เพื่อนที่รู้ว่าเราทำด้านนี้ ก็จะมีพวกเพื่อนผู้ชายมาขอถุงยางอยู่บ่อยๆ ค่ะ(หัวเราะ)”
สุดท้าย เมื่อถามถึงการดำเนินงานร่วมกับทางเชฟรอน P2H และหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนต่างๆ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงไปในเชิงรูปธรรมอย่างไร ปวีณาแห่งเขารูปช้าง ก็ให้คำตอบว่าเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ
“ยุทธศาสตร์หนึ่งของเราคือ ป้องกันก็ทำ มีปัญหาก็ต้องทำ เปลี่ยนระบบการทำงานของหน่วยงานเหมือนกัน เริ่มที่เคสแม่วัยรุ่นแล้วนำกระบวนการแบบนี้ไปใช้กับกรณีอื่นๆ ได้หมด เราทำร่วมกับ P2H เราได้เครื่องมือมาหลายตัว ได้วิธีการทำงานที่เอามาต่อยอดได้เยอะ เกิดผลไปในทิศทางที่ดีมากและผลงานประจักษ์สู่สายต่อสังคม จนทำให้หน่วยงานที่สนับสนุนด้านงบประมาณ ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
จากตัวเลขที่มีวัยรุ่นไปคลอดที่โรงพยาบาลสงขลา จากตอนแรกสิงหนครเป็นที่ 1 ใน 16 อำเภอที่มีวัยรุ่นไปคลอดเยอะที่สุด ตอนนี้ตกลงมาอยู่ที่ 5 และตัวเลขแม่วัยรุ่นที่ออกจากสถานศึกษา เมื่อก่อนมีจำนวนพอสมควร พอโครงการนี้ขับเคลื่อนไป ตัวเลขนี้มันไม่มี เราก็ตีความว่าเกิดจากพวกเรา ส่วนครูในโรงเรียนที่เคยไปจัดกิจกรรมก็สะท้อนว่าปัญหามันเบาบางลง ทั้งปัญหายาเสพติดและความรุนแรงค่ะ”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **