xs
xsm
sm
md
lg

พร้อมผลัก "สงขลา" สู่ "มรดกโลก"!! เช็กอินประวัติศาสตร์ 200 ปี-สตรีทอาร์ทเพลินตา-คาเฟ่ชิคโดนใจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เสนอชื่อไม่ยาก แต่การจะได้เป็นยาก! เปิดเส้นทาง “เมืองเก่าสงขลา” สู่การเสนอชื่อเป็นมรดกโลก งัดเสน่ห์ “พหุวัฒนธรรม - สถาปัตยกรรมดั้งเดิม” เข้าสู้ ภายใต้การระดมสมองจากหลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายเดียวกัน “อยากเห็นเมืองเก่าสงขลาเป็นมรดกโลก”

แนวทาง “เมืองเก่าสงขลา” พัฒนาควบคู่อนุรักษ์

“เดินสองขาพาเดิน สองตามองเพลินถ้ายังเดินไหว หรือจะนั่งสามล้อ คนถีบเขารอ พ่วงข้างพาไป
ถนนยังชื่อนางงาม ยิ่งแลยิ่งงาม นครนอก คอนใน ห้องแถวบ้านเก่าโบราณ อยู่กันมานาน ทั้งคนจีนแขกไทย”

บทเพลงในบรรทัดข้างต้นคือบางช่วงบางตอนจากเพลง “เสน่ห์สงขลา” ที่ถูกขับร้องผ่านเสียงนุ่มๆ ของ ศุ บุญเลี้ยง เคล้าด้วยเสียงดนตรีที่มีกลิ่นอายปักษ์ใต้ ที่ว่ากันว่าหากใครร้องเพลงนี้ได้ ก็เหมือนกับได้ท่องเที่ยวไปทั่ว จ.สงขลา แล้ว

และสำหรับเนื้อร้องที่ยกมานี้ คืออีกหนึ่งจุดเช็กอินสำคัญของจังหวัด ที่ถูกหยิบขึ้นมาหารือและกำลังอยู่ในขั้นตอนการผลักดันให้เป็น “มรดกโลก” นั่นก็คือ “ย่านเมืองเก่าสงขลา” ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาอย่างยาวนานกว่า 200 ปี



ปัจจุบัน เส้นทางประวัติศาสตร์บนถนนนางงาม ถนนนครนอก และถนนนครในอันเลื่องชื่อ ถูกแต่งแต้มไปด้วย Street Art หรือศิลปะบนฝาผนัง เป็นภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่น ทั้งภาพการทำประมง,ภาพสภากาแฟยามเช้า,ภาพพ่อค้าเข็นรถขายอาหาร ฯลฯ ทั้ง 14 จุด จากฝีมือคนรุ่นใหม่ ที่แอบซ่อนอยู่ตามผนังตึกต่างๆ รอให้นักท่องเที่ยวมาถ่ายภาพอวดโลกโซเชียลฯ

ทั้งยังรายล้อมด้วยร้านอาหารคาวหวานท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น ขนมขี้มอด,ขนมการอจี๊,ไอศกรีมยิว,ข้าวสตูเกียดฟ่าง,ก๋วยเตี๋ยวใต้โรงงิ้ว,เต้าคั่ว และอื่นๆ อีกมากมาย ที่อยู่เคียงข้างกับคาเฟ่ชิคๆ สไตล์โมเดิร์นได้อย่างลงตัว โดยทั้งหมดอยู่ภายใต้อาคารสถาปัตยกรรมโครงสร้างเดิมอายุนับร้อยปี ที่นี่จึงเปรียบได้ดั่งตำนานที่ยังมีลมหายใจก็ว่าได้


ชนินทร์ สาครินทร์

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ชนินทร์ สาครินทร์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสงขลาและรองนายกภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม หนึ่งในคณะทำงานในการขับเคลื่อนสงขลาสู่เมืองมรดกโลกของ มาบอกเล่าถึงความสำคัญ ว่าเหตุใดชุมชนแห่งนี้ถึงควรค่าแก่การเป็นมรดกโลก

“หากศึกษาประวัติศาสตร์ เมืองสงขลาแห่งแรกอายุ 400 ปี เจ้าเมืองเป็นมุสลิม หลังจากนั้นย้ายเมืองมาอยู่ที่แหลมสน เป็นสงขลาแห่งที่ 2 ในสมัยพระเจ้าตากสินฯ เจ้าเมืองเป็นชาวจีน พอถึงรัชกาลที่ 3 เราย้ายเมืองจากแหลมสนมาที่อยู่บ่อยางถึงปัจจุบัน เจ้าเมืองเป็นคนไทย เพราะฉะนั้นที่นี่จึงมี 3 วัฒนธรรมรวมกันอยู่



แต่จริงๆ แล้วเมืองลักษณะนี้มีเยอะ ในแต่ละปีมีเมืองที่ได้เป็นมรดกโลกก็ประมาณ 30 แห่งครับ แต่มีคนเข้าคิวอยู่เป็นพัน ก็ต้องดูว่าใครเหมาะสม และเทรนด์เป็นเรื่องอะไร ไม่จำเป็นว่ามาก่อนแล้วจะได้ก่อน สิ่งสำคัญคือเราจะชี้มุมไหนให้เขาเห็น

การตั้งถิ่นฐานรอบทะเลสาบ เมืองอื่นไม่มีเหมือนเรา เกณฑ์ที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับสงขลาคือ เป็นเมืองท่าที่มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม อาคารสถาปัตยกรรมที่หาได้ยาก เป็นพหุวัฒนธรรมที่รวมอยู่ด้วยกัน เราอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการ คาดว่าจะเสนอชื่อในปี 2563

เรื่องการเสนอชื่อเป็นไม่ยาก แต่การจะได้เป็นยากครับ เพราะมันจะต้องได้รับการประเมินเบื้องต้นจากยูเนสโกก่อน ตอนนี้เรามีการจัดประชุมวิชาการเรื่อยๆ ดึงคณะกรรมการจากยูเนสโกเข้ามาดู เราต้องชี้ให้เข้าเห็นว่าเมืองเก่าสงขลามีความแตกต่างจากเมืองอื่นยังไง มีคุณค่ายังไง”



เมื่อถามถึงสิ่งที่สงขลาได้กลับมา หากได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกแล้ว รองนายกภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม ก็ให้คำตอบว่า รายได้จากการท่องเที่ยวของสงขลาที่โตขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 60,000 ล้านต่อปี จะก้าวกระโดดไปถึง 300 เปอร์เซ็นต์ เป็นอย่างน้อย เมื่อมองจากเมืองมรดกโลกอื่นๆ แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นที่ไม่สามารถประเมินค่าเป็นตัวเลขได้ ก็คือการได้อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองเก่าสงขลา ให้คงอยู่สืบไป

“เราก็คุยกันเรื่องหลักสูตรท้องถิ่น ทำยังไงให้เด็กเรียนรู้ให้มากขึ้น ปลูกฝังตั้งแต่เด็กว่านี่คือเมืองของเขา ก็จะช่วยหลายๆ เรื่องได้มาก มีคนรุ่นใหม่กลับเข้ามาอยู่มากขึ้น ที่นี่เป็นเมืองน่ารัก เราสามารถหากาแฟแก้วละ 10 บาทดื่มได้ แต่หากอยากดื่มกาแฟแก้วละเป็นร้อยก็อยู่ข้างกัน เราต้องการบาลานซ์เมืองเก่ากับความเป็นสมัยใหม่อยู่ด้วยกัน



สิ่งที่เรากำลังแก้ไขคือการท่องเที่ยวกลางคืนยังไม่มี แต่กลางวันคนเยอะ ก็คิดอยู่ว่าจะจัดกิจกรรมกลางคืนให้ ตอนนี้เรากำลังทำที่จอดรถขนาดใหญ่ และเราพยายามหารถสาธารณะมาขับวน เรื่องการจราจร ส่วนใหญ่เป็นทุกเมือง เพราะเมืองเก่าถนนจะเล็ก ก็จะส่งเสริมให้ใช้รถสาธารณะ รวมถึงการสร้างวินัยให้คน ก็ต้องใช้เวลานานเหมือนกัน

ก่อนหน้านี้วัฒนธรรมเก่าๆ เริ่มหายไปบ้าง เรากำลังเริ่มต้นให้สิ่งที่ยังอยู่ไม่หายไป ทั้งความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไทย จีน อิสลาม ซึ่งชาวบ้านเขาเข้าใจในระดับนึง ถึงแนวทางที่จะไปด้วยกันในเรื่องการอนุรักษ์และพัฒนา ให้เกิดรายได้กับลูกหลาน เราอยากให้บทบาทของทุกคนโดดเด่นเพราะทุกคนร่วมกันสร้าง เกิดความสามัคคี ตอนนี้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาก ก็เป็นนิมิตรหมายที่ดีครับ”

ปลุกสงขลาให้มีชีวิต กับศูนย์ “คิด บวก ดี”

แม้เมืองเก่าสงขลา จะมีต้นทุนทางวัฒนธรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม ความเป็นพหุวัฒนธรรม อาหารการกิน รวมไปถึงการร่วมแรงร่วมใจจากคนใจชุมชนที่ต้องการเห็นบ้านเกิดได้รับการพัฒนา แต่หากขาดการสนับสนุนด้านงบประมาณและผลักดันให้ถูกทิศทาง ก็คงยากที่จะเดินไปสู่จุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้...

ด้วยเหตุนี้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดสงขลามาอย่างยาวนาน จนกล่าวได้ว่าเป็นบ้านอีกหลังหนึ่ง ก็มีจุดมุ่งหมายที่อยากเห็นบ้านของตนเองพัฒนาและเป็นที่รู้จักในระดับสากลไม่ต่างจากคนท้องถิ่น เชฟรอน จึงขอเป็นจิ๊กซอว์อีกชิ้นที่จะทำความฝันของพื้นที่นี้ให้สมบูรณ์



และนี่จึงเป็นที่มาที่สู่จัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ย่านเมืองเก่า คิด บวก ดี” (Kid+Dee @ Historic Center) ขึ้นในปี 2561เพื่อเป็น Co -Working Space หรือพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่เชฟรอนสนับสนุนงบในการก่อสร้าง ก็ได้มีการร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคีเมืองสงขลาสมาคม เทศบาลนครสงขลา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ในการรวบรวมองค์ความรู้ทั้งจากคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อตกผลึกเป็นแนวทางสู่การพัฒนาที่มาจากคนในพื้นที่จริงๆ

นารี บุญสงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด คีย์แมนคนสำคัญจากทางเชฟรอนที่เป็นคนสงขลาแท้ๆ และอยู่ในพื้นที่ย่านเมืองเก่าสงขลาเป็นเวลานาน ได้เล่าถึงที่มาที่ไปว่า ได้รับทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งเกิดจากความต้องการของคนในชุมชนเอง จึงมีการนำเรื่องขึ้นสู่ผู้บริหารและนำมาสู่ความร่วมมือดังกล่าว


คมสัน โอ๊ยนาสวน และ นารี บุญสงค์

“เชฟรอนทำงาน CSR ในพื้นที่ 10 กว่าปีแล้วค่ะ ก็เกิดการมีส่วนร่วมและได้รับโอกาสจากหลายๆ ภาคส่วน ก็ต้องดูความต้องการของพื้นที่คืออะไร สอดรับกับนโยบายบริษัทหรือไม่ เรื่องไหนที่เหมาะสมเราก็จะเข้าไปทำด้วย

ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงป้ายสื่อความหมายที่เคยจัดทำให้แต่ชำรุดไปแล้ว ประสานงานกับภาคีและ มทร.ศรีวิชัย ให้การสนับสนุนเรื่องงบประมาณ และถามความต้องการของคนในพื้นที่ ก็ได้มีการปรับปรุงข้อมูลและรูปแบบให้มีความเหมาะสมกับแต่ละร้านค้า และเพิ่มข้อมูลภาษาอังกฤษและภาษาจีนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว

พอทำป้ายเสร็จก็มีคนชักชวนต่อจาก มทร.ศรีวิชัย ที่ได้อาคารเก่ามา แต่ยังขาดงบประมาณในการทำให้อาคารมีชีวิตชีวาขึ้น เราอยากมีกิจกรรมเคลื่อนไหว ก็เกิดมาเป็นอาคารแห่งนี้ ที่เกิดจากกระบวนการคิดร่วมกัน ศูนย์การเรียนรู้ย่านเมืองเก่า คิด บวก ดี เป็นที่ปล่อยของให้น้องๆ ในมหาวิทยาลัย เราสนับสนุนงบประมาณปีละ 1,000,000 บาท

การก้าวเข้ามาของเชฟรอนในฐานะผู้อาศัย ก็มาดูว่าอะไรที่ยังเติมแล้วไม่เต็ม ยังขาดตรงไหน เพราะเราอยากให้บ้านเมืองดีขึ้น คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มันก็เพียงพอที่เรามาอาศัยอยู่ใน จ.สงขลา



เชฟรอนมองว่าการทำงาน CSR ของเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการอะไร แต่ขึ้นอยู่กับว่าชุมชนต้องการอะไร เป้าหมายหลักของย่านเมืองเก่าที่สอดรับกับนโยบายบริษัทคือการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่เราจะทำให้ดีขึ้น ให้เป้าหมายเมืองเก่าสงขลาไปสู่มรดกโลกเป็นจริงให้ได้ ทุกคนอยากไปถึงจุดนั้น เชฟรอนก็อยากไปถึงจุดนั้นเหมือนกัน”

เช่นเดียวกับ คมสัน โอ๊ยนาสวน ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่เสริมถึงการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในโครงการนี้

“โครงการนี้มาจากนโยบายบริษัทที่ว่า เราทำงานที่ไหนก็จะร่วมพัฒนาพื้นที่นั้นไปด้วยกัน โดยหลักๆ เราเน้นไปที่เรื่องของ 4E คือ การศึกษา (Education) พลังงาน (Energy) สิ่งแวดล้อม (Environment) และเศรษฐกิจ (Economic) ทางเชฟรอนและหน่วยงานในท้องที่ เราไปด้วยกัน เป็นการศึกษาซึ่งกันและกัน เราก็เข้าไปสนับสนุนในเรื่องที่เราทำได้ และดูว่าจะสร้างความเข้มแข็งให้เมืองในมิติไหนบ้าง



อันดับแรกเรามองในเรื่องของความยั่งยืน เรามีโครงการที่คิดว่ามันตอบโจทย์ ย่านเมืองเก่ามันจะยกระดับสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ เรามีโครงการคุณแม่วัยใสที่เริ่มจากการสื่อสารในครอบครัว จากพ่อแม่ไปสู่เด็กวัยรุ่น เริ่มจากการแก้ปัญหาใกล้ตัว ซึ่งบ้านของเชฟรอนในพื้นที่ไม่ใช่มีแค่ที่นี่ ทุกสิ่งทุกอย่างมันเหมือนกับว่าพนักงานเป็นผู้อาศัยของแต่ละพื้นที่ ผู้บริหารก็ให้นโยบายว่า ถ้าเราจะเป็นผู้อาศัยที่ดี เราก็ต้องร่วมพัฒนาเมืองไปด้วยกัน”

“ศูนย์การเรียนรู้ย่านเมืองเก่า คิด บวก ดี” (Kid+Dee @ Historic Center) จึงอาจเปรียบได้กับพื้นที่ไร้กาลเวลา ที่เชื่อมระหว่างยุคเก่ากับยุคใหม่ ให้มาตกผลึกความคิดร่วมกัน จนเกิดเป็นแนวทางการพัฒนา ทั้งในเรื่องของคุณภาพชีวิตผู้คนและเศรษฐกิจ ไปพร้อมๆ กับการสร้างจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของต้นทุนในท้องถิ่น แต่ขณะเดียวกันต้องอยู่ภายใต้บริบทการฟื้นฟูและอนุรักษ์ให้ความเป็นเมืองเก่าคงอยู่สืบไปด้วย

และด้วยความเข้มแข็งจากทุกภาคส่วนที่เกิดขึ้นนี้ เชื่อเหลือเกินว่าในอนาคตอันใกล้ “ย่านเมืองเก่าสงขลา” จะถูกยกให้เป็น “เมืองมรดกโลก” อีกแห่งของไทยและของโลก อย่างแน่นอน...




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น