ผนังร้าว-พื้นบวม-หน้าต่างยัดโฟม “ร้องเรียนไป 10 กว่าครั้ง ไม่ได้รับการติดต่อกลับ” ผู้เสียหายเปิดใจ สารพัดปัญหาห้องชุดคอนโดฯ ราคาหลักล้าน แต่อุปกรณ์ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะ สามารถบอกเลิกสัญญาได้ หากได้รับความเสียหายจริง
“คอนโดฯ หลักล้าน” วัสดุชำรุดเพียบ!
“ได้เข้ามาอยู่คอนโดฯ แต่พบว่าข้างล่างเป็นห้องปั๊มน้ำค่ะ แล้วอีกห้องถัดมาก็จะเป็นห้องควบคุมระบบไฟฟ้า ซึ่งหลังจากที่ย้ายเข้าไปอยู่ เวลาเครื่องปั๊มน้ำทำงานจะมีเสียงดัง บางวันทำงานหลายๆ รอบ ดึกสุดก็ประมาณ 5 ทุ่ม ทำให้รบกวนเวลาพักผ่อนของเรา มันเสียงดัง แล้วก็มีแรงสั่นสะเทือนค่ะ
ร้องเรียนไปประมาณ 10 กว่าครั้ง ทั้งทำหนังสือเป็นทางการถึงประธานบริษัท แล้วก็แจ้งทางนิติบุคคลค่ะ จนปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับจากโครงการค่ะ”
ฝน-กัญญาภัค สระแก้ว ผู้อยู่อาศัยในคอนโดฯ ย่านสุทธิสาร เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live ผ่านปลายสาย ถึงเหตุการณ์ที่ตนเองและลูกบ้านคนอื่นๆ กำลังได้รับความเสียหายหลังจากได้เข้าไปอยู่อาศัยภายในคอนโดฯ ดังกล่าว แต่ต้องพบปัญหา ทั้งจากรอยร้าวของผนัง และวัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน
ทั้งนี้ การจะเข้ามาอยู่อาศัยเธอก็ได้มีการสอบถามกับเจ้าหน้าที่ว่าข้างล่างห้องชุดที่ต้องการเป็นพื้นที่โล่งหรือมีห้องอะไรอยู่บ้าง ซึ่งได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่าเป็นเพียงพื้นที่โล่ง สำหรับจอดรถหมุนเวียน เธอจึงมั่นใจที่จะซื้อห้องดังกล่าวในราคา 2.2 ล้านบาท
“เราก็ทำสัญญาจอง สัญญาจัดซื้อจัดขายค่ะ หลังจากนั้นก็รอให้ทางโครงการติดต่อกลับมาว่าให้มาจ่ายดาวน์งวดที่ 1 ที่ 2 เวลาพี่ไปจ่ายดาวน์โครงสร้างของการก่อสร้างก็ยังไม่เสร็จ เข้าไปก็ยังเห็นปูนเห็นอิฐอยู่ พอหลังจากนั้นจ่ายไปได้ 7-8 งวด เขาก็ติดต่อกลับมาว่าโอเครอบนี้จ่ายเท่านี้นะ เราก็สอบถามว่าโครงการไปถึงไหนแล้ว
ทางโครงการเขาก็บอกว่า 60-70% ก็ส่งเอกสารมาให้ดู แต่เราไม่เห็นหรอกว่าตรงนั้นมันเป็นพื้นที่โล่งๆ พอไปตรวจห้องก็ขึ้นไปชั้น 2 เลย ตรวจกันอยู่ 2-3 รอบ ตรวจข้อบกพร่อง (defect) ต่างๆ โอเค พอใจที่เขาแก้ไขให้ ก็ทำสัญญาซื้อขายโอนเรียบร้อย”
ไม่เพียงแค่นี้ หลังจากมาอยู่อาศัยเธอก็ได้ร้องเรียนไปที่นิติบุคคลว่าเครื่องปั๊มน้ำทำงานเสียงดัง รบกวนเวลานอน จึงขอให้มาช่วยมาดูหรือมาย้ายปั๊มออกไป เนื่องจากการทำสัญญาซื้อขาย เจ้าหน้าที่ไม่ได้บอกว่าข้างล่างเป็นปั๊มน้ำ หากบอกเธอก็คงจะไม่ซื้อคอนโดฯ ดังกล่าว
“คิดว่าเราถูกหลอกลวงค่ะ เพราะถ้าเกิดว่าเขาบอกเราตรงไปตรงมา เราก็จะไม่เลือกซื้อชั้นนี้ หรืออาจจะไม่ซื้อโครงการนี้ก็ได้ พอได้สำรวจห้องว่ามันมีเสียงดัง แล้วมีแรงสั่นสะเทือน ก็เลยเดินไปเช็กในห้องน้ำ พบว่า มีรอยร้าวค่ะ ตรงกำแพงในห้องน้ำ
ด้วยความที่เราเป็นคนช่างสังเกต เราก็เลยปีนฝ้าไปดูว่าจริงๆ รอยมันมาจากไหน พอเปิดเข้าไปก็เห็นมีรอยร้าวใต้พื้นเพดานห้อง แล้วก็ได้รับข้อบกพร่องต่างๆ ที่ทางโครงการเขาใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐานกับเรา แล้วก็ผู้พักอาศัยห้องอื่นๆ ด้วยค่ะ”
แต่มันก็ไม่ได้เสียหายจากแรงสั่นสะเทือน คืออย่างอื่นที่เป็นรอยร้าวเราเข้าใจว่าเขาใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐานกับห้องเรา หรือห้องอื่นๆ หรือเปล่า แล้วก็จะมีพื้นลามิเนตบวม เวลาน้ำซึมเข้ามาในหน้าต่าง ซึ่งขอบหน้าต่างของห้องเราไม่ได้ทำให้มันมาตรฐาน เวลาฝนตก สาดเข้ามา ก็ซึมเข้ามาเปียกผ้าม่าน แล้วก็ลามไปถึงพื้นลามิเนตค่ะ”
ทว่า เครื่องตรวจจับควันไฟ ภายในห้องของฝนก็ไม่พบไฟเซ็นเซอร์ จึงมีการทดลองจุดธูป บริเวณเครื่องจับควันไฟ แต่กลับพบว่าสัญญาณแจ้งเตือนไม่ทำงาน
ส่วนห้องพักบริเวณชั้น 7 เจ้าของห้องได้ทำการเจาะผ้าม่าน ปรากฏว่าตรงหน้าต่างที่เจาะแล้วเป็นรู เมื่อกรีดดูปรากฏว่าเป็นโฟมยัดอยู่ในขอบของหน้าต่างแทนวัสดุจากปูน ทำให้มีผู้เสียหาย รวมตัวกันร้องเรียนปัญหาแล้วกว่า 50 ราย
อย่ายอมโอน! หากเจอความชำรุด
“สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจซื้ออันดับแรกเลยคือ เราเช็กประวัติบริษัท ว่าโอเคเขาไม่เน่านะทางด้านอสังหาริมทรัพย์อะไรอย่างนี้ เพราะเขาพรีเซนต์ตัวเองว่าเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านก่อสร้างมา 25 ปี ตามโบรชัวร์ที่เขาเสนอการขายค่ะ”
ผู้ร้องเรียนย้ำถึงเหตุผลที่ตนเองตัดสินใจซื้อคอนโดฯ เพราะมีการเช็กประวัติมาแล้ว รวมทั้งยังเห็นว่ามีความสะดวกในการเดินทางมาทำงาน และยังมีคนในวงการบันเทิงมาซื้อ และบริษัทไม่ได้มีชื่อเสียงเสียหายมาก่อน เพราะมีการการันตีว่ามีความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านก่อสร้าง เธอจึงตัดสินใจซื้อ แต่ก็ยังมีความปลอดภัยอื่นๆ ที่ไม่ได้มาตรฐานอีกด้วย
“แล้วหลังจากนั้นเขาก็จ้างความปลอดภัยคือ รปภ. ซึ่งไม่ได้มาตรฐานนะคะ บางวันก็ดื่มเหล้า บางวันก็เปลี่ยนหน้าบ่อยครั้ง บางวันเห็นนั่งเล่นเกม ไม่ได้มีเดินตรวจตราแต่ที่เครียดก็คือ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ลูกบ้านทุกๆ คน ก่อนที่คุณจะให้เข้ามา โครงการคุณต้องแล้วเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ค่ะ”
ทางด้าน นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งได้ลงพื้นที่ให้คำแนะนำผู้เสียหายกว่า 50 ราย ได้ชี้แจงกับทีมข่าว MGR Live ว่า พบปัญหาหลายอย่างที่ไม่เป็นไปตามสัญญา แต่ผู้ซื้อก็มีการโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้วส่วนใหญ่ ซึ่งมีอยู่ไม่กี่ห้องที่ยังไม่โอนกรรมสิทธิ์
ส่วนคนที่โอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว บางคนก็จะมีหนังสือรับรองว่าจะไปแก้ไขข้อบกพร่องมาให้ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการแก้ไขแต่อย่างใด โดยการแก้ไขปัญหาหากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยตรวจสอบแล้วได้ผลเป็นอย่างไร จะมีการนัดบริษัทฯ เจรจาต่อไป
“บางคนดูแต่ห้องด้วยตาเปล่า มันไม่สังเกตอะไรเจอจนกว่าเราจะเข้าไปอยู่ คนที่เข้าไปอยู่ก็จะพบปัญหาว่าขอบประตูวงกบมันถูกอัดด้วยโฟม แล้วตรงส่วนนี้มันเป็นผนังที่กั้นห้องนอน แล้วพอมองออกไปก็คือวิวทิวทัศน์ ผนังถ้าไม่แข็งแรง ไม่ทนทาน วันข้างหน้าอาจจะเกิดอันตรายได้ เพราะมันสามารถหลุดไปได้ทั้งผนัง เพราะมันเป็นโฟมแล้วเป็นผนังใหญ่
ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้แสดงว่าโครงการผิดสัญญา ก็คือส่งมอบห้องไม่สามารถจะเข้าใช้ประโยชน์ตามนั้นได้ เราก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาในกรณีที่ได้รับความเสียหาย คือบริษัทไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลง แต่ประเด็นที่โอนไปแล้วจะค่อนข้างเสียเปรียบ ส่วนยังไม่ได้โอนก็ใช้สิทธิในการบอกเลิกสัญญาได้ ถ้าพบว่าห้องตัวเองชำรุดบกพร่องก็คือไม่เอาก็ได้”
ทั้งนี้ สัญญาการซื้ออาคารชุดต่างๆ จะมีคณะกรรมการว่าด้วยสัญญากำหนดไว้ อย่างเช่น กรณีซื้อบ้าน ซื้ออาคารชุดแล้วผู้ประกอบการไม่สามารถจะส่งมอบห้องได้ตามที่ตกลงในสัญญาได้ ผู้บริโภคมีสิทธิ 2 เรื่อง ดังนี้
1.บอกเลิกสัญญา ขอเงินทั้งหมดคืนได้ กรณีที่ยังไม่โอน 2.ใช้สิทธิในการคิดค่าปรับร้อยละ 0.01 ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของราคาซื้อบ้านหรือซื้อห้อง
“อยากฝากถึงคนที่จะซื้อบ้าน หรือคอนโดมิเนียมว่า อย่ายอมโอนหากพบว่าคอนโดฯ มีความชำรุดบกพร่อง แล้วตอนนี้เรามีความรู้เรื่องการซื้ออาคารชุดมากมายก็อยากให้ศึกษากันก่อน แล้วก็ควรจะซื้อคอนโดฯ ที่ผ่าน EIA (วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) แล้ว เพราะปัจจุบันเราพบว่า EIA มันไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนใหญ่ตอนนี้ใน กทม. มีความสุ่มเสี่ยงในการที่คอนโดฯ จะไม่สามารถสร้างได้ ถ้าคอนโดฯ มีความสูงลักษณะเกิน 10,000 ตารางเมตร คืออาคารที่สูงขนาดใหญ่ แต่คอนโดฯ นี้เขาไม่ได้สร้างสูงขนาดนั้น เขาสร้างแค่ 8 ชั้น อันนี้ก็เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายเพียงแต่ว่า EIA เราไม่ทราบว่าพื้นที่ตรงนี้ผ่านมาได้ยังไง เพราะว่าการเปิดใช้อาคารมันต้องมีการตรวจสอบ
สุดท้ายแล้ว ชุมชนชาวบ้านบริเวณนั้น เขาจะออกมาเรียกร้องเรื่องโครงการที่เขาได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอาคารสูงต่างๆ เหล่านั้น ดำเนินการยังไงก็ได้เพื่อไม่ให้มี EIA ผ่าน เพราะว่าเขาถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แล้วปัญหาเหล่านี้ก็จะเกิดกับผู้ที่ซื้อคอนโดฯ เป็นหลัก เพราะจะสูญเสียเงินตรงนี้ไป”
ข่าวโดย MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **