กระดูกสันหลังคด-ซึมเศร้า-กินยาเกินขนาด!! เจาะเส้นทางสาวไตรกีฬา “ดาว-ธันญ์วริน” กับสารพัดปัญหาทางกาย-ใจ ที่ถาโถมเข้ามาในชีวิต กระทั่งได้การออกกำลังกายมาเป็นยาวิเศษ สามารถพิชิตโรคซึมเศร้า ปลดล็อกชีวิตจากโลกสีเทาได้สำเร็จ ได้เป็นทั้งนักกีฬา และจิตอาสาทำเพื่อสังคม
“โรคซึมเศร้า” เกือบขโมยชีวิตไป!!
“เคยคิดฆ่าตัวตาย เป็นโรคซึมเศร้า กินยาซึมเศร้าเกินขนาดค่ะ กินไปหมดเลยค่ะ น่าจะเกิน 100 เม็ด เราใช้ทางออกผิด แต่พอกลับมาปั่นจักรยาน เราเริ่มรู้สึกว่า ชีวิตมันยังมีคุณค่า เรายังได้ทำอะไรเพื่อคนอื่นอีก มันกลายเป็นเป้าหมาย ได้คำตอบให้ตัวเองแล้วว่า ทุกวันนี้จะอยู่เพื่ออะไร จะทำอะไร”
ดาว-ธันญ์วริน กิตติธรรมกูล สาวสตรองนักไตรกีฬา เธอผ่านสนาม “IRONMAN 70.3” ซึ่งมีการจัดการแข่งขันอยู่หลายประเทศทั่วโลกมาแล้ว และเธอยังคว้าอันดับที่ 6 ในการแข่งขัน ไตรกีฬานาวีเฉลิมพระเกียรติครั้งที่ 4 ด้วยความอดทนและตั้งใจฝึกซ้อมอยู่ตลอดเวลา จนสามารถลบคำสบประมาทจากคนรอบข้างที่มองว่าเธอมีดีแค่หน้าตาได้
ที่สำคัญคือ อาจไม่เคยมีใครรู้มาก่อนว่าเธอนั้นเคยต่อสู้กับ “โรคซึมเศร้า” มานานถึง 7 ปี และถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตายมาแล้วถึง 2 ครั้ง และความเศร้าในเวลานั้นถือเป็นช่วงชีวิตที่เธอต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการรักษาใจตัวเอง
“เหมือนตอนนั้นโลกเป็นสีเทา สีดำๆ ไม่รู้สึกอยากทำอะไร อยากนอน ไม่กิน แล้วก็ไปจนถึงขั้นฆ่าตัวตาย วันนั้นกับวันนี้ เรารู้สึกดีใจมากที่เราทำไม่สำเร็จ เราถึงได้มายืนอยู่ทุกวันนี้ ถ้าวันนั้นเราทำสำเร็จ เราจะตายไปอย่างที่ไม่มีใครรู้จักเรา จะตายไปอย่างที่โลกไม่เคยจำว่ามีคนๆ นี้อยู่บนโลก
ช่วงนั้นเป็นอะไรที่มันทรมานมาก ต้องผ่านให้ได้ เหมือนใช้ชีวิตหายใจทิ้งไปวันๆ รู้สึกไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ก็ทิ้งตัวอยู่อย่างนั้นเป็นเดือน แล้วรู้สึกว่าเหมือนถูกทิ้งอยู่คนเดียว เราก็เลยเริ่มอยากไปเที่ยวที่ไหนคนเดียวไกลๆ ไม่ต้องมีใครยุ่งกับเรา แต่ทางบ้านเขาก็เป็นห่วงไม่ให้ไป
เราก็เลยหาอะไรที่มันช่วยได้ อย่างไปกินเหล้าก็สนุกแค่ชั่วคราว ตื่นมาเราก็ยังเจอปัญหาเดิม รู้สึกแย่เหมือนเดิม เลยมีเพื่อนชวนปั่นจักรยาน ปั่นครั้งแรกรู้สึกว่าสนุก ได้เที่ยว ความรู้สึกดีๆ เริ่มกลับมา การออกกำลังก็ช่วยได้ พอได้ปั่นจักรยาน ได้ไปรู้จักอะไรที่แปลกใหม่ในชีวิต เหมือนเราเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่เลย อะไรที่เราไม่เคยได้ทำมาก่อน เราได้ทำแล้วเรารู้สึกดี อาการก็เลยเริ่มดีขึ้น แล้วเราก็ไม่ต้องใช้ยา”
นอกจากนี้เธอยังเล่าว่า ในมุมมองของคนทั่วไปกับจิตแพทย์ อาจมองคนป่วยเป็นโรคบ้า ถึงต้องไปหาจิตแพทย์ แต่การที่ได้คุยกับหมอสามารถทำให้รู้สึกว่าตัวเองโล่งขึ้น และได้รับคำแนะนำโดยไม่มีความลำเอียงด้านใดด้านหนึ่ง อย่างน้อยก็ยังมีคนรับฟังเธอ ซึ่งเหมือนเป็นการได้ปลดปล่อยไปบ้าง
“รักษาด้วยยาแล้วรู้สึกว่ายาไม่ตอบโจทย์ ยาช่วยรักษาได้แค่อาการภายนอก เรานอนไม่หลับ หมอให้ยานอนหลับ เรามีภาวะซึมเศร้าหมอให้ยามาเพื่อปรับเคมีในสมอง
เอาจริงๆ ออกกำลังกายช่วยได้ ยาช่วยได้แค่บางส่วน แต่ทั้งหมดคุณต้องช่วยตัวคุณเองด้วย คนที่จำเป็นต้องใช้ยาก็ยังต้องใช้ยา แต่ถามว่าต้องใช้ยาตลอดไปไหม คือยาแค่รักษาทางร่างกาย แต่โรคนี้มันเป็นโรคทางจิตใจ เพราะฉะนั้น ต้องหาวิธีที่ทำให้เรารู้สึกดี จิตใจรู้สึกเข้มแข็ง ออกกำลังกายช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่คือต้องช่วยตัวเองด้วย
พอเรารู้ข่าวคนที่เขาฆ่าตัวตายด้วยภาวะซึมเศร้า เราก็รู้สึกว่าเราเข้าใจเขานะ ว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น แต่ก่อนเรารู้สึกว่าทำไมคนฆ่าตัวตายโง่จัง ชีวิตมันยังมีอะไรให้ทำอีกตั้งเยอะ”
กระดูกสันหลังคด “กีฬา” ช่วยบรรเทาได้
ดูเหมือนว่าการที่เธอเองต้องมาเจอกับโรคซึมเศร้า แล้ววันนี้สามารถผ่านตรงนั้นมาได้ เธอจึงรู้สึกเข้าใจสิ่งที่คนเป็นโรคนี้กำลังคิดอยู่ และอยากให้คนที่กำลังเจอปัญหาเช่นนี้หาทางออกให้ตัวเองได้ โดยที่ไม่ต้องจบชีวิตด้วยโรคนี้อีกต่อไป
ทว่า คนใกล้ชิดเองก็ต้องเข้มแข็งมากที่สุด เพราะคนที่กำลังเป็นโรคนี้เดูหมือนเป็นเด็กที่เอาใจยาก ต้องตามใจจนคนรอบตัวอาจจะเครียดหรืออาจจะป่วยตามไปด้วยได้
“คนที่ป่วยเขาไม่ได้แกล้งหรอก เขาเป็นจริงๆ แต่มันก็อาจดูเหมือนว่าเรียกร้องความสนใจเกินเหตุอะไรอย่างนี้ แต่ว่าถ้าเข้าใจลึกๆ จริงๆ แล้วหาจุดที่ทำให้เขาดึงเขาออกมาจากตรงนั้นได้ มันก็จะทำให้เขาดีขึ้น
ตอนนี้ทุกคนเริ่มรู้จักโรคซึมเศร้ามากขึ้นแล้ว เริ่มรู้ว่ามันคืออะไร เริ่มสังเกตคนรอบข้างว่าถ้ามีอาการแบบนี้คือ ภาวะที่เขาจะเป็นโรคซึมเศร้า เราเคยผ่านมาก่อน เรารู้ว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจจะเหมือนคนที่เรียกร้องความสนใจ อาจจะหาทางออกไม่ได้ ยาช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่ใจสำคัญที่สุด ถ้าจิตใจแข็งแรง ร่างกายมันสู้ได้อยู่แล้ว
เพราะฉะนั้น ใครที่กำลังเจอภาวะนี้ แนะนำว่าลองออกกำลังกาย ลองมาเปิดโลกใบใหม่ ลองหาสิ่งที่เราชอบ แล้วเราทำสิ่งที่เราชอบให้มันมีประโยชน์กับตัวเราด้วย แล้วมีประโยชน์กับคนอื่นด้วย อาการมันจะดีขึ้นค่ะ”
หลังจากรู้ว่าเธอต้องต่อสู้กับโรคซึมเศร้า จนกลับมามีชีวิตอยู่ในภาวะที่จิตใจปกติ ไม่ต้องพึ่งยาอีกต่อไป เพราะการออกกำลังกายช่วยฉุดเธอออกมาจากความเศร้าได้
แต่ก็ยังมีปัญหาสุขภาพที่ต้องเผชิญอย่าง “โรคกระดูกสันหลังคด” เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เยอะขึ้นจาก 60 กก. เริ่มทำให้เกิดอาการปวดหลัง ปวดสะโพก หมอจึงแนะนำว่าเธอควรหาวิธีออกกำลังกาย จนน้ำหนักสามารถลดลงมาอยู่ที่ 50 กก. โดยเธอเริ่มปั่นจักรยานตั้งแต่ตอนนั้น จนมาถึงวันนี้เป็นเวลาถึง 4 ปีแล้ว
“ปัจจัยอื่นจากที่ทราบมาคือ ผู้หญิงจะมีภาวะที่เป็นกระดูกสันหลังคดเยอะกว่าผู้ชาย แล้วสาเหตุหลักๆ ยังไม่มีค่ะ อาจจะมีช่วงเด็กที่เรามีภาวะที่สูงเร็วขึ้น อาจจะทำให้กระดูกสันหลังมีการเปลี่ยนแปลง แล้วเราไม่ได้ดูแลตัวเองดีพอทำให้กระดูกสันหลังคด
ตอนนั้นไม่มีอาการ ไม่มีอาการอะไร ไม่รู้ตัวเลย จนมารู้ตัวเองตอนโตแล้วว่า ทำไมเราปวดหลังบ่อย ทำไมเรารู้สึกขับรถนานๆ นั่งรถนานๆ แล้วเราเจ็บ ก็ไปเอกซเรย์แล้วเจอฟิล์มเอกซเรย์ ตอนแรกไม่คิดว่าเป็นของตัวเอง (หัวเราะ) คิดว่าเป็นของน้องที่กำลังนั่งวิลแชร์ แล้วพบว่าเราเป็นภาวะกระดูกสันหลังคด”
โดยคุณหมอได้มีข้อแนะนำว่าให้ดูแลตัวเอง เพื่อให้กล้ามเนื้อส่วนหลังแข็งแรงขึ้น ตอนนี้เธอจึงเริ่มดูแลร่างกายด้วยการเล่นเวทเทรนนิ่งบ้าง เพื่อให้กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวแข็งแรง
“เพราะว่าการผ่าตัดเป็นวิธีสุดท้ายที่หมอจะแนะนำ ถ้ายังไม่ถึงขั้นคดไปทับเส้นประสาท หรือมีอาการชาปลายมือ ปลายเท้า คุณหมอก็ยังไม่แนะนำให้ผ่า ตอนนี้ยังไม่หายค่ะ ยังอยู่กับมัน ก็คือถ้ารักษาไม่ได้ก็ปรับตัวเองให้ใช้ชีวิตกับมันได้
มันแน่นอนอยู่แล้วน้ำหนักเยอะ มันทำให้กระดูกสันหลังเรารับน้ำหนักเยอะ ไม่ว่าจะนั่ง เดิน นอน มันกดทับอยู่แล้ว พอน้ำหนักลงเราก็รู้สึกว่า ตัวเราเบาขึ้น ไม่ปวดหลัง ไม่เหนื่อยง่าย อาการเจ็บก็ลดลง แต่ถามว่าหายไหม มันไม่ได้หายนะ แต่บรรเทาได้ เราอ้วนเรามีผลอยู่แล้ว แต่ถ้าเราผอม มันก็ได้ผลพลอยได้ ผอมหุ่นดี สุขภาพดี แล้วเราแข็งแรงขึ้น ถึงได้ชอบออกกำลังกายค่ะ”
จาก “นักปั่น” สู่ “ไตรกีฬา”
การแข่งขันกีฬาสุดทรหด 3 ประเภทอย่าง “ไตรกีฬา” ทั้งการว่ายน้ำ ขี่จักรยาน และวิ่ง โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายระยะทางแตกต่างกันออกไป ซึ่งดาวเป็นอีกหนึ่งสาวสวยที่เมื่อก่อนเธอเพียงแค่ออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานเท่านั้น จนทุกวันนี้ได้หันมาลงแข่งไตรกีฬาและฝึกซ้อมอย่างหนัก
“ที่เริ่มเล่นไตรกีฬา เนื่องจากว่าปั่นจักรยานมา 4 ปีแล้ว เริ่มหมดแพสชั่น (หัวเราะ) เรียกว่าหมดแพสชั่นเราก็เลยหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ อยากจะรู้ว่าถ้าเราไปลงไตรกีฬา เราจะทำได้ไหม
เนื่องจากเริ่มจากศูนย์เลยค่ะ ไตรกีฬามีอย่างเดียวที่พาไปได้คือ ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำแค่ว่ายได้ ไม่ได้ถึงขั้นว่า ตัวเองจะว่ายเก่ง ส่วนวิ่งเนี่ยเป็นศูนย์เลยค่ะ เพราะเป็นคนที่ไม่ชอบวิ่ง หนีการวิ่งมาตลอด เลยเริ่มลองระยะใกล้ๆ สำหรับนักไตรที่เพิ่งเริ่มก็จะมีระยะใกล้ๆ ว่ายน้ำ 500 ม. ปั่นจักรยาน 20 กม. วิ่ง 5 กม. อันนี้เป็นระยะเริ่มต้น สำหรับมือใหม่ค่ะ
ไตรแดช (Tri Dash) จะเป็นสนามสำหรับคนที่เริ่มเล่นไตร งานไตรจะมีหลายสนาม อยากรู้ว่าตัวเองจะทำได้ไหม ครั้งแรกที่ลงเนี่ย ว่ายน้ำแค่ 500 ม. จะตายแล้ว (หัวเราะ) สำลักน้ำ ไม่ไหว แล้วเหมือนพอเราผ่านครั้งแรกมาได้ เราก็มีความมั่นใจมากขึ้น ว่าเราก็ทำได้ เราก็เริ่มหาสนามที่ระยะไกลขึ้น แล้วก็เริ่มไปต่างจังหวัด ไปสนามภูเก็ต สนามภูเก็ตก็จะเป็นสนามตำนาน เพราะว่าเป็นสนามแรกๆ ในเมืองไทยที่จัด เราก็ลองไปดู แล้วก็ชอบบรรยากาศ”
ทั้งนี้ เธอเองก็เริ่มจากไม่รู้อะไรเลย จึงต้องเริ่มหาคนสอน ไปเรียนว่ายน้ำในทะเล ไปลองหัดให้ตัวเองรู้ว่าต้องเตรียมตัวยังไง หาอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นแว่นตา หมวกว่ายน้ำ เริ่มเรียนรู้ทักษะการวิ่ง เนื่องจากไม่รู้ว่าการวิ่งที่ถูกต้องเป็นยังไง รู้เพียงแค่ว่าวิ่ง แต่ยังมีเทคนิค การยืดกล้ามเนื้อ วอร์มอัปก่อนที่จะวิ่งอีกด้วย
“พอวันที่เราข้ามผ่านระยะเริ่มต้นตรงนั้นมาได้ รู้สึกว่าเราก็ทำได้ ก็เริ่มซ้อมหนักขึ้น แล้วก็กระโดดไปลงรายการใหญ่เลย “IRON MAN 70.3” คือว่ายน้ำ 1.9 กม. ปั่นจักรยาน 90 กม. แล้วก็วิ่งอีก 21 กม.เรามีเวลา 6 เดือนในการซ้อมค่ะ
หลังจากนั้นก็เริ่มหาโค้ช หาข้อมูลว่าเราจะว่ายน้ำในทะเลยังไง เพราะว่าทุกครั้งที่ไปทะเล เราไม่เคยว่ายน้ำจริงจัง ก็เริ่มหาข้อมูลในการที่จะพาตัวเองผ่านตรงนี้ให้ได้ เหมือนเราตั้งเป้าใหญ่ๆ ไว้ว่า เราจะไปให้ถึงตรงนั้นให้ได้”
โดยเธอเรียนรู้ฝึกซ้อมใช้เวลาอยู่ประมาณ 5-6 เดือนก่อนแข่ง ทำแบบนั้นทุกวันคือ ตอนเช้าตื่นมาว่ายน้ำ ตอนเย็นลงไปวิ่ง เช้าตื่นมาว่ายน้ำ ตอนเย็นลงไปปั่นจักรยาน เรียกว่าตลอด 6 เดือน เตรียมตัวเฉพาะรายการใหญ่อย่างเต็มที่
“พอหลังจากนั้น ก็เริ่มสะสมระยะการแข่งไตรกีฬา เริ่มไปรายการที่ใหญ่ขึ้น ระยะที่มากขึ้น แล้วก็เหมือนแข่งไปด้วย ซ้อมไปด้วย มันก็ทำให้เราพัฒนาตัวเองได้ดีขึ้น น้ำหนักลง จนทุกคนทักว่ารู้สึกเราแข็งแรงขึ้น เราสตรองขึ้น แล้วเราดำขึ้น (หัวเราะ) อันนี้หนีไม่พ้น เพราะเราจริงจังกับมันมาก
ต้องขอบคุณหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ที่ให้โอกาสเราเข้าไปซ้อมที่สัตหีบในหน่วยด้วย แล้วก็ได้ลงซ้อมกับท่านผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (ผบ.นย.) ท่านก็ลงเล่นไตรกีฬาเหมือนกัน ก็ลงไปซ้อมกับพวกท่าน แล้วก็ได้ลงว่ายในทะเลจริงๆ ได้ซ้อมบ่อยขึ้น เดินทางไป-กลับสัตหีบ แล้วก็ได้ลงแข่งให้กับหน่วยนาวิกโยธิน ในงานไตรกีฬานาวีเฉลิมพระเกียรติที่ผ่านมาที่จังหวัดภูเก็ต เริ่มพลิกผันไปเรื่อยๆ ค่ะ เริ่มระยะไกลขึ้น
ตอนแรกเราก็คิดว่าเราจะทำได้หรือเปล่า เพราะว่ามันยากมาก ทุกคนจะกลัวว่าตัวเองจะทำได้ไหม แต่ว่าอยู่ดีๆ จะไปเลยมันก็ยาก เราก็เลยต้องเตรียมตัว เราต้องมีระยะที่เราเตรียมตัวซ้อม หาคนที่เขามีประสบการณ์ หาโค้ชที่เขาแนะนำเทคนิค วิธีการให้เราได้
เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามถึงช่วงเวลาก่อนจะมาลงไตรกีฬาได้ปรึกษาคนรอบข้างหรือครอบครัวมาก่อนไหม เธอก็ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่าไม่มี แต่เธอได้ปรึกษากับตัวเอง เพราะเริ่มอยากท้าทายตัวเอง หาอะไรที่ก้าวข้ามผ่านไปอีกระยะหนึ่ง และหลังจากที่จบการแข่งในครั้งแรก ก็ยังมีสิ่งที่อยากพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้ดีขึ้นด้วย
“ตอนนั้นที่จบครั้งแรกเลยการว่ายน้ำ ทุกคนจะกลัวว่ายน้ำ อย่างวิ่งหรือปั่นจักรยานอย่างมากก็แค่ล้ม ล้มก็แค่เจ็บ แต่ว่ายน้ำคือจมน้ำแล้วตายได้ เราก็เลยเหมือนอยากให้ช่วงที่เราว่ายน้ำ เราแข็งกว่านี้ สามารถว่ายได้ระยะไกลขึ้น สามารถว่ายในทะเลได้ระยะไกลขึ้น
ปีที่แล้วตั้งเป้าไว้เทรนว่ายน้ำเยอะขึ้น ปีนี้มาเทรนวิ่งเยอะขึ้น เพราะว่าเป็นสองอย่างที่เรายังทำได้ไม่ดี แต่ไม่มีใครเก่งทุกอย่าง 3 อย่าง ทุกคนทำได้ แต่เราต้องทำได้ทั้ง 3 อย่าง นี่คือไตรกีฬาค่ะ”
ตั้งเป้าหมาย “ฉุดตัวเอง” ลุกขึ้นจากเตียง
“ความยากมันมีอยู่แล้ว ทุกคนต้องชนะใจตัวเองให้ได้ก่อน สิ่งแรกคือเอาตัวเองออกจากที่นอนให้ได้ก่อน (ยิ้ม) แล้วก็มีเป้าหมายให้ตัวเอง ง่ายๆ เลย วันนี้วิ่งได้ 1 กม. พรุ่งนี้ฉันต้องได้ 2 กม. พรุ่งนี้ฉันต้องได้ 3 กม.
เป้าหมายมันจะขยับไปได้เรื่อยๆ แล้วเป้าหมายเราจะใหญ่ขึ้น ถ้าเราตื่นมาโดยที่ไม่รู้จะออกไปวิ่งทำไม ไม่รู้ฉันจะทำไปทำไม มันก็ไม่มีจุดหมาย เพราะฉะนั้นเราต้องตั้งเป้าหมายให้ตัวเอง เราพาตัวเองออกไปทำให้ได้”
อีกอย่างเมื่อถามถึงความรู้สึกว่ามีความลำบากในการเล่นกีฬาประเภทนี้บ้างไหม เธอกลับมองว่ามันสนุกมากกว่า แต่ทุกครั้งที่ไปงานไตรหรืองานแข่งต่างๆ จะตื่นเต้นทุกครั้ง เพราะเหมือนเป็นการท้าทายใหม่ๆ
การซ้อมสำคัญขนาดไหน ถ้าเราซ้อมเยอะก็ดีกับเรา ถ้าเราขี้เกียจ เราจะมีความรู้สึกว่าหยุดทำไม เมื่อคนที่เขาเก่งกว่าเราเขายังซ้อมเลย เขายังไม่หยุดเลย เราอยากเก่งขึ้น ทำไมเราไม่ซ้อม ทำไมเราไม่ทำให้มันจริงจัง”
สมดุลในการฝึกซ้อมที่ดีสำหรับเธอคือไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป อะไรที่อยู่ตรงกลางเป็นสิ่งดีอยู่แล้ว ถ้าหักโหมเกินไปก็เสียสุขภาพด้วย แต่ถ้าไม่ทุ่มเทก็จะไม่ได้ผลลัพธ์ และอาจจะบาดเจ็บระหว่างทางถ้าไม่เตรียมตัวให้ดี หรือมีอุบัติเหตุได้ หากไม่เตรียมตัวให้พร้อม
“ไตรกีฬาจริงๆ ไม่ได้ทรหดมากนะคะ แค่เรารู้จักหารแรงของเรา ถ้าเรามุ่งแต่ว่ายน้ำ ให้เร็วๆ จนแรงหมด เราก็จะไม่เหลือแรงให้มาปั่นจักรยาน เราก็ต้องวางแผน
ส่วนไปวิ่งคือสุดท้ายแล้ว ถ้าคุณใส่แรงหมด ตะคริวคุณขึ้นระหว่างทางแน่นอน เพราะฉะนั้น 3 อย่าง มันคือการหารแรง มันไม่ใช่ว่าคุณจะทนได้แค่ไหน แต่ว่าคุณเตรียมตัวมาพร้อม สำหรับ 3 อย่างได้แค่ไหน มันไม่ใช่การอึด แต่เราพร้อมไหม เราเตรียมตัวหรือเปล่าแค่นั้น”
สำหรับความรู้สึกอิดโรยระหว่างการซ้อมหนัก เธอจะต้องแบ่งเวลาให้เป็น หากวันนี้ซ้อม พรุ่งนี้พัก ซึ่งจะมีช่วงเวลาที่ต้องไปทำธุระอย่างอื่นด้วย จัดเวลาให้ตัวเองว่าวันนี้ซ้อมอะไร พรุ่งนี้ซ้อมอะไร วันไหนหยุดพักบ้าง
“ถามว่าทุกคนจะต้องซ้อมหนักทุกวันไหม ไม่ค่ะ คุณจะต้องมีวันที่คุณพัก ให้ร่างกายได้ฟื้นฟู ไม่ใช่ว่าบ้าพลังแล้วคุณจะเก่งขึ้นนะคะ เพราะว่าถ้าร่างกายบาดเจ็บ คุณหยุดนานมากกว่าคุณจะหาย แล้วกลับมาซ้อมคุณต้องมาสตาร์ทใหม่ เพราะฉะนั้นการหักโหมก็ไม่ใช่คำตอบค่ะ
สภาพอากาศเลวร้ายก็มีค่ะ เจอทะเลที่เหมือนว่ายอยู่ในเครื่องซักผ้า ว่ายแล้วมันไม่ถึง ว่ายแล้วเมาทะเล พอขึ้นมาแล้วเดินเซเลย คือทะเลมันควบคุมไม่ได้ มันเป็นวันที่เขากำหนดวันแข่งไว้แล้ว แล้วพอไปเจอสภาพอากาศจริง วันนั้นคือมันมีพายุ หรือมันมีคลื่นแรงอะไรอย่างนี้ก็ต้องสู้กับมัน เราไปห้ามมันไม่ได้ ต้องสู้ต่อค่ะ
เรื่องอุบัติเหตุก็มีค่ะ จักรยานล้มแล้วไหล่หลุด เพราะอุบัติเหตุมันก็เกิดขึ้นได้ เราก็พยายามเซฟตัวเองมากขึ้น เวลาล้มเราก็จะรู้ว่าถ้าเราเสียสมาธิก็จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เวลาที่ควบคุมตัวเองอยู่บนจักรยาน ก็ต้องมีสมาธิกับมันมากขึ้นค่ะ”
แม้ว่าการหันมาออกกำลังกายจะดูเป็นสิ่งที่ทำให้เธอมีความสุขได้อีกครั้ง แต่ก็ยังมีช่วงที่รู้สึกท้อและเหนื่อยกับปัญหารอบตัวจนคิดที่จะเลิกเล่นกีฬา และจะขายจักรยานของตัวเองทิ้ง เพื่อไปใช้ชีวิตผจญภัยเปิดโลกใบใหม่ที่ต่างแดน แต่ทุกครั้งที่เธอจะเลิกก็มักจะมีเหตุการณ์ที่มาหยุดความคิดล้มเลิกนั้นเอาไว้ได้
“พอเรามีคนติดตามในเฟซบุ๊ก พอเราจะไม่เอาแล้วนะ จะทิ้งแล้ว ก็มีคุณแม่คนหนึ่งอินบ็อกซ์มาบอกว่า อย่าเลิกได้ไหม เพราะว่าเขาเอาเราเป็นตัวอย่างให้ลูกสาวเขา ให้ดูเราเป็นตัวอย่าง ลูกสาวเขาก็เลยมาออกกำลังกายเหมือนเรา
ส่วนอีกเคสหนึ่งคือ กำลังจะขายจักรยานทิ้งแล้ว ไม่เอาแล้วประเทศไทย จะไปอยู่ต่างประเทศแล้ว เตรียมตัวขอวีซ่า ทุกสิ่งอย่างแล้ว อยู่ๆ ก็มีอีเมลเขามาบอกว่า เขาติดตามเราจากในไอจีเป็นคนฝรั่งเศส แล้วมีเด็กคนหนึ่งอีกไม่กี่วันเป็นวันเกิดของเขา เขาอยากให้เราเขียนลายเซ็นพร้อมกับแฮปปีเบิร์ธเดย์ให้เด็กคนนี้ที่ติดตามเราอยู่เป็นของขวัญวันเกิดได้ไหม
เราก็รู้สึกว่า คนอีกครึ่งโลกติดตามเราอยู่อ่ะ เขาอยากเห็นเราลงรูปทุกวัน แล้วเราจะทิ้งทำไม แล้วเราจะเลิกทำไมในเมื่อยังมีคนอีกครึ่งโลก ติดตามเรา มันไม่ใช่แค่ในประเทศแล้วนะ คนต่างประเทศก็ยังให้การยอมรับเรา ก็เลยส่งอีเมลไปขอบคุณเขา คุณทำให้เราเปลี่ยนใจเลยนะ กลับมาเป็นแรงบันดาลใจให้เราอีกค่ะ”
จะรอดหรือร่วง! เลนจักรยานในไทย
ถ้าถามถึงกระแสข่าวที่มีมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ เมื่อนักปั่นมักจะเกิดอุบัติเหตุข้างทางจนเสียชีวิต เธอมองว่าหากนั่งเฉยๆ ก็อาจโดนรถชนได้ อุบัติเหตุจึงไม่มีใครอยากให้เกิด และจักรยานในประเทศก็ยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลาย ถนนหรือพื้นที่เหมาะสมในการออกกำลังกายจึงมีน้อย
“เพราะฉะนั้นต้องเซฟตัวเองค่ะ ก็จะมีสนามที่เราออกกำลังกายที่สุวรรณภูมิ ก็จะเป็นสนามเจริญสุขมงคลจิตที่ออกได้โดยที่อันตรายน้อย เพราะว่ามันไม่มีรถ เป็นสนามปิด อันนั้นก็จะเป็นที่ที่นักปั่นไปออกกำลังกาย
ส่วนคนที่อยู่ต่างจังหวัดเขาก็จะเลือกออกกำลังกายในถนนที่เป็นเส้นรอง ที่รถไม่เยอะ เพราะฉะนั้นอุบัติเหตุ มันไม่มีใครอยากให้เกิด คนใช้รถก็ต้องเห็นใจจักรยานด้วย เพราะจักรยานก็ถือเป็นพาหนะบนท้องถนนเหมือนกัน เรามีสิทธิใช้บนท้องถนนเหมือนกัน ให้เรียกว่าแบ่งให้กันและกัน คุณใช้รถ พอเห็นจักรยาน มันก็ต้องแบ่งกันใช้ ต้อง “Share The Road” ค่ะ
เห็นใจคนปั่นจักรยาน คนปั่นจักรยานก็ต้องเห็นใจคนที่เขาขับรถยนต์เหมือนกัน เพราะว่าเขาอยากจะต้องการใช้ความเร็ว เพราะฉะนั้นเวลาที่ปั่นจักรยานก็ต้องอยู่เลนที่เหมาะสมเช่น อยู่ทางซ้ายค่ะ ก็ต้องดูแลตัวเองทั้งสองฝ่ายค่ะ”
นอกจากนี้ หากเป็นไปได้เธอก็อยากให้ในประเทศไทย มีเลนถนนสำหรับการปั่นจักรยาน หากทำให้ปลอดภัยและสะดวก ก็ยิ่งส่งเสริมให้คนหันมารักการออกกำลังกายมากยิ่งขึ้น
“อยากให้มีจะตาย คืออยากให้มีช่องสำหรับจักรยานจริงๆ นะ ไม่ใช่คุณแบ่งถนนที่มีปกติอยู่แล้ว แล้วตีเส้น ก็บอกว่านี่เลนจักรยาน ซึ่งปกติถนนประเทศไทยมันก็แคบอยู่แล้ว แล้วคุณมาแบ่งถนนอีก มันก็ยิ่งทำให้คนยิ่งเกลียดคนปั่นจักรยานเข้าไปใหญ่เลย คนเขาก็สัญจรไม่สะดวก เขาก็ไม่เห็นด้วยกับการที่มาแบ่งถนนแบบนี้”
ทั้งนี้ เธอยังคิดว่าอาจทำเป็นเลนพิเศษสำหรับปั่นจักรยาน และเมืองไทยทุกวันนี้รถติดแค่ไหน ทุกคนรู้อยู่แล้ว และทุกคนอยากหนีมลภาวะ อยากให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น แต่ไม่มีทางเลือกก็ยังต้องขับรถไปทำงาน แต่ถ้าวันหนึ่งสามารถปั่นจักรยานไปทำงานได้ สะดวกและปลอดภัยก็เป็นสิ่งที่ดี
“เชื่อว่าทุกคนอยากออกกำลังกายอยู่แล้ว มันเป็นเมืองในฝันอ่ะเนอะ ถ้าเป็นไปได้ก็โอเค ทุกคนจะได้สุขภาพดีด้วย การจราจรก็ไม่ติดขัด มันก็มีแต่ข้อดี ถ้ามันเป็นไปได้จริงๆ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ มีหวังไหมหรอ (ยิ้ม) รอพี่เป็นนายกไหม (หัวเราะ) ถ้าผู้ใหญ่เห็นความสำคัญ แล้วให้ความสนับสนุนจริง โอกาสเป็นไปได้ก็มี เพราะว่าถ้าทำจริงๆ อ่ะ กระแสที่ทุกคนจะช่วยสนับสนุนคิดว่ามีเยอะ มีคนอยากจะช่วยตรงนี้อยู่แล้ว
นอกจากว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ แต่ทำเหมือนผักชีโรยหน้า มันก็จะเสียเงินเปล่าๆ คนก็จะแอนตี้อีก แต่ถ้าทำจริงๆ ได้ขึ้นมา เริ่มเป็นกระแสขึ้นมา อย่างเมื่อตอน “Bike For Mom” ปั่นเพื่อแม่ คนก็จะหันมาออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานมากขึ้น
เรามีเลนเพื่อจักรยาน เรามีสนามเพื่อการปั่นจักรยาน จักรยานสามารถกลายเป็นธุรกิจท่องเที่ยวได้ด้วย ถ้าเกิดนักปั่นจากต่างประเทศ อยากจะมาปั่นเมืองไทย เห็นเมืองไทย เห็นสถานที่เมืองไทย สามารถปั่นจักรยานได้ เราเชื่อว่าตรงนี้มันสามารถเป็นรายได้ให้กับประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย ถ้าเกิดเราทำดีๆ ค่ะ แล้วในช่วงปีหน้าดาวก็จะลงเเข่ง “IRONMAN 70.3” อีก ก็ฝากติดตามเเละเป็นกำลังใจเชียร์ให้ทำสำเร็จด้วยนะคะ”
ลบคำสบประมาท เมื่อถูกมอง มีดีแค่สวย มีเยอะแยะ เขาเหมือนมองว่าเราดีแค่สวยมั่ง เอาจริงไม่น่าจะรอดหรอกอะไรอย่างเนี่ย คำดูถูกมันก็กลายเป็นแรงผลักดันนะว่า ดูถูกหรอ เดี๋ยวทำให้เห็นว่าเธอไม่ได้มีแค่สวยนะ เธอมีอย่างอื่นมากกว่าที่คุณเห็น ไม่ได้แบบว่ามายืนเป็นพริตตี้จักรยานนะคะ แบบสวยๆ อะไรอย่างนี้ไม่ใช่ คือเราทำให้เห็นจริงๆ ว่าถ้าเราจริงจัง เราก็จะเก่งขึ้น พัฒนาตัวเองขึ้น ส่วนใหญ่เจอทางโซเชียลฯ ด้วย แล้วก็มีพูดให้ได้ยิน มีช่วงแรกๆ ที่มาปั่นจักรยานเลย ก็มีแค่สวยมั่ง ไม่ได้เจ๋งไม่ได้เก่งจริงหรอก เสียงดูถูกกลับเป็นเสียงจากผู้ชายด้วยซ้ำ แต่ก็ยังมีพี่คนหนึ่งเขาก็บอกว่าเนี่ยๆ ปั่นจักรยานเก่งมาก ปั่นเร็วกว่าผู้ชายอีก ก็แบบดีใจ ภูมิใจ ที่เขายอมรับเรา เราก็ลบคำสบประมาทไป โดยที่ไม่ต้องไปเถียงเขาหรอก เราทำให้เห็นเลยดีกว่า เสียเวลาที่จะไปนั่งตอบโต้อะไร เราทำให้เขาเห็นดีกว่าว่าสิ่งที่เขาพูดอ่ะ มันไม่เป็นความจริง แล้วเราไม่ได้เป็นอย่างที่เขาพูดจริงๆ เสียเวลาที่เราจะไปนั่งตอบโต้ หรือเสียเวลาที่จะไปนั่งเถียงเขาทำไมในเมื่อถ้าเราทำให้เห็น เขาหมดคำพูดอยู่แล้ว แต่ถ้าคนคิดในแง่ลบอยู่แล้ว ต่อให้เก่งให้ตายยังไง เขาก็มองเราแง่ลบ ไม่ใส่ใจอะไรกับพวกนี้ดีกว่า เอามาเป็นแรงผลักดันให้ตัวเองดีกว่า |
จิตอาสานักปั่น ลุยงาน “สายตรวจจักรยาน” เคยเป็นอาสาตำรวจจักรยานที่จังหวัดอยุธยาค่ะ คือเขามีสายตรวจจักรยาน แล้วเราก็ชอบช่วยเหลือคนอยู่แล้ว เวลาว่างเราก็เหมือนไปสมัครเป็นตำรวจจักรยานที่อยุธยา แล้วเวลาว่างเราก็ไปช่วยเขา คอยแนะนำนักท่องเที่ยว อย่างช่วงสงกรานต์ก็จะไปช่วยโบกรถ ไปดูความเรียบร้อย ไปดูว่านักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวงานสงกรานต์หลงทางหรือเปล่า หรือจะไปทางไหน ส่วนใหญ่จะเป็นให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวมากกว่า ตอนนั้นทำอยู่ประมาณปีหนึ่งค่ะ |
อยากเป็น “นักกีฬา” ต้องกินให้ถูกวิธี เรื่องอาหารแต่ก่อนกินตามใจ อยากกินอะไรฉันก็กิน มีความเชื่อผิดๆ ว่ากินแล้วเดี๋ยวไปออกกำลังกาย เดี๋ยวก็ดี แต่มันก็ไม่ได้ดีขึ้นนะคะ พอเรากินผิดวิธี เรากินของไม่มีประโยชน์ มันก็สะสมในร่างกาย เพราะฉะนั้นอยากเป็นนักกีฬา ก็ต้องกินแบบนักกีฬา เราต้องเลือกของที่เราจะกิน อะไรที่เราควรกิน อะไรที่เราไม่ควรกิน แต่ก่อนจะติดน้ำอัดลม ก็รู้แล้วว่าถ้าติดน้ำอัดลมกินไปแล้วเกิดอะไรขึ้น เราก็เลยเปลี่ยนมากินน้ำเปล่า ต้องห้ามใจตัวเองค่ะ อันนี้ทุกคนรู้หมดว่าอะไรมีประโยชน์ อะไรดี อะไรไม่ดี แต่เราห้ามใจตัวเองได้หรือเปล่า ไม่ต้องอธิบายหรอกว่าคุณควรกินอะไร ทุกคนรู้อยู่แล้ว แต่อยู่ที่ใจว่าจะห้ามใจตัวเองได้ไหม จะห้ามความอยากของตัวเองได้หรือเปล่า การกินเข้าไปมันทำให้ส่งผลออกมาภายนอกอยู่แล้ว ยิ่งกินของมีประโยชน์มันก็จะช่วยให้ผิวพรรณร่างกายดีขึ้น ดื่มน้ำเยอะๆ ตอบเหมือนนางงามมาก (ยิ้ม) เราพูดเหมือนได้ยินบ่อยแล้ว ดื่มน้ำเยอะๆ แต่มันดีจริงๆ เวลาดื่มน้ำเยอะๆ เหมือนร่างกายเราเสียเหงื่อ เสียพลังงาน เราก็ดื่มน้ำเข้าไป แล้วก็พวกครีมบำรุงอะไรอย่างนี้ ช่วงที่ออกแดดหนักๆ เราก็ต้องใช้ว่านหางจระเข้ทาเพื่อบำรุง ให้ผิวไม่แสบไม่ไหม้ |
ส่งเสริมสานฝัน “เด็กรักกีฬา” ด้อยโอกาส เราอยากเป็นแรงบันดาลใจให้น้องๆ รุ่นต่อไป แล้วตอนนี้สนับสนุนน้องอยู่คนหนึ่งซึ่งเขามีโอกาสน้อยกว่าเรา เรียนอยู่โรงเรียนกีฬา ก็ส่งเขาเรียนโรงเรียนกีฬา อยากให้น้องที่ขาดโอกาสตรงนี้ได้รับโอกาสเหมือนเรา อยากให้ผู้ใหญ่เห็นโอกาสดีๆ แล้วโยนให้น้องๆ บ้าง เราอาจจะเป็นตัวกลางที่เชื่อมให้ผู้ใหญ่ได้เจอกับน้องๆ ด้อยโอกาส ได้มีกิจกรรมที่เขาชอบ อยากทำ รักเหมือนเราตรงนี้มากกว่า ได้ช่วยในเรื่องจักรยานด้วย เขาอยากได้อุปกรณ์อะไร ที่เราพอจะหาให้น้องได้ ก็มีช่วยเงินบ้างนิดหน่อย ก็ส่งมาประมาณ 2 ปี แล้วค่ะ ตอนนี้น้องอยู่ ม.2 ก็สัญญากับน้องไว้ ถ้าน้องติดทีมชาติ เราจะซื้อจักรยานให้น้อง อันนี้ก็อีกความฝันหนึ่งที่อยากส่งความฝันต่อให้น้องรุ่นต่อไปได้ทำ ราคาจักรยานก็อยู่ที่หลักหมื่นต้นๆ ไปจนถึง 3 แสนเต็มที่ อุปกรณ์จักรยานมันเป็นเทคโนโลยีที่พอออกใหม่ก็กลายเป็นมีราคาไป ถามว่าจำเป็นไหมที่ทุกคนจะต้องใช้จักรยานราคาแพง ก็ตอบเลยว่าไม่จำเป็น คุณอาจจะขี่จักรยานธรรมดาก็ได้ แต่ขาคุณมีแรง คุณก็สามารถออกกำลังกายได้เหมือนกัน มันไม่ได้จำเป็นว่า จะต้องจักรยานคันละเป็นแสนถึงจะออกกำลังกายได้ |
สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: สวรส พวงเกาะ
ภาพ: สันติ เต๊ะเปีย
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก “Thunvarin Dao Kittithammakul”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **