จากเด็กต่างจังหวัดวัย 8 ขวบ ที่สนใจเทควันโดเพราะคิดว่าชุดเท่ จนพัฒนาเป็นความชอบและมุ่งจนกลายเป็นตัวแทน “ทีมชาติไทยรุ่นยุวชน” ล่าสุด ได้คัดเลือกให้เข้าแข่งขันทั้งรายการ “ระดับโลก” และ “เอเชีย” คว้าเหรียญเงินมาครองด้วยวัยเพียง 14 ปี แถมยังเป็นนักเทควันโดที่อายุ “น้อยที่สุด” ในจังหวัด!
จากรายการในประเทศ สู่แมตช์ “ระดับโลก”
“ที่คิดตอนแรกคือกีฬาเทควันโดมันเท่ดีค่ะ อยากออกกำลังกาย ไม่ได้คิดว่าจะเล่นจริงจังขนาดนั้น พอเล่นไปเล่นมาก็เริ่มชอบ พอชอบก็เริ่มจริงจัง อีกอย่างที่บ้านไม่บังคับ ถ้าหนูชอบเขาก็สนับสนุนเต็มที่”
“ด.ญ.พัชรพร สุขมนต์” หรือน้อง “ตันหยง” เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live ถึงความรู้สึกแรกที่มีต่อกีฬาต่อสู้เทควันโด หลังจากได้เป็นตัวแทนทีมชาติไทย รุ่นยุวชนหญิงไปลงแข่งสนามแรกระดับโลก ด้วยวัยเพียง 14 ปีเท่านั้น!
“รายการระดับโลกล่าสุดที่ได้ไปมา คือ รายการการแข่งขัน Tashkent 2019 World Taekwondo Cadet Championships ค่ะ เดินทางไปแข่งที่ประเทศอุซเบกิสถาน ก่อนหน้านี้ ไปแข่งระดับเอเชีย ที่ประเทศจอร์แดนด้วยเหมือนกัน หนูรู้สึกภูมิใจนะคะ เพราะได้เป็นตัวแทนของคนไทยทุกคนก็ต้องทำให้เต็มที่
พอได้ไปแข่งระดับโลกก็ทำให้เราได้ประสบการณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งที่ตอนแรกหนูก็ไม่ได้คิดว่าจะมาถึงตรงนี้ แต่พอมาอยู่จุดจุดนี้ ทุกอย่างก็ต้องเริ่มจริงจังมากขึ้นค่ะ ต้องเริ่มแบ่งเวลา ต้องฝึกฝน และซ้อมหนักขึ้น อย่างหลังเลิกเรียนต้องทำการบ้านไว้ก่อนค่อยไปยิม ซ้อมเทควันโดเสร็จถึงกลับมาบ้านเพื่อทำการบ้านต่อ”
แม้การแข่งขันรุ่นยุวชนระดับโลกในครั้งนี้ เธอจะคว้ารองแชมป์โลกมาครอง แต่ก็ถือเป็นประสบการณ์ในชีวิตที่ยากจะลืม เพราะทุกๆ ข้อผิดพลาดก็สามารถนำกลับมาปรับปรุงตัวเองได้เสมอ ซึ่งเธอยอมรับว่าสิ่งที่อยากพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าก่อนคือเรื่องของส่วนสูง
“ตอนแรกพอรู้ว่าจะได้ไปก็ตื่นเต้น ซ้อมหนักเลย ทั้งเช้าและเย็น หรือซ้อม 3 เวลา ถึงครั้งนี้ได้เหรียญเงินแต่ก็ถือว่าเป็นกำไรแล้วนะคะที่มาถึงจุดนี้ได้ ต่อไปข้างหน้าก็คงทำให้ดีกว่าเดิม ที่หนูสำเร็จก็มาจากทุกๆ คน ทั้งครอบครัว โค้ช และตัวเราเอง ทุกๆ อย่างเลยค่ะ อยากขอบคุณที่ช่วยสนับสนุนและคอยเป็นห่วง ดูแลทุกๆ อย่าง
ในการแข่งครั้งต่อๆ ไป หนูว่าต้องเพิ่มความสูงให้มากขึ้นค่ะ รูปร่างอาจจะเสียเปรียบ ตอนนี้ความสูงอยู่ที่ 162 ซม. ทำให้เวลาลงแข่งเราจะมีรูปร่างเล็กกว่าคนอื่นๆ แต่หนูก็ไม่ได้คิดว่าตรงนี้ทำให้เรากังวลเท่าไหร่นะคะ เพราะเขาก็มีแขน มีขาเหมือนกับเรา แค่รูปร่างต่างกันเท่านั้นเอง”
อย่างไรก็ดี น้องตันหยงยังกล่าวถึงครอบครัวด้วยว่าขอบคุณที่สนับสนุนเธอมาตลอด และอยากให้เด็กๆ ที่สนใจอยากเรียนกีฬาเทควันโดลองเปลี่ยนมุมมองเรื่องความรุนแรงและความน่ากลัวดู เพราะกีฬานี้ปลอดภัยแถมยังได้ความสนุกอีกด้วย
“พ่อกับแม่หนูไม่ค่อยบังคับ ถ้าชอบอะไรเขาก็จะสนับสนุนสิ่งนั้น ดีใจที่ทำให้พ่อแม่มีความสุขนะคะ อย่างถ้าแข่งชนะ หนูก็ไปขอบคุณพวกเขาด้วย เพราะเขาช่วยเรามาจนถึงขนาดนี้
ในอนาคตอยากไปแข่งโอลิมปิกสักครั้งหนึ่งค่ะ เป็นความฝันอยากติดทีมชาติในรุ่นเยาวชน และประชาชนต่อไป ส่วนเรื่องเรียนตอนเข้ามหา'ลัย ถ้าเป็นไปได้ก็อยากเรียนวิทยาศาสตร์การกีฬานะคะ เพราะสนใจและชอบด้านนี้อยู่แล้ว
ส่วนใครที่สนใจกีฬานี้ จริงๆ เข้าใจว่ามันเป็นกีฬาต่อสู้ เด็กผู้หญิงบางคนก็อาจไม่ชอบเท่าไหร่ อยากให้ลองดูก่อน มันไม่ได้น่ากลัว ทุกอย่างมีอุปกรณ์ป้องกัน ปลอดภัยแน่นอนค่ะ กีฬาประเภทนี้มันไม่ยากอย่างที่คิด อยากให้มาออกกำลังกาย และยังได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ด้วยค่ะ”
“ไม่ให้รางวัลด้วยสิ่งของ แต่ต้องสำเร็จเพราะความตั้งใจ”
“เวลาจะทำอะไรให้สำเร็จ เด็กมักจะเอาสิ่งของ ของเล่น หรือกระทั่งโทรศัพท์เป็นที่ตั้ง ว่าถ้าทำสำเร็จก็จะได้สิ่งนั้น สิ่งนี้ แต่ถ้าเราให้ลูกมุ่งมั่นว่าถ้าเราทำได้ เราจะได้ติดทีมชาติ จะมีธงชาติไทยติดที่หน้าอก และทำให้ตัวเราและพ่อแม่มีความสุข ตรงนี้จะทำให้เขามีความตั้งใจระยะยาว”
“พัชรอร สุขมนต์” แม่ของน้องตันหยง พูดถึงการปลูกฝังลูกสาวในเรื่องของความพยายาม และความตั้งใจสำหรับการแข่งขันกีฬาเทควันโดทุกแมตช์ที่ผ่านมา โดยเธอเปิดใจว่า ครอบครัวไม่มีการเดิมพันความสำเร็จด้วยสิ่งของ แต่อยากให้ลูกสาวใช้ความพยายามให้เต็มที่อย่างไม่มีเงื่อนไขมากกว่า
“ถ้าชนะจะไม่มีการชมกันเยอะ บอกว่าดีแล้ว แค่นั้น ไม่มีของขวัญ เราไม่รู้หรอกว่าบ้านอื่นยังไงนะคะ อาจจะคุยกันว่าถ้าชนะจะให้ของขวัญ ของเล่น หรือโทรศัพท์ แต่บ้านเราจะไม่มีแบบนี้ตั้งแต่แรก เราจะบอกลูกก่อนเลยว่า เราจะไม่แลกกันด้วยของเล่นนะ น้องก็บอกว่าไม่ได้อยากได้ แต่ถ้าสิ่งไหนจำเป็นก็จะมาบอก
น้องจะเห็นเองว่ารุ่นพี่นักเทควันโดที่ยิมเป็นยังไงบ้าง เรื่องของผลพลอยได้จากความพยายาม ทั้งเรื่องรายได้และชื่อเสียงในอนาคต เราก็จะชี้ให้เขาเห็นตรงนี้มากกว่าการเอารางวัลมาเป็นที่ตั้ง
ยกตัวอย่างถ้าบอกเขาว่าชนะแมตช์นี้จะให้โทรศัพท์ ถ้าเขาชนะก็จะคิดว่าได้มาแล้วก็จะไม่อยากพยายามแล้ว มันก็จะไม่ก้าวไปไกลกว่านั้น”
นอกจากนี้ แม่น้องตันหยง ยังยอมรับด้วยว่าไม่คิดว่าจากความอยากลองเล่นๆ ของลูกสาวในวันนั้น จะพาเขามาไกลถึงตรงนี้ได้ ซึ่งปกติครอบครัวจะสนับสนุนกิจกรรมที่ลูกชอบอยู่แล้ว แต่คิดแค่ว่าอยากให้ออกกำลังกายและไม่ติดจอโทรศัพท์ ทว่า ผลสำเร็จกลับมาไกลกว่านั้น
“ตอนที่อยู่ ป.3 อายุ 8 ขวบ ปกติแล้วตันหยงจะต้องอยู่กับน้าสาวที่ จ.สระบุรี เพราะเรียนอยู่ที่นั่น พอถึงช่วงปิดเทอมเราก็จะไปรับมาเที่ยวที่ จ.ปทุม เพราะทำงานอยู่ที่นี่ จากนั้นมาเจอยิมหนึ่ง น้องเขาก็เห็นเด็กๆ ใส่ชุดเทควันโด เขาก็บอกว่าอยากเรียนแบบนั้น เราก็ลองดู อยากเรียนก็เรียน
พอไปเรียนก็เหมือนเด็กออกกำลังกายธรรมดานั่นแหละ แต่เรียนไปเรียนมาแค่ช่วงเวลา 1 เดือน ในช่วงปิดเทอม น้องก็ชอบ จนถึงเวลาที่ต้องกลับไปเรียนที่ จ.สระบุรี น้องไม่ยอมกลับ บอกว่าจะเรียนที่นี่ให้แม่ย้ายโรงเรียนมาได้ไหม แม่ก็เลยย้ายให้เขามาอยู่ด้วยกันที่นี่เลย จากนั้นก็พาส่งเรียนเทควันโดมาตลอด
เราทำแบบนี้มาเรื่อยๆ พอถึงช่วงอายุที่เรียกว่ารุ่นยุวชน คือ อายุ 11 - 14 ปี จะสามารถแข่งขันในระดับประเทศได้ หรือคัดในจังหวัดไปแข่งกีฬาแห่งชาติ น้องก็ติดตัวจังหวัดและไปคัดระดับภาคก็ติดในระดับภาคอีก จากนั้นก็แข่งทั่วประเทศ ได้เหรียญเงินและเหรียญทอง
ซึ่งคนที่ได้เหรียญเงินหรือทองในการแข่งขันเยาวชนแห่งชาติ และชิงแชมป์ประเทศไทย เขาจะมีสิทธิได้รับการคัดเลือกเข้าไปในสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย พอติดระดับประเทศไทย เขาก็จะคัดเลือกไประดับเอเชีย และระดับโลก น้องได้ไปทั้งสองรายการเลย
จริงๆ ตอนแรกคิดแค่อยากให้ลูกออกกำลังกายเฉยๆ ลูกอยากทำอะไรก็ให้ลูกทำ ตอนนั้นอยากเรียนแบด อยากเรียนว่ายน้ำก็ให้เรียน เราดูแล้วโอเคก็พาลูกไปเพราะไม่อยากให้ลูกเล่นโทรศัพท์ด้วย เราพาไป เราก็สนุก หลังออกกำลังกายก็พากันไปหาอะไรกินแค่นั้น”
ทั้งนี้ แม่น้องตันหยงยังเล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยน ซึ่งทำให้ลูกสาวของเธอหันมาจริงจังกับกีฬาเทควันโดมากขึ้น จนถูกเลือกให้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปแข่งขันระดับโลกและเอเชีย แถมยังเป็นนักเทควันโดหญิงที่อายุน้อยที่สุดใน จ.ปทุมธานี อีกด้วย
“พอเข้าอายุ 12 ปี น้องก็เริ่มมุ่งมั่นมากขึ้น เพราะมีเหตุการณ์ที่ว่าเคยถูกเรียกตัวไปคัดเพื่อไปแข่งชิงแชมป์โลก แต่น้องไม่ได้ถูกเลือก น้องก็ตกรอบไป แต่ตั้งแต่นั้นมาน้องก็จริงจัง ดูแลตัวเอง เขาน้อยใจว่าตอนอายุ 12 เขาสูงน้อยกว่าคู่แข่งอีกคน จากนั้นก็ดูแลตัวเองทั้งว่ายน้ำ ดูแลเรื่องการกิน และวิธีการฝึกซ้อม
อย่างเวลามีแมตช์ใหญ่ๆ ก็จะพากันไปนั่งดู เพื่อดูเทคนิค ลูกเล่นของเขา ท่าไหนสวย วิธีการไหนดี ไปดูเขาแล้วกลับมาใช้ น้องก็มุ่งมั่นของน้องเอง ซึ่งที่บ้านก็ไม่มีใครอยู่สายกีฬานะคะ ไม่มีความรู้เลย ต้องเรียนรู้กันเองแต่แม่จะบอกเสมอว่าถึงเราชนะ แต่ก็มีข้อผิดพลาดได้เหมือนกัน เราจะมาหาปัญหากันว่าแพ้เพราะอะไร จะไม่ดุด่าว่าทำไมถึงแพ้
สุดท้าย ก็อยากให้ผู้ปกครองสนับสนุน ไม่ว่าจะสายกีฬาหรือด้านดนตรี พ่อแม่จะรู้ว่าสิ่งไหนที่มีประโยชน์ สิ่งไหนไม่มีประโยชน์ ถ้าลูกอยากทำก็ให้ลอง ตัวเด็กเองเมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง ถ้าลองแล้วชอบก็จะไปต่อเอง แต่ถ้าไม่ชอบก็คือเปลี่ยนไปลองอย่างอื่น ถึงจุดหนึ่งจะรู้ว่าลูกชอบอะไร และเราก็แค่สนับสนุนเขาตามกำลังที่ทำได้”
ข่าวโดย MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **