เปิดเส้นทางชีวิตของ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ศิลปินแห่งชาติ บุคคลในตำนานผู้มีคุณูปการแห่งสยามประเทศที่มีความสามารถหลากหลาย ทั้งนักแสดง นักจัดรายการ นักเขียน นักร้อง นักดนตรี นักชิมอาหาร ปิดฉากชีวิตลงอย่างสงบหลังจากป่วยด้วยมะเร็งระยะสุดท้ายในวัย 92 ปี
เปิดประวัติ “คุณชายนักชิม”
"ผมเป็นคนใช้ชีวิตแบบง่ายที่สุด ไม่มีอะไรสำคัญเลย กินง่าย อยู่ง่าย อยู่กับเพื่อนฝูง ลูกหลาน จัดรายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ครอบจักรวาล เขียนแนะนำร้านอาหารเชลล์ชวนชิม ร้องเพลง มีชีวิตอยู่ก็ทำงานเพื่อการกุศล”
ประโยคข้างต้นบอกเล่าถึงตัวตนของ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ บุคคลที่สยามประเทศต้องจารึก ท่านเป็น "ตำนานนักรีวิวอาหาร" เจ้าของคอลัมน์ "เชลล์ชวนชิม" สัญลักษณ์ชามลายผักกาด ทางหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ที่อยู่มายาวนานถึงครึ่งศตวรรษ โดยใช้นามปากกาว่า “ถนัดศอ”
ผลงานได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในนิตยสารสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2504 และต่อมา ตีพิมพ์ในฟ้าเมืองไทย จนสุดท้าย ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ โดยเปลี่ยนชื่อคอลัมน์เป็น "ถนัดศรีชวนชิม"
นอกจากนี้ ยังมีการมอบสัญลักษณ์ "อาหารอร่อย" ให้แก่บรรดาร้านอาหารที่ท่านได้เดินทางไปชิม และยังเป็นผู้บุกเบิกรายการทำอาหารในประเทศไทย เช่น รายการ "ครอบจักรวาล" ซึ่งออกอากาศต่อเนื่องเป็นเวลา 30 ปี และรายการวิทยุ "ครอบจักรวาล" ออกอากาศวันจันทร์-เสาร์ ต่อเนื่องเป็นเวลา 30 ปีเช่นกัน
โดยสัญลักษณ์ความอร่อยที่ท่านได้มอบให้ตามร้านอาหารต่างๆ ถือเป็นโลโก้การันตีถึงความอร่อยจานเด็ด จนทำให้มีผู้คนทั่วฟ้าเมืองไทยแห่ไปลิ้มชิมรสชาติกันตรึมแน่นร้าน
ท่านเป็นผู้มี “ลิ้นดี” รับรสชาติได้ครบถ้วน ทั้งยังครอบคลุมไปถึงการทำอาหารด้วย โดยซึมซับมาจาก หม่อมย่าละมุน สวัสดิวัตน์ ซึ่งเป็นผู้ว่าการห้องเครื่องในวังสระปทุม และหม่อมเจริญ ผู้เป็นมารดา ซึ่งเป็นผู้ช่วยของหม่อมราชวงศ์เสงี่ยม สนิทวงศ์ ผู้ปรุงพระกระยาหารถวาย สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
อย่างไรก็ดี หม่อมถนัดศรี ไม่ได้เป็นที่จดจำแค่ในฐานะ “นักชิม” เท่านั้น แต่ยังมีความสามารถในบทบาทของการเป็น “นักร้อง” ที่ได้รับพรสวรรค์จากสายเลือดจากคุณอา หลวงกล่อมโกศล (เศวตะทัต) และหม่อมเจริญ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา (เศวตะทัต) หรือหม่อมมารดานั่นเอง
หม่อมถนัดศรี เป็นผู้ที่มีความสามารถเฉพาะตัวที่สูงยิ่ง ทั้งด้านการขับร้องเพลง ศิลปะการแสดง การพูด และการเขียนบทความ โดยเฉพาะการขับร้องเพลงไทยสากล มีเทคนิคการร้องเพลงที่เป็นแบบเฉพาะของตนเอง การเอื้อน การออกเสียงเต็มไปด้วยมนต์ขลังทั้งนุ่มนวล อ่อนหวาน มีผลงานเพลงที่ขับร้องอัดแผ่นเสียงรวมกว่า 200 เพลง เพลงบางเพลงมีความไพเราะได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย
นอกจากนี้ ความสามารถของหม่อมราชวงศ์ถนัดศรี ถ่ายทอดมาถึงลูกชายอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะ "หมึกแดง" หรือหม่อมหลวงศิริเฉลิม สวัสดิวัตน์ และ "ปิ่นโตเถาเล็ก" หรือ หม่อมหลวงภาสันต์ สวัสดิวัตน์ ซึ่งโด่งดังในฐานะนักปรุงอาหาร หรือนักชิม
หมึกแดงเคยเล่าความทรงจำในวัยเด็กว่า ช่วงที่เรียนหนังสือ หมึกแดงกลับบ้านบ้างในช่วงปิดเทอม และทุกครั้งคุณพ่อ (หม่อมถนัดศรี) จะพาลูกๆ ไปตระเวนกินอาหารตามที่ต่างๆ การซึมซับเรื่องราวของอาหารถูกสะสมมาตั้งแต่ตอนนั้นนั่นเอง
นักร้อง นักดนตรี พลังเสียงสุดนุ่ม
อย่างไรก็ดี หม่อมถนัดศรี ไม่ได้เป็นที่จดจำแค่ในฐานะ “นักชิม” เท่านั้น แต่ยังมีความสามารถในบทบาทของการเป็น “นักร้อง” ที่ได้รับพรสวรรค์จากสายเลือดจากคุณอา หลวงกล่อมโกศล (เศวตะทัต) และหม่อมเจริญ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา (เศวตะทัต) หรือหม่อมมารดานั่นเอง
หม่อมถนัดศรี เป็นผู้ที่มีความสามารถเฉพาะตัวที่สูงยิ่งทั้งด้านการขับร้องเพลง ศิลปะการแสดง การพูด และการเขียนบทความ โดยเฉพาะการขับร้องเพลงไทยสากล มีเทคนิคการร้องเพลงที่เป็นแบบเฉพาะของตนเอง การเอื้อน การออกเสียงเต็มไปด้วยมนต์ขลังทั้งนุ่มนวล อ่อนหวาน มีผลงานเพลงที่ขับร้องอัดแผ่นเสียง รวมกว่า 200 เพลง เพลงบางเพลงมีความไพเราะได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย
ทว่า ยังเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการยกระดับสถานภาพของนักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลงให้มีเกียรติ มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับของสังคมอีกด้วย
โดยที่ผ่านมา หม่อมถนัดศรีมีโอกาสได้เป็นนักร้องสุนทราภรณ์รุ่นแรก ออกแผ่นเสียง และอัลบั้ม โด่งดังอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีเพลงที่ติดหูใครหลายคนมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้ง สีชัง, ยามรัก, หวงรัก, วนาสวาท
ส่วนเพลงที่ทำให้ให้หม่อมถนัดศรีเป็นที่รู้จัก คือ “ยามรัก” โด่งดังไปทั่วตลอดเหนือจดใต้ นอกจากนี้ ยังเคยไปปรากฏตัวในฉากพิเศษ เพลง “ยามรัก” ในภาพยนตร์ไทยซาวนด์ออนฟิล์ม เรื่อง “กลัวเมีย” ของ ศรีกรุงภาพยนตร์ พ.ศ.2514 ของขุนวิจิตรมาตรา ที่มีดาราดังในสมัยนั้นอย่างสมบัติ เมทะนี และอรัญญา นามวงศ์ ร่วมแสดง
แววความเป็นนักร้องเสียงดีของท่าน ฉายชัดให้เห็นตั้งแต่วัยเด็ก โดยครูจะมอบหมายให้หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี ร่วมขับร้องเพลงไทยด้วยทุกครั้ง เพราะขับร้องเพลงไทยได้ดี และการได้เป็นลูกศิษย์ของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ นับเป็นแรงจูงใจสำคัญให้ท่านสนใจในการขับร้องเพลงไทยและดนตรีไทย ตั้งแต่นั้นมา
ด้วยความที่มีใจรักในการร้องเพลงไทย และมีใจรักในการร้องเพลงไทยเดิม ก็พัฒนาไปสู่การร้องเพลงไทยสากล จึงทำให้หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี มีวิธีการร้องที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งยังมีพื้นเสียงที่สูงมาก เมื่อเทียบกับนักร้องชายรุ่นเดียวกัน
การขับร้องเพลงไทยสากลของ หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี เริ่มขึ้นเมื่ออายุ 14 ปี ด้วยความที่รักการร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ คุณชายได้แอบพายเรือหนีออกจากวังสระปทุม ไปประกวดร้องเพลงที่งานภูเขาทอง
โดยใช้นามแฝงว่า "ป.ปทุมวัน" และได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดรุ่นเล็ก ได้รับถ้วยรางวัล และเงิน 5 บาท เป็นรางวัล
ระหว่างที่ศึกษาที่โรงเรียนเตรียมปริญญา มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ด้วยนิสัยสนุกสนานเฮฮา ทำให้ท่านมีเพื่อนมากมายหลายกลุ่ม ยิ่งผ่านช่วงสงครามโลกมาแล้วด้วยกัน ก็ยิ่งผูกพัน พอข้าวปลาอาหารขาดแคลน แม้แต่ผู้ที่อาศัยวัดอยู่ เป็นเด็กวัด แทบไม่มีข้าวก้นบาตรกิน พวกเพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกัน เริ่มลำบาก
"ตอนนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นักศึกษาที่มาจากปักษ์ใต้ ไม่มีเงินจะกินอาหารกลางวัน เราก็รวมตัวกันเพื่อร้องเพลง ผมก็เอาเพลงของหัวหน้า ผมไม่ได้เรียก "คุณเอื้อ (สุนทรสนาน)" ว่าครู แต่เรียกหัวหน้า เพราะท่านเป็นหัวหน้าของพวกเรา
ผมก็เอาเพลงของท่านมาร้องเก็บสตางค์ เราเป็นยุวชนใน 10 ทหาร ก็ถอดหมวก ร้องเพลง และเพลงของหัวหน้านี่แหละ ที่ทำให้นักศึกษาในยุคสงครามได้รอดชีวิต เป็นพระคุณอันใหญ่หลวงครับ"
จากคนเบื้องหลัง...สู่นักร้องหน้าม่าน!
จากการเป็นนักร้องสมัครเล่นในครั้งนั้น ทำให้หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี มีโอกาสก้าวสู่การเป็นนักร้องอาชีพ เมื่อคุณอาภรณ์ กรรณสูต เล่าให้ ครูเอื้อฟังว่า มีเพื่อนนักเรียนร่วมมหาวิทยาลัย ร้องเพลงไพเราะมาก อยากให้รู้จัก
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาวิทยาลัยปิดงดการเรียนการสอนพอดี หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี จึงได้เข้าร่วมวงดนตรีสุนทราภรณ์นับแต่นั้น เวลามีการแสดง ท่านจะตามไปอยู่เบื้องหลังทุกครั้ง และจะได้ยินเสียงเพลงที่ขับร้องกันอยู่เป็นประจำ
จนช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 กรมโฆษณาการ ได้จัดให้มีการแสดงดนตรีสดออกอากาศ เพื่อกล่อมขวัญและสร้างความบันเทิงแก่ประชาชน ที่ตกอยู่ภายใต้สงครามและระเบิด หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี ก็ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ขับร้องเพลง ให้วงดนตรีกรมโฆษณาการ
ในปี 2485 ครูเอื้อ อพยพไปอยู่ต่างจังหวัด มาร้องเพลงตามปกติไม่ได้ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ก็มอบหมายให้ หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี ร้องเพลงหลังม่านคู่กับ คุณชวลี ช่วงวิทย์ ที่โรงภาพยนตร์โอเดียน ถึง 35 รอบ
ปรากฏว่า ร้องได้ไพเราะจับใจ ผู้ฟังชอบใจในน้ำเสียง จนกระทั่ง หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี ได้เป็นนักร้องหน้าม่าน ในเวลาต่อมา
สอดคล้องกับในงานคอนเสิร์ตสุนทราภรณ์ เพลงรักจากดวงใจ ครูสุรัฐ พุกกะเวส เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2551 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ร.ว.ถนัดศรี ได้ให้เกียรติมาร่วมรายการครั้งนี้ ในฐานะนักร้องสุนทราภรณ์ในอดีตยุคต้นๆ ได้มีโอกาสมาเล่าเกร็ดประสบการณ์กับวงดนตรีสุนทราภรณ์ ในสมัยนั้นให้ฟัง
“ผมอยู่กับวงสุนทราภรณ์มาตั้งแต่อายุ 18 ตอนนั้นอยู่ธรรมศาสตร์ ต้องบอกก่อนว่า ผมกับคุณหนู ภรรยาครูเอื้อ เป็นเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ผมมาเข้าร้องเพลงกับสุนทราภรณ์ก็เพราะว่า เป็นเด็กฝาก เส้นใหญ่มากเลย (หัวเราะ) เพราะว่าพี่หนูเขาบอกว่า เพื่อนของหนูร้องเพลงเพราะมาก
แต่ไม่ได้ไปร้องตามงานต่างๆ ผมอยู่หลังโรงตลอด แล้วมีอยู่ครั้งหนึ่งสุนทราภรณ์ออกแสดงอยู่ที่โอเดียน เป็นครั้งแรก ตอนนั้นผมก็ติดสอยห้อยตามครูแก้ว พอครูแก้วแต่งเนื้อ ผมจด ผมเป็นคนเดียวเท่านั้นที่รู้จักเนื้อเพลงในรุ่นนั้นทั้งหมด อย่างสุปาณี พุกสมบุญ นักร้องสุนทราภรณ์ เขาออกไปร้อง ผมก็ต้องไปอยู่ข้างหน้า คอยบอก
และมีอยู่ครั้งหนึ่งที่โอเดียน ครูเอื้อไม่มา ครูแก้วบอก “ไอ้หม่อมมึงร้อง” อ่ะร้องก็ร้อง วันนั้นผมก็ร้อง พวกคนดูบอก แหม... วันนี้สุนทราภรณ์เสียงพลิ้วเชียว
นับตั้งแต่นั้นมา หัวหน้าก็บุ๊กตัวผม เพราะแต่ก่อนไม่มีเทป พอ 3 ทุ่ม ต้องมีดนตรีบรรเลงเพื่อปลอบขวัญคนที่กำลังอยู่ในภัยสงคราม วงดนตรีกรมโฆษณาการตอน 3 ทุ่มจะต้องออก หัวหน้าไม่มาเลย เขาก็บอกไม่เป็นไร ไอ้หม่อมมันร้องแทน”
ตลอดชีวิตท่านได้รับรางวัลคุณภาพมากมาย เช่น รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในปี พ.ศ.2506
รางวัลเมขลา 3 รางวัล คือ รางวัลผู้ดำเนินรายการดีเด่น จากการจัดรายการ "การบินไทยไขจักรวาล" ในปี พ.ศ.2524 รางวัลผู้มีผลงานดีเด่นด้านวิทยุและโทรทัศน์ ปี พ.ศ.2524 และ พ.ศ.2525
รางวัลเกียรติคุณสังข์เงิน สาขาวิทยุโทรทัศน์ ปี พ.ศ.2526 รางวัลเทพทอง ในฐานะบุคคลดีเด่นด้านวิทยุและโทรทัศน์ ในปี พ.ศ.2538 รางวัลเสาโทรทัศน์ทองคำ รายการโทรทัศน์ดีเด่น ปี พ.ศ.2539
รางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ในฐานะผู้ที่ใช้ภาษาไทยถูกต้องตามหลักภาษา ทั้งการพูด เขียน อ่าน ในปี พ.ศ.2550
รางวัลนราธิป ในฐานะผู้มีผลงานด้านการเขียนดีเด่นต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในปี พ.ศ.2551
นอกจากนี้ ยังได้รับปริญญาวารสารศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และปริญญานิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ด้วยความเป็นผู้อนุรักษ์ สืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติให้ยั่งยืนสืบไป หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) ในปี พ.ศ.2551
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก รายการสยามศิลปิน
โดย ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **