xs
xsm
sm
md
lg

ศิลปิน “ไร้แขน” คนแรกของไทย ผู้ไต่ฟ้าท้า “คิลิมันจาโร” สูงสุดในแอฟริกา!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ชนะ “ใจ” ตัวเองให้ได้ก็พอ! ผู้พิการคนแรกของประเทศ พิชิตยอดเขาที่สูงอันดับ 7 ของโลก ฝ่าความหนาวและร่างกายที่ไม่สมบูรณ์จนเขียนภาพ ในหลวง ร.๙ ได้สำเร็จ!! เจ้าตัวเปิดใจไม่คิดว่าศิลปะจะพามาไกลได้ถึงเพียงนี้ จาก “เด็กบ้านนอก” ที่ชอบวาดรูป สู่ “ศิลปินใจบุญ” สอนศิลปะฟรี และยังเป็น “วิทยากร” สร้างแรงบันดาลใจในการสู้ชีวิต

ปีนเขา “ครั้งแรก” เกือบเอาชีวิตไม่รอด!!

“ผมวิตกจริตทุกวัน อยากกลับบ้าน จะตาย หายใจไม่ออก อ้วก กินยาพารา 6 เม็ดยังไม่อยู่ ต้องเจออากาศหนาว กินอะไรก็ไม่ได้ ผมไม่ได้ขึ้นด้วยตัวเองเต็มร้อย บางจุดต้องมีคนช่วย อย่างลงเหว เดินตามจุดที่สูงชันเกินไป เพราะเราไม่ใช่นักปีนเขาอาชีพ ครั้งแรกในชีวิตก็ปีนอันดับ 7 ของโลกแล้ว”

“เอก - เอกชัย วรรณแก้ว” ผู้พิการหนึ่งเดียวในไทยที่พิชิตยอดเขาคิลิมันจาโรในทวีปแอฟริกา ซึ่งมีความสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก!! เปิดใจถึงวินาทีที่เกือบยอมแพ้ให้กับความเหน็บหนาว ก่อนจะย้อนความให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นในการตอบรับคำเชิญชวนจาก “หนึ่ง - วิทิตนันท์ โรจนพานิช” คนไทยคนแรกที่ปีนยอดเขาเอเวอเรสต์สำเร็จ

“ผมไม่ได้อยากไปเลย (หัวเราะ) แต่ผมเป็นคนที่บ้า ใครท้าไม่ได้ ซึ่งมันเริ่มมาจากคืนนั้นผมไปค้างคืนที่ต่างจังหวัดแล้วนอนไม่หลับ ก็ได้เปิดทีวีดูเจอพี่หนึ่ง ซึ่งผมไม่รู้จักหรอก เขาขึ้นไปยอดเขาเอเวอเรสต์ ผมคิดในใจจะขึ้นไปเพื่อ ทรมานตัวเอง 10 กว่าวัน จะตายตอนไหนก็ไม่รู้ ไม่มีอะไรรับประกันเลย

ถึงไม่ตายก็ทรมาน บางคนต้องตัดแขน ตัดขาเพราะหิมะกัด จนวันหนึ่งได้มาเจอกับพี่หนึ่งแล้วได้คุยกัน ด้วยความที่ผมก็ขี้เล่น บอกเขาว่าเอเวอเรสต์เนี่ย ถ้าผมมีแขนผมก็ขึ้นได้ พี่เขาก็อึ้งไปพักหนึ่งบอกว่า แล้วทำไมจะไปไม่ได้ล่ะ ถ้าเอกอยากจะขึ้น พี่จะพาขึ้น แต่ไม่ใช่เอเวอเรสต์นะ จะเป็น 1 ใน 7 ของยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก


 
ผมคิดว่าเขาอำผมหรือเปล่า จะพาผมไปขึ้นที่วัดภูเขาทองเหรอ เขาบอกว่าจะไปที่คิลิมันจาโร ผมก็ไปหาข้อมูล ภาพที่เห็นคือเดินพื้นๆ เหมือนอยู่สวนลุม อากาศเย็นสบาย ดอกไม้ กระบองเพชรสวยๆ ก็เดินได้นี่ ผมก็รับปากกับเขาว่าผมจะไป

เขาบอกอีกว่าเราจะไม่ไปปีนธรรมดาๆ นะ เราต้องมีเรื่องราว ถ้าจะทำอะไรทั้งทีต้องให้โลกจดจำว่าเราไปเพื่ออะไร นั่นก็คือ หนึ่ง คนพิการที่ไปพิชิตยอดเขา สอง การขึ้นไปเขียนรูปพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ ๙ ซึ่งตอนนั้นพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่”

แม้จุดเริ่มต้นของภารกิจนี้เกิดขึ้นจากคำพูดท้าทายกันเพียงคนไม่กี่คนเท่านั้น แต่เมื่อตัดสินใจว่าจะร่วมเดินทางกันแล้ว เขาเองก็ได้เตรียมตัวสำหรับ Mission นี้ถึง 3 ปี แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอสำหรับอุปสรรคที่กำลังจะได้พบเจอ

“จากที่ท้ากันเล่นๆ ก็เริ่มไม่เล่นๆ แล้ว ผมอยู่ที่นั่น 9 วัน ถามว่าอยากไปอีกไหม ตอบได้เลยว่าไม่ไป (หัวเราะ) ถ้าไม่คอขาดบาดตาย ผมไม่ไป เพราะผมรู้ว่าการที่ไปจะต้องเจออะไรบ้าง ใครคิดว่าตัวเองแข็งแรง เป็นนักกีฬาหรืออะไรก็ตาม คนที่จะพิชิตยอดเขาไม่ว่าลูกไหนก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ใจ”

ทั้งที่ผมเตรียมตัวมา 3 ปีนะ ผมก็คิดว่าเยอะแล้ว แต่มันก็ยังน้อยไปกับข้อมูลที่เรามี ความยากคือ อากาศที่เราไม่ชิน บ้านเราเป็นเมืองร้อน แต่เราไปเจออุณหภูมิติดลบ 20 กว่า

พอเราเหนื่อยเราต้องนอนเต็นท์อยู่บนยอดเขาที่ลมแรงๆ สอง อาหารที่ไม่คุ้นเคย ผมกินไม่ได้ และสาม รองเท้าที่ผมเตรียมไว้ 2 คู่ ผมใส่ไม่ได้เลย มันเจ็บ ผมต้องเดินเท้าเปล่ากับอากาศที่เย็น และหินที่คมเหมือนใบมีดโกน ผมโดนบาดตลอดทั้งวัน มันทรมานนะ”

เหมือนว่าระหว่างทางจะมีเรื่องราวเข้ามาพิสูจน์ความอดทนทั้งทางร่างกายและจิตใจอยู่มากมาย จนทำให้เหล่าผู้ร่วมทริปครั้งนี้เกือบจะหันหลังกลับเสียแล้ว แต่ท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้าย กลับมีเรื่องมหัศจรรย์เกิดขึ้นระหว่างนั้นด้วยเช่นกัน

“ความภาคภูมิใจสำหรับMissionนี้เยอะมากเลยนะ ไม่ว่าจะเป็นพี่ๆ ที่ร่วมทางด้วยกัน หรือน้ำใจของคนพื้นที่ หรือสิ่งมหัศจรรย์หลายๆ อย่างที่เจอกับตัวเอง เช่น วันที่ 5 ธันวาคม เวลาประมาณ ตี 5 กว่าๆ ตอนนั้นฝนตกบนยอดเขา คิดดูว่าถ้าฝนตกอากาศจะติดลบขนาดไหน หิมะตก ทุกอย่างมืดไปหมด

 
พอใกล้ถึงยอดอีกประมาณ 100 เมตร เราเริ่มจะถอดใจกันแล้วว่าล้มเหลวแน่ๆ คือขึ้นไปถึงก็จริง แต่ไม่สามารถทำภารกิจวาดภาพได้ ผมนั่งกับพี่หนึ่งอยู่ 2 คน อีก 9 คนกำลังตามมา ส่วนอีก 3 คนลงเขาเพราะขึ้นไม่ไหว เราทนกันมา 7 วัน สิ่งที่ลำบากเสี่ยงตาย โดนหินบาด นอนไม่หลับ มันเท่ากับศูนย์

ผมถามพี่หนึ่งว่าเราทำยังไงดี มาใหม่ปีหน้าไหม พี่หนึ่งบอกปีหน้าจะได้มาหรือเปล่า เราอาจโดนรถชนตายไปก่อนก็ได้ พี่หนึ่งก็เลยหยิบพระบรมฉายาลักษณ์พ่อหลวงรัชกาลที่ ๙ ออกมาชูแล้วพูด มีคนตามขึ้นมาเป็นพี่เลี้ยงชาวแอฟริกาก็ถามว่าพี่หนึ่งพูดกับใคร

พี่หนึ่งบอกไปว่า ผมพูดกับเทวดาว่าผมมากับน้องเอก 7 วันทรมาน ผมขอ 3 ชั่วโมง ขอให้ท้องฟ้าเปิด ขอให้ผมทำภารกิจนี้ลุล่วง พี่เลี้ยงบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ผมเป็นไกด์มา 20 ปี ถ้าท้องฟ้าปิด หิมะลง
อย่างน้อยอีกอาทิตย์หนึ่งถึงจะเปิด พอพูดจบเหมือนมีสปอตไลต์ จากไม่มีแดด เมฆดำค่อยๆ เปิด พี่เลี้ยงอึ้งว่าไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อนเลย”

สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ชนะ (ใจ) ตัวเอง

ตลอดระยะเวลากว่า 9 วัน ที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางความหนาวเย็น และร่างกายที่ทรุดโทรมลงทุกนาที แน่นอนว่าภารกิจการพิชิตยอดเขาในครั้งนี้ ผู้ร่วมเดินทางต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือการขึ้นไปบนยอดเขาและเขียนรูปพ่อหลวงรัชกาลที่ ๙ ให้สำเร็จ ขณะที่อุปสรรคที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นเพื่อท้าทายจิตใจด้วยเช่นกัน

“ภารกิจตอนเขียนรูปพ่อหลวงรัชกาลที่ ๙ ผมบอกก่อนเลยว่าถ้าผมเขียนรูปในหลวง เทวดา พระภิกษุ ผมจะไม่ใช้เท้านะ ผมจะใช้ไหล่เขียน แต่ที่เป็นปัญหาคือเสื้อโค้ตที่ใส่อัดทำให้ผมไม่มีความรู้สึก มันหนาเกินไป ผมต้องแก้สถานการณ์คือต้องถอดออกทั้งหมด ด้วยอากาศที่ติดลบ 20 กว่าองศา เพื่อเขียนภาพ

ตอนแรกคิดว่าใช้เวลาเขียนไม่ถึง 2 นาที เพราะน้ำต้มเดือดๆ ที่ใช้ผสมกับอะคริลิกมันแข็ง ผมต้องแข่งกับเวลา แต่เกิดสิ่งมหัศจรรย์อีก พอผมถอดเสื้อออก พี่หนึ่งก็ห่วงความปลอดภัยของเรา ผมบอกไม่เป็นไร ผมอึดขนาดไหน ผมเอาแค่นั้น ผมถอดเสื้อโค้ตออกจนเหลือแค่เสื้อกล้ามกับเสื้อไหมพรม รวมแล้ว 2 ตัว

เชื่อไหมว่าน้ำที่ผมใส่ไป 2 นาทีต้องแข็ง มันกลับไม่แข็ง ผมต้องหนาว ผมกลับไม่หนาว เหมือนเราเปิดแอร์บ้าน มันเย็นสบาย จนพี่เขาแซวว่าผมเป็นเพนกวินเลยชิน (หัวเราะ) ผมใช้เวลาประมาณ 5 นาที เราอยู่ตรงนั้น 3 ชั่วโมง จากนั้นเมฆมาปิด หิมะมา บรรยากาศเหมือนเดิมเลย เราถึงค่อยลง

 
ตอนที่ผมเขียนรูปก็มีการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ร้องเพลงชาติ เป็นไปไม่ได้ที่ชาวพื้นเมืองที่นั่นจะรู้จัก เชื่อไหม เขาฟังแล้วเขาน้ำตาไหล เขาก็ถามว่าเอกชัยวาดรูปใครที่ใส่แว่น ผมบอกว่านี่คือพ่อผม แต่ไม่ใช่พ่อผมคนเดียวนะ นี่คือพ่อของทั้งแผ่นดินสยาม นี่คือความประทับใจในภารกิจนี้”

ลำพังผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงสำหรับการปีนเขาก็ว่ายากลำบากแล้ว แต่เขากลับยืนอยู่บนยอดเขาได้อย่างภาคภูมิใจ แถมยังเป็นผู้พิการคนแรกของไทยอีกด้วย แม้ก่อนหน้านั้นเขาเองก็คิดจะถอดใจกลางทาง แต่เขาบอกกับตัวเองเสมอว่าต้อง “ชนะใจ” ตัวเองให้ได้ก่อน

“สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการชนะตัวเอง วันที่ 4 ผมบอกกับพี่หนึ่งว่าผมไม่ไหวแล้ว ขอกลับ ไม่ทนแล้ว มันปวดไปหมด ผมได้แผลทุกวัน พี่หนึ่งเปิดคลิปฯ พ่อหลวงรัชกาลที่ ๙ ให้ผมดู ผมเห็นพ่อผมเดินท้องนา เดินตากฝน พี่หนึ่งบอกว่าเอกดูสิ พ่อเราเดินเพื่อเรามา 70 ปีแล้วนะ พ่อยังไม่เคยบ่นเลย แล้วเราจะเดินเพื่อพ่อสัก 9 วัน เอกไม่ไหวเหรอ

หรือเอกจะกลับ พี่จะพากลับ เอกลองตัดสินใจดู ถ้าเอกกลับ ทุกคนกลับหมด เพราะนี่คือภารกิจของเรา ทุกคนเดินตามมาเพื่อมาให้กำลังใจ ผมก็คิดว่าเรายังเดินต่อไหว วันนี้ทำให้เต็มที่ พรุ่งนี้ค่อยว่ากันใหม่ จนเราไปถึงยอดเขา เราชนะแล้วนะ คือ เราชนะตัวเองแล้ว”

 
“ศิลปินไร้แขน” นักสร้างแรงบันดาลใจ

“ผมไม่เคยคิดว่าศิลปะจะพาผมมาไกลขนาดนี้นะ ผมคิดแค่ว่าอยากเรียนรู้ อยากทดลอง อยากรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะคำว่า “ศิลปะ” สำหรับเด็กบ้านนอก มันก็แค่ขีดๆ เขียนๆ ส่วนใหญ่ก็ทำนา ทำไร่กัน ไม่ได้คิดว่าศิลปะจะเป็นอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้”

แม้จะไม่เคยคาดคิดว่าการขีดๆ เขียนๆ ในวันนั้นจะพาตนมาอยู่ในจุดนี้ได้ ซึ่งเขาบอกว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะครอบครัวที่ไม่เคยตีกรอบการเรียนรู้ด้านศิลปะเลย แถมยังสนับสนุนในสิ่งที่ลูกชอบอย่างเต็มที่

“ผมค้นพบตัวเองตั้งแต่ที่ผมยังไม่ได้เรียนอีก น่าจะราวๆ 4-5 ขวบ ผมรู้สึกว่าเราเขียนรูปแล้วมีความสุข บางครั้งผมเขียนจนพ่อแม่ต้องเรียกไปกินข้าวเลยนะ เราเพลินมีความสุขต่องานที่เราเขียน เราไม่เคยคิดว่าเราเขียนสวยหรือไม่สวยก็ไม่รู้ แต่เราอยากเขียนอะไรก็เขียนเท่านั้นเอง

ต้องบอกก่อนว่าครอบครัวผมไม่เคยบังคับลูกว่า ลูกต้องเป็นนั่น เป็นนี่ ลูกมีความสุขกับการทำอะไร พ่อแม่สนับสนุน โดยที่อาจจะไม่ได้ช่วยลูกได้มากเหมือนครอบครัวที่มีเงิน อาจจะซื้อแค่สมุดวาดเขียน สีน้ำ สีไม้ แค่นี้เราก็มีความสุขแล้ว อย่างสมุดวาดเขียนเล่มเล็กๆ เชื่อไหมผมเขียนภาพวันเดียวหมดทั้งเล่ม

ภาพแรกที่ผมวาดเป็นตัวการ์ตูนก้างๆ หัวกลมๆ มีผม 3 เส้นแค่นั้น เรารู้สึกว่ามันมีความสุขและพัฒนาด้วยการมีปาก มีหู มีกล้ามเนื้อมาเรื่อยๆ แต่ในตอนนั้นเราไม่รู้ว่าองค์ประกอบคืออะไร เราเห็นอะไรก็เขียนตามที่เข้าใจ”

จากที่เรียนเพราะชอบก็กลายเป็นเรียนเพื่อต่อยอดเลี้ยงตัวเอง คงต้องขอบคุณครูศิลปะผู้มองเห็นพรสวรรค์ของเขา และมอบทั้งโอกาส กำลังใจ และแรงผลักดันให้เขาตลอดมา จนทำให้เขาตัดสินใจเรียนต่อด้านศิลปะอย่างจริงจัง

“พอผมได้โอกาสเรียน ผมเรียนตอนอายุ 13 ปี เข้า ป.1 ผมมารู้จักคำว่าศิลปะก็คือชั่วโมงศิลปะ คุณครูมาสอน ภาพแรกที่ผมเขียนจริงจัง คือขวด เขียนจนรู้สึกว่าเบื่อทำไมครูถึงให้เขียนแค่ขวด ครูบอกว่ามันยังไม่ได้นะ มันต้องมีแสงและเงานะ นี่แหละผมถึงรู้จักสัดส่วนครั้งแรก


 
พอเขียนขวดเสร็จ เขียนแสงและเงา ก็เริ่มมาเขียนอะไรที่ยากกว่านั้น นั่นคือรูปทรงผลไม้ ปลา และไปเรียนเรื่องของสี ตั้งแต่ ป.1 - ป.6 และมารู้ลึกตอนที่อยู่ ม.1 - ม.3 มารู้จักสีอะคริลิก รู้จักคำว่าภาพเหมือนจริง จนบอกกับตัวเองว่าเราชอบมัน เราชอบสิ่งนี้จริงๆ เราอยากเรียนต่อ

ครูที่สอนเราตั้งแต่ ป.1 - ม.3 ก็บอกผมว่าเอกสามารถไปต่อได้นะลูก ครูอยากให้เอกเรียนต่อ เรียนรู้ให้มากกว่านี้ เผื่อลูกจะนำไปสร้างอนาคตของลูกได้ ผมก็เลยตัดสินใจเรียนต่อ ผมไปปรึกษาพ่อกับแม่ ซึ่งอย่างที่บอกลูกอยากเรียนอะไร ลูกเรียนเลย ผมก็ได้มาสอบศิลปะที่วิทยาลัยอาชีวศึกษานครสวรรค์ ตั้งแต่ ปวช. - ปวส. จนเรียนจบ”

ขณะที่รายได้จากการวาดภาพครั้งแรกของเขาเริ่มมาจากการอยากช่วยที่บ้านแบ่งเบาภาระ เนื่องจากที่บ้านค่อนข้างลำบาก และการมาเช่าหอระหว่างเรียนก็จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก นั่นจึงทำให้เกิดไอเดียรับวาดภาพเหมือนที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่ง

“ต้องบอกก่อนว่า คำว่าศิลปะสำหรับต่างจังหวัดเป็นอะไรที่ห่างไกล ส่วนมากจะเป็นอาชีพทำนา ทำไร่ ทำสวนมากกว่า มีตอนที่อยู่อาชีวะ ปี 3 ผมอยู่หอที่คีรีวงศ์ ค่าเช่าเดือนละ 600 กว่าบาท มันเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่สำหรับนักศึกษามาก ทั้งค่าไฟ และค่ากินอีก
ศึกษาต่อคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
 
ผมคิดว่าเราต้องหาอาชีพเสริมแล้ว เพราะจะหวังจากพ่อแม่อย่างเดียว มันยากมาก เพราะพ่อผมไม่มีเงินเดือน แม่ผมก็ทำนา จะไปเบียดเบียนท่านเราก็สงสาร แค่รายได้รายจ่ายที่บ้านก็ไม่เพียงพอแล้ว ผมก็เลยไปเขียนรูปเหมือนและรูปล้อเลียนเป็นลายดินสอที่อุทยานสวรรค์ นครสวรรค์

ตรงนั้นจะมีคนออกกำลังกาย เดินเล่นกัน เมื่อก่อนผมเป็นคนพูดไม่เก่งก็ไปนั่งทื่อๆ คนก็วิ่งไปมา 3 วันผมไม่ได้สักบาทเลย เขานึกว่าเราไปนั่งเล่นชิลๆ จนมีอาม่าคนหนึ่งสงสัยว่าผมมานั่งทำอะไรทุกวันตรงนี้ แกก็ถามว่าวาดได้เหรอลูก ราคาเท่าไหร่ ผมบอก 20 บาท อาม่าให้ผมลองวาด แกเห็นแกก็อึ้ง อาม่าให้ 40 บาท

นั่นคือเงินก้อนแรกที่ผมได้จากการวาด หลังจากนั้นผมก็เขียนมาตลอด วันหนึ่งได้ 60 บาท 100 บาท แล้วแต่วัน ซึ่งเวลาวาดผมใช้เท้าอย่างเดียวเลยครับ ใช้คำว่าฝึกไม่ได้ ผมว่ามันเหมือนสัญชาตญาณของเด็กคนหนึ่งที่มีแค่นี้ แล้วเกิดมาใช้สิ่งที่มีจนเหมือนเรามีมือปกติและเขียน ผมไม่มีมือ ผมก็ใช้เท้าเขียนเป็นเรื่องปกติ

หลังจากที่เรียนจบผมก็เข้ากรุงเทพฯ มาสอบเอนท์ที่เพาะช่าง และล่าสุดที่ผมได้ทุนพระราชทานจากกรมสมเด็จพระเทพฯ ผมได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ครับ”

คุณค่าอยู่ที่ตัวเรา ไม่สำคัญว่าใครมองเป็น “ขยะ”

“ผมบอกตัวเองเสมอว่าถ้ามี “โอกาส” ผมอยากจะช่วยสังคม ผมอาจจะช่วยได้ไม่มาก แต่ผมยินดีที่จะช่วยก็เลยทำโครงการ “Pay it Forward” ขึ้นมา ผมอยากช่วยน้องๆ ผู้พิการ รวมถึงสอนศิลปะให้คนที่สนใจด้วย”

หากใครได้ติดตามแฟนเพจ “Ekachai Wannakaew” คงพอได้เห็นข่าวการระดมกำลังของจิตอาสา เพื่อไปช่วยเหลือน้องผู้พิการซ้ำซ้อนตามโรงเรียนต่างๆ ซึ่งล่าสุดมีเป้าหมายที่ “โรงเรียนศึกษาพิเศษชัยนาท” โดยจะมีการบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภค อุปกรณ์การเรียน และเลี้ยงอาหารกลางวันด้วยเช่นกัน

ขณะที่จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ช่วยสังคมนี้ เขาย้อนให้ฟังว่าเกิดขึ้นจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อตอนที่ยังเป็นเด็ก จึงเข้าใจความรู้สึกของผู้ที่ประสบอุทกภัยดีว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ เมื่อเขาเองมีกำลังที่จะช่วยเหลือได้บ้าง จึงเกิดเป็นโครงการนี้ขึ้นมา

“ปีที่แล้วที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ ผมก็รับบริจาค ซึ่งผมจะเป็นคนที่ค่อนข้างกังวลเรื่องการรับบริจาคว่ามันไปถึงจริงหรือเปล่า เงินเข้ากระเป๋าตัวเองหรือเปล่า ผมก็เลยตัดปัญหาก็คือไม่รับเงิน แต่ขอรับเป็นสิ่งของแทน เช่น มาม่า ปลากระป๋อง น้ำดื่ม นำไปให้คนที่น้ำท่วมไม่สามารถออกมาซื้อของได้

 
ต้องบอกก่อนว่า ผมเป็นคน อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ การที่น้ำท่วมมันจะท่วมนานกว่าจังหวัดอื่นๆ เพราะมันเป็นแอ่ง จะลำบากกว่าคนอื่น ผมคิดในใจว่าถ้าเรารอหลวงไปแจก แล้วอีก 10 กว่าวันชาวบ้านจะอยู่กันยังไง เพราะเราเคยประสบปัญหาแบบนี้มาก่อน ไม่มีทั้งน้ำ ไฟ บางบ้านไม่มีเรือ คนชรา จะทำยังไง

ผมอยากช่วยในจุดนี้ก่อนที่หลวงจะเข้ามาช่วยอีกระลอก นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการช่วยเหลือสังคม นั่นคือในปี 2561 หลังจากนั้นก็รู้สึกว่าเราทำดี ทำจริง ผมเคยเข้าเฝ้าฯ กรมสมเด็จพระเทพฯ พระองค์ตรัสว่าถ้าเราทำความดี ทุกคนจะเห็นความดีเรา และจะมีคนช่วยเราเอง ผมก็เลยทำแบบนี้มาตลอด

หรือการที่ผมไปช่วยน้องที่ใต้สะพานพระราม ๘ ไปสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ ไปช่วยสอนศิลปะ ไปบ้านอุเบกขา บ้านมุทิตา หรือในเรือนจำไปให้แรงบันดาลใจ ผมไปให้แนวคิดเขาว่าคุณไม่ได้หมดทุกสิ่งนะ คุณยังมีโอกาส แต่ก้าวแรกที่จะมีโอกาสคือคุณเองที่ต้องเปิดโอกาสให้ตัวคุณเอง

คุณจะมองให้เห็นคุณค่าในตัวเองยังไง ถ้ามีคนบอกว่าคุณคือขยะ แล้วคุณจะเป็นขยะที่ไม่มีค่า หรือจะเป็นขยะที่กลับมามีค่าอีกครั้ง มันอยู่ที่ตัวคุณ”

นอกเหนือไปจากการลงพื้นที่ช่วยเหลือน้องๆ ผู้พิการซ้ำซ้อนที่โรงเรียนในต่างจังหวัดก็ได้มีการเปิดโรงเรียนสอนศิลปะขึ้นด้วยในกรุงเทพฯ นั่นคือ “บ้านศิลปะเอกชัย วรรณแก้ว” ไว้สอนศิลปะแบบไม่คิดเงินให้กับน้องๆ หรือคนทั่วไปที่สนใจอยากเรียนรู้

“สำหรับโรงเรียนสอนศิลปะของผม มันเป็นความฝันผมที่ตอนเด็กๆ ผมไม่ได้รับโอกาสเรียน ผมเคยฝ่าฟัน เคยถูกทดสอบ จนผมมีทุกวันนี้ ผมก็บอกกับตัวเองว่าถ้าเรามีเวลา มีกำลัง มีโอกาส เราจะทำ เพื่อให้คนอื่นหรือหลายๆ คนที่มีความฝันอยากเรียนศิลปะได้เข้ามาเรียน โดยที่ไม่ติดเรื่องค่าใช้จ่าย ขออย่างเดียวคุณมีใจเท่านั้นเอง

ที่ผมเปิดสอนจะคัดรอบละไม่เกิน 20 คน เราจะมีกติกา 3 ข้อ หนึ่ง ผมขออายุ 10 ขวบขึ้นไป สอง คุณต้องชอบมันจริงๆ นะ ไม่ใช่ไม่รู้จะทำอะไรก็อยากมาเขียนรูปชิลๆ ผมว่ามันเสียเวลา และสาม คุณมีความพร้อม ถามตัวเองให้แน่ใจว่าชอบมันจริงๆ หรือเปล่า แค่นั้นครับ

อย่างเมื่อก่อนเราจะมีความคิดที่ปู่ ย่า ตา ยาย เคยปลูกฝังว่า โตมาต้องเป็นหมอ ตำรวจ คุณครู มีใครที่บอกลูกว่าโตมาอยากให้ลูกเขียนรูป เล่นลิเก ร้องเพลงไหม ไม่มีเลย เพราะอาชีพพวกนี้เป็นอาชีพที่หากินไม่ได้ ไส้แห้ง อดตาย ไม่มีอนาคต แต่ผมจะให้เขาคิดใหม่ว่าทุกอาชีพมีคุณค่าเสมอ ถ้าคุณเอาจริงกับมัน”

 
“จิตสำนึก” ไม่แก้ที่ต้นเหตุ มันก็ “ไร้ค่า”

“ถ้าพูดจริงๆ ผมว่าตอนนี้เราทำเหมือนผักชีโรยหน้า ทำแบบขอไปที โดยที่ไม่ได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่ทำไป แม้แต่คนพิการหรือคนไม่พิการ มันใช้ได้เต็มร้อยหรือเปล่า”

คงต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าที่ผ่านมาทั่วทุกพื้นที่สื่อ ต่างพากันพูดถึงพฤติกรรมไร้จิตสำนึกในสังคมไทย โดยเฉพาะเรื่องของการละเมิดสิทธิ์กลุ่มผู้พิการและคนชรา ทั้งการจอดรถในห้างสรรพสินค้า การใช้ห้องน้ำ รวมไปถึงการแย่งขึ้นลิฟต์คนพิการตามสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ

ในฐานะที่เขาเองก็เป็นหนึ่งในผู้เคยประสบเหตุการณ์ดังกล่าวมาเช่นกัน เขาได้เล่าย้อนเรื่องราวให้ฟังว่าเคยถูกตำหนิจากคนที่ร่างกายปกติ ทั้งที่ตนกำลังใช้ห้องน้ำผู้พิการอย่างถูกต้องอยู่แท้ๆ

“ยกตัวอย่าง เมื่อ 8 ปีที่แล้ว มีอะไรให้คนพิการบ้างครับ โทรศัพท์ของคนปกติกับคนพิการ สูง 140 - 150 ซม. แล้วผมสูง 110 ซม. ถามว่าใช้ได้ไหม ผมใช้ไม่ได้ ถ้าได้คือต้องแบกเก้าอี้เพื่อไปวางและขึ้นไปโทร. แต่ถามหน่อยว่าต้องแบกเก้าอี้เพื่อไปโทร.เหรอ

ต่อมาคือโถหรือสุขภัณฑ์ในที่สาธารณะต่างๆ ที่ให้แก่คนพิการ ไม่ต้องพูดถึงเมื่อก่อนแต่ปัจจุบันนี้ก็เห็นๆ ผมไม่มีปัญหา แต่คนที่ตัวเล็กหรือนั่งวีลแชร์แล้วมันสูงเกินไป ถามว่าเขาสะดวกไหม ที่สำคัญ 60% ของผู้ใช้คือคนปกติ ผมเคยโดนด่าจากการใช้ห้องน้ำผู้พิการ ตอนนั้นไปเข้าห้องน้ำที่ปั๊ม แต่กรประตูเสีย

ผมก็ไม่เป็นไร ให้พี่ที่มาด้วยยืนหน้าห้องน้ำไว้หน่อย แต่จังหวะพี่เขาปวดฉี่พอดีก็เดินไป ตอนนั้นมีผู้หญิงคนหนึ่งปกติดีเลย แต่งตัวหรู ผลักประตูเข้ามา ผมก็ตกใจ แล้วยังมีหน้ามาบอกผมว่าทำไมไม่ล็อกกร ผมอยากจะบอกว่าคุณไม่ดูป้ายเหรอว่านี่คือห้องน้ำใคร ผมไม่ได้จะอ้างสิทธิ์นะ แต่คุณควรมีจิตสำนึก

ไม่ว่าจะที่จอดรถในห้าง ซึ่งคนที่จอดก็คือคนปกติ แต่บางห้างก็ต้องยอมรับว่าเขาดูให้จริงๆ ว่าคุณสมควรจอดหรือเปล่า มันแก้ได้ด้วยสันดานตัวเองครับ แค่นั้นเลย ไม่มีใครแก้ได้นอกจากตัวคุณเอง คุณจะละอายหรือเปล่า หรือคุณจะทำต่อไปก็แค่นั้น

 
ในต่างประเทศนี่ต่างกันเยอะนะ ต้องยอมรับในหลายๆ ข้อ คือ เขามีกฎระเบียบที่เคร่งครัด สอง เขาปฏิบัติตามโดยที่ไม่แหกกฎ แต่บ้านเรามีกฎไว้แหก ไม่ให้จอดจะจอด ไม่ให้ฝ่าจะฝ่า ไม่สนใจ แต่เมืองนอกไม่ใช่

ถ้าถามว่ารัฐควรพัฒนาอะไร ผมว่าควรพัฒนาคนที่จะมาพัฒนาก่อน แค่นั้น ไม่ใช่ที่ปลายเหตุ ให้รู้จริงๆ ว่าสิ่งที่ทำทุกคนใช้ได้เต็มร้อย โดยที่ไม่ได้เอาเงินมาถมทะเลเล่น มันคือไร้ค่า ที่ผมบอกนั่นคือผักชีโรยหน้า”

ในฐานะที่ถูกยกให้เป็น “ไอดอล” สำหรับการ “สู้ชีวิต” ซึ่งเขาเองก็เปิดใจว่าถ้ามีโอกาสและพลังจะขอช่วยเหลือน้องผู้พิการต่อไป โดยอยากให้สังคมและองค์กรเปิดโอกาสรับผู้พิการเข้าทำงานมากขึ้น เพราะเขาเชื่อว่าน้องๆ เหล่านี้มีความสามารถ และความรับผิดชอบอย่างเท่าเทียมคนทั่วไป

“ต้องบอกก่อนว่าได้รับโอกาสมากกว่าในอดีตค่อนข้างเยอะ แต่คำว่าเยอะสำหรับผมก็ยังน้อยอยู่ดีนะ เพราะการที่จะยอมรับหรือแม้แต่หลายๆ องค์กรจะรองรับค่อนข้างยาก ขั้นแรกคนที่จะต้องเปิดโอกาสก็คือตัวน้องผู้พิการเอง เราต้องทำให้เห็นว่าถ้าน้องเปิดโอกาส น้องจะได้อะไร

ไม่ใช่ให้เขาไปปลูกพริก แต่พอเก็บเกี่ยวแล้วไม่มีที่ขายให้เขา ไม่มีราคารองรับ เขาก็จะคิดว่าจะปลูกไปเพื่ออะไร ต้องมีทางให้เขา ผมว่าคนพิการไม่ใช่คนที่เป็นภาระสังคม หลายๆ คนถ้าเปิดโอกาส มอบงานที่เหมาะสม เขาสามารถทำได้ ผมเคยไปสัมภาษณ์หลายองค์กรที่รับคนพิการ

เขาบอกว่าอยากจะรับคนพิการเข้ามาเพิ่ม แต่ไม่มีให้สมัคร เพราะอะไรถึงอยากรับ หนึ่ง คนพิการลางานน้อยมาก ไม่มีขาแล้วจะไปเดินห้างแถวไหน จะไปชอปปิ้งที่ไหน สอง ไม่เคยบ่น ขอให้มีงานทำ สาม ไม่เคยอ้างว่าเงินเดือนน้อย เขาทำไปตามนั้น ทำไมคนพิการถึงไม่หยุด เพราะหยุดแล้วจะไปทำอะไร ไม่รู้จะไปไหน ทำงานดีกว่ามีความสุข 
  แค่คุณเปิดโอกาสและยอมรับว่าเขาคือพี่ น้อง หรือเพื่อนคนหนึ่ง อย่ามองว่าเขาคือคนพิการ หลายๆ คนชอบตีกรอบคนพิการว่าต้องขอทานนะ ต้องขายลอตเตอรี่นะ แต่เขาอาจจะมีดีกว่านั้นก็ได้”


เรื่องโดย พิมพรรณ มีชัยศรี
ภาพโดย ธัชกร กิจไชยภณ และ FB : Ekachai Wannakaew




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น