xs
xsm
sm
md
lg

น่าทึ่ง!! คุณหมอนักประดิษฐ์นวัตกรรม "ถุง(แกง)ขับถ่ายหน้าท้อง" ถูกกว่านำเข้าเกือบ 7 เท่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทึ่ง!ฝีมือหมอไทยสุดเจ๋ง ประดิษฐ์อุปกรณ์ถุงรองอุจจาระ ช่วยผู้ป่วยผ่าตัดลำไส้ใหญ่ที่ต้องเจาะหน้าท้องเพื่อขับถ่าย ลดภาระค่าใช้จ่ายแสนแพงให้ผู้ป่วย 7 เท่า แถมวัตถุดิบยังหาง่ายในประเทศไม่ต้องพึ่งของต่างประเทศ สะดวก ใช้งานง่าย ถูกและดีมีอยู่จริง!

ลดค่าใช้จ่าย! ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไกลนับร้อยโลฯ

“ปัญหาแรก คือ อุปกรณ์เหล่านี้มีไม่เพียงพอกับความต้องการ เพราะปัจจุบันมีผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งลำไส้ ถูกตัดยกลำไส้ออกมาไว้บริเวณหน้าท้อง ทำให้จำเป็นต้องถ่ายอุจจาระออกมาทางหน้าท้อง มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์เพื่อรองรับอุจจาระทางหน้าท้อง แต่อุปกรณ์เหล่านี้มีไม่เพียงพอ และขาดแคลน”

นพ.อธิคม ดำดี นายแพทย์ชำนาญการพิเศษด้านศัลยกรรมโรงพยาบาลกระบี่ เปิดใจผ่านทีมข่าว MGR Live ถึงที่มาที่ไปในนวัตกรรมช่วยเหลือผู้ป่วย ชี้บางครั้งอุปกรณ์ขาดแคลนเพราะต้องนำเข้าจาก ต่างประเทศ อีกทั้ง ยังไม่มีแพร่หลาย ทำให้ผู้ป่วยต้องเดินทางไกลนับร้อยกิโลฯ เพื่อมารับอุปกรณ์ดังกล่าวในโรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่นวัตกรรมนี้จะทำให้ผู้ป่วยสามารถซื้อหาเองได้ในราคาถูกลง

“ เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้เราต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ผ่านทางบริษัท ตัวแทนต่างๆ บางทีก็ส่งให้ไม่ทัน ผู้ป่วยก็ขาดแคลน ได้รับแบบจำกัด และผู้ป่วยก็ต้องมารับในโรงพยาบาลประจำจังหวัดเท่านั้น ในโรงพยาบาลชุมชนก็ไม่มีให้
ผู้ป่วยทุกคนไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหนก็ต้องเดินทางเข้ามาเป็นร้อยๆ กิโลเมตร เพื่อมารับที่โรงพยาบาลจังหวัด ทำให้ผมมีความคิดว่า เราน่าจะเผลิตเองได้นะ

ปัญหาที่สองคือ เรื่องยางพาราราคาตก จึงทำให้ผมเกิดความคิดพร้อมกันว่า ด้วยคุณสมบัติของยางพาราที่มีความอ่อนนุ่ม และความยืดหยุ่น เมื่อสัมผัสกับท้องของมนุษย์ ร่างกายของคนที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ยางพาราจะให้ความยืดหยุ่น ความอ่อนนุ่มได้ดีกว่า

ผมจึงคิดว่า น่าจะนำยางพารา ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรของภาคใต้ มาผลิตเป็นนวัตกรรมตามแนวทางของไทยแลนด์ 4.0"

สำหรับข้อได้เปรียบที่ชัดเจนเลยคือความแตกต่างเรื่อง “ราคา” คุณหมอย้ำว่า ราคาจะถูกกว่าผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศหลายเท่า อุปกรณ์หลักจะมี 2 ส่วน คือ “แป้นรูเปิดหน้าท้อง” และ “ถุงรองรับอุจจาระ”

อย่างไรก็ตาม หากคำนวณราคาค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยจะต้องจ่ายต่อปี จะเห็นได้ว่า อุปกรณ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ อย่าง แป้น และถุง ราคารวมกันจะเท่ากับ 200 บาท ผู้ป่วยต้องเปลี่ยน 3 วันต่อสัปดาห์ คิดเป็น ต่อปี ราคาจะสูงลิ่วถึง 68,400 บาท ทำให้ผู้ป่วยต้องแบกรับค่าใช้จำนวนมาก แต่หากใช้อุปกรณ์ที่ผลิตในไทย ราคาจะลดฮวบลงเกือบ 7 เท่า จ่ายเพียงแค่ 11,004.75 บาทต่อปีเท่านั้น เพราะต้นทุนสุดต่ำ แป้นและถุง รวมกันเพียงแค่ 30.15 บาทต่ออันเท่านั้น

“หากเรานำเข้าแป้นจากต่างประเทศจะราคา 120 บาท ส่วนถุงราคา 80 บาท ใช้ได้ประมาณ 3-5 วัน ก็ต้องทิ้ง เปลี่ยนใหม่ ทั้งถุงและแป้นก็จะต้องนำไปทิ้งหมด เพื่อความสะอาด จึงเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สิ้นเปลือง”

นอกจากนี้ ปัญหาของอุปกรณ์นำเข้าคือ “ถุง” ที่ต้องนำกลับมาล้าง ตาก แล้วใช้ซ้ำ แต่นวัตกรรมใหม่ของคุณหมอเพียงแค่เปลี่ยนมาใช้ “ถุงร้อน” ราคาถุงละ 15 สตางค์ ก็ใช้ได้แล้ว

“ของต่างประเทศนั้นเมื่ออุจจาระเต็ม ต้องนำไปถ่ายทิ้ง แล้วล้างเอาไปแขวนตากราว จากนั้นก็นำมาใช้ซ้ำต่อ จะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อถุงชำรุด

ผมจึงคิดดัดแปลงอุปกรณ์ที่ทำให้สามารถใช้กับถุงพลาสติกทั่วไป ถุงร้อน ที่ซื้อหาได้ในตลาด ขนาด 6×12นิ้ว ครึ่งกิโลกรัม ราคา 45 บาท มีจำนวนประมาณ 300 ถุง คำนวณแล้วก็ตกถุงละ 15 สตางค์ ที่สำคัญใช้แล้วถ่ายอุจจาระเสร็จก็ทิ้งได้เลย ไม่ต้องนำมาล้างใหม่ไม่ต้องเสียดายเงิน”

นอกจากนี้ “แป้น”ที่นำมาต่อจากถุง ก็นำมาจากขอบพลาสติกที่นำมาจากปากและฝากระป๋องพลาสติก กระป๋องละ 6 บาท และมีอาจารย์จากวิทยาลัยเทคนิคที่สามารถใช้เครื่องกลึงที่ทำให้สวยงามได้ ใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยตัดแต่ง แต่หากมีทุนมากๆก็สามารถหล่อเป็นกรอบพลาสติกออกมาเลยก็ได้

วัตถุดิบไทยชั้นยอด! ยางพารา ยืดหยุ่นตามสรีระ

ทว่า นพ.อธิคม ยังนำวัตถุดิบทางเกษตรจากภาคใต้คือ “ยางพารา” มาใช้เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นด้วย โดยหากนำมาหล่อเองต้นทุนน้ำยางเพียงแค่ 50 บาทต่อลิตร 1 ลิตรหล่อได้ 100 ชิ้น แต่ด้วยความอนุเคราะห์จาก ผศ.ดร. อดิศัย รุ่งวิชานิวัฒน์ ภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จึงทำให้คุณหมอไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

“น้ำยาง” ผมได้มาจาก อาจารย์อดิศัย เป็นผู้ที่ส่งน้ำยางให้ผมมาทำอุปกรณ์ตัวนี้ โดยที่ไม่ได้คิดมูลค่าอะไรกับผมเลย ท่านส่งมาให้ผมอยู่ตลอด หลายแกลลอน
ผศ.ดร.อดิศัย รุ่งวิชานิวัฒน์.
ผมก็เอาน้ำยางตัวนี้มาหล่อ ทำให้น้ำยางก็ไม่ได้สัมผัสกับร่างกายของมนุษย์โดยตรง เพราะมีส่วนของพลาสเตอร์ ที่ติดกับร่างกายนำมาประกบอีกที

ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ “กาว” อาจทำให้แป้นหลุดง่าย ขณะนี้ผมกับอาจารย์อดิศัย ก็กำลังพัฒนาเรื่องกาว ให้มีคุณภาพได้เหมือนต่างประเทศ เพราะการยึดติดร่างกายที่ดีขึ้น ต้องอาศัยกาว ส่วนข้อได้เปรียบของเราคือ ยาง ที่มีความยืดหยุ่นอยู่แล้ว”

อย่างไรก็ดี นวัตกรรมนี้ยังช่วยลดภาระของรัฐที่ต้องจ่ายให้ผู้ป่วย เพราะในส่วนของถุง ผู้ป่วยสามารถหาซื้อเองได้ตามท้องตลาด

“ส่วนแป้น เราอาจจะทำแป้นให้กับผู้ป่วย ในราคาเอื้อมถึง ผมคิดว่า ราคาของแป้นไม่เกิน 30 บาท ทำให้ผู้ป่วยสามารถเปลี่ยนได้เรื่อยๆ ทิ้งได้เรื่อยๆ ประมาณ 3- 5 วันเปลี่ยนที เพื่อความสะอาด”

สำหรับนวัตกรรมชิ้นนี้ นพ.อธิคม เปิดเผยว่า ได้รับการอนุมัติสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อต้นปี 2561 พร้อมให้ผู้ประกอบการนำนวัตกรรมชิ้นนี้ไปต่อยอดผลิตในเชิงอุตสาหกรรม

“เป็นงานที่ผมได้ส่งประกวด ด้านนวัตกรรมพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร เป็นผลิตภัณฑ์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงได้รับการจดอนุสิทธิบัตร แล้ว

ผมพร้อมที่จะให้มีผู้ประกอบการ ผู้ที่สนใจ มาผลิตต่อยอด โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการสนใจแต่ยังไม่มีใครติดต่อมาขอผลิตอย่างจริงจัง เพราะว่าบางครั้งมีความต้องการมาจากในโรงพยาบาล รวมถึงมีผู้เล็งเห็นประโยชน์ แต่ผมไม่มีกำลังการผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะเป็นงานแฮนด์เมด ผมทำด้วยตัวเอง ใช้ทุนของตัวเอง ดีที่ว่าอาจารย์อดิศัยส่งน้ำยางให้ผม โดยไม่คิดมูลค่าอะไร ทำให้ผมทำได้เรื่อยๆ ส่วนค่าอุปกรณ์ก็ราคาเพียงแค่เล็กน้อย

ทุกวันนี้ผมก็ยังผลิตอยู่ หลังว่างจากภารกิจ เพื่อนำนวัตกรรมนี้ไปใช้กับผู้ป่วย เพื่อเป็นการศึกษา และพัฒนางานของเราให้ดีขึ้น หาจุดบกพร่องเพื่อนำมาแก้ไข

ปัจจุบันนี้ผลตอบรับดีมากจากผู้ป่วยหลังจากใช้อุปกรณ์ของผม แต่ติดปัญหาเรื่องกาวของเรายังไม่ดีพอเท่าของต่างประเทศ แต่กลไกการใช้งานอย่างอื่นดีหมด ความสะดวก ความคล่องตัว การใช้งานที่ง่าย ดีกว่าของต่างประเทศ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยทุกคนยังรู้สึกดีในการนำยางพารามาใช้เป็นส่วนหนึ่งในนวัตกรรมนี้ เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ เราได้นำยางพารามาใช้ประโยชน์ให้ก่อเกิดประโยชน์ นื่คือความภาคภูมิใจของคนไข้ที่ได้ใช้

โดยทีมข่าว MGR Live

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก เข้ม มีสี



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **

กำลังโหลดความคิดเห็น