“เราคาดหวังจะเป็นแชมป์ลีกและแชมป์โลก” เปิดใจ “นก-ไชยชนก ชิดชอบ” ถึงเส้นทางการสร้างทีม E-Sports ของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่ไม่ได้ง่ายเหมือนการคลิกเมาท์ ทำทีมให้ได้แชมป์ว่ายากแล้ว แต่ให้ “เนวิน ชิดชอบ” คนเป็นพ่อเปิดใจกับเกมยิ่งยากกว่า พร้อมเผยประสบการณ์พาทีมแข่งต่างประเทศ และอัปเดตเงินรางวัลการแข่งขันระดับโลกที่สูงแตะพันล้านบาท!!!
ไม่ใช่เรื่องง่ายกว่า “ลุงเน” จะยอมรับ
“จะเรียกว่าผมเป็นเด็กติดเกมเลยก็ได้(ยิ้ม) ตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เป็นคนชอบเล่นเกม เราก็ชอบให้เกมเป็นความบันเทิงของเรา กลายเป็นวันนี้ผมทำงานแล้ว ผมก็ยังใช้เกมเป็นจุดพักผ่อนอยู่ตลอด และผมได้มีโอกาสทำในสิ่งที่ตัวเองชอบเป็นธุรกิจ มันเป็นความรู้สึกที่แปลกเหมือนกัน”
ชายหนุ่มสวมแว่นตาทรงกลมและเสื้อฮู้ดแขนยาวสีกรมท่า ผู้อยู่เบื้องหน้าของทีมข่าว MGR Live คือ “นก - ไชยชนก ชิดชอบ” รองผู้อำนวยการสายงานการตลาดและการสื่อสาร บริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จำกัด วัย 29 ปี ลูกชายคนโตจากพี่น้องทั้ง 4 คน ของ เนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด
จากเด็กติดเกมในวันนั้น ในวันนี้ต้องมาแบกความรับผิดชอบชิ้นใหม่โดยมีชื่อเสียงขององค์กรเป็นเดิมพัน ด้วยตำแหน่งประธานสโมสรทีม E-Sports แต่กว่าจะเดินมาถึงจุดนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเขาต้องผ่านด่านหินจาก เนวิน ชิดชอบ ผู้เป็นพ่อ ที่กว่าจะยอมเปลี่ยนมุมมองต่อเกมและให้โอกาสลูกชายคนนี้พิสูจน์ตัวเองในเส้นทางที่เขารัก บอกเลยว่า “ไม่ใช่เรื่องง่าย”
ลุงเนและลูกชายคนโตของบ้านชิดชอบ
“ผมรู้ตัวว่าชอบเล่นเกมมาตั้งแต่ตอน 6 ขวบแล้ว คุณพ่อก็ว่าครับ ไม่ชอบ นอกจากคุณพ่อจะเป็น Super Man เป็นลุงเนของคนบุรีรัมย์ หรือเป็นอดีตนักการเมืองที่เก่งมากๆ แต่เขาก็ยังเป็นคุณพ่อคนนึง
ผมเล่นเกมตั้งแต่เพิ่งเริ่มมาใหม่ๆ ขนาดพวกเราเองยังมองว่าเป็นอะไรที่ใหม่เลย แล้วสำหรับผู้ใหญ่ แน่นอนว่ายิ่งเป็นอะไรที่แปลกตาเข้าไปอีก ผมว่าพ่อแม่ทุกคนพอเห็นลูกทำอะไรเขาจะไม่เข้าใจ หรือไม่เห็นผลที่เป็นทางบวก แน่นอนพ่อก็ต้องดุลูก
พ่อโตขึ้นมาจากการเล่นฟุตบอล เล่นกีฬาข้างนอก ไปทำนู่นทำนี่ นอกจากทำให้ผ่อนคลาย ไม่เครียด เขายังได้เรื่องสุขภาพ ได้พบเจอคน แต่พอเห็นเราเล่นเกม ออกกำลังกายก็ไม่ออก เจอคนก็ไม่ได้เจอ ทั้งที่ในความเป็นจริงมันอาจจะมีอะไรมากกว่านั้นที่มันออกกำลังกายได้คนละแบบ ไม่ว่าจะเป็นสมอง การจัดการทรัพยากรในเกม หรือการพบปะพูดคุยกับคนผ่านช่องทางออนไลน์ มันก็เป็นสังคมในอีกแบบหนึ่ง เยอะครับที่พ่อบ่นให้ออกไปทำอย่างอื่นได้แล้ว ทำไมเล่นแต่เกม”
แม้เขาจะได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่อายุ 8 ขวบและใช้ชีวิตในต่างแดนนานถึง 17 ปี แต่ความรักในการเล่นเกมก็ไม่เคยลดน้อยลง โลกแห่งเกมของนกเปิดกว้างมากขึ้น และพบว่าอุตสาหกรรมเกมของที่นั่นเฟื่องฟูและสามารถสร้างเม็ดเงินได้อย่างมหาศาลมาก
โดยเฉพาะ E-Sports หรือ กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ ที่ต่อยอดมาจากการเล่นเกมออนไลน์ มาเป็นการแข่งขันเล่นเกมเพื่อหาผู้ชนะอย่างเป็นทางการ เขาเห็นโอกาสในการทำธุรกิจ จึงเก็บความคิดนี้ไว้ในใจก่อนจะกลับมาเมืองไทยเพื่อมาเสนอผู้เป็นพ่อ ทว่า...ไอเดียของเขากลับถูกปฏิเสธ
“ตอนที่ผมเสนอไอเดีย พ่อก็มองว่า “ก็แค่ชอบเล่นเกมนั่นแหละ ก็แค่อยากจะมาทำ แล้วมันมีประโยชน์ยังไง” แต่พอเวลาผ่านไป ธุรกิจเกมรอบโลกมันเริ่มส่งผลเชิงของตัวเลขในอุตสาหกรรม นักธุรกิจหลายๆ คนเริ่มก้าวเข้ามา ช่วงนั้นบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด โตไวเกินไป เรารู้สึกว่าเราอยู่ในจุดที่มันเริ่มใกล้ช่องว่างของโอกาสทางธุรกิจในตลาดฟุตบอลแล้ว เราเป็นองค์กรที่มีเจตนาที่จะทำให้เป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่แค่ฟุตบอล ก็ต้องหาอย่างอื่นที่มันจะดึงรายได้เข้าสโมสรเราอย่างยั่งยืนและมั่นคง
ทีนี้เราก็มีการประชุมบอร์ด ทุกคนก็แยกย้ายไปหาไอเดีย แน่นอนไอเดียของผมคือ E-Sports ก็มาเสนอกับ คุณทัดเทพ (ทัดเทพ พิทักษ์พูลสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จำกัด) เขาก็เลยลองให้ไปทำการบ้านเพิ่มเติมว่าในไทย เอเชีย รอบโลกเป็นยังไง
ที่ผมทราบมามันเป็นตลาดที่กำลังบูมในโลกตอนนี้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาด E-Sports ที่กำลังโตไวที่สุด เมืองไทยเองมีการเติบโตในระดับสูงกว่าประเทศอื่นๆ พอเห็นตัวเลขตรงนี้แล้วมันค่อนข้างดี
พอคุณทัดเทพที่ไม่เข้าใจและไม่เล่นเกมเลย เห็นข้อมูลที่เราอธิบายให้เขาฟัง เขาก็นำไปพรีเซนต์คุณพ่อ ไม่รู้เพราะเหตุผลอะไร แต่ความน่าเชื่อถือที่เขาสร้างบุรีรัมย์ หรือมาจากการที่เขาเป็นคนไม่เล่นเกมทั้งคู่ ก็คุยกันรู้เรื่องมากขึ้น และทำให้คุณพ่อเปิดใจให้เราได้ลองก้าวเข้ามาทำดู นั่นคือการเริ่มต้นครับ”
เมื่อถามว่า ทุกวันนี้ทางคุณพ่อเข้าใจหรือยอมรับในเรื่องของ “เกม” เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนมากน้อยขนาดไหน เขาก็ให้คำตอบว่า ไม่จำเป็นต้องยอมรับถึง 100% เพียงแค่เปิดใจมองเห็นถึงข้อดีของการเล่นเกมมากขึ้น เท่านี้ดีใจแล้ว
“ทำยังไงให้คุณพ่อยอมรับในตัวผม เราในฐานะที่เป็นลูก แต่ในเชิงการพัฒนาของเรา ผมว่าทำยังไงก็ตามมันก็ไม่มีทางที่เขาจะยอมรับว่านี่โอเค เพราะเขาอยากให้เราได้สิ่งที่ดีที่สุด พอเรามาถึงระดับนี้ เขาก็จะมองว่ายังดีไม่พอ ในมุมนั้นผมว่ามันเป็นสิ่งที่เราต้องพัฒนาและพยายามที่จะให้เอาชนะการยอมรับของเขาเรื่อยๆ มันก็ไม่ง่ายครับสำหรับพวกผม(ตนเองและน้องๆ ที่ชอบเล่นเกมเหมือนกัน)
จนถึงวันนี้จริงๆ เรื่องเล่นเกมคุณพ่อเปิดมากขึ้นแต่ยังเข้าใจไม่ 100% ผมว่าเขาจะยอมรับ 100% ได้ก็ต่อเมื่อเข้าใจจริงๆ แต่ว่ามันไม่จำเป็นต้องถึง 100% ครับ ในวันนี้เขายอมรับมากพอที่จะรู้ว่าข้อดีมันมี แม้เขาจะยังเข้าใจไม่หมดในเชิงที่ว่าลูกๆ ชอบเล่นเกม แต่ในเชิงของธุรกิจ อันนี้เขายอมรับเกิน 100% แล้วครับว่ามันมีโอกาสจริง มีตลาดจริง แล้วเราสามารถที่จะส่งเสริมพัฒนาตรงนี้ แล้วมันมีผลดีต่อประเทศจริงถ้าเราสามารถพลิกมุมมองของสังคมได้”
เยอะจนตาค้าง! เงินรางวัล E-Sports โลก!!
ในไทยเองแม้จะยอมรับกีฬา E-Sports มากขึ้น จนมีการจัดการแข่งขันในระดับประเทศและมีเงินรางวัลถึงหลักล้านบาท แต่ก็เทียบไม่ได้เลยกับในประเทศอื่นๆ ที่วงการเกมได้รับความนิยมเช่นกัน และสิ่งที่ทำให้สังคมโลกหันมาให้ความสนใจแวดวง E-Sports เป็นอย่างมาก นั่นก็คือเงินรางวัลที่ได้จากการแข่งขัน โดยเฉพาะเกม Dota ที่สูงถึงหลักหลายล้านเหรียญสหรัฐ จนอาจกล่าวได้ว่ามากกว่าในหลายๆ กีฬาทั่วไประดับโลกแล้วด้วยซ้ำ
“ถ้ามหาอำนาจในเชิงคนสร้างเกม จีนครับ มีเกมเยอะแยะเต็มไปหมด มีการเจริญเติบโตในธุรกิจของเกมที่สูงมาก ส่วนในเชิงของศักยภาพนักกีฬาและการแข่งขัน มันขึ้นอยู่กับเกม เช่น RoV ตอนนี้ ในไทยเราเองถือเป็น top3 ของโลก ที่ 1 ผมว่าน่าจะเป็นเกาหลีใต้และไต้หวัน มีหลายเกมที่นักกีฬาไทยอยู่ในระดับโลกแล้ว และผมเชื่อว่าถ้าเกิดว่าสังคมไทยยอมรับมากขึ้น แล้วทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับวงการ E-Sports ได้หันมาผลักดันมากขึ้น ผมว่ามันไปได้ไกลและเร็วแน่นอน
แชมป์ Toyota E-League 2019 ของ Buriram United PES
ที่เงินรางวัลจากการแข่งขัน E-Sports สูงมาก มันมีปัจจัยหลายอย่างแล้วแต่เกมครับ ยกตัวอย่าง Dota เป็นหนึ่งในเกมสไตล์ Moba ที่อยู่มานาน เงินรางวัลจากเกมที่สูงที่สุดในโลก ที่เรียกว่าระบบ Prize Pool ปัจจุบันการแข่งขันที่กำลังจะเริ่มมีชื่อว่า The International 2019 เงินรางวัลตอนนี้ใกล้แตะ 31,000,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐแล้ว ถ้าคิดเป็นเงินไทยก็มากกว่า 900,000,000 บาท (อัปเดตล่าสุด ทะลุ 32,000,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐไปเรียบร้อย)
เหตุผลที่ Prize Pool เยอะและใหญ่ขนาดนี้ เพราะว่าเขามีคอมมูนิตี้ที่ใหญ่และไม่ได้อยู่แค่สปอนเซอร์ โมเดลของ Dota เขาจะนำส่วนแบ่ง 25% จากกการซื้อขาย Battle Pass หรือแพ็กเกจที่เปิดให้ผู้เล่นได้ซื้อเพื่อสมทบทุนเป็นเงินรางวัลของ The International แต่ละปี เพราะฉะนั้นในเกม Dota เริ่มต้นมาจะน้อย พอเล่นไปเรื่อยๆ ก็จะเยอะขึ้นเรื่อยๆ
แต่ในกรณีของเกมอื่นๆ ที่มีเงินรางวัลใหญ่ๆ แล้วทำไมเขาทำได้โดยที่ไม่ได้ใช้โมเดลนี้ มันเป็นเรื่องของความคุ้มค่าในมูลค่าการตลาด อย่างเกมที่ผมคิดว่าเป็นการพลิกวงการ E-Sports เลยคือ LOL (League of Legends) เป็นเกมที่สร้างมูลค่าทางการตลาดได้มหาศาลและทำให้เกมถูกจัดในสนาม National Stadium ของกีฬา ตั๋วราคาหลักหมื่น สามารถขายตั๋วได้หมดในพริบตา มันเป็นเพราะเขาสามารถครีเอทให้มันมีมูลค่าทางการตลาดในเชิงของออนไลน์ได้และมีสปอนเซอร์เยอะ จริงๆ แล้วปัจจัยของมันก็อยู่ที่ธุรกิจกันหมด”
เมื่อถามต่อไปว่า อยู่แต่เบื้องหลังในการทำทีมกีฬาอาชีพ แล้วมีความคิดที่อยากมาอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เพื่อลงสนามเป็นนักกีฬาเองบ้างไหม ทางด้านประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด E-Sports ก็ให้คำตอบพร้อมรอยยิ้มว่า “ผมก็อยากเป็นนักกีฬา E-Sports อยู่เหมือนกัน”
“โห...คิดทุกวันครับ(ยิ้ม) ทุกวันนี้ยังฝันอยู่เลยถ้าผมเกิดขึ้นมาในยุคนี้ ผมคงไม่ต้องมานั่งทำทีมฟุตบอล คงนั่งเล่นเกมอย่างเดียวทั้งวันทั้งคืน แต่ผมก็พูดเล่นๆ ไปอย่างนั้น สุดท้ายแล้วที่ผมอยู่ตรงนี้มันก็มีความสุขดี และการที่เราทำให้นักกีฬาหรือเด็กๆ ได้หาช่องทางที่ตรงกับความฝัน ที่เขาจะสามารถเลี้ยงดูครอบครัว เลี้ยงดูตัวเขาเองได้ ถ้าเราทำตรงนี้สำเร็จ ผมว่ามันก็มากเพียงพอแล้ว ไม่ต้องเป็นนักกีฬา E-Sports ก็ได้
ถ้าถามว่าฟุตบอลกับเกมชอบอะไรมากกว่า ก็ต้องตอบว่าเกมครับ ไม่ต้องคิดเลย จริงๆ ตอนเด็กผมก็เล่นฟุตบอลนะครับ ชอบออกกำลังกาย ชอบอยู่กับเพื่อน แต่ผมชอบเล่นเฉยๆ แต่ระดับความหลงใหลมันต่างกับเกม ถ้าให้ผมต้องเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งในบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดนะครับ ยังไงผมก็เลือกเกมแน่นอน”
“แชมป์โลกเป็นเป้าหมายของเรา”
“รายการที่ใหญ่ๆ นักกีฬาแข่งในงานจริงๆ บุรีรัมย์ชนะมาแล้วทั้งหมด 3 รายการ มี 2 รายการที่เป็นของ PES ได้เป็นแชมป์ประเทศไทย แล้วไปแข่งชิงแชมป์โลก อีก 1 รายการก็จะเป็นของ Dota ซึ่งเป็นเกมที่เราได้เลิกทำไปแล้วช่วงนี้ จริงๆ มีหลายทัวร์นาเมนต์ที่บุรีรัมย์ลง บางครั้งเป็นรายการเล็กๆ แต่เราต้องการให้น้องๆ ได้ประสบการณ์ ก็ลงแล้วเราชนะมาค่อนข้างเยอะครับ ตอนที่เราเริ่มทัวร์แรกของ PES ได้เงินรางวัล 1,000,000 บาท ซีซันต่อมาที่เราได้แชมป์อยู่ที่ 2,050,000 บาท ก็ได้สิทธิ์เข้าแข่งขันชิงแชมป์โลก PES World Finals 2019 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
เราไปแข่งที่ลอนดอน ในสนาม Emirates Stadium ของ Arsanal เป็นครั้งแรกที่เราส่งทีม E-Sports ไปในระดับโลก แต่ตอนนั้นเราตกรอบ group stage เพราะเหมือนเรากึ่งๆ อยู่ group of death เจอ 3 ทีมคือ 1.ญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าของเกม ลีกเขาค่อนข้างแข่งแกร่ง 2.บราซิลที่เป็นแชมป์โลกของปีนี้ 3.สเปนและอิตาลีเป็นทีมรวม ซึ่งเป็นแชมป์ของปีที่แล้ว ในรอบนั้นเราชนะญี่ปุ่นได้ ถามว่าทำผลงานได้ดีมั้ย ส่วนตัวผมคิดว่าดีนะ ผมคิดว่ายังไงเป้าหมายของเราก็ดีกว่านี้ ไม่ว่าจะเจอใครก็ตาม ก็เข้าใจมุมมองของท่านประธาน เพราะยังไงเราก็อยากพัฒนา อยากไปไกลกว่านี้”
“ถ้าไม่ได้แชมป์จะตัดออกจากกองมรดก” ลุงเนกล่าว
ในสายตาของคนวงการ E-Sports อาจจะมองว่า บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป็นทีมที่แข็งแกร่งและมาแรงอย่างมากทีมหนึ่งในตอนนี้ แต่ในสายตาของผู้เป็นพ่อแล้ว เขามองว่ายังไม่ดีพอ จะทำอะไรทั้งทีต้องทำให้ได้ที่ 1 ไม่ใช่เพียงแค่ฟุตบอล ทีม E-Sports ก็เช่นกัน ซึ่งลุงเนได้ออกคำสั่งปนขู่ลูกชาย ที่กล่าวไว้ในงานเปิดตัวสนาม Predator Arena บุรีรัมย์ ว่า “ต้องเป็นแชมป์ RoV และ PES ในฤดูกาลนี้ ไม่อย่างนั้นจะตัดออกจากกองมรดก”
“ที่พ่อบอกว่าจะตัดจากกองมรดกทั้งพูดจริงพูดเล่นครับ(หัวเราะ) ส่วนตัวผมไม่ได้เป็นคนที่ยึดติดก็เลยไม่ได้รู้สึกกดดัน แต่ว่าในเชิงของการทำทีม E-Sports ต่อให้ไม่มีแรงกดดันตรงนี้ เราก็มีเป้าหมายที่อยากจะเป็นแชมป์ไม่แตกต่างจากทีมอื่น ความรู้สึกนี้มันซึมอยู่ในสายเลือดของทีมงาน เพราะมันมาจากวิสัยทัศน์การทำงานของคุณพ่ออยู่แล้ว ผมเชื่อว่าทีมงานผมหรือนักกีฬา ยังไงก็มีความตั้งใจที่จะต้องเป็นแชมป์อยู่แล้ว มันไม่ใช่เพราะว่ากลัวจะเสียมรดก เขาเองก็มีไฟของเขา ทีมฟุตบอลก็ได้แชมป์ PES ก็ได้แชมป์ มีอีก 2 เกมยังไม่ได้ เรายังรู้สึกว่าไม่คู่ควรกับโลโก้ของทีมบุรีรัมย์ ทุกคนอยากทำให้ได้หมดเพื่อเป็นแชมป์มากกว่า
RoV Pro League Season 3 ที่ผ่านมาเราทำผลงานได้ดี ใน Season 4 ที่กำลังเริ่ม เราคาดหวังจะเป็นแชมป์ในลีกและแชมป์โลกเป็นเป้าหมายของเราเหมือนกัน ในทีมที่พวกผมรวมตัวมาในครั้งนี้ผมค่อนข้างที่จะตื่นเต้นและสบายใจ เพราะน้องๆ ทุกคนที่เข้ามาความรู้สึกว่าเขาเป็นครอบครัวเดียวกับเราและปรับตัวเข้ากับทางบุรีรัมย์ได้ดีมาก เข้ากับพี่ๆ ในทีมที่อยู่ก่อน ผมเชื่อว่าสกิลของนักกีฬาที่อยู่ในระดับท็อปมันสูสีกันค่อนข้างมาก แต่สิ่งที่ทำให้มันแตกต่างกันจริงๆ คือคุณเดินเกมได้ดีแค่ไหน ทำตามแผนได้มากแค่ไหน เข้าใจกันและกันมากแค่ไหน ผมมองว่าตรงนี้เราพัฒนาขึ้นจาก Season ที่แล้วอย่างมหาศาล”
ทีม RoV พร้อมลุยศึก Pro League Season 4
เมื่อทีมข่าวถามว่า อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด E-Sports ประสบความสำเร็จในเวลาสั้น ชายหนุ่มที่อยู่ตรงหน้าก็ให้คำตอบว่า ประสบการณ์จากการทำทีมฟุตบอลอาชีพและศรัทธาจากแฟนๆ คือส่วนสำคัญที่ทำให้ก้าวมาถึงจุดนี้
“ผมว่ามันมีปัจจัยหลายอย่าง แน่นอนคือทีมงานที่เคยชินกับกีฬาอาชีพ เป็นประสบการณ์ที่เราได้จากบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดที่ฟุตบอล ผมรวมตั้งแต่อุปสรรคที่เราเจอมาตอนเริ่มทำฟุตบอลยังไม่เจริญ ยาวมาจนถึงการบริหารจัดการทีม การวางแผน การก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ในกีฬาอาชีพ ทุกอย่างเป็นกรณีศึกษาและเป็นประสบการณ์ให้เรา แล้วทีมที่ผมได้มาทำ E-Sports แม้จะเป็นคนจะอย่าง แต่มันก็เป็นกีฬาอาชีพอยู่ดี เราสามารถ mix & match กันได้
แต่สำหรับผมแล้วปัจจัยหลักจริงๆ ที่ทำให้เราพัฒนาหรือประสบความสำเร็จเร็วขนาดนี้ ผมมองว่ามันเป็นเรื่องของศรัทธาในแบรนด์ของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่ไม่ได้สร้างแค่ผลงานของสโมสร แต่กับสิ่งที่เราได้ทำให้กับคอมมูนิตี้ของคนบุรีรัมย์ ไม่ว่าจะเป็นสนามแข่งรถ สนามฟุตบอล แม้เราจะเป็นยูนิตที่แยกกัน ผมเชื่อว่าทุกคนเห็นในสิ่งที่เราทำ เราทำจริงจัง ทำเพื่อประชาชน ทำเพื่อคนไทยด้วย นักกีฬาที่เข้ามาร่วมทีมกับเราก็เป็นครอบครัว
รวมถึงการสนับสนุนจากแฟนๆ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เราได้ ศรัทธาตรงนี้ที่ซึมซาบเข้าไปทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวิสัยทัศน์ของท่านประธาน เชื่อมั้ยคับวันนี้ผมบอกให้ทุกคนเล่นเกมหน่อย ทุกระดับทุกอายุ แม้ว่าจะไม่เข้าใจยังไงแต่เขาก็ลองเล่น เพราะอยากที่จะเข้าใจว่ามันคืออะไร เราถูกล้อมรอบด้วยศรัทธาพวกนี้ สำหรับผมมันเป็นสิ่งที่ล้ำค่าที่สุด และเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นพาร์ตที่ใหญ่ที่สุด ที่ทำให้เราเรียนรู้ เติบโต และประสบความสำเร็จขนาดนี้ได้ในเวลาแค่นี้ครับ”
แตกต่างแต่เหมือนกัน “ฟุตบอล VS E-Sports”
แม้ชื่อเสียงของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดในเรื่องของฟุตบอลอยู่ระดับแนวหน้าของประเทศ แต่สำหรับทีม E-Sports แล้ว ถึงจะคว้าแชมป์มาหลายรายการ แต่ถือว่าเป็นน้องใหม่มากในวงการนี้ นับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มสร้างจนถึงปัจจุบัน นก ก็ได้พาทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด E-Sports ก้าวเดินมาเป็นเวลา 1 ปีพอดี และแน่นอน เส้นทางนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ...
“ผมเป็นรองผู้อำนวยการการตลาดบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด แล้วก็ยังเป็นอยู่ ส่วน E-Sports เป็นยูนิตที่อยู่ภายใต้การดูแลของเรา ผมเป็นคนให้ไอเดียและคอยเคาะการตัดสินใจสำคัญๆ ทั้งการตัดสินใจซื้อตัวนักกีฬา ลงทัวร์นาเมนต์ ดูเรื่องตัวสำรอง ตัวจริง แผนการเล่น คุยกับน้องๆ คุยกับโค้ช ดูซ้อม เรื่องบริหารจัดการก็ต้องให้เกียรติทีมงานด้วย
ในส่วนของกีฬา เกมที่ผมมีความรู้เยอะผมก็จะเข้าไปเยอะหน่อยเกี่ยวกับแทคติก เช่น RoV เป็นเกมที่ผมชอบเล่น ส่วนเกม PES,Dota หรือ PUBG ที่เราเพิ่งเปิดใหม่ ก็จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของโค้ชและนักกีฬา ไม่เหมือนคุณพ่อซะทีเดียวที่เขาทำฟุตบอล เพราะ E-Sports มีหลายทีมหลายกีฬา
ท่าสายฟ้า สัญลักษณ์ของทีมปราสาทสายฟ้า
ปัญหาอุปสรรคมันเต็มไปหมด ที่เราเจออย่างแรก หลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับ E-Sports จริงๆ มันเปรียบได้กับกีฬาทางบกอย่างหนึ่ง ตัวกีฬาคือเกมแต่ละเกม มันมีกฎกติกาไม่เหมือนกัน จำนวนผู้เล่นไม่เท่ากัน วิธีการเล่นไม่เหมือนกัน ทัวร์นาเมนต์แข่งไม่พร้อมกัน แล้วเราทำ 3 กีฬา ทุกครั้งที่เราเปิดเกมใหม่ เราต้องทำการบ้านอย่างหนัก ต้องมาดูตลาดใหม่ ต้องหาทีมงานที่มีความรู้ในเกมนั้นใหม่ มันมีค่าใช้จ่ายและทรัพยากรเยอะมาก
สำหรับความเหมือนหรือแตกต่างระหว่างฟุตบอลกับ E-Sports ที่เหมือนก็คือเป็นมนุษย์ทุกคนครับ ทุกคนมีความต้องการ มีความรู้สึก มีหน้าที่รับผิดชอบ สิ่งที่แตกต่างผมว่าเป็นเรื่องการฝึกซ้อม เวลาหักโหมเกินไปมันจะเกิดผลเสียต่อนักกีฬา มีการบาดเจ็บง่ายขึ้น กล้ามเนื้ออ่อนแรงลง สำหรับนักกีฬาฟุตบอลลงสนามซ้อมไม่ควรเกิน 2 ชม. เพื่อไม่ให้บาดเจ็บจนเกินไป
แต่พอมาทำ E-Sports มันไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นเรื่องความเคยชินของกล้ามเนื้อ แล้วนักกีฬาเองไม่ต้องไปออกกำลังกายมาก เขาจำเป็นที่จะใช้เวลาซ้อมเป็น 10 ชม.ต่อวัน เพราะคู่แข่งทุกคนก็ซ้อมแบบนี้ การเล่นของเขาก็เหมือนกับการซ้อม พอมันเป็นแบบนี้ เขาก็จะมีคู่แข่งที่เกิดขึ้นมาเร็วกว่ากีฬาทั่วไปมาก เขาต้องพัฒนาตัวเองให้เยอะและเร็วกว่านักกีฬาฟุตบอลด้วยซ้ำ เวลาปลุกระดมน้องๆ จิตวิทยาที่ใช้ก็แตกต่างกัน
ส่วนสิ่งอื่นๆ ที่แตกต่างผมว่าคาแรกเตอร์ของนักกีฬา คนที่จะมาเป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพได้คือพวกที่บ้าบอล พวกที่โตมาเล่นแต่บอล ทุ่มเทและใช้เวลากับกีฬานี้มากกว่าคนอื่น ของ E-Sports ก็เช่นเดียวกัน แต่เขาจะทุ่มเทกับเกม อยู่แต่หน้าจอ ศึกษาในยูทูบ เทคนิคการพัฒนาร่างกายในแบบไหนที่ทำให้เขาสามารถเล่นเกมได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นานขึ้น ผมว่าจริงๆ แล้ว ส่วนใหญ่เหมือนกันในสิ่งที่เราต้องทำเพราะมันเป็นกีฬาอาชีพ แต่สิ่งที่แตกต่างคือขั้นตอนมากกว่า”
นอกจากนี้ อีกสิ่งที่เจอและยังเป็นปัญหาสืบเนื่องเรื่อยมา ก็คือการทำสัญญาระหว่างทีมและนักกีฬา หากใครที่ติดตามแวดวง E-Sports อยู่แล้ว ก็คงทราบกันดีว่าก่อนหน้านี้ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด E-Sports ทำการยกเลิกสัญญาและฟ้องร้องดำเนินคดีผู้เล่นแก๊ง Bacon เหตุเพราะพวกเขาละเมิดข้อตกลงและมีการเซ็นสัญญาซ้อน ซึ่ง ผู้ดูแลทีม E-Sports ก็จะมาได้อัปเดตความคืบหน้าของเรื่องที่เกิดขึ้นให้ได้ทราบกัน
“อุปสรรคอื่นๆ ที่ตอนนี้ยังมีอยู่ ก็คือเรื่องของความเป็นมืออาชีพของนักกีฬา ผมมองว่ามันไม่ได้เป็นความผิดของนักกีฬาอย่างเดียว ที่ผ่านมานักกีฬาอยู่ในวงการเกมคนก็มองว่าเป็นแค่เกม พอมีปัญหาเรื่องผิดสัญญา ก็เคลียร์กันนิดๆ หน่อยๆ ปล่อยไป
หรือทางทีมผิดสัญญากับนักกีฬา นักกีฬาก็ไม่รู้จะทำยังไง มันก็เลยกลายเป็นว่าสังคมนักกีฬา E-Sports เรื่องสัญญามันไม่ค่อยศักดิ์สิทธิ์เท่าไหร่ ทำให้เวลาเราพูดเรื่องกฎกติกา เรื่องสัญญา มันอาจจะทำให้น้องๆ มองว่าเป็นเรื่องไม่ใหญ่มาก
ผมมองว่าน้องๆ เป็นเด็กดี แต่เขาเคยชินกับแบบนั้นมา พอมาเจอแบบนี้ปุ๊บ เราบอกแล้วว่าใครที่จะก้าวเข้ามาสู่บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสัญญา เรื่องการดูแลนักกีฬา สิทธิประโยชน์นักกีฬา สิทธิประโยชน์บริษัทที่เราตกลงด้วยกัน เราก้าวข้ามเรื่องนี้ไปแล้วกับสิ่งที่ผ่านมา น่าจะทราบว่าผมหมายถึงเรื่องอะไร
พอหลังจากนั้น เราสร้างทีม PUBG ขึ้นมา มันเหมือนข้อกำหนดว่านักกีฬาที่จะเข้ามาอยู่กับเรา ต้องเห็นด้วยกับเรื่องนี้และคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดี และมีความตั้งใจที่อยากเป็นนักกีฬาอาชีพจริงๆ ไม่ใช่เข้ามาแค่พอคิดว่าบุรีรัมย์ทำทีมฟุตบอล คนคงสนับสนุนเราเยอะ คนที่อยากจะเข้ามาเพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาแวดวง E-Sports ไปด้วยกัน ปัญหานี้ผมเชื่อว่ามันจะหายไป หลังจากที่สโมสรอื่นๆ เริ่มทำแบบเดียวกัน
ส่วนกรณีของ Bacon ผมไม่อยากลงดีเทลลึกมาก จริงๆ ไม่อยากพูดถึงเพราะมันผ่านไปแล้ว เรื่องของเรื่องคืออยู่ในขั้นตอนการดำเนินการทางกฎหมาย ผมเองก็ไม่ได้อยากมานั่งคิดถึงเรื่องพวกนี้แล้ว เพราะเดี๋ยวผมก็ต้องเริ่มทั้ง PUBG ทั้ง RoV ซีซันใหม่จะเริ่ม ก็อยู่ในขั้นตอนทางกฎหมาย เขาถูกเรียกมาแล้ว 1 ครั้ง แล้วเขาปฏิเสธที่จะมา ตอนนี้ในขั้นตอนก็เหลืออีก 2 ครั้ง ก็ยังไม่รู้ว่าจะมีอัปเดตยังไง แต่ถ้ามีเดี๋ยวผมประกาศแน่นอนครับ”
โปรดมอง “เกม” ในมุมใหม่
“ผมว่ากีฬาทุกกีฬาในปัจจุบันนี้ มันก็เริ่มจากความบันเทิง พอเป็นที่นิยมปุ๊บมันก็แปรเปลี่ยนเป็นกีฬา เกมก็เหมือนเป็นกัน นอกจากได้ความบันเทิง สิ่งที่ผมจะเจอทุกๆ เกมคือเรื่องของการจัดการทรัพยากรและเวลา ถ้าเกิดเราสอนเด็กให้รู้และเข้าใจตรงนี้ วางแผนให้เป็นขั้นตอน แสดงให้เด็กๆ เห็นว่าทรัพยากรในเกมเหมือนกับทรัพยากรในชีวิตจริง มันอยู่ที่ผู้ปกครองจะสอนลูกๆ ที่เล่นเกมให้รู้ว่ามันมีประโยชน์กับเขายังไง ถ้าการบอกว่าเด็กติดเกมเป็นเรื่องไม่ดี มันจะมีแต่ปัญหา ทำให้ลูกยิ่งไม่อยากคุยกับเรา”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในสังคมไทยเอง แม้จะมีการยอมรับและเปลี่ยนมุมมองจากเกมไปในทางที่ดีขึ้น แต่ในหลายครอบครัวก็ยังมีความเชื่อที่ว่า เกมส่งผลในทางลบมากกว่า ซึ่งตัวของประธานสโมสร E-sports ปราสาทสายฟ้าเอง ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่เจอกับประสบการณ์นี้ แต่ก็ยังถือว่าโชคดีที่สามารถทำลายกำแพงอคตินี้ออกจากใจของพ่อเขาได้
“อีกอย่างหนึ่งที่เด็กได้จากเกมคือเรื่องความอดทนครับ คนจะมองว่าเด็กติดเกมไม่มีสมาธิ ไม่ทีความอดทน ผมมองกลับกัน จริงอยู่เวลาเด็กเล่นเกม เขาจะโฟกัสกับมันอย่างเดียวจนไม่มีสมาธิกับเรื่องอื่น แต่มันไม่ใช่ว่าเขาไม่มีสมาธิ เขามีสมาธิมากกว่าที่เขาเคยมีกับอย่างอื่นในชีวิตด้วยซ้ำ ถ้าผู้ปกครองเข้าใจและทำข้อตกลงร่วมกัน เช่น ถ้าทำการบ้านถูกหมดพ่อจะเติมเกมให้ ทำให้เขาสามารถมีทรัพยากรเข้าไปเล่นในเกมของเขาได้ ผมเชื่อว่าสมาธิที่อยู่กับเกมมันต้องเข้ามาอยู่กับตรงนี้ด้วยแน่นอน
จากที่ผมได้พูดคุยกับพ่อแม่คนรุ่นใหม่ มันไม่ใช่แค่เรื่องของเด็กกับผู้ใหญ่ แต่มันเป็นเจนใหม่-เจนเก่ามากกว่า เพราะว่าผู้ปกครองที่อยู่ในเจนนี้ส่วนใหญ่เล่นเกมกับลูก แล้วพูดตรงกันว่าพอเริ่มเล่นเกมกับลูก ทำให้เข้าใจกันมากขึ้น ครอบครัวรักกันมากขึ้น มันไม่มีข้อจำกัดว่าลูกเป็นเด็กติดเกม สำหรับผู้ปกครองไม่ว่าจะเป็นเจนเก่า หรือมีปัญหาที่ลูกมีเรื่องของเกมเข้ามา ทำไมครอบครัวห่างขึ้นเรื่อยๆ ลูกใช้เวลาอยู่คนเดียว ผมอยากให้ลองเปิดใจ ลองเล่นเกมที่เขาเล่นดู การถามอย่างเดียวไม่รู้เรื่องหรอก
สำหรับลุงเน ผมคิดว่าจะเป็นเจนที่ห่างกันไปนิดนึงที่จะเล่น แต่ก็ไม่ได้ถึงกับว่าไม่ได้ช่วยหรือไม่ได้แก้ปัญหาครอบครัว PES เป็นเกมฟุตบอลอยู่แล้ว แล้วแกถือว่าเป็นหนึ่งในคนที่มีประสบการณ์ที่มากที่สุดในวงการฟุตบอล และสนุกกับการทำทีมฟุตบอล การที่ผมทำทีม PES ใน E-Sports แกก็เลยอินมากๆ ทั้งเชียร์ ทั้งดู ที่ไม่จำเป็นจะต้องถึงขั้นเล่นเอง แต่มีความเข้าใจ เพราะมันก็คือฟุตบอล แต่ในกรณีที่ไม่เล่น แต่เขาก็เข้าใจเกมได้”
เมื่อถามถึงในมุมที่กว้างขึ้น อย่างการสนับสนุนจากภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับกีฬา E-Sports จากความรู้สึกของคนทำทีมเอง เขามองว่า ตรงนี้ยังไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร หากเปรียบเทียบกับกีฬาชนิดอื่นๆ
“การที่ผมทำทีม E-Sports ขึ้นมา ก็โฟกัสแต่กับทีมเรากับเกมมาตลอด เลยไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวหรือศึกษาว่าทางรัฐบาลทำอะไรไปแล้วบ้าง ก็พอเห็นข่าวคราวบ้าง แต่ผมยังสัมผัสได้ว่าไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ล่าสุดที่ผมได้ยินไม่รู้ว่าเปลี่ยนไปรึยัง ยังไม่ให้ใช้คำว่า E-Sports กับเกมเลย ไม่อยากให้เรามองว่าเกมคือกีฬา ก็รู้สึกว่าไม่สนับสนุน E-Sports เท่าไหร่ครับ
แต่สิ่งที่มันอะเมซิ่งก็คือในขณะที่เราอยู่ในสภาวะแบบนี้ เรายังเป็นแนวหน้าการเติบโตของเอเชียตะวันตกเฉียงใต้เลย ลองคิดดูว่าถ้าคนไทยเปลี่ยนมุมมอง เปิดโอกาสให้กีฬานี้หรืออุตสาหกรรมนี้ให้นักลงทุนลองเปิดใจ ให้ผู้ปกครองเปิดใจ แล้วช่วยกันสนับสนุน มันจะโตไปขนาดไหน
ส่วนสิ่งที่อยากให้ภาครัฐทำ ผมไม่รู้เลยว่าองค์ประกอบหรือภาระ อุปสรรค แรงกดดัน หรือสิ่งที่ทางสมาคม E-Sports หรือทางหน่วยงานรัฐต้องเจออะไรมาบ้าง ผมเลยไม่กล้าพูดจริงๆ ว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่ว่าถ้าหน่วยงานภาครัฐเดินต่อไปด้วยวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายว่าอยากพัฒนาแวดวงหรืออุตสาหกรรม E-Sports ผมเชื่อว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีแน่นอน ขอแค่ว่าคนที่เป็นหัวหอกที่อยู่ในภาครัฐเขามีมุมมองแบบนี้ ว่าอยากพัฒนา อยากใช้ E-Sports เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถยกระดับประเทศเรา ผมว่ายังไงก็ตามมันจะดีขึ้น”
เมื่อบทสนทนาดำเนินมาจนถึงตอนสุดท้าย ประธานสโมสรทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด E-Sports ได้ใช้พื้นที่ตรงนี้ขอบคุณทุกภาพส่วนที่เกี่ยวข้องในการผลักดันให้กีฬา E-Sports ให้เติบโตขึ้น และเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคต กีฬา E-Sports ในประเทศไทยจะถูกให้ความสำคัญไม่แพ้กีฬาประเภทอื่นๆ อย่างแน่นอน
“สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองทุกท่านที่อาจจะไม่เข้าใจว่ามันคืออะไรและคิดว่าการเล่นเกมมันเป็นการทำให้ลูกเรากลายเป็นเด็กติดเกมแล้วจะไม่มีอนาคต ผมอยากให้ลองเริ่มต้นในการศึกษาและลองเปิดใจว่าจริงๆ แล้วในอุตสาหกรรมเกมมันมีอะไรบ้าง มันไม่ได้แค่การเล่มเกมอย่างเดียว แล้วมันไม่จำเป็นต้องเป็นนักกีฬา คุณถึงจะสามารถหาเงินจากมันได้ มันมีอะไรอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ยูทูบสตรีมเมอร์ ทำกราฟฟิกดีไซน์ ทำวิดีโอคอนเทนต์ และอื่นๆ อีกมายมาก
ในส่วนของนักลงทุนที่อยากจะก้าวเข้ามาในวงการนี้ ผมก็อยากให้ลองเปิดใจดู ถ้ามีความคิดที่ว่าเกิดลงทุนกับเกมเกมหนึ่งไปแล้ว แล้วมันมีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงไปเร็วมั้ยเพราะโลกดิจิทัลมันเปลี่ยนเร็ว ผมอยากจะบอกว่า เกมอาจจะเปลี่ยนหรือตายไปได้ แต่ถ้าคุณตัดสินใจลงทุนกับทีม E-Sports ไม่ว่าเกมจะเปลี่ยนยังไงมันก็เป็นเกมสไตล์เดิม นักกีฬาสามารถนำสกิลไปใช้ในเกมอื่นได้ การลงทุนกับทีมมันไม่ได้เป็นอะไรที่มีความเสี่ยง
และแวดวง E-Sports ผมอยากจะขอบคุณทุกคนที่ทั้งมีส่วนเกี่ยวข้องในจุดเริ่มต้นและความสำเร็จของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด รวมถึงผู้ที่มีส่วนทำให้วงการ E-Sports ค่อยๆ โตขึ้นมา แล้วมันจะทำได้ดีขึ้นต่อไปเพราะว่าผมเองเห็นโอกาสตรงนี้ และผมเห็นว่ามันเป็นผลดีต่อประเทศได้ สำหรับท่านที่สนับสนุนเรามาก่อนแล้ว ก็ต้องขอขอบคุณมากๆ ครับและเราก็จะทำให้ดีที่สุดต่อไป”
“เด็กติดเกม” แก้ได้ด้วยความเข้าใจ ผมเห็นด้วยครับ ว่าที่องค์การอนามัยโลกประกาศอาการติดเกมเป็นอาการป่วยอย่างหนึ่ง แต่คำว่าติดมันมันยังไงแล้วเราทำยังไง ถามว่ามันผิดที่เกมมั้ย เรามาถามตรงนี้ดีกว่า เพราะผมเห็นด้วยแน่ๆ ว่าเด็กติดเกมเมื่อไหร่แล้วมันมีสิ่งที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นได้ถ้าเราจัดการเวลาไม่ถูก ทุกคนมาลงตรงนี้อยู่แล้ว อะไรก็เกมอย่างเดียว ไม่กิน ไม่นอน ไม่ทำงาน หมกตัวเองอยู่แต่ในห้อง อันนี้เป็นเป็นอาการติดเกมที่มีแต่ผลเสียทั้งนั้น แต่ถ้าเราติดการออกกำลังกายล่ะ การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่คนมองว่าดีต่อสุขภาพ แต่ถ้าคนที่ติดจริงๆ แล้วออกเยอะจนเกินไปก็ไม่ดีต่อร่างกาย การติดอะไรมากเกินไปมันไม่ดีอยู่แล้ว ถ้าคนติดการออกกำลังกายคุณโทษที่การออกกำลังกายมั้ย คุณไม่โทษ คุณโทษที่ตัวคน แต่พอเป็นคนติดเกม คุณมาโทษที่เกม ผมว่ามันไม่ถูก แล้วถ้าเราจัดการเวลาหรือสอนน้องๆ ให้เห็นประโยชน์จากการเล่นเกม ข้อเสียคืออะไร อันตรายยังไง ทำความเข้าใจ ไม่ใช่มีแต่คำว่าเกมไม่ดี ไม่อยากให้ลูกเล่น พูดอย่างเดียว ไม่ใช้เหตุผล เด็กก็จะมีแต่รู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ ผมคิดว่าคนเรามักจะกลัวสิ่งที่เราไม่เข้าใจและไม่รู้ เอาอย่างนี้ เกมเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองและคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ เขาคิดว่ามันเป็นเพียงสิ่งที่ทำให้ลูกเขาไม่สนในอย่างอื่น เล่นแต่เกม เขาไม่รู้ว่าเกมจริงๆ คืออะไร เขาก็เลยกลัวและมองว่ามันไม่ดี จริงๆ มีอีกตัวอย่างที่เกิดขึ้น รู้ว่ามันแมชต์กัน 100% ไม่ได้ คือกัญชา เป็นสิ่งที่ทุกคนมองว่าเป็นยาเสพติด ไม่ดี แต่พอเราเริ่มศึกษา ทำการวิจัยจริงๆ ก็พบมีสรรพคุณมากมายในทางการแพทย์ พอรู้ตรงนี้ มุมมองของคนก็เริ่มเปลี่ยน ในวันนี้เดินไปเจอคนถามว่ารู้สึกยังไงกับกัญชา ผมเชื่อว่าแตกต่างจากปีที่แล้วอย่างสิ้นเชิง มันเป็นแค่เรื่องของความเข้าใจเท่านั้นเอง ผมเชื่อว่าเกมเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกมองในทางที่ผิด มันก็เลยกลายเป็นมีมุมมองแบบนี้เกิดขึ้น |
สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพ : เพจเฟซบุ๊ก “Buriram United Esports” และอินสตาแกรม @noknokii
ขอบคุณสถานที่ : บุรีรัมย์ ยูไนเตด ช็อป สาขาสยามสแควร์
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **