การมีโอกาสเสด็จพระราชดำเนินติดตาม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทรงเยี่ยมราษฎรในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยโดยตลอด
เป็นโอกาสให้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงได้เห็นความเป็นอยู่ และรับรู้ถึงความทุกข์ยากลำบากของราษฎรไทย นำมาสู่แนวพระราชดำริที่จะช่วยเพิ่มรายได้แก่ประชาชนให้เพียงพอแก่การยังชีพ
ทรงเล็งเห็นว่าชาวบ้านที่มีฝีมือด้านงานหัตถกรรม จนสามารถนำมาพัฒนาเป็นอาชีพเสริมช่วยครอบครัวได้ ทรงจัดตั้ง “โรงเรียนฝึกอบรมศิลปาชีพ” ขึ้นแห่งแรกที่พระตำหนักจิตรลดา
ทรงจัดส่งครูออกไปฝึกสอนราษฎร เป็นการช่วยปรับปรุงคุณภาพของผลงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านให้ดียิ่งขึ้น ครั้นเมื่อราษฎรมีความชำนาญในการผลิตแล้ว ผลงานที่ผลิตออกมาก็จะทรงรับซื้อด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2523 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริจัดสร้างศูนย์ศิลปาชีพเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งองคมนตรี และรองประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ดำเนินการสรรหาที่ดินที่เหมาะสม
ในการนี้ นายธานินทร์ จึงได้ประสานงานกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และกราบบังคมทูลเสนอที่ดินที่ได้พระราชทานไว้
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด “ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2527
ทรงมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ส.ป.ก. เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการก่อสร้างดูแลรักษา ตลอดจนเป็นหน่วยงานกลางในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ
เพื่อสนับสนุนกิจกรรมตามภารกิจของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในการผลิตงานศิลปาชีพเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพแก่ราษฎรผู้ยากไร้ ส.ป.ก.ได้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงาน จัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมศิลปาชีพ” ดำเนินงานด้านการให้ความรู้ ความเข้าใจ
ตลอดจนฝึกทักษะงานช่างฝีมือ โดยได้มอบหมายให้ ส.ป.ก. จังหวัด ทั้ง 72 จังหวัด รับสมัครและคัดเลือกยุวเกษตรกร บุตรหลานเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินหรือผู้สนใจ และผู้ยากไร้ เพื่อเข้ารับการฝึกอบรม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ตลอดหลักสูตร
ปัจจุบัน ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ ได้ดำเนินการฝึกอบรมศิลปาชีพให้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไปแล้ว จำนวน 90 รุ่น มีผู้สำเร็จการฝึกอบรมศิลปาชีพกว่า 11,967 ราย โดยการฝึกอบรมศิลปาชีพสาขาต่างๆ รวม 31 แผนกช่าง
จากการติดตามผลพบว่า ผู้สำเร็จการฝึกอบรมศิลปาชีพจำนวนไม่น้อย ได้นำความรู้ไปประกอบอาชีพและประสบความสำเร็จ สามารถมีรายได้เพียงพอสำหรับเลี้ยงตนเองและครอบครัวเป็นอย่างดี บางรายพัฒนาตนเองสู่การมีกิจการเป็นของตนเอง
["ภาวิทย์ ห่านเทศ" นักเรียนรุ่นที่ 82 แผนกประติมากรรม]
นายภาวิทย์ ห่านเทศ นักเรียนรุ่นที่ 82 แผนก ประติมากรรม กล่าวถึงแรงบันดาลใจว่า มาเรียนที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ เพราะต้องการมีความรู้และหาประสบการณ์ด้านศิลปะที่ชื่นชอบ ได้แก่ การปั้น แกะสลัก งานหล่อ
ปัจจุบันภาวิทย์ประกอบอาชีพทำงานด้านศิลปะด้วยการปั้นและแกะสลักหล่อพระพุทธรูป อยู่ที่วัดไชยสิทธาวาส - วัดบางคู้ (วัดใหม่) จ.ปทุมธานี
[ผลงานของ "ภาวิทย์" ผลผลิตจาก "ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมศิลปาชีพ"]
“ผมได้นำความรู้ที่ได้เรียนมา มาประกอบอาชีพตามที่ได้ตั้งใจไว้ และมีความสุขกับงานที่ผมรัก”
["สุสดา มุ่งสวัสดิ์" ครูศิลปาชีพ ประจำแผนกช่างบาติก ณ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ]
ด้าน นางสุสดา มุ่งสวัสดิ์ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมปี 2541 แผนกช่างบาติก และปัจจุบันได้ประกอบอาชีพ ครูศิลปาชีพ ประจำแผนกช่างบาติก ณ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ เล่าถึงความประทับใจว่า
ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ ได้ให้การฝึกหัดพัฒนาฝีมือให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมให้มีอาชีพ โดยเน้นในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมควบคู่กันไป และยังเป็นสถานที่ถ่ายทอดความรู้ด้านศิลปหัตถกรรมต่างๆ สู่คนรุ่นหลัง
[ผลงานของ "ครูสุสดา"]
"ถ้าไม่มีทั้งสองพระองค์ท่าน ชีวิตดิฉันก็คงไม่มีวันนี้ ที่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวตัวเองและพ่อแม่ได้"
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **