xs
xsm
sm
md
lg

สร้าง 1 ได้ 3 "อ่างเก็บน้ำป่าละอู" แก้ภัยแล้ง-หนุนทุเรียน-ดึงแลนด์มาร์กใหม่เที่ยว "ประจวบฯ"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แก้ภัยแล้ง-น้ำไม่พอใช้! กรมชลฯ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เร่งสร้าง “อ่างเก็บน้ำป่าละอู” อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมจัดสรรพื้นที่ส่งน้ำใช้ “อุปโภค-บริโภค” ตลอดทั้งปี พร้อมส่งเสริมการปลูก “ทุเรียนป่าละอู” หวังช่วยชาวบ้านให้มีคุณภาพชีวิตและผลผลิตทางการเกษตรที่ดีขึ้น

เร่งสร้างอ่างเก็บน้ำ! แก้ปัญหาเกษตรกรไม่พอใช้

“เกษตรกรต้องประสบปัญหาน้ำแล้งเกือบทุกปีจนเกิดผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตรวมถึงคุณภาพด้วยการที่เรามีการส่งน้ำเข้าไปอย่างเพียงพอจะทำให้ทุเรียนมีผลผลิตที่ดีขึ้น หรือพื้นที่ไหนที่ส่งน้ำไปไม่ถึง เราอาจทำอ่างเก็บน้ำแล้วให้ชาวบ้านสูบไปใช้ได้เพื่อส่งเสริมการปลูกทุเรียน ยิ่งมีน้ำ ผลผลิตทุเรียนก็จะดีขึ้น เพราะพื้นที่ป่าละอูมีปัญหาขาดแคลนน้ำมาก น้ำใต้ดินก็ไม่ค่อยมี”
สุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ชี้แจงให้ทีมข่าว MGR Live เห็นถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำของเกษตรกร กระทั่งทางกรมชลประทานได้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) เพื่อป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งแผนงานในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น



กรมชลประทานจึงได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอูอันเนื่องมาจากพระราชดำริเมื่อปี พ.ศ.2561 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างตัวเขื่อนประมาณ 6 ปี ก่อสร้างระบบชลประทาน 3 ปี เมื่อสร้างเสร็จเราจะส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 6,000 กว่าไร่
โดยจะครอบคลุมทั้งพื้นที่สวน พื้นที่เลี้ยงสัตว์ พื้นที่ราษฎร รวมถึงครูและนักเรียนของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนนเรศวรป่าละอู ให้มีแหล่งน้ำใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภค เนื่องจากขาดแคลนน้ำและที่ทำการเกษตร ในช่วงฤดูแล้ง



เห็นได้ชัดเจนว่าพื้นที่ป่าละอูมีปัญหาเรื่องน้ำอุปโภค บริโภคเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ของการทำเกษตร ซึ่งอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ความจุระดับกักเก็บ 10.46 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ที่จะดำเนินการสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอู บริเวณตอนล่างของอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลา ที่หมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จปี 2564
หลังจากการสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะสามารถส่งน้ำช่วยเหลือราษฎรสร้างความมั่นคงในพื้นที่หมู่ที่ 3 และหมู่บ้านใกล้เคียงในตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ จำนวน 1,095 ครัวเรือน ประชากร ประมาณ 3,250 คน
นอกจากนี้จะทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มีจุดเด่นไม่เหมือนอ่างเก็บน้ำอื่นๆ คือ จะมีสันเขื่อนเดิมอยู่กลางอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่ง คือเก็บน้ำห้วยป่าเลา และอ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอูอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างรายได้ที่มั่นคงให้ประชาชนในพื้นที่ สร้างความมั่นคงทางด้านน้ำ พัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ให้ยั่งยืน



ทางด้าน มหิทธิ์ วงศ์ษา หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม ที่ 2 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เสริมว่า พื้นที่ที่ส่งน้ำไปถึงเกษตรกร จะต้องมีการดูแลเรื่องของคุณภาพดินว่าสามารถจะส่งเสริม ปรับปรุงอะไรได้บ้าง อย่างเช่น เรื่องปุ๋ย การดูแลจัดการให้ถูกวิธี นอกจากที่เกษตรกรเคยปลูกไว้



“เดิมทีชาวบ้านใช้อ่างเก็บน้ำเก่าที่กักเก็บน้ำได้เพียง 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนอ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอูอันเนื่องมาจากพระราชดำริกักเก็บน้ำได้มากถึง 10 ล้านลูกบาศก์เมตร และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น กรมชลประทานยังได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการก่อสร้างโครงการด้วย
ทั้งเรื่องการปลูกป่าทดแทน การสร้างฝายชะลอน้ำ รวมทั้งการปรับปรุงหน่วยพิทักษ์ การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชให้เหมาะกับศักยภาพของดินรวมทั้งการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพดี ขายได้ราคาสูง ซึ่งถ้าเกษตรกรประสบความสำเร็จ กรมชลประทานก็ถือว่าคุ้ม เพราะเราลงทุนค่าก่อสร้างไปสูง
พอเรามีน้ำสม่ำเสมอ บางทีหน้าฝนไม่ใช่ว่าฝนจะตกตอนที่เราต้องการนะ อย่างการทำนาช่วงต้องการน้ำ ถ้าฝนไม่ตกก็ทำอะไรไม่ได้ ชาวบ้านหลายที่หว่านข้าวไปหลายรอบ เมื่อไม่มีน้ำก็จะตาย แต่ถ้ามีอ่างเก็บน้ำ เราก็ส่งน้ำเข้ามาช่วย ตอนไหนฝนไม่ตก เราก็จะส่งน้ำเข้ามาช่วย เนี่ยแหละความดีของอ่างเก็บน้ำ”
แน่นอนว่า กรมชลประทานยังมีแผนพัฒนาและส่งเสริมการเกษตรให้กับชาวบ้าน เป็นการช่วยเยียวยาที่ยั่งยืน เพราะนอกจากการสร้างรายได้อย่างงามในแต่ละปีแล้ว ยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านด้วย



“น้ำพอ-ผลผลิตดี” ผลกระทบหาย สร้างรายได้คืน

พื้นที่ป่าละอูถือว่ามีปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวสวนทุเรียน ตลอดเวลาที่ผ่านมาเกษตรกรต้องประสบปัญหาน้ำแล้งเกือบทั้งปี จนเกิดผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตรวมถึงคุณภาพด้วย การที่มีการส่งน้ำเข้าไปอย่างเพียงพอจะทำให้ทุเรียนมีผลลิตที่ดีขึ้น หรือพื้นที่ไหนที่ส่งน้ำไปไม่ถึง ทางกรมชลประทานก็จะมีการทำอ่างเก็บน้ำแล้วให้ชาวบ้านสูบไปใช้เพื่อส่งเสริมการปลูกทุเรียน ยิ่งมีน้ำผลผลิตทุเรียนก็จะดีขึ้น
ไม่เพียงแค่นี้ ทุเรียนป่าละอู ยังเป็นผลไม้ของดีประจำหมู่บ้านห้วยสัตว์ใหญ่ เนื่องจากเป็น “ทุเรียนพระราชทาน” สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระราชทานพันธุ์กล้าทุเรียนหมอนทองและพันธุ์ผลไม้อื่นให้ราษฎรนำไปปลูกเป็นอาชีพสร้างรายได้



ส่วนเจ้าของสวนทุเรียนป่าละอูอย่าง ประเทือง ออมพลศิริ ซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำเพื่อทำการเพาะปลูก บอกกับทีมข่าวของเราว่า ตลอดระยะเวลาที่ได้เริ่มใช้น้ำจากโคงการทำให้ผลผลิตดีขึ้น รายได้ดีขึ้นมาก จากเมื่อก่อนที่เคยแย่งกันใช้น้ำ มาถึงตอนนี้ถือว่าชาวบ้านมีชีวิตดีขึ้นมากโดยเฉพาะคนที่ทำเกษตร



“มีอ่างเก็บน้ำก็ทำให้ผลผลิตทุเรียนนั้นดีขึ้น เพราะว่าน้ำก็สมบูรณ์มากขึ้น ผลผลิตก็ดี ทำให้รายได้ของเราก็ดีขึ้นตามไปด้วย ส่วนตัวใช้น้ำมาตั้งแต่ปี 2528
ทำเกษตรทั้งหมด 5 ไร่ แบ่งเป็นสวนทุเรียนประมาณ 3 ไร่ และปลูกพืชอื่นๆ อีก 2 ไร่ ปลูกผัก ปลูกมะนาว แตง ถั่ว เริ่มปลูกต่อยอดจากรุ่นหลังของพ่อแม่มา 5-6 ปี ก่อนหน้านั้นก็จะปลูกมะนาว กล้วย พอทุเรียนเริ่มดัง ก็เริ่มปลูกเพิ่มขึ้น
โดยโครงการอ่างเก็บน้ำไม่ได้กำหนดว่าให้เราใช้ในจำนวนเท่าไหร่ คือให้เราใช้ได้ตลอด เราขาดน้ำเราก็ใช้ได้เลย เมื่อเทียบกับตอนที่ไม่มีอ่างเก็บน้ำก็ต้องยอมรับว่าชาวบ้านแย่งกันใช้น้ำ เวลาหน้าแล้งแทบทะเลาะกัน เพราะน้ำไม่พอใช้ก็ต้องแบ่งๆ กันใช้ พอมีอ่างเก็บน้ำก็ดีขึ้น มีน้ำทุกสิ่งทุกอย่างก็อุดมสมบูรณ์มากขึ้น”
สำหรับประมาณน้ำที่ใช้ในการทำการเกษตร เจ้าของสวนทุเรียนรายนี้ได้เสริมอีกว่า ช่วงหน้าแล้งที่นี้น้ำค่อนข้างขาดแคลน การปลุกทุเรียนต้องใช้น้ำเยอะ และค่อนข้างบ่อย ต้องรดน้ำตลอดทั้งปีจนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิต
“ถ้าให้เทียบประมาณน้ำที่ใช้ว่าใช้ไปเท่าไหร่ โดยส่วนตัวแล้วประมาณไม่ถูก ยอมรับว่าใช้ในปริมาณที่มาก เนื่องจากทุเรียนขาดน้ำไม่ได้ ซึ่งห้ามเกิน 2-3 วันก็ต้องรดน้ำ เพราะอาจจะทำให้ต้นทุเรียนนั้นตายได้
สวนทุเรียนสวนนี้เป็นต้นเก่ามาจากรุ่นสู่รุ่นกว่า 30 ปี แล้ว ผลผลิตก็ได้ไม่เยอะ ตกประมาณปีละตันกว่า ๆ รายได้ก็อยู่ที่ปีละประมาณ 100,000 บาท ปีที่แล้วก็ได้ประมาณตัวกว่าๆ อยู่ที่ 200-300 ลูก อีกอย่างสวนเราไม่ได้ใช้สารเคมี ปีนี้ทุเรียนออกหลายรุ่น รุ่นแรกออกมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปีนี้คาดว่าน่าจะมีผลผลิตไปถึงต้นเดือนกันยายน”
เจ้าของสวนทุเรียนรายเดิมยังทิ้งท้ายอีกว่า ทุเรียนหมอนทองที่ปลูกที่ป่าละอู แตกต่างจากที่อื่นคือ มีรสชาติที่ดีกว่า เนื้อจะละเอียด กลิ่นไม่แรง รสชาติก็จะหวานมันพอดี มีกลิ่นหอมละมุน กรุ่นๆ หน่อยๆ



สอดคล้องกับ ประมาณ เกศสิงห์ เกษตรกรเลี้ยงโคนมที่ใช้แหล่งน้ำของโครงการมานานกว่า 10 ปี ยอมรับว่าตั้งแต่มีอ่างเก็บน้ำมาถือว่าช่วยให้การเลี้ยงโคนมนั้นดีขึ้นมาก มีน้ำให้วัวได้ดื่มได้ใช้ และที่สำคัญไว้ใช้รดแปลงหญ้าอีกด้วย



“ส่วนตัวผมใช้น้ำ 1,000 ลิตรต่อวันในการเลี้ยงวัว สำหรับวัวทั้งหมด 15 ตัว ก็คือให้วัวกิน ล้างคอก ล้างเครื่องอุปกรณ์ทุกอย่าง แล้วก็มีอีกส่วนหลักก็คือแปลงหญ้าที่เราต้องรดน้ำ ผมเริ่มใช้น้ำจากอ่างมาตั้งแต่เริ่มแรกในการลี้ยงวัว ผมเลี้ยงวัวมา 10 ปี ทางโครงการก็มีท่อส่งผ่านจากอ่างมาให้เราใช้
มีอ่างเก็บน้ำเข้ามาให้ใช้ก็ถือว่าดีขึ้นครับ ทุกวันนี้เราใช้น้ำจากอ่างก็เหมือนใช้น้ำจากหน้าฝนคือสบายขึ้นเยอะ ส่วนหน้าแล้งที่ไม่พอใช้จริงๆ ก็กักน้ำไว้กินไว้ใช้ให้อยู่ได้จนครบ ส่วนแปลงหญ้าว่ากันทีหลัง ถึงสุดท้ายเราไม่มีวัตุดิบของเราเองเราถึงต้องซื้อหญ้าให้วัวกิน แต่ถ้าเรามีแล้ว มีที่เก็บก็จะมารดวันเว้นวัน แต่ถ้ามีน้ำมาตลอดเราก็สามารถกักเก็บไว้ใช้ 1-2 วันก็สามารถบริหาร แต่ปัจจุบันหน้าแล้งนี้ไม่มีน้ำมาถึงเราก็พอมีน้ำจากอ่าง”



เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายนี้ ยอมรับว่าเรื่องน้ำถือเป็นปัญหาโลกแตกสำหรับคนที่นี่ เพราะในช่วงหน้าแล้งจะเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ น้ำที่กักเก็บไว้หน้าฝนก็ไม่พอใช้ ทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำจนเกิดทะเลาะกันของชาวบ้าน
“ทางโครงการก็ถือว่าช่วยได้มากเลย ไม่ใช่แค่ผมคนเดียวนะใช้น้ำ ได้ใช้กันทุกคน ทุกแปลงทุกไร่ ไม่ว่าจะเป็นไร่ที่ปลุกทุเรียน ปลูกพืชผักสวนครัว หน้าแล้งจะได้น้อยเพราะไม่มีน้ำที่เพียงพอ อย่างเช่นปลูกมะนาวในหน้าแล้งบางทีก็ต้องปล่อยตาย ถ้าอยากปลูกจริงๆ ก็ต้องปลูกช่วงหน้าฝน
เรื่องน้ำสำหรับที่นี่ถือเป็นปัญหาโลกแตกมาตลอด เพราะว่าพอช่วงหน้าแล้งคนโน่นก็ไม่มี คนนี้ก็ไม่มี คนนั้นก็ไม่มี เกิดปัญหาก็คือทะเลาะกัน แต่ทุกคนรู้ปัญหา ก็ต้องแบ่งกัน”
สำหรับรายได้ในการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรรายนี้ เมื่อเฉลี่ยแล้วถือว่าเหลือพอใช้ในครอบครัว แต่หากเกิดปัญหาไม่สามารถปลูกหญ้าเองได้เนื่องจากน้ำไม่เพียงพอ ต้องไปซื้อหญ้าจากที่อื่นมาเลี้ยงวัวค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่ม รายได้ลดอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นน้ำก็ถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญ




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น