“7 ยอดเขาที่สูงที่สุดใน 7 ทวีปของโลก” คือเส้นทางที่ทันตแพทย์หญิงรายนี้ได้พิชิตมันมาแล้ว ด้วยสองเท้าของเธอเอง บนความสูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 8,000 เมตร ที่สำคัญมีผู้หญิงเอเชียเพียง 4 คนเท่านั้น ที่ทำได้สำเร็จ และเธอคนนี้ก็คือสาวไทยคนแรกที่อัญเชิญธงชาติไทยขึ้นไปประกาศศักดาได้สำเร็จ บนเทือกเขาทั้ง 7 ที่นักปีนต่างขนานนามว่ายากที่สุด!!
“ยอดเขาที่ 7” เกือบเอาชีวิตไม่รอด!!
["เดนาลี"ยอดเขาสุดโหด]
“ถามตัวเองเหมือนกันว่า ไปทรมานทั้งนั้นเลย ไม่ได้สบาย ไปลำบาก แต่อีมกลับรู้สึกว่าเหมือนเป็นการที่ได้อยู่กับตัวเอง ได้ทำอะไรในสิ่งที่มันท้าทายตัวเอง ขัดกับใจเราบ้าง บางทีเราอยากหยุดมาก แต่เราก็ยังต้องดันตัวเองให้ไปต่อ หรือไปเจอกับเรื่องที่มันยากลำบาก เราต้องใช้ใจเราที่จะสู้ต่อไป เพื่อที่จะให้ผ่านจุดนั้นไปได้”
ใบหน้าเปื้อนรอยยิ้ม สวมเสื้อเชิ้ตสีขาว ลุคสบายๆ ที่นั่งอยู่ตรงหน้าผู้สัมภาษณ์คนนี้ ไม่ใช่ใครที่ไหนเธอคือ “อีม - ทพญ.นภัสพร ชำนาญสิทธิ์” หมอฟันวัย 35 เพียงหนึ่งเดียว ที่ใช้เวลาเพียง 4 ปี ในการพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก 7 แห่ง ใน 7 ทวีป หลังจากที่เคยเดินตามความฝันของตัวเอง เป็นสาวไทยที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้สำเร็จเมื่อปี 59
ทีม MGR Live ไม่รอช้า ได้มีโอกาสคว้าตัวเธอมาสนทนาด้วย และการได้พูดคุยกับเธอในครั้งนี้ ทำให้เห็นทัศนคติที่ดี และการต่อสู้ ไม่ยอมแพ้ในเส้นทางมหาโหด เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อื่น และอะไรที่ทำให้เธอเลือกเส้นทางนี้ ทั้งที่เป็นสิ่งที่ไกลตัวเธอ และคนไทยมากนัก
ในฐานะวงการนักปีนเขา ทราบกันดีว่าการเป็นที่สุด ของการปีนเขาคือ การได้ไปพิชิต 7 ยอดเขา 7 ทวีปของโลก (Seven Summits) โดยในสถิติบอกชัดเจนว่านักปีนเขาในทวีปเอเชีย มีเพียงแค่ 24 คน และมีผู้หญิง 4 คนเท่านั้นที่ทำสำเร็จ
โดย 7 ยอดเขาที่สูงที่สุดนี้คือ 1.เอเวอเรสต์ (Everest) ความสูง 8,848 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล 2. อคอนคากัว (Aconcagua) ความสูง 6,962 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล 3. เดนาลี (Denali) ความสูง 6,194 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
4. คิลิมานจาโร (Kilimanjaro() ความสูง 5,963 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล 5. เอลบรุส (Elbrus) ความสูง 5,642 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล 6. วินสัน แมสซีฟ (Vinson Massive)ความสูง 4,897 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และ 7.ปุนจักจายา (Punjak Jaya) ความสูง 4,884 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งเขาทั้ง 7 ลูกอยู่ภายใต้การดูแล และสนับสนุนจากโครงการ “PTT Seven Summits”
นอกจากนี้ หมออีมได้เล่าถึงวินาทีที่ไปพิชิตยอดเขา “เดนาลี” จนเกือบเอาชีวิตไม่รอด ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เคยปีนครั้งแรก เธอจึงตั้งใจจะมาพิชิตใหม่อีกครั้ง หลังจากพิชิตไม่สำเร็จ และยอมรับตรงไปตรงมาเลยว่า เป็นหนึ่งในลูกที่ยากที่สุด
“ภูเขาลูกนี้จะเป็นลูกที่พยากรณ์อากาศได้ไม่แม่นยำที่สุด พยากรณ์ได้มากสุด 3 วัน แต่ว่าอากาศสามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เหมือนประมาณว่าเราตื่นเช้าขึ้นมา ต้องดูอากาศวันต่อวันเลยค่ะว่าอากาศเป็นยังไง ตอนนั้นไปติดพายุ 6 วัน ไปไหนไม่ได้ ติดอยู่ในเตนท์ เวลาหมดก็เลยต้องกลับลงมา
ทุกคนคิดว่าถ้าผ่านเอเวอเรสต์มาได้แล้ว ที่เหลือสบาย เราไปเที่ยวเล่น ความจริงไม่ใช่ แต่ละลูกมันก็จะมีความยากต่างๆ ทั้งเรื่องอุณหภูมิ เรื่องสภาพภูมิประเทศ สภาพอากาศที่เจอแต่ละลูก อีมไปแต่ละช่วง มันไม่เหมือนกันสักครั้ง ภูเขาลูกเดียวกัน แต่ละช่วงไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับเรา อีมมักจะไปเจออะไรที่ไม่คาดคิด ซึ่งตรงนั้นเอง ที่มันเป็นความยาก เรารู้สึกว่าไปมาแล้ว ก็ไม่เห็นลูกไหนง่ายเลย
ยอดเขาเดนาลี ซึ่งเป็นลูกปิดโครงการ ถ้าไม่นับเอเวอเรสต์ คือลูกนี้หนักที่สุด ความหนักคือ ต้องแบกของเองทุกอย่าง ต้องทำเองทุกอย่าง ทั้งกางเต็นท์ และที่นี่จะไม่มีลูกหาบ แต่เอเวอเรสต์จะมีลูกหาบให้
ที่นี่ต้องแบกของหนัก คือต้องแบกเป้ด้วย และลากเลื่อนด้วย แบกหนักสุดคนหนึ่งประมาณคนละ 40-50 กิโลกรัม ทั้งแบกเป้ และลากเลื่อน ซึ่งมันหนักตรงนี้ค่ะ พอเราแบกไปถึงที่ เหนื่อยมาก แต่พอถึงที่แคมป์ก็ยังพักไม่ได้ ต้องมานั่งกางเต็นท์ ต้องทำทุกอย่างเองหมด
ส่วนใหญ่จะอยู่ได้ไม่นาน อย่างเอเวอเรสต์ไม่ถึง 5 นาที ก็ลงมาข้างล่างแล้ว ที่อื่นก็อยู่ได้ไม่นาน ที่นานสุดก็จะเป็นที่อเมริกาใต้ ยอดเขาอคอนคากัว อยู่ประมาณ 1 ชั่วโมงง เพราะว่าวันนั้นอากาศดี ส่วนใหญ่บนยอดเขาจะเจอกับอากาศไม่ค่อยดี อยู่แป๊บเดียวก็ต้องรีบลงมา”
ด้วยสภาพอากาศที่เลวร้าย อุปสรรคมากมายที่ต้องเจอ การขนสัมภาระเองทั้งหมด สำหรับเธอการพิชิตเขาเดนาลี จึงเป็นสิ่งที่ยาก ซึ่งเธอเองก็รู้ดีว่า เมื่อต้องไปพิชิตยอดเขาเดนาลีนั้น จะไม่เจอสิ่งที่เรียบหรูแน่นอน
“บางที่สามารถย้ายของขึ้นไปได้เลย แต่ที่เดนาลี ลูกล่าสุด คือเหมือนปีนเขา 2 รอบ เดินขึ้นไปแล้วเราก็ต้องเอาของส่วนหนึ่งขึ้นไปฝังเอาไว้ระหว่างทาง เพราะว่าเราไม่สามารถแบกทีเดียวได้หมด เสร็จแล้วเราก็ต้องกลับมาที่แคมป์
จากแคมป์ก็เดินขึ้นไปแคมป์ข้างบน จากแคมป์ข้างบนเราต้องกลับลงมาเอาของ แล้วก็ต้องเดินกลับขึ้นไป นับๆ แล้วเหมือนขึ้นเขา 2 รอบ เหมือนจะถึงแล้ว ก็กลับลงมาอีก”
“เพลงสรรเสริญพระบารมี” แรงบันดาลใจให้เริ่มปีน
“นึกไม่ออกเหมือนกันว่าจะไปเจอความรู้สึกอย่างนั้น ความรู้สึกแรกคือโล่งค่ะ เราทำหน้าที่ของเราเสร็จแล้ว ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ ธงชาติไทยได้ขึ้นมาถึงข้างบนแล้ว หน้าที่ของเราเสร็จแล้ว
ความรู้สึกต่อมาคือ แค่นี้เองเหรอ มันง่ายแค่นี้เลยเหรอ มันรู้สึกว่าความรู้สึกมันแค่นี้เองเหรอ มันไม่มีความภูมิใจ ไม่มีความรู้สึกว่าตัวเราขึ้นไปถึงแล้ว สุดยอด มันไม่ใช่ ขึ้นไปถึงร้องไห้ เพราะเรารู้สึกว่าเราทำเป้าหมายเราเสร็จแล้ว เราไม่ได้ทำให้เรา เราไม่ได้ทำให้ตัวเราเอง แต่เราทำแล้วเราได้รับพลังจากคนอื่นมา แล้วเราทำมันได้สำเร็จ”
ย้อนกลับไปหลายๆคน อาจจะสงสัยว่า อะไรที่ทำให้เธออยากมาปีนเขา ซึ่งเธอได้ให้คำตอบเอาไว้ว่า เรื่องราวเกิดขึ้นหลังจากเรียนจบ เธอได้เปิดหาสถานที่เที่ยว จนไปเจอคลิป หนึ่ง-วิทิตนันท์ โรจนพานิช คนไทยรายแรกที่ไปพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีบนยอดเขาสูงนั้น
“อีมเริ่มปีนเขาตั้งแต่สมัยเรียนจบ ตอนเรียนเราก็เรียนอย่างเดียวเลย เรียกว่าเป็นเด็กเรียน เมื่อก่อนไม่ทำอะไรเลย กิจกรรมกลางแจ้งไม่เอาเลย ออกกำลังก็ยังไม่ออกพอ หลังเรียนจบเราก็เริ่มมีเวลาว่าง ตอนนั้นก็เริ่มไปเที่ยว แรกๆไปเที่ยวธรรมดาก่อนค่ะ พอหลังจากนั้นได้เริ่มเดินป่า ก็รู้สึกชอบ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ได้แบกแพกไปที่ประเทศเนปาลกับเพื่อน เราก็รู้สึกเฮ้ย!! มันสนุก แล้วก็มีความสุข จากนั้นเป็นต้นมา อีมก็เริ่มเดินเทรกกิ้ง และเริ่มปีนเขา
ตอนแรกแพลนกันไว้จะพิชิตเอเวอเรสต์ให้สำเร็จ พอสำเร็จแล้ว หลังจากนั้นอีมรู้สึกว่าเรายังอยากปีนเขาอยู่ ความจริงเป็นเขาลูกไหนก็ได้ เราอยากปีน
และด้วยความที่ Seven Summits คือยอดเขาที่สูงที่สุดในแต่ละทวีป 7 ทวีปทั่วโลก มันเป็นอะไรอย่างหนึ่งที่ท้าทาย ถ้าทำได้มันก็จะเป็นในนามคนไทยคนหนึ่งทำสำเร็จ
ความจริงเราไม่ได้คิดเลยว่า เราจะเป็นคนแรกหรือเปล่าที่ทำสำเร็จ แต่ถ้าทำสำเร็จก็คือคนไทย เหมือนเราทำในนามของคนไทย นั่นก็เป็นการที่เราได้ปีนเขาอีกครั้ง
อีมไม่ได้ฝันว่าเราจะไปปีนเอเวอเรสต์ มันเริ่มต้นจากการที่เราได้ไปเทรกกิ้งที่เนปาล เราก็เริ่มชอบ ตอนนั้นก็กลับมาเปิดหาที่เที่ยวไปเรื่อยๆ แล้วไปเจอคลิป พี่หนึ่ง-วิทิตนันท์ (โรจนพานิช) ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ปีนเขาเอเวอเรสต์
ตอนนั้นอีมนั่งดูฉากที่พี่หนึ่งร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีบนยอดเอเวอเรสต์ นั่งดูไป แล้วนั่งร้องไห้ มันซึ้งมาก อีมรู้สึกว่าพี่หนึ่งทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก อีมชื่นชมพี่หนึ่ง และพี่หนึ่งก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้อีมลึกๆว่า เฮ้ย!! เราอยากปีนเขาแบบพี่หนึ่ง แต่ยอดเขาเอเวอเรสต์ เราไม่มีวันไปได้แน่ๆ มันดูเป็นความฝันที่ไกลเกิน
เราไม่กล้าฝัน และไม่กล้าบอกใครด้วย จนกระทั่งเราเริ่มปีนเขาไปเรื่อยๆ ไปเจอ ป๋าคมรัตน์(พิชิตเดช) เป็นเทรกเกอร์คนหนึ่งที่ออกมาทำทริปเดินป่า ปีนเขา อีมก็ไปเจอป๋า แล้วได้ไปปีนกับป๋าลูกแรกที่คินาบาลู ที่มาเลเซีย
หลังจากนั้นก็ตามติดป๋ามาเรื่อยๆ ไปกับป๋าทุกทริป ส่วนใหญ่จะไปประเทศเนปาล ปีนกันมาเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งได้คุยกับป๋าถึงเรื่องเอเวอเรสต์
["ป๋าคมรัตน์"เพื่อนร่วมทริป"หมออีม"]
ตอนนั้นอีมไม่เคยกล้าพูดกับใครมาก่อน คุยไปคุยมา ไม่รู้คุยกันยังไงก็เข้าเรื่องเอเวอเรสต์ ป๋าก็บอกว่า ป๋าสัญญาว่าป๋าจะพาเราไป อีมรู้ว่ายากมากที่คนคนหนึ่งจะสามารถไปเอเวอเรสต์ได้ มันมีหลายปัจจัย ทั้งเวลา ทั้งเงินทุน ทั้งร่างกาย คือหลายอย่างมากที่เราจะต้องพร้อม”
หมออีมผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่มีหัวใจมุ่งมั่น และหอบความฝันของคนไทยรายนี้ เป็นผู้ที่ทลายข้อจำกัดการเป็นผู้หญิง ในความคิดคนทั่วไป ได้เล่าถึงการเดินทางสู่ Seven Summits ให้ฟังว่าเริ่มต้นจากการไปพิชิตเขาเอเวอเรสต์ที่มีความสูงถึง 8,950 เมตรจนสำเร็จ
แน่นอนว่าสำหรับหลายคนคงได้เห็นภาพหญิงไทยที่พาธงชาติ และพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง รัชกาลที่ ๙ ไปโบกสะบัดไกลถึงยอดเขาเอเวอเรสต์ได้สำเร็จ จนกลายเป็นแรงบันแรงใจให้กับใครอีกมากมาย
“ตอนนั้นอีมก็รู้ว่ามันยาก เพราะเราปีนเขาลูกอื่นมา เรารู้ว่าพี่หนึ่งทำอะไรที่มันยากมาก แต่พอไปเจอเองมันยากกว่าที่เราคิดไว้มาก หนักกว่ามาก(เน้นคำพูดว่ายากมากจริงๆ)
อีมเคยคุยกับพี่หนึ่งก่อนที่ขึ้นซัมมิตส์ พี่หนึ่งก็บอกว่าหลังจากชั้น 4 ขึ้นไป อีมไม่ต้องคิดอะไรแล้ว ให้คิดอย่างเดียวเลยว่าเดินต่อไปเรื่อยๆ เดินเพื่อคนอื่น เราไม่ได้เดินเพื่อตัวเราเอง
ตอนนั้นเราไม่เข้าใจค่ะว่ามันแปลว่าอะไร แต่สักพักเราเริ่มเข้าใจ เพราะว่าเราออกเดิน เรารู้สึกว่าเฮ้ย!! มันหนักมาก มันเกินกว่าที่เราจะไปไหวแล้ว ก่อนมาอีมคิดว่าเราทำเพื่อความฝันตัวเอง เราหอบความฝันตัวเองมา ตอนนั้นเราก็มีพลัง แต่พอมันไปเจอจุดที่สุดๆ อีมรู้สึกว่าพอแล้ว ความฝันไม่เอาแล้ว ความฝันช่างมัน อยากจะหันหลังกลับไป
อีมคิดถึงคำพูดพี่หนึ่งขึ้นมา พี่หนึ่งบอกว่าให้เดินเพื่อคนอื่น และคิดถึงคนที่อยู่ข้างๆเรามาตลอด มันไม่ใช่แค่เรามาเหนื่อยบนเอเวอเรสต์ แต่ก่อนหน้านี้มันหลายปีมากเลย ที่ทุกคนเดินกันมา ช่วยเราให้เรามีโอกาสมา ณ จุดนี้ เราก็คิดถึงคนเหล่านั้น เขาเหนื่อยกับเรามามากแค่ไหน เราก็เหมือนเอาพลังจากเขา กำลังใจจากเขา เพื่อที่จะมาเดินต่อ
ซึ่งสุดท้ายมันก็ยังเหนื่อย เราก็คิดอย่างเดียวเลยว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเราจริงๆ เป้าหมายของเราคือพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง ร.๙ ที่เราตั้งใจจะนำขึ้นไปถึงยอดเอเวอเรสต์อย่างที่พี่หนึ่งเคยทำ
ตอนนั้นเราก็ไม่คิดอะไรแล้ว คิดอย่างเดียวว่าเพื่อเป้าหมายนี้ แล้วก็เดินต่อไปเรื่อยๆ เลิกคิดถึงตัวเอง คิดแต่ว่าเดินต่อไปทีละก้าวเรื่อยๆ ตราบใดที่เราเดินได้อยู่”
90 % ตายเพราะขาลง!!
“ไกด์ เขาไม่ให้นั่งเลยนะขาลง ขึ้นยอดเขาแล้ว ต้องเดินยาวลงมาตลอดเลย เพราะว่าบางครั้งร่างกาย พอนั่งเฉยๆแล้วอุณหภูมิมันจะต่ำลง ร่างกายจะค่อยๆหยุดทำงาน อาจจะทำให้ตายได้เลย”
สำหรับการเดินทางเท้า บางที่จะต้องแบกของ ขึ้นไปบนความสูงสัก 3,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลเอง คนทั่วไปก็จะเริ่มมีอาการ “แพ้ความสูง” แล้ว เพราะอากาศบนที่สูงจะมีออกซิเจนน้อยลง ทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติ จนอาจจะทำให้ร่างกายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งหมออีมต้องเตรียมความพร้อม และฟิตร่างกายเป็นพิเศษ เพื่อให้ร่างกายปรับตัวได้กับสภาพอากาศที่ลดต่ำลง ซึ่งสิ่งที่ต้องมีคือ “ความอดทน”
“อดทนอย่างเดียว (หัวเราะ) ใส่หนาๆเข้าไว้ แล้วทนมันไป เพราะว่าเราทำอะไรไม่ได้ ปัญหาที่เขาห่วงกันหลักๆ คืออาการแพ้ความสูง ถ้าระดับ 3,000 เมตรขึ้นไปจากระดับน้ำทะเล คนทั่วไปจะมีอาการแพ้ความสูงได้ แต่เรื่องนี้ไม่สามารถบอกได้ มันแล้วแต่บุคคล มันไม่เกี่ยวว่าใครจะแข็งแรง หรือไม่แข็งแรง นักกีฬาก็สามารถแพ้ได้
คนธรรมดาบางทีก็ไม่แพ้ อันนี้ไม่สามารถบอกได้ ก็ต้องไป ณ ตรงนั้น ไปรู้ที่นั่นเลย อีกอย่างก็คืออากาศค่ะ เพราะว่าบ้านเราเป็นเมืองร้อน ไปเจออากาศหนาว ก็จะรู้สึกปรับตัวยาก
ส่วนใหญ่อีมจะวิ่ง ตอนเช้าจะวิ่ง ตอนเย็นก็จะเป็นเวตเทรนนิ่ง สลับไป เป็นตาราง ตั้งแต่เอเวอเรสต์มาจนถึงจบโครงการมา เหมือนชีวิตมีตารางอยู่ตลอดเวลา ต้องเทรนตลอด จนกระทั่งพอจบ 7 ลูก แล้ว มันกลายเป็นนิสัยเราที่ต้องออกกำลังกาย”
แน่นอนว่าการปีนเขาสุดหฤโหดอย่างนี้ ถึงแม้ว่าจะเตรียมตัวมาอย่างดี แต่ระหว่างทางมักจะเกิดเหตุการณ์เสี่ยงๆ ที่ไม่คาดคิดอยู่เสมอ
เมื่อถามว่าพาตัวเองไปฝ่าความลำบาก แถมยังต้องเสี่ยงตายขนาดนั้น ทำไปเพื่ออะไร เธอได้ส่งยิ้มเล็กๆ พร้อมคำตอบเรื่องนี้เอาไว้ว่าทางครอบครัวก็เป็นห่วง แต่พ่อกับแม่เขาจะตามใจ ให้ตัดสินใจเอง ก่อนบอกเล่าช่วงเวลานาทีชีวิต ที่เปลี่ยนความคิด และชีวิตของเธอไปตลอดกาล
“ตอนที่เราไม่ได้เจอความรู้สึกกลัวจริงๆ มันก็ไม่กลัวหรอก แต่พอเราไปอยู่ในสถานการณ์ที่เฉียด เราถึงเริ่มรู้สึกกลัวตอนนั้น แต่อีมก็คิดว่าอยู่ที่ไหน ไม่ว่ายังไงถ้าถึงที่ตาย ยังไงก็ตาย
มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เอเวอเรสต์ คือเดินอยู่ มันจะมีช่วงหนึ่งที่เป็นร่องน้ำแข็ง แล้วเราก็เหยียบลงไปบนก้อนน้ำแข็งนั้น ขาก็ร่วงลงไปขาหนึ่ง โชคดีที่ถอยออกมาได้ทัน เป็นครั้งแรกที่อีมรู้สึกว่า ทุกก้าวทุกขณะมันอันตรายมาก
และตอนขาลงเอเวอเรสต์ อีมรู้สึกกลัวตายมาก เพราะว่าเหมือนเราใช้ทุกอย่างไปหมดเลย พลังเราใส่เต็มที่ เพื่อเป้าหมายที่อยู่ข้างบนหมดแล้ว ขากลับเราไม่ได้นึกถึงเลย ซึ่งขาลงเป็นขาที่อันตรายมาก 90% คนที่ตายเป็นขาลงทั้งนั้น เพราะว่าหมดแรง ใช้แรงจนหมด
มันเหมือนตอนเราวิ่ง เส้นชัยคือจุดสิ้นสุด แต่ไม่ใช่เลย เส้นชัยไม่ได้อยู่ที่ข้างบน เส้นชัยคือเราต้องกลับมาข้างล่างให้ได้ เราจะนึกเสมอว่าเส้นชัยอยู่ข้างบน แต่ความจริงแล้วไม่ใช่”
เทือกขาสอนให้รู้ว่า “เราไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก”
“ตั้งแต่กลับจากปีนเขา เหมือนเราจะเรียนรู้อะไรหลายๆอย่าง มันทำให้เราเปลี่ยนไปคนละคนเลย ตั้งแต่สมัยเด็กๆ จนกระทั่งถึงวันนี้ มันสอนอะไรเราหลายๆอย่าง สอนให้เรารู้ว่าเฮ้ย!! เราไม่ใช้ศูนย์กลางของอะไรเลย เราเป็นแค่หน่วยเล็กๆของจักรวาล ธรรมชาติยิ่งใหญ่มาก เราเป็นอะไรที่เล็กน้อยมาก
และก็สอนให้เราใช้ชีวิตที่ง่ายขึ้นค่ะ มีความสุขเล็กๆน้อยๆ ได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องการอะไรมากมาย เพราะเราไปอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เรารู้สึกว่าเราแค่มีกินนอนหลับ ชีวิตแค่นี้เรามีความสุขแล้ว เพราะเราเคยเจอความลำบากมา แต่พอเรามาอยู่ในชีวิตในสังคมแบบนี้ เราจะรู้สึกว่าเราต้องการอะไรเยอะแยะมากมายเลย ซึ่งมันไม่จำเป็น มันก็เลยกลายเป็นว่า เรารู้ว่าเราสามารถมีความสุขเล็กๆน้อยๆ ได้ ไม่ต้องการอะไรมากมาย”
นอกเหนือไปจากนั้น การเป็นทันตแพทย์ และนักปีนเขาที่ได้ไปปักธงไกลถึงยอดเขาทั้ง 7 ทวีป สิ่งที่หลายๆคนสงสัยก็คือการเป็นหมอน่าจะเป็นอาชีพที่ไม่น่าว่างมากพอ ที่จะทำให้เธอไปพิชิตเขาเหล่านั้นได้ รวมทั้งจากอาชีพที่เธอได้ทำแล้วนั้น แตกต่างกันมาก
“สิ่งที่ได้เปรียบจากการเป็นหมอ คือเราจะรู้ว่ากลไกของร่างกาย เวลาไปเจอกับสภาพแวดล้อม หรือไปเจอกับอะไรต่างๆ เราสามารถรับรู้ร่างกายเราเองได้
เคยคิดอยู่ว่าถ้าเกิดเรามีอาชีพเป็นนักปีนเขามันจะดีมั้ย อีมคิดว่าถ้าเกิดทำอะไรเป็นนานๆ จนมันกลายเป็นหน้าที่ แน่นอนมันย่อมมาพร้อมกับความรับผิดชอบอะไรบางอย่าง ซึ่งมันอาจจะไม่ทำให้เรามีความสุขตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเราก็ไม่เลือกหรอก เพราะเราเลือกจะทำสิ่งที่มีคุณค่า และเราทำอะไรได้หลายๆอย่าง
ถ้าเป็นอาชีพเรา มันคืออาชีพที่หล่อเลี้ยงชีวิตเรา และเป็นหน้าที่ของเรา ซึ่งเมื่อก่อนเราจะรู้สึกว่า โอ้โห ทำงานๆ...น่าเบื่อ พอได้ออกมาปีนเขามันเหมือนเป็นอะไรที่มันไม่ใช่เรียกว่าเติมเต็ม แต่ทำให้เราเข้าใจโลกมากขึ้นว่า ไอ้สิ่งที่เราทำอยู่มันคืออะไร
เราไม่สามารถเลือกทำในสิ่งที่ชอบได้ตลอดเวลา เราต้องอยู่ทั้งสิ่งที่ชอบ และไม่ชอบ แต่เราจะทำยังไงให้เราทำในสิ่งที่คิดว่าเราทำแล้วมันมีคุณค่า และมีความสุข เราทำในสิ่งที่เราอาจจะไม่ได้รักมาก อาจจะไม่มีความสุขตลอดเวลา แต่เราทำให้มันมีคุณค่าได้ แล้วเราก็จะรักมันเอง
สุดท้ายอีมรู้สึกว่าหน้าที่การงานของเรา มันเป็นอาชีพที่ทำให้เราได้ทำประโยชน์ เพื่อคนอื่น ได้ทำให้คนอื่นมีรอยยิ้ม ได้ทำอะไรเพื่อคนอื่นบ้าง อีมรู้สึกว่าเราโอเคกับอาชีพเราเยอะขึ้นมากๆเลยตอนหลัง เราเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำ”
เห็นได้ชัดว่าผู้หญิงคนนี้ คือคนที่พยายามก้าวข้ามผ่านทุกขีดจำกัด ในชีวิตของตัวเองมาโดยตลอด ทั้งขีดจำกัดทางด้านร่างกาย ในการพิสูจน์ว่าใครไม่ว่าเพศไหนก็ทำได้ ซึ่งเป้าหมายต่อไปที่เธอจะไปพิชิตนั้น เธอให้คำตอบเอาไว้ว่า ตอนนี้ยังไม่มีอะไรชัดเจน คงยังปีนเขาต่อไปเรื่อยๆ แต่ยังไม่มีโครงการว่าจะไปที่ไหน
“อีมไม่คิดว่าเรื่องเพศเป็นอุปสรรค เราสามารถทำอะไรได้หมด เขาบอกว่าเพศหญิงเป็นเพศที่มีความอดทนสูงกว่าเพศชายด้วยซ้ำ
เรารู้สึกว่าเป้าหมาย เป็นอะไรที่บอกให้เรารู้ว่า เราจะเดินไปแนวทางไหน เหมือนเราจะมีหลักยึดอะไรบางอย่าง ที่พอเรารู้แล้วว่าเป้าหมายเราคืออะไร เราก็รู้แนวทางว่าเราจะเดินไปยังไง ทางไหน
เมื่อก่อนเคยถามกับตัวเองว่าเราเกิดมาทำไม เกิดมาเพื่ออะไร เป้าหมายของชีวิตนี้คืออะไร แล้วเราก็พยายามออกค้นหา แล้วช่วงที่อีมปีนเขามันทำให้เรารู้ว่า ความจริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องค้นหาอะไรเลย เราคอยแต่จะหาความสุขจากข้างนอก เรามองไปข้างนอกอย่างเดียวเลย จริงๆแล้วมันอยู่ข้างในตัวเราทั้งนั้น
สิ่งที่ท้าทายไม่ใช่สิ่งที่อยู่ข้างนอก แต่สิ่งที่ท้าทายคือสิ่งที่อยู่ภายในตัวเรา เราคอยมองหาสิ่งที่อยู่ข้างนอกมาเติมเต็มความสุข อยากได้นั้น อยากได้นี่ ความต้องการเราเยอะขึ้นเรื่อยๆ
แต่เราไม่เคยหันกลับมามองภายในตัวเองว่าเราสามารถเต็มได้ด้วยตัวเองจากสิ่งที่อยู่ข้างใน ตอนนี้คิดว่าสิ่งที่ท้าทายสำหรับตัวเอง คือการเรียนรู้ตัวเองข้างในของตัวเองค่ะ”
ไม่เคยคิดจะลาออก!! เพราะยังรักในอาชีพ “หมอ” ไม่เคยคิดจะลาออกจากการทำอาชีพตรงนี้ เพราะอีมรู้สึกว่าเรารักในสิ่งที่เราทำอยู่ เพราะเรารู้สึกว่ามันคือสิ่งที่มีคุณค่าในสิ่งที่เราทำ ก่อนที่ไปปีนเขา อีมเคยทำงานอยู่ในโรงพยาบาล ทำงานราชการ ก็จะมีวันลา เราสามารถลาไปได้ เราใช้วันลาที่เรามี ก็คือสามารถแบ่งแยกเวลาได้ ตอนนี้รู้สึกว่าปีนเขาอย่างเดียว เวลาก็หมดแล้วค่ะ ก็ไม่ได้ทำอย่างอื่น ตอนนี้อีมย้ายมาทำงานที่กรุงเทพ ทำงานในคลินิค ไม่ต้องเข้าไปทำงานทุกวัน เพราะหลังๆเดินทางเยอะ ต้องเข้ากรุงเทพบ่อย |
ถึงจะกินมังฯ แต่ก็มีแรงปีน ตั้งแต่อีมอยู่กับธรรมชาติ อีมรู้สึกว่าทุกอย่างข้างนอกยิ่งใหญ่ไปหมดเลย เราเป็นสิ่งที่เล็กน้อยมาก และเราก็จะไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้งในทุกๆเรื่อง ตอนนี้อีมเป็น Vegan ค่ะ คือไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่กินนม ไม่กินไข่ คือก่อนหน้านี้เป็นมังสวิรัสประมาณ 5ปี เมื่อก่อนก็ยังกินนม กินไข่อยู่ แต่ตอนนี้ คือเลิกกินหมดเลย กินพืชผักหมดแทน ถามว่ามีแรงในการปีนเขามั้ย ส่วนใหญ่ถ้ากินให้ครบ เราจะรู้ว่าต้องกินอะไรบ้างให้สารอาหารให้ครบ มันก็ไม่มีปัญหา ตอนไปปีนเขา ส่วนใหญ่ไกด์จะเป็นคนทำให้ เราก็แจ้งไปว่าเราไม่กินเนื้อสัตว์ เขาก็จะเตรียมให้ ซึ่งอาหารบนเขา เขาจะเน้นให้พลังงานสูง พวกแป้งเป็นหลัก ก็ไม่มีปัญหาอะไร เราเลือกได้ค่ะ ส่วนหนึ่งก็เตรียมไปเองด้วย |
“เงิน 7 หลัก” เตรียมไว้เลย ถ้าอยากพิชิตยอดเขา นอกจากฟิตร่างกาย สิ่งที่สำคัญ คือเรื่องเงิน เพราะคนหนึ่งไปพิชิตยอดเขาจะต้องใช้เงินสูงมาก ถึงหลักล้านกว่าบาท อีมและป๋าคมรัตน์พยายามหาทุน โดยมีเพื่อนๆ ที่เป็นเพื่อนเดินป่า และเพื่อนนักวิ่งที่เราเคยเจอ ทั้งที่รู้จัก และไม่รู้จักที่เข้ามาช่วยเหลือเรา และก็หาทุนด้วยตัวเอง ในครั้งแรกหาเงินโดยจัดฉายหนังเอเวอเรสต์ หลังจากนั้นก็มีจัดงานวิ่ง และอะไรต่างๆ มากมาย จนมีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนอีมค่ะ คือคนเข้ามาช่วยเยอะมาก |
สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ภาพ: สันติ เต๊ะเปีย
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ “Eem Napassaporn”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **