xs
xsm
sm
md
lg

จนจริงหรือจ้อจี้?! จับพิรุธ “ลุงขายโจ๊ก” บทเรียนนี้ราคา 4 ล้าน!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดรามาต่อเนื่อง! “ลุงขายโจ๊ก” เจอแฉ “ขายของดี-ติดหนี้-ขี้โกหก” พบยอดเงินเรี่ยไรพุ่งถึง 4,000,000 บาท แม้เจ้าตัวชี้แจงแต่ยังไม่หลุดข้อสงสัย ด้านนักวิเคราะห์การตลาดโซเชียลฯ เผย โลกออนไลน์หากินง่าย ใช้ภาพ-ตัวหนังสือสร้างสตอรี่ กดทำธุรกรรมการเงินง่ายแค่ปลายนิ้ว ยิ่งอนาคตโอกาสโกงผ่านยิ่งเฟซบุ๊กสูงขึ้น!

หวั่นโอละพ่อ “ลุงขายโจ๊ก” พิรุธเพียบ!

กลายเป็นประเด็นดรามาที่ร้อนยิ่งกว่าโจ๊กเดือดๆ กับการจับพิรุธ “ลุงขายโจ๊ก” หรือชื่อจริงคือ ปกครอง ไทยสมาน ชายชราวัย 78 ปี เขากลายเป็นที่รู้จักบนโลกโซเชียลฯ เพียงข้ามคืน หลังจากที่มีวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งนำเรื่องราวของเขาไปโพสต์ลงโลกโซเชียลฯ ว่า ชายชราผู้นี้ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก หูตาฝ้าฟาง บางวันขายโจ๊กได้เพียง 1 ถ้วยเท่านั้น!

ลุงอ้างว่าตนเองเป็นคนไร้บ้านที่ต้องอาศัยอยู่ในเพิง ไม่มีน้ำและไฟฟ้าใช้ วันดีคืนดีข้าวของเครื่องใช้ยังถูกคนขโมยไปอีก ซ้ำร้ายลูกยังต้องมาเสียชีวิตในอุบัติเหตุจากคดีแพรวา 9 ศพ แต่ลุงไม่อยากเปิดเผยเรื่องดังกล่าว เนื่องจากศาลไม่ให้เปิดเผย การตายของลูกนี่เองทำให้ภรรยามาตรอมใจตายตามลูกไปด้วยอีกคน



ทันทีที่เรื่องราวสุดรันทดของลุงผู้นี้ถูกส่งต่อกันไปบนโลกโซเชียลฯ ก็นำมาซึ่งความเห็นใจจากผู้คนทั่วทุกสารทิศ มีทั้งคนเดินทางไปอุดหนุนโจ๊กกันถึงที่ร้าน ทั้งคนโอนเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือจากบัญชีที่กลุ่มวัยรุ่นต้นเรื่องเปิดขึ้นใหม่ให้ลุงโดยเฉพาะ รวมถึงมีหญิงสาวอีกคนที่ตั้งรับเงินบริจาคเพื่อให้ลุงไปผ่าตัดตาโดยให้ผู้ใจบุญโอนเข้าบัญชีตัวเอง

แต่ในเวลาต่อมา เรื่องราวนี้ก็เริ่มมีกลิ่นตุๆ เพราะนักสืบโซเชียลฯ จับความผิดปกติที่เกิดขึ้น ทั้งสาเหตุการเสียชีวิตของลูกลุงที่ไม่ใช่เหยื่อในคดีแพรวาตามที่ลุงกล่าวอ้าง ทั้งการที่อ้างว่าเป็นคนไร้บ้านแต่กลับมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ต้องใช้ทะเบียนบ้านในการลงทะเบียน



ด้านเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดก็ออกมาให้ข้อมูลว่า ลุงขายโจ๊กคนนี้เป็นคนพูดจากลับไป ที่ลุงอ้างว่าขายโจ๊กไม่ดีไม่เป็นความจริง เพราะขายดี ของหมดทุกวัน และลุงชอบยืมเงินเพื่อนบ้านหลายพันแต่ก็ไม่เคยคืน กระทั่งเย็นวันอาทิตย์ที่ผ่านมา คลิปวิดีโอจากกล้องวงจรปิดในบริเวณนั้นเผยว่า มีรถเก๋งมารับลุงออกไป และไม่มีใครสามารถติดต่อลุงขายโจ๊กผู้นี้ได้อีกเลย

เมื่อเหตุการณ์พลิกกลับเป็นอีกขั้วแบบนี้ ก็ทำให้คนในสังคมตั้งข้อสังเกตไปถึงตัวลุงและคนรอบข้างที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ด้านหญิงสาวที่ขอรับเงินบริจาคเพื่อผ่าตัดตา ได้ออกมาชี้แจงว่าได้ยอดบริจาคเกือบ 70,000 บาท และในวันที่ลุงผ่าตัดจะเปิดเผยหลักฐานการเงินอีกครั้ง ยืนยันว่าตนเองไม่มีส่วนรู้เห็นกับเงินส่วนดังกล่าว



ส่วนกลุ่มวัยรุ่นที่ไปเจอกับลุงและนำเรื่องราวมาเผยแพร่ให้สังคมได้รับทราบ พวกเขาอ้างว่าได้เงินมากพอและทำการปิดบัญชีแล้ว ซึ่งบัญชีดังกล่าวเป็นของลุงโดยตรง พวกเขาขอไม่ยุ่งเรื่องเงินจำนวนนี้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีกระแสความว่าบัญชียังไม่ถูกปิด และยังไม่มีการนำหลักฐานทางการเงินมาชี้แจงต่อสาธารณะแต่อย่างใด

ล่าสุด ได้พบตัวลุงขายโจ๊กเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยลุงกล่าวว่าได้ขึ้นรถเพื่อนบ้านไปพบแพทย์จริง จากนั้นจึงไปธนาคาร พบว่ามีเงินเข้าบัญชีถึง 4,000,000 บาท โดยเงินที่ได้ลุงจะนำไปรักษาตนเองและเช่าบ้านให้เป็นหลักแหล่ง

แม้ในตอนนี้จะยังไม่มีการสรุปที่แน่ชัดออกมาว่าเรื่องราวของลุงขายโจ๊กนั้นจริงหรือมั่ว ชัวร์หรือไม่ เพราะยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังคลุมเครืออยู่และยังไม่หลุดจากข้อสงสัยของสังคม ซึ่งหลังจากนี้ ก็ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ความจริงต่อไป

เผื่อใจไว้บ้าง “โลกออนไลน์” ช่องทางหากินมิจฉาชีพ

“ผมว่าการเรี่ยไรเงินบนโลกออนไลน์เหมือนเหรียญที่มี 2 ด้าน คือเขาอาจจะประสบปัญหาจริงๆ มันก็เป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดการช่วยเหลือกัน แต่เหรียญอีกด้านมันเป็นแง่ลบที่ใช้เป็นช่องทางหลอกลวง ตรงนี้มันไม่สามารถควบคุมได้อยู่แล้ว อยู่ที่วิจารณญาณของคนที่เห็น ถ้าเราอยากช่วยเหลือเขาเราโอนไป ถ้าสบายใจก็ทำไปแต่เราอย่าให้จำนวนมากจนรู้สึกว่าตัวเองเดือดร้อน มันเหมือนกับการให้เพื่อนยืมเงิน นอกจากจะเสียเงินแล้วบางทีคุณอาจจะเสียเพื่อนด้วย ก็เหมือนกัน การบริจาคแบบนี้บางทีคุณเสียเงินแล้วก็อาจจะเสียความรู้สึกได้ด้วย ก็ต้องคิดแบบนี้ ดังนั้นเผื่อใจไว้บ้าง”

วีรพล สวรรค์พิทักษ์ นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด ให้ความคิดเห็นแก่ทีมข่าว MGR Live ถึงการเปิดรับบริจาคเรี่ยไรเงินช่วยเหลือคนที่กำลังประสบปัญหาผ่านทางโลกออนไลน์ ที่ปัจจุบันถูกใช้เป็นช่องทางสำคัญให้การกระจายข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นอีกทางให้มิจฉาชีพใช้หากินได้ง่ายเช่นกัน


วีรพล สวรรค์พิทักษ์

“ประเด็นแรกผมอยากให้มองเรื่องของช่องทางในการติดต่อ พอโลกมันเปลี่ยน มันเป็นดิจิทัลต่างๆ ขึ้นมา พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยน มันจะมีช่องทางใหม่ๆ เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ออฟไลน์อย่างเดียว เรื่องการหลอกลวงมันเป็นเรื่องปกติของสังคมไทยอยู่แล้ว แต่พอมีช่องทางใหม่ขึ้นมามันก็หลอกลวงด้านออนไลน์มากขึ้น มันเข้าถึงคนหมู่มากได้เป็นจำนวนมาก แต่เดิมเวลาที่หลอกลวงด้านออฟไลน์ มันก็เดินไปเคาะทีละบ้าน ทำให้ได้คนจำนวนน้อย แต่ถ้าเป็นออนไลน์ปุ๊บ มันเข้าถึงคนหมู่มากได้ในเวลารวดเร็ว

มันก็จะเกิดวิธีการใหม่ๆ เกิดสตอรี่ สร้างเรื่องนู่นนี่นั่นได้เยอะแยะ มันสามารถใช้ข้อความชักจูงเพราะมันไม่ได้เห็นสีหน้า ไม่ได้เห็นอารมณ์ ทุกอย่างถูกตัดสินด้วยรูปภาพด้วยตัวหนังสือ มันไม่ได้เกิดการสนทนาจริงๆ คนไทยเป็นโรคขี้สงสารอยู่แล้ว ก็เลยให้ ตรงนี้คือปัจจัยสำคัญ”
แน่นอนว่าเหตุการณ์โอละพ่อในเรื่องการรับบริจาค ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งแรกหากแต่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนอาจจะเรียกได้ว่า คนไทยตกเป็นเหยื่อ “มิจฉาชีพออนไลน์” จนเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว


ธีร์ และ เอมี่ ตั้งโต๊ะชี้แจงต่อสังคม

อย่างเรื่องราวที่เกิดขึ้นไปไม่นานนี้ กับ ธีร์-ภูมิธนะวัชร์ บุญลือ อดีตนักแสดงหนุ่มวัย 41 ปี ที่เปิดเผยว่าตนเองป่วยเป็นวัณโรคทับต่อมน้ำเหลืองผ่านทางโซเชียลฯ โดยได้ เอมมี่ แม็กซิม ช่วยเป็นกระบอกเสียงในการขอเรี่ยไรเงินรักษาตัว แต่ต่อมา ธีร์ ได้ออกมายอมรับว่า ได้โกหกตั้งแต่ต้น เงินบริจาคไม่ใช่เงิน 50,000 บาท ตามที่กล่าวอ้าง ที่ปกปิดเงินบริจาค จำนวน 8 ล้านบาท เพราะกลัวเจ้าหนี้ทวง ซึ่งตอนนี้ได้โอนเข้าบัญชีแฟน 6.4 ล้าน และหยุดรับบริจาคแล้ว กรณีนี้นักกฎหมายได้ให้ข้อมูลว่า แม้เขาจะป่วยจริงแต่ถือว่าเป็นคดีฉ้อโกง เข้าข่ายมาตรา 343 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สามารถเอาความผิดได้

หรือจะเป็นกรณีของชายหนุ่มชาวขอนแก่นนามว่าปลื้ม หรือชื่อจริงศาสตรา ที่นำเรื่องราวตนเองไปโพสต์ตามกลุ่มเฟซบุ๊กต่างๆ อ้างว่าตนเองตกอับ มีเงินติดบัญชี 60 บาท ขอให้คนใจดีช่วยโอนเงินให้ 40 บาท เพื่อที่จะสามารถกดเงินออกมาซื้อข้าวกิน แต่ความดันมาแตกตรงที่มีคนสังเกตเห็นว่า ชายคนนี้โพสต์ขอความขอเงินตามกลุ่มต่างๆ หลายกลุ่มทั่วประเทศ และมีภาพที่เขากินหรู-อยู่สบาย ออกมาให้คนที่โอนเงินไปได้เจ็บช้ำหัวใจตามๆ กัน



ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดกล่าวต่อว่า “ข้อมูลจากเฟซบุ๊กเปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศติดอันดับโลกที่คลั่งไคล้การใช้สื่อโซเชียลฯ มากๆ คนไทยเข้าเฟซบุ๊กทุกเดือนมากกว่า 51 ล้านคน และเข้าทุกวันมากกว่า34 ล้านคน เท่ากับว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรไทยเข้าเฟซบุ๊กทุกวัน ฉะนั้น มันทำให้เกิดโอกาสการโกง การล่อลวงในเฟซบุ๊กสูงขึ้น

ผมมองว่าภาพรวมทั้งหมดของเรื่องนี้เกิดจากสังคมมันเปลี่ยน เปลี่ยนที่พฤติกรรม เปลี่ยนที่เรื่องของดิจิทัล ทรานฟอร์เมชัน มันกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนในสังคม เพราะฉะนั้นทำให้ข่าวสารแพร่ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ การโอนเงิน การทำธุรกรรม มันก็ทำได้ง่ายขึ้น โอนพร้อมเพย์ก็ได้ โอนโมบายแบงกิ้งก็ได้ ทุกอย่างมันทำได้ด้วยปลายนิ้วและรวดเร็วมากขึ้น

การใช้สื่อ การใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ของคนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ณ ปัจจุบัน คนไทยมีโทรศัพท์เคลื่อนที่เกิน 1 เครื่องต่อคน ปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ต การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กทุกสื่อยังเพิ่มขึ้นอยู่ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้มันก็ยังสูงขึ้นเรื่อยๆ อยู่ ดังนั้น ในอนาคตมันก็จะเป็นช่องทางของมิจฉาชีพในการทำแบบนี้ ผู้บริโภคก็ต้องตรวจสอบให้มากยิ่งขึ้น”



สุดท้าย นักวิชาการอิสระได้ฝากถึงคนในสังคมเกี่ยวกับการเสพสื่อให้รอบคอบมากขึ้น เพราะสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการแบ่งปัน แม้จะเป็นการโอนเงินช่วยเหลือจำนวนไม่มาก แต่หากหลายๆ คนช่วยกันก็เป็นจำนวนที่มาก ตรงนี้จึงกลายเป็นช่องโหว่ให้มิจฉาชีพหากินได้โดยง่าย

“ล่าสุด ก็มีเคสของดาราได้รับการโอนเงินไป ก็ตกใจว่าทำไมได้เยอะขนาดนั้น เพราะทุกคนสามารถโอนได้ด้วยปลายนิ้วไง คนละนิดคนละหน่อย แล้วด้วยตลาดคนใช้อุปกรณ์ดิจิตทัลพวกนี้มันมากขึ้น ฉะนั้น การเกิดเหตุการณ์แบบนี้เม็ดเงินจะมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างกรณีของดาราที่ป่วย แป๊บเดียวเขาได้ 8 ล้านแล้ว ในอนาคตหน้าที่ของประชาชนทุกคนต้องตรวจสอบให้มากขึ้น

ผมยังเชื่อว่าสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการแบ่งปัน ถ้าเราแบ่งปันแล้วเราไม่คิดอะไรมากก็โอเค และผมว่าในอนาคตการทำธุรกรรมต่างๆ ที่มันง่ายขึ้น เร็วขึ้น ในอีกมุมหนึ่งมันก็จะทำให้ชีวิตมีปัญหาได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น เทคโนโลยีต่างๆ มันเข้ามา มันมีทั้งแง่บวกและแง่ลบ เราต้องมีความรอบคอบระมัดระวังมากยิ่งขึ้น แล้วก็ต้องเข้าใจเทคโนโลยีต่างๆ อย่างชัดเจนครับ”

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพและข้อมูล : เฟซบุ๊ก Max Udomsak




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น