xs
xsm
sm
md
lg

อย่าให้ใครกอด-หอมลูก!! ระวัง “เริม-ไวรัส” เชื้ออันตรายจากความเอ็นดู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
แค่กอด-หอม นี่แหละตัวดี!! พ่อแม่เตือนอันตรายจากคนแปลกหน้า ทำลูก ติดเชื้อ เพราะความเอ็นดู ขณะที่ล่าสุด เด็กต่างชาติติดเริมจากการสัมผัสลุกลามเข้าดวงตา หวั่นติดเชื้อในสมอง ด้านกุมารแพทย์เปิดใจ คนส่วนใหญ่ละเลย ไม่เข้าใจเรื่องการแพร่เชื้อจากผู้ใหญ่สู่เด็ก ย้ำพ่อแม่ต้องระวังเอง อย่าให้ใครกอดหอมลูก!

สัมผัสเดียวเปลี่ยนชีวิต

“คนจะชอบคิดว่าแม่เวอร์หรือเปล่า ทำไมไม่ให้จับ ไม่ให้เล่นกับลูก แต่พอลูกป่วยขึ้นมาก็แม่นี่แหละที่ต้องดูแล ฉะนั้น อย่าไปแคร์ถ้าคนอื่นจะคิดยังไง ในเมื่อเขาเองก็ยังไม่แคร์ความปลอดภัยของลูกเราเลย”

“พญ.พรนิภา ศรีประเสริฐ” กุมารแพทย์จากโรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live หลังจากที่ประเด็นการติดเชื้อจากการสัมผัสของผู้ใหญ่สู่เด็กเล็กถูกหยิบกลับมาพูดถึงอีกครั้งในสังคมออนไลน์

แม้ที่ผ่านมา จะมีการรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่คงต้องยอมรับว่ายังมีคนจำนวนมากที่ยังไม่ตระหนักในเรื่องนี้ แถมยังเกิดกระแสดรามาต่างๆ นานา อย่างในกรณีของ “เอ็ม - บุษราคัม” ลูกสาวดาราตลกชื่อดัง “หม่ำ จ๊กมก” ที่เคยโพสต์ข้อความในอินสตาแกรมส่วนตัวว่า ตนไม่ชอบให้มาจับตัวลูกเพราะกลัวเด็กป่วย

ซึ่งบางคนกลับต่อว่า และใช้ถ้อยคำรุนแรงกับเธอถึงขั้นมองว่าเธอนั้นดัดจริตเกินไปหรือไม่ หรือในกรณีคุณแม่รายหนึ่งที่โพสต์เรื่องราว “จูบเดียวเปลี่ยนชีวิต” เป็นอุทาหรณ์ในกลุ่ม “รวมพลคนเห่อลูก” จนเกิดเป็นกระแสข่าวเตือนภัยกลุ่มพ่อแม่อยู่ช่วงหนึ่ง

 
โดยเธอได้เล่าเหตุการณ์เกิดขึ้นในห้างสรรพสินค้าที่เธอต้องเปิดร้านขายของอยู่เป็นประจำ ทำให้บางวันต้องพาลูกวัย 8 เดือนติดไปด้วย แต่เธอค่อนข้างระมัดระวังอยู่ รวมถึงตัวเด็กเองก็สุขภาพร่างกายแข็งแรงดี แต่วันนั้นกลับมีคนแปลกหน้าคาดว่าไม่สบายเพราะใส่หน้ากากอนามัยมาเล่นกับลูกของเธอ

แม้จะทักท้วงไปว่าเด็กอาจติดเชื้อง่ายเพราะยังเล็กอยู่ แต่คนแปลกหน้าดังกล่าวก็ไม่ได้สนใจ กลับถอดแมสก์ปิดจมูกออกแล้วจูบที่ปากของน้อง ส่วนตัวแม่ของเด็กถึงขั้นโมโหต้องพาลูกออกจากตรงนั้น และแน่นอนว่าภายในไม่กี่วันลูกเธอป่วยเป็นโรค RSV หรือโรคทางเดินหายใจ

สอดคล้องต่อสิ่งที่หมอแอมกล่าว แม้เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจ แถมกลับมองว่าคุณแม่คนนั้นๆ หวงลูกเกินไปอีกต่างหาก ซึ่งสำหรับโรคที่เด็กสามารถติดเชื้อได้จากภายนอกก็มีทั้งการสัมผัสโดยตรง และผ่านทางน้ำมูก-น้ำลาย

“ต้องยอมรับว่าคนไทยยังให้ความสนใจน้อย เรียกง่ายๆ ว่าความตระหนักยังกระจุกอยู่แค่คุณแม่บางกลุ่ม มีหลายคนที่ยังไม่รู้จักว่ามันติดต่อกันได้ จากที่ได้คุยกับกลุ่มพ่อแม่เด็ก หรือคนที่เข้ามาปรึกษาทางแฟนเพจ เรื่องเด็กๆ by หมอแอม จะมีแค่บางกลุ่มราวๆ 30% ที่รู้และระวังว่าติดกันทางน้ำมูก น้ำลาย หรือการสัมผัส

แต่อีก 70% โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ยังไม่มีลูกจะไม่ระวังเลย หมอขอแบ่งเป็นคร่าวๆ ก่อนแล้วกัน นั่นคือการสัมผัสโดยตรงที่ติดได้ทันที คือ โรคสุกใส โรคตาแดง โรคท้องเสียที่เกิดจากการสัมผัสเชื้อโรคแล้วเข้าปาก ส่วนต่อมาคือ การติดต่อกันทางน้ำมูก น้ำลาย อย่าง โรคมือเท้าปาก โรคเฮอร์แปงไจนา เชื้อเริม และไข้หวัดต่างๆ
“พญ.พรนิภา ศรีประเสริฐ”
 
ซึ่งผู้ใหญ่บางคนเป็นโรคอยู่แล้ว แต่อาจไม่ได้แสดงอาการตลอดเวลา เช่น เริมที่สามารถเป็นๆ หายๆ ได้ หรือบางคนไม่ได้เป็นโรคแต่ไปรับเชื้อมา ซึ่งไม่ได้แสดงอาการเพราะแข็งแรง จากนั้นไปสัมผัสกับเด็กก็จะติด ซึ่งปัญหาก็คือเด็กไม่มีภูมิคุ้มกันได้เท่าผู้ใหญ่คนนั้น ฉะนั้น เด็กต่อสู้กับเชื้อโรคไม่ได้จึงเจ็บป่วยขึ้นมา

ส่วนเคสที่รุนแรงที่สุดจนเสียชีวิตนั้นก็ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของเด็กนะคะ เด็กที่ภูมิคุ้มกันต่ำอย่างเด็กแรกเกิด หรือเด็กที่ทานยากดภูมิจะมีโอกาสเสียชีวิตได้ ยกตัวอย่างหมอเคยตรวจเด็กที่เข้าพบหมอด้วยอาการท้องเสีย ระหว่างที่รอหมอหน้าห้องก็ไปเล่นกับเด็กอีกคนหนึ่ง แค่ลูบหัวกันเท่านั้น

พออาทิตย์ถัดมา เด็กคนที่ท้องเสียหายดีแล้วก็จริง แต่มาตรวจเจอ RSV แทน ซึ่งติดมาจากน้องอีกคนที่เล่นด้วยกัน แค่ลูบหัวนิดเดียวเองก็ติดกันได้แล้ว ที่รู้เพราะว่าแม่ของเด็กบอกว่าไม่ได้พาน้องไปข้างนอกเลย ที่เป็นไปได้ที่สุดก็คือติดมาจากน้องอีกคนที่เล่นด้วยกันวันนั้น”

สำหรับช่วงอายุของเด็กที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีจนไม่สามารถรับเชื้อเข้ามาสู่ร่างกายได้นั้น หมอแอม บอกว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละโรค หากเป็นโรคที่ติดเชื้อทางเดินหายใจจะเกิดกับเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี แต่ถ้าเชื้อเริมแน่นอนว่าเกิดขึ้นได้ตลอดทุกช่วงอายุ

“จริงๆ แล้วเด็กที่มีภูมิคุ้มกันมากพอที่จะไม่ติดเชื้อก็ขึ้นอยู่กับโรคนั้นๆ ด้วยนะคะ เช่น โรค RSV จะเกิดกับเด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบ แต่ถ้าเริมจะเกิดได้ตลอดไม่ว่าช่วงอายุไหน แต่ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำว่า 3 - 6 เดือนแรกไม่ควรพาเด็กไปที่แออัด ชุมชน คนเยอะ หรือพาไปเยี่ยมเด็กป่วยที่อื่น เพราะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่า”

ส่วนเคสล่าสุดที่เกิดขึ้นกับเด็กวัย 3 ขวบ ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งได้ติดเชื้อเริมมาจากการที่ญาติคนใดคนหนึ่งที่เข้ามาเล่นด้วย ผ่านการหอมและจูบทำให้หนูน้อยมีผื่นขึ้นที่แก้มทั้งสองข้าง และลุกลามไปที่ดวงตา ด้านหมอแอมก็บอกอีกด้วยว่าการติดเริมสามารถลุกลามไปที่สมองได้ แต่ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของเด็กแต่ละคนด้วยเช่นกัน

“การติดเริมของเด็กก็มีโอกาสจะลุกลามไปที่สมองได้ แต่ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของเด็กแต่ละคน ถ้าเป็นที่สมองก็ต้องฉีดยารักษากันยาว เพราะเด็กอ่อนภูมิคุ้มกันต่ำ ยากินจะเอาไม่อยู่ ต้องฉีดเท่านั้น ส่วนถ้าเข้าตาแล้วตาจะบอดไหมก็ขึ้นกับว่าเป็นเยอะขนาดไหน ไม่ถึงกับบอดสนิท แต่อาจรบกวนการมองเห็นมากกว่า”

 
“หลีกเลี่ยง” ไม่ได้ ก็ต้อง “รับมือ” ให้ทัน!

“ความเชื่อที่บอกว่าคนสมัยก่อนเขาเลี้ยงกันมาได้ นั่นก็ใช่ แต่ที่ป่วยแล้วไม่รู้ก็มีด้วยเหมือนกัน ที่บอกว่าเด็กก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร หมอว่าอาจจะมีเด็กที่เป็นอะไรแต่เขาไม่รู้ก็ได้ เพราะตอนนั้นอินเทอร์เน็ตไม่ได้บอก”

นี่คงเป็นความเชื่อของคนรุ่นเก่าที่มักได้ยินอยู่เสมอ เกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงลูกหลานในสมัยก่อนว่าเลี้ยงมาแบบนี้ยังเติบโตและแข็งแรงได้ ด้านคุณหมอให้ความเห็นว่าอาจเพราะในสมัยก่อนเชื้อดื้อยาในเด็กยังไม่น่าเป็นห่วงเท่าปัจจุบัน อีกทั้งการรับข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียก็ยังไม่เป็นที่นิยมเท่ายุคนี้ด้วยเช่นกัน

“สมัยก่อนเชื้อดื้อยายังไม่เยอะเท่าตอนนี้ ซึ่งเวลาป่วยเราจะไม่รู้ว่าเด็กเป็นอะไร แต่สมัยนี้ตรวจก็รู้ได้ทันทีเลย รวมถึงตอนนี้ข่าวสารมันรวดเร็วทำให้การรักษาโรคภัยต่างๆ มันไวมากขึ้น ความเชื่อที่บอกว่าแต่ก่อนเลี้ยงกันมาได้ก็ใช่ แต่ที่ป่วยแล้วไม่รู้ก็มีด้วยเหมือนกัน อาจจะมีเด็กที่เป็นอะไรแต่เขาไม่รู้กันมากกว่า

สำหรับคุณแม่ที่กังวัลเรื่องคนอื่นจะมาว่าเราหวงลูก หมอมองว่าถ้าลูกเราป่วย เราต้องเป็นคนดูแล ต้องเหนื่อย ต้องเครียด ถ้าเรารู้ว่าสิ่งที่ไหนที่ดีกับลูกก็ทำไปเถอะ ถึงแม้คนอื่นจะไม่เข้าใจ แต่เรารู้ว่าเราทำเพื่อใคร ดังนั้น มองที่ความปลอดภัยของลูกเราเองดีกว่าค่ะ”

แต่หากเปรียบเทียบความรุนแรงระหว่างการรับเชื้อจากคน กับการรับเชื้อจากสิ่งแวดล้อม เช่น การหยิบจับของเล่นของเด็กว่าแบบไหนจะอันตรายกว่ากัน หมอมองว่าถ้าเชื้อโรคจากผู้ใหญ่ที่ป่วยก็จะรุนแรง แต่ถ้าแง่ของสิ่งแวดล้อมหรือการเล่นของเล่น ต้องดูว่าอยู่ในบริบทไหน

ยกตัวอย่าง ถ้าอยู่ในบ้านที่คุณแม่ถูบ้านทุกวันก็จะไม่เยอะ แต่ถ้าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีคุณพ่อสูบบุหรี่ทุกวัน สารเคมีต่างๆ ก็อยู่ตามพื้น เด็กก็สูดดมเข้าไป หรือสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน หากมีเด็กที่ป่วยเล่นของเล่นไว้ หรือนำของเล่นเข้าปาก และไอจามไปทั่วสนามเด็กเล่น ตรงนี้ก็จะน่าเป็นห่วง”

 
อย่างไรก็ดี หมอแอมยังได้ฝากทิ้งท้ายสำหรับพ่อแม่ที่ต้องรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วยว่า ควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปในที่สาธารณะ ซึ่งมีคนพลุกพล่านแออัดจะดีที่สุด หรือหากจำเป็นจริงๆ ควรพกตัวช่วยในการทำความสะอาดไปด้วย

“อย่างแรกคือ การป้องกัน ถ้ารู้ว่าช่วงนี้โรคระบาดเยอะ โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนให้หลีกเลี่ยงการไปในที่ชุมชน หรือการพาไปเยี่ยมคนป่วยให้งดเลย เพราะเดี๋ยวจะติดโรคไปด้วย

อย่างที่สอง ถ้าจำเป็นต้องพาออกไปด้วยจริงๆ ให้พกแอลกอฮอล์เจลล้างมือไปด้วย หรือทิชชู่เปียกที่มีแอลกอฮอล์ด้วยก็ได้ แต่ต้องบอกว่าแอลกอฮอล์มันไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ 100% เช่น เชื้อมือเท้าปาก แต่อย่างน้อยก็ช่วยลดเชื้อหวัดหรือเชื้อโรคบางอย่างไปได้หลายตัวค่ะ แต่ถ้าให้ดีที่สุดจริงๆ คือ ต้องล้างมือบ่อยๆ

สุดท้าย เด็กที่อยู่ในบ้านแล้วผู้ใหญ่ข้างนอกนำเชื้อเข้ามาในบ้านแทน ถ้ากรณีนี้ถ้ากลับมาจากข้างนอก บางทีเขาจะไม่รู้ตัวว่าเขาพาเชื้อโรคมาด้วยยังไง อาจจะไม่มีอาการหรือคิดว่าไม่ได้ไปโรงพยาบาล ไม่ได้ไปเจอคนป่วย ไม่เห็นเป็นอะไร แต่จริงๆ แล้วเชื้อโรคมีอยู่รอบตัว

พอมาอุ้มเด็ก เล่นกับเด็กก็ทำให้เด็กติดเชื้อได้ กรณีนี้อย่างน้อยๆ ควรล้างมือ ล้างแขน ล้างขา หรือจะดีที่สุดคือเปลี่ยนเสื้อผ้าด้วยก็ได้ ที่สำคัญพยายามอย่าให้ลูกเอามือเข้าปาก เพราะเชื้อโรคถ้าอยู่ที่มือลูกมันจะยังไม่เข้าตัว แต่มันจะเข้าตัวก็ต่อเมื่อเด็กเอามือแคะจมูก ขยี้ตา หรือเข้าปากค่ะ”

ข่าวโดย MGR Live




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น