xs
xsm
sm
md
lg

ขอพื้นที่ในสังคมไทย!! "ลูเต้อร์" ไม่ใช่แค่สุนัขนำทาง แต่คือเพื่อนเยียวยาโรคซึมเศร้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เธอคือผู้สร้างปรากฎการณ์ ให้คนไทยเข้าใจโลกใบใหม่ ระหว่าง “สุนัขนำทาง” กับ “คนพิการ” และเป็นคนช่วยชี้ให้สังคมเห็นช่องโหว่เรื่องพื้นที่รองรับที่ยังไม่เท่าเทียม แม้คนส่วนใหญ่อาจยังไม่เข้าใจ เรื่องความสำคัญของน้องหมาที่ถูกเทรนมาเพื่อพาเดิน แต่สำหรับเธอแล้ว “เจ้าเพื่อนสี่ขา” ที่คอยเดินนำหน้าตัวนี้แหละ ที่เป็นทั้ง “ผู้สร้างโอกาส” และ “ผู้เยียวยา” ในวันที่จิตใจย่ำแย่ที่สุดในชีวิต




“ผมชื่อลูเต้อร์” สุนัขนำทาง “ผู้พิการทางสายตา”


“สิ่งที่ทรายอยากเห็นมันกว้างกว่าการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้สุนัขนำทาง สิ่งที่ทรายอยากเห็นมากที่สุดคือการปรับทัศนคติที่สังคมไทยมีต่อผู้พิการ ทั้งคนตาบอดและผู้พิการอื่นๆ คืออยากให้เขาเห็นว่าถ้าเราได้รับโอกาส ได้รับการฝึกฝนที่ถูกต้อง เราสามารถใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้”

สาวสดใส ใบหน้าเปื้อนรอยยิ้ม สวมเสื้อสีน้ำเงิน กางเกงขาสั้น ลุคสบายๆ ที่นั่งอยู่ตรงหน้าผู้สัมภาษณ์คนนี้ ไม่ใช่ใครที่ไหน “ทราย-คีริน เตชะวงศ์ธรรม” วัย 22ปี เจ้าของเพจ “ผมชื่อลูเต้อร์” เพจหมาน่ารักตัวหนึ่ง ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ นั่นคือลูเต้อร์มีหน้าที่เป็นสุนัขนำทางของทราย

ทีม MGR Live ไม่รอช้า ได้มีโอกาสคว้าตัวเธอมาสนทนาด้วย และการได้พูดคุยกับเธอในครั้งนี้ ทำให้เห็นทัศนคติที่ดี และอุปสรรคของการใช้สุนัขนำทางในไทย หลังจากลูเต้อร์โดนปฎิเสธ เมื่อต้องนำทางทรายเข้าไปในสถานที่ต่างๆ

หมาสีดำตัวใหญ่ หน้าตาใจดีที่นั่งอยู่ข้างๆ สาวพิการทางสายตาตัวนี้ เพิ่งย้ายกลับมาประเทศไทย ภายหลังจากที่เธอเรียนจบปริญญาตรีที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี แต่เมื่อกลับมาไทย ปรากฎว่าลูเต้อร์ไม่สามารถนำทางเธอได้เหมือนเดิม เพราะคนไทยยังไม่รู้จักเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก ทั้งนี้ลูเต้อร์ไม่ได้เพิ่งมาใช้ชีวิตกับเธอที่เมืองไทย แต่อยู่กับเธอที่ประเทศสหรัฐอเมริกามาแล้ว 2 ปี

ทรายตรวจพบว่ามีเนื้องอกในสมอง ไปกดทับขั้วประสาทตา ทำให้สูญเสียการมองเห็น แต่หลังจากที่เธอสูญเสียการมองเห็น เธอได้เดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อฝึกฝนการใช้ชีวิตด้วยตนเอง จึงได้ตัดสินใจศึกษาต่อที่นั้น จนกระทั่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านจิตวิทยาจาก Hendrix College ที่ตั้งอยู่เมืองคอนเวย์ (Conway) ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับสุนัขนำทางมาอยู่ด้วย
 
โดยลูเต้อร์จะอยู่กับทรายคนเดียว จนกว่าจะเกษียณในอายุประมาณ 9 -10 ปี ปัจจุบันลูเต้อร์อายุเกือบ 4 ปี ซึ่งพอเกษียณแล้ว อาจจะคืนลูเต้อร์ให้ทางองค์กรที่ฝึกมา เพื่อเขาจะได้ให้คนอื่นที่ต้องการ หรือจะรับเลี้ยงดูต่อไปเองก็ได้

สำหรับองค์กรที่ดูแลเรื่องสุนัขนำทางอย่างเจ้าลูเต้อร์นั้น เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ทรายจึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

“ทรายตาบอด ตอนอายุ 13 ปี เพราะว่ามีเนื้องอกในสมอง ซึ่งไปกดทับขั้วประสาทตา ทำให้สูญเสียการมองเห็น หลังจากนั้นทรายก็ไปเรียนมัธยมปลายที่รร.ร่วมฤดี และไปต่อปริญญาตรีด้านจิตวิทยาที่สหรัฐอเมริกา แล้วก็เพิ่งจบกลับมา
ลูเต้อร์ได้จากโรงเรียนฝึกสุนัขนำทางที่รัฐนิวยอร์ก ซึ่งเราขอสมัครรับสุนัขนำทางไป แล้วเขาก็จับคู่ให้เรา คือทรายไม่ได้เป็นคนเลือกนะคะ ว่าอยากได้ตัวนี้ เขาจะจับคู่ให้เรา

 

ตอนที่ทรายได้รับลูเต้อร์ ทรายต้องไปฝึกที่โรงเรียน 3 อาทิตย์ คือฝึกการที่เราทำงานกับเขา การเดิน ที่โรงเรียนจะสอนทุกอย่างเลยว่าเวลาเดินกับเขาต้องเดินยังไง ถ้าเขาเดิน แล้วเราชน เราจะต้องแก้ไขยังไง ซึ่งบางครั้งทรายก็ต้องติดต่อโรงเรียนไปถามว่า พาไปที่สวนสาธารณะเขาชอบไปเดินกลางถนน เราอยากให้เขาเดินริมๆ แต่บอกเขา เขาก็ไม่เข้าใจ เราต้องทำยังไง 

เป็นการเรียนรู้ไปด้วยกัน ไม่ใช่ว่าการเรียนรู้หยุดอยู่ที่เรา เมื่อรับเขามาแล้ว เรายังต้องเรียนรู้ ถ้าไปสถานที่ใหม่ๆสมมติว่าได้ไปโรงเรียนใหม่ เราก็ต้องไปเรียนรู้เส้นทาง และก็ต้องสอนเขา สอนว่าไปยังไง ก็ต้องเรียนรู้กันไปด้วย

เขาจะสอนและบอกเราเลยว่าเราควรจะดูแลเขายังไง ทรายจะควบคุมการให้อาหารของลูเต้อร์ค่อนข้างเข้มงวด คือทรายจะให้อาหารเท่านี้ๆ อย่างเช่น ถ้าลูเต้อร์ทำงานอยู่ หรือเดินเยอะๆ จะให้มื้อละประมาณ 2 ถ้วย และ 2 มื้อแค่นั้น ไม่ให้ขนมเยอะ

โดยเฉลี่ยแล้วสุนัขจะทำงานได้ประมาณ 8 ปี ซึ่งลูเต้อร์เริ่มทำงานตอนอายุ 2 ขวบ ตอนที่ทรายได้เขามาค่ะ ดังนั้นเขาจะทำงานจนอายุประมาณ 10 ขวบ แต่อันนี้แล้วแต่สุนัขด้วย บางตัวทำได้นานกว่านั้น หรือบางตัวอาจจะสั้นกว่านั้น

ทรายไม่แน่ใจเกี่ยวกับระบบจัดการในการเลือกเป็นสุนัขนำทาง แต่เท่าที่เข้าใจมาเขาค่อนข้างจะละเอียดอ่อนมาก คือเขาผสมพันธุ์เองเลย เขาก็จะเลือกพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่มีลักษณะที่เขาต้องการ เช่น สุขภาพ หรือว่าลักษณะอุปนิสัย ซึ่งจริงๆลูเต้อร์เกือบได้เป็นพ่อพันธุ์แล้ว แต่พอเขามีโรคทางหัวใจนิดหน่อย เขาก็ไม่เอา คือเขาจะคัดตรงนี้ออกหมด พอหลังจะเกิดมาแล้ว เขาก็เริ่มฝึกเลย จะส่งไปอยู่กับอาสาสมัคร

ทางอาสาสมัครจะต้องเริ่มฝึกขั้นพื้นฐาน เช่น การพาออกไปยังสถานที่ต่างๆ ให้มีความคุ้นเคยกับการอยู่กับคน การทำให้คุ้นเคยกับเสียงที่ดัง การมีความคุ้นเคยอยู่ในบ้านไม่ควรจะทำอะไร ควรจะทำตัวยังไง แต่ละครั้งที่ไปอยู่กับอาสาสมัครเขาจะต้องพามาเข้าชั้นกับโรงเรียนด้วย ค่อนข้างละเอียดอ่อน และมีการประเมินอยู่เรื่อยๆเลย คือถ้าเกิดประเมินไม่ผ่าน ก็ไม่ผ่านเข้ามาถึงการเป็นสุนัขนำทาง

แต่ละองค์กรใช้สุนัขแต่ละพันธุ์ต่างกัน ส่วนใหญ่จะใช้สุนัขค่อนข้างพันธุ์ใหญ่ คือกลุ่มลาบราดอร์ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ และอัลเซเชียน ซึ่งเท่าที่ทรายเข้าใจคิดว่าเป็นเพราะสุนัขตัวใหญ่ จะสุขุมลึกกว่า 

นอกจากนั้น โรงเรียนเขาจะคัดเลือกเอง เพราะอย่างโรงเรียนทรายจะใช้สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ประมาณ 95 % ซึ่งเขาจะไม่ไปแบบรับมาเฉยๆ มีสุนัขแล้วจะรับมา เพราะว่าเขาเลือกผสมพันธุ์แล้ว เขาใช้เวลาที่จะคัดมาถึงตรงนี้ ดังนั้นเขาจะไม่รับเข้ามา ถ้าไม่ได้รับการคัดเลือกเข้ามา

ข้อจำกัดหลักๆ คือเราจะต้องสามารถพึ่งพาตัวเองได้อยู่แล้ว เราจะต้องสามารถเดินทางได้ด้วยตัวเอง ใช้ไม้เท้าเป็น คือไม่ใช่เดินทางไปไหนมาไหนเองไม่เป็น แต่อยากได้สุนัขนำทางนั้นไม่ได้ เขาจะมาดูเลยว่าเราดูแลตัวแลตัวเองได้มั้ย เราเดินทางไปไหนมาไหนด้วยตัวเองได้ ถ้าในเรื่องที่เขาจะให้สุนัขนำทางแต่คนในประเทศเขา อันนี้แล้วแต่องค์กร เพราะว่าอย่างองค์กรของทราย โชคดีว่าเขาอนุญาตให้รับเด็กต่างชาติค่ะ”




“เพื่อน 4 ขา” ที่ช่วยเยียวยาจิตใจ

 
หลายคนคงสงสัยว่าอะไรที่ทำให้เธอไม่เลือกที่จะใช้วิธีนำทางแบบอื่น ที่คนตาบอดนิยมเลือกใช้ คำตอบของเธอคือ ลูเต้อร์ ไม่ได้ช่วยนำทาง แต่ยังช่วยเยียวยาจิตใจอีกด้วย 
“ช่วงที่อยู่มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะปี 2 จะค่อนข้างเยอะ โชคดีอย่างหนึ่งว่าเมืองนอก เรื่องสุขภาพจิตเขาค่อนข้างจะเปิด ดังนั้นเราไม่รู้สึกอึดอัดที่จะไปขอคำปรึกษา ตอนนั้นทรายก็ใช้ยาด้วย และการพูดคุยบำบัด ตอนนี้โอเคแล้ว ไม่ได้ใช้ยา ไม่ได้เจอหมอแล้ว

สุนัขช่วยด้านสุขภาพจิตเยอะนะคะ เพราะว่าอาการหนึ่งของโรคซึมเศร้า คือบางทีเราจะรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา หรือเราจะไม่อยากออกไปเจอคน เพราะมันไม่มีแรง ดังนั้นการที่มีสุนัขอยู่ด้วย มันก็ทำให้ 1.เราต้องออกไป เพราะต้องพาเขาออกไปเรื่อยๆอยู่แล้ว 2.มีเพื่อน ถึงเราไม่ออกไป เรารู้สึกไม่อยากจะเจอคน เราก็ยังมีเขาอยู่เป็นเพื่อนเรา

ถ้าโรคซึมเศร้า คือทรายอยากให้ขอความช่วยเหลือ เพราะว่าแม้แต่เมืองนอกบางทีคนที่เป็นโรคซึมเศร้า จะถูกคนอื่นบอกว่ายิ้มสิ ถ้าเกิดออกไปทำอะไร เดี๋ยวก็มีความสุขเอง แต่จริงๆ การที่เป็นโรคซึมเศร้าก็คือการเป็นโรคไงคะ มันไม่ใช่อะไรที่เราสามารถเปลี่ยนได้ มันไม่ใช่ความผิดของเรา


 ในแง่หนึ่งอยากให้หาความช่วยเหลือ คือการไปหาหมอ หรือการบำบัด ไม่อยากให้โทษตัวเองว่าที่เรารู้สึกอย่างนี้มันเป็นความผิดของเรา ที่เราไม่สามารถจะมีความสุขได้ เพราะมันมากกว่านั้น มันเกี่ยวกับเคมีในสมอง มันไม่ใช่ทุกอย่างที่เราควบคุมได้”

สำหรับประเทศที่ถือว่าเป็นประเทศพัฒนา อย่างสหรัฐอเมริกา การใช้สุนัขนำทางถือเป็นเรื่องปกติของผู้พิการทางสายตามีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน และมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้รู้สึกถึงความเท่าเทียมกัน ซึ่งในประเทศไทยถือเป็นเรื่องใหม่

“เขาก็ค่อนข้างคุ้นเคยกับการใช้สุนัข เพื่อทำหน้าที่ต่างๆ ตรงนี้ทางเมืองนอกค่อนข้างคุ้นเคย เพราะว่านอกจากสุนัขนำทางแล้ว สุนัขยังทำอย่างอื่นได้หลายอย่างเลย เขาก็ค่อนข้างคุ้นเคย ซึ่งเขาจะมีกฎหมายไว้เลยว่าคุณจะต้องอนุญาตให้ผู้ที่มีสุนัขนำทาง หรือสัตว์บริการชนิดต่างๆ เข้าถึงสถานที่ทั่วไป อย่างเช่นปกติมหาวิทยาลัยอาจจะไม่อนุญาตให้นักศึกษาเอาสัตว์เลี้ยงเข้าไปชั้นเรียน หรือว่าที่พัก แต่ถ้ากรณีของทรายไม่มีปัญหาเลย ก็แจ้งเขาไป เอาเอกสารให้เขาดูว่านี่เป็นสุนัขนำทาง เขาก็ให้เข้าได้

ในไทยจะให้ความสนใจ บางครั้งจะพยายามส่งเสียง หรือเรียกร้องความสนใจสุนัข จริงๆแล้วถ้าเป็นสุนัขนำทาง เขาทำงานอยู่จะต้องขออนุญาตว่าอย่ารบกวน เนื่องจากทรายว่าสังคมไทยยังไม่ค่อยรู้จัก ก็จะมองไม่รู้ว่านี่คือสุนัขนำทาง เขาจะนึกว่าเป็นสัตว์เลี้ยงทั่วไป

ทรายจะบอกเขาเลยว่าอันนี้ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงนะ (น้ำเสียงจริงจัง) ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงหมายความว่าทรายไม่ได้มีเขาเพื่อความบันเทิง เหมือนกับคนอื่นที่เลี้ยงไว้เป็นสัตว์เลี้ยง เรามีเพื่อความจำเป็น เพื่อการใช้ชีวิตอยู่ของเรา”

 
[ “บังเหียน”อุปกรณ์บังคับทาง "ลูเต้อร์" ]
ไม่ต่างจากประเทศไทยที่มีพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 20 กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้พิการทางสายตาสามารถนำสัตว์นำทางและอุปกรณ์ช่วยเหลือไปยังที่ต่างๆ ได้ แต่ก็ยังมีช่องโหว่จากการขาดความเข้าใจในเรื่องการใช้สัตว์นำทางของผู้พิการทางสายตา จึงทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของทรายและลูเต้อร์เต็มไปด้วยความยากลำบาก

“เมืองไทยจริงๆยังไปที่ไหนแทบไม่ได้เลยค่ะ เพราะว่าคนไทยไม่รู้จัก ไม่เข้าใจว่านี่คือสุนัขนำทาง เขาเป็นสิ่งที่ช่วยเหลือเรา เขาจะไม่เหมือนสัตว์เลี้ยงทั่วไปจะไม่ก่อความรบกวน เขายังไม่เข้าใจ ก็เลยยังไปไหนไม่ได้เท่าไหร่ ซึ่งอาจจะเห็นในหน้าเพจว่า ทาง BTS เขาก็อนุญาตแล้ว แต่ถึงขึ้น BTS ได้แต่ถ้าสถานที่ที่เราจะไป เข้าไม่ได้ อย่างสมมิตถ้าเราอยากจะไปเซ็นทรัลเวิลด์ ขึ้น BTS ไปได้ แต่ถ้าทางเซ็นทรัลเวิลด์ไม่อนุญาต เราก็เข้าไปไม่ได้อยู่ดี ก็ไม่รู้จะเอาเขาไปทำไม

เมืองนอกเขาค่อนข้างรู้จัก ดังนั้นพอเราเข้าไปสถานที่ เราไม่ต้องเข้าไปแจ้งเลยว่านี่เป็นสุนัขนำทางนะคะ ขอเข้าได้ไหม คือเดินเข้าไปเลย แบบร้านอาหาร ห้าง พิพิธภัณฑ์ สถานที่ทุกที่ พอเขาเห็นลูเต้อร์ใส่บังเหียน เขาก็จะรู้เลยว่านี่คือสุนัขนำทาง ซึ่งเขาจะไม่เข้ามารบกวนเรา

มีประสบการณ์ที่ว่าเขาเห็นแล้วเขาไม่ให้ เราก็บอกว่าเป็นสุนัขนำทาง เขาก็ไม่ให้ แต่เราก็จะแจ้งไปได้ อาจจะแจ้งไปที่องค์กร แล้วก็เก็บเลขทะเบียนเขามา ปกติทรายจะใช้ Uber เมืองนอกเขามี Uber ทรายก็ติดต่อไปที่ Uber เขาก็จัดการให้ แล้วเขาก็ไปคุยกับเจ้าหน้าที่ของเขา”

ด้วยข้อจำกัดที่ค่อนข้างเยอะในการเข้าถึงสถานที่ต่างๆ จึงเป็นจุดเริ่มต้นทำเพจ "ผมชื่อลูเต้อร์” และเริ่มต้นส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อให้คนพิการและสุนัขนำทางสามารถเข้าถึงสถานที่อย่างอิสระ และเท่าเทียมกับคนที่ปกติ

“1.อยากให้คนไทยรู้จักสุนัขนำทาง เวลาเห็นจะได้รู้ว่าเขาเป็นสุนัขนำทาง จะได้รู้ว่าต้องปฏิบัติตัวกับเขายังไง 2. อยากให้สถานที่ต่างๆ รู้จัก เพื่อที่จะได้อนุญาตให้เราเข้าไป ตอนนี้ผลักดัน คือพยายามอยากจะให้สถานที่ต่างๆ ห้างสรรพสินค้า บริษัท อยากให้เขาตอบรับกลับมาว่าเขาจะสนับสนุน และเข้าไปผลักดัน เปลี่ยนนโยบายเพื่อให้พนักงานของเขารู้ว่าบริษัท หรือว่าห้างร้าน ให้อนุญาตสุนัขนำทางเข้าได้ เราได้ทำจดหมายเปิดผนึก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้คนเข้ามารู้จักเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับจากห้าง ร้าน มากเท่าไหร่ ยังไม่มีการตอบเข้ามา
 
อยากให้ห้างร้านรู้ว่าถึงคุณไม่แน่ใจ มีคำถาม คือติดต่อเรามาได้เลย เรายินดีที่จะให้ความรู้ ตอบคำถามความกังวลอะไรที่เขามีค่ะ

ที่โพสต์ไปในเพจออกไปกว้างๆ เราไม่รู้ว่าไปถึงที่ไหนบ้าง แต่เราได้ส่งไปที่เจาะจงบ้าง อย่างเช่นกลุ่มห้างสรรพสินค้า ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบรับที่ไหน ถ้าเห็นในเพจเรา เมื่อวันก่อนได้ไปเซ็นทรัลพระราม 3 มา ซึ่งก็ได้ไปคุยกับผู้จัดการที่นั้น เขาก็บอกว่าเขาจะผลักดันให้ คือตรงนี้เขายังไม่ได้สัญญานะคะว่าจะเข้าได้ แต่เขาบอกว่าเขาจะผลักดันให้เข้าได้ ซึ่งเราก็มีความหวังตรงนั้นว่าน่าจะได้”

ล่าสุดห้างเซ็นทรัล ทั้ง 33 สาขาก็อนุมัติให้ทรายพาลูเต้อร์เข้าไปยังห้างได้ รวมทั้งศูนย์การค้าดิโอสยาม ได้ตอบรับคำขอในจดหมายเปิดผนึกของทราย ผ่านแบบฟอร์มท้ายจดหมายเป็นเจ้าแรกเป็นที่เรียบร้อย




เทียบกับต่างประเทศ ประเทศไทยความพร้อมเป็นศูนย์!!

“ตอนอยู่ลอนดอน ก็ชอบลอนดอนนะคะ เรียกว่าแทบทุกอย่างที่เขามี เขานึกถึงคนพิการ เขาออกแบบไว้ให้แล้ว อย่างเช่น ทรายไปดูละครเวที ทรายติดต่อไป พอเราบอกเราตาบอด เขาก็บอกว่ามีรอบที่จะมีคนพากย์ว่าละครกำลังเกิดอะไรขึ้นในละคร เราสามารถเข้าไปก่อนที่ละครจะเริ่ม เพื่อไปจับชุดของนักแสดง ไปจับฉาก คือให้เรามีประสบการณ์แทบจะเหมือนคนมองเห็นเลย ซึ่งตรงนี้เขามีไว้แล้ว คือเราไม่ต้องไปขอเขาเลย
 
บางครั้งไปพิพิธภัณฑ์บางที่ ของต่างๆก็จะอยู่ในตู้กระจก หรือมีเชือกล้อม ห้ามจับ พอเขารู้ว่าเราเป็นคนพิการ เขาจะให้เราจับ ถ้าเป็นของที่ต้องดูแล เขาก็จะให้เราใส่ถุงมือ แต่เขาก็ให้เราจับได้ หรือถ้าไม่ได้จริงๆ เขาก็จะมีของเลียนแบบให้เหมือนของสิ่งนั้น เพื่อให้เราจับได้ ให้เรามีประสบการณ์มากที่สุด ให้เหมือนกับคนทั่วไปมากที่สุด ไม่งั้นเราไปพิพิธภัณฑ์ก็ดูอะไรไม่ได้สักอย่าง”
 
แน่นอนว่าห้างร้านและเจ้าของสถานที่ต่าง ๆ จะมีกังวลว่าสุนัขอาจไปสร้างความเสียหาย ก่อความรำคาญให้คนที่ไม่ชอบสัตว์ ซึ่งเป็นเพราะในเมืองไทยไม่ค่อยมีใครใช้สุนัขนำทาง ทรายและลูเต้อร์จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้คนในสังคมรู้จักมากยิ่งขึ้น และเขาเองอยากให้ประเทศไทยเปิดรับกับสิ่งนี้เหมือนกับต่างประเทศ

 “ตอนที่ทรายไปถึงที่ลอนดอน ทรายก็ติดต่อไป ทางกรมหรือองค์กรที่เขาช่วยเหลือเกี่ยวกับคนพิการทางสายตา เขาก็มีบริการสอนการที่ใช้เส้นทางให้กับเรา อย่างเช่นทรายอยู่บริเวณหนึ่ง เขาก็จะมาเจอเราเลย แล้วเขาก็จะสอนว่าสถานีรถเมล์อยู่ที่นี่นะ ถ้าทรายจะไปซูปเปอร์มาร์เก็ต ทรายต้องเรียนว่าไปซูปเปอร์มาร์เก็ตไปยังไง เขาก็จะไปกับเรา แล้วเขาก็สอนว่าต้องมาขึ้นรถเมล์ตรงนี้ ขึ้นสายนี้ ขึ้นเสร็จแล้วต้องลงตรงนี้ ต้องข้ามถนน ต้องเลี้ยงซ้ายตรงนี้ ซูปเปอร์มาร์เก็ตจะอยู่ตรงนี้ เขาก็จะมาเดินกับเรา จนเราคุ้นเคย

พอเราคุ้นเคย เขาก็ไม่ต้องมา ทรายก็สามารถไป Shopping เอง ขึ้นรถเมล์เอง ลงเอง แบกของกลับบ้านเอง นั่นคือสิ่งที่ทรายต้องการ ไม่อยากเป็นแบบทรายอยากไปซูปเปอร์มาร์เก็ตเมื่อไหร่ก็บอกนะ เดี๋ยวจะได้พาไป อันนี้คือเขามาฝึกเราด้วยทัศนคติที่ว่าคนตาบอดใช้ชีวิตด้วยตนเองได้ ถ้าเขาได้รับการฝึกฝนที่ถูกต้อง ดังนั้นแทนที่เขาจะทำให้เรา พาเราไปซื้อของ เขาสอนเราให้เราไปเป็น พอเราไปเป็นเขาก็ไม่ต้องมาช่วยเราแล้ว”
 

นอกจากนี้ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ทราย และลูเต้อร์ ได้ใช้ชีวิตด้วยกันที่อเมริกาทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี แต่เมื่อกลับมาที่ประเทศไทยนั้น นอกจากการสร้างความเข้าใจเรื่องสุนัขนำทาง ยังต้องเจออุปสรรคเส้นทาง และปัญหาสุนัขจรจัดในไทย

“สุนัขจรจัดตัวเดียวไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ แต่สิ่งที่มีปัญหาก็คือ ตอนไปเที่ยวพิษณุโลกเดินผ่านวัด สุนัขออกมา 20-30 ตัว เราก็ถอยเหมือนกัน ปกติถ้าออกไปไหนก็ไปกับครอบครัวอยู่แล้ว พ่อ แม่ หรือน้อง ก็จะถือลูเต้อร์เอาไว้ ไม้ไปไว้ขู่สุนัข
ลูเต้อร์ไม่มีปัญหาเลย เขาก็เดินไปเรื่อยๆของเขา ไม่สนใจ เขาไม่พยายามจะวิ่งเข้าไปอยู่แล้ว แต่ที่เราห่วงคือกลัวสุนัขจรจัดมันจะเข้ามาลุมลูเต้อร์”

เมื่อถามถึงอุปสรรค ในการเดินทางมากที่สุดหลังจากกลับมาประเทศไทย กับผู้หญิงที่ไปประเทศมานับไม่ถ้วนตรงหน้าคนนี้ เธอยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอุปสรรคในการเดินทางของเธอมากที่สุด อีกทั้งยังเล่าประสบการณ์เคยพบสุนัขจรจัดร่วม 30 ตัว เจอร้านค้า และสิ่งกีดขวางเต็มฟุตปาธ

“ทางเดินเมืองนอกเขาจะเรียบร้อย ฟุตปาธก็จะกว้าง ไม่มีข้าวของอยู่บนฟุตปาธเยอะเหมือนของเรา ของเราจะมีทุกอย่าง มีรถมอเตอร์ไซต์ โต๊ะ รถเข็น คนขายอาหาร ตู้โทรศัพท์ สายไฟฟ้าก็ห้อยลงมา


อันนี้ไม่ใช่แค่คนที่ใช้สุนัขนำทางด้วยซ้ำ ผู้พิการทางสายตาหรือแม้แต่คนมองเห็นบางทีมันก็เดินยาก ซึ่งลูเต้อร์เขาจะค่อนข้างหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางค่อนข้างได้ดี แต่สิ่งกีดขวางระดับเหนือศีโรษะบางทีเขาจะไม่ค่อยชิน เพราะว่าเมืองนอกมันไม่มี แต่เมืองไทยมันมีเยอะ กิ่งไม้บ้าง ป้ายบ้าง สายต่างๆ บางทีจะเดินพาชนนิดนึง เราก็ต้องบอกเขา

เท่าที่ทรายสัมผัสเป็นประเทศทีมีอุปสรรคที่สุด เพราะว่าทางฟุตปาธเราค่อนข้างแคบอยู่แล้ว และยังมีรถเข็น มอเตอร์ไซต์ โต๊ะอาหาร เก้าอี้ ทุกอย่าง บางทีก็ทำให้ยากนิดนึง บางทีมีกิ่งไม้มันยื่นออกมา ซึ่งลูเต้อร์เขาจะไม่ค่อยแม่นสิ่งที่อยู่เหนือหัว ก็จะโดนชนหัวนิดนึง ค่อนข้างชิน

สถานที่ทั่วไป โดยเฉพาะอาคารก็ค่อนข้างโอเคนะคะ ถ้าภายในอาคาร สำหรับผู้พิการทางสายตาไม่ต้องการปรับเปลี่ยนอะไรเป็นพิเศษมากมายเท่าไหร่ ส่วนที่มีอุปสรรคเป็นข้างนอกอาคารมากกว่า เส้นทางการเดินฟุตปาธ

ตอนนี้ไปกับคุณพ่อ คุณแม่ ไม่ได้เกี่ยวกับการมองไม่เห็น ตั้งแต่ทรายโตมายังไม่เคยใช้ระบบรถเมล์เท่าไหร่ ทรายควรจะหัดใช้ ซึ่งทรายก็อยากจะหัด แต่ว่าถ้าหัดแล้วพาลูเต้อร์ไปไหนไม่ได้ ก็ไม่รู้จะไปไหน ก็เลยอยากผลักดันตรงนี้ไปด้วย”


 



กฎหมายต้องรับรอง “คนพิการ” อย่างเท่าเทียม!!
 

ด้วยความอ่อนโยน และดูเป็นสุนัขที่ไม่มีความรุนแรง เพราะถูกฝึกมาอย่างดี จึงทำให้คนเข้ามาติดตาม และให้ความสนใจ”ลูเต้อร์”มากยิ่งขึ้น

“คือทรายจะบอกว่า การใช้สุนัขนำทางดีกว่าการใช้ไม้เท้า มันไม่ได้ดีกว่า มันแค่เป็นวิธีที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราชอบวิธีไหน แต่สิ่งที่ทรายรณรงค์ เพราะอยากให้คนตาบอดมีตัวเลือก คือถ้าเขาอยากจะใช้สุนัข เขาก็ใช้ได้ แต่ถ้าเขาไม่อยาก ก็ไม่ต้องใช้ 

ถ้าคนที่อยากมีสุนัขก็คือ 1. ต้องรู้ว่าคุณต้องพึ่งพาตัวเองได้อยู่แล้ว คุณจะต้องสามารถเดินทางด้วยไม้เท้าได้ อยากให้รู้ตรงนั้นก่อน ไม่อยากให้คิดว่าฉันเดินทางไม่เป็นก็เลยอยากจะมีสุนัขนำทาง อันนี้มันไม่ได้ 2. มีสุนัขนำทางก็มีข้อดีเยอะ ที่การใช้ไม้เท้าไม่มี เช่น การที่เรามีเพื่อน การที่เดินทางมันราบลื่นมากขึ้น 

 
แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นมาเยอะที่เราไม่ต้องมีความรับผิดชอบกับการใช้ไม้เท้า เช่น การให้อาหารเขา ต้องคอยพาเขาออกไปฉี่เรื่อยๆ ต้องแน่ใจว่าเขาได้ออกกำลังกายแล้ว ถ้าวันไหนเราไม่ได้ออกไปไหนต้องพาเขาออกไปเดิน เขาจะได้ออกกำลังกาย มันก็จะมีความรับผิดชอบตรงนั้น ซึ่งถ้าคุณอยากจะมีสุนัขนำทาง คือต้องคิดว่าคุณพร้อมมั้ย ที่จะมีความรับผิดชบอเพิ่มเติมขึ้นมา

ทรายขอความร่วมมือว่าถ้าเห็นว่าลูเต้อร์ หรือสุนัขนำทางอย่าเพิ่งส่งเสียง เรียกชื่อ ทำไม้ทำมือ หรือส่งเสียงเรียกร้องความสนใจเขา หรือพยายามเดินเข้ามาเล่น มาลูบตัว เพราะบางทีเขาต้องใช้สมาธิ จะดูให้ทรายว่าไม่ให้ทรายไปชน ถ้าข้ามถนนยิ่งอันตราย ต้องดูรถให้ทราย ดังนั้นเขาต้องใช้สมาธิสูง เข้ามาทักทรายได้ แต่แค่ขอว่าให้พูดกับทราย ถามทรายก่อน ก่อนที่จะมาเล่นกับลูเต้อร์”

นอกจากนี้เธอยังทิ้งท้ายถึงการผลักดันกฎหมายเปิดโอกาสให้คนพิการ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อผู้พิการทางสายตาอีกด้วยว่า ควรมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้อื่น
 
“สิ่งที่อยากให้มีคือกฎหมายที่จะรับรอง และให้โอกาสคนพิการได้เท่าเทียมกับคนทั่วไป เช่น เมืองนอกเขามีกฎหมายว่าคนพิการต้องมีการเข้าถึงทุกอย่างกับคนทั่วไป บริษัทหรือว่าสถานที่ไม่สามารถที่จะปฏิเสธคนได้ โดยใช้เหตุผลการพิการของคน เช่น การไปสมัครงาน ถ้าไม่สามารถบอกได้ว่า เราไม่รับคุณ เพราะว่าคุณตาบอด เมืองนอกทำอย่างนี้ไม่ได้ แต่เมืองไทยยังทำได้ ซึ่งการอนุญาตให้ทำตรงนี้ กลายเป็นว่าสังคมและรัฐบาล หรือองค์กร ไม่มีแรงกระตุ้นที่จะพยายามช่วยเหลือ เพราะถ้าเราไม่อยากจะช่วย เราก็ปฏิเสธได้

แต่เมืองนอกเขาไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้ เขาก็ต้องหาวิธี ต้องพัฒนาเทคโนโลยี ต้องพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้คนตาบอดทำงานนั้นๆได้ ซึ่งทำให้เราได้มีโอกาสมีตัวเลือกงานมากขึ้น มีโอกาสเข้าถึง มีโอกาสพึ่งพาตัวเอง ทำงานเก็บเงินเองได้ คือมีโอกาสให้เราได้ใช้ชีวิตพึ่งพาตัวเองอย่างมีอิสระได้

ไม่อยากให้คนไทยสงสาร หรือไม่อยากให้มองคนพิการต่ำต้อยกว่าคนทั่วไปที่สังคมต้องรู้สึกสงสาร อยากให้เห็นว่าเขาเป็นคนที่มีความเสมอภาคกับทั่วไป เขาแค่ทำบางอย่างในแบบที่ต่างกัน เพราะว่าทรายก็ใช้ชีวิตค่อนข้างจะเป็นปกตินะคะ เราเรียนที่เมืองนอก เราก็อยู่เอง ทำอาหาร เล่นกีฬา ทำกีฬา ใช้คอมพ์ ใช้มือถือ เหมือนคนทั่วไปเลย เราแค่ทำต่างกัน ก็เลยอยากให้เข้าใจว่าจริงๆเราเหมือนกัน คนพิการเหมือนคนไม่พิการ มากกว่าเราที่จะต่างกันค่ะ”






เพจ “ผมชื่อลูเต้อร์” เกิดได้ เพราะครอบครัว!!
 
พ่อแม่ เป็นกำลังใจและช่วยได้เยอะ เพราะว่าจริงๆเพจ “ผมชื่อลูเต้อร์”พ่อกับแม่ทำเยอะกว่าทราย เหมือนเป็นหลังฉากค่ะ
คือเป็นคนที่ถ่ายรูป ช่วยลงรูป และเขียน
 
ทรายจะเขียนบ้าง แต่จริงๆแล้ว แม่เป็นคนลงเยอะ อย่างมีคนติดต่อเข้ามา แม่จะช่วยติดต่อ ดังนั้นพ่อ และแม่ช่วยเยอะเลย ช่วย Support เรา แต่สิ่งที่เขาช่วยเรามากที่สุดคือ ไม่มาห้ามเรา ไม่พยายามมาทำให้เรา คือเมื่ออยากให้เราทำอย่างนี้ เขาก็ทำให้มันเกิดขึ้น
ที่บ้านก็สนับสนุนเต็มที่ เพราะพ่อเขาเข้าใจ และรู้ว่าหลายๆครอบครัวที่มีลูกหลานเป็นคนพิการ บางทีก็มีความเป็นห่วง เดี๋ยวจะส่งไปเรียนเมืองนอก หรือให้ไปทำงาน คือห่วงว่าทำไม่ได้ กลัวว่าจะเป็นอันตราย แต่การที่ช่วยเหลือเขาที่ดีที่สุดคือการที่ช่วยให้เขาทำสิ่งนั้นได้มากกว่าการที่ห้ามให้เขาทำไปเลย

ก็มีบ้างที่เข้ามาให้กำลังใจ และขอบคุณที่เราให้ความรู้ ให้คนไทยได้เรียนรู้เกี่ยวกับคนตาบอด แต่ก็มีบ้างที่คนตาบอดก็บอกเข้ามาว่าเราก็มีโรคซึมเศร้าเหมือนกัน ดีใจที่เห็นเรื่องราว หรือขอเข้ามาคุยหน่อย ซึ่งมีคนบอกว่าคุณพ่อกำลังตาบอด ไม่รู้จะช่วยเหลือคุณพ่อยังไงอะไรแบบนี้ค่ะ



 
 
 



สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ภาพ:พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ “ผมชื่อลูเต้อร์”





** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **


กำลังโหลดความคิดเห็น